“ขบวนการอนาคตใหม่” : บทสำรวจบางประการของกระแสการเมืองมวลชนไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กระแสการต่อสู้ของเสื้อแดงทศวรรษก่อนหน้านั้น

นับจากปี พ.ศ.2548 เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วมอนุรักษ์นิยม คลี่คลายตัวผ่านการรัฐประหารสองครั้ง ปี 2549 และปี 2557 เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่าฝ่ายที่เข้าต่อสู้ทางทางการเมืองกับฝ่ายจารีตอนุรักษ์นิยม ทหาร และเครือข่ายสถาบันกษัตริย์โดยตรง คือ ขบวนคนเสื้อแดง มวลชนเสื้อแดง 

ขบวนการเสื้อแดงในระยะสิบปีที่ผ่านมาคือขบวนการที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย การก่อตัวขึ้นของคนเสื้อแดงคือการตอบโต้โดยตรงต่อปฎิกิริยาของฝ่ายจารีตอนุรักษ์นิยมที่มีต่อการเมืองแบบเลือกตั้ง คนเสื้อแดงมีประสบการณ์ต่อสู้ทางการเมืองมายาวนานนับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นล้มลงไปด้วยการรัฐประหาร พวกเขาเข้าร่วมการต่อสู้ทุกระดับทั้งในระดับท้องถนนและโลกออนไลน์ 

นอกจากนี้ ขบวนการเสื้อแดงเองก็มีความหลากหลายภายในค่อนข้างมาก ไม่ใช่มีแค่เพียงกลุ่มคนเสื้อแดงเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่มีแค่เพียงผู้ที่สนับสนุนพรรคของทักษิณ ไม่ใช่มีแค่เพียงผู้นิยมชื่นชอบนโยบายประชานิยมของทักษิณเท่านั้น หากพิจารณาให้ดี ในขบวนเสื้อแดงมีกลุ่มคนทุกระดับทางความคิด ขอพูดสั้นๆ โดยภาพรวมว่าคือ “มวลชนแนวร่วม” ของคนเสื้อแดงนั่นเอง

“มวลชนแนวร่วม” เหล่านี้ได้เข้าร่วมการต่อสู้กับคนเสื้อแดงมายาวนานด้วยเช่นกัน พวกเขาอาจจะไม่ได้นิยมทักษิณหรือสนับสนุนพรรคของทักษิณ แต่มองเห็นปัญหาทางการเมืองที่เกิดจากรัฐประหาร เกิดจากความสองมาตรฐาน เกิดจากความไม่ยุติธรรมต่างๆ ในทางการเมือง ต้องการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งการเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับคนเสื้อแดงในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นช่องทางแสดงออกที่สำคัญของแนวร่วมฯ เนื่องจากกระแสเสื้อแดงถือว่ายังคงเป็นกระแสใหญ่ สามารถระดมทรัพยากรต่างๆ ได้มาก มีช่องทางเข้าร่วมต่อสู้ที่ชัดเจนกว่ากระแสรองอื่นๆ ในขณะนั้น

ขีดจำกัดของขบวนการเสื้อแดง 

อย่างไรก็ตาม กระแสการต่อสู้แบบเสื้อแดงย่อมต้องมีข้อจำกัดในตัวเอง การก่อตัวขึ้นของการเมืองแบบเสื้อแดงนั้นมาจากพรรคการเมืองและรัฐบาลไทยรักไทยถูกทำลายลงไป ทำให้ผู้ที่สนับสนุนพรรคและสนับสนุนทักษิณเกิดความรู้สึกไม่พอใจ เมื่อมีองค์กรนำทางการเมืองพวกเขาก็เข้าร่วมอย่างรวดเร็ว แต่องค์กรนำนั้นถูกครหาว่ายึดโยงกับชนชั้นนำทางการเมืองบางกลุ่มซึ่งหมายถึงกลุ่มของทักษิณ คนเสื้อแดงถูกแนวร่วมฯวิจารณ์มาตลอดว่าเป็นขบวนการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการยึดโยงตัวเองเข้ากับทักษิณ ไม่สามารถขยายแนวร่วมให้กว้างออกไปมากกว่านี้ได้ แม้ว่าคนเสื้อแดงเองมีเหตุผลโต้แย้งออกมาว่าการยึดโยงตัวเองเข้ากับชนชั้นนำดังกล่าวนั้นมีลักษณะเป็นยุทธวิธีทางการเมืองหรือยึดโยงแค่เพียงการใช้ชนชั้นนำเป็นเครื่องมือตัวเองก็ตาม

นอกจากนี้ ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2556-2557 ขบวนการเสื้อแดงยังถูกวิจารณ์มากขึ้นจากกระแสคนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง “เชิดชูเจ้าบางพระองค์” ทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่ากระแสเช่นนี้ผลักให้การต่อสู้ถอยหลังไปมากทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงเพิ่งผ่านเหตุการณ์ “ตาสว่าง” เมื่อครั้งถูกล้อมปราบปี 2553 และถูกมองว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้นเป็นเพียงเกมหนึ่งของชนชั้นนำ เพราะเมื่อจวนเจียนใกล้ถึงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” คนเสื้อแดงบางกลุ่มกลับพยายามสร้างกระแส “เลือกนิยมตัวบุคคล” ทั้งที่โดยโครงสร้างทางการเมืองแล้วไม่ว่าผู้ใดจะขึ้นมาเป็นผู้นำหลังการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ก็ล้วนแต่ยังคงอยู่ในสภาพเดิมมิได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้แนวร่วมทางการเมืองมีท่าทีถอยห่างออกมา ไม่ได้คิดว่าการต่อสู้ในแนวทางเสื้อแดงคือคำตอบ พวกเขารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วขบวนแบบเสื้อแดงนั้นพากลับมาในทิศทางเดิม คือ การเมืองแบบชนชั้นนำกำหนด มิใช่การเมืองแบบประชาธิปไตยฐานรากที่มุ่งเน้นพลังขับเคลื่อนโดยมวลชน-ประชาชนเป็นด้านหลัก

อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้คือเหตุปัจจัยส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อกระแสความคิดในฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” เป็นสถานการณ์การคลี่คลายตัวทางความคิดหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง

สถานการณ์และกระแสความคิดต่างๆ ก่อนการมาของพรรคอนาคตใหม่

ก่อนการปรากฎตัวของพรรคอนาคตใหม่ กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการเสื้อแดงเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด หากแต่ช่องทางการเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองอื่นๆ นอกเหนือจากขบวนเสื้อแดงนั้นยังคงมีจำกัดอยู่มากทั้งในแง่การขับเคลื่อนโดยองค์กรนำมวลชนและพรรคการเมือง มวลชนแนวร่วมขบวนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดที่จะอยู่ร่วมในแนวทางการต่อสู้แบบเสื้อแดง(และแบบทักษิณ)เพราะเขาไม่มีทางเลือกมากนัก รวมทั้งยังไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะแยกตัวออกมาจากกระแสแบบเสื้อแดงได้ จึงทำให้บรรยากาศความอึดอัดขัดใจดำรงอยู่ในความคิดมวลชนจำนวนไม่น้อย ปัจจัยนี้ส่งผลให้พวกเขาเริ่มมองหาแนวทางต่อสู้ใหม่ๆ หรือมองหาช่องทางเข้าร่วมการต่อสู้ใหม่ไปเองโดยธรรมชาติ 

สถานการณ์หลังการรัฐประหาร 2557 ผู้เขียนเห็นว่าบรรยากาศทางการเมืองแบบรัฐประหารคือตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการก่อตัวของขบวนการอนาคตใหม่โดยตรง กล่าวคือ สังคมการเมืองไทยอยู่ในสภาพการเมืองแบบปิด รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด มีการจับกุมผู้ต่อต้าน มีการเรียกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเข้าไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร มวลชนผู้สนับสนุนฝ่ายจารีตอนุรักษ์นิยมสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อิสระเสรีกว่า(เมื่อเทียบกับคนอีกฝ่าย) ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนที่ไม่พอใจทหาร ไม่พอใจการรัฐประหาร 2557 ไม่พอใจเพราะความไม่เป็นธรรมทางการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเกิดความรู้สึกต่อต้านอนุรักษ์นิยมจารีตมากยิ่งขึ้นไปอีก และมีความคาดหวังอยู่ลึกๆ ว่าน่าจะมีองค์กรนำการต่อสู้ที่จับต้องได้และไปไกลกว่าองค์กรนำแบบ นปช. หรืออย่างน้อยที่สุดหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อยากให้มีตัวเลือกที่น่าจะมีความหวังมากกว่าที่เป็นอยู่

อีกสถานการณ์หนึ่งที่กำหนดอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนในฝ่ายประชาธิปไตย คือ การบริหารประเทศของคณะ คสช. ตลอด 5 ปีหลังจากยึดอำนาจ 2557 จนถึงก่อนการเลือกตั้ง 2562 ประสบความล้มเหลวอย่างมากโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจปากท้อง นอกจากนี้รัฐบาลยังเผชิญหน้ากับข้อครหาเรื่องคอรับชั่นและการทุจริต มีข่าวออกสื่อทุกเดือนแต่กลับไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ และรัฐบาลถูกมองว่ามีการใช้อำนาจล้นเกินด้วยมาตรา 44 เอื้อประโยชน์พวกพ้องมากกว่าเอื้อประโยชน์ให้ประชาชน

บรรยากาศทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 เป็นบรรยากาศแบบปิด ไล่กวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วยกฎหมายและกลไกรัฐที่กำหนดจากฝ่ายตัวเอง และความล้มเหลวในด้านการบริหารประเทศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุปัจจัยที่มากำหนดอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนโดยตรง บรรยากาศเช่นนี้ทำให้มวลชนจำนวนมากต้องการแนวทางต่อสู้ที่ชัดเจนและจับต้องได้มากขึ้น คาดหวังว่าจะต้องไม่ซ้ำรอยความล้มเหลวเหมือนในอดีตอีกต่อไป และแนวทางต่อสู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นต้องเป็น “คำตอบ” สำหรับประเทศนี้อีกด้วย

ถ้าหากให้ผู้เขียน “ประเมิน” ก็น่าจะประเมินออกมาได้ว่ามวลชนจำนวนมากต้องการแนวทางต่อสู้ที่ Radical มากยิ่งขึ้น ถอนรากโคนมากขึ้น ก้าวพ้นขีดจำกัดแบบในอดีตมากขึ้น เพราะการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตรุกหนักทุกทางนั่นเอง

การคลี่คลายตัวทางการเมืองของการเมืองมวลชน, ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทยในระยะที่ผ่านมาเราทุกคนได้เป็นพยานทางประวัติศาสตร์ร่วมกันว่าประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ คือ การเปลี่ยนแผ่นดินจากรัชกาลที่ 9 มาเป็นรัชกาลที่ 10 การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ได้กำหนดสถานการณ์การเมืองไทยระยะต่อไปไว้เกือบทุกด้าน ด้านหนึ่งส่งผลต่อการคลี่คลายตัวของกระแสการต่อสู้ทางการเมืองของไทยด้วยเช่นกัน
อย่างที่พวกเราทราบกันดี คณะทหาร คสช. ได้ออกนโยบายหลายอย่างเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเทิดทูนและธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ แต่เมื่อเราพิจารณาในแง่ side effect ทางการเมืองตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2557 -2562) ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตมีทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจะเรียกได้ว่า “เข้มข้น” ขึ้นมากอย่างน่าสังเกต 

ในแง่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายจารีต ผู้เขียนค้นพบว่า “กระแสขวาจัด” มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2562 การมาของพรรคพลังประชารัฐคือตัวสะท้อนว่าแนวความคิดทั้งในระดับมวลชนและในระดับผู้ปฎิบัติการทางการเมืองเอนเอียงไปทางอนุรักษ์นิยมจารีตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นความพยายามของฝ่ายจารีตที่ต้องการ “ปกป้องระบอบอำนาจนิยม, ปกป้องระบอบจารีตนิยม” ของการรัฐประหาร 2557 ให้ดำรงอยู่ต่อไปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2560 (ที่คณะทหาร คสช. เป็นผู้กำหนดเกือบฝ่ายเดียว)
ในระดับการเคลื่อนไหวมวลชน ฝ่ายจารีตพยายามก่อตั้งหน่วยต่อสู้ด้านข้อมูลข่าวสาร (Information Operation) ในโลกออนไลน์ทุกด้าน เพื่อสกัด ยับยั้ง ต่อต้าน ความคิดอื่นๆ ทุกรูปแบบที่พวกเขา “ไม่พึงประสงค์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตนเองด้วยข้อมูลนานาชนิดทั้งมีการอ้างอิงและไม่มีการอ้างอิง 

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวอื่นๆ เพื่อเคลื่อนไหวทางความคิดอุดมการณ์แบบชาตินิยมไทย+อนุรักษ์นิยมไทย ทั้งจัดตั้งโดยรัฐ (เช่น หน่วยงานจิตอาสาภายใต้งบประมาณของรัฐ เป็นต้น) และจัดตั้งนอกรัฐ (เช่น สถาบันทิศทางไทย, มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย, เครือข่ายจิตอาสา เป็นต้น) สอดประสานในเชิงยุทธศาสตร์เดียวกันเพื่อ “ชาติ ศาสนา(พุทธ) พระมหากษัตริย์” ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกันหลายระดับนับตั้งแต่เปลี่ยนผ่านแผ่นดินเป็นต้นมา และท่าทีการเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นไปในทิศทาง “ขวาจัด” ขึ้นหากพิจารณามาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

อีกด้านหนึ่ง การเคลื่อนไหวของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยก็มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเช่นกัน ผู้เขียนขอนำเสนอว่าเกิดกระแสของมวลชนออกเป็นสองกระแสใหญ่ๆ ด้วยกัน

กระแสแรก ยังคงเป็นกระแสเดิมที่เคยเป็นมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 คือกระแสการต่อสู้ทางการเมืองแบบ “แดง” ที่อารมณ์ความรู้สึกของมวลชนยังคงแน่บแน่นผูกพันอยู่กับพรรคการเมืองกลุ่มชินวัตรไม่เสื่อมคลาย มวลชนกลุ่มนี้ยังถือว่ามีจำนวนมากที่สุดเมื่อพิจารณาจากคะแนนโหวตของพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งการเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา 

แน่นอนว่าข้อเสนอนี้ของผู้เขียนสามารถถกเถียงโต้แย้งได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย ผู้เขียนยังเชื่อว่ากระแสการต่อสู้ของมวลชนกลุ่มนี้ยังคงรักษาสถานะความเป็น “มวลชนกระแสหลัก” ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในภาพใหญ่เอาไว้ได้ แม้ว่ามวลชนจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่สนใจว่าครอบครัวชินวัตรจะเป็นอย่างไรหรือจะมีอนาคตทางการเมืองอย่างไรต่อไป แต่สุดท้ายก็จะยังเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับเพื่อไทยเช่นเดิม และถ้าหากมีองค์กรนำการต่อสู้อีกใหม่ๆ ในอนาคตฯ พวกเขาก็พร้อมที่จะแสดงตัวทางการเมืองทันที     

กระแสที่สอง ผู้เขียนขอเรียกกระแสนี้ว่า “กระแสก่อนอนาคตใหม่” หมายถึง กระแสความคิดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ปฎิเสธแนวทางแบบ นปช. ในอดีต หรือปฎิเสธแนวทางการเมืองแบบชินวัตร กระแสนี้เกิดขึ้นและสะสมตัวมาเรื่อยๆ ตามกาลเวลาและรอจังหวะ “แยกตัว” ออกจากกระแสการต่อสู้แบบเสื้อแดง 

อย่างที่ผู้เขียนอภิปรายข้างต้นมาบ้างแล้ว การต่อสู้แบบเสื้อแดง การต่อสู้แบบชินวัตร ในด้านหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัดและ “ติดเพดาน” บางอย่างที่ไม่สามารถสู้ตรงๆ ได้ (หรืออาจจะ “สู้ไปกราบไป” อย่างที่โดนวิจารณ์บ่อยๆ ก็เป็นไปได้) ดังนั้น สถานการณ์ลักษณะนี้จึงทำให้มวลชนแนวร่วมฯจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกว่า “ไม่ radical พอ” , “ไม่กล้าชนกับปัญหาโดยตรง” , “ไม่ถอนรื้อรากเหง้าปัญหาทางการเมืองได้เพียงพอ” , “การต่อสู้ไปไม่ถึงโครงสร้างอย่างที่ควรจะเป็น” ฯลฯ และเกิดความรู้สึกว่าทำไมเสื้อแดงจะต้องปกป้องชินวัตรตลอดเวลา ทำไมขบวนการต่อสู้แบบแดงจะต้องนำตัวเองไปผูกติดเชื่อมโยงกับการเมืองแบบชนชั้นนำอยู่เสมอ  

สถานการณ์เหล่านี้กำหนด “ความรู้สึกนึกคิด” ของมวลชนกลุ่มนี้โดยตรง มวลชนเหล่านี้พร้อมแยกตัวออกจากการต่อสู้แบบเดิมทันทีหากพบว่ามีช่องทางต่อสู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือพบว่ามีองค์กรนำที่ “Radical” กว่ามานำการต่อสู้ 

กระแสแทรกพิเศษในทางการเมือง : คนรุ่นใหม่

กระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติและน่าสนใจเป็นพิเศษ คือ กระแสคนรุ่นใหม่ (ในแง่วัยวุฒิ)
กระแสนี้เกิดขึ้นโดยที่หลายๆ คนไม่ได้คาดคิดมาก่อน ถ้าให้นิยามคนกลุ่มนี้ในทางการเมือง ผู้เขียนขอนิยามง่ายๆ สั้นๆ ว่าคือกลุ่มคนที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกเมื่อการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 และกลุ่มคนเพิ่งเข้าสู่วัยทำงานระยะแรกของชีวิต คนกลุ่มนี้ที่เพิ่งหันมาสนใจเหตุการณ์บ้านเมืองและการเมือง เติบโตและได้สัมผัสบรรยากาศการเมืองแบบเหลือง-แดงเมื่อครั้งเยาว์วัยทั้งผ่านสื่อมวลชนและผ่านครอบครัวตัวเอง มีความคิดเป็นของตัวเอง มีแนวโน้มความเป็นอิสระในการตัดสินใจทางการเมืองมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เป็นกลุ่มที่เสพข้อมูลข่าวสารผ่านโลกออนไลน์มากที่สุด มีจำนวนหลายล้านคน ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่เห็นปัญหาประเทศสารพัดทุกเรื่องที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา

คนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นพลังใหม่ในทางการเมือง(ที่ทุกฝ่ายต้องการช่วงชิง) และกลายเป็นกลุ่มคนที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากที่สุดอีกด้วย เพราะคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ไม่ค่อย “อิน” กับเรื่องบางเรื่องที่ฝ่ายจารีตต้องการให้อินและซาบซึ้งนั่นเอง และกลายเป็นโจทย์หนักสำหรับฝ่ายจารีตในการทำงานทางความคิดมากพอสมควรทีเดียว

(หากเราติดตามกระแสหลายๆ อย่างในโลกออนไลน์ตลอดปี 2562 เราจะพบว่ามีท่าที “วิจารณ์, แซะ, แดกดัน, ด่ากราด” เกิดขึ้นอย่างท้าทายโดยตรงต่อ “จารีต” ซึ่งกลุ่มคนที่แสดงออกมากที่สุดคือกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ผสมๆ กันไปกับคนรุ่นอื่นที่ “ไม่อิน” ด้วย)  

อะไรคือขบวนการอนาคตใหม่ ?

ผู้เขียนได้อภิปรายชี้ให้เห็นสถานการณ์ต่างๆ ในทางการเมืองโดยภาพรวมไปแล้วข้างต้น ในส่วนต่อไปผู้เขียนจะขออภิปรายต่อว่าอะไรคือขบวนการอนาคตใหม่ ซึ่งในการอภิปรายนี้จะขอเน้นไปที่การนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับกระแสคิดและกระแสมวลชนมากกว่าการให้น้ำหนักความสำคัญที่ตัวพรรคอนาคตใหม่

อนาคตใหม่ในฐานะ “การปฎิเสธแนวทางเดิม” และแยกตัวออกมาอีกกระแสหนึ่ง

ผู้เขียนอภิปรายไปบ้างแล้วว่าขบวนการอนาคตใหม่นั้นเกิดจากข้อจำกัดของแนวทางต่อสู้แบบเดิม (นปช, เสื้อแดง) มวลชนแนวร่วมที่เคยเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองในขบวนเสื้อแดงและ/หรือในขบวนการเมืองแบบชินวัตรต้องเผชิญหน้ากับขีดจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ต้องการไปถึง มวลชนกลุ่มนี้ต้องการไปให้ถึงเป้าหมายที่ไกลกว่าขบวนการเมืองแบบชินวัตร พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถอนรากโคนมากขึ้น เข้าถึงใจกลางสำคัญของปัญหามากขึ้นในระดับโครงสร้าง

มวลชนกลุ่มนี้ผู้เขียนถือว่าคือกระแสคลี่คลายตัวและแยกตัวออกมาจากการต่อสู้ทางการเมืองก่อนหน้านี้โดยตรง คุณูปการสำคัญของขบวนการเสื้อแดงคือการกรุยทางการต่อสู้ทางการเมืองในแนวทางประชาธิปไตย ต่อสู้เรียกร้องประเด็นพื้นฐานง่ายๆ อย่างเรื่องเลือกตั้ง คนเท่ากัน สิทธิเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้เขียนถือว่าขบวนการเสื้อแดงคือกระแสต่อสู้สำคัญที่ขาดไม่ได้ของการเมืองไทยสมัยใหม่ หากไม่มีขบวนการเสื้อแดงเกิดขึ้นเมื่อทศวรรษก่อน เราก็คงไม่ได้เห็นขบวนการอนาคตใหม่แยกสายธารต่อสู้ออกมาจากขบวนเสื้อแดงอย่างที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้

การปรากฎตัวขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ทำให้มวลชนกลุ่มนี้ตัดสินใจแทบในทันทีเพื่อเข้าร่วมสนับสนุนพรรค เพราะเล็งเห็นว่าพรรคอนาคตใหม่ประกอบไปด้วยคนหน้าใหม่ คนรุ่นใหม่ ไม่มีความบอบช้ำทางการเมืองเหมือนพรรคการเมืองใหญ่อื่นๆ นอกจากนี้การประกาศจุดยืนทางการเมืองและแนวทางต่อสู้ทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ทำให้มวลชนเหล่านี้คาดหวังว่าตนเองมีช่องทางการต่อสู้ทางการเมืองเพิ่มขึ้น มีแนวทางใหม่เพิ่มขึ้น ไม่มีข้อจำกัดเรื่องช่องทางหรือตัวเลือกอีกต่อไป เพราะทางพรรคเองสามารถ “นำเสนอ” ทางเลือกเชิงอุดมการณ์ได้ดี ตอบสนองความรู้สึกมวลชนที่เคยผิดหวังกับแนวทางต่อสู้เดิมนั่นเอง

การมาของพรรคอนาคตใหม่คือเงื่อนไขจำเพาะเจาะจงบางด้านของการเมืองไทยสมัยใหม่ พรรคก่อกำเนิดมาด้วยความพยายามทำลายข้อจำกัดของแนวทางต่อสู้แบบเดิม และมวลชนเองก็อยู่ในกระแสที่ต้องการทางเลือกและต้องการช่องทางใหม่ในการต่อสู้ ดังนั้น ขบวนการอนาคตใหม่จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างการมาของพรรคอนาคตใหม่และกระแสมวลชนที่คลี่คลายตัวมาจากการต่อสู้ทางการเมืองตลอดทศวรรษที่ผ่านมาโดยตรง

อนาคตใหม่ในฐานะ “คนรุ่นใหม่” และความ “ไม่อิน” ในบางเรื่อง

ในมุมวิเคราะห์ของผู้เขียนสำหรับประเด็นนี้ อนาคตใหม่ก่อตัวขึ้นท่ามกลางสถานการณ์พิเศษ 2 อย่าง

สถานการณ์แรก, การเลือกตั้งปี 2562 ถือว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของคนหลายคน คนเหล่านี่เราเรียกว่า “คนรุ่นใหม่” ผู้เขียนให้นิยามเอาไว้อย่างง่ายว่าคนรุ่นใหม่ในทางการเมืองในที่นี้หมายถึงกลุ่มคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2562 และกลุ่มคนวัยทำงานระยะแรก (อาจเฉลี่ยค่าอายุได้ประมาณไม่เกิน 35 ปี)

คนกลุ่มนี้ถือว่ามีหลักหลายล้านคน มีนัยสำคัญในทางการเมือง หากเราพิจารณาจากเคมเปญรณรงค์การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดที่ผ่านมาเราจะพบว่ามีเพียงพรรคเดียวที่ทำงานตรงนี้มากที่สุด ให้น้ำหนักมากที่สุด คือ พรรคอนาคตใหม่ (ในขณะที่พรรคอื่นๆ ก็พยายามเร่งรณรงค์กับคนรุ่นใหม่เช่นกัน แต่ยังไม่ชัดเจนเท่าอนาคตใหม่ในเวลานั้น)

การรณรงค์ทางการเมืองเพื่อเรียกคะแนนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ตอบสนองความรู้สึกแก่คนรุ่นใหม่ เกิดกระแส “ฟ้ารักพ่อ”, “ธนาธรฟีเวอร์” , “New Gen” เป็นต้น พรรคอนาคตใหม่มักมุ่งเน้นเดินสายพบปะนิสิตนักศึกษาในแต่ละสถาบันทั่วประเทศ เจาะกลุ่มวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ คณะทำงานของพรรคก็ประกอบไปด้วยคนหน้าใหม่ในทางการเมือง อายุไม่มากนัก 

กระแสอนาคตใหม่ฟีเวอร์จึงมาแรงในกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองใหญ่อื่นๆ ที่เคยมีบทบาทในความขัดแย้งทางการเมืองทศวรรษที่ผ่านมา บางด้านบางมุมคนรุ่นใหม่มองว่าย่ำแย่ เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมองว่าไม่น่าสนับสนุนเท่าพรรคอนาคตใหม่

สถานการณ์ที่สอง, เกิดกระแส “ไม่อิน” ต่ออุดมการณ์จารีตไทยในหมู่คนรุ่นใหม่และในหมู่มวลชนจำนวนมาก กระแสนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อพิจารณา “บางประเด็น” ที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระในโลกออนไลน์ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่และมวลชนผู้ที่ “ไม่อิน” มาแต่แรกถูกแสดงผ่านโซเชียลเนตเวิร์คหลายครั้ง เกิดความรู้สึก “ไม่ยอมรับอุดมการณ์ใหญ่” ของจารีตอย่างตรงไปตรงมาอย่างมีนัยสำคัญ 

การไม่ยอมรับ “อุดมการณ์ใหญ่ของจารีต” นั้น มวลชนจำนวนมากมีการเชื่อมโยงกับพรรคอนาคตใหม่ว่าทางพรรคสามารถต่อสู้ในแนวทาง “ขยับเพดาน” ให้สูงขึ้นได้ พรรคอนาคตใหม่ “น่าจะ Radical” ในทางการเมืองมากกว่าแนวทางเดิมในอดีต 

นอกจากนี้ “ความเสื่อมบางประการ” ของอุดมการณ์จารีตก็ทำให้มวลชนกลางๆ ไม่อินกับการเมืองฝ่ายใดเป็นพิเศษ เริ่มตั้งคำถามกับความเสื่อมที่ปรากฎขึ้น มีไม่น้อยที่หันมาสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นพรรคการเมืองที่นำอะไรใหม่ๆ สู่การเมืองไทยได้

ลักษณะการเคลื่อนไหวการต่อสู้ทางการเมืองของขบวนอนาคตใหม่

ประเด็นนี้ผู้เขียนขอหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงยุทธศาสตร์ในหลายๆ เรื่องของพรรคเนื่องจากยังไม่เหมาะสมที่จะกล่าวถึงในพื้นที่สาธารณะ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงในเรื่องที่สังเกตเห็นได้และสามารถอภิปรายได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน

ระดับพรรค, พรรคอนาคตใหม่เน้นย้ำมาตลอดว่าต้องการต่อสู้ในแนวทางรัฐสภา หมายถึง ลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่ง สส. เข้าไปขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆ ในรัฐสภา ทางพรรคอนาคตใหม่ยังไม่มีแนวคิดเคลื่อนไหวต่อสู้ในแนวทางอื่นนอกเหนือจากแนวทางรัฐสภา อย่างน้อยก็ในตอนที่เขียนบทความชิ้นนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตคือทางพรรคมีการจัดตั้งหน่วยการสื่อสารออนไลน์ขึ้นมาทำงานด้านการสื่อสารทางการเมืองในโลกออนไลน์อย่างเป็นกิจลักษณะ พรรคมักใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารทางการเมืองกับมวลชนและผู้สนับสนุนพรรคเป็นประจำเสม่ำเสมอ การระดมแรงสนับสนุนจากมวลชนมักเกิดจากช่องทางนี้มากกว่าช่องทางอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนเองมองว่าสอดคล้องกับยุคสมัย สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของคนรุ่นใหม่ (ฐานสนับสนุนใหญ่ฐานหนึ่งของพรรค) จึงไม่แปลกว่าพรรคอื่นๆ ก็เพิ่มงานในส่วนนี้เข้าไปด้วยเช่นกัน (อันที่จริงพรรคใหญ่พรรคอื่นก็ทำงานด้านออนไลน์มานาน แต่ยังมิได้ให้น้ำหนักมากนักเพราะยังยึดติดรูปแบบการระดมมวลชนในแบบเก่าอยู่ (หัวคะแนน), เมื่อพรรคอนาคตใหม่ทำงานด้านนี้เข้มข้นและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงทำให้พรรคอื่นต้องหันกลับมาใส่ใจช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วยเช่นกัน)

ระดับมวลชน, ตามที่ผู้เขียนได้อภิปรายไปแล้วว่ามวลชนผู้สนับสนุนอนาคตใหม่มาจากหลายองค์ประกอบ แต่หลักๆ มาจากกลุ่มมวลชนที่คลี่คลายตัวเองมาจากแนวทางต่อสู้เดิมและมาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่

เรายังไม่เห็นมวลชนผู้สนับสนุนอนาคตใหม่ “ลงถนน” เหมือนสถานการณ์ในอดีตที่ผ่านมามากนักเนื่องจากติดข้อจำกัดหลายประการ อย่างมากสุดก็คือภาพการชุมนุมขนาดย่อมเพื่อให้กำลังใจนักการเมืองของพรรคเมื่อต้องถูกเรียกไปพบ จนท. ในคดีความต่างๆ เท่านั้น  แต่ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของมวลชนเหล่านี้พร้อมจุดติดเสมอหากเกิดสถานการณ์พิเศษบางอย่าง เกิดเงื่อนไขสำคัญบางอย่างในทางการเมือง หรือเกิดสถานการณ์จนทำให้เกิดองค์กรนำมวลชน “หน้าใหม่” มานำมวลชน  

ผู้เขียนไม่ค่อยแปลกใจว่าทำไมมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ขบวนการอนาคตใหม่เชิงค่อนแคะเอาไว้ว่า “ทำได้แค่โกรธในออนไลน์” , “เอาแต่ติดแฮกแท็ก” , “ไร้น้ำยา ไม่ลงถนน” ฯลฯ  อันที่จริงมวลชนมีการแสดงออกทางการเมืองตามช่องทางที่มีอยู่แล้วเท่านั้นเองและสามารถแสดงออกได้เลยทันที และตัวพรรคเองก็ยังคงเน้นแนวทางสื่อสารกับมวลชนในออนไลน์อยู่ พรรคยังไม่ผันตัวเองมาเป็น “ทัพหน้านำการต่อสู้ในสถานการณ์ร้อน” (ซึ่งผู้เขียนมองว่าการนำการต่อสู้ในแนวทางนอกรัฐสภาต้องมีเงื่อนไขทางการเมืองและ/หรือสถานการณ์บางอย่างกำหนด การต่อสู้แบบลงถนนนั้นสามารถทำได้เลยก็จริงแต่ต้องมีการประเมินรอบด้านตามความเป็นจริงของสถานการณ์ ณ ขณะนั้นๆ ด้วยเช่นกัน)

หากในอนาคตทางพรรคหรือผู้นำของพรรคมีการจัดตั้งองค์กรนำมวลชน นำพามวลชนต่อสู้ในสถานการณ์ร้อน ผู้เขียนก็เชื่อว่ามีมวลชนพร้อมเข้าร่วมเช่นกัน และอาจจะไม่ได้มาจากผู้สนับสนุนอนาคตใหม่เพียงอย่างเดียว มวลชนจากกลุ่มอื่นๆ ก็จะเข้าร่วมด้วย เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันยังหนุนเสริมให้ระดับพรรคที่เชื่อมั่นแนวทางประชาธิปไตยสามารถจับมือเป็นพันธมิตรกันได้ในหลายระดับ พรรคแนวร่วมฯเหล่านี้สามารถระดมทรัพยากรมวลชนเข้าร่วมได้ทันทีหากมีองค์กรนำที่เหมาะสมหรือองค์กรจัดตั้งจากอนาคตใหม่เองก็ตาม
ข้อจำกัด

ไม่มีขบวนการทางการเมืองใดๆ ปราศจากข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมือง ขบวนการอนาคตใหม่ก็เช่นกัน พวกเขาย่อมต้องมีข้อจำกัดเหมือนขบวนต่อสู้อื่นๆ

ข้อจำกัดในแง่โครงสร้างโอกาสทางการเมือง, พรรคอนาคตใหม่ตกเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายจารีตโดยตรงนับตั้งแต่ตั้งพรรคมาครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน เมื่อพรรคอนาคตใหม่มีแนวทางต่อสู้ในระบบรัฐสภาพวกเขาจึงต้องเผชิญหน้ากับการถูกต่อต้านจากตัวระบบโครงสร้างที่เป็นอยู่ ทั้งถูกคดีความทางการเมืองสารพัด นักการเมืองชื่อดังดาวเด่นของพรรคถูกเตะสกัดไม่ให้เข้าสภาแม้ชนะเลือกตั้ง ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองพร้อมทำลายพรรคทุกวิถีทางเท่าที่ช่องทางกฎหมายเปิดเอาไว้ให้ กลไกรัฐที่ฝ่ายจารีตยึดกุมพร้อมทำลายพรรคอนาคตใหม่ตามกระบวนการทางกฎหมาย 

ข้อจำกัดในแง่อารมณ์ความรู้สึกของมวลชนในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน, ตลอดปี 2562 หากใครสังเกตการณ์ท่าทีต่างๆ ของมวลชนในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเองจะพบว่ามีการด่าทอกันไปมา แซะแดกดัน วิจารณ์กันเองระหว่างผู้สนับสนุนแนวทางแบบเสื้อแดง/เพื่อไทยและผู้สนับสนุนอนาคตใหม่

อันที่จริงเป็นเรื่องธรรมชาติปกติธรรมดาของประชาธิปไตยที่จะต้องมีการวิจารณ์กันไปมา แต่ในสถานการณ์ที่ต้องรวมตัวต่อสู้กับฝ่ายจารีต อาจถือได้ว่าเป็นข้อจำกัด เป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน ประเด็นนี้ผู้เขียนให้น้ำหนักมาทางข้อหลังคือเป็นจุดอ่อนมากกว่าจะเป็นสีสันของประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามผู้เขียนเองเข้าใจต่อกรณีนี้ได้เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถอธิบายได้ว่าทำไม คงต้องนั่งเฝ้ามองสังเกตการณ์ต่อไปเรื่อยๆ เช่นเดิม 

ข้อจำกัดในแง่ประสบการณ์ทางการเมือง, ทั้งระดับพรรคและระดับมวลชน(คนรุ่นใหม่)ยังมีความจำเป็นต้องสะสมประสบการณ์การเมืองใน “สนามจริง” ต่อไปอีกซักพักใหญ่ๆ เพราะเท่าที่สังเกตการณ์ผู้เขียนเองเห็นว่ายังไม่สามารถตัดสินอะไรได้ง่ายๆ จากการพิจารณาความผิดพลาดอันเกิดจากประสบการณ์ที่ยังมีไม่มากนักหากนับมาตั้งแต่ตั้งพรรคได้เพียงปีเศษๆ ส่วนระดับมวลชนนั้นก็ต้องเรียนรู้ต่อไปอีกหากคิดว่าต้องการต่อสู้กันต่อไป ต้องคิดว่ายกระดับความคิดทางการเมืองของตนเองอย่างไรในระยะยาว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท