Skip to main content
sharethis

ดูคำถามและข้อมูลเพิ่มเติม กรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรรมมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ถาม ผบ. เหล่าทัพ เรื่องความโปร่งใสของงบกลาโหมที่อนุญาตให้ตั้งระบบตรวจสอบบัญชีได้เอง สัมปทานช่อง 7 ที่ซื้อมาจาก ททบ. 5 ความร่ำรวยของนายพลที่มีทรัพย์สินและรายได้มากกว่าที่พึงได้ตามรายได้ข้าราชการ ให้แจงอาชีพเสริม ผบ.เหล่าทัพจะส่งเอกสารงบให้ต่อไป ส่วนกิจการแข่งม้า-มวย อยู่ภายใต้กองทัพมานานแล้ว

ธนาธรในห้องชี้แจงกรรมาธิการงบประมาณ (ที่มา:Facebook/Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ)

29 พ.ย. 2562 สื่อหลายสำนัก และเพจเฟสบุ๊คธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ รายงานว่า เมื่อวานนี้ (28 พ.ย. 2562) ในกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ธนาธรได้ตั้งคำถามเรื่องการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมต่อตัวแทนกระทรวงกลาโหมที่มาชี้แจงต่อ กมธ. นำโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

ธนาธรตั้งคำถามเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณกระทรวงกลาโหมจำนวนรวม 18,657 ล้านบาท ถือว่ามากเกือบเท่างบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมกัน (1.9 หมื่นล้านบาท) ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังฯ เงินนอกงบประมาณทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดเป็นอื่นหรือตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น

ซึ่งกระทรวงกลาโหมนั้นได้ตกลงกับกระทรวงการคลังว่างบประมาณกลาโหมให้ถือปฏิบัติตามการบริหารข้อบังคับกระทรวงกลาโหม โดยข้อบังคับกระทรวงกลาโหมนั้นแบ่งเงินนอกงบประมาณเป็น 2 บัญชี และในบัญชีที่ 2 อนุญาตให้ตั้งในระบบบัญชีเอง และตั้งระบบตรวจสอบบัญชีเองได้ หมายความว่างบประมาณบางส่วนของกลาโหมมีความไม่โปร่งใส

ธนาธรขอให้กระทรวงกลาโหมเปิดเผยรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับรายได้กระทรวงกลาโหมและกองทัพ 7 ประการ ได้แก่

  1. รายได้จากการใช้ทรัพยากรคลื่นวิทยุย้อนหลัง 10 ปี
  2. รายชื่อบริษัทผู้รับบริหารสัมปทานคลื่นวิทยุ และสัญญากับทุกบริษัท
  3. สัญญาระหว่างกองทัพบกกับ ช่อง 7 ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2512
  4. รายได้จากการให้สัมปทานช่อง 7 ทุกปี ตั้งแต่ปี 2512
  5. รายได้อัตราค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน หรือ MUX
  6. ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารจัดการงบประมาณ
  7. รายละเอียดเงินนอกงบประมาณประเภท 1 และ 2 ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง

ธนาธรกล่าวว่าเหตุที่อยากทราบรายละเอียดเรื่องนี้ เพราะประชาชนตั้งคำถามว่าทำไมบรรดานายพลจึงร่ำรวยผิดปกติ จากบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่แสดงต่อ ป.ป.ช. เมื่อเดือน พฤษภาคม 2562 รายได้ของนายพล 81 คน ที่อยู่ใน สนช. มีทรัพย์สินเฉลี่ย 78 ล้าน รายได้เฉลี่ย 12.72 ล้านบาทต่อปี หรือมีทรัพย์สิน 6.13 เท่าของรายได้ รายได้และทรัพย์สินเหล่านี้ไม่สามารถได้มาโดยลำพังเงินเดือนการเป็นทหารอย่างเดียว หมายความว่านายพลส่วนใหญ่มี “side business” หรือทำธุรกิจคู่ขนานกับการรับราชการ และยังย้ำด้วยว่า เขาขอข้อมูลดังกล่าวไปตั้งแต่ตอนกระทรวงการคลังมาชี้แจงกับ กมธ. เมื่อ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา

เปิด 6 ขุมทรัพย์กองทัพ (และนายพล) หาเงินจากไหน ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดระบุว่า เงินนอกงบประมาณจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทไม่ได้มาจากการจัดทำของกระทรวงกลาโหม แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลของสำนักงบประมาณรัฐสภา การเบิกจ่ายเป็นไปตามปกติ ไม่มีสิทธิพิเศษเหนือกระทรวงอื่นๆ ทั้งนี้ในเรื่องความโปร่งใสของนายพลนั้น แต่ละคนอาจมีความร่ำรวยต่างกัน แต่ก็ได้แสดงความโปร่งใสผ่านการแสดงบัญชีทรัพย์สินแล้วทั้งก่อน-หลังเข้ารับตำแหน่ง รายละเอียดอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดส่งเอกสารให้ธนาธรต่อไป

อภิรัชต์กล่าวว่า เงินนอกงบประมาณบางส่วนเป็นรายได้จากโรงพยาบาลกองทัพที่ประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาลเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป รายรับบางส่วนจำกลับมาหมุนเวียนในการบริหาร กรณีค่า MUX ช่อง 5 และช่อง 7 นั้น ทางช่อง 7 ได้หมดสัญญาไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 การปรับลดอัตรากำลังพล กองทัพก็มีแผนลดอยู่แล้วทั้งนายพลและนายทหาร ทั้งนี้ อภิรัชต์ไม่ได้ตอบคำถามกรณีความร่ำรวยผิดปกติของเหล่านายทหารแต่อย่างใด

ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีคลื่นความถี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิม สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ซื้อสัมปทานคลื่นความถี่มาจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อแพร่ภาพกระจายเสียงในระบบอนาล็อก ข้อมูลจากเว็บไซต์ TV Digital Watch เมื่อ 16 มิ.ย. 2561 ระบุว่า ททบ. 5 และช่อง 7 ได้มีข้อสรุปยุติระบบอนาล็อคในวันที่ 17 มิ.ย. 2561 โดยยังไม่ยกเลิกสัญญาสัมปทาน ช่อง 7 จะยังจ่ายค่าสัมปทานปีละประมาณ 150 ล้านบาทให้กองทัพบกจนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2566 

บนระบบทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องเช่าโครงข่าย MUX เพื่อใช้แพร่ภาพกระจายเสียง และช่อง 7 ยังคงเช่าโครงข่าย MUX อยู่กับช่อง 5 โดยข้อมูลเมื่อ เม.ย. 2562 พบว่ามีช่องที่ใช้ MUX ของ ททบ.5 จำนวน 12 ช่อง แบ่งตามประเภท ดังนี้

HD 5 ช่อง - ช่อง 7, อมรินทร์ทีวี, พีพีทีวี และช่อง 5

SD 7 ช่อง - เวิร์คพอยท์, โมโน, จีเอ็มเอ็ม 25, เนชั่นทีวี, ทรูโฟร์ยู, ทีเอ็นเอ็นและนิวทีวี

ค่าเช่าใช้ในรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) มีราคา 3.5 ล้านบาท/เดือน และช่องประเภทความคมชัดสูง (HD) มีราคา 10.5 ล้านบาท/เดือน

ธนาธรตั้งคำถามถึงกิจกรรมของกองทัพที่ไม่อยู่ในภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นสนามม้า สนามมวย หวย หรือกิจการพาณิชย์ เช่น สนามมวยลุมพินีแห่งใหม่ที่อยู่ในศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ใช้งบประมาณ 380 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่รามอินทรา ก็ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นกิจการของรัฐหรือเอกชนกันแน่ ก่อนหน้านี้ได้ข่าวว่าไปสร้างสนามมวยที่ทุ่งมหาเมฆ แต่ไม่ได้ใช้งาน เพราะโปรโมเตอร์เห็นว่าเดินทางไม่สะดวก สูญงบประมาณไปอีก 50 ล้านบาท 

ส่วนรายได้ของสนามมวยลุมพินี ตั้งแต่ปี 2557-2560 มีรายได้กว่า 400 ล้านบาท ถูกนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนสนามมวยลุมพินี อยากทราบว่ารายละเอียดการบริหารจัดการกองทุนนี้เป็นอย่างไร ใครเป็นคนบริหาร ส่วนการสร้างสนามมวย ตกลงใช้งบส่วนใด ถ้าเป็นงบราชการก็ขอดูรายละเอียดการเปิดประมูล การจัดซื้อจัดจ้างโครงการ

ส่วนกรณีสนามม้า เช่น อัศวราชสีมาสโมสร องค์กรค่ายสุรนารี ทหารผ่านศึกราชสีมาสมาคมที่ไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ สนามม้าเหล่านี้อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมหรือไม่ รายได้จากสนามม้าไปอยู่ที่หน่วยงานใด ได้จ่ายภาษีจากการดำเนินกิจการพนันให้กรมสรรพสามิตหรือไม่ ธนาธรยืนยันว่าต้องการดูงบการเงินของสนามม้าทั้งหมดของกองทัพ และถามกลับด้วยว่าหากสนามม้า สนามมวย ยังต้องมีอยู่ ทำไมจึงต้องขึ้นกับกองทัพ ทั้งที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ

พิพัฒน์พลยืนยันว่า การดำเนินกิจการมวย ม้า มาจากกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน และการดูแลสวัสดิการทหารผ่านศึก แต่หากจะให้ตอบว่าการให้กิจการเหล่านี้อยู่ในการดูแลของกองทัพเหมาะสมหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่ากองทัพทำแบบนี้มานานแล้ว คงต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร

สนามมวยลุมพินี เวทีมวยชื่อดัง ที่คณะกรรมการบอร์ดบริหารทั้งหมด 15 คน เป็นทหารทั้งหมด นำโดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (กองสลาก) 

สโมสรฟุตบอล อาร์มี่ ยูไนเต็ด เดิมชื่อสโมสรกีฬากองทัพบก ก่อตั้งเมื่อปี 2459 (เปลี่ยนชื่อเมื่อปี 2553) เดิมเป็นทีมฟุตบอลที่มุ่งใช้นักเตะในกองทัพเป็นหลัก เป็นพื้นที่ให้กำลังพลออกกำลังกาย ต่อมาเปลี่ยนเป็นการดำเนินการเชิงพาณิชย์มากขึ้น งกองทัพได้รับรายได้จากส่วนแบ่งยอดขายตั๋วและรายได้จากโฆษณา ปัจจุบันมี พล.อ.อภิรัชต์ ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร ล่าสุดวันนี้ (29 พ.ย. 62) บอร์ดบริหารระดับสูงของอาร์มี่ ยูไนเต็ด ตัดสินใจไม่ส่งทีมลงแข่งขันในลีก 2 ของไทย แต่จะนำทีม ทบ. ยูไนเต็ดที่อยู่ดิวิชั่น 4 มาสวมชื่อ อาร์มี่ ยูไนเต็ดแล้วพัฒนาทีมต่อไป (ที่มา:มติชน)

นอกจากนั้น กองทัพยังพัฒนาที่ดินบางส่วนให้เป็นสนามกอล์ฟและสนามกีฬากองทัพบก สนามกีฬากองทัพบกในบางจังหวัดได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการบ่อนพนันแข่งม้า กองทัพเรือมีการเปิดสนามกอล์ฟราชนาวี-พลูตาหลวง ใน จ.ชลบุรี และเก็บรายได้จากค่าใช้สนาม

ธนาธรได้ถามถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพที่มีการโพสท์ข่าวใส่ร้ายป้ายสีพรรคการเมืองบางพรรคอย่างต่อเนื่องด้วยวาทะเกลียดชัง สร้างความแตกแยกในสังคม โดยธนาธรถามว่ากระทรวงกลาโหมมีปฏิบัติการเช่นว่าจริงหรือไม่ อยู่หน่วยงานใด ใช้งบเท่าไหร่ ใครมีอำนาจในการกำหนดเนื้อหา เช่นใครเป็นศัตรูขอชาติ อะไรคือความจริงที่ถูกต้อง แต่ ผบ.เหล่าทัพไม่ได้ให้คำตอบในคำถามนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net