Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 62 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยต่อกรณีคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย ว่า การกระทำของนายธนาธร เข้าข่ายมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 42 (3) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ถือได้ว่า เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นในธุรกิจสื่อ ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวบนพื้นฐานทางวิชาการและกฎหมาย ต่อคำวินิจฉัยของศาลในแต่ละประเด็นซึ่งเป็นข้อโต้แย้งของธนาธรในการต่อสู้คดี และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ดังนี้


ข้อโต้แย้งที่ 1 ธนาธร ระบุว่า กระบวนการไต่สวนของ กกต. ไม่ชอบ

เรื่องนี้ ศาลเห็นว่า กกต. มีอำนาจตามมาตรา 82 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำหนดให้ กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่เห็นว่าสมาชิกสภาพสิ้นสุดลง (ซึ่งกรณีของธนาธร เข้าลักษณะการสิ้นสมาชิกภาพตามมาตรา 101 (6) ของรัฐธรรมนูญ 2560 อันเนื่องมาจาก “การเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ตามความในมาตรา 98 (3) ศาลจึงวินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับคำวินิจฉัยส่วนดังกล่าว เมื่อพิจารณาตามตัวบทกฎหมาย พิจารณาได้ว่า กกต. มีอำนาจในการกระทำการเช่นว่านั้นจริง แต่ประเด็นนี้ สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า “กระบวนการพิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญของ กกต.” เป็นการกระทำที่ “ขัดหลักความเสมอภาค” หรือไม่ เนื่องจากในกรณีของธนาธร ทาง กกต. ได้ทำการตั้งคณะกรรมการพิจารณาสอบสวนก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ค่อนข้างเร็ว แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า ถ้าเป็นกรณีอื่นๆ อย่างเช่น การถือหุ้นสื่อของ ส.ส. ท่านอื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. จากฝ่ายรัฐบาล) กกต. จะทำการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และดำเนินการค่อนข้างรวดเร็ว อย่างเช่นกรณีธนาธรหรือไม่ กล่าวคือ จะเกิดการ “เลือกปฏิบัติ” อันเป็นการขัดหลักความเสมอภาคหรือไม่


ข้อโต้แย้งที่ 2 ธนาธร อ้างว่า บริษัทวี-ลัค มีเดีย ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อันเข้าเงื่อนไขตามความในมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 และได้ปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 61

เรื่องนี้ เมื่อศาลพิจารณาตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ เห็นว่า กิจการสื่อสิ่งพิมพ์ หมายความรวมถึงวารสารและนิตยสารด้วย (อ้างอิงจาก มาตรา 4 ของพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดนิยามของคำว่า “หนังสือพิมพ์”) และเมื่อเจ้าของกิจการประสงค์จะเลิกกิจการต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อภายใน 30 วัน (อ้างอิงจาก มาตรา 18 ของพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าบริษัทวี-ลัค มีเดียไปจดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ก่อนวันที่ 16 ก.พ. 62 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ส่งรายชื่อผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้น แม้ว่า บริษัทวี-ลัค มีเดีย จะอ้างว่าหยุดกิจการ เลิกจ้างพนักงานตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 61 เป็นต้นมา และแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมแล้ว “แต่บริษัทยังสามารถประกอบกิจการอีกเมื่อไรก็ได้ จนกว่าจะจดทะเบียนแจ้งยกเลิกกิจการ” บริษัท วี-ลัค มีเดีย จึงถือเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

สำหรับคำวินิจฉัยส่วนดังกล่าว ผมเห็นด้วยในเรื่องการเลิกกิจการโดยการจดทะเบียน เนื่องจากพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ระบุชัดเจนถึงหลักเกณฑ์ในการเลิกประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ว่าต้องทำอย่างไร แต่ขอตั้งข้อสังเกตในเรื่องที่ว่า “การให้นิยามคำว่า “หนังสือพิมพ์” โดยการอ้างอิงจากพระราชบัญญัติ เป็นการทำให้บทบัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ถูกใช้อย่างเกินขอบเขตแห่งเจตนารมณ์หรือไม่” เนื่องจาก บทบัญญัติมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นบทบัญญัติว่าด้วย “การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ซึ่งตามหลัก “การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านกฎหมาย ต้องเป็นไปอย่างแคบที่สุด” เมื่อลองพิเคราะห์ถึงคำว่า “หนังสือพิมพ์” ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อสังเกตว่า ด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแท้จริง น่าจะพุ่งเป้าไปที่ “การใช้หนังสือพิมพ์ในฐานะสื่อเพื่อการสร้างความเสียหายทางการเมือง” มากกว่า ดังนั้น เพียง “การประกอบธุรกิจเชิงนิตยสารหรือวารสาร” จึงไม่น่าจะเป็นกิจการทำหนังสือพิมพ์ และการใช้หนังสือพิมพ์ในฐานะที่เป็น “เงื่อนไขต้องห้าม” ในการลงสมัครเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญไปได้ เพราะการตีความและให้นิยามคำว่า “หนังสือพิมพ์” ในรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแคบที่สุด


ข้อที่ 3 ธนาธร อ้างว่า ในวันสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นายธนาธรไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย แล้ว เพราะได้โอนหุ้นให้นางสมพร ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.62

เรื่องนี้ จากการไต่สวน ศาลพบว่า แบบสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่ยื่นต่อกรมธุรกิจการค้าในวันที่ 12 ม.ค.58 และ 21 มี.ค. 62 ยังปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 62 จึงมีการส่งสำเนาบอจ. 5 ระบุว่านางสมพรเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าว อีกทั้งหลักฐานต่างๆ ที่ธนาธรนำมาต่อสู้นั้น “ยังไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ”

สำหรับคำวินิจฉัยส่วนดังกล่าว ขอตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็น ดังนี้

1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วางหลักเรื่อง “การโอนหุ้น” ว่า “การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย การโอนหุ้นจะนำมาใช้แก่บริษัท หรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น” 

หมายความว่าอย่างไร? เมื่อลองพิจารณาบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ดังกล่าว พิจารณาได้ว่า เพียงการโอนหุ้นได้ทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน และมีพยานอย่างน้อย 1 คนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อนั้นๆ และได้แถลงเลขหมายของหุ้นที่โอนด้วยแล้ว ก็ถือว่าการโอนหุ้นนั้นสมบูรณ์เรียบร้อย เพียงแต่บริษัทต้องได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงในสมุดทะเบียนหุ้นของบริษัทให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะใช้อ้างยันต่อบริษัทหรือบุคคลภายนอกได้

แต่กรณีดังกล่าว ศาลอ้างอิง “บอจ.5” ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) เป็นพยานเอกสารหลัก ในการวินิจฉัยว่า มีการโอนหุ้นเกิดขึ้นในระยะเวลากำหนดหรือไม่ ดังนั้น จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่า เราควรจะยึด “วันที่ได้มีการทำเป็นหนังสือโอนหุ้นอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ มาตรา 1129 ป.พ.พ.” หรือ “วันที่เกิดการเปลี่ยนแปลง บอจ.5” เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่อง “การโอนหุ้น”


2. ศาลมีคำวินิจฉัยต่อข้อโต้แย้งที่ 3 ของธนาธร ว่า “ธนาธรไม่สามารถที่จะหาหลักฐานมาหักล้าง หรือพิสูจน์ความน่าเชื่อถือขอตนเองได้” ซึ่งจุดนี้ ผมคิดว่า ส่วนหลักที่ทำให้ธนาธรแพ้ ก็เพราะเหตุที่ว่า “ถ้อยคำเบิกความของธนาธรไม่ตรงกับพยานหลักฐานที่นำมาแสดง” นั่นเอง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อศาลยึดพยานหลักฐานทางเอกสาร (บอจ.5 จากทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ DBD) ก็ทำให้ศาลมี “หลักฐานอ้างอิง” ที่มีน้ำหนักอย่างมากในการวินิจฉัยประเด็นที่ว่า “หุ้นโอนในวันเวลาดังที่ธนาธรกล่าวอ้างหรือไม่” 

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการไต่สวนและขอเอกสารหลักฐานเพิ่มได้ เพื่อประโยชน์แห่งการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่า จะใช้อำนาจในเรื่องนี้หรือไม่ จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่า “ศาลได้ดำเนินตามหลักการนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการที่เป็นธรรมหรือไม่?”
 

ประเด็นเพิ่มเติม: เรื่องหลัก “ความเป็นอิสระแห่งตุลาการ” ตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 188 วางหลักชัดเจนว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึง “ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายท่าน” พบว่ามาจาก “การใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้จะพิเคราะห์ได้ว่า ศาลวินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่มีอยู่จริง แต่ก็ทำให้เกิดข้อสังเกตได้ว่า ด้วย “ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ทำให้การวินิจฉัยหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญสามารถถูกตั้งคำถามเรื่อง “ความเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมือง” ได้ 

นี่ก็เป็นข้อสังเกตทั้งหมดของผม ที่มีต่อกรณีการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ครับ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ก็มีกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ถือหุ้นสื่อ” ของ ส.ส. อีกหลายคน กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในขั้นตอนต่างๆ จากนี้ ขอให้ทุกท่านจับตามองว่า “ภายใต้ข้อเท็จจริงอันมีสาระสำคัญเดียวกัน จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่” กล่าวง่ายๆ คือ หากสุดท้ายพบว่า ส.ส. คนอื่น มีข้อบกพร่องเช่นเดียวกับธนาธร ผลการตัดสินจะออกมาเหมือนกันหรือไม่ รวมถึง “การอำนวยการเข้าถึงสิทธิสู่ความยุติธรรม” จะอยู่ในมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ (เช่น เรื่องความช้า-เร็ว ในการดำเนินกระบวนพิจารณา) รวมถึงอยากให้ทุกท่านรอดู "คำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างน้อย" จำนวน 2 ท่าน ว่าจะมีเหตุผลทางกฎหมายอื่นที่น่าสนใจอีกหรือไม่

อย่างไรก็ดี การวินิจฉัยในครั้งนี้ ธนาธร “ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง” เพียงแต่ “พ้นสภาพจากการเป็น ส.ส.” ดังนั้น อย่างน้อยถือว่า ธนาธร (ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ทางการเมือง) ยังคงกลับมาในเส้นทางทางการเมืองในสภาได้ “ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินรอ” คำวินิจฉัยในครั้งนี้ จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ “ส่งผลกระทบสภาพทางการเมืองในอนาคตของประเทศไทย” อย่างแน่นอนครับ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net