Skip to main content
sharethis

‘มาดามเดียร์’ ส.ส.พลังประชารัฐ ฟ้องหมิ่นประมาท ‘ช่อ พรรณิการ์’ ส.ส.อนาคตใหม่ ระบุตนและคู่สมรส ไม่ได้เป็นเจ้าของและไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อใดๆ ตั้งแต่ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ชี้ไม่เคยแทรกแซงกระบวนการนำเสนอข่าวของสื่อใดๆ ศาลนัดไต่สวน 24 ก.พ. 63

21 พ.ย. 2562 วันนี้ ที่รัฐสภา สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วทันยา วงษ์โอภาสี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวถึงการดำเนินคดีกับ พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์พาดพิงตนและคู่สมรส ว่า ได้มอบให้ทนายความดำเนินการฟ้องร้องพรรณิการ์ ในคดีหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เนื่องจากมีข้อความบิดเบือนข้อเท็จจริงจนทำให้ได้รับความเสียหาย และตนขอยืนยันว่า ไม่เคยดำรงตำแหน่งใดๆ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ตามที่พรรณิการ์ แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตนและคู่สมรส ไม่ได้เป็นเจ้าของและไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อใดๆ ตั้งแต่ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ดังนั้น ไม่ว่าจะตีความโดยทางนิตินัยหรือพฤตินัย ยืนยันว่า ทำถูกต้องตามกฎหมายครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทราบดีว่าการเป็นผู้บริหารไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทำงาน นำเสนอข่าวของสื่อได้ ซึ่งตนเชื่อมั่นมาตลอดว่าสื่อมวลชนและกองบรรณาธิการต้องมีเสรีภาพในการกระบวนการคิดและทำงานของตนเอง ทั้งนี้ ขอให้พรรณิการ์ อย่าใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. ในการหลีกเลี่ยงกระบวนการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล แต่ควรสู้ด้วยข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรม เพราะหากเป็นการกล่าวหาผู้อื่น ก็ต้องพิสูจน์ความจริงอย่างมีความรับผิดชอบด้วย

วทันยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ศาลอาญาได้รับคำฟ้องไว้แล้ว และนัดไต่สวนครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 24 ก.พ.63 ซึ่งเมื่อได้ฟ้องคดีไปแล้วก็ไม่ประสงค์จะแสดงความคิดเห็นอีก เพราะตนในฐานะ ส.ส. และกรรมาธิการ (กมธ.) มีภารกิจการทำงานเพื่อประเทศชาติ ขอพิสูจน์ความจริงตามกระบวนการยุติธรรม และขอยุติเรื่องดังกล่าวไว้เพียงเท่านี้ เนื่องจากไม่ต้องการนำเรื่องดังกล่าวมาสร้างวาทกรรมทางการเมือง

 

ก่อนหน้านี้วันที่ 19 พ.ย. พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึง กรณีที่ วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  ประกาศจะใช้กระบวนการทางกฎหมายจัดการ หลังถูกกล่าวพาดพิงเรื่องนักการเมืองถือหุ้นสื่อ ว่า  เป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ก่อนที่พรรคอนาคตใหม่จะแถลงข่าว ก็มีความมั่นใจ และไม่ไร้เดียงสาถึงขั้นที่จะไม่รู้ว่า การกล่าวพาดพิงบุคคลที่สาม จะไม่เสี่ยงโดนฟ้อง 

“เราจึงรัดกุมพอสมควรว่า สิ่งที่เราพูดเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด เช่น ผู้บริหารของเนชั่น ผู้บริหารของนิวส์ เน็ตเวิร์ค และผู้บริหารของสถาบันทิศทางไทย รวมไปถึงสัดส่วนเวลาที่ช่องเนชั่นนำเสนอข่าวของอนาคตใหม่ ถ้าสงสัยว่าข้อมูลส่วนไหนบิดเบือน ก็สามารถไปเช็คสถิติได้ และนำหลักฐานมาแสดง” พรรณิการ์ กล่าว

ต่อข้อถามว่า ตามแล้วธรรมนูญมาตรา 98 (3) ระบุเรื่องคุณสมบัติของ ส.ส. ว่าห้ามถือหุ้นสื่อนั้น มีขอบเขตครอบคลุมแค่ไหน พรรณิการ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้ก็ถือว่าอยู่ที่การตีความทางกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายคู่สมรส ถือว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน เพราะเวลาที่นักการเมืองแสดงทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ต้องแสดงทรัพย์สินของคู่สมรสด้วย เรื่องนี้คิดว่าถ้าไม่พูดถึงเรื่องกฎหมายเลย ในทางจิตสำนึก ทุกคนก็ย่อมทราบดีว่า ฉาย บุนนาค และวทันยา เป็นสามีภรรยากัน และใครๆ ก็ทราบว่า เนชั่นเป็นสำนักข่าวที่มีแนวคิดทางการเมืองเป็นแบบไหน ให้คุณกับฝ่ายไหนและให้โทษกับฝ่ายไหน จึงเชื่อว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องข้อเท็จจริง 

“ดิฉันเข้าใจว่า น.ส.วทันยา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายฉาย เพราะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น สำหรับพรรคอนาคตใหม่ ตอนนี้มีหลายคดีแล้ว เพิ่มอีกสักคดีคงไม่เป็นไร” พรรณิการ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่เนชั่นแฉความสัมพันธ์ระหว่างมติชนและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นั้น พรรณิการ์  กล่าวว่า อาจจะเทียบกันได้ว่า วทันยา และฉาย เป็นสามีภรรยากัน เหมือนกับสมพร และธนาธร เป็นแม่ลูกกัน แม้จะไม่ใช่คนคนเดียวกัน ก็มีความเกี่ยวข้องกัน  ข้อเท็จจริงอีกส่วนที่สำคัญมากคือ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ให้นักการเมืองถือหุ้นสื่อ เพื่อไม่ให้ใช้สื่อนั้นเป็นคุณกับตัวเองและเป็นโทษกับคนอื่น 

"ถ้าเราดูการนำเสนอข่าวของมติชน ก็จะเห็นว่ามีทั้งข่าวที่เป็นคุณและเป็นโทษกับอนาคตใหม่ เพราะต้องยอมรับว่าด่ามาหลายๆครั้ง เกิดมาจากมติชน ซึ่งก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเป็นเรื่องปกติของการทำงานสื่อ ที่ต้องวิจารณ์คนนั้นวิจารณ์คนนี้ คอลัมน์ของมติชนเองก็มีความหลากหลาย ดิฉันคิดว่า ควรพิสูจน์กันที่ผลงานดีกว่า ว่าเป็นคุณกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือเปล่า คิดว่าเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายแทนมติชน เพราะผลงานก็มีให้เห็นอยู่แล้ว" พรรณิการ์ กล่าว

 

เหตุการณ์ฟ้องร้องครั้งนี้สืบเนื่องจาก วันที่ 18 พ.ย. เมื่อเวลา 13.30 น. ที่พรรคอนาคตใหม่ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงถึงนักการเมืองใช้สื่อเป็นเครื่องมือ กรณีเครือเนชั่น และการขยายผลกรณีเฟกนิวส์ว่า ตามเจตนารมรณ์รัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งถือครองหุ้นสื่อ เพื่อใช้ให้เป็นคุณแก่ตัวเองและใช้เป็นโทษแก่คนอื่น แต่ในไทยมีนักการเมืองเกี่ยวข้องกับเจ้าของสื่อ แต่ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้คือกรณี วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลาออกจากผู้บริหารเครือเนชั่น ก่อนให้ฉาย บุนนาค สามีดำรงตำแหน่งผู้บริหารแทน เกิดคำถามว่าขณะที่การถือหุ้นสื่อ ของส.ส.หลายสิบคน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งที่ปัญหาเกิดจากใบบริคนห์สนธิ บางกรณีนักการเมืองแสดงหลักฐานทุกอย่างแล้วว่าโอนหุ้นก่อน แต่ยังมีคดี แต่กรณีวทันยา กฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้ และเครือเนชั่น แสดงให้เห็นชัดเจนว่าทำการอันเป็นคุณแก่บางพรรค และเป็นโทษแก่บางพรรคอย่างเป็นระบบ

พรรณิการ์กล่าวต่อว่า ทีมงานของพรรคได้สรุปการเสนอข่าวของเนชั่น ที่เสนอข่าวอนาคตใหม่เฉลี่ยวันละ 9 ข่าว 36 นาที เฉลี่ยเป็นเบรกเช้า เที่ยง เย็น ช่วงละ 12 นาที หมายความว่าจะมีข่าวอนาคตใหม่ 1 เบรกเต็มๆ ในทุกช่องข่าวหลักของเนชั่น นอกจากนี้ได้เชิญบุคคลมาสัมภาษณ์เพื่อชี้นำความเห็นเชิงลบ ทั้งที่เพิ่งจะตั้งพรรคมาหนึ่งปีกว่าๆ ยังไม่มีอำนาจรัฐ

พบรูปแบบการนำเสนอข่าวที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเนชั่นหยิบยกเอาข้อมูลในเพจข่าวปลอม มาแผยแพร่ในรายการทีวี รวมทั้งเพจ ปอกเปลือก ซึ่งเป็นเพจที่สถาบันทิศทางไทยมักแชร์ในช่วงก่อตั้ง หมายความว่าข่าวปลอมเหล่านี้ เริ่มต้นจากเพจข่าวปลอมที่ไม่มีตัวตน

โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ข่าวปลอมมีอยู่เยอะและเป็นอันตรายต่อสังคม แต่อย่างน้อยมันไม่เคยถูกยกมาเป็นข่าวในโทรทัศน์ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด ตัวอย่างเช่น “ชำแหละแถลงการณ์ ธนาธร โอนหุ้น ส่อนิติกรรมอำพราง” “ธนาธรอันตรายคล้ายฮิตเลอร์” หรือ “ธนาธรสารภาพคิดการใหญ่” หรือ วิจารณ์ยับกินอาหารหรู ซึ่งกรณีกินอาหารหรูมีการยืนยันแล้วว่ามื้อนั้นเฉลี่ยคนละ 600 บาท ก่อนถูกขยายความต่อไป

เช่นเดียวกับข่าว ธนาธร คล้ายฮิตเลอร์ ซึ่งในเนื้อหาไม่มีข้อเท็จจริง มีเพียงความเห็นของพิธีกรรายการเท่านั้น มีคนแสดงความเป็นห่วงหลายคน อย่าง 4 สมาคมสื่อที่ออกแถลงการณ์ กรณีสื่อสำนักนี้ปล่อยคลิปเสียง หากสื่ออ้างเสรีภาพเสนอข้อมูลข่าวสารโดยไร้ขอบเขต สร้างความเกลียดชัง สื่อจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ได้อย่างไร เราต้องการเรียกร้องเรื่องนี้ไปยังสังคมว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญนี้จะได้รับความเชื่อถือจากสังคมได้อย่างไร หากมีการดำเนินการลักษณะนี้

 

อนึ่ง กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีมติแต่งตั้ง "ฉาย บุนนาค" ดำรงตำแหน่งกรรมการ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 กรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหาร ของบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2562 การเข้ามานั่งแท่นบริหารองค์กรสื่อที่มีอายุยาวนาน 47 ปี ท่ามกลางมรสุมลูกใหญ่ที่ต้องจัดการคือภาระหนี้ก้อนโตเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายผู้บริหารใหม่ นำพาองค์กรแห่งนี้ให้พ้นจากภาวะถดถอย

"ฉาย" เปิดใจว่าปัญหาของกลุ่มเนชั่นคืออยู่ในธุรกิจสื่อที่ถดถอยและยากลำบาก กลุ่มเนชั่นมีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ที่สถานการณ์ไม่ค่อยดี ขณะที่ธุรกิจดิจิทัล รายได้ยังไม่สามารถขึ้นมาทดแทนรายได้โฆษณาสิ่งพิมพ์ได้ ด้านทีวีดิจิทัล มีต้นทุนการประมูลที่แพงเกินจริง ซึ่งกลุ่มเนชั่นมีหลายสื่อในตัวเองจึงเผชิญปัญหาหลายด้านพร้อมๆกัน ยิ่งเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง จึงเห็นผลกระทบที่หนักมากขึ้น   

ขณะเดียวกัน ปณิธานและจิตวิญญาณในการทำข่าวต้องคงเอาไว้ เพราะเนชั่นเป็นสถาบันมากกว่าเป็นบริษัท สื่อที่เป็นที่พึ่งของประชาชน เสมือนห้องครัวของประเทศมีผลผลิตที่มีอิทธิพล ถ้าเสนอสิ่งที่ผิดเปรียบเสนอยาพิษให้กับประเทศ

เพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไปนั้น และยังรักษาความเป็นสถาบันสื่อที่น่าเชื่อถือ มีคุณภาพ เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้บริหารทุกคนที่มานั่งทำงานกันวันนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนองค์กร  13 ราย ประกอบด้วย นายฉาย บุนนาค นายสมชาย มีเสน นางสาววรางคณา กัลยาณประดิษฐ์ นางมัธยา โอสถานนท์ นางเนตรนภา ภูษิตตานนท์ นายศุภวัฒน์ สงวนนาม นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย นายพรประยูร อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร นายประกิต ชมภูคำ นางสาวเอี่ยมศรี บุญหชัยรัตน์ และนางสาวนัฐวรา แสงวารินทร์

นอกจากนี้ ยังมีคณะที่ปรึกษาอีก 6 ราย ประกอบด้วย นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม นายมารุต อรรถไกวัลวที นายพนา จันทรวิโรจน์ นายปราโมท ฝ่ายอุประ นายพิพัฒน์ ชนะสงคราม และนายกนก รัตน์วงศ์สกุล

ดังนั้น การอยู่รอดให้ได้ในธุรกิจสื่อที่กำลังถดถอย คอนเทนท์ต้องมีความน่าเชื่อถือ (content is a king) พร้อมกับการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มเนชั่นหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่ไปแล้ว ยังมีปัญหาหนี้ที่ต้องแก้ไขพร้อมๆกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ 

 

อ้างอิง:

ข่าวรัฐสภา

สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย

ข่าวสด

ข่าวสด

กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net