Skip to main content
sharethis

กมธ. กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนแถลงหลังพิจารณากรณีรัฐดำเนินคดีนักกิจกรรมตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เตรียมเดินหน้าเชิญ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ มาให้การ ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมาชี้แจง ด้าน บุรินทร์ อดีตฝ่ายกฎหมาย คสช. และ เสธ.พีท ให้ข้อมูลเรื่องการดำเนินคดี ชี้ เป็นเพียงคนรับคำสั่งมาแจ้งความ

พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเมื่อ 27 พ.ย. (ที่มา:Facebook/Banrasdr Photo)

28 พ.ย. 2562 เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อได้แถลงข่าวหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาศึกษา กรณีการดำเนินคดีโดยรัฐเพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง ที่เรียกตัวแทนฝ่ายรัฐได้แก่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และ พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ ‘เสธ.พีท’ ผบ.กรมทหารพรานที่ 22 อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น

การประชุมพิจารณาดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนหลายคน อาทิ ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย นักกิจกรรมการเมือง อดีตประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณัฏฐา มหัทธนา (โบว์) นักกิจกรรมการเมือง 

รังสิมันต์ ในฐานะโฆษก กมธ. กล่าวว่า ทาง กมธ. เข้าใจปัญหามากขึ้นจากการรับฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย  โดยทางผู้ร้องเตรียมเดินหน้ายื่นกรณีดังกล่าวให้ กมธ. พิจารณาต่อไป เพื่อนำไปสู่การเชิญตัว พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งนักกิจกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาชี้แจงกับ กมธ. และจะหารือกับ กมธ. ในการยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป

สำหรับการให้ข้อมูลกับ กมธ. ที่เกิดขึ้นเมื่อวานพุ่งประเด็นไปที่การดำเนินการคุกคาม กลั่นแกล้งนักกิจกรรมในช่วงที่ คสช. เป็นรัฐบาล โดยบุรินทร์ที่ช่วงนั้นยังมียศเป็นพันเอก มีชื่อปรากฎอยู่ในฐานะผู้ฟ้องในฐานะฝ่ายกฎหมายของ คสช. หลายครั้งตั้งแต่มีการรัฐประหาร ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 มาจนถึงช่วงเลือกตั้ง ส่วนพิทักษ์พลนั้น เป็นที่รู้จักหลังเป็นผู้ฟ้องจัตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นักกิจกรรมจากภาคอีสานด้วยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามความผิดอาญามาตรา 112 หลังไผ่แชร์ข่าวพระราชประวัติของ ร.10 ที่เขียนโดยสำนักข่าวบีบีซี 

บุรินทร์และพิทักษ์พลตอบคำถามของนักกิจกรรมและ กมธ. หลายคำถามไปในทางเดียวกันคือพวกเขาดำเนินการฟ้องร้องนักกิจกรรมในฐานะผู้รับมอบอำนาจ บุรินทร์ระบุว่าเขาเป็นผู้นำความจากผู้บังคับบัญชาไปร้องทุกข์กล่าวโทษประชาชน การดำเนินคดีการเมืองและความมั่นคงหลังรัฐประหารปี 2557 นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนกองกำลังที่ขึ้นกับ ผบ.กองกำลังต่างๆ ให้มีอำนาจสั่งการกองกำลังในกองทัพลงมา อีกส่วนนั้นขึ้นอยู่กับสำนักงานเลขาธิการ คสช. โดยมี ผบ.ทบ. เป็นเลขาธิการ คสช. เป็นผู้บังคับบัญชา โดยบุรินทร์รับผิดชอบคดีการเมือง และ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง รับผิดชอบคดีอาวุธสงครามและการก่อการร้าย

ต่อคำถามว่าเหตุใดถึงใช้ความผิดตามมาตรา 116 หรือที่เรียกกันว่าข้อหายุยงปลุกปั่นมาดำเนินคดีกับประชาชน บุรินทร์ตอบว่าเพราะผู้ชุมนุมได้เชิญชวนให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย เพราะในช่วงที่แจ้งความยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามการชุมนุมเกินกว่า 5 คน เมื่อถูกถามต่อว่าการรณรงค์ประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเหตุใดถึงเข้าเกณฑ์ความผิดตาม ม.116 บุรินทร์ตอบว่าการดำเนินคดีตามมาตราดังกล่าวต้องมีเจตนาพิเศษและหลักฐานอื่นๆ ประกอบ เช่น แอบไปส่งหนังสือตรงไหน มีความมุ่งหมายอย่างไร

เช่นเดียวกับการใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์นั้นเน้นไปที่เรื่องเกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก คสช. จึงจะมอบอำนาจ ที่ด่าทอนายกฯ เสียๆ หายๆ ไม่มีการแจ้งความเลย แต่ที่แจ้งคือโพสท์บิดเบือนให้ประชาชนตื่นตระหนก 

บุรินทร์ชี้แจงกรณีข้อสงสัยในเรื่องการดำเนินคดีกับประชาชนหลังกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหารที่หน้าอาคารศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ (หอศิลปฯ) ที่มีการฝากขังนักศึกษา 14 คน ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และมีการเปิดศาลถึงเที่ยงคืนว่า ตอนนั้นมีการประสานงานกับศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่ช่วงบ่ายว่าจะมีการจับกุม และให้เปิดศาลรออย่างต่อเนื่องเพราะกว่าจะนำตัวส่งศาลก็คงเป็นเวลาราว 20.00-21.00 น.

คดีดังกล่าวยังผูกโยงมาถึงการแจ้งความดำเนินคดีของบุรินทร์ต่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ม.189 ให้การช่วยเหลือผู้ต้องหา และ ม.215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพานักศึกษาหลบหนีในเหตุการณ์ดังกล่าว 

ที่มาข่าว: ผู้จัดการ บีบีซีไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net