Skip to main content
sharethis

ออกหมายจับแล้วเจ้าของอาคารถล่มที่ภูเก็ตคนงานดับ 7

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2562 ศาลจังหวัดภูเก็ตออกหมายจับแล้วเจ้าของอาคารก่อสร้าง ไม่มาพบพนักงานสอบสวน สภ.ถลาง และเชื่อได้ว่าจะหลบหนี หลังเกิดเหตุอาคารถล่มทับคนงานดับ 7 เจ็บ 2 เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่กระทรวงแรงงานเร่งเยียวยาผู้ประสบเหตุทั้ง 9 ราย

กรณีอาคารชั้นเดียวอยู่ระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ถล่มทับคนงานเสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 2 ราย เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเทศบาลตำบลศรีสุนทรได้สั่งระงับอนุญาตก่อสร้างก่อนแล้วเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังมีการฝ่าฝืนดำเนินการต่อ หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวน สภ.ถลาง เร่งรวบรวมพยานหลักฐานพบว่าการก่อสร้างอาคารนั้นไม่ใช้มาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรมจนเป็นเหตุให้พื้นล่างทรุดตัว เสาไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้ จึงมีการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับกรรมการผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารดังกล่าวใน 2 ข้อหา คือ กระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตและเป็นอันตรายสาหัส รวมถึง ผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการสั่งระงับการก่อสร้าง

ขณะที่เจ้าของอาคารดังกล่าวไม่มาให้ปากคำหรือติดต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด อีกทั้งหลังเกิดเหตุไม่ได้ให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากนี้ สำนักงานปิดทำการ จึงเป็นไปได้ว่าจะมีพฤติกรรมหลบหนี พนักงานสอบสวน สภ.ถลาง จึงยื่นขออำนาจศาลจังหวัดภูเก็ตและอนุมัติหมายจับเรียบร้อยแล้วตามหมายจับเลขที่ 354 /2562 ลงวันที่ 22 พ.ย. ข้อหากระทำความผิดฐาน การกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายสาหัส และได้หรือน่าจะกระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันเชื่อว่าจะหลบหนี ตามที่พนักงานสอบสวน สภ.ถลาง ยื่นขอ

ส่วนการเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ นายวรรณรัตน์ ศรีสุกใส ผู้อำนวยการกองตรวจความปลอดภัยแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะเลขานุการคณะทำงานการเกิดอุบัติภัยหรือประสบอันตรายจากการทำงานกรณีร้ายแรงกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตกำลังเร่งตรวจสอบสิทธิต่าง ๆ เกี่ยวกับการเยียวยา ทราบว่ามีนายจ้างประมาณ 3 ราย ซึ่งจะเรียกนายจ้างเข้ามาสอบสวนตามระเบียบเพื่อดำเนินการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประสบเหตุทั้ง 9 ราย ตามสิทธิประกันสังคม โดยผู้เสียชีวิตแต่ละรายจะได้เงินชดเชยประมาณ 700,000 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บจะมีการดูแลค่ารักษาพยาบาล และชดเชยในส่วนของการหยุดงาน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/11/2562

กสร. แนะ 'นายจ้าง-ลูกจ้าง' ยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน ป้องกันข้อพิพาทโบนัสปลายปี พร้อมย้ำให้เจรจากันด้วยเหตุผล-คำนึงถึงสิทธิตามกฎหมายแรงงาน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่าในช่วงใกล้สิ้นปีจนถึงต้นปีเป็นช่วงที่สถานประกอบกิจการส่วนใหญ่จะพิจารณาจ่ายเงินรางวัลพิเศษเพื่อตอบแทนการทำงานในรอบปีที่ ผ่านมาหรือโบนัสให้แก่ลูกจ้าง ทั้งนี้ การจ่ายเงินโบนัสของแต่ละสถานประกอบกิจการจะขึ้นอยู่กับผลประกอบกิจการของแต่ละแห่ง และขึ้นอยู่กับผลงาน ความประพฤติของลูกจ้างด้วย ซึ่งทำให้ลูกจ้างได้รับโบนัสแตกต่างกันไปและ อาจไม่เท่ากันในแต่ละปี จึงจำเป็นจะต้องใช้หลักแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อลดข้อขัดแย้ง และป้องกันมิให้เกิดข้อพิพาทแรงงานได้

นายอภิญญา กล่าวต่อไปว่า กสร. จึงขอฝากไปยังนายจ้าง ลูกจ้างว่า ให้ยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเจรจากันด้วยเหตุผล นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผลประกอบกิจการและทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมา และขอให้ทั้งสองฝ่ายเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน และขอย้ำให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศ เข้าไปแนะนำ ให้ความรู้ แก่นายจ้าง ลูกจ้างเกี่ยวกับระบบแรงงานสัมพันธ์ และเฝ้าระวังสถานการณ์ หากพบว่ามีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจและช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 22/11/2562 

กฎหมายห้ามทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง บังคับใช้แล้วตั้งแต่ 21 พ.ย. 2562

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2562 ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ เรื่องจำนวนครั้งในการติดตามทวงหนี้ ว่าเจ้าหนี้ไม่ควรทวงหนี้เกินวันละครั้ง มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษามาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา

จากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ถามหนี้ เรื่อง จำนวนครั้งในการติดต่อทวงหนี้ อาศัยความในมาตรา 9(3) และมาตรา 16(1) แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ โดยผู้ทวงถามหนี้ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลที่เป็นลูกหนี้ได้ระบุไว้ว่า เพื่อการทวงถามหนี้ได้ทราบการทวงถามหนี้ ไม่เกินหนึ่งครั้งต่อหนึ่งวัน

โดยประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งประกาศไว้เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2562 ทำให้วานนี้ (21 พ.ย.) คือวันแรกของการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้

ทั้งนี้ หนี้ที่อยู่ในเกณฑ์ ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 คือ หนี้สินเชื่อ, หนี้การพนัน, ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย, และหนี้จากการค้า และข้อห้ามทวงหนี้ เช่น ห้ามทวงกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้, ห้ามระบุเรื่องทวงถามหนี้บนซองจดหมายและเอกสารที่ส่งถึงลูกหนี้, ห้ามข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรง, ห้ามใช้วาจาดูหมิ่นลูกหนี้, ห้ามทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐ, ห้ามทำให้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดี หรืออายัดเงินเดือน

ส่วนเวลาในการทวงหนี้ได้คือ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 - 20.00 น. และวันหยุดราชการ 08.00 - 18.00 น. ถ้าติดต่อเวลานี้ไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรรมการกำหนด

โดยฝ่ายผู้ทวงหนี้ถ้าฝ่าฝืน คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นสามารถสั่งระงับได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: VoiceTV, 22/11/2562 

คสรท.หวังบอร์ดค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ใช้แรงงาน

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) หรือบอร์ดไตรภาคี ถูกเลื่อนมาหลายครั้งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมบอร์ดไตรภาคีครั้งล่าสุดมีมติเลื่อนการเคาะค่าจ้างเป็นวันที่ 6 ธันวาคม 2562 โดยอ้างว่าต้องการพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน เป็นห่วงเรื่องราคาสินค้า สถานการณ์ปิดกิจการเลิกจ้าง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเหตุผลดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการปิดกิจการของโรงงานมาจากการขาดทุนสะสมเป็นระยะเวลานาน ไม่ใช่การปรับขึ้นค่าแรงแล้วทำให้ธุรกิจมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม หวังว่าการประชุมกำหนดค่าจ้างที่ถูกเลื่อนไปเป็นเดือนหน้านั้น สุดท้ายจะมีมติปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่หากยังไม่ได้ข้อสรุปและมีมติเลื่อนอีก คสรท.ต้องพิจารณาตัวเองถึงความล้มเหลวในการขับเคลื่อนเรื่องนี้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/11/2562 

กรมการจัดหางาน เปิดรับแรงงานไทยไปทำงานเกาหลีประเภทกิจการ งานเกษตร/ปศุสัตว์ มีโควตาผู้สอบผ่าน 300 คน สมัครด่วนระหว่างวันที่ 23-24 พ.ย. 2562

กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 8 เพื่อไปทำงานเกาหลีในประเภทกิจการ งานเกษตร/ปศุสัตว์ โดยมีโควตาผู้สอบผ่าน 300 คน ระหว่างวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2562

ผู้สนใจยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 1 หรือสมัครผ่านทาง toea.doe.go.th โดยไม่ต้องใส่ www. การไปทำงานโดยรัฐจัดส่ง ลดความเสี่ยงถูกหลอกเสียเงินฟรี

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานของไทยและกระทรวงแรงงานและการจ้างงานสาธารณรัฐเกาหลี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System for Foreign Workers : EPS)

โดยกรมการจัดหางาน ทำหน้าที่ในการรับสมัครคัดเลือก และจัดส่งคนหางานไปทำงาน ซึ่งคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต้องผ่านการทดสอบภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) และทักษะการทำงานตามที่ทางการเกาหลีกำหนด

การรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ในครั้งนี้รับสมัครในประเภทกิจการ งานเกษตร/ปศุสัตว์ มีโควตาผู้สอบผ่าน 300 คน รับเฉพาะเพศชาย อายุ 18 – 39 ปีบริบูรณ์ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สายตาไม่บอดสี ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติกระทำผิดทางอาญาหรือเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคง

เป็นบุคคลซึ่งไม่ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นบุคคลซึ่งไม่มีประวัติการถูกเนรเทศ หรือเคยถูกปฏิเสธการเข้าสาธารณรัฐเกาหลี หรือเคยกระทำผิดกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี เป็นบุคคลซึ่งไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิด ไม่เคยพำนักอาศัยในสาธารณรัฐเกาหลีด้วยวีซ่า E-9 หรือ E-10 หรือ วีซ่า E-9 และ E-10 รวมกัน 5 ปี หรือมากกว่า 5 ปีขึ้นไป

หลักฐานการสมัคร ได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ต้องระบุวันเดือนปีเกิดให้ครบถ้วน จำนวน 2 ฉบับ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ต้องชัดเจนและระบุวัน เดือน ปีเกิดให้ครบถ้วน จำนวน 2 ฉบับ รูปถ่ายสีขนาด 3.5 x 4.5 เซนติเมตร ฉากด้านหลังสีขาวและไม่สวมเสื้อสีขาว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 3 ใบ

ผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ตั้งแต่วันที่ 23 – 24 พ.ย. 2562 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 1 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง แขวงดินแดง กรุงเทพมหานครและลงทะเบียนเพื่อแจ้งความประสงค์ในการสมัครงาน เพื่อเลือกวันที่ที่จะสมัครได้ที่ toea.doe.go.th โดยไม่ต้องใส่ www. ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันปิดรับสมัคร วันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 เวลา 12.00 น.

ผู้ที่สนใจให้รีบสมัครด้วยตนเองพร้อมทั้งหลักฐานการสมัครภายในวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวข้างต้น และลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางหน้าเว็บไซด์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0-2245-9429 0-2245-6716 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: คมชัดลึก, 22/11/2562 

10 เดือนแรกปี 2562 โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-อุปกรณ์ไฟฟ้า-กล้องถ่ายรูป จ.สระบุรี ปิดกิจการ-เลิกจ้าง 2 แห่ง ใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว 9 แห่ง กระทบแรงงาน 2,428 คน

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่านางสาวรัตนา ทองกลับ แรงงานจังหวัดสระบุรีเปิดเผยว่า ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศซบเซา ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้า และการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการในจังหวัดสระบุรีจำเป็นต้องลดกำลังการผลิต ลดชั่วโมงการทำงาน บางรายต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่มีบางรายได้ประกาศปิดกิจการ และการเลิกจ้างไปแล้ว โดยสถานการณ์แรงงานภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดสระบุรีช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่า อุตสาหกรรมด้านการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และกล้องถ่ายรูปได้รับผลกระทบ และประกาศหยุดกิจการ และเลิกจ้างไปแล้ว 2 แห่ง รวมพนักงาน 92 คน และมีการประกาศหยุดกิจการชั่วคราว โดยใช้มาตรา 75 จำนวน 9 แห่ง รวมพนักงาน 2,428 คน เนื่องจากยอดสั่งซื้อลดลง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดขนาดธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

นางรัตนากล่าวว่า สำหรับการลดชั่วโมงการทำงาน ลดวันทำงานของลูกจ้าง จนมาถึงขั้นปิดกิจการและการเลิกจ้างได้ทยอยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ช่วงแรกเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กมีพนักงานไม่มาก โรงงานแรกที่ประกาศปิดกิจการเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 1 แห่ง มีพนักงาน 37 คน และเดือนกรกฎาคม อีก 1 แห่ง มีพนักงาน 55 คน ส่วนโรงงานที่มีการประกาศหยุดกิจการชั่วคราว โดยผู้ประกอบการได้มีการจ่ายชดเชยตามมาตรา 75 เริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม มี 1 แห่ง มีพนักงาน 64 คน เดือนกุมภาพันธ์ 1 แห่ง มีพนักงาน 19 คน เดือนมีนาคม 1 แห่ง มีพนักงาน 20 คน เดือนเมษายน 2 แห่ง มีพนักงาน 81 คน มาถึงเดือนกรกฎาคม เริ่มเป็นโรงงานขนาดใหญ่มีพนักงาน 718 คน และมาหนักสุดในเดือนตุลาคม เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 3 แห่ง รวมพนักงาน 1,526 คน รวมพนักงานที่ได้รับผลกระทบ 2,428 คน

ตอนนี้ถือว่าโรงงานอุตสาหกรรมทั้งจังหวัดค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา แต่ต้องมีการเฝ้าระวังต่อไป เพราะอาจมีการเลิกจ้างอีก จากภาพรวมปัจจุบันด้านสถานประกอบการของจังหวัดสระบุรี มีทั้งหมด 7,733 แห่ง มีจำนวนลูกจ้าง 206,923 คน แบ่งเป็นประเภทอุตสาหกรรม มีโรงงาน 4,695 แห่ง มีจำนวนลูกจ้าง 163,437 คน แบ่งเป็นด้านการผลิต 984 แห่ง ลูกจ้าง 107,039 คน บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ 2,566 แห่ง ลูกจ้าง 37,851 คน และด้านการก่อสร้าง 1,145 แห่ง ลูกจ้าง 18,547 คน

อนึ่งจากการสำรวจของผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจก่อนหน้านี้พบว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด โดยช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีโรงงานประกาศลดเวลาทำงานเพิ่ม ลดกำลังการผลิต ปลดพนักงาน รวมทั้งปิดกิจการ จากก่อนหน้านี้โรงงานผลิตกระเป๋าเดินทางใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประกาศหยุดกิจการ ขณะที่บริษัท

ไทยซัมมิท แหลมฉบัง ออโตพาร์ท จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ประกาศหยุดงานชั่วคราวบางส่วน รวมถึงบริษัท นิปปอนสตีล โพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ NIPPON STEAL จากญี่ปุ่น ประกาศให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว เนื่องจากความต้องการใช้วัตถุดิบของลูกค้าลดลง ล่าสุด บริษัท เอสอาร์เอฟ อินดัสทรี้ส์ (ไทยแลนด์) จำกัด โรงงานผลิตผ้าใบยางรถยนต์ ประกาศปิดกิจการ เนื่องจากออร์เดอร์การสั่งซื้อลดลงต่อเนื่อง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/11/2562 

อาคารไม่ได้รับอนุญาต พังทับคนงานเจ็บ 2 ตาย 7

เกิดเหตุอาคารสำนักงานกำลังก่อสร้างพังทับคนงาน 9 คนที่กำลังทำงาน ภายใต้อาคาร เป็นเหตุให้คนงานชาวไทย 1 ราย และชาวเมียนมา 1 รายบาดเจ็บเจ้าหน้าที่นำส่ง รพ.ถลาง และคนงานไทย 4 ราย คน เมียนม่าอีก 3 คน ตายคาอยู่ในซากอาคาร

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 13.30 น. พ.ต.อ.ธีรวัฒน์ เลี่ยมสุวรรณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจอำเภอถลาง ได้รับแจ้งเหตุเวลาประมาณ 13.30 น. บริเวณท่าทรายสีน้ำเงินเป็น อาคารที่เกิดเหตุกำลังก่อสร้างอาคารสำนักงาน ของปั้มน้ำ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ขณะคนงานกำลังทำงานสได้เกิดเหตุอาคารสำนักงานที่กำลังก่อสร้าง ได้พังยุบลงมาราบกับพื้น เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องรีบเข้าให้การช่วยเหลือ เบื้องต้นได้นำผู้บาดเจ็บ 2 คนส่งโรงพยาบาลถลางแล้ว

เจ้าหน้าที่กู้ชีพและกู้ภัยมูลนิธิกุศลธรรม จังหวัดภูเก็ต ได้ช่วยผู้บาดเจ็บและนำส่ง รพ.ถลาง 2 คน คือ 1.นายจุตุวิทย์ หมวดสิงห์ 2.เหมียว เหมียว ยี ชาวเมียนม่าและได้ ใช้อุปกรณ์ตัดปูนซิเมนนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาจากซากอาคารมีด้วยกันทั้งหมด 7 ราย และทราบชื่อ 1.นายจิรชัย วงษ์หาจักร 2.นายธีรรัตน์ เดชพันธ์ 3.นางสาวพิมพ์พิมล แวววงศ์ 4.นายกฤษณะ ขันบุตร5.MR. Nay Myo Win 6. MR.Sa aUNG Aung 7. Ms. Kay Thi Khaing

นายวรวุฒิ ทรงยศ นายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร กล่าวว่าอาคารที่พังลงมาทับคนงานหลังนี้ ทางเทศบาลตำบลศรีสุนทร ได้ระงับการก่อสร้งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา เพราะไม่ได้ขออนุญาทำการก่อสร้าง หลังจากนี้ไปก็ต้องมาดูกันว่าผิดกฎหมายในเรื่อไดบ้าง ต้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูอีกครั้งหนึ่ง

นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ได้รับทราบจากการรายงานของ ปภ. ว่าเกิดเหตุอาคารพังลงมาทับคนงาน และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้ดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ที่ติดอยู่ภายในจำนวน 7 คน การเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ภายใต้อาคารต้องใช้วิธีการเจาะด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่ติดอยู้ใภใต้อาคารด้วย และทราบว่าคนที่ติดอยู่ภายในซากอาคารเสียชีวิตทั้งหมด เป็นคนไทย 4 คน และแรงงานด่างด้าวเมียนมา 3 คน ส่วนสาเหตุก็มาจากการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้ขออนุญาต เป็นอาคารขนาดเล็ก 5 X 10 เมตร สัญนิฐานว่าเสามีขนาดเล็กรับน้ำหนักไม่ไหวจึงพังลงมา จากนี้ต่อไปก็ต้องให้ทางเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง ในส่วนคดีก็ให้พนักงานสอบสวนเข้ามาดูได้ตั้งข้อเบื้องต้นประมาททำให้มีคนบาดเจ็บและทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต

ที่มา: 77 ข่าวเด็ด, 22/11/2562 

ก.แรงงาน ทุ่มงบ 30 ล้าน ให้สถานประกอบการกู้เทรนพนักงานรับนวัตกรรม

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน มีมติจากการประชุมเมื่อ 31 ก.ค. 2562 ให้ขยายระยะเวลาการให้กู้ยืมเงิน แบบไม่มีดอกเบี้ย สิ้นสุดในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการนำไปใช้ในการฝึกอบรมให้กับพนักงานของตนเอง หรือเพื่อไปใช้ในการดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ทั้งนี้รวมถึงกลุ่มของผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานด้วย หลังจากนั้นจะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี

นายธวัช กล่าวต่อว่าปี 2562 มีสถานประกอบกิจการให้ความสนใจและขอกู้เงินดังกล่าวไปใช้เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่พนักงานของตนเองจำนวน 88 แห่ง เป็นเงินจำนวน 62,186,954 บาท จังหวัดที่มีจำนวนสถานประกอบกิจการกู้เงินไปใช้ประโยชน์สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนนทบุรี ให้กู้ยืมไปทั้งหมด 9 แห่ง วงเงิน 4,790,000 บาท รองลงมาคือ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 แห่ง วงเงิน 4,616,400 บาท และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบุรีรัมย์ ให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมไปทั้งหมด 5 แห่ง วงเงิน 5,000,000 บาท และเพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะพนักงานของตนเองให้ทันต่อเทคโนโลยี และช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้วย ในปี 2563 จึงจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 30 ล้านบาท สำหรับให้กู้ยืมไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าว

คุณพูนสุข อดุลพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท คูล คลีนนิ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัท ประกอบธุรกิจรับเหมาทำความสะอาด อาคาร สถานที่ ให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด โรงพยาบาล และอีกหลายหน่วยงาน มีพนักงาน 520 คน ปกติมีการจัดฝึออบรมให้กับพนักงานเป็นประจำ และมีค่าใช้จ่ายในด้านนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อทราบข่าวการให้กู้ยืมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้กู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฝึกอบรม ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีก จึงยื้นขอกู้เงินที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ในวงเงิน 1,000,000 บาท และได้นำเงินดังกล่าวไปฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้แก่พนักงานทำความสะอาด ให้มีศักยภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น

"การให้กู้ยืมแบบไม่คิดดอกเบี้ย เป็นเงินที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการได้เป็นอย่างดี และยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อีก เกิดประโยชน์ 2 ต่อ จึงอยากให้มีโครงการแบบนี้อย่างต่อเนื่อง และขอเชิญชวนผู้ประกอบกิจการอื่นๆ เข้ามาใช้บริการ บอกคำเดียวว่า ได้ประโยชน์จริงๆ" คุณพูนสุขกล่าว

สถานประกอบกิจการที่สนใจ ยื่นเอกสารได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 15 ก.ค. 2563 สอบถามรายละเอียดได้ที่กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร. 0 2643 6039 หรือเว็บไซต์ www.dsd.go.th/sdpaa หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, 21/11/2562 

เผยผลสำรวจแนวโน้มการจ้างงานของไทยในปี 2563 พร้อมเปิดอัตราเงินเดือนใน 8 อาชีพหากต้องการย้ายงาน

สำนักงานโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก ออกมาเผยผลสำรวจเงินเดือน และแนวโน้มการจ้างงานในปี 2563 ของประเทศไทย โดยได้สำรวจพนักงาน ไปจนถึงผู้บริหารระดับกลางและระดับผู้บริหารระดับสูง ทั้ง 8 อาชีพ ได้แก่ อาชีพบัญชีและการเงิน การเงินและการธนาคาร ทรัพยากรบุคคล

วิศวกรรมและการผลิต การขายและการตลาด กฎหมาย ซัพพลายเชนและจัดซื้อ และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงวิเคราะห์จากหลากหลายเครือข่ายสำนักงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซียในระหว่างปี 2562

น.ส.ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการประจำประเทศไทย กล่าวว่าโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ก่อตั้งมาเป็นเวลา 35 ปี โดยมีสำนักงานใหญ่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้มีสำนักงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีสำนักงานประจำ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ดังนั้น ผลการสำรวจครั้งนี้จะนำเสนอภาพรวมของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเจาะลึกในส่วนของประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการจ้างงานในปี 2563 โดยภาพรวมของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งเป็น อัตราเงินเดือนที่ผู้ย้ายงานคาดหวังที่จะปรับขึ้น ในปี 2563 อินโดนีเซียอยู่ระหว่าง 15-30% มาเลเซีย 15-20% ฟิลิปปินส์ 20-40% สิงคโปร์ 5-15% เวียดนาม 15-20% และไทย 20-30%

ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทำงานในองค์กรเดิม ไม่ย้ายงาน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย มีความเหมือนกัน คือ วัฒนธรรมขององค์กรและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี แต่ฟิลิปปินส์ จะเป็นเรื่องของฐานเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี

น.ส.ปุณยนุช กล่าวต่อว่าภาพรวมตลาดของประเทศไทยนั้น แนวโน้มในการจ้างงานนั้น ในส่วนของผู้จ้างงาน มองว่า การจ้างงานในภาคการผลิตยังคงเป็นบวก มีความต้องการใช้กลยุทธ์โมบาย เฟิร์ส ผลักดันความต้องการบุคลากรในสายดิจิทัล

ขณะที่ในส่วนของพนักงาน 75% ของพนักงานคาดว่าจะได้รับโบนัสประมาณ 15% ขึ้นไปของเงินเดือน และ 29%ของพนักงานให้ประเด็นความก้าวหน้าในอาชีพเป็นแรงจูงใจหลักในการเปลี่ยนงาน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีนิติบุคคลจดทะเบียนบริษัทใหม่ในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.2562 ถึง 38,222 ราย ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายได้พบว่า มีนิติบุคคลจดใหม่มากถึง 6,370 รายต่อเดือน ดังนั้นถ้าคิดจำนวนทั้งหมดถึงสิ้นปี 2562 คาดว่าจะมีนิติบุคคลใหม่ถึง 76,000 ราย โดย 3 อันดับอุตสาหกรรมที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่มากที่สุด คือ ก่อสร้างรับเหมา อสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร

นอกจากนั้น ยังพบว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำของโลกในการใช้อุปกรณ์มือถือ โดยคนไทย 69.24 ล้านคน มีการใช้มือถือมากถึง 92.33 ล้านเครื่อง แสดงว่าคน1 คนใช้มือถือมากกว่า 1 เครื่อง และมีการซื้อขาย ใช้บริการออนไลน์ มากถึง 90%

น.ส.ปุณยนุช กล่าวต่อไปว่าจากผลสำรวจภาพรวมตลาดของประเทศไทย ทางโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทยได้มีการจัดแบ่งตาม 8 สาขาอาชีพ จำแนกได้ดังนี้

อาชีพทรัพยากรบุคคล โดยเฉลี่ยผู้สมัครที่ย้ายงานคาดว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนระหว่าง 20-30% โดยปัจจัยย้ายงาน 4 อันดับแรก คือ ความก้าวหน้าในอาชีพ 36% ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น 19% วัฒนธรรมองค์กรที่ดีกว่า 16% และสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น 14% ซึ่ง 27%ของพนักงานในอุตสาหกรรมทรัพยากรบุคคลมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี และพนักงาน 57% ที่ทำงานตำแหน่งเดิม คาดว่าได้เงินเดือนปรับขึ้นประมาณ 7-15%

ต่อมาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉลี่ยผู้สมัครที่ย้ายงานคาดว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนระหว่าง 15-30% โดยปัจจัยย้ายงาน 4 อันดับแรก คือ ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น 27% ความก้าวหน้าในอาชีพ 27% สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น 15% และวัฒนธรรมองค์กรที่ดีกว่า 10% ซึ่ง 32%ของพนักงานในอุตสาหกรรมทรัพยากรบุคคลมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี และพนักงาน 56% ที่ทำงานตำแหน่งเดิม คาดว่าได้เงินเดือนปรับขึ้นประมาณ 7-15%

น.ส.วรัปสร พงษ์ศิริบัญญัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการเงินและการบัญชี กฎหมาย และบริการทางการเงินและการธนาคาร กล่าวว่า ในส่วนของอาชีพนักบัญชีและการเงิน โดยเฉลี่ยผู้สมัครที่ย้ายงานคาดว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนระหว่าง 15-25% โดยปัจจัยย้ายงาน 4 อันดับแรก คือ ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น 28% ความก้าวหน้าในอาชีพ 26% สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น 16% และวัฒนธรรมองค์กรที่ดีกว่า 10% ซึ่ง 21%ของพนักงานในอุตสาหกรรมทรัพยากรบุคคลมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี และพนักงาน 49% ที่ทำงานตำแหน่งเดิม คาดว่าได้เงินเดือนปรับขึ้นประมาณ 7-15%

อาชีพการเงินและธนาคาร โดยเฉลี่ยผู้สมัครที่ย้ายงานคาดว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนระหว่าง 20-25% โดยปัจจัยย้ายงาน 4 อันดับแรก คือ ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น 33% ความก้าวหน้าในอาชีพ 27% สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น 15% และวัฒนธรรมองค์กรที่ดีกว่า 8% ซึ่ง 30%ของพนักงานในอุตสาหกรรมทรัพยากรบุคคลมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี และพนักงาน 56% ที่ทำงานตำแหน่งเดิม คาดว่าได้เงินเดือนปรับขึ้นประมาณ 7-15%

อาชีพนักกฎหมาย โดยเฉลี่ยผู้สมัครที่ย้ายงานคาดว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนระหว่าง 15-25% โดยปัจจัยย้ายงาน 4 อันดับแรก คือ ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น 61 % ความก้าวหน้าในอาชีพ 27% วัฒนธรรมองค์กรที่ดีกว่า 6% และสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น 6% ซึ่ง 17%ของพนักงานในอุตสาหกรรมทรัพยากรบุคคลมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี และพนักงาน 56% ที่ทำงานตำแหน่งเดิม คาดว่าได้เงินเดือนปรับขึ้นประมาณ 7-15%

น.ส.นัฐติยา ซอล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด-B2B และB2C และซัพพลายเชนและวิศวกรรม กล่าวว่าสำหรับอาชีพวิศวกรรมและการผลิต โดยเฉลี่ยผู้สมัครที่ย้ายงานคาดว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนระหว่าง 15-30% โดยปัจจัยย้ายงาน 4 อันดับแรก คือ ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น 33% โอกาสในการทำงานต่างประเทศ 30% ความก้าวหน้าในอาชีพ 15% และสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น 13% และ ซึ่ง 15 % ของพนักงานในอุตสาหกรรมทรัพยากรบุคคลมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี และพนักงาน 52% ที่ทำงานตำแหน่งเดิม คาดว่าได้เงินเดือนปรับขึ้นประมาณ 7-15%

ทั้งนี้ อาชีพการขายและการตลาด โดยเฉลี่ยผู้สมัครที่ย้ายงานคาดว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนระหว่าง 15-30% โดยปัจจัยย้ายงาน 4 อันดับแรก คือ ความก้าวหน้าในอาชีพ 34% ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น 28% สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น 15% และวัฒนธรรมองค์กรที่ดีกว่า 10% ซึ่ง 36%ของพนักงานในอุตสาหกรรมทรัพยากรบุคคลมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี และพนักงาน 49% ที่ทำงานตำแหน่งเดิม คาดว่าได้เงินเดือนปรับขึ้นประมาณ 7-15%

อาชีพซัพพลายเชนและการจัดซื้อ โดยเฉลี่ยผู้สมัครที่ย้ายงานคาดว่าจะมีการเพิ่มเงินเดือนระหว่าง 15-20% โดยปัจจัยย้ายงาน 4 อันดับแรก คือ ความก้าวหน้าในอาชีพ 29% ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น 20% โอกาสในการทำงานต่างประเทศ 20 % และสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น 15% ซึ่ง 17%ของพนักงานในอุตสาหกรรมทรัพยากรบุคคลมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี และพนักงาน 62% ที่ทำงานตำแหน่งเดิม คาดว่าได้เงินเดือนปรับขึ้นประมาณ 7-15%

ปัญหาที่ตลาดแรงงานไทยเผชิญอยู่ก็คือความต้องการด้านบุคลากรมีมากกว่าจำนวนผู้สมัคร ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับผู้ว่าจ้างที่สามารถตอบสนองความคาดหวังโบนัสประจำปี 15% ซึ่งในส่วนของการจ้างงานนั้น สถานประกอบการต้องการพนักงาน และผู้บริหารระดับกลางไปจนถึงระบบสูง ที่มีทักษะความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษที่ไม่ใช่เพียงสื่อสารโต้ตอบได้

โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงที่ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับที่ดี สามารถต่อรอง เข้าใจธุรกิจของตนเองเพื่อประโยชน์ขององค์กร นอกจากนั้นต้องมีทักษะในการบริหารบุคคล และต้องมีความเข้าใจ เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการทำงาน การเติบโตขององค์กรได้ทั้งในระดับประเทศ และสากล

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 20/11/2562 

เร่งช่วย 183 คนไทยพนักงานคาสิโนออนไลน์ผิดกฎหมายที่ปอยเปต

เมื่อคืนวันที่ 19 พ.ย. 2562 ตร.กรุงพนมเปญ และ ตร.บันเตียเมียนเจย เกือบ 200 นาย นำหมายศาลจากกรุงพนมเปญ บุกเข้าตรวจค้นหลายจุดในเขตกรุงปอยเปต โดยเฉพาะภายในตึกพาราแม็กซ์ ด้านหลังบ่อนคาสิโน สตาร์เวกัส สามารถจับกุมพนักงานบ่อนคาสิโนออนไลน์ผิดกฎหมาย ได้ทั้งหมด 209 คน โดยเป็นคนไทยถึง 183 คน แยกเป็นชาย 118 คน หญิง 65 คน

การเข้าปราบปรามดังกล่าวเป็นผลมาจาก สมเด็จฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้กำชับนโยบายให้เร่งปราบปรามกลุ่มลักลอบเปิดให้มีการแทงพนันออนไลน์รอบพื้นที่กรุงปอยเปต โดยพนักงานคนไทยที่ถูกจับกุม ถูกนำตัวไปทำประวัติที่ศูนย์ผลักดันแรงงานต่างด้าว จ.เสียมราฐ ขณะที่ฝ่ายไทย กำลังพยายามประสานให้ฝ่ายกัมพูชา ร้องขอให้ศาลกัมพูชาดำเนินคดี “เปรียบเทียบปรับ” พร้อมทั้งเร่งผลักดันคนไทยทั้งหมด

ทั้งนี้ในช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายณัฐชัย นำพูลสุขสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประสานงานชายแดนไทยกัมพูชา เดินทางข้ามไปยังฝั่งกัมพูชา ในการประสานให้ความช่วยเหลือพนักงานคนไทย 183 คนเป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากผู้นำระดับสูงของกัมพูชา พนักงานคนไทยทั้งหมด จะถูกส่งตัวไปทำประวัติและดำเนินคดีที่ศูนย์ผลักดันแรงงานต่างด้าว จังหวัดเสียมราฐ ก่อนจะถูกส่งผลักดันออกทางด่านปอยเปต ตรงข้ามตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 20/11/2562 

คณะกรรมการค่าจ้างเลื่อนพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปเป็นวันที่ 6 ธ.ค. 2562

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี ว่าที่ประชุมมีมติเลื่อนเคาะค่าจ้างจากวันนี้ (20 พ.ย. 2562) เป็นวันที่ 6 ธ.ค. 2562 เนื่องจากต้องพิจารณาข้อมูลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน และประเมินผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการขึ้นค่าจ้าง

ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอของกลุ่มลูกจ้าง ที่ต้องการให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเท่ากัน 400 บาท ไม่สามารถเป็นไปได้ยังคงพิจารณาตามรายจังหวัดเช่นเดิม โดยได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเข้าไปสำรวจ รายจ่ายของลูกจ้างแต่ละจังหวัดอย่างละเอียด พบว่ามีรายจ่ายไม่เท่ากัน นอกจากนี้ สถานการณ์ปิดกิจการเลิกจ้างนั้นมีความเป็นห่วงว่าการขึ้นค่าแรงจะไปกระทบซ้ำเติมปัญหาหรือไม่ที่ประชุม ได้นำไปพิจารณาให้รอบครอบ โดยกระทรวงจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหาตำแหน่งงาน ให้กับลูกจ้างที่ตกงานเนื่องจากข้อมูลจากกรมโรงงาน มีโรงงานเปิดมากกว่าปิด

ส่วนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้ค่าชดเชยตามกฎหมายก็พร้อมที่จะเข้าไปเจรจากับนายจ้าง ซึ่งสถิติตัวเลขระหว่างปีนี้กับปีที่แล้วไม่ต่างกันมากนัก ไม่มีความหมายในเชิงสถิติใดๆ ว่าปีนี้แย่กว่าปีก่อน อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในปีหน้าเชื่อว่ายังคงเป็นบวก อย่างแน่นอน เมื่อเป็นคนไทย อยู่ประเทศไทยก็ยังคงจะต้องมีความหวังว่าจะต้องดีขึ้น

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 20/11/2562 

ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมองว่าการขึ้นค่าเเรงจะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ โดยขอให้ชะลอไปอย่างน้อย 6 เดือน

20 พ.ย. 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ลูกจ้าง และนายจ้าง จะมีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ให้ทันประกาศใช้ภายในปีนี้ หลังถูกชะลอปรับขึ้นตั้งเเต่เดือน เม.ย.2562

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตอนนี้เศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกหดตัวจากเงินบาทแข็งค่า กระทบความสามารถในการเเข่งขันของเอกชน หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นอัตราใดก็กระทบผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันก็ขาดทุนอยู่เเล้ว หากเป็นไปได้ควรชะลอการขึ้นค่าเเรงออกไปอย่างน้อย 6 เดือน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการมีปัญหาขีดความสามารถในการเเข่งขัน จากเงินบาทที่เเข็งค่าต่อเนื่อง หลายอุตสาหกรรมส่งออกไม่ได้ ต้องลดกำลังการผลิต หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จะยิ่งซ้ำเติม ทำให้เเข่งขันไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันต้นทุนค่าเเรงงานไทยสูงสุดในอาเซียน หรือ 325 บาท อันดับ 2 คือฟิลิปปินส์ 197-341 บาท, เวียดนาม 156-173 บาท และอินโดนีเซีย 99-271 บาท เป็นต้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี แต่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในระดับ 2-10 บาท ก็ไม่ต่ำไม่สูงเกินไป ซึ่งต้องไม่ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ โดยพิจารณาตามศักยภาพของแต่ละจังหวัด

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นระดับที่ผู้ประกอบการรับได้ ประมาณร้อยละ 2 หรือ 6-7 บาท จากปัจจุบัน 320 บาทต่อวัน เป็น 326-327 บาทต่อวัน แต่ถ้าขึ้นเกินร้อยละ 3 จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเพื่อส่งออก

อย่างไรก็ตาม หากไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเลย ก็อาจกระทบธุรกิจเช่นกัน เนื่องจากการผลิตเครื่องนุ่งห่มในปัจจุบัน จำหน่ายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ซึ่งตลาดในประเทศไม่ขยายตัวเลย เนื่องจากเเรงงานไทยไม่ได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมานาน เมื่อเทียบกับกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม แม้ค่าเเรงต่ำกว่า แต่ปรับขึ้นทุกปี ทำให้ความเเตกต่างระหว่างค่าเเรงของไทยและกลุ่ม CLMV เริ่มลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการมองเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยก็ต้องการให้คำนึงถึงการยกระดับประสิทธิภาพของเเรงงานไทยด้วย เพราะหากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ผลผลิตที่ได้เท่าเดิม ก็เท่ากับว่าต้นทุนต่อหน่วยของผู้ประกอบการจะสูงขึ้น กระทบความสามารถในการเเข่งขัน

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลผลักดันการเพิ่มผลิตภาพเเรงงานให้เป็นวาระเเห่งชาติ มากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำ ที่อาจทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงได้ และอาจส่งผลให้ล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

ที่มา: ThaiPBS, 20/11/2562 

สองร้านไทยในฟลอริด้า เจอข้อหาโกงแรงคนงาน

เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ไมอามีเฮอร์รัลด์ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2019 ว่าร้านอาหารไทยชื่อ ชัย ไทยคูซีน สองสาขาในเมืองออร์แลนโด้ รัฐฟลอริด้า กำลังถูกสอบสวนโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ว่ากระทำผิดกฎหมายค่าแรงของรัฐบาลกลาง โดยการจ่ายเงินค่าแรงล่วงเวลาให้กับพนักงานในร้านต่ำกว่าความเป็นจริง

ข่าวอ้างแถลงการณ์ของกระทรวงแรงงานฯ ต่อไปว่า ผลการสอบสวนของแผนกค่าจ้างและชั่วโมงทำงาน (Wage and Hour Division หรือ WHD) พบว่า นายหงษ์ชัย แซ่อ้วง (Saeunong) เจ้าของร้าน ชัย ไทยคูซีน มีเจตนายักยอกค่าแรงล่วงเวลาของพนักงาน 17 คน ที่ทำงานอยู่ในร้านชัย ไทยคูซีน สองสาขา รวมเป็นเงิน 27,000 ดอลลาร์ หรือเฉลี่ยคนละ 1,588.14 ดอลลาร์

ทั้งนี้ นายหงษ์ชัยได้จ่ายค่าแรงพนักงานในอัตราเดียวตลอดกะ ไม่ว่ากะนั้นจะกินเวลากี่ชั่วโมงก็ตาม ซึ่งผลการสอบสวนพบว่าบ่อยครั้งที่พนักงานต้องทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่ได้รับค่าแรงในอัตราหนึ่งเท่าครึ่งตามที่กฎหมายกำหนด

ข่าวบอกด้วยว่า พนักงานจะได้รับค่าแรงล่วงเวลาก็ต่อเมื่อรวมเวลาทำงานสองสัปดาห์แล้วเกิน 80 ชั่วโมง แทนที่จะเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อีกทั้งค่าแรงล่วงเวลาที่ทางร้านจ่ายให้พนักงานนี้ จะเป็นเงินเท่าครึ่งของค่าทิป แทนที่จะคำนวนจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลกลาง ซึ่งอยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

โดยกฎหมายกำหนดว่า นายจ้างสามารถจ่ายค่าแรงให้พนักงานที่ได้รับเงินค่าทิป (tipped employee) เช่นพนักงานเสริฟ ในอัตราชั่วโมงละ 2.13 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง หากรวมค่าแรงและค่าทิปแล้วเท่ากับ (หรือมากกว่า) ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง

อีกทางหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนของ WHD ตรวจสอบพบว่าทางร้านชัย ไทยคูซีน ใช้ในการโกงค่าล่วงเวลาพนักงาน ก็คือการนับชั่วโมงทำงานในสองสาขาแยกกัน แทนที่จะรวมกัน โดยร้านชัย ไทยคูซีน ทั้งสองสาขาตามที่ปรากฎในข่าว คือสาขา 13747 South John Young Pkwy. และ 2447 S. Orange Ave.

ทั้งนี้ แม้ว่านายหงษ์ชัย จะเป็นเจ้าของร้านชัย ไทยคูซีน ถึงสามสาขา แต่ข่าวไม่ได้ระบุว่าสาขาที่สาม มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอบสวนโดยกระทรวงแรงงานหรือไม่

เดเนียล ไวท์ หัวหน้า WHD สำนักงานเมืองแจ็คสันวิลล์ รัฐฟลอริด้า ระบุในแถลงการณ์ของกระทรวงแรงงานว่า พนักงานทุกคนควรได้รับค่าแรงในอัตราที่เขาสมควรได้รับตามที่กฎหมายกำหนด และเจ้าของธุรกิจที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ไม่สมควรที่จะต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะต้องเผชิญกับคู่แข่งที่ทำผิดกฎหมาย”

ข่าวระบุด้วยว่า ลูกจ้างหรือพนักงานที่กำลังเผชิญกับความไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำหรือเงินค่าแรงล่วงเวลา สามารถแจ้งเหตุได้ด้วยตัวเองผ่านโปรแกรมตรวจสอบชื่อ the Payroll Audit Independent Determination (PAID) ที่เว็บไซต์ของกระทรวงแรงงาน ที่ www.dol.gov/whd/paid/

ทั้งนี้ จากแถลงการณ์ของกระทรวงแรงงาน ที่สื่อท้องถิ่นในฟลอริด้านำออกเผยแพร่ครั้งนี้ ยังไม่ปรากฎว่าเจ้าของร้านชัย ไทยคูซีน ถูกตั้งข้อหาอาญา หรือข้อหาแพ่งใดๆ หรือไม่ ซึ่งสยามทาวน์ยูเอส จะติดตามความคืบหน้ามานำเสนอต่อไป

ที่มา: สยามทาวน์ยูเอส, 20/11/2562 

เครือข่ายสตรีรณรงค์ช่วยผู้ชายแบ่งเบาภาระผู้หญิง ทำงานบ้านช่วยลดความรุนแรง

20 พ.ย. 2562 ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ภายใต้แนวคิด “งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เพื่อสร้างกระแสเชิญชวนคุณผู้ชายช่วยทำงานบ้าน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแฟนหรือภรรยาฝ่ายเดียว หวังลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัวและชีวิตคู่ ทั้งนี้ได้มีการเดินรณรงค์บริเวณป้ายรถเมล์ พร้อมเชิญชวนให้ผู้ชายโพสต์รูปทำงานบ้านติดแฮกแท็ก #Houseworkchallenge #งานบ้านเป็นของทุกคนทำได้ทุกเพศ

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลจากข่าวหนังสือพิมพ์ จำนวน 10 ฉบับ ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 623 ข่าว โดยเป็นข่าวการฆ่ากันสูงที่สุด ร้อยละ 61.6 ซึ่งเกือบทุกประเภทข่าวความรุนแรงในครอบครัวมีความเชื่อมโยงกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงกล่าวได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นปัจจัยร่วมกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และมีส่วนทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทุกคนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมแก้ไขได้ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวในครอบครัว อย่างการช่วยกันทำงานบ้าน เลี้ยงลูกดูแลลูก ถือเป็นการนำเรื่องที่เข้าใจง่าย ดูเหมือนใครๆก็ทำได้ แต่กระทบชิ่งไปถึงรากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศอย่างเห็นได้ชัด งานบ้านจึงเป็นจุดเริ่มต้นก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เกิดความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนในครอบครัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กทั้งในครอบครัวและระบบการศึกษา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงในครอบครัว” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นต่อการทำงานบ้านของกลุ่มผู้ชาย อายุ 18-50 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่าร้อยละ 54.9 มองว่าผู้ชายช่วยงานบ้านเป็นเรื่องที่ควรภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ขณะที่ร้อยละ 16.9 ไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้

ทั้งนี้เกินครึ่ง คือ ร้อยละ 53.5 มองว่าผู้หญิงที่ดีต้องทำงานบ้าน เป็นแม่ศรีเรือน อย่าให้บกพร่อง ซึ่งร้อยละ 47 มองว่าผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 37.5 มองว่า แม้ผู้หญิงจะทำงานนอกบ้าน แต่งานบ้านก็ยังเป็นของผู้หญิงอยู่ดี อีกทั้งร้อยละ 33.2 ระบุว่า งานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชายแต่เป็นหน้าที่ของผู้หญิง

สำหรับข้อเสนอแนะต่อประเด็นงานบ้านนั้น ผู้ชายกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 74.2 มองว่า ครอบครัวมีส่วนช่วยในการปลูกฝังเรื่องการทำงานบ้านและสร้างทัศนคติที่ดีเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศตั้งแต่เด็กๆ ร้อยละ 73.3 ระบุว่า ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงให้งานบ้านเป็นงานของทุกคน และสามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย

​“จากผลสำรวจสะท้อนว่า ผู้ชายบางส่วนยังมีความเชื่อที่ว่า งานบ้านเป็นหน้าที่ผู้หญิง ซึ่งสาเหตุมาจากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ถูกบอกถูกสอนว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ส่วนผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก หากปล่อยให้ผู้ชายทำจะเสียศักดิ์ศรี ดังนั้นคงต้องเริ่มจากจุดนี้ ให้เขามองว่าการทำงานบ้านผู้ชายต้องทำได้ มันไม่ใช่หน้าที่ฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว ค่อยๆปรับเปลี่ยน เพื่อทำให้ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในครอบครัวลดลง

ทั้งนี้มูลนิธิฯ ตั้งใจรณรงค์แคมเปญนี้เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ เกิดการเปลี่ยนแปลง งานบ้านไม่ใช่เรื่องของเพศ แต่เป็นของทุกคน ไม่จำเป็นต้องแบ่งเพศ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ชายชุมชน พบว่าหลังจากได้ช่วยงานบ้านหลายรายเปลี่ยนไป ให้เกียรติผู้หญิงมากขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ลดลง ซึ่งอยากให้ช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ รวมถึงภาครัฐต้องปรับหลักสูตรใหม่ สร้างความเท่าเทียม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะขนาดรูปในหนังสือเรียนยังเป็นผู้หญิงที่ทำงานบ้านฝ่ายเดียวอยู่เลย” นางสาวจรีย์ กล่าว

ด้าน นายไบรอน บิชอฟซึ่งมาพร้อมภรรยา ซินดี้ สิรินยา บิชอฟ ดารานางแบบ กล่าวว่า ตนเป็นผู้ชายธรรมดาทั่วไปที่เคยคิดว่าผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้าน ไม่ต้องเลี้ยงลูก แต่เมื่อเห็นภรรยาเหนื่อยจากการทำงานนอกบ้าน ก็เริ่มพูดคุยกัน เพื่อที่จะได้รู้มุมมองความคิด เพราะนี่คือบ้านของเรา ครอบครัวของเรา แม้ว่าที่บ้านเราจะจ้างแม่บ้านมาดูแลงานบ้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างให้ช่วยทำโดยเฉพาะการเลี้ยงลูก ถ้าหากเราช่วยกันทำงานบ้าน ช่วยเหลือกัน ช่วยกันเลี้ยงลูก จะช่วยทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้น มีความสุขขึ้น เราเป็นผู้ชายที่อยากทำอะไรเพื่อภรรยาบ้าง และงานบ้านคือความท้าทาย

"เราอยากเป็นซุปเปอร์แมนในสายตาภรรยาและลูกๆ อะไรที่ทำให้ครอบครัวมีความสุขก็พร้อมทำให้"

ทั้งนี้สิ่งที่จะช่วยยุติความรุนแรงภายในครอบครัวได้อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องกล้าเปลี่ยนมุมมองความคิดและกล้าที่จะพูดคุยกันเพื่อครอบครัว ที่สำคัญการปลูกฝัง สอนให้ลูกๆ ได้รู้จักงานบ้านตั้งแต่เล็กๆเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นพื้นฐานที่ดีของเขาวันข้างหน้า รวมไปถึงการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่นและตัวเอง การเคารพให้เกียรติกัน เราต้องชัดเจนในเรื่องนี้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/11/2562 

พบ 'ธนาคาร-ประกันภัย' 2 ธุรกิจที่ปรับใช้ซอฟต์แวร์อัตโนมัติมากที่สุด

นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าการใช้งาน RPA ตามแบบกฎเกณฑ์มาตรฐานอัตโนมัติ หรือ rule-based automation ซึ่งถือว่ายังไม่เป็นแรงงานดิจิทัลเต็มรูปแบบนั้น เป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตของโลก และเทคโนโลยีนี้ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยผสมผสาน ระบบการรู้จำอักขระด้วยแสง (OCR) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะทำให้เป็นเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมากขึ้นและพร้อมให้ใช้งานในตลาดเร็ว ๆ นี้

จากการสำรวจโดยเอบีมเกี่ยวกับสถานการณ์ของ RPA ในประเทศไทยกับบริษัทขนาดใหญ่ใน SET100 พบว่า -66 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ตระหนักว่า RPA คืออะไร และ RPA สามารถทำงานอย่างไร -21 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่สำรวจตอบว่ากำลังพิจารณาและสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ยังไม่แน่ใจถึงประโยชน์ที่แท้จริง -13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ติดตั้งและใช้งาน RPA แล้ว

ทั้งนี้ กลุ่มแรกยังไม่สามารถหาคนทำงานที่เหมาะสมในการเริ่มต้นแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ไม่ทราบวิธีการที่เหมาะสมที่จะเริ่มโครงการดังกล่าว ประสบกับปัญหาในการคำนวณอัตราส่วนของผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) และกำลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้ใช้งาน ส่วนกลุ่มสุดท้าย กำลังเผชิญกับการขยายผล การปรับเปลี่ยนตามธุรกิจการกำลังเปลี่ยนไป และการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายของ ROI

“การใช้ rpa จะช่วยให้ธุรกิจได้ประโยชน์สูงสุด หากธุรกิจมีกระบวนการเป็นมาตรฐาน แม่นยำสม่ำเสมอ และดำเนินการควบคุมอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยให้สามารถขยายงานได้ง่าย”

ภาคธุรกิจที่มีการนำ RPA มาใช้มากที่สุด คือ -ธนาคาร 70 เปอร์เซ็นต์ -ประกันภัย 60 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ธุรกิจการผลิต ธุรกิจบริการ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีแสดงสนใจจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยปัจจุบันการใช้ RPA ในประเทศไทยเน้นเรื่องการจัดทำรายงาน การส่งข้อมูลระหว่างระบบ (System interface) และการป้อนข้อมูลเข้าระบบ ซึ่งถือเป็นงานอันดับต้น ๆ ของหน่วยงานการเงินและบัญชี

ทั้งนี้ ระบบอัตโนมัติมีโอกาสที่จะสามารถทำงานในภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ ระบบไอทีภายใน อาทิ การป้อนข้อมูล อีเมล์ และการค้นหาข้อมูลที่มีตรรกะเฉพาะด้าน โดยการจำลองข้อมูลและการรายงานผล ตรวจสอบข้อมูลหรือจับคู่ข้อมูล แรงงานดิจิทัลสามารถส่งผ่านข้อมูลระหว่างระบบไอทีกับระบบภายนอก เช่น แอพพลิเคชั่นของธนาคาร หรือการต่อเชื่อมกับกลุ่มบริษัท การดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น การวิจัยข้อมูลของคู่แข่ง การตรวจสอบราคาหุ้น เป็นต้น

ที่มา: Business Today, 19/11/2562

Grab Food พัทยากว่า 200 คนขู่หยุดวิ่งรับงานร้องเพิ่งค่าตอบแทน

18 พ.ย. 2562 ที่บริเวณด้านหลังบิ๊กซีพัทยาใต้ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กลุ่มคนขับรถ Grab Food จำนวนกว่า 200 คนได้มารวมตัวกัน เพื่อนัดหมายเตรียมหยุดรับงานในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย. 2562 ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เพื่อยื่นข้อเสนอให้ทางบริษัทปรับดำเนิน การปรับค่าตอบแทน หลังที่ผ่านมาพบว่าบริษัทคิดค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมหลังจากคำนวณระยะทางแล้วปรากฏว่าไม่สัมพันธ์กับรายได้ในการวิ่งแต่ละรอบ

ตัวแทนคนขับ Grab Food กล่าวว่า การรวมตัวของกลุ่มคนขับ Grab Food ในพื้นที่เมืองพัทยาครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ถูกบริษัท Grab ลดค่าบริการลงจากเดิมที่ให้ 55 บาทต่อรอบ ลดลงเหลือเพียง 30 บาทต่อรอบ โดยบริษัทให้เหตุผลว่า เป็นไปตามกลไกลของตลาดและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่จะมาปรับเพิ่มในส่วนของโบนัส intensive ให้แทน

ทั้งนี้ บริษัทก็ทำได้เพียงแค่ 13 วัน นับจากวันที่ 4-17 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมาเท่านั้น ก็มีการปรับลดโบนัส และค่า intensive ลงทำให้กลุ่มคนขับ Grab Food ในพัทยามองว่า ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม หลังจากคำนวณระยะทางแล้วปรากฏว่า ไม่สัมพันธ์กับรายได้ในการวิ่งแต่ละรอบ จึงได้รวมตัวกัน เพื่อนัดหมายเตรียมหยุดรับงานในวันที่ 24 พ.ย.

สำหรับค่าตอบแทนที่บริษัท Grab ให้กับกลุ่มคนขับ Grab Food ที่ผ่านมาจะเป็นการเก็บเพชรทำรอบ 1 งานได้ 5 เพชร โดยครบ 180 เพชร จะได้ค่าตอบแทน 500 บาท หักภาษี 3% เหลือรับสุทธิ 485 บาท จนมาวันนี้บริษัทมีการปรับค่าตอบ แทนจาก 5 เพชร เหลือ 3 เพชรต่อ 1 งานและเก็บครบ 190 เพชร ถึงจะได้ 500 บาท แต่ค่ารอบทางบริษัทคิดเท่าเดิม ทำให้ต้องวิ่งรอบเพิ่ม แต่ได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวบริษัททำเหมือนกันทั่วประเทศ หากบริษัทไม่แก้ไขอะไรเลยให้กลับกลุ่มคนขับ Grab food ก็จะเลิกวิ่งให้บริการทันที และหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน ปัจจุบัน คนขับ Grab food ในพัทยามีทั้งหมด 1,000 คน

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 18 พ.ย. 2562 

สภาอาจารย์ฯ ร้อง ส.ว. แก้ปัญหาอาจารย์มหาวิทยาลัยเงินเดือนน้อยกว่าครู ขณะพนักงานมหาลัยโดนหักเงินเดือนไม่เป็นธรรม

นายเชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทยและกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยยื่นเรื่องต่อนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา เพื่อขอวุฒิสภาพิจารณาแก้ไขความเดือดร้อนของบุคลากร มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยนายเชษฐา กล่าวว่า บุคลากรมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือนกลุ่มข้าราชการของมหาวิทยาลัยน้อยกว่าเงินเดือนครู ประมาณ 8% ตั้งแต่ปี2554 ทั้งที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ออกเป็น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 5) ให้อำนาจคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเยียวยาแก้ไขความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้ แต่เนื่องจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพิ่งเกิดขึ้น และอยู่ระหว่างการสรรหา คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาชุดใหม่ ทำให้การดำเนินการเยียวยาแก้ไขยังไม่แล้วเสร็จ ล่าช้ามามากกว่า 9 ปี ข้าราชการกลุ่มอาจารย์และเจ้าหน้าที่มากกว่า 20,000 คน ได้รับความเดือดร้อน

“ยังมีปัญหากลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยมากกว่า 150,000 คน ที่ไม่ได้รับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2542 ที่กำหนดให้จ่ายเงินเดือนพนักงานในอัตรา 1.7 เท่าของข้าราชการสายอาจารย์แรกบรรจุและ 1.5 เท่าของข้าราชการสายเจ้าหน้าที่แรกบรรจุ แต่พบว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งจ่ายไม่ครบตามมติ ครม. คือจ่ายเพียง 1.4 หรือ 1.2 เท่า เท่ากับถูกหักไปประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน โดยมหาวิทยาลัยอ้างว่า ต้องหักเงินเพื่อทำเป็นสวัสดิการ ทั้งที่ไม่ได้นำเงินที่หักมาทำเป็นสวัสดิการให้พนักงานจริง เป็นเหตุให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับความเดือดร้อน จึงขอให้วุฒิสภาพิจารณา และมีข้อเสนอไปถึงกระทรวงอุดมศึกษาฯ และกรมบัญชีกลางให้จ่ายเงินเดือนโดยตรงเต็มตามจำนวน ของ มติ ครม. เข้าสู่บัญชีของพนักงานมหาวิทยาลัย โดยตรง ไม่ต้องผ่านมหาวิทยาลัย” นายเชษฐา กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 18/11/2562 

เผยกลุ่มคนที่ได้รับโอกาสในการยกระดับทักษะแรงงานน้อย มีความกังวลระบบอัตโนมัติแย่งงานพบมากที่สุด

PwC เผยผลสำรวจพบแรงงานที่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ น้อยกว่ามีความกังวลต่อผลกระทบจากการเข้ามาของระบบอัตโนมัติมากที่สุด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า สวนทางกับแรงงานคนรุ่นใหม่และผู้สำเร็จการศึกษาที่มองว่า การเข้ามาของดิจิทัลจะทำให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านทักษะและโอกาสในการจ้างงานใหม่ๆ แนะรัฐส่งเสริมการยกระดับทักษะแรงงานในทุกส่วนงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานในตลาดให้สามารถแข่งขันได้

นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Upskilling Hopes and Fears ของ PwC ที่ทำการสำรวจแรงงานมากกว่า 22,000 รายใน 11 ประเทศทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการเข้ามาของระบบอัตโนมัติต่อรูปแบบของงานและทักษะในอนาคต

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า 53% ของแรงงานที่ถูกสำรวจเชื่อว่า ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบของงานอย่างมีนัยสำคัญ หรือทำให้งานที่ทำอยู่ล้าสมัยภายใน 10 ปีข้างหน้า (มีเพียง 28% เท่านั้นที่รู้สึกว่า ไม่น่าเป็นเช่นนั้น) ในขณะที่ผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ หรือ 61% มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อการทำงานประจำวัน และ 77% ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือฝึกฝนทักษะที่มีอยู่เพื่อปรับปรุงทักษะของตนเองให้มีความพร้อมต่อการจ้างงานในอนาคต อย่างไรก็ดี โอกาสและทัศนคติเกี่ยวกับประเด็นนี้มีความแตกต่างกันไปอย่างมีนัยสำคัญตามระดับการศึกษา ภูมิศาสตร์ เพศ และอายุของแต่ละคน

ผลกระทบของการศึกษา: รายงานของ PwC พบว่า ผู้ถูกสำรวจที่จบการศึกษาระดับปริญญาเป็นกลุ่มคนที่มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจ้างงานในอนาคตมากที่สุด แม้จะเชื่อว่า งานของพวกเขาที่ทำอยู่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรืออาจถูกแทนที่

ในทางตรงกันข้าม มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 34% ของแรงงานที่ไม่ได้รับการศึกษาหลังจากจบระดับมัธยม หรือไม่ได้รับการฝึกอบรมนอกหลักสูตรกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับการเรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัลใหม่ๆ เปรียบเทียบกับบัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับวิทยาลัยที่ 17% โดยแรงงานที่ไม่ได้รับการศึกษาหรือการฝึกอบรมหลังจากจบระดับมัธยมศึกษากลุ่มนี้ ยังมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการฝึกอบรมจากนายจ้างเช่นกัน (38% ไม่ได้รับโอกาสเปรียบเทียบกับ 20% ของพนักงานที่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา) และพวกเขายังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่องานมากกว่า โดย 17% แสดงความกังวลหรือความกลัว

นายริชาร์ด โอลด์ฟิลด์ หัวหน้าสายงาน Global Markets ของ PwC กล่าวว่า “ความไม่ตรงกันระหว่างทักษะที่คนมีกับทักษะที่เป็นที่ต้องการสำหรับโลกดิจิทัล กำลังกลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เติบโตรวดเร็วที่สุดของโลก เพราะในขณะที่เทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะสร้างงานได้พอ ๆ กับแทนที่ เทคโนโลยีในแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันไปและคนก็จำเป็นต้องมีทักษะเพื่อปรับตัวด้วย ความต้องการในการเรียนรู้ของคนในวันนี้มีมาก แต่โอกาสที่แต่ละคนได้รับนั้นไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความไม่เท่าเทียมนี้ จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคธุรกิจ”

ความแตกต่างทางด้านประชากรศาสตร์: รายงานพบว่า ผู้ชายมีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีต่องานในอนาคตของพวกเขามากกว่าผู้หญิง พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มากกว่า (80% ของผู้ชายที่ถูกสำรวจกล่าวว่า พวกเขากำลังทำเช่นนั้น เปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ 74%)

ในทำนองเดียวกัน กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปีมีมุมมองในเชิงบวกเกี่ยวกับอนาคตของดิจิทัลมากกว่ากลุ่มคนในวัยอื่น นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับโอกาสในการฝึกอบรมมากกว่าด้วย เช่น 69% ของกลุ่มคนที่มีอายุระว่าง 18-34 ปีมีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับผลกระทบในอนาคตของเทคโนโลยีที่มีต่องานของพวกเขา เปรียบเทียบกับ 59% ของกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 35-54 ปี และ 50% ของผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป มีเพียง 18% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปีเท่านั้นที่กล่าวว่า ไม่ได้รับโอกาสในการได้เรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัลใหม่ ๆ จากนายจ้าง เปรียบเทียบกับคนที่มีอายุระหว่าง 35-54 ปีที่ 29% และผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปที่ 38% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ความเห็นเกี่ยวกับทักษะที่ต้องการเรียนรู้ของคนยังแตกต่างกันด้วย โดยในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน มีคนที่ต้องการมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะด้าน และในขณะเดียวกัน ก็มีคนที่ต้องการพัฒนาการเรียนรู้ของตนให้ดีขึ้นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีประเภทต่างๆ ได้

นางสาวแครอล สตับบิงส์ หัวหน้าร่วม สายงาน Global People & Organisation ของ PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ แต่พวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของการทำงานอย่างไร และจะมีประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไร ดังนั้น การยกระดับทักษะ คือการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และนี่คือสิ่งที่หลายๆ องค์กรกำลังเผชิญอยู่ บ่อยครั้งที่มีการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับประเภทของแรงงานที่ควรได้รับการยกระดับทักษะ และสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นคือการที่มีคนหนึ่งคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ในขณะที่คนต้องเผชิญกับชีวิตการทำงานที่ยาวนานขึ้น การยกระดับทักษะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลจะสามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเป็นจำนวนล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปีก็ตาม”

เมื่อพิจารณาตลาดต่างๆ ที่ทำการสำรวจพบว่า แรงงานในสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดียเป็นกลุ่มคนที่มีมุมมองเชิงบวกต่อผลกระทบของเทคโนโลยีมากที่สุด และแม้จะเชื่อว่างานของพวกเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญมากก็ตาม แรงงานในภูมิภาคเหล่านี้ยังได้รับโอกาสในการยกระดับทักษะจากนายจ้างมากกว่าที่ 97% และ 95% ตามลำดับ ในทางกลับกันแรงงานในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียกล่าวว่า พวกเขาได้รับโอกาสน้อยที่สุดในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และมีมุมมองเชิงบวกต่อผลกระทบของเทคโนโลยีน้อยกว่า

แต่ไม่ว่าแรงงานจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทหรือในเมือง ทุกคนต่างก็มีทัศนคติต่อผลกระทบของเทคโนโลยี โดย 67% ของแรงงานที่อาศัยอยู่ในเมืองเชื่อว่า แนวโน้มของงานจะปรับตัวดีขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยี (เปรียบเทียบกับ 48% ในพื้นที่ชนบท) และ 80% ได้รับโอกาสในการยกระดับทักษะจากนายจ้าง เปรียบเทียบกับ 60% ของแรงงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท

นายริชาร์ด โอลด์ฟิลด์ หัวหน้าสายงาน Global Markets ของ PwC กล่าวเสริมว่า “ผลวิจัยของเราช่วยทำให้เห็นถึงช่องว่างของโอกาสในการปรับตัวเข้าสู่โลกในยุคระบบอัตโนมัติ โดยผู้ที่ร่วมทำผลสำรวจของเราส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดิจิทัลมากกว่า ซึ่งยังเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของประชากรโดยรวมได้เด่นชัดกว่าด้วย”

ทั้งนี้ ผลสำรวจถูกจัดทำบนพื้นฐานของงานวิจัยของ PwC ที่พบว่า 30% ของงานจะตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเข้ามาของระบบอัตโนมัติในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 2030 จากการวิเคราะห์ใน 29 ประเทศ และในขณะเดียวกัน ผลสำรวจซีอีโอประจำปี 2019 ของ PwC ก็ชี้ว่า ความพร้อมของทักษะนั้นเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับซีอีโอมากที่สุดที่ 79%

นางสาว วิไลพร กล่าวสรุปว่า “วันนี้การเข้ามาของระบบอัตโนมัติ เอไอ และเทคโนโลยีอื่นๆ ได้เริ่มส่งผลต่อรูปแบบการทำงานและแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะยิ่งเห็นความต้องการทักษะในรูปแบบใหม่ ๆ มีมากขึ้นไปอีก ฉะนั้น เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญทั้งในระดับชาติ และ ระดับผู้บริหาร สิ่งหนึ่งที่ PwC ต้องการที่จะผลักดันคือ การยกระดับทักษะให้กับแรงงาน ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนของเรานอกเหนือจากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี โดยเราพยายามที่จะยกระดับทักษะทางด้านดิจิทัลของพนักงานให้เท่าเทียมกันในทุกระดับเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะเดียวกัน อยากให้ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หันมาส่งเสริมการยกระดับทักษะให้แก่แรงงานโดยรวมของประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงานไทย และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติที่กำลังมุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น”

ที่มา: การเงินการธนาคาร, 18/11/2562

เผย 10 รายการสำคัญภาวะสุขภาพและโรคติดต่อคนต่างด้าว สธ.ชงของบ 90 ล้านบาท ดูแลสุขภาพกลุ่มยังไร้สิทธิรักษา

18 พ.ย. 2562 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 ภญ.ธนพร บุษบาวไล โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ นำเสนอผลการศึกษาสถานการณ์ภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าวในประเทศไทยว่า คนต่างด้าวในการศึกษานี้หมายถึงแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาวและกัมพูชา รวมถึงผู้ติดตาม ซึ่งจากการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อจัดลำดับความสำคัญของภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าว พบว่า ผลการจัดลำดับความสำคัญของภาวะสุขภาพและโรคติดต่อ 10 รายการเรียงจากความสำคัญมากไปน้อย คือ วัณโรค โรคเอดส์ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โรคซิฟิลิสและโรคหนองใน ท้องร่วง ไข้เด็งกี/ไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคมาลาเรีย

สำหรับภาวะสุขภาพและโรคไม่ติดต่อ 10 รายการ ได้แก่ ตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน ความผิดปกติในทารกแรกเกิด ความดันโลหิตสูง สารเสพติดให้โทษและพิษสุราเรื้อรัง การบาดเจ็บจากการทำงาน การบาดเจ็บในกะโหลกศีรษะ โรคจิต จิตฟั่นเฟือนหรือปัญญาอ่อนหรือจิตเวชอื่นๆ เนื้องอกร้ายของเต้านม และเนื้องอกร้ายของปากมดลูก/มดลูก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงแรงงาน หน่วยบริการด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนควรปรับปรุงการดูแลสุขภาพของคนต่างด้าวในประเทศไทย โดนอาจใช้ภาวะสุขภาพและโรคที่ได้จากการจัดลำดับความสำคัญนี้ไปพิจารณาทั้งในเรื่องของการตรวจคัดกรอง การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล จะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพของคนต่างด้าวได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

งานเดียวกันมีการเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาติระดับประเทศ” โดยนพ.ภูษิต ประคองสาย ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านส่งเสริมสุขภาพ) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชากรข้ามชาติเข้ามาอาศัยอยู่ประมาณ 4-5 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 50-60 %เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย อีก 40%เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้องและเข้ามาตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีผลต่อจีดีพี(GDP)ของไทย ประมาณ 6.2% หากมีการผลักดันแรงงานกลุ่มนี้ออกไป จะมีผลต่อจีดีพีของประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติเมื่อปี 2557 มีจำนวน 1.7 ล้านคน เป็นชาวกัมพูชามากที่สุด ดังนั้น การให้คนเหล่านี้มีหลักประกันสุขภาพเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งปัจจุบันระบบประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ มี 2 ระบบ คือ ประกันสังคมและบัตรประกันสุขภาพที่ซื้อกับสธ.ซึ่งจะเป็นแรงงานกลุ่มที่ผ่อนผัน ผู้ติดตามที่ไม่ใช่บุตร และแรงงานที่เข้ามาตามเอ็มโอยูระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เข้ามาทำงานตามไร่ส่วน ราคาปีละ 1,600 บาท หากเป็นบุตร ปีละ 365 บาท

อนาคตตัวเลขการซื้อบัตรประกันสุขภาพกับสธ.จะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาจะต้องมีนายจ้างและเข้าสู่ระบบประกันสังคม จากเดิมสัดส่วนระหว่างประกันสังคมและบัตรประกันสุขภาพอยู่ที่ 20 ต่อ 80 % ปัจจุบันอยู่ที่ราว 60 ต่อ 40 % อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยพบว่าแรงงานข้ามชาติไม่อยากไปอยู่ในระบบประกันสังคมเนื่องจากค่อนข้างแพงปีละราว 5,000 บาท เพราะฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาถึงแนวทางระบบประกันสุขภาพประชากรข้ามชาติที่มีความเป็นไปได้ ในรูปแบบที่ไม่เป็นภาระกับแรงงานและประเทศชาติไม่มีปัญหาในการดูแล

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในส่วนของสธ.มีการเตรียมการใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการให้บริการสาธารณสุขบางอย่างแก่ประชากรที่ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นการให้บริการที่ต้องให้ฟรี เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ โดยที่ผ่านมาไม่มีงบประมาณสนับสนุนในส่วนนี้ที่ชัดเจน เป็นการดำเนินการแบบเลี่ยงบาลี เช่น การให้วัคซีนป้องกันโรค จะคิดการสูญเสียวัคซีอยู่ที่ 30-40 % แต่ในความเป็นจริงคือนำมาให้เด้กต่างด้าว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากนี้สธ.จะดำเนินการเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรวม 80-90 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.การให้วัคซีนกับคนต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลทั่วประเทศต้องใช้งบประมาณดำเนินการส่วนนี้อยู่ที่ 28 ล้านบาทต่อปี 2.การป้องกันวัณโรค และ 3.การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสอยู่เดิม ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลก (Global Fund) แต่ปัจจุบันไม่ได้ให้การสนับสนุนแล้ว แต่ประเทศไทยจะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้ได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง

และ2.แผนพัฒนาสาธารณสุขในเขตสุขภาพพิเศษ มี 4 ด้านคือ พื้นที่อีอีซี กำลังจะเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีคนหลั่งไหลเข้าไป 8-9 ล้านคนรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย ระบบสุขภาพจึงต้องเปลี่ยน พื้นที่สาธารณสุขทางทะเล ต้องพัฒนาระบบการส่งต่อและการดูแลระบบสาธารณสุขในพื้นที่ให้ดีขึ้น พื้นที่ชายแดน ซึ่งประเทศไทยมี 31 จังหวัดที่ติดชายแดน ต้องมีความร่วมมือกับประเทศที่อยู่ติดกัน ในการการควบคุมโรคและการส่งต่อคนไข้ซึ่งยังเป็นปัญหา และสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะมีการนำแผนนี้มาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นแผน 3 ปีถึงปี 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ก่อนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบต่อไป

“การดำเนินการเรื่องการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาตินี้เป็นการทำเพื่อสิทธิมนุษยชนและป้องกันคนไทยส่วนใหญ่ไม่ให้ติดโรคและประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์ และอยากให้มีการปรับเจตคติว่าการให้การดูแลช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ จะต้องไม่มีเรื่องของเชื้อชาติ ชนชั้นวรรณะ”นพ.ศุภกิจกล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 18/11/2562 

ก.แรงงาน ย้ำปราบปรามผู้ค้ามนุษย์ แรงงานทุกสัญชาติต้องได้รับการคุ้มครอง

18 พ.ย. 2562 ที่ห้องแกรนด์รัชดา ชั้น 5 อาคารธารทิพย์ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานของสำนักงานแรงงานจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้มีความพยายามอย่างมาก ที่จะบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จนมีพัฒนาการสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกำหนดมาตรการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานทุกสัญชาติตามมาตรฐานสากลอย่างเท่าเทียม โดยจัดระเบียบและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ การกำหนดมาตรการตรวจสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ผ่านกระบวนการตรวจแรงงาน รวมทั้งให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง

โดยในปี 2561 และ 2562 สหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยในระดับ Tier 2 ติดต่อกัน 2 ปี ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อทิศทางความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยในการป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังมีข้อเสนอแนะด้านการป้องกันที่สำคัญหลายประการ ประกอบกับ กระทรวงแรงงานได้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับการอนุวัติการตามพิธีสารภายใต้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป ทั้งการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ ให้สามารถเข้าถึงผู้เสียหายและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตลอดจนเพิ่มความพยายามให้แรงงานทุกสัญชาติ ได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ ตามกฎหมาย”

การประชุมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในพื้นที่ ตลอดจนสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสาระสำคัญของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 และเพื่อซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในพื้นที่ 76 จังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงานและสำนักงานแรงงานจังหวัด จำนวน 110 คน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/11/2562 

กมธ.สธ.เตรียมชง ครม.แก้ปัญหาอดีต พนง.ของรัฐ ‘เงินเดือนเหลื่อมล้ำ-คืนอายุราชการ’

นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 14 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ตนได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฏร ในประเด็นเรื่องขอความเป็นธรรมกรณีพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ได้นับระยะเวลาก่อนการบรรจุเข้ารับราชการมานับรวมกับอายุราชการ และความเหลื่อมล้ำจากการเยียวยาตามหนังสือเวียนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ นร 1012.2/250

นายมานพ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจาก สธ. ก.พ. และ กรมบัญชีกลางเข้าร่วมรับฟัง โดยทางกรมบัญชีกลางชี้แจงประเด็นที่พนักงานของรัฐไม่ได้นับระยะเวลาก่อนการบรรจุเข้ารับราชการมานับรวมกับอายุราชการว่าติดขัดที่กฎหมายของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งระบุว่าให้เฉพาะข้าราชการเท่านั้นที่จะมีสิทธิในกองทุน ทำให้ไม่สามารถนับอายุราชการได้ ซึ่งทางชมรมฯได้นำเสนอไปว่าก่อนหน้านี้เคยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พ.ย. 2543 ที่ให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พนักงานของรัฐมีสิทธิในกองทุน กบข. ทว่าไม่มีการดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าวแต่อย่างใด

นายมานพ กล่าวว่า จำนวนพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถนับอายุราชการได้ปัจจุบันมีทั้งหมด 22,181 คน ซึ่งหลังจากที่ กมธ. ได้รับฟังข้อมูลต่างๆแล้ว ทางประธาน กมธ.สาธารณสุข บอกว่าจะดำเนินการเสนอเรื่องไปที่ ครม.เพื่อมีมติแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ พร้อมทั้งยังจะรวมย้อนหลังเพื่อชดเชยให้แก่พนักงานของรัฐที่ลาออกไปแล้วด้วย

ขณะที่ในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำจากการเยียวยาตามหนังสือเวียนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ นร 1012.2/250 นั้น ทางชมรมฯได้เรียกร้องขอความยุติธรรมมาโดยตลอดเพราะ นร.250 ทำให้ข้าราชการรุ่นน้องได้รับเงินเดือนมากกว่าข้าราชการรุ่นพี่ตกประมาณ 7,800-10,000 บาท เปรียบเทียบเฉพาะวิชาชีพเดียวกัน เช่น พยาบาลกับพยาบาล ล่าสุดหลังจากที่ชมรมฯได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องนี้แล้วโดยมีตัวแทนจาก ก.พ. สธ. และกรมบัญชีกลางเป็นหนึ่งในคณะทำงาน ขณะเดียวกันทาง กมธ. ก็เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจริง สมควรที่จะมีการแก้ไข จึงได้มอบหมายให้ ก.พ.นำไปพิจารณา โดยหากแก้ไขไม่ได้ให้นำเรื่องให้ สธ.รับผิดชอบและทำเรื่องเสนอ ครม.ต่อไป

"ครั้งนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการที่พิเศษกว่าครั้งที่ผ่านๆมา เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะไปร้องเรียนที่ไหน ทางหน่วยงานนั้นๆก็บอกว่าจะส่งเรื่องให้ สธ. ตลอด แต่ครั้งนี้ทาง กมธ. จะเสนอเรื่องเข้า ครม.โดยตรงเลย ไม่ต้องผ่าน สธ. อีก หลังจากนี้เราก็คงจะติดตามความคืบหน้าจากท่าน กมธ. เป็นระยะๆต่อไป" นายมานพ กล่าว

ที่มา: Hfocus, 18/11/2562 

ดุสิตโพลชี้ ปชช. 65.54% เผยข้าวของแพง คนตกงาน ร้อง ‘บิ๊กตู่’ ช่วย

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็น 'การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลในสายตาประชาชน' โดยสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,207 คน ระหว่างวันที่ 12-16 พ.ย. 2562 สรุปผลได้แบ่งออกเป็นดังนี้ 1.“5 อันดับปัญหาเศรษฐกิจ” ที่รุมเร้าประชาชน ณ วันนี้ พบว่า อันดับที่ 1 มองว่ามาจากข้าวของแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 65.54 เพราะสินค้ามีต้นทุนสูง ทุกอย่างปรับขึ้นราคา รัฐขึ้นภาษีสินค้าต่างๆ ทำให้ราคาแพงขึ้น วิธีแก้ไข มองว่า ต้องควบคุมราคาสินค้า ลดราคาน้ำมัน มีส่วนลดสำหรับประชาชน อันดับ 2 มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ ร้อยละ 39.19 สาเหตุมาจากรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ค่อยได้ผล เงินบาทแข็ง ท่องเที่ยวซบเซา เศรษบกิจโลกตกต่ำ วิธีแก้ รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

อันดับ 3 มองว่าเศรษฐกิจไม่ดีเห็นชัดจากการว่างงาน ตกงาน ถึงร้อยละ 31.76 สาเหตุมาจากเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีงานทำ สถานประกอบการขาดทุนต้องปิดตัวลง วิธีแก้ไข คือ ไม่เลือกงาน ลดรายจ่าย หางานพิเศษทำ ชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อันดับ 4 รายได้ลดลง เงินไม่พอใช้ ร้อยละ 25.68 สาเหตุมาจากสถานประกอบการมีกำไรลดลง ข้าวของแพง รายจ่ายสูง วิธีแก้ไข คือ เพิ่มค่าแรง ขึ้นเงินเดือน ลดภาษี ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ฯลฯ และอันดับ 5 การส่งออก การค้าและการลงทุนร้อยละ 17.48 สาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกซบเซา ต่างชาติ ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน วิธีแก้ไข คือ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวฯลฯ

2.เรื่องที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือมากที่สุด คือ อันดับ 1 ควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ ไม่ขึ้นภาษีร้อยละ 54.34 อันดับ 2 แก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน สร้างงานสร้างรายได้ ขึ้นเงินเดือนร้อยละ 38.41 และอันดับ 3 พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นร้อยละ 31.15

3.ใครหรือหน่วยงานใดที่ประชาชนคาดหวังให้เข้ามาช่วยเหลือ อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร้อยละ 47.90 อันดับ 2 กระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง พาณิชย์ แรงงาน อุตสาหกรรม เกษตรฯ ร้อยละ 32.84 และอันดับ 3 ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ร้อยละ 24.94

ที่มา: PPTV, 17/11/2562 

ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ เตรียมหยุดผลิตสินค้าที่โรงงานสาขาระนองตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ พร้อมจ่ายชดเชยพนักงาน 20-22 ล้านบาท

บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOTI รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2562 ได้มีมติให้หยุดการผลิตสินค้าที่โรงงานสาขาระนอง ตั้งอยู่ใน จ.ระนอง ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป เนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2562 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้จากการส่งออกของบริษัท

ทั้งนี้ การหยุดผลิตของโรงงานสาขาระนอง จะส่งผลให้บริษัทสามารถลดต้นทุนและสามารถบริหารต้นทุนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างโอกาสการแข่งขันในด้านราคาขายกับคู่แข่งทางการตลาดได้ สำหรับในด้านแหล่งวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตที่โรงงานสาขาระนองนั้น จัดหาได้น้อยลงเป็นอย่างมาก

สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทต้องเลิกจ้างพนักงานที่สาขาระนอง โดยบริษัทจะจ่ายชดเชยค่าจ้างตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด และคาดว่าเงินชดเชยค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้กับพนักงานรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 20-22 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้รับผลกระทบในด้านการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า เนื่องจากกำลังการผลิตของโรงงานที่ จ.สงขลา สามารถรองรับคำสั่งซื้อของลูกค้าได้อย่างเพียงพอ

ที่มา: ThaiPBS, 17/11/2562 

กนอ. ยืนยันขณะนี้ยังไม่มีสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมปิดกิจการ ส่วนที่ปิดกิจการเป็นโรงงานที่อยู่นอกนิคมฯ

จากสถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยที่มีปัญหา ทำให้โรงงานหลายแห่งปิดกิจการ ล่าสุดนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. กล่าวว่า ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีสถานประกอบการไหนที่ปิดกิจการ ส่วนที่ปิดกิจการตามที่เป็นข่าวเป็นโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมที่มีการขายกิจการ หรือ หยุดชั่วคราว โดยคาดว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นและมียอดสั่งซื้อจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง ซึ่งไม่มีใครทำนายได้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักในขณะนี้ คืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมียอดขายลดลง โดยสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวนั้นได้รับผลกระทบกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น และทางออกในระยะยาวสำหรับเรื่องนี้ คือการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

นายอัครเรศร์ ชูช่วย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ยืนยันว่าโรงงานทั้ง 700 กว่าโรงงาน ในนิคมอมตะนคร ยังคงเปิดกิจการอยู่ทุกแห่ง และไม่มีการหยุดงานชั่วคราว ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปราะบางมากที่สุดในช่วงนี้ คืออุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

นายอัครเรศร์ กล่าวด้วยว่าธุรกิจของอมตะมีนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่ 2 แห่ง คือที่จังหวัดชลบุรีและที่จังหวัดระยอง ในขณะเดียวกันได้ขยายนิคมอุตสาหกรรมไปในประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ลาว และเวียดนาม

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่มีแผนจะขยายต่อเฟสที่ 2 เป็นนิคม 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่จะมีลักษณะเป็น smart City ซึ่งการขายแรงงานจะไม่ใช่เป้าหมายหลักเนื่องจากค่าแรงสูง จึงต้องเน้นการตั้งนิคมสำหรับแรงงานทักษะสูง เพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ที่มีมูลค่าสูงกว่า

ก่อนหน้านี้ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์เลิกจ้างและการปิดกิจการโรงงานในปัจจุบัน ว่า ภาพรวมตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง พฤศจิกายน 2562 จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม มีโรงงานปิดกิจการ 1,391 โรงงาน ขณะเดียวกันมีโรงงานเปิดกิจการใหม่ 2,889 โรงงาน โดยมีโรงงานเปิดใหม่สูงขึ้นกว่าปิดกิจการถึง 2 เท่าตัว นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการเลิกจ้าง 35,533 คน ขณะที่ มีการจ้างงานในกิจการใหม่ 84,033 คน

ที่มา: TNN, 17/11/2562 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net