วิทยานิพนธ์ ป.เอกนำดูลักษณะ-ความเปลี่ยนแปลงชนชั้นนำเครือข่ายในหลวง ร.9

ดุษฎีนิพนธ์ของอาสา คำภา หัวข้อ พาสำรวจเส้นทางการก่อตัว เติบโต ธรรมชาติและแพร่ขยายของชนชั้นนำไทยในเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ในหลวง ร.9 "ข้าราชการสายวัง" คืออะไร เครื่องราชฯ พระเครื่องพระราชทานบ่งบอกอะไร เสนอ ฉันทามติของชนชั้นนำคือแบ่งเค้กแล้วห้ามกินของคนอื่น ศ.เกษียรเพิ่มอีกข้อคือการจัดการมวลชน ระบุ สังคมไทยยังหาฉันทามติยากเพราะต่างฝ่ายคือขบถของอีกฝ่าย

ซ้ายไปขวา: อาสา คำภา ศ.เกษียร เตชะพีระ ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ

15 พ.ย. 2562 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการนำเสนอดุษฎีนิพนธ์หัวข้อ “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535” ที่ทำขึ้นโดยอาสา คำภา สถาบันไทยคดีศึกษา มธ. ในงานเสวนา "นักวิจัยรุ่นใหม่ รัฐศาสตร์หลากฉากทัศน์" โดยมี 2 อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. ศ.เกษียร เตชะพีระเป็นผู้ร่วมให้ความเห็น และมี ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติดำเนินการเสวนา

สิ่งเดียวที่อยากรู้ในดุษฎีนิพนธ์ 731 หน้า

อาสาเล่าว่า สิ่งที่ต้องการศึกษาข้อเดียวคือการก่อรูปและความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทยระหว่าง พ.ศ. 2495-2535 โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ สถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย หรือที่เรียกว่า network monarchy ที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังเป็นคนเริ่มพูดถึงและถูกตอบรับ ขยายความจากนักวิชาการในไทยหลายคน อย่างที่เกษียรเรียกว่า “เครือข่ายในหลวง” การเข้าใจการเมืองไทยได้อย่างเป็นระบบคือการมองมันในฐานะการต่อสู้กันระหว่างเครือข่าย และเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและมีอิทธิพลทางการเมืองมากสุดคือสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย

นักวิจัยจาก มช. ยังกล่าวว่า การที่ชนชั้นนำไทยแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าเริ่มตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และการก่อตัวของสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่ายจะเกิดขึ้นบนปฏิสัมพันธ์อย่างมีพลวัตของตัวแสดงต่างๆ ภายใต้การต่อสู้ต่อรอง ประนีประนอมทั้งเปิดเผยและอำพราง โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีหมุดหมายอยู่ที่ พ.ศ. 2495 ปีที่ ร.9 เสด็จนิวัตกลับไทยเป็นการถาวร ซึ่งมีสมมติฐานของงานวิจัยว่า เมื่อพระราชอำนาจนำสู่กระแสสูง เครือข่ายสถาบันก็มีแนวโน้มขยายตัวตาม

“ข้าราชการสายวัง” คืออะไร ดูจากตรงไหน

อาสาพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “ข้าราชการวัง” คือข้าราชการในระบบราชการสมัยใหม่หลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่มีความเป็นทางการมากขึ้น แต่มีความใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยไม่ว่าจะด้วยความผูกพันในราชสกุลวงศ์หรือการหล่อหลอมจากวัฒนธรรมองค์กรในบางหน่วยงาน โดยอาสายกตัวอย่างข้าราชการสายวังดังนี้

  • มจ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ข้าราชการระดับสูงกระทรวงการเกษตร พระยาแรกนาคนแรกหลังฟื้นพิธีแรกนาขวัญสมัยจอมพลสฤษดิ์ ผู้นิพนธ์คำร้องให้บทเพลงพระราชนิพนธ์ของ ร.9 
  • มล.ปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ทศวรรษ 2490 สมัยรัฐบาลสฤษดิ์และถนอม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นคนสำคัญในกระทรวง ศธ. มีอิทธิพลทางความคิดมาก มล. ปิ่นเองมีความใกล้ชิดกับพระองค์เจ้าธานีนิวัต ประธานองคมนตรีในช่วงต้นรัชกาล
  • มล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน พ.ศ. 2492-2510 อธิการบดี ม. เกษตรศาสตร์ และ รมช. กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
  • พ่วง สุวรรณรัฐ พ่อของพลากร สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2500-2510 ในหลวง ร.9 ถึงกับเคยตรัสกับผู้ใกล้ชิดว่านายพ่วงใช้ได้ดี ต้องพระราชหฤทัย
  • สัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2502-2506 นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2516-2518 โดยได้รับโปรดเกล้าฯ จากในหลวง ร.9 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516

อาสาเล่าว่า ในช่วงปี 2490 ข้าราชการสายวังมักกระจุกในพื้นที่ที่ไม่ค่อยต่อสู้แย่งอำนาจเท่าใดนัก เช่นกระทรวงการเกษตร ศึกษาธิการ สาธารณสุข หลังรัฐประหาร 2500 ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักและทหารเป็นไปในลักษณะสนับสนุนซึ่งกันและกัน  ข้าราชการสายวังก็ปรากฏตัวมาก และสังกัดในหลายพื้นที่มากขึ้น เช่น ข้าราชการตุลาการอาวุโส ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ข้าราชการทหาร ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดนบางสายที่มีความใกล้ชิดมาจากโครงการพัฒนาชนบท อย่างไรก็ดี คนที่กุมอำนาจสูงสุดในยุคนั้นยังเป็นผู้นำทหาร ซึ่งสภาพการณ์จะเปลี่ยนไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516

อาสามองสิ่งของพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ว่าเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเป็นข้าราชการสายวังคือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยปกติแล้วข้าราชการจะได้รับเครื่องราชฯ ตามลำดับขั้นราชการ สูงสุดที่จะได้คือเครื่องราชฯ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก แต่เครื่องราชฯ ประเภทตราจุลจอมเกล้าจะได้รับพระราชทานตามพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าอยู่หัวและมีจำนวนสำรับจำกัด ระดับสูงสุดอย่างตราปฐมจุลจอมเกล้ามีจำกัดเพียง 30 สำรับ ระดับรองลงมาอย่างทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษมี 200 สำรับ ไม่ใช่ข้าราชการระดับสูงทุกคนจะได้รับ มีหลายครั้งที่ปลัดได้ แต่ระดับรัฐมนตรีไม่เคยได้เลยก็มี บางสมัยจะพบว่าคุณนายผู้ว่าฯ มีคำนำหน้าว่าท่านผู้หญิงก็เพราะเธอได้รับเครื่องราชฯ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษฝ่ายใน

ผู้ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้านั้นเหมือนเป็นเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการภายในเครือข่ายที่เป็นทางการของระบบราชการ (Informal network within formal network) นอกจากตราจุลจอมเกล้าแล้วก็มีเหรียญรัตนาภรณ์ โดยปกติจะมี 5 ชั้น พระบรมวงศานุวงศ์จะได้รับพระราชทานชั้น 1 คนธรรมดาสามัญจะได้รับตั้งแต่ชั้นที่ 2 เป็นต้นไปแต่ก็มีน้อยคน สมัคร สุนทรเวชเคยได้รับพระราชทานเหรียญชั้นที่ 2 ตั้งแต่ปี 2520 ตอนที่เป็น รมต. สมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ตอนนั้นคนที่มีบทบาทสำคัญอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ยังไม่เป็นที่รู้จักเลย

ในกรณีพระเครื่องจิตรลดา ที่ ร.9 สร้างเอง ก็อาจบ่งชี้ถึงความใกล้ชิดเพราะว่าพระเครื่องจะต้องมีใบรับรอง (certificate) เพื่อบอกลำดับการได้รับ ผู้ได้รับพระราชทานคนแรกมีการกล่าวว่าเป็นพระองค์เจ้าธานีนิวัติ ต่อมาเป็น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นอกจากนั้นห้างร้านต่างๆ ยังมีได้รับพระราชทานตราครุทด้วย

นักวิชาการจาก มช. กล่าวว่า การถวายเงินค่าธรรมเนียมพระราชกุศลการเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหลังรัฐประหารปี 2490 เป็นช่วงที่ราชวงศ์เริ่มให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาในพื้นที่ห่างไกล ในปี  2509 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยรับสั่งกับกลุ่มเจ้าสัว นายธนาคารว่าขอโรงเรียน ตชด. จากท่าน ท่านละ 1 โรงเรียน ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี ธนินทร์ เจียรวนนท์ เจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็สนับสนุนโครงการพระราชดำริที่เขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ตั้งแต่ปี 2510 

อิสระ วูบไหวตามพระราชอำนาจ: วงจรชีวิต วงจรอำนาจของชนชั้นนำไทย

อาสาเรียกพฤติกรรมของตัวละครในเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ว่ามีความเป็นอิสระเชิงสัมพันธ์ คือไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มักมีความสัมพันธ์เชิงซ้อน หรือการสังกัดกับเครือข่ายชนชั้นนำอื่นๆ ด้วยเป็นปกติ อย่างคึกฤทธิ์ก็ไปมีส่วนสำคัญในการนิยามวาทกรรมผู้นำแบบไทยที่ตอบสนองโครงสร้างอำนาจระบอบเผด็จการทหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

ไม่กี่ปีก่อน 14 ตุลาฯ คึกฤทธิ์ก็ร่วมมือกับสัญญา ธรรมศักดิ์ซึ่งเป็นองคมนตรีในขณะนั้นแซะอำนาจของเผด็จการทหารของถนอม แต่พอหลัง 14 ตุลาฯ ไม่นาน คึกฤทธิ์กับสัญญาก็แทบเป็นคู่แข่งทางการเมืองอยู่กลายๆ สภาพความเป็นพันธมิตรสลายลง ชูชาติ กำภู แม้จะเป็นข้าราชการกรมชลประทานคนสำคัญ ก็เป็นสมาชิกแกนกลางของพรรคสหประชาไทที่เป็นพรรคของถนอมด้วย 

ความสัมพันธ์เชิงซ้อนเช่นนั้นเกิดขึ้นเป็นปกติ ตราบจนเกิดสถานการณ์ที่พระราชอำนาจนำขึ้นสู่กระแสสูง อย่างเช่นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สมาชิกภาพของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์จะเปิดเผยออกมาอย่างเด่นชัด หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ การที่สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้รับเลือกมาเป็นนายกฯ พระราชทาน การเกิดขึ้นของสภาสนามม้าที่เป็นต้นทางของ สนช. ก็คือการแปลงสภาพเครือข่ายเป็นองค์กรที่เป็นทางการ ท่ามกลางภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ชนชั้นนำไทยพร้อมเดินตามกระแสราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์

อาสาเล่าว่า เครือข่ายสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจมีทั้งกระแสสูงและกระแสตีกลับ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร รัฐบาลขวาจัดไม่ได้รับความร่วมมือจากชนชั้นนำไทยแทบทุกกลุ่ม ในงานของ ศ.ยศ สันตสมบัติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มช. ได้ระบุคำสัมภาษณ์ของธานินทร์ที่บอกว่ารัฐบาลอยู่ได้เพราะมีสถาบันใหญ่และ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ แต่ในปี 2520 ธานินทร์ก็ถูกรัฐประหารไปท่ามกลางความโล่งใจของชนชั้นนำไทยหลายๆ กลุ่ม

ฉันทามติชนชั้นนำไทยกับพระราชอำนาจนำ

อาสาเล่าว่า พลวัตของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจนำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฉันทามติร่วมของชนชั้นนำไทย ในส่วนนี้อาสามองว่ามีอยู่ประมาณ 4 ข้อ ได้แก่ 

  1. ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโลกคอมมิวนิสต์ 
  2. รับแนวคิดการพัฒนาของโลกเสรีตะวันตก
  3. เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ 

3 ข้อดังกล่าวเป็นเรื่องการตอบสนองจากปัจจัยภายนอกในยุคสงครามเย็น แต่อีกข้อคือ การแบ่งสรรและไม่ควบรวมอำนาจของผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อพื้นที่ทางอำนาจของผู้อื่นหรือกลุ่มอื่น หากมีการแบ่งสรรกันลงตัวในระดับหนึ่งแล้ว อย่างที่สฤษดิ์ควบตำแหน่งทั้ง ผบ.ทบ. ผบ.ทสส. และนายกฯ ก็ยังมีพื้นที่ทางอำนาจบางแห่งที่ต้องแบ่งให้กลุ่มอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทยก็ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของประภาส จารุเสถียร ในขณะที่ถนอมเป็น รมว. กลาโหมอย่างยาวนาน ภาวะนี้เรียกว่ารวมศูนย์แต่แยกส่วน

ต่อมาในยุคของถนอม ภาวะรวมศูนย์แต่แยกส่วนยิ่งแตกตัวออกมา มีเดิมพันผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างรักษาและหวงแหนมากขึ้น ถนอมคุมกระทรวงกลาโหมและเป็นนายกฯ ประภาศเป็น ผบ.ทบ. ถนัด คอร์มันต์ที่เป็นพลเรือนก็เป็น รมว.ต่างประเทศอยู่นานมาก สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็มี พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา คุมอยู่ กลายเป็นมีปริมณฑลที่ห้ามเข้า จนกระทั่งจะมีการขยายอำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปในที่ๆ มีการแบ่งสรรอำนาจกันเรียบร้อยแล้ว ชนชั้นนำไทยอื่นๆ ก็พร้อมจะเอาตัวผู้กระทำลงจากอำนาจไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้นำทางทหารหรือการเมืองก็ตาม

อาสาได้ยกตัวอย่างภาวะการตอบโต้การกินแดนทางอำนาจด้วยกรณีที่ประภาสพยายามควบรวมอำนาจในกรมตำรวจมาจากประเสริฐ รุจิรวงศ์ และพยายามต่ออายุราชการของตัวเองซึ่งไปกระทบกับ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ที่จ่อรอขึ้นรับตำแหน่ง ผบ.ทบ. แทน ทำให้สภาพพันธมิตรพังทลายลง เป็นสาเหตุเบื้องหลัง 14 ตุลาฯ อย่างหนึ่ง อีกกรณีคือการที่รัฐบาลธานินทร์มีแผนพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปี ที่จะเป็นการแช่แข็งบทบาทนักการเมือง แล้วใช้อำนาจฝ่ายขวาจัดเล่นงานข้าราชการ แนวทางนี้ก็ถูกปฏิเสธจากชนชั้นนำไทยเหมือนกัน ในช่วง 14 ตุลาฯ ถึงช่วงต้นปี 2520 มีการละเมิดฉันทามติการควบรวมอำนาจหลายระลอก คนที่เรียนรู้เรื่องนี้และไม่เดินตามรอยก็คือเปรม ติณสูลานนท์

การขึ้นสู่อำนาจของเปรมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างย้อนแย้ง เพราะด้านหนึ่งเขาได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก แต่อีกด้านได้รับการหนุนหลังจากนายทหารยังเติร์ก (จปร.7) ซึ่งต่อมาเป็นหัวหอกการโค่นล้มรัฐบาลธานินทร์และเป็นรุ่นที่คุมกำลังพลที่แท้จริง มีบทบาทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลัง 14 ตุลาฯ หลายครั้ง ในสายตาชนชั้นนำไทยต้น 2520 ยังเติร์กถูกมองในฐานะพลังที่น่ากลัว ข่มขู่และคุกคามเกินไป ไม่ค่อยเชื่อฟังใคร แม้แต่เปรมก็ไม่แน่ใจว่าจะคุมยังเติร์กได้ 

คนที่กุมความลำพองของยังเติร์กได้คือในหลวง ร.9 จากการตัดสินใจของพระองค์ในการเสด็จไปประทับที่ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมาตามคำกราบบังคมทูลของเปรมในเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย 2524 การตัดสินใจดังกล่าวเป็นปัจจัยชี้ขาดความพ่ายแพ้ของยังเติร์ก ตามมาด้วยการปลดแอกเปรมจากพันธนาการของยังเติร์ก การตัดสินใจของ ร.9 ยังทำให้ชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ เห็นว่าพลังทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์มีพลังกว่าอำนาจปืน ซึ่งตรงนี้อาสาคิดว่าเป็นจุดก่อตัวของพระราชอำนาจนำอีกระลอก

อาสาระบุว่า การเกิดขึ้นของพระราชอำนาจนำนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 ทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลบอกว่า ร.9 เปลี่ยนสถานะประมุขของกลุ่มปกครองกลายเป็นประมุขของชนชั้นปกครอง  ในขณะที่ความตระหนักรู้ของอำนาจนำที่กระจายไปมากกว่าในหมู่ชนชั้นนำทำให้เกิดฉันทามติภูมิพล จุดสูงสุดของพระราชอำนาจนำคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่จำลอง ศรีเมืองสู้กับสุจินดา คราประยูร แล้วในหลวงเชิญให้ทั้งสองเข้าพบแล้วบอกให้หยุด มวลชนข้างนอกก็หยุดด้วย สะท้อนว่ามีพลานุภาพในการโน้มน้าวสังคม 

อาสาอธิบายเรื่องพระราชอำนาจนำผ่านพระราชดำรัสในฐานะสิ่งที่ได้รับการตอบสนองทางการเมือง ในช่วงที่มีพระราชดำรัส 4 ธ.ค. ทุกปี หลายคนจะจดจ้องว่า ร.9 จะพูดอะไร หลายเรื่องในพระราชดำรัสถูกชูให้กลายเป็นวาระแห่งชาติเช่นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจากพระราชดำรัส 2540 เรื่องนี้สะท้อนพระราชอำนาจนำเพราะว่าข้อเสนอของพระองค์ถูกนำไปปฏิบัติตามอย่างแข็งขันในหลายสถาบัน เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม หรือพระราชดำริ 4 ธ.ค. 2536 ให้มีการสร้างเขื่อน ต่อมาก็มีการอนุมัติจาก ครม. ให้สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนขุนด่านปราการชล

เกษียร: บริหารจัดการมวลชนคือหนึ่งภารกิจชนชั้นนำ หาฉันทามติในสังคมไทยยาก

เกษียรกล่าวว่า พระราชอำนาจนำกลายเป็นเรื่องที่คนอยากตาม อยากไปด้วย (non-coersive compliance) คือผู้ตามยอมทำโดยไม่ต้องบังคับ อำนาจนำแบบนี้ปรากฏในสมัย ร.9 ช่วงเวลาแห่งความชัดเจนของพระราชอำนาจนำนั้นถูกนักวิชาการตีความแตกต่างกันไป งานของอาสาไม่ได้บอกว่าใครผิด แต่บอกว่าถูกทั้งคู่ แต่มีความคลี่คลายขยายตัว เปลี่ยนแปลงต่างกันไป มีช่วงขึ้น ช่วงลงแล้วก็ขึ้นไปอีก 

สำหรับแนวคิดฉันทามติชนชั้นนำ เกษียรมองว่าเป็นจุดเด่นของงานที่อาสาทำ มีการตีความเครือข่ายในหลวงแบบไม่ทื่อ ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบบน-ล่างหรือทางเดียว แต่ละคนมีโครงการทางการเมืองของตัวเอง  ความสัมพันธ์กับศูนย์กลางกับเครือข่ายจึงมีอิสระ บางทีไม่ตาม บางทีวิจารณ์ด้วยซ้ำไป

ฐานที่มาของฉันทามติชนชั้นนำไทยเป็นตัวอธิบายที่สำคัญมาก เรื่องนี้ไม่มีใครพูดชัดเจน แต่เราอธิบายการเกิดขึ้นของมันได้จากความพิเศษของรัฐราชการไทย ที่เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ชาตินิยมของประชาชนไม่สำเร็จ แม้ 2475 จะเปลี่ยนแปลงระบอบ แต่ก็ยังไม่เดินไปสู่ชาตินิยมของประชาชน มันค้างเติ่ง ห้อยต่องแต่ง อำนาจไม่ตกอยู่ที่ประชาชนแบบประชาธิปไตยรัฐสภา ไม่ตกอยู่กับกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่อยู่กับหน่วยงานราชการ ปัญหาคือมันทำให้รัฐราชการมีปัญหาด้านความชอบธรรม อ้างได้ไม่เต็มปากว่าเอาอำนาจการปกครองมาจากไหน จึงมีภาวะที่กองทัพยืมความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ ทำให้ชนชั้นนำไทยไม่สามารถมีศูนย์รวมหนึ่งเดียวได้ เพราะตั้งแต่ต้นมี 2 กลุ่ม มีความสัมพันธ์แบบที่ต้องแบ่งเขต แบ่งอำนาจตลอด เพราะมีความพร่องที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

แต่ละหน่วยงานในระบบราชการก็มีการแบ่งงานกันทำ รวมศูนย์อำนาจยากมาก รัฐไทยจึงมีความรวมศูนย์สูง แต่ขาดเอกภาพ เหมือนปีระมิดที่แตกเป็นเสี่ยง elite consensus มันเกิดและอิงอยู่กับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ของรัฐราชการแบบนั้ย

เกษียรยังกล่าวว่า เมื่อพูดถึงฉันทามติชนชั้นนำ (Thai elite consensus) ไม่คิดว่า ฉันทามติเป็นสิ่งหยุดนิ่งตายตัว เรากำลังพูดถึงสิ่งที่วิวัฒน์ คลี่คลายขยายตัวและเพิ่งสร้างเสียด้วยซ้ำ จุดเริ่มต้นของธรรมเนียมประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพิ่งเกิดขึ้นในสมัย ร.9 เท่านั้นเอง 

ถ้าไปดูวิทยานิพนธ์ของธงทอง จันทรางศุ ก็บอกว่าพระราชอำนาจในหลวงภายใต้ระบอบฯ ส่วนที่สำคัญที่สุดคือส่วนที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย พระราชอำนาจของในหลวงในระบอบฯ เกิดจากการยอมรับ เห็นพ้องต้องกันและมีอยู่จริง ฉันทามติของชนชั้นนำไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวจากคววามเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี อุดมการณ์ใหม่ๆ ที่เข้ามา อย่างน้อยข้อหนึ่งที่เปลี่ยนคือการพึ่งสหรัฐฯ ที่ตอนนี้เราหันไปทางจีนมากกว่าด้วยซ้ำ 

เกษียรคิดว่าฉันทามติของชนชั้นนำมีอีกข้อหนึ่ง คือเมื่อ 14 ต.ค. มวลประชามหาชนเดินเข้าสู่ประวัติศาสตร์แล้วไปกระแทกการเมืองของชนชั้นนำ (elite politics) ฉันทามติอีกข้อหนึ่งคือวิธีการจัดการการเมืองมวลชน เอามวลชนออกจากท้องถนน เอามวลชนเข้าสู่สภา คูหาเลือกตั้ง แล้วอย่าให้มีพรรคสุดโต่ง (radical) ถ้าทำแบบนี้ก็อยู่กับการเมืองของมวลชน (mass politics) ได้ อย่างหลังสมัย 14 ตุลาฯ มีพรรคสังคมนิยมลงเลือกตั้งและได้ที่นั่งในสภา จากนั้นก็ไม่มีอีกเลย

เกษียรเล่าว่า ในหนังสือเกี่ยวกับระบบราชการโดยนักมานุษยวิทยาชื่อดังคนหนึ่งระบุว่า ลึกที่สุด มนุษย์นั้นเล่นอยู่ระหว่าง 2 ขั้วระหว่างการละเล่นและกฎกติกา (Play and Rules) ระบบราชการคือผู้พิทักษ์กฎเกณฑ์กติกาไว้ด้วยความรุนแรง มนุษย์อยู่โดยไม่มีกฎไม่ได้เพราะมันว้าเหว่ คาดเดาผลของการกระทำล่วงหน้าไม่ได้แต่ก็เบื่อกฎเกณฑ์เต็มทน เราแสวงหาโลกที่ play อยากได้ผู้นำที่อยู่เหนือกฎ โน้มน้าวให้กฎมันงอเพื่อทำประโยชน์ให้กับมนุษย์ ส่วนตัวคิดว่าฉันทามติมันอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ขั้วนั้น มันไม่ได้บังคับด้วยความรุนแรง แต่มันก็ไม่ได้เล่นด้วยผู้นำบารมีคนเดียว แต่เป็นข้อตกลงบางอย่างของหมู่คนที่อยู่ได้ด้วยการเห็นพ้องต้องกัน

สิบกว่าปีที่ผ่านมามีวิกฤตคณาธิปไตย ประชาธิปไตย แต่ก่อนทักษิณเป็นช่องทางให้การเมืองมวลชนเข้าไปกระแทกการเมืองชนชั้นนำแต่เดิม แล้วชนชั้นนำแต่เดิมนั้นไม่แฮปปี้ รู้สึกว่าสูญเสียเพราะต้องเปิดพื้นที่ให้คนหน้าใหม่เข้ามาแบ่งประโยชน์ ทำให้เกิดการขบถของคนที่อยู่วงใน (a revolt of the included) ทำให้เกิดวิกฤตประชาธิปไตย คือเลือกตั้งก็ไม่เอา เพราะรู้เลือกตั้งก็แพ้ เรียกร้องรัฐประหาร ก็เป็นกลุ่มเสื้อเหลือง ต่อมาเกิดการขบถของคนที่อยู่วงนอก (revolt of the excluded) คือคนที่ควรได้เข้าก็ไม่ได้เข้า ก็เกิดการขบถ ทำให้เกิดกลุ่มเสื้อแดง เป็นประชานิยมทั้งคู่ อยู่ที่เป็นประชานิยมฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย คนไทยที่อยู่ข้างในก็เป็นขบถต่อประชาธิปไตย คนไทยที่อยู่ข้างนอกก็เป็นขบถต่อประชาธิปไตย ดังนั้นจึงมีความยุ่งและหาฉันทามติยาก

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขสังกัดของอาสา คำภา เป็น "สถาบันไทยคดีศึกษา มธ." ในวันที่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 15.55 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท