Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 19 กลุ่ม ตบเท้าเข้าสภาประกาศเจตนารมณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ พร้อมยื่นข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ  ต่อกมธ. การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน , กมธ.การศึกษา , และกมธ. การสังคมเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสของรัฐสภา หลังพบ 6 ปีมีผู้หญิงจากชุมชนมากกว่า 225  คนไม่ได้รับความยุติธรรมและถูกดำเนินการด้านกฎหมายในการลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมระบุ รธน.ฉบับที่จะมีการร่างใหม่รัฐต้องตระหนักว่างานในบ้านเป็นงานที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและรัฐต้องจัดสรรค่าตอบแทน  ต้องกำหนดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพที่ผู้หญิงกลุ่มทุกกลุ่มเข้าถึงได้ ต้องอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสนอให้ลดอำนาจและงบประมาณทหารเพื่อนำมาจัดสรรสวัสดิการให้ผู้หญิงและประชาชน

21 พ.ย.2562 องค์กรปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Protection International - PI) แจ้งว่า ที่อาคารรัฐสภาวันนี้ (21 พ.ย.62) เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 19  กลุ่ม ( community based WHRD Collective in Thailand) เดินทางมาประกาศเจตนารมณ์พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และกรรมาธิการการ (กมธ.) ฝ่ายต่างๆ ของสภา

ชูศรี โอฬารกิจ เนืองนิช ชิดนอก และสมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 19 กลุ่ม กล่าวว่าเนื่องจากในวันที่ 29 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯสากล  เราจึงใช้โอกาสเดือนนี้มาประกาศเจตนารมณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ พร้อมยื่นข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ  ต่อ กมธ.  เนื่องจากกระแสการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตอนนี้มีข้อถกเถียงถึงผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นเรื่องร้อนที่ฟากฝั่งการเมืองกำลังให้ความสำคัญ แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับแต่ไม่มีฉบับไหนเลยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นของผู้หญิง นั่นเพราะผู้หญิงไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจและร่วมแก้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง  

นอกจากนี้ที่ผ่านมาเราพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในสิทธิ แต่กลับได้รับผลกระทบทั้งในแง่การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และการกลั่นแกล้งทางด้านกฎหมาย ซึ่งตลอด 6 ปีที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลจากองค์กร Protection International พบผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกการใช้กระบวนการทางกฎหมายคุกคาม โดยมีตัวเลขที่น่าตกใจว่ามีผู้หญิงจากชุมชนมากกว่า 225 คนที่ถูกดำเนินการทางด้านกฎหมายในการลุกขึ้นมาต่อสู้ ยิ่งกว่านั้นมีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นสิทธิที่ประชาชนผู้เป็นอำนาจที่แท้จริงควรจะกระทำได้ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เราจึงมีการรวมตัวกันและมีข้อเรียกร้องหลักที่เป็นเจตนารมณ์ของเราในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยเรามีแถลงการณร่วมกันดังนี้  เราคือ “ผู้หญิง” ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริงทั้ง 19 กลุ่ม เราถูกดำเนินคดี ถูกกระทำและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจึงมารวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของเรา ในนาม “เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” เจตนารมณ์ของเครือข่ายคือการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่มีพลังในการต่อสู้ เพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในประเทศไทยที่จะสามารถกำหนดเจตนารมณ์และความต้องการของตัวเองในการแก้ไขปัญหาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยพวกเรามีข้อเรียกร้อง 6 ข้อดังนี้

1. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพ ปกป้อง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

2. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องตระหนักว่างานในบ้าน เป็นงานที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ งานที่กระทำโดยแม่และผู้ดูแลคนอื่นๆในครอบครัว ต้องได้รับค่าตอบแทน โดยรัฐต้องจัดหาสวัสดิการและประกันค่าตอบแทนให้แม่และคนทำงานในบ้านทุกคน

3. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องลดอำนาจกระจุกตัวและกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น ที่ผู้หญิงทุกระดับมีอำนาจในการจัดสินใจและมีส่วนร่วม

4. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องสนับสนุนสวัสดิการการศึกษาถ้วนหน้าของผู้หญิงทุกกลุ่ม ทุกความต้องการพิเศษและสนับสนุนการศึกษาทางเลือกที่สามารถกำหนดความมุ่งหมายและแนวทางของชีวิตได้อย่างอิสระ

5. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องลดอำนาจและงบประมาณทหารเพื่อนำมาจัดสรรรัฐสวัสดิการให้กับผู้หญิงและประชาชนทุกคน

6. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพที่ผู้หญิงกลุ่มต่างๆเข้าถึงได้ เช่นต้องจัดสรรที่อยู่อาศัยในสัดส่วนที่มีผู้หญิงเข้าถึงการถือครองไม่ต่ำกว่า 50% ต้องจัดสรรให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการในทุกระดับอย่างน้อย 50% ผู้หญิงทุกคนต้องเข้าถึงการให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงอย่างรอบด้านโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติและมีบ้านพักฉุกเฉินที่ผู้หญิงทุกคนใช้ได้ แรงงานหญิงไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบต้องได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมและเท่าเทียม สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมาย  ต้องมีทางเลือกให้ผู้หญิงที่ไม่ต้องการยุติการตั้งครรภ์โดยรัฐต้องมีสวัสดิการให้รวมถึงผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว  สร้างความเชื่อมั่นเรื่องรัฐสวัสดิการให้ผู้หญิงทุกกลุ่มด้วยการจัดให้มีล่ามหรือแปลเอกสารเป็นทุกภาษาของทุกกลุ่มผู้หญิง

“และวันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้นำเจตนารมณ์และข้อเสนอมายื่นต่อ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน คณะกรรมาธิการการศึกษา และคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ของรัฐสภา และเราหวังว่าข้อเสนอทั้ง 6 ข้อของพวกเราจะได้รับการบรรจุเป็นวาระเข้าสภาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในประเด็นของผู้หญิงด้วย” ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 19 กลุ่มกล่าวและว่านอกจากนี้เพื่อให้เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถเดินทางไปหาผู้หญิงในชุมชนต่างๆในประเทศไทย เพื่อสร้างเจตนารมณ์ของผู้หญิง รัฐต้องจัดหารถบัสสภาพดีพร้อมใช้จำนวนหนึ่งคัน โดยเรามารับมอบรถบัสดังกล่าวในวันที่ 8 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันสตรีสากล

ขณะที่ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรคอนาคตใหม่กล่าวภายหลังจากรับข้อเสนอของภาคีเครือข่ายว่า พรคอนาคตใหม่จะรับข้อเสนอของภาคีเครือข่ายและจะนำไปหารือพร้อมทั้งนำไปขับเคลื่อนกับคณะกรรมาธิการในหลากหลายคณะของพรรคอนาคตใหม่ และอยากเชิญชวนทุกคนที่ไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมคนอื่นให้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งในและนอกสภาเพื่อร่วมกับสร้างสังคมที่เท่าเทียมร่วมกันต่อไป

สำหรับเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 19 กลุ่ม (community based WHRD Collective in Thailand) ประกอบด้วย  ผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พนักงานบริการ ผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้หญิงที่ต่อสู้เรื่องที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเช่นเครือข่ายสหพันธ์เกศตรภาคใต้ ผู้หญิงต่อสู้เรื่องการเข้าถึงทรัพยากรทะเล ผู้หญิงที่ร่วมก่อตั้งการเดิน We walk  ผู้หญิงต่อสู้เรื่องการปฏิรูปที่ดินในอีสาน เพื่อต่อต้านเผด็จการ ผู้หญิงผู้ลี้ภัย ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ ผู้หญิงที่เคยติดคุกเพราะความอยุติธรรม ผู้หญิงทนายความที่ทำคดีสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกคุกคาม ผู้หญิงจากขบวนการต่อสู้ที่เป็นการต่อสู้ของชุมชนที่เป็นตำนานมายาวนานเช่นสมัชชาคนจน ผู้หญิงจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ผู้หญิงแรงงานที่ต่อสู้กับทุนอย่าง TryArm  ผู้หญิงหาบเร่แผงลอย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net