ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อลูกจ้างทำงานบ้าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" (International Day for the Elimination of Violence against Women) โดยได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2542 สืบเนื่องมาจากการตระหนักถึงความรุนแรงต่อสตรี หลังเหตุการณ์สังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสตรีชาวโดมินิกัน 3 คน คือ แพทริเซีย มาเรีย และมิเนอร์วา ในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2504 สาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้เกิดเหตุสังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดา จำนวน 14 คน หลังจากเหตุการณ์นั้นส่งผลให้กลุ่มผู้ชายกว่า 1,000,000 คน ตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และต้องการยุติปัญหาดังกล่าว จึงรณรงค์ให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และแสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อสตรี โดยการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ หมายถึง การยอมรับว่าจะไม่ทำร้ายหรือนิ่งเฉยต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ 

สำหรับประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการรณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายน ให้สังคมได้ตระหนักและร่วมป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีให้หมดสิ้นไป และใช้ “ริบบิ้นสีขาว แสดงจุดยืน ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี”

แม้จะมีการรณรงค์ในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่จวบจนปัจจุบัน ในสื่อต่าง ๆ ยังคงปรากฎข่าวการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเธออยู่ในสถานะด้อยโอกาสและยากที่จะเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมอย่างอาชีพลูกจ้างทำงานบ้านซึ่งเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดอาชีพหนึ่ง โดยเหตุที่ลูกจ้างทำงานบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ต้องอาศัยอยู่ในบ้านนายจ้าง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกกระทำความรุนแรงและล่วงละเมิดทั้งทางร่างกายและจิตใจ  และหากเป็นลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วยแล้ว ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น ในบางกรณีก็มีปัญหาการค้ามนุษย์เพิ่มเข้ามาด้วย 

ที่ผ่านมามีข่าวหลายกรณีที่เกิดกับลูกจ้างทำงานบ้านข้ามชาติ อาทิ เมื่อปี พ.ศ. 2545 มาซู เด็กสาวชาวพม่าเสียชีวิตจาการถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายและสาดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา พ.ศ. 2549 หญิงสาวชาวพม่า 2 คนถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ พ.ศ. 2553 เด็กสาวชาวพม่าถูกนายจ้างหลอกไปขายบริการทางเพศ พ.ศ. 2556 เด็กหญิงชาวกระเหรี่ยงถูกหลอกไปใช้แรงงานและทำร้ายร่างกาย รวมทั้งหญิงสาวชาวเอธิโอเปียก็ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายเช่นกัน  ล่าสุดในปีนี้ (พ.ศ. 2562) ก็มีข่าวของเด็กหญิงชาวลาว วัย 14 ปี ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายและถูกล่อลวงไปล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่มิได้เป็นข่าว เกิดขึ้นทั้งกับลูกจ้างทำงานบ้านไทยและแรงงานข้ามชาติ มีทั้งการใช้วาจาดูหมิ่นเหยียดหยาม และการลวนลามทั้งทางร่างกายหรือทางวาจา

ในปี พ.ศ. 2553  ได้เกิดการรวมตัวกันของ “เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย” ขึ้นโดยประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านไทย และเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านข้ามชาติ มีมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพทำหน้าที่ประสานงาน เครือข่ายให้ความรู้เพื่อให้ลูกจ้างทำงานบ้านตระหนักถึงปัญหาของตน รวมทั้งรณรงค์และเรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองทางสังคมให้แก่ลูกจ้างทำงานบ้านทุกคน อาทิ การผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189  ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของลูกจ้างทำงานบ้าน ในปี 2554 รณรงค์ให้เกิดกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านและมีการบังคับใช้อย่างทั่วถึง การรณรงค์ให้ประกันสังคมขยายความคุ้มครอง มาตรา 33 แก่ลูกจ้างทำงานบ้านเช่นแรงงานทั่วไป  ส่งเสริมให้มีการใช้จรรยาบรรณและสัญญาจ้างที่ได้มาตรฐานในการจ้างลูกจ้างทำงานบ้าน การแก้ไขขั้นตอนการขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติให้ง่ายและราคาไม่แพง การสร้างทัศนคติที่ดีของนายจ้างและสังคมต่ออาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน รวมทั้งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงทุกรูปแบบที่เกิดกับลูกจ้างทำงานบ้าน  เพื่อให้ลูกจ้างทำงานบ้านทุกคนในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานสากล และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2562 นี้ ที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 108 ได้ประกาศอนุสัญญาฉบับใหม่ที่เป็นมาตรฐานแรงงานสากลว่าด้วย ความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ ฉบับที่ C190 โดยอนุสัญญาฉบับดังกล่าวได้ให้คำนิยามของ ความรุนแรงและและการคุกคามในโลกของการทำงานถึงการกระทำใด ๆ ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือการคุกคามต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ เพศ และเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ

การรณรงค์และผลักดันให้เกิดการรับรองอนุสัญญาฉบับดังกล่าวจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นของลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งมีบ้านเป็นที่ทำงาน ในขณะเดียวกันสังคมไทยก็ต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้เรื่องความรุนแรงให้ทุกคนได้ตระหนัก และช่วยกันสอดส่องไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นในสังคมไทย  ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุขให้เกิดในสังคม โดยหยุดกระทำความรุนแรงและล่วงละเมิดทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อลูกจ้างทำงานบ้านและผู้หญิงทุกคน

 

อ้างอิง

-อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนงานทำงานบ้าน: ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบทางกฎหมาย ในการที่ประเทศไทยจะให้สัตยาบัน, รัชต์ บุราทร, คณะนิติศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, พ.ศ. 2557
-แรงงานข้ามชาติหญิง บทพิสูจน์ความเป็นคน และความเป็นลูกจ้างบนเส้นทางกระบวนการยุติธรรม, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), พ.ศ. 2560
-สตม. ช่วยด.ญ. ชาวลาว วัย 14 ปี เหยื่อความรุนแรงนายจ้าง, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/844411

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท