Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเอกสารประกอบสำนวนฝ่ายโจทก์ คดีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุมนุมที่ราชดำเนินเมื่อปี 2561 หรือ RDN 50 ที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้ฟ้อง เป็นเอกสารพิจารณา ให้คำแนะนำการดำเนินการทางคดีความกับกลุ่มแกนนำ มีการแนะนำให้ฟ้อง แต่ต้องทำควบคู่กับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร โยงแกนนำเชื่อมกลุ่มเสื้อแดง เคลื่อนไหวหวังสร้างความแตกแยก

การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 แฟ้มภาพ

28 พ.ย. 2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่เอกสารประกอบสำนวนคดีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กรณีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เมื่อ 10 ก.พ. 2561 หรือที่มีชื่อเล่นว่า RDN 50 ที่บุรินทร์เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก พล.อ. วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายของ คสช. ไปแจ้งความดำเนินคดี

ศาลยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่นแกนนำคนอยากเลือกตั้ง ชุด RDN50 ชี้เป็นกระบวนการตามประชาธิปไตย

เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารหมาย จ.14 ที่ฝ่ายโจทก์และผู้กล่าวหาส่งเข้าเป็นหลักฐานในคดี หัวข้อเอกสารชื่อ “ข้อพิจารณา กรณี กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน คสช.ที่บริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ ๑๐ ก.พ. ๖๑”  โดยไม่มีการระบุชื่อผู้จัดทำ หน่วยงานที่จัดทำ ไม่มีการลงนามโดยเจ้าหน้าที่รัฐคนใด 

เนื้อหาเอกสารฉบับนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกเป็นการประมวลสรุปสถานการณ์การชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน โดยระบุยอดผู้ชุมนุมรวม 400 คน ชื่อประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมพร้อมสังกัดจำนวน 40 คน เอกสารระบุเรื่องแกนนำ 3 ราย ได้แก่ รังสิมันต์ โรม อานนท์ นำภา และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ “ได้ใช้ถ้อยคำปราศรัยที่มีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง และพยายามปลุกปั่นให้มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล/คสช. อย่างชัดเจน”

ส่วนที่สองของเอกสาร ได้มีการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของการแจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำ 6 ราย ซึ่งเอกสารอ้างว่าการกระทำของทั้งหกเป็นความผิดตามมาตรา 116 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

สำหรับข้อดี เอกสารระบุว่า “การปฏิบัติของฝ่ายเราที่ผ่านมาตลอด 3 ปีกับกลุ่มต่อต้าน คสช. พบว่าเมื่อฝ่ายรัฐบาลแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว แต่กลุ่มต่อต้าน คสช. ยังคงเคลื่อนไหวต่อไม่ยุติการเคลื่อนไหว แต่ทางฝ่ายรัฐบาลกลับไม่เคยแจ้งความซ้ำในทันทีแต่อย่างใด ดังนั้น หากครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการแจ้งความซ้ำ และจะแจ้งความซ้ำทุกครั้งที่กลุ่มต่อต้าน คสช. ออกมาเคลื่อนไหว ก็อาจจะส่งผลทำให้แกนนำกลุ่มฯ เกิดความกดดัน และเป็นการจำกัดเสรีในการปฏิบัติของฝ่ายต่อต้าน คสช. ทำให้ระดับความรุนแรงในการปราศรัยปลุกระดมถูกลดระดับลง”

“ยกตัวอย่างกรณีการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 เมื่อเปรียบเทียบกับการชุมนุมเมื่อ 27 ม.ค. 61 จะเห็นได้ว่าลดความรุนแรงในการปราศรัยโจมตีลงไปมาก อีกทั้งการแจ้งความฯ ในลักษณะดังกล่าวยังอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายต่อต้าน คสช. ต้องทิ้งช่วงระยะเวลาในการนัดการชุมนุมครั้งต่อไปให้ห่างออกไปมากขึ้น ดังเช่นล่าสุด ที่ฝ่ายต่อต้าน คสช. ไม่นัดวันเวลาชุมนุมล่วงหน้า ทั้งนี้การแจ้งความดำเนินคดีซ้ำนั้น ควรที่จะมุ่งหวังเพียงเพื่อเพิ่มความกดดันและสร้างความยุ่งยากสับสนให้กับแกนนำฯ มากกว่าที่จะมุ่งหวังเพื่อควบคุมตัวแกนนำไปขังไว้ในเรือนจำ เนื่องจากที่ผ่านมาการคุมขังแกนนำนั้นมักเป็นจุดล่อแหลมของฝ่ายรัฐบาลที่จะถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนในไทย และต่างประเทศ หรือนักวิชาการ สื่อต่างๆ รวมตัวกันออกมากดดันรัฐบาลให้ปล่อยตัวในภายหลัง อันจะส่งผลเสียกับฝ่ายรัฐบาลมากกว่า”

ในส่วนข้อเสียของการดำเนินคดีแกนนำ เอกสารวิเคราะห์ไว้ว่า “หากฝ่ายรัฐบาลเร่งดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำ และขยายถึงผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนรวดเร็วจนเกินไป อาจเป็นการกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้าน คสช. และมวลชนแนวร่วมสามารถสร้างกระแสต่อต้าน รวมทั้งการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) เพื่อปลุกระดมมวลชนให้ลุกฮือในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมวลชนกลุ่มเสื้อแดงเดิมที่ยังไม่แสดงท่าทีและประชาชนที่ยังวางตัวเป็นกลางกำลังติดตามท่าทีของรัฐบาล และคสช. ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการชุมนุมในครั้งนี้ ดังนั้น การแจ้งความฯ จึงควรต้องดึงระยะเวลาออกไป เพื่อให้มวลชนกลุ่มดังกล่าวซึ่งมีจำนวนมากหันไปสนใจข่าวสารอื่นๆ แทนก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มแจ้งความดำเนินคดีต่อไป”

“อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเร่งรัดการแจ้งความหรือยืดระยะเวลาในการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำฯ ฝ่ายรัฐบาลก็ยังคงต้องเตรียมรับแรงกดดันในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มองค์กรต่างประเทศ นักวิชาการ และกลุ่มแนวร่วมสนับสนุนอื่นๆ แต่จะลดระดับความสนใจจากสื่อลงได้ หากเป็นการแจ้งความที่ไม่มีการจับกุมตัวแกนนำไปขังในเรือนจำแต่อย่างใด”

เอกสารสรุปข้อพิจารณาว่า “เห็นควรส่งฟ้องดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำ เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมืองปรากฏแกนนำมวลชนที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้งท่าทีของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน ทั้งนี้การส่งฟ้องดำเนินคดีต่อแกนนำฯ ฝ่ายรัฐควรกระทำควบคู่ไปกับการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มุ่งส่งเนื้อหาต่อประชาชนสื่อให้เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวมิใช่การเคลื่อนไหวของพลังบริสุทธิ์ที่มีเพียงนักศึกษา นักวิชาการ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่มีแกนนำมวลชนเสื้อแดงเป็นผู้ขับเคลื่อนเพื่อเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างความแตกแยกในสังคม เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้เกิดบรรยากาศเกื้อกูลต่อการเลือกตั้งตามโรดแมปที่กำหนดไว้”

ร.ต.อ.สุวิทย์ มันหาท้าว พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง คณะพนักงานสอบสวนในคดีเบิกความว่าบุรินทร์ได้มอบเอกสารดังกล่าวมาให้พร้อมกับพยานหลักฐานต่างๆ ในคดี สุวิทย์ได้แจ้งให้บุรินทร์ลงชื่อรับรองในเอกสารทุกแผ่นแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดถึงไม่มีลายมือชื่อของบุรินทร์ในเอกสาร จ. 14

ศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตกับเอกสารดังกล่าวไว้ 4 ประการ ดังนี้

1. ในการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของการดำเนินคดี เอกสารได้มีการแยกคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจน ระหว่าง “ฝ่ายเรา” ซึ่งหมายถึง ฝ่าย คสช. และรัฐบาล กับฝ่ายประชาชนที่ออกมา “ต่อต้าน” หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง ในกรอบการวิเคราะห์ลักษณะนี้จึงทำให้ประชาชน ซึ่งในกรณีนี้คือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กลายเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ของรัฐบาลและกองทัพ หรือหากมองจากมุมทางการทหารแล้ว เท่ากับว่าทาง คสช. มองว่าประชาชนที่ออกมาแสดงออกต่อต้านดังกล่าว คือ “ศัตรู” ที่ต้องสู้รบด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งและป้องปรามการเคลื่อนไหวเอาไว้

2. เนื้อหาของเอกสาร ยังชึ้ถึงการใช้การแจ้งความทางกฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำให้การชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องยุติลง หรือเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะแกนนำหรือผู้ชุมนุมเผชิญกับความกดดัน เผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากถูกจำกัดเสรีภาพ จากการถูกดำเนินคดี

เนื้อหาของเอกสาร จึงชี้ให้เห็นถึงการใช้การดำเนินคดีทางกฎหมาย เพื่อปิดปากนักกิจกรรมและผู้เห็นต่าง เพื่อเป็นการสร้างภาระต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) อย่างชัดเจน โดยผู้ดำเนินการแจ้งความตระหนักดีถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินคดีในลักษณะนี้ และไม่ได้สนใจผลลัพธ์อย่างผลการพิจารณาคดีของศาล หรือการคุมขังผู้ถูกกล่าวหา แต่สนใจความได้เปรียบทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือ

มุมมองในลักษณะนี้ ทำให้ “กฎหมาย” กลายไปเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจ นำมาใช้ตามอำเภอใจ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ตนต้องการ ไม่ใช่การใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชีวิตของพลเมืองในรัฐ และเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานในการใช้กฎหมายของระบอบนิติรัฐ

จะเห็นได้ว่าในยุค คสช. เกิดการนำ “กฎหมาย” ทั้งประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่คณะรัฐประหารประกาศออกมาเอง, กฎหมายอาญาบางมาตราที่มีอยู่เดิม และกฎหมายที่ออกใหม่โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง มาใช้แจ้งความดำเนินคดีต่อประชาชนผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองจำนวนมาก และยังมีการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือน (ดูสถิติคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกตลอด 5 ปีของ คสช.) ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน เอกสารฉบับนี้จึงชี้ให้เห็นถึงเบื้องหลังวิธีคิดบางส่วน ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ขึ้น

3. เนื้อหาในเอกสารแสดงถึงความตระหนักเป็นอย่างดี ว่าการดำเนินคดีกับแกนนำหรือผู้ชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งการคุมขังแกนนำในเรือนจำ นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษชน จึงต้องมีการประเมินถึงแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน หรือนักวิชาการ หากมีการดำเนินการแจ้งความหรือการคุมขังแกนนำเกิดขึ้น โดยมีการกล่าวถึง “ยุทธวิธี” ต่างๆ เพื่อลดแรงกดดันดังกล่าว เช่น การมุ่งดำเนินคดีอย่างเดียวโดยไม่ต้องคุมขัง หรือการดึงระยะเวลาการแจ้งความออกไปหลังการชุมนุม เพื่อให้ประชาชนหันไปสนใจข่าวสารอื่นๆ แทนก่อน

4. เนื้อหาเอกสารระบุชัดเจนถึงการเสนอให้นำปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มาใช้ต่อประชาชน โดยระบุข้อพิจารณาว่านอกจากการดำเนินคดี ควรมีการสร้างเนื้อหาในลักษณะโจมตีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ว่าไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ มีแกนนำเสื้อแดงเป็นผู้ขับเคลื่อน เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม การดำเนินคดีจึงกลายเป็นวิธีการรักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐบาล

ตามหลักการนั้น ปฏิบัติการข่าวสารเป็นยุทธการทางทหารที่ใช้ต่อข้าศึกศัตรู โดยเป็น “ปฏิบัติการที่มุ่งสร้างผลกระทบหรืออิทธิพลต่อกระบวนการตกลงใจ ข่าวสาร ระบบสารสนเทศ ของฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ รวมไปถึงปฏิบัติการเพื่อป้องกันข่าวสารและระบบสารสนเทศของฝ่ายเรา” โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ “ฝ่ายเรา” อยู่ในสถานะที่ “เหนือกว่า” ฝ่ายตรงข้าม  คำถามสำคัญคือเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ ที่ คสช. หรือกองทัพ นำปฏิบัติการทางการทหารที่เป็นเรื่องของการทำสงคราม มาดำเนินการกับประชาชนพลเรือนของตนเองในลักษณะนี้

ตลอด 5 ปีกว่าที่ผ่านมา ที่คสช. และกองทัพ ยึดอำนาจทางการเมือง มักจะกล่าวอ้างถึงการพยายามสร้างความปรองดอง สร้างความสามัคคี ยุติการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองซึ่งดำเนินมากว่าทศวรรษในการเมืองไทย หากแต่มุมมองของ คสช. และกองทัพเอง ปรากฏการณ์การใช้การดำเนินการทาง “กฎหมาย” และปฏิบัติข่าวสารต่อประชาชนในลักษณะนี้ กลับมีการแบ่งแยก “ฝ่ายเรา” กับ “ฝ่ายตรงข้าม” เสียเอง

ภาพเอกสารสำนวนประกอบคดีดังกล่าว (ที่มา:ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net