Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กึ่งรัฐศาสนากึ่งเผด็จการประชาธิปไตย

สุรพศ ทวีศักดิ์


 

สิ่งที่เรียกว่า “ศาสนา” หรือ “religion” นั้นเป็นมากกว่า “คำสอน” การพยายามแยกคำสอนออกจากการกระทำของคน, สถาบันศาสนา, อุดมการณ์ทางการเมืองแบบศาสนา, ประเพณีและวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นบนฐานความเชื่อทางศาสนา มักจะเป็นความพยายาม “แก้ต่าง” ให้กับ “ความบริสุทธิ์ถูกต้อง” ของตัวคำสอนว่ายังไงๆ ตัวคำสอนก็ถูกต้องหรือดีเสมอ หากจะมีสิ่งที่ผิดหรือไม่ดีก็เพราะการปฏิบัติของคน, สถาบันศาสนาและอื่นๆ ผิดเพี้ยนไปจากตัวคำสอนที่บริสุทธิ์ถูกต้อง ไม่ใช่ความผิดของตัวคำสอนใดๆ ทั้งสิ้น

ข้อแก้ต่างดังกล่าวที่ใช้สืบๆ กันมาคือการสร้าง “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” ให้กับศาสนา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงตัวคำสอนหรือความเชื่อทางศาสนา ล้วนมีประวัติการครอบงำจิตสำนึกของผู้คนและยึดครองอำนาจรัฐมายาวนาน

เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วคำสอนในคัมภีร์ศาสนาสำคัญๆ ของโลก ต่างยอมรับการมีทาส บ้างว่าการมีทาสเป็นการลงโทษต่อบาปของมนุษย์, ระบบวรรณะที่มีทาสเป็นวรรณะต่ำสุดถูกกำหนดมาโดยพระเจ้า, หรือคนที่เกิดมาเป็นไพร่ ทาสเพราะผลกรรมเก่า, หรือบางทีการบริจาคลูกเมียเป็นทาสก็เป็นอีกวิธีหนึ่งของการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เพื่อตรัสรู้เป็นพุทธะในอนาคต เป็นต้น 

ศาสนาเป็นการเมืองหรือไม่? คำตอบคือ ศาสนาเป็นการเมืองในสองความหมายหลักๆ หนึ่งคือเป็นการเมือง (politics) ในความหมายของ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” (power relation) ความสัมพันธ์ระหว่างเราแต่ละคนกับพระเจ้าก็คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพราะพระเจ้าทรงมีอำนาจสูงสุดที่เราต้องศรัทธาและศิโรราบ ศีลธรรมของพระองค์คือเทวบัญชาให้ทำและห้ามไม่ให้ทำ และคำพิพากษาของพระองค์ก็คือประกาศิตที่ทำให้เรามีชีวิตนิรันดร์บนสวรรค์หรือในไฟนรกได้ 

แต่อำนาจของพระเจ้าครอบคลุมไปถึงการทำให้โลกและจักรวาลเป็นไปตาม “แผนการ” ของพระองค์ด้วย ดังนั้น พระเจ้าจึงต้องให้อำนาจเทวสิทธิ์แก่กษัตริย์และศาสนจักรในการปกครองโลกให้เป็นไปตามพระประสงค์ ระบบชนชั้นทางสังคมจึงเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าด้วย หรือไม่ก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ที่ผู้มีบุญญาบารมีและมีคุณธรรมสูงตามคำสอนศาสนาเท่านั้นจึงควรเป็นชนชั้นสูงหรือเป็นผู้ปกครอง

อีกความหมายหนึ่งคือ ศาสนามี “ความเป็นการเมือง” หรือ “the political” ซึ่งเป็นคำที่เริ่มใช้โดย Carl Schmitt นักปรัชญาชาวเยอรมัน หมายถึง การเมืองแบบแยกมิตรแยกศัตตรู แบ่งเป็นพวกเราพวกเขา อันเนื่องมาจากความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ อัตลักษณ์ จารีตปฏิบัติต่างๆ ของมนุษย์ ทำให้เราต้องต่อสู้ ต่อรองเพื่อเอาชนะกันภายใต้หลักการบางอย่าง หรือกระทั่งทำสงครามกัน ธรรมชาติของศาสนามีความเป็นการเมืองในความหมายนี้อย่างเข้มข้น เพราะแต่ละศาสนาต่างยืนยันความจริง,ความแท้ของตนเองเพื่อสร้าง “ความเป็นอื่น” โดยตัดสินว่าศาสนาที่ต่างจากตนล้วนไม่จริง ไม่แท้ หรือเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นต้น

เช่น สำหรับศาสนาเอกเทวนิยม ย่อมถือว่าศาสนาของพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้นคือศาสนาที่แท้ ศาสนาพหุเทวนิยมไม่ใช่ศาสนาที่แท้ ส่วนอเทวนิยมหาใช่ศาสนาไม่ เป็นแค่เพียงปรัชญาชีวิตแบบหนึ่งๆ เท่านั้น ขณะที่ศาสนาเอกเทวนิยมด้วยกันต่างก็อ้างว่า God ของพวกพวกข้าเท่านั้นคือ God ที่แท้จริง และพวกอเทวนิยมก็บอกว่า ศาสนาที่เชื่อ God ล้วนงมงาย ศาสนาพวกข้านี่ต่างหากคือศาสนาแห่งเหตุผลและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

ใช่แต่เท่านั้น ปัญหาว่าใครควรเป็นผู้นำทางศาสนา, การก่อตั้งศาสนจักร, การแยกนิกาย, สงครามระหว่างศาสนา, ระหว่างนิกายศาสนา, การรบพุ่งระหว่างรัฐศาสนาต่างกันหรือรัฐศาสนาเดียวกัน, การอ้างหลักคำสอนศาสนาและการเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนเผด็จการหรือประชาธิปไตย, ควรให้สิทธิแก่สตรีและคนหลากหลายทางเพศได้บวชหรือมีสถานะเป็นผู้นำทางศาสนาได้หรือไม่ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นปัญหาการเมืองและความเป็นการเมืองของศาสนาทั้งสิ้น

แล้ววาทกรรมที่ว่า “ศาสนาไม่เกี่ยว/ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง” เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด? ดูเหมือนจะเริ่มขึ้นในยุโรป เมื่อเกิดแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) และโลกวิสัย (secularism) ท้าทายปรัชญาการเมืองแบบศาสนา ทำให้รัฐคริสต์เตียน (Christian state) สิ้นสุดลงและเกิดรัฐโลกวิสัย (secular state) ขึ้นมาแทนในยุคสมัยใหม่ พูดอีกอย่างคือ การเมืองที่อิงหลักความเชื่อทางศาสนาสิ้นสุดลง แทนที่ด้วยการเมืองที่อิงอุดมคติและหลักการโลกวิสัย ศาสนาและศาสนจักรถูกกันออกไปจากการมีอำนาจนำและอำนาจครอบงำทางการเมือง ถือว่าศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ศาสนจักรเป็นเรื่องของชุมชนศาสนาหนึ่งๆ จะบริหารจัดการกันเองในรูปของเอกชน รัฐเป็นกลางทางศาสนา ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาและการไม่นับถือศาสนา

ดังนั้น การพูดว่า “ศาสนาไม่เกี่ยว/ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง” จะเป็นการพูดที่ “make sense” ก็ต่อเมื่อเป็นการพูดบนกรอบคิดโลกวิสัยเท่านั้น เพราะการแยกศาสนาจากรัฐบนหลักการโลกวิสัยเท่านั้น จึงจะทำให้มีความเป็นไปได้ที่ศาสนาจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง 

การพูดว่าศาสนาไม่เกี่ยวข้องหรือ “ไม่ควร” เกี่ยวข้องกับการเมืองบนการยอมรับรัฐศาสนาแบบยุคกลาง, รัฐศาสนาในปัจจุบัน หรือ “รัฐกึ่งศาสนา” แบบไทย เป็นการพูดหลอกๆ หรือการสร้าง “มายาคติ” เช่น ที่บอกว่า ระบบการปกครองไทยมีการแยกระหว่างฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร (คณะสงฆ์) อย่างชัดเจน ดั้งนั้นการเมืองกับศาสนาจึงแยกจากกันมาแต่ไหนแต่ไร นี่เป็นการมองข้ามความจริงที่ว่ากษัตริย์ที่ปกครองทั้งอาณาจักรและพุทธจักรนั้นคือ พระโพธิสัตว์, สมมติเทพ, ธรรมราชา, พระพุทธเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสถานะของกษัตริย์ที่ถูกสถาปนาขึ้นบนปรัชญาการเมืองแบบพุทธ (ผสมพราหมณ์) ซึ่งเป็นสถานะที่มี “ความเป็นศาสนา” เข้มข้นและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าความเป็นศาสนาในมิติอื่นๆ เสียอีก 

สถานะเช่นนี้เป็นทั้ง politics และ the pollical ในตัวเอง และนี่ก็คือสิ่งยืนยันความเป็น “รัฐพุทธศาสนา” (Buddhist state) ดังนั้น ในรัฐพุทธศาสนาคำพูดที่ว่าศาสนาไม่เกี่ยวหรือไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมืองจึงเป็นการพูดแบบไม่รู้, ไร้เดียงสา หรือมีวาระซ่อนเร้นบางอย่างของคนที่ชอบนำมากล่าวอ้างในยุคนี้

ในปัจจุบัน เวลาเราพูดกันในสังคมไทยว่า “ศาสนาไม่เกี่ยว/ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง” ดูเหมือนจะมีสองความหมายหลักๆ คือ หนึ่งพูดจากทัศนะของชาวพุทธบางคน บางกลุ่ม สองพูดจากข้อเท็จจริงของสังคมสมัยใหม่ที่ไม่ใช่รัฐศาสนา 

ฝ่ายแรกมักจะอ้างแบบเดิมๆ ว่ามีการแยกระหว่างฝ่ายอาณาจักรกับพุทธจักรจากกันอยู่แล้ว และยังมีกฎหมายไม่อนุญาตให้พระสงฆ์ใช้สิทธิเลือกตั้งอีกด้วย พุทธศาสนาหรือพระสงฆ์จึงไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือเกี่ยวข้องไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้เกี่ยวข้อง การพูดเช่นนี้มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าระบบปกครองคณะสงฆ์หรือ “มหาเถรสมาคม” นั้นตั้งขึ้นโดยอำนาจรัฐ จึงเป็น politics และองค์กรปกครองสงฆ์ก็ถูกกำหนดโดยกฎหมายและจารีตประเพณีให้เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงมีความเป็นการเมือง หรือเป็น the political ในตัวเองชัดเจนอยู่แล้ว และความเป็นการเมืองดังกล่าวนี่เองที่กันพระภิกษุสงฆ์จากการมีสิทธิเลือกตั้งในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะต้องการให้พุทธศาสนาและพระสงฆ์อยู่ในฝ่ายสนับสนุนระบบอำนาจและอุดมการณ์จารีตเป็นด้านหลัก แต่อ้างว่าต้องการให้พระสงฆ์ “อยู่เหนือ” การเมือง และ “บริสุทธิ์สะอาด” จากการเมืองที่สกปรก 

ดังนั้น ภายใต้ระบบที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐตามหลักการโลกวิสัย การพูดว่าศาสนาไม่เกี่ยวหรือไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงเป็นการพูดที่ไร้ความหมาย หรือเป็นมายาคติ หลอกตัวเอง หรือหลอกกันและกันเท่านั้น

ส่วนฝ่ายหลังที่มองว่า ศาสนาไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมืองบนการยืนยันข้อเท็จจริงของสังคมสมัยใหม่ที่ไม่ใช่รัฐศาสนา หากไม่เดินต่อด้วยการยืนยันการแยกศาสนาจากรัฐ หรือ “secularization” ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้สังคมไทยพ้นไปจากมายาคติ หรือการหลอกตัวเองในเรื่องศาสนาไม่เกี่ยวหรือไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมืองได้เลย 

หลังการปฏิรูปคริสต์ศาสนาในยุโรปราวสองศตวรรษ จึงนำมาสู่การกำเนิดรัฐโลกวิสัยและการแยกศาสนาจากรัฐได้สำเร็จ ถ้าเชื่อกันว่าสยามไทยมีการปฏิรูปพุทธศาสนามาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 4 นี่ก็ปาเข้าไปเกินศตวรรษครึ่งแล้ว ยังไม่เกิดแนวคิด secularism, secularization ขึ้นมาท้าทายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐอย่างจริงจังเลย เราจึงต้องอยู่กับรัฐกึ่งศาสนา และกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยแบบไทยๆ กันแบบนี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net