นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาคตประชาธิปัตย์ (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แกนนำกลุ่มใหม่ของพรรค ปชป.หลัง ปี 2512 เป็นต้นมาคือผลผลิตของนโยบายพัฒนาภายใต้เผด็จการทหาร พวกเขาคือคนชั้นกลางซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมาก บางคนอาจเติบโตมาจากคนชั้นกลางระดับล่าง ผ่านการศึกษาจนเขยิบสถานะขึ้นไปเป็นคนชั้นกลางกลุ่มวิชาชีพ (เช่นทนายความ, ครู,) แกนนำใหม่เหล่านี้จึงมีความพร้อมในการเมืองแบบเลือกตั้งมากกว่าแกนนำชนชั้นสูงรุ่นเดิม

ความพร้อมดังกล่าวหมายถึง การสร้างเครือข่ายการเลือกตั้งที่อาจหนุนช่วยกันและกันให้ได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของตน (ซึ่งการศึกษาของ Marc Askew ใน Performing Political Identity แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน) ผิดจากแกนนำรุ่นเดิมที่อาศัยชื่อเสียงของผู้สมัครเป็นรายๆ ไปเพียงอย่างเดียว ผลจากการนี้ทำให้บุคคลบางคนที่มีพลังจะช่วยหนุนคนอื่นได้มาก (กำลังทรัพย์หรือกำลังชื่อเสียงเกียรติยศก็ตาม) ย่อมมีอิทธิพลในพรรคสูงขึ้น นอกจากได้เป็นผู้บริหารพรรคแล้ว ยังอาจได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหากพรรคเข้าร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มพลังให้แก่เขามากขึ้น (ทั้งทรัพย์และสถานะทางการเมือง)

"การเมือง"ภายในพรรคจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเมืองนอกพรรค

เครือข่ายอุปถัมภ์ในหมู่นักการเมืองของพรรคเพียงอย่างเดียว ไม่ทำให้ ปชป.ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งได้อย่างแน่นอนมั่นคง เครือข่ายจำเป็นต้องมีฐานซึ่งขยายไปยังประชาชนในวงกว้างด้วย แต่ส่วนใหญ่ของนักการเมือง ปชป.ไม่ใช่"เจ้าพ่อ"ท้องถิ่น ซึ่งเป็นแกนกลางของเครือข่ายอุปถัมภ์ทางการเมืองของจังหวัดในภาคอื่นๆ เครือข่ายอุปถัมภ์ของ ปชป.ในภาคใต้จึงมีลักษณะพิเศษ

เศรษฐกิจของภาคใต้หลังนโยบายพัฒนา ทำให้เครือข่ายอุปถัมภ์ซึ่งมีอยู่เดิมล่มสลายลง ทั้งนายหัวเหมืองแร่และเอเย่นต์ค้ายาง (ไปยังปีนังและสิงคโปร์) เศรษฐกิจขยายไปสู่การใช้ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของรัฐอย่างกว้างขวางมากขึ้น (ทั้งโดยถูกและผิดกฏหมาย) จากชายหาด, ทะเล, ไปสู่ป่าบนภูเขา, ถนนหนทาง, ท่าเรือ, ด่านศุลกากร, ฯลฯ  การต่อรองกับรัฐกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำมาหากินของประชาชน เครือข่ายอุปถัมภ์ของ ปชป.เข้ามาเป็นตัวกลางในการต่อรองแทนประชาชน โดยผนวกเอาข้าราชการระดับสูงในท้องถิ่น (เช่นผู้ว่าฯ, ผู้กำกับตำรวจ, และผู้บังคับบัญชาของหน่วยราชการอื่นซึ่งมีอำนาจในการกำกับควบคุมการใช้ทรัพยากรต่างๆ) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอุปถัมภ์

การใช้เครือข่ายอุปถัมภ์นี้ไปในการเมืองแบบเลือกตั้งจึงมีประสิทธิภาพสูง แต่ในขณะเดียวกันก็บีบบังคับให้ ปชป.ต้องดิ้นรนร่วมรัฐบาลอย่างเหลือทางเลือกน้อยลงด้วย เพราะการร่วมอยู่ในคณะ ร.ม.ต.ทำให้การทำหน้าที่เป็นตัวแทนต่อรองกับรัฐทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในกรณีการใช้ทรัพยากรตามกฏหมายหรือขัดกับกฏหมาย และความเจริญเติบโตในราชการของสมาชิกเครือข่าย

ผมคิดว่า 5 ปีภายใต้คสช.มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพในการต่อรองกับรัฐของ ปชป.ลดลงอย่างมาก ซึ่งสะท้อนออกมาจากผลการเลือกตั้งครั้งหลังสุดนี้

ขอให้สังเกตด้วยว่า ในจำนวน ส.ส.เขต 33 คนที่ ปชป.ได้มาจากการเลือกตั้ง 2562 เป็น ส.ส.จากภาคใต้ถึง 22 คน (66%)ฉะนั้นการตัดสินใจร่วมรัฐบาลประยุทธ์ จึงเป็นทางรอดทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับ ปชป. ตรงกันข้ามกับที่คิดกันว่าการตระบัดสัตย์จะทำให้สูญพันธุ์ การตระบัดสัตย์นั่นแหละที่จะทำให้แพร่พันธุ์ได้ใหม่ อย่างน้อยก็ในภาคใต้

ผมควรเตือนอะไรไว้สองอย่างด้วยว่า

1/ โครงข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เช่นนี้มี"นัยยะย้อนแย้ง"หรือ contradiction ในตัวของมันเอง ในท่ามกลางการขยายตัวของทุน ผู้ที่ต้องการใช้ทรัพยากรมากสุดคือฝ่ายทุน ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่แย่งชิงทรัพยากรที่ประชาชนอื่นใช้อยู่ไปเสีย ในระยะยาวคะแนนเสียงของประชาชนจึงย่อมลดลง เพราะต่างพากันหันไปหา"โบรกเกอร์"ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเอนจีโอหรือพรรคการเมืองอื่น

2/ โครงข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นี้ก่อรูปขึ้นใน"สถานะเดิม" หรือสภาพที่เป็นอยู่จริงในการเมือง, เศรษฐกิจ, และวัฒนธรรมของภาคใต้ ในขณะที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน – ไม่ว่าไปสู่ความก้าวหน้าหรือถอยหลัง – ทำให้โครงข่ายนี้ไม่มีความมั่นคงยั่งยืนนัก เช่นสมมติว่าความต้องการยางพาราและปาล์มในตลาดโลกกลับมาสูงอย่างต่อเนื่อง หรือระบบการค้าวัตถุดิบทั้งสองกระจายผลกำไรอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ถึงตอนนั้น ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ก็อาจให้ผลตอบแทนไม่คุ้ม โครงข่ายอุปถัมภ์ของ ปชป.ย่อมหมดความจำเป็นไปเอง จึงไม่มีประโยชน์ทางการเมืองอีกต่อไป โครงข่ายอุปถัมภ์ของ ปชป.ที่ทำให้ยึดที่นั่งส่วนใหญ่ของ ส.ส.ภาคใต้ในการเลือกตั้ง จึงขึ้นอยู่กับการดำรงอยู่ของ"สถานะเดิม"นี้อย่างมาก จนกระทั่งเป็นผลให้ ปชป.ไม่เคยมีนโยบายในการปรับเปลี่ยนอะไรเชิงโครงสร้างในพื้นที่ภาคใต้ตลอดมา และคงตลอดไปด้วย

ผลเลือกตั้งในเดือนมีนาคมและเลือกตั้งซ่อมในเดือนตุลาคมพอจะบอกอะไรเกี่ยวกับอนาคตของ ปชป.ได้บ้าง

1/ ผลการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ปชป.ได้ ส.ส.เขต 33 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ 19 ที่นั่ง (+ 1 เมื่อปัดเศษภายหลัง) เท่ากับ 36.5% ต่อ 63.5% ในขณะที่ชื่อเสียงด้านอุดมการณ์และคุณสมบัติที่ ปชป.เคยมีหมดความน่าเชื่อถือลงดังได้กล่าวแล้ว จำนวนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งต่อไปน่าจะลดลงกว่านี้อีก แต่ถ้าการร่วมรัฐบาลประยุทธ์ เป็นโอกาสให้ ปชป.สามารถสร้างโครงข่ายอุปถัมภ์เดิมกลับคืนมาได้ ปชป.ก็จะสูญเสียที่นั่งในภาคใต้ให้แก่คู่แข่ง (พปชร.และ ภท.) น้อยลง ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ปชป.จะสามารถต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นเพื่อได้มาซึ่งโอกาสดังกล่าวได้มากเพียงไร 

ตำแหน่ง ร.ม.ต.ที่ ปชป.ได้ส่วนแบ่งในปัจจุบัน ไม่เปิดโอกาสให้ ปชป.ได้อำนาจในการคุมทรัพยากรในภาคใต้มากนัก การฟื้นโครงข่ายอุปถัมภ์ให้กลับมาดังเช่นก่อน คสช.ยึดอำนาจจึงไม่ง่ายเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ได้กล่าวแล้วว่าหากเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน โครงข่ายอุปถัมภ์แบบเดิมที่ ปชป.ใช้ประโยชน์อยู่ก็อาจไม่เป็นที่ต้องการของประชาชนในภาคใต้ไปแล้วก็ได้

แต่ ปชป.คงไม่กลายเป็นพรรคต่ำสิบในเร็ววัน อย่างน้อยน่าจะยึดที่นั่ง ส.ส.เขตในภาคใต้ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง สัดส่วนของ ส.ส.เขต ปชป.จะมีมากกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ ปชป.ยิ่งต้องเข้าร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่มีพรรค พท.เป็นแกนนำ

2/ ไม่ว่าร.ธ.น.ฉบับไม่น่ารักจะถูกยกเลิกหรือแก้ไข ปชป.น่าจะสนับสนุนการเลือกตั้งในระบบบัตรใบเดียว แต่อาจแก้ไขให้ตรงกับเยอรมันมากขึ้น เช่นต้องตัดพรรคที่ได้คะแนนรวมไม่ถึง 5% ของบัตรเลือกตั้งออกไป ยกเลิกการปัดเศษมั่วและโมเม ในทางตรงกันข้าม พรรคพท.คงอยากกลับไปสู่ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบมากกว่า ดังนั้นเฉพาะการเมืองเรื่องเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว สองพรรคนี้ก็เดินไปทางเดียวกันได้ยากอยู่แล้ว

3/ หากผลการเลือกตั้งที่ ปชป.จะได้ในครั้งต่อๆ ไปเป็นดังคำทำนายนี้ คือได้ที่นั่งในสภาไม่สู้จะมากนัก แม้ทหารถูกกันออกไปจากการเมืองแล้ว โอกาสที่ ปชป.จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่มีอยู่นั่นเอง ในขณะเดียวกัน ปชป.ก็จำเป็นต้องเข้าร่วมรัฐบาลดังที่กล่าวแล้ว เพื่อรักษาที่นั่ง ส.ส.เขตของตนในภาคใต้เอาไว้ ดังนั้นโอกาสที่ ปชป.จะเป็นแกนหลักในการผลักดันอุดมการณ์หรือนโยบายใดอย่างจริงจังจึงเกิดขึ้นไม่ได้ จำเป็นต้องประนีประนอมทุกเรื่อง ทั้งกับพรรคแกนนำที่ได้จัดตั้งรัฐบาลและพรรคร่วมอื่นๆ

ความไม่เด่นชัดด้านอุดมการณ์และนโยบายของ ปชป.ดังที่เห็นอยู่ปัจจุบัน จะดำรงอยู่สืบไปข้างหน้าอีกนาน นี่คือเหตุผลที่ "เลือดใหม่" ปชป.กลายเป็นภาระของพรรคมากกว่าเป็นกำไร และอยู่ในพรรคต่อไปไม่ได้ แต่ที่น่ากลัวกว่า"เลือดใหม่"จำนวนหนึ่งลาออกจากพรรคก็คือ จะมีหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าสักกี่คนที่จะเข้าเป็น"ยุวธิปัตย์"

ปราศจาก"จินตนาการใหม่"เช่นนี้ ปชป.จะหลุดรอดจากหลุมดำแห่งกาลเวลาที่ตนเองมีส่วนช่วยสร้างขึ้นได้อย่างไร

4/ ในฐานะพรรคการเมืองที่เล็ก(ลง)อย่างมาก ถึงได้เข้าร่วมรัฐบาลก็ไม่มีพลังต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงได้ตามใจตนเอง ทำให้ ปชป.เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ผู้อื่นได้น้อยลง ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

นายทุนเห็นว่าลงทุนกับ ปชป.เกินกว่าระดับสัญลักษณ์ไม่คุ้ม

ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมเลิกเชื่อถือ ปชป.ไปนานแล้ว อาจใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้บ้างในยามจำเป็น เช่นกีดกันมิให้ "ฝ่ายทักษิณ"ได้อำนาจหลังการเลือกตั้ง แต่ไม่อาจใช้ ปชป.เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางอุดมการณ์หรือดำเนินนโยบาย แม้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยังศรัทธา ปชป. ก็พบว่าในฐานะเครื่องมือทางอุดมการณ์ ปชป.ยังสู้คุณปารีณาหรือหมอวรงค์ไม่ได้เลย

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาคตประชาธิปัตย์ (1)  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท