ประกันสังคม ความเป็นแรงงาน และความไร้อำนาจของผู้ประกันตน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากกล่าวถึงคำว่า "แรงงาน" แล้วในสังคมไทยมักอาจจะนึกคนไม่กี่ประเภทเช่น ผู้ใช้แรงงานในโรงงาน, แม่บ้าน, ภารโรง, ผู้ทำงานหาเช้ากินค่ำ, ผู้รวมตัวกันในนามสหภาพแรงงาน ฯลฯ เป็นกลุ่มคนมีภาพที่อยู่ห่างไกลตัวของคนทั่วไป อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์นี้อาจจะขัดกับเทศกาล "วันแรงงานแห่งชาติ" ที่นับเป็นวันหยุดที่รวมเอาพนักงานบริษัทเอกชน พนักงานธนาคารไปด้วย กระนั้นจุดยืนร่วมกันของแรงงานในสังคมไทยก็นับได้ว่าค่อนข้างที่มีพันธะต่อกันที่น้อยและหลวมกว่าที่ควรจะเป็น ด้านหนึ่งแล้วอาจเป็นเพราะการไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันมากพอที่รวมตัวกันผลักดัน พอๆ กับการไร้องค์กรที่ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นระบบได้
 


ภาพประกอบเปิดบทความ จาก https://bit.ly/2qbRuoY

ประกันสังคม กฎหมายที่หวังดี กับ การนิยามความเป็นแรงงาน

อย่างไรก็ตามนอกจากวันหยุดร่วมกันแล้ว ยังมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่ผูกให้แรงงานเข้ามาอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ นั่นก็คือ พระราชบัญญัติประกันสังคม ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2497[2] หากแต่ยังไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจัง จนมีการเขียนขึ้นใหม่ในฉบับปี 2533[3] ที่น่าสังเกตก็คือ ฉบับเดิมนั้นใช้คำว่า "ผู้ว่าจ้าง" กับ "ผู้ทำงานจ้าง" แต่ฉบับหลังใช้คำว่า "นายจ้าง" กับ "ลูกจ้าง" ที่สะท้อนความสัมพันธ์ที่ให้ความหมายที่แตกต่างจากเดิม

กฎหมายนี้มีความหวังดีที่จะสร้างสวัสดิการให้กับคนทำงาน ทำให้แรงงานจำนวนมหาศาลถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็น "ผู้ประกันตน" ในความหมายว่า "ผู้ซึ่งจ่ายเงินสมทบอันก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้"[4] ผู้ประกันตนยังแบ่งประเภทตามการจ้างงานเป็น 3 ประเภท คือ ตามมาตรา 33, 39 และ 40 โดย มาตรา 33 คือ บังคับตามกฎหมาย ส่วน มาตรา 39 คือ การสิ้นสุดความเป็นลูกจ้างและประสงค์เป็นผู้ประกันตนต่อ[5] ขณะที่ มาตรา 40 คือสมัครเป็นเองโดยไม่มีสถานะลูกจ้าง[6]

การประกันสังคมนั้นโดยหลักการถือว่าเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางสังคมที่กว้างขวาง ไม่ใช่เพียงแค่การประกันสุขภาพ กระนั้นการประกันสังคมโดยกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมไปยังข้าราชการและข้าราชการบำนาญ อาจรวมพนักงานท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรต่างๆที่รัฐจัดตั้งเข้าไปด้วย  นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน เป็นรัฐที่ใช้ภาษีมาอุดหนุน 100% ส่วนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในนามบัตรทอง ก็เป็นการครอบคลุมเฉพาะประเด็น อย่างไรก็ตาม ในความซับซ้อนของการเข้าถึงเฉพาะการประกันสุขภาพทำให้เรื่องประกันสังคมถูกผลักให้เป็นเรื่องของผู้ประกันตนตามกฎหมายเท่านั้น ทั้งที่การประกันสังคมสามารถครอบคลุมได้กว้างขวาง และอาจจัดกองทุนที่หลากหลายยืดหยุ่น มิใช่มีเพียงกองทุนเดียว การที่ทั้งข้าราชการและหน่วยงานจำนวนหนึ่งไม่อยู่ในนิยามผู้ประกันตนตามกฎหมายจึงทำให้พวกเขาไม่ค่อยสนใจการปฏิรูปประกันสังคมให้ดีไปกว่านี้

ด้วยความเข้าใจผิดจึงนำไปสู่ข้อครหาที่ผ่านมาของสิทธิผู้ประกันตนคือ การได้ไม่คุ้มเสียเมื่อเทียบกับเงินที่พวกเขาจ่ายไป[7] ดังพบว่า นักลงทุนเอกชนยังเคยให้ความเห็นในเชิงลบกับการเปรียบเทียบระหว่างประกันสังคมและบัตรทองไว้ว่า

"จะเห็นว่า สิทธิการรักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสิทธิรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม ดังนั้น การลาออกจากประกันสังคมมาตรา 33 เพื่อรับเงินบำนาญ และเลือกใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากบัตรทอง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการส่งต่อประกันสังคมตามมาตรา 39 เนื่องจากได้รับเงินบำนาญชราภาพที่มากกว่า และยังคงสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามบัตรทอง ซึ่งเป็นทางเลือกในการแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในยามเกษียณได้"[8]

จากภาพที่ 1 จะเป็นการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน เข้าใจว่าเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลที่อาจจะยังไม่ล่าสุด แต่สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่งประกันสังคมให้สิทธิที่ด้อยกว่าบัตรทองอย่างน่าตกใจ

ภาพที่ 2 แสดงสิทธิประโยชน์ที่ต่างกันระหว่างประกันสังคมและบัตรทองจากบทความ
"ประกันสังคม บัตรทอง และประกันสุขภาพ เลือกอย่างไรให้ตรงใจวัยเกษียณ"
[9]

ผู้ประกันตน กับ มิติความเป็นแรงงาน

หากถามว่า แล้วผู้ประกันตนที่ว่ามีมากแค่ไหน เป็นใครบ้าง ในตารางที่ 1 ได้แสดงจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไทย มีผู้ประกันตนจำนวน 16 ล้านกว่าคน หากนับว่าประชากรไทยมีราว 69 ล้านคน อาจนับเป็นอัตราส่วนราว 24% ของประชากรทั้งประเทศทีเดียว

 

 

ตารางที่ 1 แสดงจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไทย (ข้อมูลเดือนกันยายน 2562)[10]

ประเภทของผู้ประกันตน

จำนวน (คน)

ผู้ประกันตนภาคบังคับ (ม.33)

11,687,597

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (ม.39)

1,634,521

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (ม.40)

3,135,823

รวมผู้ประกันตนทั้งหมด

16,457,941

 

คนเหล่านี้ นอกจากจะเป็น "ลูกจ้าง" ที่เป็นแรงงานที่เรารู้จักแล้ว ยังครอบคลุมถึงกลุ่มคนอื่นๆ ที่มีพันธะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ในตัวเลขนี้ประกอบด้วยใครบ้าง บทความนี้พยายามจะประเมินจากตัวเลขต่างๆ หากนำตัวเลขสถิติแรงงานในปี 2561 มาพิจารณา ผู้มีงานทำที่จำแนกตามอุตสาหกรรมที่มีจำนวนล้านขึ้นไปได้แก่ การก่อสร้าง 2.1 ล้านคน, การขาย ซ่อมแซมยานยนต์ 6.2 ล้านคน, การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 1.25 ล้านคน, ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2.82 ล้านคน อาจไม่นับแรงงานในสถานที่ราชการเป็นหลัก อย่างการบริหารราชการและการป้องกันประเทศที่อาจนับรวม (1.6 ล้านคน) และการศึกษา (1.16 ล้านคน) เช่นเดียวกับการไม่นับรวมเกษตรกรรม ป่าไม้และการประมง (12.17 ล้านคน) ที่อาจไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม[11]

หากมองจากสมาชิกสหภาพแรงงาน สถิติในปี 2560 ระบุว่ามีสมาชิกจำนวน 619,792 คน หากตัดสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจออกไปจะเหลือจำนวน 444,859 คน (เนื่องจากรัฐวิสาหกิจได้รับการยกเว้นไม่อยู่พรบ.ประกันสังคม[12])  นอกจากนั้นยังพบว่า มีผู้ร่วมชะตาอีกหลายกลุ่มที่คนทั่วไปอาจนึกไม่ถึง นั่นคือ คนอย่างน้อย 2 กลุ่มคือ พนักงานราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานรัฐ

จำนวนพนักงานราชการที่มีอยู่ทั่วประเทศมีอยู่ 145,374 คน แตกต่างจากข้าราชการแบบเดิมตรงที่ไม่ได้รับสวัสดิการแบบข้าราชการ แต่อาจจะได้ฐานเงินเดือนที่สูงกว่า พนักงานราชการเป็นการจัดกำลังแรงงานภาครัฐแบบใหม่ที่เป็นไปตามนโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ แน่นอนว่าพวกเขาคือ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 พนักงานราชการมีสัดส่วนคิดเป็น 6.88% ของกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน 2.11 ล้านคน[13] จึงกลายเป็นเสียงส่วนน้อยในระบบราชการจึงไม่ได้รับการใส่ใจในการดูแลเท่าที่ควร

พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นแรงงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เปลี่ยนสถานะไปคล้ายดังลูกจ้างของบริษัทเอกชน การปรับฐานเงินเดือนที่สูงขึ้นกว่าข้าราชการไม่ว่าจะเป็น 1.7 เท่า (กรณีอาจารย์) หรือ 1.5 เท่า (กรณีสายสนับสนุน) แลกมากับการตัดสวัสดิการแบบข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือพนักงานสายสนับสนุนก็ล้วนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยในปี 2556 พบว่ามีจำนวน 65,992 คน นอกจากนั้นยังมีลูกจ้างประจำ 14,240 คน ลูกจ้างชั่วคราว 35,395 คน และอื่นๆ 13,661 คน ทั้งนี้มีพนักงานราชการในมหาวิทยาลัย 2,404 คน[14] รวมแล้ว 129,288 คน (ไม่นับพนักงานราชการ)

ทั้งสองกลุ่มนี้รวมกันเป็นตัวเลขกว่า 274,662 คน  แต่ดังที่กล่าวไปแล้วว่า มักจะไม่เป็นที่รับรู้กันนักว่าพวกเขาอยู่ในสถานภาพแรงงานในนิยามผู้ประกันตนอยู่ด้วย อาจยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ผู้เขียนไม่สามารถค้นออกมาได้ว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่ใดอีกที่มีเอี่ยวอยู่ในระบบประกันสังคมนี้

บอร์ดประกันสังคม กับ อำนาจที่ไม่ได้มาจากเจ้าของเงิน

คณะกรรมการประกันสังคม (หรือเรียกสั้นๆว่าบอร์ดประกันสังคม) ในพรบ.ประกันสังคมนั้นถูกออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของการประกันสังคม และที่สำคัญคือรับผิดชอบเกี่ยวกับกองทุน ในพรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มีองค์ประกอบคือ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (ซึ่งสำนักงานประกันสังคมนั้นเป็นหน่วยราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน) เป็นประธานกรรมการ, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณ รวมถึงผู้แทนสำนักงานเป็นกรรมการและเลขานุการ รวมจากฝ่ายรัฐ 5 เสียง ขณะที่มีผู้แทนจากนายจ้าง 5 เสียง จากลูกจ้าง 5 เสียง ทั้งคู่มาจากการที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง[15] ที่น่าสนใจก็คือ พรบ.ฉบับปี 2558 ได้ปรับโครงสร้างขยับให้ ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ และเพิ่มจำนวนกรรมการอีก ฝ่ายรัฐมีผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ และเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ (จากเดิมที่เป็นประธาน) รวมเป็น 7 เสียง ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนฝั่งละ 7 คน ความพิเศษของกฎหมายนี้คือ ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนมาจาก "การเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส"[16] ซึ่งหากจะให้บอร์ดนี้มีสมดุลทางอำนาจมาอยู่ที่ประกันตน ก็ควรให้ฝ่ายผู้ประกันตนดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ด ไม่ใช่ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนเสียด้วยซ้ำ เพราะอย่างไรก็ดีบอร์ดนี้ทำงานในฐานะกรรมการร่วมที่มีผู้เชี่ยวชาญของภาครัฐประกอบอยู่แล้ว เพราะประธานบอร์ดที่มาจากผู้แทนของเจ้าของเงินนั้นต่างจากข้าราชการเจ้ากระทรวงที่โดยภารกิจในหน้าที่ราชการก็มากพออยู่แล้ว การเปิดโอกาสให้เจ้าของเงินขับเคลื่อนจะเป็นการเปิดพื้นที่ทำงานให้กว้างขวางมากขึ้นเช่นเดียวกับการเพิ่มความสมดุลให้กับอำนาจประชาชนผู้ประกันตน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ (อันเป็นรัฐบาลเดียวกันกับที่ออกพรบ.ตัวใหม่นี้) ก็ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ในการตั้งบอร์ดประกันสังคมใหม่ โดยไม่ให้มีการใช้สิทธิเลือกตั้งดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย อันเป็นการตั้งแทนคณะกรรมการเดิมที่มีอยู่ในปี 2558 ขณะนั้นอ้างว่าเป็น "บอร์ดชั่วคราว" ที่จะอยู่เพียง 2 ปี[17]  

การที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาให้สัมภาษณ์เร็วๆนี้ถึงการที่เขาสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางและมาตรการจัดการเงินกองทุนประกันสังคมในรูปแบบอื่นๆ เช่น การกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ นั้น[18]  ในที่นี้จะไม่เสียเวลาไปถกเถียงว่าสิ่งที่ประยุทธ์เสนอมานั้นไม่เข้าท่าอย่างไรหรือไม่ แต่จะชวนคิดว่า ปฏิบัติการเช่นนี้ มิได้เกิดมาเพราะอารมณ์ชั่ววูบเพราะอาการถังแตกอย่างเดียว แต่มันมาพร้อมกับการออกแบบกลไกที่พร้อมจะให้รัฐเอามือเข้าไปล้วงเงินของผู้ประกันตนไปด้วย

แม้จะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ประยุทธ์ แต่โครงสร้างของบอร์ดพร้อมฐานคิดที่รัฐ-ข้าราชการเป็นใหญ่ ก็จะมองว่ากองทุนดังกล่าวเป็น เงินของรัฐ และทำงานข้ามหัว บอร์ดประกันสังคมที่ควรจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมลงทุนในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่เขาทำคือการแทรกแซงในโครงสร้างบอร์ดที่ปลัดกระทรวงแรงงานนั่งเป็นประธานบอร์ดอยู่ ยังไม่นับอภินิหารของ ม.44 ที่กดทับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ให้มีการเลือกตั้งตัวแทนจากลูกจ้างและนายจ้างอีก ที่ตลกร้ายคือ ข่าวที่ผู้นำประเทศจะออกมาล้วงเงินของผู้ประกันตนนั้นเป็นเวลาใกล้เคียงกับข่าวที่รัฐบาลเก่าใช้ ม.44 ตั้งบอร์ดประกันสังคมในเดือนพฤศจิกายน 2558

ดังนั้น เรื่องกองทุนประกันสังคม มันจึงมิใช่เรื่องของความฉลาดหรือไม่ฉลาดในการตัดสินใจทางการเมืองเท่านั้น แต่มันมีความหมายถึง การรวมตัว ความเข้มแข็งและการต่อรองของแรงงานที่ถูกทำให้เงียบด้วยปฏิบัติการทางการเมืองอีกด้วย.

 

 

อ้างอิง

 

[1] บทความนี้ได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์จาก อ.ดร.ภาคภูมิ แสงกนกกุล ในประเด็นที่ผู้เขียนไม่แม่นยำนัก ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ อย่างไรก็ตามการตีความและอภิปรายทั้งหมดนั้นผู้เขียนย่อมเป็นผู้รับผิดชอบ

[2] "พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2497", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 71 ตอนที่ 11, 9 กุมภาพันธ์ 2497, หน้า 122-151

[3] "พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107 ตอนที่ 161, 1 กันยายน 2533, หน้าพิเศษ 1-47 หมายเหตุท้ายกฎหมายระบุว่า กฎหมายเก่าประกาศใช้ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่อำนวยให้นำกฎหมายมาบังคับใช้ กล่าวกันว่าช่วงปี 2497 ภาคเอกชนไม่ยอมจ่ายเงินสมทบจึงชะลอมาจนถึงปี 2533 ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กดดันในสมัยที่ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งขณะนั้นมีเทคโนแครตคนสำคัญคือ พันศักดิ์ วิญญรัตน์

[4] "พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107 ตอนที่ 161, 1 กันยายน 2533, หน้าพิเศษ 3

[5] "พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107 ตอนที่ 161, 1 กันยายน 2533, หน้าพิเศษ 15-18

[6] "พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 53 ก, 22 มิถุนายน 2558, หน้า 6

[7] มติชนออนไลน์. "24 ธ.ค.ถกปัญหา’สิทธิตรวจสุขภาพ’ ประกันสังคมได้ไม่เท่าบัตรทอง". สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 จาก https://www.matichon.co.th/local/news_404561 (23 ธันวาคม 2559)

[8] นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ . "ประกันสังคม บัตรทอง และประกันสุขภาพ เลือกอย่างไรให้ตรงใจวัยเกษียณ". สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 จาก https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/how-to-choose-social-security-gold-card-and-health-insurance.html

[9] นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ . "ประกันสังคม บัตรทอง และประกันสุขภาพ เลือกอย่างไรให้ตรงใจวัยเกษียณ". สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 จาก https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/how-to-choose-social-security-gold-card-and-health-insurance.html

[10] สำนักงานประกันสังคม. "ข้อมูลสถิติกองทุนประกันสังคม." สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2562 จาก

https://bit.ly/2CSDEKw      

[11] กระทรวงแรงงาน, หนังสือสถิติแรงงานประจำปี 2561 (กรุงเทพฯ : กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน), ม.ป.ป., หน้า 29

[12] "พระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการหรือลูกจ้างอื่นที่ไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนที่ 21 ก, 18 กุมภาพันธ์ 2560, หน้า 35-37

[13] วลัยลักษณ์ เศขรฤทธิ์และธนะ เอี่ยมอนันต์. "การดำเนินการเกี่ยวกับระบบพนักงานราชการในรอบปีที่ผ่านมา". เพจสหภาพพนักงานราชการไทย. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 จาก

https://www.facebook.com/sahapabgmel/photos/pcb.2412683745485015/2412682485485141/?type=3&theater (10 กันยายน 2562 )

[14] สำนักข่าวอิศรา. "พนง.มหา’ลัย ยกโมเดลกองทุนรักษาพยาบาล อปท. ร้องสิทธิเทียบเท่า ขรก.". สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 จาก https://bit.ly/2NSjlDq (31 กรกฎาคม 2556)

[15] "พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107 ตอนที่ 161, 1 กันยายน 2533, หน้าพิเศษ 6-7

[16] "พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 53 ก, 22 มิถุนายน 2558, หน้า 2

[17] ประชาไทออนไลน์. "โวยใช้ ม.44 ตั้งบอร์ดประกันสังคมใหม่ ตัดตอนผู้ประกันตนใช้สิทธิเลือกตั้ง". สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 จาก https://prachatai.com/journal/2015/11/62367  (10 พฤศจิกายน 2558)

[18] ประชาไทออนไลน์. "ออกข้อสั่งการนายกฯ ดูความเป็นไปได้ดึงเงินประกันสังคมปล่อยกู้เพื่อลงทุน-รายจ่ายจำเป็น". สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 จาก https://prachatai.com/journal/2019/11/85153 (14 พฤศจิกายน 2562)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท