Skip to main content
sharethis

4 องค์กรสหภาพแรงงานสากล ส่งจดหมายถึง 'ประยุทธ์' เรียกร้องให้มีการแก้ไขการละเมิดสิทธิแรงงานและการทำลายสหภาพ ฯ ในประเทศ เพื่อไม่ให้ไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP

ภาพกิจกรรมที่ให้ผู้นำและสมาชิกสหภาพแรงงานใน บ.มิตซูบิชิฯ เข้าฝึกในค่ายทหาร โดยบริษัทให้เหตุผลว่า “ทำไปเพื่อฝึกระเบียบและวินัย” 

28 พ.ย.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) องค์กรแรงงานระดับสากลซึ่งมีสมาชิกกว่า 200 ล้านคนจาก 163 ประเทศทั่วโลก และองค์กรสมาชิกซึ่งได้แก่ สมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งยุโรป (ETUC) สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) และ อินดัสทรีออล โกลบอลยูเนี่ยน (IndustriALL Global Union) ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและการทำลายสหภาพแรงงานในประเทศ เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย หลังจากที่ รัฐบาลสหรัฐ ฯ ประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ถ้าประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศ และยกระดับความคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามที่องค์กรแรงงานระดับสากลหลายองค์กรได้ร้องเรียนไปยัง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา

องค์กรแรงงานที่ลงนามในจดหมายได้ยกถึงกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานที่เป็นข่าวไปทั่วโลก และในบางกรณีมีการร้องเรียนไปที่ คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคม(CFA) ของ ILO หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย(เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านบาท)และฟ้องดำเนินคดีอาญาด้านทุจริตและประพฤติมิชอบกับผู้นำแรงงานที่ทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องความปลอดภัยและปฏิเสธที่จะไม่ขับรถไฟที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ภายหลังจากเหตุการณ์รถไฟ(ที่อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐาน)ตกรางในปี 2552 ที่อ.เขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรณีของบริษัทการบินไทยจำกัด จำกัด ซึ่ง ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้านจากผู้นำสหภาพ ฯ 4 คน โดยอ้างความเสียหายที่เกิดกับบริษัท ฯ หลังจากที่มีภาพเหตุการณ์การชุมนุมของพนักงานที่อาคารผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2556 ออกไปตามสื่อต่าง ๆ แม้การชุมนุมจะเกิดขึ้นจากไม่พอใจของพนักงานและผู้นำสหภาพ ฯ ทั้ง 4 เพียงเข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้เกิดข้อตกลงร่วมระหว่างบริษัท ฯ และบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ และ มิตซูบิชิ อิเล็กทริกคอนซูเมอร์ ซึ่งมีการทำลายสหภาพแรงงานในบริษัท ด้วยวิธีการเลือกปฏิบัติและข่มขู่ผู้นำและสมาชิกสหภาพ ฯ ซึ่งรวมทั้ง การให้ทำกิจกรรมในค่ายทหาร การไม่ให้เข้าทำงาน และการยื่นข้อเรียกร้องขอลดค่าจ้าง และสวัสดิการ เหลือเพียงแค่ขั้นต่ำตามกฎหมาย

นอกจากนี้ จดหมายจาก องค์กรแรงงานดังกล่าว ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับ รวมทั้งให้มีการแก้ไข พรบ.แรงงานสัมพันธ์ และ แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อให้มีการเคารพสิทธิในการรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรองร่วม เนื่องจากในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่แรงงานข้ามชาติที่ถูกจำกัดสิทธิในการตั้งสหภาพ ฯ แต่รวมไปถึงแรงงานและลูกจ้างชาวไทยในภาคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ แรงงานนอกระบบและฟรีแลนส์ ลูกจ้างในภาคสาธารณสุขและการศึกษา ครู อาจารย์ และลูกจ้างในภาพเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นการให้สิทธิที่ต่ำกว่ามาตรฐานแรงงานสากลตามอนุสัญญาหลักของ ILO อย่างมาก

ที่ผ่านมา อินดัสทรีออลล์ ได้เคยลงบทความถึงการละเมิดสิทธิ์(รวมถึงการบังคับให้แรงงานเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ) ของบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริก คอนซูเมอร์ และในปี 2558 ได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อ คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคม (CFA) ของ ILOถึงการที่รัฐบาลไทยล้มเหลวในการคุ้มครองให้เกิดมาตรฐานแรงงานสากลในประเทศ และปล่อยให้เกิดการทำลายสหภาพแรงงานขึ้นในประเทศ โดยยกกรณีตัวอย่าง 18 กรณีมาประกอบ ซึ่ง CFA ได้มีข้อเสนอแนะ ในปี 2559 ให้ไทยแก้ไขกฎหมายแรงงานในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านเสรีภาพการสมาคมและเจรจาต่อรองร่วม และ แก้ไขปัญหา การทำลายสหภาพ ฯในประเทศโดยด่วน ส่วน ITF ได้เคยยื่นข้อร้องเรียนต่อ CFA ถึงกรณีของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในปี 2556  และ การบินไทย ในปี 2560 ซึ่ง CFA มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานสากลของ ILO มีการใช้การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินที่มากเกินจริง เพื่อข่มขู่ไม่ให้ผู้นำสหภาพ ฯ ทำการเรียกร้องเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ และต่อมาในเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐ ฯ ก็ได้ประกาศตัดสิทธิ์ GSP ไทย จากสาเหตุเรื่องความล้มเหลวในการคุ้มครองให้เกิดมาตรฐานแรงงานสากลในประเทศ โดยยกกรณีที่มีการกล่าวถึงในข้อร้องเรียนถึง CFA ของ ILO  ขึ้นมาเป็นข้อมูลประกอบ

นอกจากนี้ ITUC (ในชื่อเดิม ICFTU) และ ITF เป็นหนึ่งในองค์กรที่ยื่นข้อร้องเรียนถึง CFA เมื่อปี 2535 หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจและมีการออกกฎหมายห้ามลูกจ้างรัฐวิสาหกิจรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน (และมีการหายตัวไปของ ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน) ซึ่งต่อมา รัฐบาลไทยได้ยอมคืนสิทธิ์การจัดตั้งสหภาพ ฯ ให้กับลูกจ้างในภาครัฐวิสาหกิจ โดยออกเป็น พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เมื่อปี 2543

จดหมายฉบับแปล : 

เรียน ฯพณฯ ท่าน พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา
สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล เลขที่ 1 ถนนนครปฐม เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

อีเมล webmaster@thaigov.go.th

แฟกซ์: +6622834000

ผ่าน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์

876 Chaussee de Waterloo, 1000, Bruxelles, Belgium

อีเมล:  consular@thaiembassy.be

 

วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

 

เรื่อง    การพิจารณาการตัดระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป

เรียน พ.ณ.ท่านนายกรัฐมนตรี

จดหมายฉบับนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) ขอยื่นจดหมายฉบับนี้ร่วมกับ สมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งยุโรป (ETUC) สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) และ อินดัสทรีออล โกลบอลยูเนี่ยน (IndustriALL Global Union) เป็นเวลากว่าหลายปีแล้วที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล และสหพันธ์แรงงานในระดับสากลมีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทยร่วมทั้งการละเมิดต่อเสรีภาพในการสมาคม การเจรจาต่อรองร่วมในประเทศไทย และความกังวลต่อการค้ามนุษย์ที่เป็นแรงงานบังคับอย่างกว้างขวาง  โดยข้อกังวลดังกล่าวยังไม่มีการแก้ไขด้วยความตั้งใจจริง เลยไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศจะระงับตัดสิทธิประเทศไทยออกจากระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป โดยจะมีผลในวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓ โดยระยะเวลาหกเดือนที่เหลือนี้รัฐบาลไทยจะต้องใช้โอกาสสุดท้ายในก้าวสำคัญเพื่อทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล ในนามของสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า ๒๐๗ ล้านคนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสหภาพแรงงานในประเทศไทยด้วย ขอผลักดันให้รัฐบาลไทยนำประเด็นเหล่านี้มาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการทบทวนสิทธิพิเศษทางการค้า โดยการร่วมปรึกษาหารือกับผู้แทนสหภาพแรงงานอย่างไม่รอช้า

โดยประเด็นดังต่อไปนี้ควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญและหาทางออกเพื่อแสดงถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน

  1. การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (LRA) และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (SELRA) ล้มเหลวต่อการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานซึ่งนั่นไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลไทยปรับแก้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ และ ๒๕๖๑ มีการปรับปรุงเล็กน้อย แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็ยังไม่รวมถึงคนส่วนมากในกำลังแรงงานในประเทศไทย รวมทั้งข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ ครู คนงานในภาคเกษตร แรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบ หรือแม้แต่คนงานที่อยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ยังคงต้องเผชิญข้อจำกัดในการใช้สิทธิต่างๆ ดังข้างต้นที่กล่าวมา ตัวอย่างเช่น ไม่มีข้อบังคับใดๆ ที่นายจ้างต้องเจรจาร่วมกับลูกจ้างด้วยความสุจริตใจ และกฎระเบียบในการนัดหยุดงานยุ่งยากเกินกว่าที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ รัฐบาลไทยจึงต้องทบทวน และแก้ไขกฎหมายแรงงาน โดยทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานและการได้รับการสนับสนุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อทำให้แน่ใจว่าการปฏิรูปกฎหมายสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

2. ในทางปฏิบัติ

a. เสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม

การเลือกปฏิบัติและการต่อต้านสหภาพแรงงานโดยนายจ้างกลายเป็นเรื่องธรรมดาและกลไกการระงับข้อพิพาทที่อ่อนแอแสดงให้เห็นว่าน้อยมากที่คนงานจะได้รับกลับเข้าทำงานหรือได้รับการจ่ายค่าชดเชย เจ้าหน้ารัฐทำหน้าแทบจะไม่ช่วยเยียวยาคนงานเลยแม้ว่ามีคำสั่งศาล และในบางกรณีรัฐเองก็มีส่วนร่วมในการกระทำการต่อต้านสหภาพแรงงานรวมถึงสหภาพแรงงานในภาคการขนส่งด้วย การละเมิดสิทธิ์อย่างแพร่หลายด้วยการให้มีการจ้างงานผ่านบริษัทจัดหางาน สัญญาจ้างเหมาค่าแรง และสัญญาจ้างชั่วคราว ถือเป็นการบ่อนทำลายการใช้สิทธิเหล่านี้ในทางปฏิบัติ รวมถึงในเขตอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เราหวังว่าจะมีการใช้มาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกปฏิบัติต่อต้านสหภาพแรงงานจะต้องถูกลงโทษอย่างเต็มที่และคนงานต้องได้รับการเยียวยา รวมถึงการได้รับกลับเข้าทำงานอย่างเร่งด่วน

ด้านล่างนี้เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ:

i. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)

รายงานฉบับที่ ๓๐๒๒ คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ขอให้รัฐบาลไทยเร่งให้รับผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าแรงคืนให้กับผู้นำที่ถูกเลิกจ้างหลังจากการออกมารณรงค์เพื่อต่อต้านสภาพที่เป็นอันตรายต่อระบบรถไฟ แต่รัฐบาลยังคงล้มเหลวต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เลวร้ายไปกว่านั้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๑ รัฐบาลไทยได้หักค่าแรงและเงินเกษียณอายุของผู้นำสร.รฟท. ทำให้แทบจะไม่เหลืออะไร เพื่อใช้เป็นค่าเสียหาย (๒๔ ล้านบาท) ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศเห็นว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และตอนนี้ผู้นำ สร.รฟท.ทั้งหมดได้ถูกนำคดีดังกล่าวขึ้นสู่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยยื่นดำเนินคดีกับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ผู้นำสหภาพไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและไม่ได้กระทำการทุจริต แม้จะไม่มีการก่ออาชญากรรม แต่ผู้นำสหภาพแรงงานต้องเผชิญกับโทษจำคุกสูงสุดห้าปี ดังนั้นผู้นำ สร.รฟท. ได้รับการคืนเงินค่าแรงและเงินเกษียณอายุทั้งหมดและจะต้องไม่ถูกหักค่าเสียหายใดๆ และต้องถอนคดีอาญาต่างๆ ของพวกเขาทันที

ii. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.)

รายงานฉบับที่ ๓๑๘๐ คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เห็นว่าค่าเสียหาย ๓๒๖ ล้านบาท (ประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นคำสั่งให้ผู้นำ สร.กบท. ทั้ง ๔ ท่านชดใช้ โดยความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประท้วงของคนงานบริษัทการบินไทยในปี ๒๕๕๖ นั้น ถือเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับหลักการของเสรีภาพในการสมาคมภายใต้กฎหมายแรงงานในระดับสากล คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวเห็นว่าค่าเสียหายดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการละเมิดการห้ามนัดหยุดงาน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของเสรีภาพในการสมาคม และค่าเสียหายที่มากมายขนาดนี้ดูเหมือนว่าจะมีผลกระทบในเชิงข่มขู่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยและผู้นำสหภาพ และไปยับยั้งการดำเนินกิจกรรมอื่นๆที่ชอบด้วยกฎหมายของสหภาพแรงงาน โดยขณะนี้สหภาพฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และรัฐบาลไทยต้องสื่อสารถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเสรีภาพในการรวมตัวอย่างไม่รอช้า

iii. ในอุตสาหกรรมยานยนตร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ข้อร้องเรียน GSP ได้กล่าวถึงการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างกว้างขวางในทั้งกลุ่มยานยนต์และในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น  การใช้กระบวนการปรับทัศนคติในค่ายทหารกับคนงาน (ดู กรณีเจเนอรัล มอเตอร์ และมิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอมซูมเมอร์ โพรดัก) กรณีศึกษานี้เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องการเลิกจ้างคนงานหลายร้อยคนจากการทำกิจกรรมสหภาพแรงงานที่ถูกกฎหมาย และแทบไม่มีใครได้รับการกลับเข้าทำงานหรือได้ค่าชดเชยจากรายได้ที่สูญเสียไป รัฐบาลไทยต้องทำให้คนงานเหล่านี้กลับเข้าทำงานและได้รับค่าชดเชยจากกรณีเหล่านี้

b. การหมิ่นประมาท

บ่อยครั้งมากที่คนงานถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาโดยนายจ้าง จากการที่พวกเขาร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิตามกฎหมายแรงงานของนายจ้าง ในบางกรณีพบว่าคนงานมีความผิดในขณะที่นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อการละเมิดสิทธิแรงงาน ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องห้ามมิให้มีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทโดยเด็ดขาดในเรื่องข้อกล่าวหาการละเมิดแรงงาน

c. การบังคับใช้แรงงาน และสภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

การแก้ไขกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ การขจัดการจัดหางาน การห้ามยึดเอกสารแสดงตัวตนของแรงงานข้ามชาติ และการห้ามใช้แรงงานเด็ก แม้จะมีมาตรการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังคงมีกรณีการค้ามนุษย์เพื่อนำมาเป็นแรงงานบังคับที่ยังคงรุนแรงในอุตสาหกรรมประมงไทย (ทั้งบนฝั่งและในทะเล) ผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนแทบจะได้รับการยกเว้นโทษทั้งหมด เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานประมง (FRN) โดยสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ได้จัดตั้งสหภาพแรงงานคนงานประมงที่มีอิสระและเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยมีนักจัดตั้งที่เป็นชาวพม่าและกัมพูชาที่เป็นคนงานประมง และกว่าร้อยละ ๙๐ ของแรงงานประมงชาวพม่าที่ FRN สัมภาษณ์ ผ่านการทำงานกว่า ๑๒ เดือนโดยการถูกให้เป็นแรงงานขัดหนี้ 20,000 บาท (ประมาณ ๖๐๐ เหรียญสหรัฐ) ในขณะที่ประเทศไทยประกาศรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง แต่รัฐบาลก็ยังไม่ปฏิบัติใช้กฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบทบัญญัติของอนุสัญญาฉบับดังกล่าวคือการคุ้มครองสิทธิแรงงานประมงบนเรือ รวมทั้งการให้มีอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการดูแลทางการแพทย์ในทะเลและบนฝั่งตามสัญญาที่เขียนไว้ และรวมทั้งการได้รับการคุ้มครองจากประกันสังคม ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ 188 ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ และยังต้องอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติเข้าร่วมและจัดตั้งสหภาพแรงงานที่มีอิสระและเป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งสำคัญมากสำหรับการคุ้มครองแรงงานทั้งมวล รวมถึงแรงงานข้ามชาติ

d. การรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98

ประเทศไทยคือหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่ยังไม่รับรองทั้งอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ แน่นอนว่าอนุสัญญาทั้งสองฉบับได้รับการรับรองเกือบทุกประเทศทั่วโลกแล้ว พวกเราขอให้รัฐบาลไทยเร่งรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับให้เร็วที่สุด

เราหวังว่าท่านจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามลำดับความสำคัญในอีกหกเดือนข้างหน้า และพวกเราพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือทางเทคนิคมายังรัฐบาลของท่านต่อประเด็นต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด

 

ขอแสดงความนับถือ

 

วอลเทอร์ ชานเชส                  เพร์ อิลเมอร์ซัน                     ชารัน เบอร์โรว์          

เลขาธิการ                            รองเลขาธิการ                       เลขาธิการ                 

อินดัสทรีออล โกลบอลยูเนียน    สมาพันธ์สหภาพแรงงานยุโรป   สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล

 

สตีเฟ่น คัตตอน

เลขาธิการ

สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ

 

สำเนาถึง

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

Email: webmaster@mol.mail.go.th

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

Email: webmaster@moc.go.th

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

Email: information01@mfa.mail.go.th ;  permsec@mfa.go.th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net