Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สถาบันวัชรสิทธา จัดงานเสวนาเรื่อง “Secret Buddhism การเดินทางของพุทธวัชรยานสู่สังคมไทย” โดยมีวิทยากร ได้แก่ อาจารย์กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล ตัวแทนจากมูลนิธิพันดาราซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมพุทธศาสนาแบบวัชรยาน หรือที่คนในสถาบันวัชรสิทธาเรียกว่า “สังฆะ” และอาจารย์วิจักขณ์ พานิช ตัวแทน “สังฆะ” และผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา ห้องเรียนศาสนาแบบโลกวิสัย (Secularism) ซึ่งผู้ก่อตั้งสืบสายธรรมการปฏิบัติมาจาก เชอเกียมตรุงปะ ครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณชื่อดัง ผู้นำพุทธศาสนานิกายวัชรยานแบบทิเบต เผยแพร่ในโลกตะวันตก พิธีกร ผู้นำสนทนาในงานนี้ คือ อาจารย์คมกฤช อุยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิชาการด้านศาสนาปรัชญา นักเขียนคอลัมน์ และ Youtuber รุ่นบุกเบิก ผู้มากความสามารถเจ้าของสมญานาม “เชฟหมี” งานนี้มีผู้เข้าร่วมฟังมากกว่า 40 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจากสังฆะทั้งสอง รวมถึงคนทั่วไปผู้สนใจ และผู้สังเกตการณ์อย่างข้าพเจ้าผู้เขียน

วงเสวนาเริ่มต้นด้วยการเชิญตัวแทน “สังฆะ” ผู้เป็นลูกศิษย์ลูกหาของทั้งสองสำนักมาบอกเล่าประสบการณ์ความเป็นมาเป็นไป เหตุที่ทำให้รู้จักพุทธศาสนาแบบวัชรยาน ประสบการณ์-แรงบันดาลในการฝึกฝนปฏิบัติธรรมตามแนววัชรยาน จากนั้นจึงพักช่วงคั่นรายการด้วยของว่างก่อนเข้าสู่การเสวนากับวิทยากรทั้งสองท่านตามหัวข้องาน คำถามมากมายหลายประเด็นถูกยกมา “ประเคน” แก่วิทยากรในช่วงนี้ อาทิ พุทธศาสนาแบบตันตระ-วัชรยานเป็นอย่างไร? ได้รู้จักครูบาอาจารย์ เริ่มต้นปฏิบัติ และก่อตั้งสังฆะเมื่อไร? “เชฟหมี” เกริ่นนำว่า คำถามเหล่านั้นอาจมีส่วนช่วยขยายความเข้าใจจากกรอบความรู้เดิมที่รับรู้กันอยู่ในสังคมไทย ผ่านงานเขียนทางวิชาการ หรือภาพจำในสื่อต่างๆ ที่ทำให้มองว่าพุทธศาสนาแบบวัชรยานหรือตันตระเป็นพุทธศาสนาในยุคเสื่อม มีคำสอนและพิธีกรรมที่ปะปนด้วยแนวคิดลัทธิศาสนานอกรีต เกี่ยวข้องกับเวทย์มนตร์คาถา หรือล่วงละเมิดบรรทัดฐานศีลธรรมข้อปฏิบัติทางเพศ

แน่นอนว่า คำตอบของวิทยากรทั้งสองท่าน ช่วยให้เราพอเข้าใจพุทธศาสนาแบบวัชรยาน (จากจุดยืนของผู้นับถือและปฏิบัติ) อย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ระดับ “อาจารย์สอนธรรมะ” ของทั้งสองท่าน เนื้อหาคำตอบบางส่วนจากความทรงจำและสมุดบันทึก (ที่เขียนสรุปจากความเข้าใจ) ของข้าพเจ้าผู้เขียนมีดังนี้ 

เท่าที่จำได้และจดไว้ ในตอนต้นของการเริ่มเสวนา “เชฟหมี” ถามว่าพุทธศาสนาแบบวัชรยานเป็นอย่างไร? อาจารย์กฤษดาวรรณ อธิบายว่า พุทธศาสนาแบบวัชรยานแท้จริงแล้วก็คือ มหายาน ซึ่งเน้นอุดมคติความกรุณา สอนให้มุ่งช่วยเหลือสรรพสัตว์ โดยเน้นอุบายการปฏิบัติ ให้เปลี่ยนสิ่งที่มัวหมองอย่างกิเลสเป็นเครื่องมือช่วยให้หลุดพ้นทุกข์และโปรดสรรพสัตว์ อีกทั้งยังใช้รูปพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ หรือเทพเจ้าในคติวัชรยานเป็นอุบายเพื่อฝึกฝนปฏิบัติธรรม ตลอดจนเป็นบุคลาธิษฐานอธิบายสภาวธรรม หรือคำสอนตามคติดังกล่าว การฝึกปฏิบัติในเส้นทางนี้ยังมีระดับเบื้องต้นที่สามารถถ่ายทอดได้แก่ผู้นับถือทั่วไป ไปจนกระทั่งระดับสูงที่ไม่อาจถ่ายทอดแก่คนทั่วไป แต่จำเป็นต้องถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์สู่ลูกศิษย์เฉพาะเพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการถ่ายทอดคำสอนและการปฏิบัติ โดยระดับเหล่านี้จะแบ่งตามอุปนิสัยของแต่ละคนที่แตกต่างกันในหมู่ผู้ฝึกปฏิบัติ สอดคล้องกับที่อาจารย์วิจักขณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับเขาแล้วพุทธศาสนาแบบตันตระหรือวัชรยานนั้น มีความลึกลับ (mystic) ในแง่ของประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติ โดยประสบการณ์เหล่านั้นไม่อาจแสดงด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียว ทว่ายังแสดงให้เห็นผ่านประสบการณ์ที่มาจากความรู้สึกทางกายและใจ  การเรียนรู้ประสบการณ์ลึกลับเช่นนี้ จะถูกส่งมอบจากอาจารย์ไปสู่ลูกศิษย์ อาจารย์วิจักขณ์มองว่า การเรียนรู้ที่เน้นความสัมพันธ์ศิษย์อาจารย์ในลักษณะนี้เป็นจุดเด่นประการหนึ่งของพุทธศาสนาแบบวัชรยาน

นอกจากคำถาม-ตอบที่ยกมาในข้างต้น การเสวนาคราวนี้ยังมีข้อมูลความรู้อีกมากมายหลายประการที่ไม่อาจยกมาแสดงไว้ในที่นี้ คำอธิบายข้างต้นมีสิ่งที่ข้าพเจ้าผู้เขียนสนใจ คือ ประเด็นที่อาจารย์กฤษดาวรรณอธิบายว่า พระพุทธศาสนาแบบมหายาน-วัชรยาน สอนให้มีใจกรุณามุ่งช่วยเหลือสรรพสัตว์ ความสนใจประเด็นนี้ ผนวกกับข้อคิดเห็นส่วนตัวที่มาจากการอ่านงานวิชาการ ก่อให้เกิดคำถามหลายประการผุดขึ้นมาในระหว่างที่นั่งฝัง ทว่าด้วยข้อจำกัดของเวลา (ให้บริการยานพาหนะขนส่งมวลชน) ทำให้ผู้เขียนไม่อาจอยู่ร่วมงานเสวนาจนถึงช่วงเปิดพื้นที่ให้ผู้ฟังถามคำถามในตอนท้าย 

ข้าพเจ้าผู้เขียนจึงขออาศัยบทความนี้เป็นพื้นที่สื่อสาร แลกเปลี่ยนกับท่านอาจารย์เจ้าสำนักทั้งสองแทนการพูดในงาน ข้อความสรุปคำตอบของวิทยากรในข้างต้น และข้อมูลที่จะยกมาประกอบข้อคิดเห็นต่อไปในบางส่วนนั้น ข้าพเจ้าเขียนขึ้นจากความทรงจำ และการจดบันทึกด้วยความเข้าใจ ถ้าหากผิดพลาดประการใดก็ขออภัย และรับความผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้าบทความนี้ก่อประโยชน์โสตถิผล มีความดีประการใดก็ขอยกความชอบทั้งหมดให้ท่านผู้จัดงานเสวนานี้ 

ลำดับต่อไปข้าพเจ้าขอแสดงมติในส่วนที่เป็นข้อสังเกต วิพากษ์วิจารณ์ และคำถามส่วนตัวที่ไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนในงาน หวังว่าข้อคิดเห็นเหล่านี้คงเป็นประโยชน์ในการศึกษาปฏิบัติและธำรงพระสัทธรรมวัชรยานให้ยั่งยืนเป็นประโยชน์คู่สังคมไทยสืบไป


ส่วนตัวข้าพเจ้าผู้เขียนมีความเห็นว่า “ศาสนา” นั้นไม่ใช่สิ่งที่ตั้งอยู่ได้โดยตัวเองอย่างแยกออกจากบริบททางสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายในแต่ละสังคมล้วนมีปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมบางอย่างเป็นบริบทกำกับ อีกทั้งยังสามารถอธิบายให้เห็นความเชื่อมโยงของบริบทที่ช่วยก่อรูปความคิดความเชื่อทางศาสนา หรือทำให้ศาสนาเหล่านั้นดำรงอยู่ได้อย่างมีชีวิตชีวา ดังที่นักวิชาการสายมานุษยวิทยา-สังคมวิทยาผู้ศึกษาศาสนากระทำกัน ตัวอย่างเช่น Max Weber นักสังคมวิทยาและเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน เขียนความเรียงเรื่อง จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม (The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism) อธิบายว่าคำสอนของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์บางกลุ่มมีความสอดคล้องและสนับสนุนกระแสทุนนิยมที่ก่อตัวในโลกตะวันตกช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19

คำสอนศาสนาไม่ได้แยกออกจากสังคมเด่นชัดอย่างที่คนนิยมแบ่งเรื่องศาสนากับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเป็น “ทางโลก” กับ “ทางธรรม” ความเห็นดังกล่าวนี้ส่งผลให้ตั้งข้อสังเกตว่า พุทธวัชรยานในเมืองไทยทั้งสองสำนักก็เช่นเดียวกัน การเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของสังฆะทั้งสองต้องมีปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างที่สามารถอธิบาย (และถกเถียงกัน) ได้ในแง่ใดแง่หนึ่ง 

ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้นว่าก่อนที่อาจารย์วิทยากรเจ้าสำนักทั้งสองท่านจะเสวนากัน ตัวแทนของลูกศิษย์แต่ละ “สังฆะ” ได้ออกมาถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาที่เชื่อมโยงกับการศึกษาศาสนาพุทธแบบวัชรยาน เท่าที่ข้าพเจ้าผู้เขียนสังเกตและบันทึกไว้ ตัวแทนเหล่านั้นได้รู้จักพุทธวัชรยานผ่านการอ่านหนังสือที่แปลจากภาษาอังกฤษ (ตีพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง, สวนเงินมีมา, ศูนย์ทิเบตศึกษา) ทราบจากการบอกต่อในหมู่คนรู้จัก การทดลองเข้าอบรมในคอร์สปฏิบัติธรรม มีแรงดลใจให้ศึกษาและปฏิบัติมาจากความชอบส่วนบุคคล และปัญหาชีวิต คอร์สปฏิบัติธรรมเหล่านั้นมีทั้งใน-นอกประเทศ แน่นอนว่าคอร์สอบรมเหล่านี้ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม รวมทั้งค่าเดินทาง ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็น ตัวแปรสำคัญที่ทำให้พวกเขาเข้าถึงศาสนาพุทธแบบวัชรยาน ได้แก่ “การอ่านออกเขียนได้” ซึ่งทำให้สามารถอ่านงานเขียนหนังสือธรรมะ รวมถึงมี “เงิน” ซึ่งเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ และมีปัญหาชีวิตที่เป็นความทุกข์ทางใจไม่ใช่เรื่องปากท้อง 

ถ้าหากลองจับแพะชนแกะอธิบายคร่าวๆ ให้เห็นปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมที่ทำให้พุทธศาสนาวัชรยานสองสำนักนี้เติบโตในไทย ข้าพเจ้าผู้เขียนพิจารณาการเกิดขึ้นของ “สังฆะ”เหล่านี้ มีที่มาจากกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) และการดำรงอยู่ของชนชั้นกลาง (ที่เข้าถึงการศึกษาและมีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นนายทุนราย ผู้ประกอบการรายย่อย หรือมีงานประจำทำอย่างครูบาอาจารย์ นักวิชาการ) เห็นได้จากการเข้ามาของหนังสือแปลพุทธศาสนาวัชรยานที่ถูกแปลจากภาษาต่างประเทศ สามารถสละเวลาและทุนทรัพย์เดินทางไปเรียนคำสอน หรือเข้าคอร์สอบรมปฏิบัติธรรมในต่างประเทศ ตัวแปรเหล่านี้ต่างบ่งชี้ให้เห็นความเป็นชนชั้นกลางของสมาชิกสังฆะผู้นับถือ 

ในแง่หนึ่ง ถ้าหากใช้กรอบแนวคิดทางสังคมวิทยาแบบ Marxism ที่มองว่าสถานะทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดชนชั้นและความเชื่ออุดมการณ์แล้วจะพบว่า ชนชั้นกลางที่มีฐานะดีไม่เดือดร้อนเรื่องปากท้องย่อมนับถือศาสนาที่ตอบโจทย์กับความทุกข์ทางใจมากกว่าทางกาย ผิดกับชนชั้นแรงงานผู้นับถือศาสนาหรือลัทธิความเชื่อที่ตอบโจทย์กับปัญหาปากท้องของพวกเขามากกว่า ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ว่า ความเชื่อของศาสนาพุทธแบบวัชรยานที่สองสำนักนำเข้ามา อาจจะไม่ใช่วัชรยานแบบที่มีพระโพธิสัตว์เป็นเจ้าแม่กวนอิมผู้ “บอกใบ้ให้หวย” หรือดลบันดาลโชคลาภใดๆ แต่เป็นพระโพธิสัตว์ พระธรรมบาล นางตารา พระฑากินี หรือเทพเจ้าผู้เป็นสัญลักษณ์ทางอภิปรัชญา กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เหล่าสมาชิกสังฆะปฏิบัติธรรมเพื่อแก้ปัญหาจิตใจ ไม่ได้หวัง “รวย” หรือลาภยศสักการะใดๆ ที่ช่วยยกระดับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

ถ้าหากมีการศึกษาทางวิชาการอย่างจริงจัง ผู้วิจัยอาจพบเห็นแบบแผนทางสังคมบางประการที่มีร่วมกันของบรรดาเหล่าสมาชิกสังฆะ หรือตัวครูบาอาจารย์เจ้าสำนัก แม้กระทั่งความเป็นชนชั้นกลางของพวกเขาที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตไว้ก็จำต้องถูกตรวจสอบด้วยการศึกษาอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้แล้ว ไม่แน่ว่าปัญหาทางใจของพวกเขาอาจมาจากความทุกข์ส่วนตัวที่เกิดจากปัญหาแวดล้อมในหน้าที่การงาน หรือเพื่อนฝูงความสัมพันธ์ ดังนั้น ความน่าสนใจอีกประการนอกเหนือจากการมุ่งอธิบายชนชั้น หรือโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับศาสนาแล้ว ยังมีประโยชน์เชิงหน้าที่ของพุทธวัชรยานทั้งสองสำนักนี้ที่น่าพิจารณา กล่าวคือ นอกจากจุดมุ่งหมายดับทุกข์ หรือแสวงหาความหลุดพ้นทางศาสนาแล้ว การมาร่วมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนสังฆะแบบนี้ตอบโจทย์ชีวิตในมิติทางสังคมอื่นๆของพวกเขาหรือไม่? 

สมาชิกสังฆะท่านหนึ่งระบุว่า “ประทับใจในกัลยาณมิตรในสังฆะ เพียงแค่เห็นหน้าก็สบายใจ” เป็นไปได้หรือไม่ว่า การมาร่วมปฏิบัตินี้เป็นการมาสังสรรค์กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน หรือไม่ หรือมาแสวงหาพื้นที่หลบหลี้หนีภัยจากสังคมกระแสหลักในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการหลบเพื่อพักใจ (escapism) ก่อนไปสู้ชีวิตแต่ละคนในฐานะปัจเจกบุคคล  หรือมาหลบเพื่อตั้งหลัก รวมสมัครพรรคพวกขับเคลื่อนอุดมการณ์ปณิธานพระโพธิสัตว์ช่วยเหลือสังคมสมกับปณิธานของพระพุทธศาสนามหายานดังที่อาจารย์กฤษดาวรรณได้อธิบายในข้างต้น ไม่ใช่เพียงแค่สนองความต้องการส่วนตัวในระดับปัจเจก ประเด็นเหล่านี้จำต้องศึกษาด้วยแนวทางชาติพันธ์วรรณา (ethnography) แบบมานุษยวิทยา โดยผู้วิจัยลงไปเป็นคนในมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกิจกรรม เรียนรู้ พูดคุย และสังเกตชีวิตของบรรดาสมาชิกสังฆะแต่ละท่าน

สรุปแล้วคำถาม-ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นของข้าพเจ้าผู้เขียนประการแรกคือ ผู้นับถือพุทธศาสนาวัชรยานในเมืองไทยมีเพียงชนชั้นกลางหรือไม่? เท่าที่ทราบมาการเรียนพุทธแบบวัชรยานก็ไม่ใช่จะเรียนกันได้ง่ายๆ แต่ต้องกระทำผ่านครูบาอาจารย์ผู้เป็น “ลามะ” ฉะนั้น พุทธศาสนานิกายนี้จึงมีเรียกในภาษาอังกฤษว่า Esoteric Buddhism หรือศาสนาพุทธแบบลึกลับ ข้าพเจ้าผู้เขียนได้ยิน อาจารย์กฤษดาวรรณกล่าวว่าพุทธศาสนาแบบนี้มีระดับขั้นในการศึกษา บางระดับสงวนไว้ให้เฉพาะบุคคลบางประเภท ฟังแล้วรู้สึกน่าค้นคว้าหาคำตอบว่าเป็นบุคคลประเภทไหน? ฤๅศาสนาทางเลือกเช่นนี้จะสงวนไว้เฉพาะกับผู้ที่มีโอกาสเลือก?

ข้าพเจ้าได้ยินอาจารย์วิจักขณ์เอ่ยถึงบรรดาครูบาอาจารย์สายธรรมนี้ในอดีตว่ามีชีวิตที่โลดโผนและแปลกแยกจากจากสังคม จนกระทั่งผู้คนนับถือท่านแต่ไม่แนะนำให้ไปเรียนธรรมะด้วย  อย่างไรก็ตาม เท่าที่ข้าพเจ้าผู้เขียนได้ลองเฝ้าสังเกต ผู้ฝึกปฏิบัติใน “สังฆะ” วัชรสิทธา ไม่ได้มีท่าทางแปลกแยกจากสังคม หรือต่อต้านสังคมสักเท่าไร บางท่านกลับแสดงความเป็นมิตรอย่างยอดเยี่ยม น่าชื่นชมเสียด้วยซ้ำไป

คำถามประการต่อมา คือ พุทธศาสนาวัชรยานนี้เป็นประโยชน์กับสรรพสัตว์สมดังปณิธานจริงหรือไม่? หรือมีไว้เพื่อช่วยคนบางกลุ่มในสังคม โดยแก้ปัญหาชีวิตส่วนตัวในระดับปัจเจก หรือช่วยให้มีที่ “พักใจ” แต่เพียงเท่านั้น แม้ว่า เจ้าสำนักวัชรสิทธาอย่างอาจารย์วิจักขณ์จะผลิตงานเขียนที่นำคำสอนศาสนาไปเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมร่วมสมัย (โปรดดูหนังสือ ธรรมนัว: พุทธธรรมท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม (2556), รัฐ-ธรรม-นัว (2558) เขียนโดย วิจักขณ์ พานิช) ทว่า บรรดาสมาชิกสังฆะวัชรสิทธาของท่านอาจารย์วิจักขณ์เอง รวมถึงสังฆะพันดาราของอาจารย์กฤษดาวรรณ พวกเขามีมุมมอง-บทบาททางสังคมการเมืองอย่างไร คล้ายคลึงกันหรือไม่? ยังเป็นคำถามที่ชวนให้ขบคิดหาคำตอบ

ประการสุดท้าย พุทธศาสนาแบบวัชรยานในเมืองไทยเหล่านี้มีอัตลักษณ์ (religiosity) และพลวัต (dynamic) อย่างไร? มีการผสมผสานกลมกลืนกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมในบ้านเราหรือไม่? “ศาสนาพุทธวัชยานแบบไทย” เป็นอย่างไร? แตกต่างกับศาสนาพุทธวัชรยานที่อื่นบ้างหรือไม่? ตลอดจนศึกษาเปรียบเทียบ “สังฆะ”ทั้งสองด้วยกันเองในเบื้องต้น ข้าพเจ้าผู้เขียนจำได้ว่า ในตอนต้นของงานเสวนา อาจารย์วิจักขณ์เองก็ยังกล่าวอย่างติดตลกว่า ท่านสัมผัสได้ถึง “พลัง” ที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิกสังฆะทั้งสอง

ข้าพเจ้าผู้เขียนใคร่อยากรู้นักว่า “พลัง” ที่อาจารย์วิจักขณ์สัมผัสได้เป็นอย่างไร? เสียดายที่ข้าพเจ้าไม่มี “ของ” เหมือนกับท่านอาจารย์ ทำให้ไม่อาจสัมผัสพลังดังกล่าวได้ เห็นทีจะต้องลองแสวงหาครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณ ฝากตัวเรียนตันตระ ศึกษาพุทธศาสนาวัชรยานกับเขาบ้างเสียแล้ว แต่ก่อนอื่นใดนั้น คงต้องสร้างตัวแสวงหาทุนทรัพย์เป็น “ค่าครู” เสียก่อน 

ข้าพเจ้าเคยได้ยินเพื่อนนักวิชาการศาสนศึกษาท่านหนึ่งเล่าว่า ในตำนานพื้นบ้านของทิเบต พระราชาถวายทองคำเป็นคุรุทักษิณาแก่พระปทุมสมภพ หรือ “คุรุรินโปเช”  เพื่อนิมนต์ท่านให้เดินทางจากอินเดีย มาเผยแพร่คำสอนตันตระในทิเบต ไม่ว่าเรื่องเล่านี้จะจริงเท็จประการใด เราท่านทั้งหลายต่างก็คงทราบความจริงประการหนึ่งเป็นอย่างดีว่า การไปเข้าคอร์สอบรมที่มูลนิธิพันดารา หรือร่วมกิจกรรมของสถาบันวัชรสิทธาแต่ละครั้งนั้น ต้องจ่ายเงินสมทบทุนค่ากิจกรรมอย่างแน่นอน เพราะครูบาอาจารย์ท่านเป็นฆราวาสผู้ยัง “ต้องกินต้องใช้” และอาศัยอยู่ในสังคมที่ทุกอย่างหมุนไปด้วยเงินทองเหมือนกับเรา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net