‘คณะสงฆ์ไทยในมิติมานุษยวิทยากฎหมาย’ การแข็งขืนท่ามกลางความเงียบ

คณะสงฆ์ไม่เคยแยกขาดจากการเมือง ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ไทยล้วนสัมพันธ์กับกฎอันหลากหลายและมีพลวัต ทำให้เราเห็นการแข็งขืนต่อรัฐจนกระทั่งกลายเป็นความเงียบเมื่อคณะสงฆ์ถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ แต่ก็ยังมีการแข็งขืนต่อรัฐท่ามกลางความเงียบ

ประกีรติ สัตสุต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • มานุษยวิทยากฎหมายเป็นการศึกษากฎหมายในฐานะสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรม ซึ่งตัวมันเองเป็นทั้งผลผลิตของวัฒนธรรมและเป็นสิ่งที่ทำการปรับวัฒนธรรมไปด้วยในตัว
  • คณะสงฆ์ไทยมีการใช้กฎหมายในการต่อสู้ทางการเมืองของตนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • ภายหลัง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เสียงของคณะสงฆ์ในสังคมก็ค่อยๆ เงียบลง อย่างไรก็ตาม ในความเงียบนั้นก็ยังมีการแข็งขืนต่อรัฐในเรื่องความชอบธรรมในการปกครองสงฆ์

คณะสงฆ์และรัฐไทย มีความสัมพันธ์กันมาเนิ่นนาน ทั้งร่วมมือและแข็งขืน อีกทั้งยังมีพัฒนาการที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากยุคที่เคยเป็นผู้นำทางการเมือง ต่อต้านรัฐส่วนกลาง กระทั่งถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐไทยก็กลับมีพลวัตอยู่เสมอ ซึ่งการมองผ่านกรอบมานุษยวิทยากฎหมายอาจช่วยให้เห็นแง่มุมอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดโครงการสัมมนาหัวข้อวิทยานิพนธ์นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ปีการศึกษา 2562 เรื่อง ‘ข่ายใย-กายา-วิญญาณ-วัตถุธรรม’ โดยส่วนหนึ่งของงานครั้งนี้มีการบรรยายพิเศษของประกีรติ สัตสุต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘คณะสงฆ์ไทยในมิติมานุษยวิทยากฎหมาย’

มานุษยวิทยากฎหมายคือ?

ประกีรติอธิบายเบื้องต้นว่า มานุษยวิทยากฎหมายเป็นสาขาวิชาที่เริ่มต้นมานานมากแล้วและมีการผลิตงานออกมาเรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยมีความโด่งดังและอยู่ในกระแสแฟชั่นเท่าไหร่นัก แต่มันเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างนักกฎหมายกับนักมานุษยวิทยา เนื่องจากกฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่นักมานุษยวิทยาอาร์มแชร์สนใจในการทำความเข้าใจสังคมอื่น กล่าวคือในช่วงที่มานุษยวิทยาวิวัฒนาการยังมีอิทธิพลอยู่มาก กฎหมายเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่บอกว่าสังคมนั้นมีความศิวิไลซ์มากแค่ไหน หรือคุณเป็นคนป่ามากน้อยแค่ไหน สังคมที่มีกฎหมายถือเป็นสังคมที่มีความเจริญที่คนที่มีความรู้ผลิตขึ้นมาเพื่อป้องกันความขัดแย้ง

“ในขณะเดียวกันตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาความคิดนี้เริ่มหายไป เพราะมานุษยวิทยาเริ่มทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายมันจำกัดมาก มันมีสิ่งที่ทำงานคล้ายกฎหมาย แต่ไม่ใช่กฎหมาย ตัวอย่างเช่นบรรทัดฐานทางสังคมที่ทำการควบคุมจำกัดประสบการณ์ ความคิดต่างๆ หรือว่าในกรณีของพระคือพระวินัย มันมีลักษณะคล้ายกับกฎหมาย”

มานุษยวิทยากฎหมายจึงเป็นการศึกษากฎหมายในฐานะสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรม การจะเข้าใจวัฒนธรรมว่าทำงานอย่างไรจำเป็นต้องเข้าใจกฎหมาย และเมื่อทำความเข้าใจกฎหมายก็จำเป็นต้องมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ไม่ใช่สิ่งที่แยกห่างไป แต่มันเป็นทั้งผลผลิตและเป็นสิ่งที่ทำการปรับวัฒนธรรมไปด้วยในตัว

ประกีรติยกตัวอย่างกฎหมายหมิ่นศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถ้ามองตามหลักกฎหมายสมัยใหม่จะพบว่ามันขัดแย้งกันมากกับหลักเสรีภาพในการแสดงออก แต่ขณะเดียวกันกฎหมายลักษณะนี้กลับมีอยู่อย่างแพร่หลายในทั่วโลก แม้กระทั่งในประเทศที่บอกว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญมาก แล้วบางสิ่งที่ไม่ใช่กฎหมายก็มีการทำงานของมันที่ทำให้เกิดกฎหมายก็ได้และในทางกลับกัน แปลว่ากฎหมายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและเป็นสิ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวมันเองด้วย

“รูปที่เราเห็นเป็นศาลชารีอะห์ในซีเรียตอนเหนือ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมากในการเปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อกฎหมาย เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ในสมัยก่อนจะไม่ถูกมองว่าเป็นศาล ประเทศในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นประเทศแทนซาเนีย บอตสวานา ไนจีเรีย ในช่วงอาณานิคม ทางเจ้าอาณานิคมจะอนุญาตให้บุคคลท้องถิ่นมีการปกครองโดยใช้กฎระเบียบของตนเองขึ้นมา แล้วก็มีการออกกฎระเบียบที่เป็นของผู้ปกครองด้วย มีลักษณะซ้อน 2 ชั้น เขาเชื่อว่าถ้าเขาสามารถเอาคนท้องถิ่นเข้ามาเป็นพวกแล้วทำหน้าที่ดูแลจะสามารถรักษาความสงบไว้ได้ ในหลายๆ กรณีนักมานุษยวิทยาพบว่ากฎหมายจารีตที่พวกชั้นนำเหล่านี้ใช้ แล้วอ้างว่าเป็นของที่ใช้มายาวนาน จริงๆ แล้ว เป็นสิ่งที่เพิ่งสร้างมาในช่วงเวลานั้น ขณะเดียวกันก็มีหลายกลุ่มที่ใช้กฎของตัวเองควบคู่ไปกับกฎของอาณานิคม”

ในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา หนึ่งในสิ่งที่นักมานุษยวิทยากฎหมายสนใจก็คือความขัดแย้งถูกจัดการและคลี่คลายอย่างไรบ้าง มีกลไกอะไรบ้างในการจัดการ ตอนแรกไม่ได้มองว่ามันมีกฎเกณฑ์ที่ถูกตราเอาไว้ แต่มองในเชิงว่าน่าจะมีกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ไม่ใช่กฎหมายเป็นตัวจัดการเรื่องนี้ แต่ภายหลังก็หันมาสนใจกฎเกณฑ์เหล่านี้ด้วย เพราะกฎเกณฑ์ไม่ใช่สิ่งของที่ตายตัว มีความเปลี่ยนแปลงไปตลอด เนื่องจากเมื่อมีเหตุการณ์ขัดแย้งขึ้นมาและไปศึกษากระบวนการ มักจะพบว่าความขัดแย้งนั้นมีผลในการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ด้วยเช่นกัน

งานของมานุษยวิทยากฎหมายมีความหลากหลายมาก งานที่เห็นค่อนข้างบ่อยคืองานที่ดูว่ากระบวนการยุติธรรมมีลักษณะการต่อสู้กันอย่างไร ภาษาในกฎหมายเป็นอย่างไร เช่นนักมานุษยวิทยาจะเข้าไปในห้องพิจารณาเพื่อฟังผู้พิพากษาหรือลูกขุนตัดสินใจอย่างไร ใช้น้ำเสียงอย่างไร และทำการวิเคราะห์อุดมการณ์ทางภาษาของกระบวนการยุติธรรม ดูกระบวนการจัดการความขัดแย้งทางเลือกที่มีการจัดห้องพิเศษในความขัดแย้งในคดีแพ่งให้คู่กรณีมาคุยและตกลงกันโดยไม่ต้องขึ้นศาล แต่นักมานุษยวิทยากฎหมายพบว่า กระบวนการจัดการความขัดแย้งมักจะให้ประโยชน์กับผู้ที่มีทรัพยากรมากกว่า ซึ่งเป็นงานที่ได้รับอิทธิพลจากมาร์กซิสต์พอสมควร

คณะสงฆ์และกฎหมาย

“เวลาคนพูดเรื่องศาสนาปฏิเสธไม่ได้ที่จะพูดเรื่องกฎหมาย อย่างในพม่าจะมีกฎหมายกีดกัน 4 ฉบับที่ออกมาจำกัดชาวมุสลิมหรือว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคริสต์อีวานเจลิคัล (evangelical)ในแอฟริกาที่ต้องการออกกฎหมายแบนคนรักร่วมเพศ กฎหมายมักจะมากับศาสนาเสมอ แต่งานที่ศึกษาศาสนาผ่านมุมมองกฎหมายกลับมีน้อย มันไม่มีพื้นที่ที่ศาสนากับกฎหมายจะทำงานด้วยกันมากนัก”

ประกีรติ กล่าวว่า ถ้าเราดูการต่อสู้ของคณะสงฆ์ในสังคมไทยจะพบว่าคณะสงฆ์หันไปใช้กฎหมายในการต่อสู้ทางการเมืองของตนเอง ในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ตั้งแต่ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน เราไม่เห็นการต่อสู้โดยใช้กฎหมายมากเท่านี้มาก่อน พัฒนาการของคณะสงฆ์ในการต่อสู้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญและเป้าหมายอยู่ที่กฎหมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีพระอุลตร้าแมนที่มีกลุ่มพลังแผ่นดิน กลุ่มฆราวาสที่เป็นแขนขาให้กับคณะสงฆ์ส่วนกลางในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก

ขณะที่คณะสงฆ์ยังต้องอยู่ภายใต้กฎอันหลากหลาย ทั้งกฎหมายบ้านเมือง รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมพระโดยตรง และยังมีวินัยสงฆ์อีก 227 ข้อซึ่งมีพลวัตมหาศาลและก็มีตรรกะกระบวนการที่ใช้ในการจัดการแตกต่างจากกฎอื่นๆ

“ในมุมมองของมานุษยวิทยากฎหมายเราสามารถศึกษาคณะสงฆ์ผ่านแนวคิด Legal pluralism คือมองว่าเรามีกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ มี พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ แล้วก็มีพระวินัย ดูว่าจุดที่เชื่อมโยงต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะเป็นอย่างไร ตัวอย่างหนึ่งก็คือกรณีรัฐธรรมนูญ

“ตั้งแต่ปี  2540 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญของไทยเริ่มมีการเขียนถึงพุทธศาสนาอย่างมีนัยสำคัญ เราพบว่าทุกรัฐธรรมนูญที่ออกมา มีข้อความเกี่ยวกับศาสนาที่เปลี่ยนแปลงไปทุกครั้งและมีการเพิ่มพื้นที่ให้กับพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้สวนทางกับความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐอย่างมาก เพราะขณะที่พุทธศาสนาได้รับพื้นที่ในรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คณะสงฆ์กลับตกเป็นเป้าของการแทรกแซงจากรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน”

อีกประการหนึ่ง การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์คือการผลักดันให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าการผลักดันเรื่องนี้ค้านกับข้อเท็จจริงของโลกภายนอก แต่มีการค้นพบว่าในภาพรวมแล้วรัฐธรรมนูญทั่วโลกประมาณ 187 ประเทศมีการกำหนดศาสนาให้เป็นศาสนาของรัฐ

“ถ้าไปดูความคิด Max Weber ที่บอกว่าอิทธิพลของศาสนาในโลกลดลงไปทุกวัน มันกลายเป็นเรื่องของปัจเจกไปแล้ว ศาสนาไม่ใช่เรื่องของสาธารณะอีกแล้ว เราก็พบว่าไม่ใช่ความจริงด้วยเช่นกัน ในหลายๆ ประเทศองค์กรทางศาสนาเริ่มหมดอำนาจลงไป แต่คนเปลี่ยนคำว่าศาสนาเป็นเรื่องจิตวิญญาณ และในบางประเทศองค์กรศาสนากลับเข้มแข็งขึ้นด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่นอเมริกา หรือในไทยจะพบว่าคณะสงฆ์ส่วนกลางเริ่มหมดความสำคัญทางการเมืองไปและคนก็ไม่ได้มองข้างของคณะสงฆ์ศักดิ์สิทธิ์เหมือนก่อน แต่ความศรัทธาของพระยังไม่หาย ถ้าไปดูงานวิจัยเกี่ยวกับเงินของวัด วัดมีเงินมหาศาล เงินไม่เคยหายเลย เราต้องทำความเข้าใจว่าศรัทธาไม่ได้หาย แต่มันเปลี่ยนรูปแบบ”

แฟ้มภาพ ประชาไท

จากการแข็งขืนเป็นความเงียบสู่ความแข็งขืนในความเงียบ

“การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในไทยไม่ใช่เพิ่งมีขึ้น แต่มีมานานแล้ว พระกับการเมืองไม่ได้แบ่งแยกกัน ในอดีตพระสายเถรวาทกลับมีบทบาทในการเป็นผู้นำ ทางการเมืออย่างหลวงพ่อยาคู ขี้หอมที่ลาวหรือตอนที่นายพลอองซานต้องการปลดแอก พระก็ออกมาช่วยอย่างมาก หรือในไทยก่อนหน้านั้นก็มีกรณีเจ้าฝางที่ขึ้นมาหลังอยุธยาล่ม หรืออย่างขรัวโต ครูบาศรีวิชัย มันมีตัวอย่างที่ชัดเจน มากว่าพระมีส่วนร่วมทางการเมืองมาโดยตลอด

“แต่ในช่วงหลังจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นไป เราก็เห็นความเงียบที่เข้ามาปกคลุมคณะสงฆ์ เราไม่เห็นความเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์อย่างชัดเจน สาเหตุหนึ่งก็เพราะพระสงฆ์เริ่มที่จะหมดแรงลงไปและถูกผนวกเข้าไปเป็นของกลไกรัฐอย่างแท้จริงกลายเป็นเครื่องมือของนโยบายความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพระธรรมจาริกที่ส่งเข้าไปในพื้นที่สีแดงเพื่อทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสงบ ให้พระเอาการพัฒนาไปให้ด้วยความคิดว่าถ้ากำจัดความยากจนได้ คนจะไม่เป็นคอมมิวนิสต์ พระกลุ่มนี้เป็นพระที่มีคุณูปการมหาศาลในการสร้างเครือข่าย สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์หลังปี 2540”

ประกีรติอธิบายเพิ่มเติมว่า ในอดีต คณะสงฆ์ความหลากหลายมาก แต่สิ่งเหล่านี้หายไปหลังจากเกิดพระสายธรรมยุตินิกายขึ้นมา พระกลุ่มเดิมถูกเรียกว่ามหานิกาย และในยุครัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีการสร้าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ขึ้นมา โดยพยายามให้พระเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่ใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าที่คณะสงฆ์จะตกอยู่ภายใต้อำนาจส่วนกลางอย่างชัดเจน ทว่า

“คณะสงฆ์ยังมีจิตสำนึกในการแข็งขืนการถูกปกครองภายใต้อำนาจรัฐอยู่ จิตสำนึกนี้ยังไม่ได้หายไปและปรากฏขึ้นมา แต่ไม่ได้ปรากฏขึ้นในรูปอย่างที่เราคิด เราพบว่าข้อเรียกร้องของคณะสงฆ์ตั้งแต่ปี 2540 แม้จะเป็นข้อเรียกร้องให้ตัวเองมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการสาธารณะก็คือการขอกระทรวงพุทธศาสนาแต่ก็ได้มาเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนา ขอให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแต่ไม่ได้ แต่ถ้าเราไปสัมภาษณ์โดยเฉพาะพระมหานิกายจะพบว่าเขามองการควบคุมของรัฐว่าเป็นการแทรกแซงมาโดยตลอด พระมหานิกายไม่เชื่อว่ารัฐมีความชอบธรรมในการปกครองคณะสงฆ์ แต่คณะสงฆ์สมควรมีสิทธิ์ในการเลือกสังฆราชด้วยตนเอง ควรมีสิทธิ์ดูแลปกครองตนเอง และเป็นตัวแทนที่เข้าไปอยู่ในกระบวนการรัฐสภาในที่ที่เหมาะสมและเท่าเทียม อันนี้เป็นจิตสำนึกทางการเมืองและกฎหมายที่สำคัญมาก เพราะเขามองว่ากฎหมายของรัฐไม่ใช่กฎหมายที่เขาต้องยอมเพราะเขาให้ความสำคัญกับกฎอื่นมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม พระในมหานิกายก็มีความหลากหลาย ด้านหนึ่งก็แข็งขืน ด้านนึงก็ชื่นชอบในเรื่องของสมณศักดิ์ นิตยภัต และสิ่งต่างๆ ที่ทางรัฐจัดให้ ในสายธรรมยุติก็เช่นกัน มีธรรมยุติที่ใกล้ชิดกับส่วนกลางมาก แล้วก็มีธรรมยุตที่เคลื่อนไหวกับมหานิกาย ประกีรติ กล่าวว่าศูนย์พิทักษ์พุทธศาสนาแห่งประเทศไทยตั้งอยู่ในวัดของสายธรรมยุติก่อตั้งโดยพระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) เป็นผู้ยิ่งใหญ่อันดับ 2 ของวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กล่าวคือมันมีการเมืองภายในอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท