ความจริงที่ผู้ค้าเผชิญ โหดร้ายเกินกว่าข้อแก้ตัวจากทรัพย์สินจุฬาฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความต่อเนื่องจากทวิตเตอร์ #ทรัพย์สินจุฬาฆ่าผู้ค้า
อ่านได้ที่ https://twitter.com/peopleprotest21

และจาก แคมเปญรณรงค์ให้เปลี่ยนผู้บริหารทรัพย์สินจุฬา
อ่านได้ที่ www.change.org/p/อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-เปลี่ยนผู้บริหารทรัพย์สินจุฬาฯ-ให้เป็นคนที่บริหารพื้นที?

โดยบทความนี้เป็นการโต้ตอบ คำชี้แจงกรณีผู้เช่าจามจุรีสแควร์ กล่าวหา สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ได้รับความเสียหาย
อ่านได้ที่ www.pmcu.co.th/?p=17621

 

จากกรณีสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (จะย่อว่า ทรัพย์สินจุฬา) บีบบังคับให้ผู้ค้ารายย่อยในจามจุรีสแควร์ย้ายที่ตั้งร้านไปอยู่มุมข้างห้องน้ำที่แทบไม่มีคนมองเห็น ถูกบีบให้ยอมรับอัตราค่าเช่าที่สูงขึ้นมากกว่าสองเท่าทั้งที่เพิ่งจะมีสามย่านมิตรทาวน์เปิดใหม่ฝั่งตรงข้าม ถูกลดขนาดพื้นที่ของร้านให้เล็กลง ถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบหน้าร้านใหม่โดยให้เสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ถูกเรียกเก็บเงินหนึ่งแสนบาทโดยหวังผลจากการที่ผู้ค้าไม่รู้กฎหมายและเมื่อสอบถามกับผู้รู้ระบุว่าเงินนี้เรียกเก็บกับผู้ค้าไม่ได้เด็ดขาด ถูกสั่งให้จับฉลากสุ่มย้ายตำแหน่งร้านกันภายในห้างโดยไม่รับฟังผลกระทบที่ผู้ค้าได้รับ ถูกผู้จัดการแอบเปิดกล้องวงจรปิดเพื่อส่องดูว่าผู้ค้าคนใดเป็นผู้หย่อนจดหมายร้องเรียนการทำงานของเขาซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้าคนนั้นไม่เคยได้รับเอกสารสำคัญและถูกกลั่นแกล้งจนถึงปัจจุบัน ถูกแจ้งเป็นเอกสารลงนามโดยผู้อำนวยการทรัพย์สินจุฬาเมื่อปีที่แล้วว่าให้ย้ายออกแต่เมื่อไปสอบถามเหตุผลกลับได้รับคำตอบจากผู้อำนวยการว่า ผมจำไม่ได้และเป็นเอกสารที่ออกผิดพลาด ถูกเจ้าหน้าที่ของห้างทั้ง รปภ. และแม่บ้านแอบตามถ่ายรูปทั้งในห้าง ที่จอดรถ ที่เปลี่ยว และถูก รปภ. เดินตามมาแอบถ่ายใต้กระโปรงของผู้ค้า และคุณยายร้านนวดวัย 85 ปีถูกทรัพย์สินจุฬากดดันผ่านเจ้าของร้านให้ไล่คุณยายออกโดยไม่เยียวยาในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่คุณยายไปนอนหน้าสำนักงานทรัพย์สินจุฬาเพียงเพื่อขอพบผู้อำนวยการ

ตลอดเจ็ดเดือนที่ผ่านมา รองอธิการบดี รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมผล และผู้อำนวยการวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย รับทราบและนิ่งเฉยต่อปัญหาทั้งหมดนี้ ผู้ค้าขอเจรจามากกว่าสิบครั้งก็ได้พบเพียงครั้งเดียวและบอกว่าจะไม่ให้พบอีกตลอดเดือนพฤศจิกายนโดยอ้างว่าลาไปต่างประเทศและลาส่วนตัวยาว 4 – 5 สัปดาห์ อีกทั้งเขายังสั่งไล่ผู้ค้าออกภายใน 7 วัน และล่าสุดทรัพย์สินจุฬาออกคำชี้แจงโต้ตอบระบุว่าพวกเขาขึ้นราคาและให้ย้ายร้านอย่างเป็นธรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความจริงด้านเดียว ในบทความนี้จะพาทุกคนร่วมเดินทางไปทำความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง และความเป็นจริงที่ “ผู้ค้ารายย่อยทุกคน” ต้องเผชิญซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากที่ทรัพย์สินจุฬาอ้างว่าเป็นปัญหาแค่กรณีเดียว

ผู้ค้าคนนี้เป็นคนเดียวที่สร้างปัญหาจริงหรือ ? -- จาก 11 ร้าน เหลือ 1 ร้าน ใน 3 ปี

ก่อนหน้าผู้บริหารชุดนี้ เดิมมีร้านค้ารายย่อยแบบรถเข็นมากถึง 11 ร้าน ทุกร้านอยู่อย่างเป็นสุข เกื้อหนุนกันเป็นปกติ ทว่าเมื่อผู้บริหารชุดนี้เข้ามา มีร้านค้าจำนวนมากถูกกดดันด้วยมาตรการต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ร้านที่เป็นข่าว แต่ยังมีอีกหลายร้านที่เขาไปนั่งร้องไห้ขอความเห็นใจอยู่หน้าสำนักงานแต่ถูกเจ้าหน้าที่ลากออกไป มีบางร้านยืนถือป้ายสองสามคนประท้วงผู้อำนวยการอยู่หน้าสำนักงาน และบางร้านเดินทางมาขอพบผู้อำนวยการแทบทุกวันเพื่อขออยู่ต่อแต่กลับไม่เคยได้รับความเห็นใจ จนในปัจจุบันนี้มีร้านค้าแบบรถเข็นเหลืออยู่ในห้างเพียง 1 ร้านและร้านนี้เพิ่งจะถูกทรัพย์สินจุฬาสั่งให้ออกภายใน 7 วัน

ผู้ค้ารายล่าสุดไม่ได้เป็นคนสร้างปัญหา ทรัพย์สินจุฬาต้องลองย้อนกลับไปมองตนเองว่าเหตุใดผู้ค้ารายย่อยจึงอยู่อย่างสันติสุขตลอดเกือบสิบปี แต่เขากลับต้องเสียเวลามาขอพบท่านและต่อสู้เรียกร้องแค่เฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ท่านเข้ามาบริหาร ท่านกล้าพูดอย่างเต็มปากได้อย่างไรว่าผู้ค้ารายนี้เป็นเพียงคนเดียวที่สร้างปัญหา ทั้ง ๆ ที่มีอีกมากกว่าสิบร้านที่เผชิญปัญหาคล้ายกันและต้องทยอยเก็บของออกไป

อีกทั้งในช่วงของผู้บริหารชุดก่อนหน้า เขารับฟังผู้ค้าและบริหารสถานที่ให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้” หรือจะเป็น “Edutainment” ได้อย่างแท้จริง ทว่าเมื่อพวกท่านเข้ามาบริหาร ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ก็ทยอยหายไปหรือมีขนาดเล็กลงมาก สังเกตได้อย่างชัดเจนที่สุดคือชั้น G และชั้น 4 กล่าวคือ เดิมทีจามจุรีสแควร์เน้นให้บริการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร้านนายอินทร์ และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ และในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางชั้น G เดิมเป็นพื้นที่ทางการเรียนรู้และเป็นพื้นที่แสดงผลงานทางวิชาการ ทว่าในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเน้นให้ร้านอาหารและร้านเสื้อผ้ารายวันเช่าพื้นที่ยาวตลอดปี มีการขายหนังสือแทบไม่กี่ครั้งต่อปี และเคยมีอาจารย์ศูนย์อาเซียนศึกษาท่านหนึ่งขอเช่าพื้นที่แสดงผลงานทางวิชาการ แต่ผู้อำนวยการทรัพย์สินจุฬากลับปฏิเสธคำขอพร้อมบอกว่าพื้นที่ตรงนี้ปล่อยให้ร้านรายวันเช่าจนคิวเต็มยาวตลอดทั้งปีแล้ว หากเป็นเช่นนี้ ทรัพย์สินจุฬายังกล้าเรียกพื้นที่นี้ว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการได้อยู่หรือ

ทรัพย์สินจุฬาตอบอะไรไม่ได้บ้าง ? -- เรียกเก็บเงินมิชอบ เปิดกล้องหมายหัวคนร้องเรียน

นอกจากนั้น ทรัพย์สินจุฬายังหลีกเลี่ยงที่จะตอบปัญหาที่ตั้งไว้ใน change.org (ดังภาพ) ทั้งปัญหาเริ่มต้น กล่าวคือ ผู้จัดการจามจุรีสแควร์ส่งเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงิน 100,000 บาทโดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนชื่อร้านจากชื่อของแม่เป็นชื่อของลูกสาว และหวังผลจากความไม่รู้ระเบียบและกฎหมายของผู้ค้าหวังฟันเงินหลักแสน แต่ด้วยจำนวนเงินที่สูง ผู้ค้าไปถามผู้รู้ ทุกคนยืนยันว่าเรียกเก็บเงินก้อนนี้ไม่ได้เด็ดขาด เมื่อผู้ค้าไปแจ้งผู้อำนวยการทรัพย์สินจุฬา เขากลับนิ่งเฉยและปกป้องเจ้าหน้าที่ของตนเอง ผู้อำนวยการไม่เคยยอมรับและแก้ปัญหาความไม่ถูกต้องนี้

ผ่านไปไม่นาน ผู้จัดการจามจุรีสแควร์ออกนโยบายให้ผู้ค้ารายย่อยจับฉลากสุ่มย้ายตำแหน่งร้านกันเอง ทุกร้านจะต้องย้ายตำแหน่งไปที่อื่นโดยไม่มีเหตุผล นโยบายนี้ส่งผลต่อลูกค้าและการให้บริการอย่างมาก ผู้ค้าจึงรวมตัวกันเข้าไปพูดคุยและขอให้ยับยั้งนโยบายการย้ายร้านดังกล่าว

เมื่อผู้ค้าเผชิญกับปัญหาการปฏิบัติและการดำเนินนโยบายอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ค้าจึงเขียนจดหมายร้องเรียนการทำงานแล้วหย่อนลงในกล่องรับความคิดเห็น ปรากฏว่าผู้จัดการโกรธมากและพยายามตามหาตัวคนที่หย่อนจดหมายดังกล่าว ผู้จัดการจึงแอบเปิดดูกล้องวงจรปิดบริเวณนั้นและทราบว่าผู้ค้าคนใดเป็นผู้ร้องเรียน หลังจากนั้นผู้ค้าก็ถูกเลือกปฏิบัติและไม่เคยได้รับเอกสารสำคัญจากทรัพย์สินจุฬาเลย

วันหนึ่ง แม่ของผู้ค้ารายดังกล่าวป่วยหนักมาก ผู้ค้าเข้าไปแจ้งทรัพย์สินจุฬาว่าจะขอไปเยี่ยมแม่ที่โรงพยาบาล ผู้อำนวยการทราบสาเหตุดังกล่าว แต่วันต่อมาผู้ค้ากลับได้รับเอกสารว่าผู้อำนวยการสั่งไล่เขาออกจากห้างเนื่องจากไม่มีคนอยู่ร้าน โชคดีที่ผู้ค้าตัดสินใจเข้าไปสอบถามผู้อำนวยการก่อนย้ายของออก เพราะเมื่อเข้าไปถามกลับได้คำตอบว่าผมจำไม่ได้ว่าผมสั่งการอะไร และเขากลับไม่แสดงความรับผิดชอบอื่นใดเลย

ทั้งสี่ปัญหานี้ ผู้อำนวยการหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง ไม่เคยให้คำตอบ และไม่เคยแสดงความรับผิดชอบใด ๆ โดยผู้ค้ารายอื่นยังต้องเผชิญปัญหาทำนองนี้อีกจำนวนมาก แต่ผู้อำนวยการกลับเน้นฝังกลบปัญหาทุกอย่างให้เงียบ รับฟังแต่ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ และปล่อยให้ผู้ค้ารายย่อยรับกรรมต่อไป

นโยบายจัดสรรพื้นที่ (ที่คิดเองฝ่ายเดียวและเพิ่งจะคิด) ใช้ไล่คนออกและโก่งค่าเช่าได้หรือ ?

ประเด็นการขึ้นค่าเช่า ทางทรัพย์สินจุฬาชี้แจงข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียว ถ้าอัตราค่าเช่าจะขึ้นแบบปกติต่อไปคงไม่มีผู้ค้าคนไหนไปนอนตายประท้วงให้เสียเวลา เขายินดีที่จะให้ทรัพย์สินจุฬาขึ้นราคาค่าเช่าได้เล็กน้อยตามที่ท่านประเมิน ไม่มีผู้ค้าคนใดไปประท้วงค่าเช่าช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาที่ขึ้นอัตราค่าเช่ารวมแล้วประมาณร้อยละ 10 แต่ประเด็นที่ผู้ค้าจะอยู่ขายต่อไปไม่ไหวและขอเจรจากับผู้อำนวยการก็คืออัตราค่าเช่าพื้นที่ใหม่ที่จะบังคับให้ผู้ค้าต้องเปลี่ยนรูปแบบร้านไปนี่แหละ อัตราค่าเช่าจะสูงขึ้นเกินสองเท่า (หากอัตราค่าเช่าเดิมคือ 100 บาท ค่าเช่าใหม่จะเป็น 205 บาท) และท่านให้พื้นที่ขายกับผู้ค้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สถานที่ตั้งของร้านก็แอบมากจนแทบไม่มีลูกค้ามองเห็น ร้านก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่และออกค่าใช้จ่ายเอง สัญญาเช่าก็ไม่แน่นอนว่าจะถ้าทำร้านใหม่จะได้อยู่ต่อจริงหรือเปล่า ห้างสามย่านมิตรทาวน์ก็เพิ่งจะเปิดใหม่ฝั่งตรงข้าม แต่ท่านก็ยังคงเปิดให้ร้านค้าเสื้อผ้ารายวันที่ขายเสื้อผ้ายี่ห้อเดียวกันแบบเดียวกันมาตั้งขายที่ชั้น G แทบทุกวันจนร้านค้าประจำอยู่ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ผู้ค้ากับผู้อำนวยการเคยเจรจาตกลงพื้นที่ขายใหม่ร่วมกันได้แล้วครั้งหนึ่ง แต่ก่อนวันทำสัญญา ผู้อำนวยการกลับเป็นฝ่ายผิดคำพูด บิดคำเจรจา และข่มขู่ว่าหากไม่ยินยอมรับข้อเสนอสถานที่มุมข้างห้องน้ำ (สถานที่ที่อยู่ดี ๆ ก็โผล่มา ไม่เคยอยู่ในวงเจรจา) และราคาค่าเช่าที่สูงมากกว่าสองเท่านี้ ก็ “ไม่ต้องเซ็น ไม่ต้องอยู่ และไม่ต้องคุยกัน” เขาจะมาเจรจากับผู้ค้าหลังจากที่ผู้ค้าเซ็นรับข้อเสนอแล้วเท่านั้น ...ผู้อ่านลองคิดตามนะครับว่ามีการเจรจาลงนามสัญญาที่ไหนบ้างที่ใช้วิธี “เซ็นก่อน คุยกันทีหลัง”... พอผู้ค้าขอเข้าไปเจรจาก็หลบตลอด แล้วทรัพย์สินจุฬายังกล้ามากล่าวหาผู้ค้าว่าไม่แสดงเจตนาเซ็นสัญญาได้อีกหรือ

และเป็นเรื่องไม่ชอบธรรมอย่างยิ่งที่ทรัพย์สินจุฬาอ้างว่า เป็นเพราะมีนโยบายการจัดสรรพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องการเปิดพื้นที่รอบบันไดเลื่อนร้านค้าให้โปร่งโล่งขึ้น จึงเป็นเหตุให้ท่านบีบบังคับให้ผู้ค้ารายย่อยย้ายออกหรือย้ายตำแหน่งโดยไม่มีสิทธิ์เลือกสถานที่ตั้งร้านใหม่ของตนเองและไม่มีสิทธิ์ต่อรองอัตราค่าเช่าพื้นที่ตำแหน่งใหม่ อย่าลืมว่านโยบายการจัดสรรพื้นที่ใหม่นี้เป็นนโยบายที่ “ทรัพย์สินจุฬากำหนดอยู่ฝ่ายเดียว” และ “เพิ่งจะคิด” หลังจากที่ผู้ค้ารายย่อยเหล่านี้เช่าพื้นที่รอบบันไดเลื่อนซึ่งจามจุรีสแควร์เป็นผู้จัดสรรพื้นที่เช่าให้พวกเขาเองด้วย ท่านจะใช้นโยบายการจัดสรรพื้นที่ที่ “คิดอยู่ฝ่ายเดียวและเพิ่งจะคิด” มาบีบผู้ค้าที่เช่าพื้นที่อย่างชอบธรรมก่อนหน้ามาแล้วได้อย่างไร เหตุใดท่านจึงไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้ค้าที่เป็นผู้เช่าพื้นที่ในห้างของท่านและเป็นคนที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายของท่านโดยตรง เหตุใดจึงพยายามหลีกหนีการเจรจาตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมาและพยายามกดดันให้ผู้ค้าอยู่ไม่ได้

นอกจากผลกระทบที่ผู้ค้าได้รับอย่างไม่คาดฝันและไม่ทันได้ตั้งตัวจากนโยบายการจัดสรรพื้นที่ใหม่นี้ ลูกค้าหรือคนเดินห้างจามจุรีสแควร์ก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว นิสิตจุฬาฯ กลุ่มหนึ่งสอบถามความคิดเห็นทั้งจากลูกค้าทั่วไปและจากร้านค้าส่วนใหญ่ภายในห้างจามจุรีสแควร์ เห็นตรงกัน 80 - 90% ว่า “ตำแหน่งเดิมของร้านเหมาะสม และไม่กีดขวางทางเดินของลูกค้า” และ “ร้านค้ารถเข็นเหล่านี้ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับการเดินห้าง และช่วยทำให้ทัศนียภาพโดยรอบน่าสนใจมากขึ้น” แม้ลูกค้าและร้านค้าจะมีความคิดเห็นเช่นนี้ แต่ทรัพย์สินจุฬายังคงบังคับใช้นโยบายนี้ต่อร้านค้ารถเข็นดังกล่าว

ให้เข้าพบ 4 ครั้ง จาก 30 - 40 ครั้ง ถือเป็นสิ่งที่ทรัพย์สินจุฬาควรภาคภูมิใจหรือ ?

ทั้งรองอธิการบดีวิศณุ และผู้อำนวยการวรพงศ์ต่างไม่เคยแสดงเจตนาของการเจรจาต่อรอง เขายืนยันว่าเขาเป็นผู้บริหารพื้นที่เช่า เขามีอำนาจจะดำเนินนโยบายอย่างไรก็ได้ จะสั่งให้ย้ายไปจุดไหนก็ได้ จะตั้งอัตราค่าเช่าสูงขึ้นเท่าไหร่ก็ได้ ผู้ค้าเป็นเพียงผู้เช่าไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องทั้งหมดนี้ และทุกครั้งที่ผู้บริหารคุยกันเองภายในเสร็จ เขาจะไม่รับฟังผู้ค้าและร่อนเอกสารแจ้งให้ผู้ค้าทราบอย่างเดียว

ก่อนหน้าที่นิสิตกลุ่มหนึ่งจะเข้ามาช่วยเหลือ ผู้ค้าจะไม่ได้ต่อสัญญาแน่ ๆ เพราะวันนั้นเป็นวันสุดท้ายของการต่อสัญญา ผู้ค้าไม่มีโอกาสได้พูดคุยต่อรองกับผู้อำนวยการ เขาเด็ดขาดมาก “หากไม่รับก็ไม่ต้องอยู่ อยู่ไม่ได้ก็ออกไป” แต่โชคดีวันนั้นนิสิตกลุ่มนี้เข้าไป ผู้อำนวยการจึงยอมออกมาคุยครั้งแรก หลังจากนั้นตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ผู้ค้าขอนัดพบผู้อำนวยการคงไม่ต่ำกว่า 30 - 40 ครั้ง แต่หลบไปหลบมา ได้พบตั้ง 4 ครั้ง กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าภาคภูมิใจของทรัพย์สินจุฬา (อ้างอิงจากคำชี้แจงของทรัพย์สินจุฬาที่กล่าวว่าผู้อำนวยการให้โอกาสเจรจามากถึง 4 ครั้งตลอด 1 ปี) แถม 4 ครั้งที่ว่าเป็นเพราะผู้ค้าบุกไปหาถึงสำนักงานพร้อมผู้สื่อข่าว หากนัดพบด้วยเอกสารและไม่มีสื่อเข้าไปด้วย ก็ไม่เคยออกมาพบตามนัด

สองเดือนล่าสุด ใกล้ถึงกำหนดเวลาหมดสัญญาเช่า ผู้ค้าขอนัดพบมากกว่า 10 ครั้ง แต่ได้พบเพียงครั้งเดียว (รวมใน 4 ครั้งนั่นแหละ) ผู้ค้าได้พบผู้อำนวยการเพราะเขากำลังประชุมในห้อง ประชุมเสร็จเดินออกมาจ๊ะเอ๋พอดี หลบไม่ได้ แล้วพอหลังจากวันนั้นก็ลาไปต่างประเทศกันหมด และหากกลับมาก็จะขอลาส่วนตัวอีกต่อเนื่องเป็น 4 - 5 สัปดาห์ ...รู้ทั้งรู้ว่ามีคนเดือดร้อน ขอพูดคุย ผู้บริหารกลับลาไม่มาทำงาน ไม่ให้ติดต่อ และไม่ให้อำนาจใครมาตัดสินใจแทนอีก เป็นผู้บริหารที่ไม่ใส่ใจปัญหาของผู้ค้าเลย

ถึงแม้ว่าจะได้เจรจาแค่ 4 ครั้งตลอด 12 เดือน ผลการเจรจาต่าง ๆ ทุกคนให้เกียรติผู้อำนวยการเสมอ ทุกคนขอบคุณผู้อำนวยการที่ช่วยเหลือทุกครั้ง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (นิสิตจุฬาฯ คนหนึ่ง) ก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว (ดังภาพ) แค่ไม่กี่ครั้งและเป็นโพสต์ขอบคุณด้วย เนติวิทย์ขอบคุณผู้อำนวยการอย่างจริงใจ และเขาจริงใจช่วยเหลือผู้ค้าให้ได้รับการเจรจาอย่างเป็นธรรม ทว่าในคำชี้แจงของทรัพย์สินจุฬากลับกล่าวหาว่าชอบเอาไปโพสต์บิดเบือน ถ้าเช่นนั้นแสดงว่าข้อความในโพสต์ของเนติวิทย์ก็ไม่เป็นความจริง ผู้อำนวยการและทรัพย์สินจุฬาไม่เคยจริงใจและเห็นใจผู้ค้าเลยหรือเปล่า

ผู้ค้าค้างค่าเช่า หรือการเงินทรัพย์สินจุฬาน่าสงสัย ?

ประเด็นที่เข้าไปโต้แย้งและแสดงหลักฐานบ่อยครั้งจนน่าเบื่อ แต่ทรัพย์สินจุฬาก็ยังเอามาเป็นข้ออ้างที่ใช้ประกอบการไล่ผู้ค้าออกตลอดก็คือ การกล่าวหาว่าผู้ค้าค้างค่าเช่าและพูดจาข่มขู่พนักงานในห้าง ผู้ค้านำใบเสร็จรับเงินไปยืนยันกับทรัพย์สินจุฬา 2 - 3 รอบแล้ว ทุกคนเข้าใจกันหมด ทรัพย์สินจุฬายอมรับเองด้วยซ้ำว่า ยอดเงินที่ขึ้นว่าค้าง “เป็นความผิดพลาดของระบบ บัญชีของทรัพย์สินจุฬาไม่อัพเดต ผู้ค้าจ่ายแล้วแต่บัญชีไม่อัพเดตเฉย ๆ” (ในขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีบอกว่า “บัญชีจะอัพเดตทันทีเสมอ และหากผู้ค้าจ่าย เงินเข้าแล้วระบบจะตัดยอดอัตโนมัติ) ตอนนั้นผู้ค้าขอให้ช่วยออกเอกสารยืนยันว่าเขาจ่ายเงินแล้ว ไม่ได้ค้างจ่ายตามประกาศที่ส่งมาก่อนหน้า ทรัพย์สินจุฬาบอกออกเอกสารไม่ได้ ต้องรอผู้อำนวยการและจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยได้รับเอกสารยืนยันการชำระเงินในบางงวด ...ผมก็สงสัยเหมือนกันนะ หากเงินไม่เข้าแบบนี้ หรือไม่ยอมออกเอกสารยืนยันการรับเงินแบบนี้ เงินที่ผู้เช่าจ่ายไปทุกเดือนจะได้เข้าจุฬาฯ จริงมั้ยและตรงตามเวลามั้ย

ถ่ายใต้กระโปรงผู้หญิง และแอบตามถ่ายที่เปลี่ยว เป็นหน้าที่ประจำวันของ รปภ. จริงหรือ ?  

ข้อกล่าวหาว่าผู้ค้าพูดจาข่มขู่ อย่าลืมว่าผู้ค้าเป็นผู้หญิงวัยกลางคนและผู้หญิงสูงอายุอีกหนึ่งคน เขาทั้งสองจะมีอะไรไปข่มขู่ รปภ. ผู้ชายนับสิบในห้าง มีแต่เจ้าหน้าที่ทรัพย์สินจุฬาฯ ไปข่มขู่ รปภ. ให้คอยสอดส่องหรือตามแอบถ่ายผู้ค้าอย่างเดียว อีกทั้งยังข่มขู่พนักงานร้านค้าอื่น ๆ ไม่ให้มาพูดคุยสุงสิงกับร้านของเราอีก โดยสังเกตได้ชัดว่าหากมีใครมาคุยกับเรา จะมีเจ้าหน้าที่ไปหา หลายคนภายในไม่กี่วันถูกเลิกจ้าง อย่างเช่น รปภ.ที่เคยเป็นเพื่อนของผู้ค้ามานานคนหนึ่งถูกเลิกจ้างในวันรุ่งขึ้นทันทีที่มาพูดคุยเป็นมิตรกับเรา ส่วนอีกคนก็ถูกย้ายไปทำที่ห้างอื่น จนตอนนี้ผู้ค้าไม่มีใครกล้ามาคุยตรง ๆ ด้วย

นอกจากนั้น ทรัพย์สินจุฬายังอ้างว่าการที่ รปภ. และแม่บ้านแอบตามถ่ายรูปผู้ค้าเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและเพื่อส่งรายงานประจำวัน ผมอยากถามทรัพย์สินจุฬาว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของห้างมีหน้าที่ถ่ายภาพมายังผู้ค้า ถ่ายติดตามตัวไปทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะขายของ ทอนเงิน จะเดินเข้าห้องน้ำ จะกลับไปที่จอดรถ หรือตามถ่ายแม้ในที่เปลี่ยวด้วยหรือ และหากยังดื้อดึงปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้ แล้วกรณีที่ รปภ. แอบตามถ่ายผู้ค้าไปถึงที่จอดรถ ตามถ่ายด้านหลัง แล้วก้มลงถ่ายใต้กระโปรงของผู้ค้าผู้หญิงล่ะ หมายความว่าอย่างไร กรณีนี้มีการบันทึกข้อความกับสถานีตำรวจแล้วด้วย เหตุการณ์นี้เป็นหน้าที่ปกติทั่วไปที่ต้องรายงานประจำวันด้วยเหรอ และอีกกรณีหนึ่งที่เนติวิทย์ถูก รปภ. ถ่ายรูปสวนกลับมาต่อหน้าต่อตา (ดังภาพ) ในขณะที่เขาเดินไปพูดคุยกับผู้ค้าหมายความว่าอย่างไร ยังคงเป็นความปกติที่ทรัพย์สินจุฬาสั่งให้ รปภ. ถ่ายรูปติดตามและส่งรายงานทุกวันใช่หรือไม่

ยายวัย 85 ถูกไล่ออกทันทีหลังเจ้าหน้าที่จุฬาบุกหาเจ้าของร้าน ถือว่าไม่ได้กดดันจริงหรือ ?

ท้ายสุด กรณีคุณยายร้านนวดวัย 85 ปี ทั้งคุณยายและผู้ค้ายืนยันว่า หลังวันที่ไปนอนขอพบผู้อำนวยการ เจ้าของร้านก็ยังไม่รู้ว่ายายไปนอน ยังทำงานกันปกติ เนื่องจากเจ้าของร้านไม่ได้ติดตามทวิตเตอร์บวกกับไม่ได้เป็นข่าวด้วย แต่ขณะที่คุณยายและเจ้าของร้านกำลังอยู่ในร้าน เจ้าหน้าที่ทรัพย์สินจุฬาบุกเข้ามาขอพบเจ้าของ และพูดถึงเหตุการณ์เมื่อวาน หลังจากนั้นพวกเขาก็เข้าไปคุยกันในห้องสองคน เจ้าของร้านไล่ยายออกทันทีที่ออกจากห้อง ในคำชี้แจงของทรัพย์สินจุฬาอ้างว่าสถานการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้ถือเป็นการกดดันเจ้าของร้านแต่อย่างใด และยืนยันว่าไม่ได้เป็นสาเหตุให้ยายถูกไล่ออก ทว่าคุณยายเล่าว่า ก่อนไล่ออก เจ้าของร้านบอกว่าเขาเป็นคนจุฬา เมื่อจุฬาบอกว่ายายทำจุฬาเดือดร้อนเสียหาย ยายก็ต้องออก แล้วแบบนี้จะอ้างว่าทรัพย์สินจุฬาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างไร อีกทั้งที่ทรัพย์สินจุฬาผลักไปว่าที่ยายถูกออกเป็นการตัดสินใจของเจ้าของร้านซึ่งมองว่ายายมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทรัพย์สินจุฬารู้ได้อย่างไรว่าเจ้าของร้านคิดแบบนั้นถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และทรัพย์สินจุฬาเขียนแบบนี้ได้ยังไง แสดงว่าทรัพย์สินจุฬาก็คิดว่ายายมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเหมือนกับเจ้าของร้านใช่หรือไม่ จนถึงตอนนี้ทรัพย์สินจุฬายังคงนิ่งเฉยต่อปัญหาและปล่อยให้ยายตกงานและใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท