ครม.เศรษฐกิจ รับจีดีพีปี 62 โตต่ำกว่าเป้า เร่งออกมาตรการเพิ่ม

ครม.เศรษฐกิจ รับจีดีพีปี 62 โตต่ำกว่าเป้า เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ คาดออกมาตรการเพิ่ม เลขา สศช. ชี้ ชิมช้อปใช้พยุงภาคเอกชน แต่เศรษฐกิจโลกไม่น่าไว้วางใจ หนุนรัฐใช้ทุกเครื่องมือการเงิน-คลัง โฆษกกระทรวงการคลังระบุอนาคตการผลิตแนวโน้มขยายตัว ท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง คกก.นโยบายการเงิน คาดเศรษฐกิจไทยแนวโน้มตัวขยายตัวต่ำกว่าประเมิน หวั่นจ้างงานลดลง

ครม.เศรษฐกิจ รับจีดีพีปี 62 โตต่ำกว่าเป้า เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ

22 พ.ย. 2562 วันนี้ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 7/2562 กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าที่ประชุมได้มีการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดในไตรมาสที่ 3/2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 แม้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า แต่เศรษฐกิจไทยยังถือว่าปรับตัวขึ้นช้าอยู่ โดยปัจจัยสำคัญเป็นผลมาจาการเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.2562) เศรษฐกิจไทยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.6 จากเดิมที่ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8

กอบศักดิ์ ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 3 เนื่องจากประเมินว่ายังมีแรงกดดันหลายปัจจัย โดยในช่วงที่เหลือ 5 สัปดาห์ อาจจะต้องจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสหากิจที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า จะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 115,552 ล้านบาท

ส่วนในปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในรอบร้อยละ 2.7-3.7 ซึ่งรัฐบาลจะเน้นมาตรการ 5 ด้าน คือ การดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่กับการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ การขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 41.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 39.8 ล้านคนในปี 2562 และการสร้างความเชื่อมั่นลงทุนภาคเอกชน มีเป้าหมาย 3,012 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรายงานจากการกระทรวงคมนาคม และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับโครงการรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 ซึ่งเป็นงานระบบ วงเงิน 50,633 ล้านบาท จะให้มีการกู้เงินในรูปของดอลลาร์สหรัฐ แทนการกู้เงินในรูปของเงินบาท เนื่องจากประเมินว่าคุ้มค่ามากกว่า โดยจะต้องไปหารือร่วมกับรัฐบาลจีนอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะมีการกู้เงินจากแหล่งใด

 

เลขา สศช. ชี้ ชิมช้อปใช้พยุงภาคเอกชน หนุนรัฐใช้เครื่องมือการเงิน-คลังทุกมาตรการ

ก่อนหน้านี้วันที่ 18 พ.ย.62 ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการ ชิมช้อปใช้ ช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังไม่น่าไว้วางใจ จึงสนับสนุนให้ รัฐบาล ใช้เครื่องมือการเงิน การคลัง ทุกมาตรการออกมาใช้ ทั้งมาตรการลักษณะแจกเงินและ แนวคิดการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้เป็นเครื่องมือพยุงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะที่อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเร่งดำเนินการขับเคลื่อนชุดมาตรการ ด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย มาตรการ “ชิมช้อปใช้เฟส 1” มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพสำหรับสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง มาตรการพักหนี้กองทุนหมู่บ้านของ ธ.ก.ส. และมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งประกอบด้วย มาตรการ “ชิมช้อปใช้เฟส 2” และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และล่าสุดมาตรการ “ชิมช้อปใช้เฟส 3” เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2562 นี้ เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ ที่เริ่มในไตรมาส 3 สามารถส่งผลได้อย่างเต็มที่ในไตรมาส 4 โดยกระทรวงการคลังจะประเมินสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป

 

โฆษกกระทรวงการคลังคาดอนาคตการผลิตแนวโน้มขยายตัว ท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่ ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ส่วนของการลงทุนใหม่จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการของโรงงานเดิมพบว่า ในช่วง 1 มกราคม – 12 พฤศจิกายน 2562 มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในกิจการโรงงาน 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 36.3 สะท้อนว่าภาพรวมการผลิตในอนาคตมีแนวโน้มขยายตัว และแม้ว่าในช่วง 1 มกราคม – 12 พฤศจิกายน 2562 จะมีกิจการโรงงานจำนวน 1,391 โรงงานที่ยื่นขอปิดกิจการ  แต่การขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่มีถึง 2,889 โรงงาน มากกว่าปิดกิจการร้อยละ 107 และโรงงานที่เปิดอยู่เดิม ก็ยังมีการขยายกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวน 928 โรงงาน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของแรงงานถึงแม้ว่ามีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการจำนวน 35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่ 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีกจำนวน 84,704 คน

สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ายังประเทศไทยในไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.2 เร่งขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในด้านการบริโภคภาคเอกชน รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ที่หักรายได้พิเศษ) ในไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 สูงขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5  ซึ่งสะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้

สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง ในไตรมาส 4 ปี 2562 และปี 2563 ขณะเดียวกันก็มีเครื่องชี้ที่สะท้อนแนวโน้มในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย  อาทิ รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ที่หักรายได้พิเศษ) ล่าสุด ในเดือนตุลาคม 2562 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.0 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.9

 

คกก.นโยบายการเงิน คาดเศรษฐกิจไทยแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาด หวั่นจ้างงานลดลง

จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 7/2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ วิรไท สันติประภพ (ประธาน) เมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ คณิศ แสงสุพรรณ สุภัค ศิวะรักษิ สมชัย จิตสุชน ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงที่อาจจะชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย อาทิ (1) ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการ ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรม (2) ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ที่วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกอาจฟื้นตัว ช้ากว่าที่คาด

คณะกรรมการฯ กังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็วทั้งในหลายภาคเศรษฐกิจทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและผลกระทบจากภัยแล้งในปีหน้า จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานและ ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอย่างใกล้ชิด

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่า ขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตรา แลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วระดับหนึ่งแต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องติดตาม

กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีจากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

 

อ้างอิง:

https://www.voicetv.co.th/read/eipXPt4GS

https://workpointnews.com/2019/11/18/gdp2562/

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท