Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในพาดหัว ผู้เขียนจงใจใช้คำว่า "ประชาธิป-ไทย" ที่ดัดแปลงมาจากชื่อหนังของเป็นเอก รัตนเรืองเมื่อปี 2556 เพื่อจะใช้เรียกรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายเกี่ยวเนื่อง เพื่อสนทนากับข้อจำกัดของพรรคขนาดเล็กที่ไร้อำนาจด้วยอุปมาของ "พรรคกระยาจก" ในนวนิยายกำลังภายในจีนซึ่งในที่นี้ใช้กรณีศึกษาของพรรคสามัญชนที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมเสวนาในเวที “การอยู่รอดของพรรคขนาดเล็กในรัฐธรรมนูญไทย” ที่จัด ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนได้ชี้ให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบันของพรรคการเมืองขนาดเล็ก โดยเฉพาะพรรคที่ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องเผชิญหน้ากับความยุ่งยากของมาตั้งแต่ตอนก่อตั้งและการดำรงอยู่ในทุกวันนี้ เนื่องจากต้องเผชิญกฎหมายที่มีปัญหาอย่างน้อย 2 ประเด็นนั่นคือ การก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างพรรคสามารถระดมเงินทุนได้และพรรคที่ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวได้ รวมการสร้างอุปสรรคต่อการก่อตั้งพรรคและการดำรงอยู่ที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ เมื่อเทียบกับกฎหมายฉบับก่อน

ย้อนกลับไปก่อนนี้ ภารกิจสำคัญของพรรคขนาดเล็กอย่างสามัญชนคือ การรับสมัครสมาชิกให้ได้ครบ 5,000 คนภายใน 1 ปีหลังจากจดทะเบียนตั้งพรรค ตามเงื่อนไขของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560[2] มาตรา 33 สำหรับพรรคขนาดเล็กการหาสมาชิกไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก เมื่อเจอเงื่อนไขของการสมัครสมาชิกตามมาตรา 15 ก็คือ ค่าสมัครสมาชิกที่ไม่น้อยกว่า 100 บาท สำหรับคนที่ทำงานมีเงินเดือนอาจเป็นจำนวนที่ไม่มาก แต่สำหรับคนไม่น้อยมันถือว่ามากถึง 1 ใน 3 ของค่าแรงขั้นต่ำหรือเทียบกับเบี้ยผู้สูงอายุจำนวน 600-1,000 บาท[3] ต่อเดือนแล้ว ราษฎรสามัญชนที่หาเช้ากินค่ำอาจไม่มีเหตุผลมากพอที่จะสิ้นเปลืองเงินเพิ่มขึ้นอีก 100 บาท เพื่อแลกกับสิทธิบางประการ พรรคสามัญชนยังสามารถฝ่าด่านข้อจำกัดนี้ได้ เลิศศักดิ์ชี้ว่าพรรคเอาตัวรอดในเงื่อนไขห้าพันคนได้เมื่อไม่นานมานี้เอง

ตามกฎหมายดังกล่าว ในมาตรา 9 การเขียนว่าให้พรรคต้องทุนประเดิมที่ 1 ล้านบาท ทำให้พรรคที่จะเกิดคนเล็กคนน้อยแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แม้จะเขียนล็อกไว้ว่า ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคต้องบริจาคเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาทอาจจะเพื่อป้องกันการครอบงำพรรคของนายทุนใหญ่ แต่นั่นก็ยิ่งทำให้พรรคนี้มีเพดานที่สูงมากสำหรับคนที่ไม่มีรายได้หรือเงินเก็บมากพอ ไม่ว่าเจตนารมณ์ของคนร่างจะมองว่า เพื่อต้องการสร้างความเป็นสถาบันอย่างไรก็แล้ว การใช้เงินเป็นตัวตัดสินนับว่าเป็นปัญหา สร้างความเหลื่อมล้ำและกีดกันคนเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองอย่างสันติไปเสีย

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคสามัญชนได้คะแนนเสียงจากทุกเขตรวมกันเพียง 5,321 เสียงเป็นลำดับที่ 58 (จากทั้งหมด 81 พรรค) เลิศศักดิ์ประเมินว่า อาจเป็นด้วยสาเหตุหนึ่งคือ กติกาเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวต่างจากแบบเดิมที่มีทั้งเลือกแบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยว่า หากพรรคต้องการจะเปิดโอกาสให้คนทั้งประเทศได้เลือก จะต้องลงสมัครการเลือกตั้งแบบเขตทั้งหมด 350 เขต

ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561[4] มาตรา 57 ผู้สมัครจ่ายเงินค่าธรรมเนียมถึง 10,000 บาท นั่นทำให้พรรคขนาดเล็กอย่างพรรคสามัญชนส่งได้เพียง 14 เขต ใน 8 จังหวัด(กาฬสินธุ์, เลย, สุรินทร์, เชียงราย, สกลนคร, ขอนแก่น, ลำปาง และหนองบัวลำภู) และปาร์ตี้ลิสต์จำนวน 6 คน รวม 20 คน[5] แค่นั้นก็ใช้เงินจำนวน 200,000 บาท แล้ว โดยที่ยังไม่นับงบประมาณในการหาเสียงและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสั้นๆ ที่ถูกกำหนดมาทำให้พรรคที่เงินและพรรคที่ตั้งมานานแล้วได้เปรียบเต็มที่จากกติกานี้

ที่ตลกร้ายก็คือ สมาชิกพรรคสามัญชนไม่น้อย ไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนในเขตของตน เนื่องจากพรรคไม่ได้ส่งคนลงในเขตดังกล่าว หากเทียบกับกติกาเดิมที่ประชาชนมีสิทธิ์เลือกทั้งแบบเขตและแบบพรรค คะแนนเสียงอาจจะเก็บเกี่ยวได้มากกว่านี้

ในช่วงท้ายการเสวนา เลิศศักดิ์มีข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากการชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำดังที่กล่าวมาแล้ว ก็คือ 1) ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง หากจะต้องมีสมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 2) ต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นทางออกหนึ่งของสังคมไทย พรรคการเมืองขนาดเล็กจะช่วยสะท้อนความปรารถนาของท้องถิ่นและผู้คนต่างๆ ได้

ดังนั้น พรรคกระยาจกที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองขนาดเล็ก พรรคการเมืองที่ไม่มีทุน จึงไม่สามารถก่อตั้งได้ง่ายๆ ในกติกาประชาธิป-ไทยเช่นนี้ และแม้จะสามารถผ่านด่านแรกคือการถือกำเนิด แต่ก็ต้องเผชิญด่านทดสอบที่ยากขึ้นเรื่อย ที่สำคัญคือ มันไม่ใช่โจทย์ทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน เท่ากับว่าเป็นโจทย์ที่วางอยู่บนความเหลื่อมล้ำที่อาศัยทุนเป็นธงนำ มากกว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งที่การจะอยู่ต่อหรือไม่นั้นควรวัดที่เจตจำนงของประชาชน มากกว่าเป้าหมายที่ถูกวัดอย่างไม่เป็นธรรม.

.............

โน้ตหลังบทความ

A : กติกาจาก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560[6]

  1. มาตรา 9 "...พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาทแต่ไม่เกินคนละห้าหมื่นบาท"
  2. มาตรา 15 "...(15) รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละหนึ่งร้อยบาท"
  3. มาตรา 33 "ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน...(1) ดําเนินการให้มีจํานวนสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน และต้องเพิ่มจํานวนสมาชิกให้มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน (2) จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกําหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป

B : กติกาจาก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561[7]

  1. มาตรา 57 "(4) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท"

C : พรรคการเมืองที่มีชื่อเป็นตัวแทนของเครือข่ายทางเศรษฐกิจและอาชีพในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 มีคะแนนเสียงดังนี้[8]

ครูไทยเพื่อประชาชน                     56,339 คะแนน

กรีน                                           22,662 คะแนน

เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย      17,664 คะแนน

ชาติพันธุ์ไทย                              9,757 คะแนน

พลังครูไทย                                6,398 คะแนน

สามัญชน                                  5,321 คะแนน

ภูมิพลังเกษตรกรไทย                    3,535 คะแนน

พลังแรงงานไทย                         2,951 คะแนน

ยางพาราไทย                               610 คะแนน

กสิกรไทย                                   183 คะแนน

 

 

อ้างอิง

[1]จากการที่ผู้เขียนได้ร่วมเวทีเสวนาวิชาการ “การอยู่รอดของพรรคขนาดเล็กในรัฐธรรมนูญไทย” ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ผสานกับสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงจนไม่สามารถจะอยู่เฉยได้ จึงคิดว่าควรสนทนาด้วยบทความนี้ อนึ่ง แม้จะเป็นเสวนาวิชาการในต่างจังหวัดก็ควรบันทึกไว้ว่า งานนี้ได้รับความสนใจกับบุรุษสองนายที่ตัดผมเกรียนที่ดูแปลกแยกจากกลุ่มนักศึกษาและประชาชนทั่วไป เพียงแต่ผู้เขียนไม่สามารถระบุได้ว่า พวกเขาคือใครจริงๆ

[2] "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนที่ 105 ก, 7 ตุลาคม 2560, หน้า 1-41

[3]Workpoint News. "รัฐบาลแจงไม่ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คงจ่ายอัตราเดิมแบบขั้นบันได".สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2562 จาก https://workpointnews.com/2019/08/22/081315/ (22 สิงหาคม 2562)

[4] "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 135 ตอนที่ 68 ก, 12 กันยายน 2561, หน้า 40-97

[5]มติชนออนไลน์. "พรรคสามัญชน ชิง ส.ส. 14 เขต ใน 8 จังหวัด-บัญชีรายชื่อ 6 คน".  สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2562 จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_1353554 (7 กุมภาพันธ์ 2562)

[6] "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 134 ตอนที่ 105 ก, 7 ตุลาคม 2560, หน้า 1-41

[7] "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 135 ตอนที่ 68 ก, 12 กันยายน 2561, หน้า 40-97

[8]ไทยรัฐ. "นับแล้ว 100% เปิดผลคะแนน 81 พรรคการเมือง ใครวิน-ใครร่วง".  สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2562 จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1531756 (23 มีนาคม 2562)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net