Skip to main content
sharethis

องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล รายงานเกี่ยวกับการที่ตำรวจในฮ่องกงในกำลังปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงอย่างน่าเป็นห่วง มีการใช้ยุทธวิธีปราบปรามผู้ชุมนุมแบบสุ่มเสี่ยงและไม่เลือกเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีการจับกุมผู้ชุมนุมโดยพลการ รวมถึงมีหลักฐานเรื่องการทารุณกรรมและการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อผู้ต้องขัง ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างอิสระต่อกรณีการล่วงละเมิดเหล่านี้

ภาพการปราบปรามผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในฮ่องกง (ที่มา:Wikipedia/Voice of America)

21 พ.ย. 2562 ในฮ่องกงมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องประชาธิปไตยมาเป็นเวลานานตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ โดยมีปมปัญหาเริ่มจากการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของจีนที่ถูกมองว่าเป็นการให้อำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ในการขยายขอบเขตการลงโทษผู้วิพากษ์วิจารณ์พวกเขา จนกระทั่งการประท้วงมีการยกระดับการชุมนุมและเพิ่มข้อเรียกร้องอีกหลายข้อ

ในขณะที่มีภาพความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ก็ระบุถึงกรณีปฏิบัติการที่ไม่เหมาะสมของฝ่ายตำรวจ จากรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา หนึ่งในกรณีการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นคือการปฏิบัติกับผู้ต้องขังอย่างเลวร้าย โดยที่แอมเนสตี้ฯ อาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนที่ถูกจับกุมหลายสิบราย และการรวบรวมหลักฐานและบันทึกคำให้การจากทนายความ คนทำงานสาธารณสุข และแหล่งอื่นๆ โดยแอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างอิสระกรณีการละเมิดสิทธิผู้ชุมนุมโดยทันที จากการที่มีการละเมิดสิทธิฯ สูงขึ้นมาหลังจากมีการยกระดับการชุมนุมในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

นิโคลัส เบเคลิน ผู้อำนวยการสาขาเอเชียตะวันออกของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่าในขณะที่มีการถ่ายทอดสดภาพที่ตำรวจฮ่องกงใช้วิธีการควบคุมฝูงชนเผยแพร่ไปทั่ว แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นที่รับรู้น้อยคือการที่ตำรวจละเมิดสิทธิฯ ผู้ประท้วงนอกสายตาของสาธารณชน

เบเคลินบอกว่ามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นการที่ตำรวจต้องการโต้ตอบผู้ชุมนุม โดยดำเนินการในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงไม่เป็นไปตามหลักการกฎหมายต่อประชาชนผู้ประท้วง นอกจากนี้ยังมีการจับกุมคุมขังโดยพลการและใช้กำลังรุนแรงเชิงแก้แค้นต่อประชาชนที่ถูกจับกุมในที่คุมขัง บางกรณีก็เข้าข่ายทารุณกรรม

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่ามีคนที่ถูกจับกุมมากกว่า 1,300 รายในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงในฮ่องกง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการประท้วงเป็นไปอย่างสงบแต่ก็มีอยู่บางส่วนที่ใช้ความรุนแรง แอมเนสตี้ฯ ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ผู้ชุมนุมบางส่วนยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเกิดขึ้นหลังจากที่ฝ่ายตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับผู้ชุมนุม

ผู้ให้สัมภาษณ์ต่อแอมเนสตี้ฯ เปิดเผยว่าความรุนแรงจากตำรวจมักจะเกิดขึ้นทั้งก่อนและระหว่างที่มีการจับกุมตัวผู้ประท้วง มีหลายกรณีที่ผู้ชุมนุมถูกทุบตีทำร้ายในที่คุมขังหรือก่อเหตุเข้าข่ายทารุณกรรมโดยอ้างว่าเป็นการ "ลงโทษ" ที่ผู้ถูกจับกุมโต้เถียงหรือไม่ให้ความร่วมมือ

มีกรณีที่ถูกข่มขู่คุกคามว่าจะทำให้มือหักถ้าหากป้องกันตัวเอง รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ใช้หัวเข่ากดทับหน้าอกผู้ถูกจับกุมจนเขาหายใจไม่ออก ผู้ถูกจับกุมที่ถูกทารุณกรรมด้วยวิธีนี้เล่าว่าเจ้าหน้าที่ทำไปเพื่อโต้ตอบแก้แค้นที่ผู้ชุมนุมใช้ปากกาเลเซอร์ในการชุมนุม ผู้ที่เล่าถึงเหตุการณ์นี้ต้องถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวันโดยมีอาการกระดูกหักและมีเลือดออกภายในร่างกาย

แอมเนสตี้ฯ สัมภาษณ์อีกกรณีหนึ่งที่เล่าว่าตำรวจขู่จะใช้ไฟฟ้าช็อตที่อวัยวะเพศของเขา เพียงเพราะเขาไม่ยอมเปิดล็อกโทรศัพท์ให้ตำรวจตรวจค้น ชายคนนี้เล่าอีกว่าในตอนที่เขาถูกควบคุมตัว เขาพบเห็นตำรวจบังคับให้เด็กชายคนหนึ่งเอาปากกาเลเซอร์ฉายเข้าตาตัวเองเป็นเวลา 20 วินาที ซึ่งฟังดูเป็นการแก้แค้นที่เด็กคนนั้นใช้ปากกาเลเซอร์ชี้ใส่สถานีตำรวจ

แอมเนสตี้ฯ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่ากลุ่มตำรวจปราบจลาจลที่เรียกว่าหน่วยยุทธการพิเศษ (STS) หรือที่เรียกว่า "แรพเตอร์" เป็นหน่วยที่ใช้ความรุนแรงอย่างเกินกว่าเหตุหนักข้อที่สุด แทบทุกคนที่ให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่าพวกเขาถูกทุบตีด้วยกระบองและถูกชกในช่วงที่มีการจับกุมแม้กระทั่งว่าพวกเขาจะไม่ได้ขัดขืน ผู้ประท้วงหญิงรายหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ค. ก่อนหน้าที่จะมีการยกระดับการชุมนุมว่าเธอถูกทุบตีจากด้านหลังในขณะที่เธอกำลังวิ่งหนีและเมื่อเธอล้มลงกับพื้นและถูกจับมัดแล้วก็ยังมีการชกต่อยเธอต่อ

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่ามีกรณีถึง 18 ใน 21 กรณีที่ถูกทำร้ายในช่วงที่มีการจับกุมต้องเข้าโรงพยาบาลจากอาการบาดเจ็บต่างๆ เช่นกระดูกซี่โครงหัก บางกรณีต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 5 วัน เบเคลินบอกว่าเรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของฝ่ายเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนและถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

นอกจากเรื่องการใช้กำลังแล้วยังมีหลายกรณีที่การจับกุมผู้คนโดยพลการไม่มีการดำเนินตามกระบวนการทางกฎหมายที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้มีการทารุณกรรมหรือละเมิดสิทธิผู้ต้องขัง เช่น ไม่อนุญาตให้ผู้ถูกจับกุมเข้าถึงทนายความหรือเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

อีกกรณีหนึ่งคือกรณีการตรวจค้นร่างกายที่ถึงแม้ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงทำการตรวจค้นร่างกายพลเมืองที่เป็นผู้หญิง แต่ก็มีการสั่งให้ถอดเสื้อหาออกหมดและมีการค้นร่างกายทั้งตัว และเมื่อพลเมืองหญิงคนดังกล่าวพูดโต้ตอบกับตำรวจเธอก็ถูกเหยียดและถูกเย้ยหยัน ซึ่งแอมเนสตี้ฯ ระบุว่าการกระทำเช่นนี้เป็นทั้งการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของพลเมืองและเป็นการละเมิดเกียรติยศศักดิศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล การกระทำการตรวจค้นร่างกายควรเป็นไปอย่างมืออาชีพ มีการล่วงล้ำร่างกายน้อยที่สุด และไม่ควรมีลักษณะการดูถูกเหยียดหยามบุคคลในขณะตรวจค้น

จะเรื่องราวเหล่านี้ทำให้ผู้แทนของแอมเนสตี้ฯ มองว่าตำรวจฮ่องกงไม่อยู่ในฐานะที่จะสามารถเป็นผู้สืบสวนสอบสวนและแก้ไขสถานการณ์ในฮ่องกงได้จึงได้เรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างเป็นกลางจากหน่วยงานที่เป็นอิสระ รวมถึงให้มีกระบวนการดำเนินคดี ให้ความเป็นธรรมและชดเชยต่อเหยื่อ

เรียบเรียงจาก

Hong Kong: Arbitrary arrests, brutal beatings and torture in police detention revealed, Amnesty, Nov. 19, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net