Skip to main content
sharethis

ฝ่ายกฎหมาย พปชร. ระบุหลังเห็นคำวินิจฉัยในคดีหุ้นสื่อ 'ธนาธร' มั่นใจ 27 ส.ส.ของพรรคจะไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะไม่มีใครทำธุรกิจสื่อ เพียงเป็นการแจ้งวัตถุประสงค์สำเร็จรูปในการจดทะเบียนบริษัทเท่านั้น ด้าน 'วทันยา-ทิพานัน' แจงความแตกต่างกรณีการโอนหุ้นของบริษัทจำกัด (บจก.) กับ บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บมจ.)

23 พ.ย. 2562 นายทศพล เพ็งส้ม ฝ่ายกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นถึงแนวการต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 27 ส.ส. ของพรรคว่าจากการที่ได้เห็นคำวินิจฉัยในคดีหุ้นสื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นจากการเป็น ส.ส. เพราะถือหุ้นสื่อนั้น ทำให้มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น 27 ส.ส.ของพรรคจะไม่ขาดคุณสมบัติอย่างแน่นอน เพราะจากคำวินิจฉัยดังกล่าวตรงกับแนวทางการสู้คดีของพรรค ที่ได้ชี้แจงว่า ไม่ใครทำธุรกิจสื่อ แต่เป็นเพียงการแจ้งวัตถุประสงค์สำเร็จรูปในการจดทะเบียนบริษัทเท่านั้น อีกทั้งยังมีเอกสารตอบกลับจากกระทรวงวัฒนธรรมแล้วยืนยันทั้ง 27 คน ไม่มีใครเคยแจ้งจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ แต่อย่างใด

'วทันยา-ทิพานัน' แจงความแตกต่างกรณีการโอนหุ้นของบริษัทจำกัด (บจก.) กับ บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บมจ.)

จากกรณีที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ยื่น กกต. สอบเอาผิด น.ส.วทันยา วงศ์โอภาศรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ปมถือหุ้นเครือเนชั่น ขอศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ ใช้บรรทัดฐานเดียวกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นั้น น.ส.พรรณิการ์ ระบุว่า ตนได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ น.ส.วทันยา ว่าขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ กรณีที่พบการถือครองหุ้นในกิจการของสื่อมวลชน คือ เครือเนชั่น หลังจากที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้เมื่อเทียบเคียงกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าถือครองหุ้นในกิจการสื่อมวลชน ภายหลังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และเทียบระยะเวลาการโอนหุ้นดังกล่าวช้าไป 1 เดือนถือว่าเป็นความผิดและขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. สำหรับกรณีของ น.ส.วทันยา ที่ตรวจสอบพบว่าได้ถือครองหุ้นในบริษัทเนชั่น และทางบริษัทเนชั่น แจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในกิจการ ไม่พบชื่อของ น.ส.วทันยา คือ เดือน ก.ย. 2562 หลังการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นาน 6 เดือน ทั้งนี้กรณีดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ น.ส.วทันยา ได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ภายหลังจากที่มีการประกาศรับรอง ส.ส.รอบแรกหลังการเลือกตั้ง เพราะคุณสมบัติ ว่าด้วยการถือครองหุ้นสื่อนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันยื่นสมัครรับเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ตนยื่น กกต. ได้ร้องขอให้ ส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้พิจารณาประเด็นควาผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ.2561 มาตรา 151 พร้อมขอให้ศาลพิจารณาสั่งให้น.ส.วทันยา หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่ศาลรับเรื่องไว้ตรวจสอบ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับคดีของนายธนาธร

น.ส.พรรณิการ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.วทันยา ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท เพราะตนแถลงข่าวกล่าวหาว่าแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนเครือเนชั่น ซึ่งตนพร้อมต่อสู้ในคดีดังกล่าว ส่วนรายละเอียดของการต่อสู้ ทั้งประจักษ์พยาน หรือการพิสูจน์ทราบถึงความสัมพันธ์กับนายฉาย บุญนาค ผู้บริหารเครือเนชั่น จะดำเนินการต่อสู้ในชั้นศาล ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว น.ส.วทันยา เคยยืนยันว่านายฉาย เป็นคู่สมรส ดังนั้นกรณีพิสูจน์ความสัมพันธ์ถือว่าชัดเจนแล้ว

ล่าสุด น.ส.วทันยา ได้ โพสต์เฟสบุ๊คตอบโต้ ว่า "ดิฉันขอยืนยันอีกครั้งว่าได้ขายหุ้นบริษัทสื่อมวลชนทั้งหมดก่อนวันยื่นใบสมัครต่อ กกต. และมีเอกสารที่ยืนยันได้ตามกฎหมายครบถ้วน ส่วนที่ สส.บางท่านไม่เข้าใจว่าการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องไปรายงานใดๆ กับกระทรวงพาณิชย์ เพราะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มี "ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์" หรือ "TSD" เป็นนายทะเบียน ดิฉันและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยินดีให้อภัยคนที่ไม่รู้

#ไม่รู้ให้ถาม #ผิดเป็นครู"

ด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุว่าความแตกต่างกรณีการโอนหุ้นของบริษัทจำกัด (บจก.) กับ บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บมจ.) จากประสบการณ์ #อดีตนักกฎหมายตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย #อดีตผู้ร่างข้อบังคับตลท. #อาจารย์สอนกฎหมายหลักทรัพย์ ดังนี้ค่ะ การโอนหุ้นของบริษัทจำกัด อยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 1129 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่กรณีการโอนหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัดนั้น อยู่ภายใต้บทบัญญัติของ มาตรา 58 ของ พรบ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 

ใจความสำคัญว่า “...การโอนหุ้นนั้นจะใช้ยันบริษัทได้เมื่อบริษัทได้รับคำร้องขอให้ลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้ว แต่จะใช้ยันบุคคลภายนอกได้เมื่อบริษัทได้ลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้ว...” 

ซึ่งหมายความว่าการโอนหุ้นของบริษัทมหาชนจะสมบูรณ์เมื่อนายทะเบียนของบริษัทได้จดแจ้งการโอน ซึ่งหากบริษัทมหาชนจำกัดเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า Listed Co. แล้ว ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนของ Listed Co. คือ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD ประกอบกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นการซื้อขายผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ แบบไร้ใบหุ้น (Scriptless) 

ดังนั้น การบันทึกการซื้อขายจึงเป็นการบันทึกในระบบของ TSD ทันที ภายหลังที่มีการซื้อขายผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการซื้อขายเปลี่ยนมือของหุ้นนั้นจึงมีผลสมบูรณ์ สามารถใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ทันที

น.ส.ทิพานันท์ ระบุอีกว่าในประเด็นของการส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์นั้น บริษัทมีหน้าที่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหรือที่เรียกว่า บมจ. 006 อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง 

เมื่อมีการประชุมสามัญประจำปี หรือที่เรียกว่าการประชุมผู้ถือหุ้น หมายความว่า บริษัทไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

#ซึ่งสาเหตุที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้เพราะเนื่องจาก จำนวนผู้ถือหุ้นของบริษัท Listed Co. นั้นมีจำนวนมากหลายหมื่นหลายแสนคน และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันในทุกวัน วันละหลายครั้งในตลาดหลักทรัพย์ และเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายนั่นเอง 

ซึ่งหากกฎหมายจะกำหนดให้บริษัทต้องยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้กระทรวงพาณิชย์ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนมือแล้ว ตลาดหลักทรัพย์คงจะไม่เกิดสภาพคล่อง และไม่เป็นผลดีต่อนักลงทุนเป็นแน่แท้

ดังนั้นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ถูกยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์นั้นจึงเป็นการสรุปรายชื่อผู้ถือหุ้น "ในวันที่บริษัทกำหนด" ว่าจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นนั่นเอง ซึ่งนักลงทุนโดยทั่วไปย่อมทราบดีว่า "มิใช่รายชื่อผู้ถือหุ้นที่อัพเดท" ดังนั้นหากต้องการตรวจสอบความเป็นเจ้าของหุ้นแล้วนั้น "จึงไม่สามารถตรวจสอบจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เพียงอย่างเดียวได้" 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของความแตกต่างระหว่างบริษัทจำกัดกับบริษัทมหาชนจำกัดนี้ เป็นเรื่องที่นักลงทุนควรรู้ค่ะ หากเป็นเรื่องเดียวกันก็ใช้มาตรฐานเดียวกันในการพิจารณา แต่หากเป็นคนละเรื่องแล้ว ก็ไม่สามารถนำบทบัญญัติของกฎหมายที่แตกต่างกันมาใช้เทียบเคียงหรือนำมาบังคับใช้กันได้

#ไม่รู้ให้ถาม

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น | กรุงเทพธุรกิจ | ไทยโพสต์ 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net