ผู้ว่า ธปท. เตือนเอกชนรับมือความผันผวนค่าเงินบาท-โพลชี้คนลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น สู้ยุคเศรษฐกิจฝืด

ผู้ว่า ธปท. ยอมรับมีข้อจำกัดในการทำนโยบายการเงิน เพราะดอกเบี้ยนโยบายต่ำเป็นประวัติการณ์ และไม่คิดว่าไทยจะมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ติดลบ พร้อมเตือนเอกชนรับมือความผันผวนของค่าเงินบาท ด้าน 'สวนดุสิตโพล' เผยผลสำรวจคนลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น สู้ยุคเศรษฐกิจฝืด แต่ระบุค่าเดินทาง ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ค่าน้ำมัน ไม่สามารถประหยัดได้

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมานายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายการเงินมีกรอบจำกัด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน ที่ร้อยละ 1.25 เป็นอัตราที่ต่ำสุดในประวัติการณ์และในภูมิภาค นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551 - 2552 และไม่คิดว่าไทยจะมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ติดลบด้วย เนื่องจากอาจสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจได้

“การใช้นโยบายการเงิน และการคลังของไทยเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะเชิงโครงสร้าง เราไม่มีความสามารถในการทำนโยบายแรงๆ หรือใช้ยาแรงๆ ได้อีกมาก และไม่ควรทำ เพราะอาจจะสร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพตามมา ขณะที่การส่งผ่านนโยบายที่มีความยากลำบากขึ้น ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังศึกษาการส่งผ่านนโยบายการเงิน ผ่านผู้เล่นรายใหม่ นอกเหนือจากการส่งผ่านสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว

ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากนั้น นายวิรไท ยอมรับว่าเป็นการแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้ายังมีอยู่สูงมากโดยไม่สามารถตอบได้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าหรือจะอ่อนค่า โดยเป็นไปได้ทั้งสองทิศทาง ซึ่งเงินบาทอาจจะมีการปรับทิศได้เร็ว หากสถานการณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ามาก ดังนั้นเอกชนต้องบริหารความเสี่ยง อัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น 

“ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้าสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าเอกชนต้องทนทานและบริหารความเสี่ยงให้ดี โดยความผันผวนของเงินบาทมาจากปัจจัยต่างประเทศทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่เข้ามากระทบตลาดเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง” นายวิรไท กล่าว

'สวนดุสิตโพล' เผยผลสำรวจคนลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น สู้ยุคเศรษฐกิจฝืด แต่ระบุค่าเดินทาง ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ค่าน้ำมัน ไม่สามารถประหยัดได้

24 พ.ย. 2562 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผย ผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "การกินอยู่ของประชาชน ณ วันนี้" โดยสำรวจประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,174 คน ระหว่างวันที่ 19-23 พ.ย. 2562 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จากกรณีประเทศไทย ณ วันนี้ กำลังประสบปัญหาที่ซับซ้อนและยุ่งยากทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเลี้ยงดูครอบครัว และดำรงชีวิตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สรุปผลได้ ดังนี้

1.จากภาวะเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ประชาชนมีวิธีการประหยัดที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้าง?

อันดับ 1 ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง งานเลี้ยงสังสรรค์ ของฟุ่มเฟือย 69.38%
อันดับ 2 ไม่ออกนอกบ้าน อยู่บ้านมากขึ้น ทำอาหารทานเองที่บ้าน 40.74%
อันดับ 3 วางแผนการเงิน แบ่งเงินเป็นส่วนๆ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย 22.85%
อันดับ 4 ซื้อสินค้าเฉพาะในช่วงที่ลดราคา จัดโปรโมชั่น 21.23%
อันดับ 5 ทำงานพิเศษ หารายได้เสริม เก็บออมเงิน 19.60%

2.ประชาชนมีวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกว่า ปัจจัย 4 อย่างไร?

อาหาร
1.ทำอาหารทานเอง ลดทานข้าวนอกบ้าน 62.83%
2.กำหนดค่าใช้จ่ายในแต่ละมื้อ ไม่เกินกี่บาท 37.59%
3.ไม่กินทิ้งกินขว้าง กินพอดี เหลือเก็บใส่กล่อง 23.46%

ที่อยู่อาศัย
1.ประหยัดน้ำ ไฟ /ปิดไฟ ถอดปลั๊ก เมื่อไม่ใช้งาน 65.63%
2.หมั่นดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ซ่อมเอง 39.35%
3.เลือกเช่าราคาไม่แพง หารกับเพื่อน อยู่กับญาติ 15.77%

เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม
1.ช้อปปิ้งน้อยลง รอซื้อช่วงโปรโมชั่น ลดราคา 54.58%
2.ใส่ชุดเดิม แลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากับเพื่อน พี่น้อง 40.16%
3.ซื้อของมือสอง ไม่ซื้อแบรนด์เนม 16.71%

ยารักษาโรค
1.ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี 60.12%
2.ใช้สิทธิ สวัสดิการรักษาพยาบาล ประกันสังคม 32.36%
3.กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ 28.07%

3.สิ่งที่ประชาชนไม่สามารถประหยัดได้ มีอะไรบ้าง?

อันดับ 1 ค่าเดินทาง ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ค่าน้ำมัน 63.52%
อันดับ 2 ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล 50.80%
อันดับ 3 ค่าเช่า ค่าผ่อนชำระต่างๆ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิต 24.79%
อันดับ 4 ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน 20.64%
อันดับ 5 ค่าภาษีสังคม เช่น งานบุญ งานแต่งงาน งานศพ 18.66%

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย | โพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท