Skip to main content
sharethis

หลัง กก.วัตถุอันตรายเลื่อนแบน 3 สาร 'สุริยะ' ลั่นพร้อมรับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้น 'ประยุทธ์' มั่นใจไร้ขัดแย้งพรรคร่วม รบ. ด้าน นายกสภาเภสัชกรรม ประกาศลาออก กก. แฉประชุมไม่มีการลงมติ ขณะที่ 19 องค์กรเกษตร ชี้เลื่อนไปหกเดือน ไม่ได้ช่วยเกษตรกร จ่อฟ้องศาลหากลงนาม

28 พ.ย.2562 สำรวจปฏิกิริยาหลังวานนี้ (27 พ.ย.62)คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนกำหนดห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด คือพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่คณะกรรมการฯ ชุดเก่ามีมติเมื่อ 22 ต.ค. ให้ยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป ส่วนไกลโฟเซต เปลี่ยนจากการห้ามใช้เป็นเพียงการจำกัดการใช้

'สุริยะ' ลั่นพร้อมรับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้น

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวหลังจาก ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. จังหวัดอุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ออกมาระบุว่าหลังจากนี้หากเกิดผลเสียขึ้นในเรื่องการแบนสารพิษก็จะให้ สุริยะ รับผิดชอบ ว่า ยินดีรับผิดชอบ เพราะเราทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งวันนี้คณะกรรมการทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ เพราะหากให้มีการแบนสารพิษทันทีตามมติ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา แล้วจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งระยะเวลาเพียง 30 กว่าวัน สารที่ตกค้างที่ยังอยู่กับพี่น้องประชาชนที่ประชาชนพี่น้องเกษตร และร้านค้ายังครอบครองอยู่ ตัวเลขรวมแล้วมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ถ้าเราจะห้ามทันทีตัวเลขดังกล่าวเราจะทำอย่างไร จะมีวิธีชดเชยเกษตรกรและร้านค้าอย่างไร อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทุกคนห่วงใยความปลอดภัยของสุขภาพอนามัย ซึ่งการจะมีมาตรการอะไรต่างๆ นั้นมันก็ต้องมีระยะเวลาให้กับพี่น้องประชาชนและส่วนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อม แม้กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ยืนยันจะให้มีการแบนทันทีในที่ประชุมครั้งแรก แต่มาครั้งนี้เมื่อฟังเหตุผลของทุกฝ่ายแล้วก็เลยมีความเห็นว่าจะแบบทันทีไม่ได้ และมีมติให้เลื่อนออกไป

ต่อประเด็นคำถามที่วาน อนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมประชุมระบุว่าไม่ได้มีการลงมตินั้น สุริยะ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะว่าตนได้ให้เจ้าหน้าที่ขึ้นมติชัดเจนบนจอว่ามติคืออะไร ซึ่งหากไม่ทำอย่างนั้นต่างคนอาจเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งหากจำไม่ผิดจะให้มีการเลื่อนไปถึงวันที่ 1 มิ.ย. ทุกคนก็เห็นชัดเจน อีกทั้งในที่ประชุมตนได้สอบถามว่ามีใครที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งทุกคนก็ต่างเห็นด้วย อีกทั้งบางคนยังอยากจะให้มีการเลื่อนออกไปให้นานกว่านั้นอีก ทั้งนี้เรื่องการลงมติตนไม่ทราบว่าทางฝั่งโน้นได้ข้อมูลมาจากไหน และให้ไปสอบถามจากกรรมการในที่ประชุมได้เลย

'ประยุทธ์' มั่นใจเลื่อนแบน 3 สาร ไม่ขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกัน ตนมองเรื่องของสุขภาพประชาชนและผู้บริโภคเป็นหลัก จากนี้ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง แต่เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ต้องหาวิธีการ และมาตรการให้เหมาะสม แม้จะเลื่อนหรือไม่เลื่อน ก็ขอให้ไปพูดคุยกัน ตนไม่สามารถสั่งการเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องหาวิธีการที่เหมาะสม เพื่อลดความขัดแย้งและลดปัญหากับภาคการเกษตรด้วย

นายกสภาเภสัชกรรม ประกาศลาออก กก. แฉประชุมไม่มีการลงมติ

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และเป็นกรรมการวัตถุอันตราย ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัว จิราพร ลิ้มปานานนท์ ว่า ขอลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขอแย้งการแถลงข่าวของท่านประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม)

1. ขอแย้งว่าไม่ได้มีการลงมติอย่างชัดเจน ว่าผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอมในการรับมติ จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นมติเอกฉันท์ เพราะหากพิจารณาในการอภิปรายจะพบว่า ดิฉันยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดในการแบนสารทั้งสาม และยืนยันให้คงมติวันที่ 22 ต.ค.

2. ขอแย้งการแถลงข่าวที่ว่า ไกลโฟเซตไม่เป็นอันตราย เพราะกรรมการรวมทั้งดิฉันได้อภิปรายถึงผลเสียต่อสุขภาพและไม่สามารถจะจัดการความเสี่ยงต่อผู้บริโภค จนพบปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อม ผัก ผลไม้ และน้ำนมแม่

19 องค์กรเกษตร ชี้เลื่อนไปหกเดือน ไม่ได้ช่วยเกษตรกร จ่อฟ้องศาลหากลงนาม

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศฯ เรื่องยกเลิก 3 สารเคมีเกษตร และข้อมูลจาก 19 องค์กรเกษตรถึงความจำเป็นของพาราควอตต่อพืชเศรษฐกิจ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ไม่ถูกนำไปประกอบการพิจารณาในการตัดสินของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดังนั้น 4 เดือนจากนี้ไป กรมวิชาการเกษตร จะต้องศึกษาข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจ และหาสารทดแทนมาให้ได้ หากยังไม่มีความชัดเจน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเซ็นต์ประกาศยกเลิกพาราควอตไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเกษตรกรจะฟ้องศาลปกครองต่อทันที และรัฐบาลต้องระงับการนำเข้า ถั่วเหลือง ข้าวสาลี พืช ผักและผลไม้จากต่างประเทศ ซึ่งยังใช้ พาราควอต ด้วยเช่นกัน 

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย

กิตติ ชุณหะวงศ์ นายกสมาคมอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตัดสินครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า หน่วยงานภาครัฐยังไม่มีความเข้าใจต่อภาคเกษตรกรรมของไทย โดยเฉพาะการใช้ พาราควอต ในกลุ่มพืชเศรษฐกิจ 6 อุตสาหกรรมสำคัญ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เกษตรกรจึงต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน 1,400% ส่งผลต่อเนื่องไปยังมูลค่าการส่งออก 5.7 แสนล้านบาท ส่วน 43% ของ GDP ภาคการเกษตรที่หายไป หรือ จะหายไปอีกเท่าไร เหมือนรัฐบาลจะไม่สนใจ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมในประเทศ และการส่งออก ซึ่งสร้างรายได้ให้ประเทศนับหลายแสนล้านบาท ทั้งนี้ สมาคมฯ จะประสานงานไปยังกรมวิชาเกษตร เพื่อรายงานถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน 

มาตรการรองรับ จัดการ และช่วยเหลือที่จะช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืนนั้น ยังไม่มี ไม่มีสิ่งหรือสารทดแทน ตอนนี้ มีแต่นโยบายด้านงบประมาณที่เร่งรีบอนุมัติ อาทิ งบชดเชยให้เกษตรกรกว่า 3 หมื่นล้านบาท งบจัดซื้อเครื่องจักรตัดหญ้าอีก 2 ร้อยล้านบาท ได้ยินมาว่า งบประมาณเครื่องตัดหญ้าตั้งไว้สูงถึง เครื่องละ 15,000 บาท ทั้งที่ในความเป็นจริงเครื่องตัดหญ้าระบบมือ เพียงเครื่องละไม่เกิน 5,000 บาท ตรงกันข้าม งบที่ควรจะมี เพื่อใช้ในการอบรมเกษตรกรให้ใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้อง เพียง 90 ล้านบาท กลับไม่อนุมัติและไม่ส่งเสริม 

“เกษตรกร 1.5 ล้านราย เตรียมเดินหน้าฟ้องศาลปกครองทันทีเพื่อคุ้มครองเกษตรกร และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 มาตรา 73 ที่กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกช่วยเกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือด้วยวิธีอื่น” สุกรรณ์ กล่าวทิ้งท้าย “ที่สำคัญ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า มีสารทดแทนแล้ว ช่วยระบุชื่อสารฯให้เกษตรกรทราบด้วย เพราะถามมาหลายปีแล้ว ยังไม่มีทดแทน แต่พอประกาศแบนแล้วมีทันที ฝากท่านแจ้งให้ทราบภายในพรุ่งนี้ด้วย อย่าเอาแต่พูดมั่ว ๆ”

สำหรับ 19 องค์กรเกษตร ประกอบด้วย สมาพันธ์เกษตรปอลดภัย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม  สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย  ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานแป้งมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายเกษตรกรผลไม้จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โคราช นครสวรรค์ และลพบุรี

เครือข่ายผู้หญิง ให้กำลังใจ รมช.เกษตร ขอ รบ.กล้าหาญไม่ขยายเวลาแบน

ก่อนประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วานนี้ (27 พ.ย.62) เวลา 10.00น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ราชดำเนิน  สมโภช สง่าพล แกนนำชุมชนกทม. พร้อมด้วย อังคณา อินทะสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และตัวแทนกลุ่มผู้หญิง ซึ่งเป็นคุณแม่ที่ทำอาหารเลี้ยงครอบครัว กว่า 30 คน เข้าพบ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้กำลังใจในการเดินหน้าแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย หลังจากมีข่าวความเคลื่อนไหวและถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากฝ่ายที่สนับสนุนสารเคมีฯ  กดดันให้ขยายเวลาแบนสารเคมีฯ นี้ออกไปอีก6เดือน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ  ไม่สนใจสุขภาพของลูกหลานและประชาชน โดยเครือข่ายได้มอบดอกไม้สีขาวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ขอบคุณจุดยืนในฐานะแทนเพศแม่ ที่กล้าต่อสู้และทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูกๆหลานๆไทยให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย

สมโภช กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ติดตามความคืบหน้าและสนับสนุน การเดินหน้าแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งโรคมะเร็ง เนื้อเน่า มีปัญหาต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก เสี่ยงออทิสติก ฯลฯ กระทั่งได้มีมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 แบนสามสารเคมีดังกล่าวถือเป็นความกล้าหาญทางนโยบายที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประเทศ ต่อมามีความพยายามของกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการแบนสารพิษ  มีการเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้ขยายเวลาการแบนออกไปอีก180วัน ด้วยข้ออ้างสารพัด  มีท่าทีที่แข็งกร้าว เลยเถิดไปถึงขั้นข่มขู่ ปองร้ายกัน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย ที่ควรยกระดับความเห็นต่าง แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี มิใช่การเผชิญหน้าท้าทาย

“ภายใต้การนำของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เครือข่ายฯสัมผัสได้ถึงความเด็ดเดี่ยว ทำงานด้วยความหนักแน่นตามบทบาทหน้าที่อย่างสุดกำลัง การต่อสู้ด้วยจุดยืนในฐานะเพศแม่ ที่ต้องการปกป้องชีวิตและสุขภาพลูกหลาน  ให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายทางการเกษตร เครือข่ายฯ เข้าใจว่าสิ่งที่ท่านต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันต่างๆมีความหนักหน่วง รุนแรง และไม่ง่ายที่จะยืนหยัดต่อสู้ได้เช่นนี้” สมโภช กล่าว

อังคณา กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ และส่งผ่านไปถึงรัฐบาลดังต่อไปนี้ 1.ในฐานะผู้หญิงซึ่งเป็นเพศแม่เหมือนกับท่าน เป็นทั้งผู้บริโภคและคนที่ต้องทำอาหารให้คนในครอบครัวได้บริโภค เราต้องการวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการทำอาหาร ไม่ต้องการพืชผักที่อุดมไปด้วยสารพิษมาทำอาหาร เราขอสนับสนุนและให้กำลังใจเดินหน้าแบน สามสารเคมีอันตรายนี้ โดยไม่ควรขยายเวลาออกไปอีกตามข้อเสนอของบางกลุ่ม 2.ในฐานะผู้หญิง เป็นผู้บริโภคตัวจริงกลุ่มหนึ่ง ขอส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลให้มีความหนักแน่นไม่นำสุขภาพและชีวิตของประชาชนกลับไปอยู่จุดเดิมอีก สุขภาพและชีวิตประชาชนไม่ควรถูกทำลายเพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทสารเคมี  ที่ผ่านมาชีวิตประชาชนสูญเสียมามากพอแล้วจากสารพิษเหล่านี้ ท่านจะเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่ดีงามให้กับสังคมไทย และ 3.ขอเรียกร้องต่อกลุ่มที่สนับสนุนการใช้สารเคมีอันตรายด้วยความเคารพว่า ได้โปรดเห็นใจเราในฐานะคนที่ต้องกินต้องใช้พืชผักวัตถุดิบจากท่าน อย่าได้มอบสารพิษปนเปื้อนมาให้เราอีกเลย ควรมุ่งไปสู่ทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ไม่ทำร้ายกัน มุ่งสู่เกษตรกรรมยั่งยืนที่ทุกคนปลอดภัย  

เทียบ กก.ชุดใหม่-เดิม

บีบีซีไทยเปรียบเทียบองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิมกับชุดใหม่ จากการมี พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับที่ 4 พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ต.ค. หรือ 180 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายบางส่วน เช่น เปลี่ยนประธานคณะกรรมการจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และลดจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีจาก 10 คนเป็น 8 คน โดยครึ่งหนึ่งยังคงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์

ชุดเดิม

  • ประธาน: ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
  • กรรมการโดยตำแหน่ง : ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อธิบดีกรมการขนส่งทางบก, อธิบดีกรมการค้าภายใน, อธิบดีกรมการแพทย์, อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน, อธิบดีกรมประมง, อธิบดีกรมปศุสัตว์, อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, ผู้แทนกระทรวงกลาโหม, ผู้แทนกระทรวงคมนาคม, ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
  • กรรมการและเลขานุการ : อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • ผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.แต่งตั้ง: ไม่เกิน 10 คน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์หรือกฎหมาย ในจำนวนนี้ อย่างน้อย 5 คน ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์การดําเนินงานด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่นหรือด้านสิ่งแวดล้อม

ชุดปัจจุบัน

  • ประธาน : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
  • กรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน : ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมการขนส่งทางบก, อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, อธิบดีกรมเจ้าท่า, อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน, อธิบดีกรมประมง, อธิบดีกรมปศุสัตว์, อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, อธิบดีกรมศุลกากร, เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ผู้แทนกระทรวงกลาโหม, ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ, ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ,
  • กรรมการและเลขานุการ : อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม. แต่งตั้ง : จำนวนไม่เกิน 8 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือกฎหมาย และอย่างน้อย 4 คนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การ สาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์การดำเนินงานด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่นหรือด้านสิ่งแวดล้อม

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย บีบีซีไทย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และเฟสบุ๊ค 'จิราพร ลิ้มปานานนท์'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net