‘การรวมตัว-เจรจาต่อรอง’ ยังคงเป็นความหวัง ‘ฟรีแลนซ์ภาคสื่อ’

ในต่างประเทศพบว่าแนวทางในการปกป้องตนเองของคนทำงานแบบฟรีแลนซ์ มักจะใช้แนวทาง ‘การรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง’


ที่มาภาพประกอบ: Kona Gallagher (CC BY-SA 2.0)

แนวโน้มการจ้างงานในปัจจุบัน พบว่าเกือบทุกอุตสาหกรรม ได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างสำคัญทั้งในเรื่องคุณภาพ, สถานที่, รูปแบบ, และความถาวรของตำแหน่งงาน ธุรกิจต่างๆ ได้ขยายการใช้ผู้รับเหมาช่วงสำหรับงานที่มีภาระหน้าที่เฉพาะเจาะจง, มีปฏิสัมพันธ์กับแรงงานในรูปลักษณะที่ยืดหยุ่นมากขึ้น, ใช้ประโยชน์จากพนักงานซึ่งอยู่ในสถานที่ห่างไกล และเปลี่ยนแปลงสถานที่เพื่อให้เข้าถึงผู้ที่มีความสามารถเหมาะสมกับงาน ซึ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติที่เอื้อต่อการจ้างงานแบบไม่มั่นคง

ในอุตสาหกรรมสื่อ พบว่าตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งแต่การใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือแพร่หลายมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนทั้งโลกเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมสื่อเก่าต้องปรับตัวสู่ดิจิทัล ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับคนทำงานในภาคสื่อสารมวลชน ทั้งการเลิกจ้างและรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง โดยเฉพาะการจ้างงาน 'ฟรีแลนซ์' ที่ได้ลุกลามในวงการสื่อทั่วโลกแล้ว

ซึ่งในต่างประเทศพบว่าแนวทางในการปกป้องตนเองของคนทำงานแบบฟรีแลนซ์ภาคสื่อ มักจะใช้แนวทาง ‘การรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง’ โดยในรายงานชิ้นนี้ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

ที่เยอรมนีมีนโยบาย German artists insurance คือนโยบายที่รัฐบาลจะสมทบเงินประกันสังคมให้ศิลปินและนักเขียน ที่มาภาพประกอบ: Deutschland.de

ในประเทศเยอรมัน ได้เพิ่มสวัสดิการให้ฟรีแลนซ์มีความเท่าเทียมกับสวัสดิการของลูกจ้างประจำด้วย ตั้งแต่ปี 1983 มาแล้ว โดยศิลปินอิสระ นักข่าว และนักเขียนในเยอรมันสามารถเข้าร่วมประกันสังคมสำหรับศิลปิน (Social Security for Artists) ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ทำงานอิสระจ่ายเงินระดับเดียวกับพนักงานประจำสำหรับประกันสุขภาพและเงินเกษียณอายุ ส่วนเงินสมทบส่วนของผู้ว่าจ้างให้ลูกค้าเป็นผู้จ่าย แต่ก็เป็นระบบที่มีข้อจำกัดของคำว่า ‘ศิลปิน’ ทำให้เข้าถึงได้เฉพาะบางสาขาในการออกแบบ เช่น นักออกแบบกราฟิกสามารถเข้าร่วมได้ แต่นักออกแบบเว็บไซต์ไม่สามารถเข้าร่วม[i] ต่อมาในปี 2002 Bavarian public broadcaster (BR) ได้ลงนามข้อตกลงในการให้สิทธิแก่ฟรีแลนซ์ ได้แก่ เงินชดเชยลาป่วย ลาคลอด การลาที่ยังได้ค่าจ้าง เงินสงเคราะห์ครอบครัว และค่าจ้างขั้นต่ำ และความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ของนักเขียนตามกฎหมาย Author’s Rights Act[ii]

นอกจากนี้เยอรมันยังมีนโยบาย German artists insurance คือนโยบายที่รัฐบาลจะสมทบเงินประกันสังคมให้ศิลปินและนักเขียน โดยศิลปินและนักเขียนต้องจ่ายประกันสังคมประเภทนี้เท่ากับระดับที่ลูกจ้างประจำจ่ายซึ่งรัฐบาลเยอรมันจะจ่ายสมทบให้ร้อยละ 20 ของเงินที่ศิลปินและนักเขียนจ่าย องค์กรที่ต้องพึ่งพาศิลปินหรือนักเขียน เช่น สำนักพิมพ์ โรงละคร ห้องสมุด หรือบริษัทเอกชน ต้องจ่ายสมทบร้อยละ 30 โดยกฎหมายกำหนดให้บริษัทเอกชนต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ศิลปินหรือนักเขียน

โดยตั้งแต่ปี 2015 กองทุนบำนาญของเยอรมัน (German Pension Fund) ได้ตรวจสอบบริษัทเอกชนมาตลอดเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทได้ปฏิบัติตาม German artists insurance ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบสำหรับระบบประกันสังคมโดยปกติ และช่วยให้ต้นทุนการบริหารของธุรกิจลดลงเป็นผลให้มีบริษัทที่จ่ายสมทบประกันสังคมสำหรับศิลปินและนักเขียนเพิ่มขึ้น 50,000 ราย ภายในสองปี โดยจำนวนสมาชิกของประกันสังคมประเภทนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของการจ้างงานทั้งหมดในเยอรมัน[iii]  

Aller Press หนึ่งในผู้จัดพิมพ์นิตยสารหลักหลักของเดนมาร์กบรรลุข้อตกลงข้อตกลงกับนักข่าวฟรีแลนซ์ ให้มีสิทธิในการเจรจาต่อรองเหมือนพนักงานประจำ ที่มาภาพประกอบ: Aller Media A/S

ในปี 2007 ศาลแรงงานเดนมาร์กอนุญาตให้นักข่าวฟรีแลนซ์มีสิทธิในการเจรจาต่อรองผ่านสหภาพแรงงานนักข่าว เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้นนักข่าวฟรีแลนซ์ก็ได้บรรลุข้อตกลงกับ Aller Press หนึ่งในผู้จัดพิมพ์นิตยสารหลักหลักของประเทศ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดนิตยสารของเดนมาร์กร้อยละ 80 หลังนักข่าวฟรีแลนซ์ได้เรียกร้องมา 6 เดือน เพื่อสิทธิในการเจรจาต่อรองเหมือนพนักงานประจำ[iv]

ในปี 2010 ประเทศแคนาดามีการรวมกลุ่มของฟรีแลนซ์ด้านสื่อสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ Canadian Freelance Union (CFU) มีเป้าหมายเพื่อให้มีอัตราการจ่ายค่าจ้างงานที่สูงขึ้นและต่อต้านสัญญาการลิดรอนสิทธิที่ไม่เป็นธรรม และ Canadian Media Guild (CMG) เป็นรวมกลุ่มข้ามพรมแดนของฟรีแลนซ์ในอเมริกาและแคนาดา โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องฟรีแลนซ์[v]

เมื่อปลายปี 2018 สหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวแห่งสวีเดน สวีเดน (Swedish Union of Journalists) ได้เสนอให้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างใหม่ในการจ้างนักข่าวฟรีแลนซ์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน 2019 โดย หนังสือพิมพ์ฉบับเช้า 2 ฉบับคือ Sydsvenska Dagbladet และ Helsingborgs Dagblad จะปรับเพิ่มค่าจ้างร้อยละ 2 ต่อปี และหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายรายใหญ่ที่สุดของสวีเดนคือ Aftonbladet เพิ่งตกลงปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างร้อยละ 15 ให้แก่นักข่าวฟรีแลนซ์ที่เขียนบทวิจารณ์งานเชิงวัฒนธรรม แต่ไม่เพิ่มค่าจ้างให้แก่ผู้เขียนบทความด้านวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งนักข่าวอิสระของสำนักข่าวดังกล่าวกำลังเรียกร้องให้เพิ่มแก่ผู้เขียนบทความอื่นๆ ด้วย ข้อตกลงเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสหภาพแรงงานนักข่าวแห่งสวีเดน องค์กร Frilans Riks และสหภาพแรงงานสาขาย่อยของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ[vi]

สหภาพแรงงานภาคสื่อสารมวลชนสหราชอาณาจักร (BECTU) ก็มีข้อตกลงกับ BBC Scotland เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเงื่อนไขที่ชัดเจนในการจ้างงานฟรีแลนซ์

เช่นเดียวกับสหภาพแรงงานภาคสื่อสารมวลชนสหราชอาณาจักร (BECTU) ที่เมื่อต้นปี 2019 ได้บรรลุข้อตกลงกับ BBC Scotland เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเงื่อนไขที่ชัดเจนในการจ้างงานฟรีแลนซ์และการจ้างงานที่ไม่เป็นทางการ จากการต่อสู้ของ BECTU ซึ่งมีคนทำงานสื่อมวลชนหรือบันเทิงทั้งวิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ละคนเวที ศิลปะอื่น ๆ เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม รวมทั้งคนทำงานในภาคสื่อดิจิทัลเป็นสมาชิก[vii]

ศาลเนเธอร์แลนด์สั่งผู้ว่าจ้างจ่ายค่าแรง 'ช่างภาพฟรีแลนซ์' เพิ่ม
‘ฟรีแลนซ์ภาคสื่ออาร์เจนตินา’ ระบุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ค่าแรง 'ฟรีแลนซ์ภาคสื่อในเบลเยียม' ไม่เพิ่มมากว่า 10 ปี แล้ว
พบ ‘ฟรีแลนซ์’ กดค่าแรงตัวเองให้ได้งาน-เงินเก็บออมน้อย
ผลสำรวจ ‘ฟรีแลนซ์’ 170 ประเทศ พบชายมีรายได้มากกว่าหญิง
การจ้างงาน ‘ฟรีแลนซ์’ กำลังคุกคามคนทำงานสื่อมวลชนในยุโรป

ในสหรัฐอเมริกา ช่วงต้นปี 2019 มีความพยายามในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่นักเขียนฟรีแลนซ์ โดยสหภาพนักเขียนอเมริกัน (Writers Guild of America, East - WGAE) ได้ผลักดันให้มีรูปแบบของสัญญาหลากหลายรูปแบบสำหรับฟรีแลนซ์ทั้งเขียนบทภาพยนตร์ บทโทรทัศน์ และสื่อใหม่ (new media) โดยสัญญาบางฉบับ WGAE ได้ทำการเจรจาไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้การจ้างงานฟรีแลนซ์เป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานขั้นต่ำ (Minimum Basic Agreement) เพื่อให้ฟรีแลนซ์ได้รับความสะดวกทั้งในขณะเจรจาข้อตกลงและหากเกิดข้อพิพาทขึ้นในภายหลัง รวมถึงช่วยให้มั่นใจได้ว่าฟรีแลนซ์จะได้รับค่าจ้างอย่างรวดเร็ว ลดข้อพิพาทอันเนื่องมาจากภาษาในเอกสารสัญญา และช่วยกำจัดข้อเสนอที่รวมไว้ในสัญญาโดยไม่ได้คาดคิดและไม่พึงประสงค์ต่อฟรีแลนซ์ซึ่งบ่อยครั้งมีการค้นพบหลังจากเซ็นสัญญาไปแล้ว[viii]

อีกทั้งรัฐบาลท้องถิ่นอย่างเช่น เทศบาลเมืองนิวยอร์ก (New York City) มีสัญญาตามกฎหมายสำหรับผู้ว่าจ้างและฟรีแลนซ์ที่ทั้งสองฝ่ายสามารถตรวจสอบดูก่อนได้ และมีช่องทางบริการให้ติดต่อผ่านอีเมลสำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตนเป็นฟรีแลนซ์หรือไม่ ซึ่งฟรีแลนซ์ทุกคนในเทศบาลเมืองนิวยอร์กไม่ว่าจะมีสถานะคนเข้าเมือง เช่นไรก็ตาม มีสิทธิตามกฎหมาย Freelance Isn’t Free Act ได้แก่

1.การเขียนสัญญาจ้างงานโดยสัญญาที่มีมูลค่าตั้งแต่ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปในทุก ๆ 120 ของการจ้างงานรวมถึงข้อตกลงระหว่างฟรีแลนซ์กับผู้ว่าจ้างจะต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในสัญญาต้องระบุถึงงานที่ทำ ค่าจ้าง และวันที่จะได้รับค่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินก่อนหรือตรงเวลาตามงานที่เสร็จ หากสัญญาใดไม่ระบุวันจ่ายเงิน ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายภายใน 30 วันหลังจากงานเสร็จ

2.หากฟรีแลนซ์ใช้สิทธิตามกฎหมาย การที่ผู้ว่าจ้างลงโทษ ข่มขู่ หรือใส่ชื่อฟรีแลนซ์ในบัญชีดำ นับเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (Freedom from Retaliation)

3.สามารถร้องเรียนเกี่ยวกับนโยบายและมาตรฐานแรงงานได้ โดยผู้ว่าจ้างต้องตอบข้อร้องเรียนภายใน 20 วัน ซึ่งฟรีแลนซ์จะได้รับข้อมูลเพื่อติดต่อทนายความ ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการในชั้นศาล และข้อมูลอื่นๆ

4.สามารถฟ้องผู้ว่าจ้างได้ หากฟรีแลนซ์ได้รับค่าจ้างช้ากว่าเวลาที่ตกลงกันในสัญญา โดยมีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างเป็นสองเท่าของเงินที่ไม่ได้รับ รวมถึงสามารถเรียกค่าเสียหายสำหรับการที่ผู้ว่าจ้างลงโทษ ข่มขู่ หรือใส่ชื่อฟรีแลนซ์ในบัญชีดำ และค่าใช้จ่ายสำหรับทนายความ

 

[i] Krause K. (2018, Oct 31). The Fight for Freelance Protections in Germany is About More Than Just Regulations. AIGA Eye on Design. https://eyeondesign.aiga.org/inside-the-fight-for-freelance-protections-under-the-german-welfare-state/

[ii] European Commission. (2016). The Future of Work in the Media, Arts & Entertainment Sector, Meeting the Challenge of Atypical Working. Retrieved from https://www.fim-musicians.org/wp-content/uploads/atypical-work-handbook-en.pdf

[iii] OECD. (2018). The Future of Social Protection: What works for non-standard workers?. Retrieved from https://www.oecd.org/social/Future-of-social-protection.pdf

[iv] International Federation of Journalists. (2007). Bargaining Victory Ends Six-month Battle for Freelance Union Rights in Denmark. https://www.ifj.org/media-centre/news/detail/category/latin-america/article/bargaining-victory-ends-six-month-battle-for-freelance-union-rights-in-denmark.html

[v] Standing G. (2011). The Precariat: The New Dangerous Class. London: Bloomsbury Academic.

[vi] European Federation of Journalists. (2019, Jan 1). Sweden: Freelance journalists successfully obtain fee rise. European Federation of Journalist. https://europeanjournalists.org/blog/2019/01/30/sweden-freelance-journalists-successfully-negotiate-fee-rise/

[vii] BECTU. (2019). BBC Freelance Agreements. https://www.bectu.org.uk/advice-resources/agreements/bbc-freelance-agreement

[viii] Writers Guild of America, East. (2019). FREELANCE CONTRACTS. https://www.wgaeast.org/ guild-contracts/freelance/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท