Skip to main content
sharethis

คณะผู้รายงานพิเศษ UN มีเอกสารถึงรัฐบาลไทยและลาวกรณีการหายตัวไปของอ็อด ไชยะวง อดีตนักกิจกรรมชาวลาวที่ลี้ภัยในไทยเมื่อ ก.ย. 2562 ห่วง ถูกส่งกลับลาวไปเจอการปฏิบัติที่ไม่ดี กังวลละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหลายข้อ ขอให้รัฐบาลชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องชะตากรรม การประกันสิทธิของผู้ลี้ภัยและการทำงานของนักปกป้องสิทธิฯ ในไทยอย่างปลอดภัย

บัตรผู้ลี้ภัยของอ็อด ไชยะวง ออกโดย UNHCR

25 พ.ย. 2562 เอกสารจากคณะผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN) แสดงความกังวลและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและลาว ในกรณีการหายตัวไปของอ็อด ไชยะวง (Od Sayavong) นักกิจกรรมชาวลาวที่ขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยกับสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในไทยและอยู่ระหว่างการรอการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม ที่หายตัวไปเมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

อีกแล้ว! ผู้ลี้ภัยชาวลาวหายตัวในไทย เพื่อนหวั่นถูกอุ้ม

เอกสารลงวันที่ 25 ก.ย. 2562 แต่เพิ่งเผยแพร่ในวันนี้ตามกฎการเผยแพร่ภายหลัง 60 วัน โดยให้ข้อมูลพื้นฐานก่อน-หลังการหายตัวไปของอ็อดเท่าที่ได้รับมาว่า อ็อด เป็นอดีตสมาชิกกลุ่ม “Free Lao” กลุ่มกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในลาวที่มีฐานปฏิบัติการในไทย มีการทำกิจกรรมทั้งการจัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนและการประท้วงอย่างสันติที่หน้าสถานทูตลาวในประเทศไทยในปี 2558 และ 2561 

ก่อนหายตัวไป อ็อดได้เข้าพบกับ ศ.ฟิลิป แอลสตัน ผู้รายงานพิเศษ UN ด้านความยากจนและสิทธิมนุษยชนเมื่อ มี.ค. 2562 ในวันเดียวกันเขาโพสท์รูปในเฟสบุ๊คส่วนตัว โดยใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์ช้างสามเศียรยืนบนแท่น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเก่าในลาว ปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์ต้องห้ามตามกฎหมายในลาว เคยมีชาวลาวถูกทางการลาวคุมขังเพราะชูธงสัญลักษณ์เดียวกันนั้นในการประท้วงที่หน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทยเมื่อปี 2561

ช่วงต้นเดือน ส.ค. 2562 มีข่าวลือในหมู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาวว่ารัฐบาลลาวกำลังตามหาตัวนักปกป้องสิทธิฯ จำนวน 6 คน ต่อมา ในเดือน ก.ค. อ็อดนำการประท้วงในซอยเสรีไทย 12 กทม. เรียกร้องให้รัฐบาลลาวปล่อยตัวสมาชิกกลุ่ม Free Lao 3 คนที่ถูกขังในลาว และให้รัฐบาลลาวเลิกไล่ยึดที่ดินสืบเนื่องกรณีเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตก

อ็อดถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้ายโดยเพื่อนของเขาเมื่อเวลาราว 17.30 น. เมื่อ 26 ส.ค. 2562 ขณะกำลังออกจากบ้านในเขตบึงกุ่ม กทม. เพื่อไปเจอกับเพื่อนอีก 2 คน เวลา 18.34 น. บัญชีเฟสบุ๊คของอ็อดมีการส่งข้อความให้เพื่อนเตรียมหุงข้าวไว้รออ็อดที่ร้านอาหารที่เขาทำงานอยู่ จากนั้นไม่มีใครทราบความเป็นไปของอ็อดอีกเลย

อ็อดไม่ได้กลับบ้านในคืนวันที่ 26 ส.ค. จากนั้นในช่วงเย็นวันต่อมา เพื่อนของอ็อดพยายามโทรศัพท์ติดต่ออ็อดแต่พบว่าโทรศัพท์มือถือไม่ได้เปิดใช้งาน ข้อความแชทที่ส่งไปหาก็ไม่ได้รับการอ่านหรือตอบกลับใดๆ 

เช้าวันที่ 2 ก.ย. เพื่อนของอ็อดอีกคนเดินทางไปแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจบึงกุ่ม หลังจากเพื่อนคนดังกล่าวเดินทางกลับไป เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ โทร. ติดต่อเขาให้กลับมาให้ข้อมูลเพิ่มติมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่ สน. บ่ายวันเดียวกันนั้น เพื่อนอ็อดจำนวน 3 คนได้เดินทางไปยัง สน. และได้รับแจ้งจากตำรวจว่าจะพยายามตามหาอ็อดโดยดูจากบันทึกการพูดคุยทางโทรศัพท์

ในวันที่ 4 ก.ย. เพื่อนของอ็อด 2 คน ได้รับแจ้งจากตำรวจ สน. บึงกุ่ม ให้เดินทางมาดูภาพในกล้องวงจรปิดบริเวณถนนของบ้านที่พวกเขาพำนักอยู่ ภาพในกล้องวงจรปิดเป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ช่วง 18.30 น. ของวันที่ 26 ส.ค. ในวิดีโอพบว่ามีรถสีขาวจอดอยู่หน้าบ้านพวกเขา โดยเพื่อนของอ็อดเล่าคำบอกเล่าของตำรวจว่า ไม่มีคนที่มีลักษณะคล้ายอ็อดเดินออกมาจากบ้านก่อนจะมีรถคันดังกล่าวมา

ทะเบียนรถคันดังกล่าวไม่สามารถมองเห็นได้จากวิดีโอดังกล่าว ตำรวจระบุว่าจะติดตามเรื่องดังกล่าวต่อ ทั้งนี้ ไม่มีการให้เพื่อนของอ็อดดูวิดีโอชิ้นอื่นๆ พวกเขาเคยขอตำรวจดูวิดีโอในช่วง 17.30-19.30 น. ในวันที่อ็อดหายตัวไป แต่ไม่ได้รับอนุญาต

9 ก.ย. 2562 สมาชิกครอบครัวของอ็อดเข้าพบกับรองโฆษกตำรวจแห่งชาติของไทย เพื่อสอบถามถึงชะตากรรมของอ็อด ต่อมาในวันที่ 11 ก.ย. ตำรวจนำตัวเพื่อนที่เช่าห้องอยู่กับอ็อดไปสอบถามข้อมูลที่ สน. บึงกุ่ม ซึ่งคำถามก็เป็นคำถามที่เคยตอบไปก่อนแล้วเมื่อมายัง สน. ก่อนหน้านั้น

คณะผู้รายงานพิเศษ UN กังวลว่าอ็อดอาจถูกบังคับส่งตัวกลับไปยังลาว ซึ่งอาจมีการจับกุม คุมขังตามอำเภอใจ การไต่สวนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่เป็นธรรม การตกเป็นอาชญากรจากการวิจารณ์รัฐบาลหรือนโยบายรัฐ รวมถึงความเสี่ยงจากการถูกซ้อมทรมาน ถูกบังคับสูญหายโดยผู้กระทำสามารถลอยนวลพ้นผิดและไม่มีกรอบทางกฎหมายใดๆ ที่สามารถเอาผิดการถูกปฏิบัติเช่นว่าได้

ทั้งนี้ การที่อ็อดหายตัวไปหลังเข้าพบผู้รายงานพิเศษของ UN นั้น เป็นที่น่ากังวลว่าถ้าเรื่องดังกล่าวนำไปสู่การหายตัวของเขา ก็จะถือเป็นการตอบโต้หรือแก้แค้น (reprisal) จากทางการลาว ซึ่งเหตุการณ์ของอ็อดนั้นถือว่าเกี่ยวพันกับบรรทัดฐานหรือกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) ซึ่งรัฐบาลลาวได้ให้สัตยาบันไปเมื่อปี 2555

รัฐบาลไทยมีพันธะที่จะไม่ผลักดันหรือส่งคนกลับไปยังรัฐที่เป็นที่เชื่อได้ว่าจะทำให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ในอันตราย เสี่ยงที่จะถูกซ้อมทรมาน บังคับสูญหาย ตามอนุสัญญา CAT ที่ลงนามและให้สัตยาบันไปเมื่อปี 2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICCPED ลงนามเมื่อปี 2555 ยังไม่ให้สัตยาบัน)

คณะผู้รายงานพิเศษ UN ขอให้มีการชี้แจง 7 ประเด็น ดังนี้

  1. ขอให้มีการชี้แจงข้อมูลหรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่กล่าวมาข้างต้น
  2. ขอให้มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งหนที่อ็อดอยู่ในปัจจุบัน และขั้นตอนการสืบสวนในกรณีการหายตัวไป
  3. ขอให้มีการให้ข้อมูลเรื่องมาตรการที่ชัดเจนของรัฐบาลในการหาตัวอ็อดและรับประกันว่าเขายังมีสุขภาวะทางกายและจิตที่ดีอยู่
  4. ถ้าอ็อดถูกจับกุมและคุมขังโดยทางการไทย ขอให้มีการชี้แจงข้อหาทางกฎหมายที่ทำให้เขาถูกจับกุมและคุมขัง และชี้แจงว่าได้รับการเข้าถึงทนายความหรือไม่
  5. ขอให้ชี้แจงว่ารัฐบาลได้เริ่มดำเนินการส่งตัวอ็อดกลับลาวแล้วหรือไม่ และถ้ากระทำแล้ว กระทำอยู่บนพื้นฐานอะไร
  6. ขอให้ชี้แจงว่ามีมาตรการใดๆ ที่รับประกันสิทธิของชาวลาวที่ได้รับสถานะการคุ้มครองจาก UNHCR หรือไม่
  7. ขอให้ชี้แจงว่ามีมาตรการใดที่ประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยสามารถทำหน้าที่อย่างสันติ และถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างปลอดภัยภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ปราศจากการถูกคุกคามทางกายภาพ ทางกฎหมายและในทางอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net