Skip to main content
sharethis

ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ชี้ไทยควรเดินหน้าสู่อาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ อย่างไรก็ตามควรมีมาตรการรองรับผลกระทบจากการแบน 3 สารเคมี เป็นการประกันความสำเร็จของความพยายามในการทำให้เกิดอาหารปลอดภัยในระยะยาว 

24 พ.ย. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีการแบน 3 สารเคมีจำกัดวัชพืชและผลกระทบ ว่าสุขภาพของประชาชน ความปลอดภัยของเกษตรกร คนทำงานย่อมสำคัญกว่ากำไรของการประกอบการและตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไทยควรเดินหน้าสู่อาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ พัฒนาสู่ระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืนในระยะยาว ปัญหาการยกเลิก 3 สารเคมีและผลของการดำเนินการดังกล่าว สะท้อน ข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ดีในกระบวนการตัดสินใจของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี สะท้อนปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของทางเศรษฐกิจและสังคมไทยได้เป็นอย่างดี 

เวลานี้การทำเกษตรอุตสาหกรรมแปลงใหญ่ต้องใช้สารเคมีมาก เจ้าของกิจการมิได้ใช้สารเคมีด้วยตนเอง ไม่ได้พ่นยาฆ่าหญ้าเอง ล้วนใช้เกษตรกรรับจ้างและเกษตรกรเหล่านี้มักไม่มีอุปกรณ์ที่ดีพอในการป้องกันตัวเองจากสารเคมี เนื่องจากแรงงานในภาคเกษตรมักไม่ได้รับความคุ้มครองด้วยมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานแบบภาคอุตสาหกรรมที่มีระบบที่ดีกว่า ขณะที่เกษตรกรจำนวนหนึ่งหากไม่ใช้สารเคมีก็มีต้นทุนสูงขึ้นและยังปรับตัวไม่ได้อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและรายได้ ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น ทางเลือกอื่นๆ ทดแทนการใช้สารเคมีต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิดให้ทันโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตและเศรษฐกิจของประเทศ เราควรเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% และคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวและยังได้เสนอให้รัฐบาลชดเชยและสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่การใช้สารทางเลือกและการพัฒนาไปสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ขอเตือนว่าเศรษฐกิจไทยอาจทรุดตัวลงไปอีกหากไม่มีมาตรการรองรับการแบน 3 สารเคมีจำกัดวัชพืชอันตรายหากภาคเกษตรกรรม ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ห่วงโซ่อุปทานและการผลิตเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี การมีมาตรการรองรับผลกระทบจากการแบนสารเคมีจึงเป็นการประกันความสำเร็จของความพยายามในการทำให้เกิดอาหารปลอดภัยในระยะยาว และ ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ภาคการค้าในระยะสั้นและระยะปานกลาง ในขณะที่สารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 สารข้างต้น ได้ถูก “แบน” จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 มาเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หมายถึงผู้นำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรมอาจจะเกิดปัญหา เช่น การนำเข้ากากถั่วเหลือง ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้ง หรือ กาแฟ ที่มีการใช้และมีการตกค้างของพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส (zero tolerance) ตั้งแต่หลังวันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป ประเทศผู้ผลิต-ส่งออกวัตถุดิบที่ผู้ประกอบการในประเทศนำเข้า ยังไม่ได้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว แต่มีการใช้อย่างปลอดภัยเพื่อไม่มีการ “ตกค้าง” ในผลผลิต หรือหากมีตกค้างก็อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์สูงสุดที่ไทยตามมาตรฐานชีวอนามัย กรณีแบบนี้ ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตอาหารได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องการความชัดเจนจากภาครัฐว่าสามารถนำเข้าได้หรือไม่ วัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารคนต้องมีความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุข ส่วนวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ต้องมีความชัดเจนและแนวทางปฏิบัติจากระทรวงเกษตร 


ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอาจถูกหักล้างด้วยผลกระทบจากความไม่ชัดเจนในการรับมือกับผลของการแบน 3 สารคดีที่มีต่อเศรษฐกิจและภาคการผลิต มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีเม็ดเงินกว่า 330,000 ล้านบาทยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการลงทุนยังคงชะลอตัว ส่งออกยังติดลบ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยเสี่ยงเฉพาะหน้า คือ สหรัฐฯจะปรับขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่ต่อสินค้าจีนในวันที่ 15 ธ.ค. นี้หรือไม่ และ ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังลังเลในการรับรองกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพในฮ่องกงที่ผ่านโดยรัฐสภา กฎหมายนี้จะเกี่ยวข้องกับอำนาจในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อฮ่องกงอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย 

ขณะที่ความเสี่ยงทางการเมืองภายในอาจเพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงหากไทยไม่สามารถสถาปนาระบบนิติรัฐนิติธรรมที่เข้มแข็งได้ ช่วงที่ผ่านมา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงเป็นการใช้แนวทางในรูปแบบเงินโอน ประกอบไปด้วย มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 20,000 กว่าล้าน ช่วยเหลือเกษตรกรโดนภัยแล้งและอุทกภัยประมาณ 60,000 ล้านบาท แนวทางแจกเงินเพื่อการท่องเที่ยวและการบริโภคประกอบไปด้วย ชิม ช้อป ใช้ สามเฟสกว่า 20,000 ล้านบาท แนวทางมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับเกษตรกร สำหรับ SMEs สำหรับซื้อที่อยู่อาศัย มาตรการเหล่านี้เพียงช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น มาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจจึงควรมุ่งเป้าไปที่การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนด้วยการส่งเสริมระบบนิติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ ควบคุมกำกับไม่ให้เกิดการละเมิดกฎหมายและไม่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ ดูแลไม่ให้มีการเรียกรับผลประโยชน์และการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งการมีมาตรการที่เน้นไปที่การสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างผลผลิต
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net