นศ.เสรีมวลชนเพื่อสังคม ม.สารคาม จัดวงถก 'ปัญหาป่าไม้ที่ดินกับความ(อ)ยุติธรรมในวาทกรรมการอนุรักษ์ป่า'

นักศึกษากลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม ม.มหาสารคาม จัดวงถก 'คนจนภายใต้กฎหมายของรัฐ : ปัญหาป่าไม้ที่ดินกับความ(อ)ยุติธรรมในวาทกรรมการอนุรักษ์ป่า' ชี้ปัญหาที่ดินที่ทำกิน พื้นที่ป่าทับที่ประชาชน

30 ต.ค. 2562 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้อง D-206 ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการภายใต้หัวข้อ “คนจนภายใต้กฎหมายของรัฐ : ปัญหาป่าไม้ที่ดินกับความ(อ)ยุติธรรมในวาทกรรมการอนุรักษ์ป่า” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.วนิดา พรมหล้า ธวัชชัย ป้องศรี สองอาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และวิทยา พุทธทรวง ผู้ปฏิบัติงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

ธวัชชัย ได้ชี้ให้เห็นว่า สืบเนื่องจากการกำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติเมื่อปี 2528 ที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 40%  ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็นป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ 25% ป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจ 15% แต่ในปัจจุบันจากการสำรวจเมื่อปี 2560 ปรากฏว่าเหลือพื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศเพียง 31.58% โดยมีเพียงภาคเหนือและภาคตะวันตกเท่านั้นที่มีพื้นที่ป่าไม้มากกว่า 40% และภาคอีสานมีพื้นที่ป่าไม้น้อยที่สุดที่ 14.94% อย่างไรก็ตามทุกภาคมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ยกเว้นภาคเหนือที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง ดังนั้นเพื่อรักษาพื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศให้คงอยู่ไม่น้อยกว่า 40% จึงนำมาสู่การประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในประเด็นพื้นที่ป่าทับที่ประชาชนอันเป็นปัญหาที่ดินที่ทำกินตามมา รวมทั้งนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ตอกย้ำปัญหาป่าไม้ที่ดินยิ่งขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงวาทกรรมการอนุรักษ์ป่าแบบเขียวจ๋าที่คนกับป่าไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้

วนิดา กล่าวถึงประเด็นเรื่องกฎหมายที่ดินที่เป็นเขตป่าทับซ้อนป่าสงวน โดยกล่าวว่าให้พิจารณาพื้นที่ป่าไม้กับที่ดินอย่างเป็นองค์รวมว่าป่าไม่ควรแยกออกจากที่ดินและที่ดินก็ไม่ควรแยกออกจากป่าเช่นกัน ด้วยเหตุที่ปัจจุบันการมองโดยแยกที่ดินและป่าไม้ออกจากกันจึงทำให้เกิดปัญหาการประกาศเขตป่าไม้ในพื้นที่ทำกินของประชาชน ซึ่งในกรณีของปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในต้นไม้ (ป่าไม้) เพราะต้นไม้ที่เกิดบนพื้นดินที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ในต้นไม้(ป่าไม้)แตกต่างกันโดยสิทธิในที่ดินมีตั้งแต่กรรมสิทธิในที่ดิน เช่น โฉนดสิทธิทำกินในที่ดินของรัฐ อย่างกรณีที่ดิน ส.ป.ก. รวมไปถึงที่ดินของรัฐหรือที่ดินสาธารณะประโยชน์ ซึ่งทำให้ปัญหาที่ดินทำกินของชาวกับปัญหาป่าไม้มีความสลับซับซ้อน

นอกจากนั้น วิทยา ซึ่งเป็น NGO ที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาที่ทำกินกรณีปัญหาสวนป่าคอนสารชุมชนบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ ได้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อปี 2521 รัฐบาลได้มีการประกาศเขตให้สัมปทานแก่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เนื้อที่รวมกว่า 4,000 ไร่ เพื่อใช้ในการปลูกไม้เศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถดำเนินการปลูกได้ทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของประชาชนที่ใช้ประโยชน์มาก่อน ต่อมาหลังการรัฐประหารปี 2557 ในยุค คสช. มีการประกาศใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าซึ่งนำมาสู่การไล่ที่ของประชาชน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องขอคืนสิทธิในที่ดินทำกิน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และมีการดำเนินคดีกับประชาชนชุมชนบ่อแก้ว 31 ราย  ในปัจจุบันมีการตรวจสอบเช็คสภาพปัญหาต่างๆ จนนำไปสู่การลงพื้นที่ของปลัดกระทรวงทรัพยากร และมีคำสั่งให้มีการจัดการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้มีการจัดประชุมโดยมีการชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาคือให้ประสานงานติดต่อ คสช. เข้ามาแก้ไขปัญหา และในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะได้พื้นที่ในระยะเวลาไม่นาน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหากได้มา(พื้นที่) จะได้มาในรูปแบบไหน เช่น ในรูปแบบเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือ ได้แค่สิทธิทำกินแต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ถือครอง (โฉนดที่ดิน)

ต่อคำถามที่ว่า ในประเด็นของชุมชนบ่อแก้ว การทำเกษตรอินทรีย์นั้นมีการใช้ต้นทุนที่มากพอสมควรและตลาดในประเทศไทยก็ถือว่าไม่ได้รองรับและต้องใช้เวลานาน ด้วยเหตุเหล่านี้พวกเขาจะสามารถทำได้จริงหรือไม่นั้น ผู้ปฏิบัติงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ตอบว่า ในประเด็นชุมชนบ่อแก้วนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการจัดการรูปแบบการเกษตรของประชาชนเป็นอย่างไร (โมเดล) โดยมีแนวโน้มว่าจะสามารถทำได้จริง (ทำเกษตรอินทรีย์) ตามแบบฉบับของชุมชนบ่อแก้วถ้าหากประชาชนมีพื้นที่ในการจัดทำ

ในช่วงหนึ่ง วนิดา กล่าวเสริมในแง่ของสิทธิในที่ดินทำกินว่าต้องชัดเจน จึงจะมีสิทธิในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์หรือก็คือโฉนดที่ดิน หากชัดเจนแล้วก็ต้องพิจารณาการนำไปใช้ประโยชน์ของที่ดินนั้น ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นและแข็งแรงพอที่จะออกให้เป็นกรรมสิทธิ์ถือครอง

วนิดา กล่าวเพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงและแก้ไขปัญหาว่า เราควรที่จะทำความเข้าใจบทบาทของป่าให้ถูกต้องไม่ใช่มองว่าป่าคือที่ดินเท่านั้นป่าไม่ใช่เรื่องของที่ดิน และในประเด็นของสิทธิในป่าต้องให้มีความชัดเจน แยกออกมาเป็นหลายระดับก็ได้เพื่อให้สอดคล้องกับความซับซ้อนตามกรอบบริบทของสังคมไทย ถัดมาคือการจัดการป่านั้น เราไม่ควรมองให้เป็นเชิงเดี่ยว เพราะป่าไม้เชื่อมโยงกับหลายสิ่งหลายอย่าง กล่าวคือป่าไม้นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นสิทธิในป่าก็จะต้องมีความหลากหลายและมีความชัดเจนในกรอบแห่งสิทธิเพื่อจะทำให้คนที่อยู่ในป่านั้นมีความมั่นใจและสามารถดูแลป่าได้ ที่สำคัญคือการปลูกฝังสร้างแรงจูงใจ เช่น ทำให้มีรายได้ กับการรักษาป่าก็สามารถได้ประโยชน์จากป่า และควรจะมีการปรับแก้กฎหมายที่สร้างข้อจำกัดในการตัดต้นไม้เพื่อไปใช้ประโยชน์ต่างๆ บนเขตพื้นที่กรรมสิทธิ์ของตนเอง และประเด็นสุดท้าย คือ ต้องมีการสร้างศักยภาพ กล่าวคือคนในสังคมทุกหมู่เหล่าจะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อย่างมีองค์ความรู้และสามารถเข้าใจได้

ธวัชชัย เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยกล่าวว่า หากต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าจะต้องให้ประชาชนสามรถตัดต้นไม้ได้ กล่าวคือ ป่าจะคงอยู่หรือเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนได้ประโยชน์จากป่าที่ตนเองปลูกหรือดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้หวงห้ามต่างๆที่มีมูลค่าสูง เช่น ไม้สัก ไม้ยางนา ไม้พยุง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าพืชระยะสั้นที่มักมีราคาผันผวน เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง นอกจากนั้นการมองพื้นที่ป่าต้องรวมทั้งพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น พื้นที่ว่างบริเวณบ้าน หัวไร่ปลายนา อันจะทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่ารวมกันทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 40% ตามเป้าหมายของนโยบายป่าไม้แห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท