Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวที่สหรัฐอเมริกามีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences-GSP) กับประเทศไทยได้ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วในสังคม รวมทั้งจากผู้คนหลายๆ กลุ่ม ทั้งจากผู้ที่เข้าใจประเด็นในส่วนหนึ่ง ผู้ที่แทบจะไม่เข้าใจในประเด็นเลย หรือผู้ที่เข้าใจประเด็นส่วนมาก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่มองเห็นได้จากกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ สังคมไทยโดยส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในคำว่า “สิทธิแรงงาน” ซึ่งรวมทั้งการละเมิดสิทธิและการทำลายสหภาพแรงงาน ทำลายอำนาจการต่อรองของคนงาน ลูกจ้างและภาคประชาสังคมในประเทศ และยังได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานแรงงานสากล” และอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(International Labour Organization-ILO) มากน้อยแค่ไหน

ถึงแม้ว่า ILO และองค์กรสหภาพแรงงานในระดับสากลหลายองค์กรอย่าง สมาพันธ์แรงงานสากล(International Trade Union Confederation- ITUC) [1], อินดัสทรีออลล์ โกลบอล ยูเนียน( IndustriALL)[2] และสหพันธ์แรงงานขนส่งสากล (International Transport Workers Federation-ITF)[3] จะได้ยื่นข้อร้องเรียนและลงข่าวลงบทความเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทยมายาวนานหลายปี รวมทั้งมีการจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน เสรีภาพการสมาคมเจรจาต่อรองร่วม และทำลายสหภาพฯ อย่างเป็นระบบในขั้นที่รุนแรง

รวมทั้งการที่ประเทศไทย (หนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้ง ILO เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน) ปฏิเสธที่จะไม่ลงสัตยาบันในอนุสัญญาหลัก (และจัดอยู่ในหมวดอนุสัญญาที่สำคัญที่สุดของ ILO) ซึ่งได้แก่ อนุสัญญาฉบับที่ 87 (เสรีภาพการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการจัดตั้ง) และ 98 (สิทธิในการจัดตั้งและเจรจาต่อรองร่วม) ตลอดจนการที่มีการเชื่อมโยงถึงการที่ประเทศไทยมีสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่ในอัตราส่วนที่น้อยที่สุด เข้ากับการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก สืบเนื่องจากความอ่อนแอของอำนาจต่อรองของลูกจ้างและภาคประชาสังคมในประเทศ[4]

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังแสดงให้เห็นว่าตัวแทนจากรัฐบาลไทย โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ขาดความเข้าใจในประเด็นที่เกิดขึ้นมากแค่ไหน[5] ซึ่งอาจจะเป็นทำให้หนึ่งในโอกาสที่ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย (ไม่ใช่แค่ข้ามชาติ) รวมทั้งเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับภาคประชาสังคมและคนทำงานในประเทศ ต้องหลุดลอยไป พร้อมกับสิทธิพิเศษทางการค้าที่กำลังจะถูกตัดสิทธิด้วยสาเหตุที่ว่าประเทศไทยไม่คุ้มครองมาตรฐานแรงงานให้เท่าเทียมกับสากล

 

ตัดสิทธิ GSP ไทย เพราะไม่ใส่ใจการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงาน

ข่าวการถูกตัดสิทธิ GSP ของไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ซึ่งมีหลายสำนักข่าวได้ลงข่าวและเกิดเป็นกระแสตามมา โดยมีการตีความไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะจากผู้มีชื่อเสียงในอินเตอร์เน็ต เช่น เพจเฟสบุ๊ค Drama Addict ที่มีการโพสข้อความว่า “ส่วนตัวกรูว่า เพราะยกเลิกสามสารมากกว่า ต้องรอดูกันว่ารัฐบาลจะรับมือยังไง”[6]

โดยเอาเรื่องการถูกตัดสิทธิ ไปโยงเข้ากับเรื่องที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส  เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่สังคมไทย มีการเชื่อมโยงข้อมูล ข้อเท็จจริง เข้ากับทฤษฎีสมคบคิด โดยไม่ได้พิจารณาจากข้อมูลว่า มีการยื่นให้ตัดสิทธิ GSP มาตั้งแต่ปี 2558 และมีข่าวว่า รัฐบาลไทยได้เดินทางไปที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อแถลงกับสภาคองเกรส ของสหรัฐฯ เพื่อคัดค้านการถูกตัดสิทธิมาโดยตลอด[7]

หรือถ้ามองย้อนไปในอดีต AFL CIO ก็เคยขอให้มีการยื่นตัดสิทธิ GSP ไทย ภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2535 ส่งผลให้เกิดการคุกคามและละเมิดสิทธิแรงงานอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการหายตัวไปของผู้นำแรงงานในยุคนั้นอย่าง ทนง โพธิ์อ่าน  รวมทั้งการที่รัฐบาลที่นำโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประกาศยกเลิกสิทธิในการตั้งและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในภาครัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการละเมิดมาตรฐานสากล

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ขบวนการแรงงานทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ITUC, ITF, สหภาพแรงงานข้าราชการสากล (PSI), สหภาพแรงงานไปรษณีย์ โทรเลข และโทรศัพท์สากล (PTTI), สหพันธ์แรงงานลูกจ้างภาคการค้า เสมียน ผู้เชี่ยวชาญ และช่างเทคนิคสากล (FIET), และสหพันธ์แรงงานก่อสร้างและช่างไม้สากล (IFBWW) ออกแถลงการณ์ โจมตี ประณาม รวมทั้งยื่นข้อร้องเรียนต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ถึงการละเมิดสิทธิของรัฐบาลไทย[8]

จากแรงกดดันในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลไทยยอมคืนสิทธิในการสมาคม จัดตั้งสหภาพแรงงาน และเจรจาต่อรองร่วมให้กับภาครัฐวิสาหกิจของไทย โดยออกเป็น พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ปี พ.ศ.2543

อย่างไรก็ตามการให้ข่าวในภายหลังของทั้งรัฐบาลไทยและสถานทูตอเมริกัน ทำให้สังคมเข้าใจประเด็นว่าเหตุผลของการตัดสิทธิคืออะไร แม้จะมีความพยายามจาก รมว.แรงงาน ในการเบี่ยงประเด็นว่า ข้อร้องเรียนจาก AFL-CIO ไม่ใช่การเรียกร้องให้ไทยยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศไทย แต่เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สิทธิแก่แรงงานข้ามชาติ”มากกว่า”แรงงานไทย

อย่างไรก็ตามภายหลังเมื่อสื่อมวลชนและสาธารณชนได้เห็นตัวข้อร้องเรียน รวมทั้งมีความพยายามจากผู้นำแรงงานบางกลุ่ม ที่จะสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า ข้อร้องเรียนให้ตัดสิทธิ GSP เป็นการเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายแรงงานในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล

โดยกรณีการละเมิดสิทธิต่างๆ ที่มีการอ้างถึงในข้อร้องเรียน ล้วนแต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานชาวไทยเกือบทั้งสิ้น (มีกรณีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติเพียงเล็กน้อย) และถึงจะมีการพูดถึงกรณีที่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยถูกจำกัดสิทธิในการตั้งสหภาพแรงงาน (โดยให้สิทธิเพียงการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ ที่คนไทยตั้งขึ้นเท่านั้น) แต่ก็มีการพูดถึงกรณีที่แรงงานจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ครู อาจารย์ ลูกจ้างในสถาบันการศึกษาและสาธารณสุข และแรงงานนอกระบบชาวไทย ถูกจำกัดสิทธิไม่สามารถตั้งและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานที่ “ต่ำกว่า”มาตรฐานแรงงานสากลที่กำหนดโดย ILO (ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศร่วมก่อตั้งตั้งแต่ ค.ศ.1919) และเป็นการพิสูจน์ว่า สิ่งที่ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ข้อร้องเรียนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้สิทธิมากกว่าแรงงานไทยนั้น ไม่เป็นความจริง

18 กรณีที่สหรัฐอเมริกานำมาพิจารณาก่อนตัดสิทธิ

กรณีหลายๆกรณีและข้อมูลที่ปรากฏในข้อร้องเรียนนั้น สอดคล้องกับข้อร้องเรียนจากองค์กรแรงงานในระดับสากลหลายองค์กร รวมทั้งข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคม (CFA) ของ ILO  ที่เคยเสนอต่อรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นข้อร้องเรียนจาก IndustriALL ในปี 2015 พูดถึงการที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์และแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล และการขาดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศ

โดยยกตัวอย่างกรณีที่มีการละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานทั้งหมด 18 กรณี (เช่น กรณีที่เกิดกับบริษัท ยัม เรสทัวรองท์, อิเล็กโทรลักซ์ และ สแตนเลย์)[9] ข้อร้องเรียน จาก ITF พูดถึงกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานสาขาหาดใหญ่ 6 คน และฟ้องเลิกจ้างและเรียกค่าเสียหายจาก ผู้นำสหภาพแรงงานจากส่วนกลางในกรุงเทพฯ อีก 7 คน ด้วยข้อหานัดหยุดงานผิดกฎหมายและละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยเหตุที่ผู้นำฯ เหล่านี้ทำการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในรถไฟไทย และปฏิเสธที่จะไม่ขับรถไฟที่อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐาน หลังจากเกิดเหตุการณ์รถไฟตกรางที่ อ.เขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์เมื่อปี 2552  ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 7 คน

ข้อร้องเรียนที่พูดถึงกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด  ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้านจากผู้นำสหภาพฯ 4 คน โดยอ้างความเสียหายที่เกิดกับบริษัทฯ หลังจากที่มีภาพเหตุการณ์การชุมนุมของพนักงานที่อาคารผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2556 ออกไปตามสื่อต่างๆ แม้การชุมนุมจะเกิดขึ้นจากไม่พอใจของพนักงานและผู้นำสหภาพฯ ทั้ง 4 เพียงเข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้เกิดข้อตกลงร่วมระหว่างบริษัทฯ กับพนักงานก็ตาม

โดย CFA มีคำตัดสินและข้อเสนอแนะในกรณีต่างๆ โดยสรุปว่า รัฐบาลไทยล้มเหลวในการส่งเสริมและคุ้มครองให้เกิดการเคารพมาตรฐานแรงงานสากลในประเทศ ปล่อยให้มีการตอบโต้ เลือกปฏิบัติและเล่นงานผู้นำสหภาพฯ ในหลายๆ กรณี (รวมทั้งการฟ้องเรียกค่าเสียหาย) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความกลัวต่อผู้นำสหภาพฯ ที่ปกป้องสิทธิแรงงานในอนาคต รวมทั้งเรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับ 87 และ 98 ของ ILO และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานโดยด่วน

ภาพผู้นำและสมาชิกจากสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็กทริกฯ ซึ่งถูกบริษัทให้ไปทำกิจกรรมที่ค่ายทหาร เพื่อเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการพิจารณารับกลับเข้าทำงาน

ภาพจาก : https://prachatai.com/journal/2018/11/79575

หลายๆ กรณีที่ปรากฏในข้อร้องเรียนนั้น เป็นกรณีที่เคยมีทั้งสื่อจากไทยและต่างประเทศลงข่าวและลงบทความวิเคราะห์ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า กรณีเหล่านี้มักไม่ได้ปรากฏอยู่ในความรับรู้ของสังคมไทยว่าเป็น การละเมิดสิทธิแรงงานสากลขั้นพื้นฐานที่รุนแรงและยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะในการทำข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ซึ่งไม่เฉพาะการขอรับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ

แต่การเจรจากรอบความตกลงอื่นๆ (เช่น การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับสหภาพยุโรป) ก็ล้วนแต่มีเงื่อนไขว่า ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานสากลตามมาตรฐานของ ILO (ตัวอย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ได้ประกาศลงสัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 98 ของ ILO ภายหลังจากมีการทำข้อตกลง FTA กับ EU)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ข่าวเรื่องการประกาศตัดสิทธิ GSP ปรากฏสู่สาธารณะ ก็ได้มีการพูดถึงและค้นหากรณีการละเมิดสิทธิแรงงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่นกรณีของบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริก คอนซูเมอร์ ซึ่งเวบไซต์ประชาไท ได้เคยลงบทความถึงแคมเปญจากเวบไซต์ LabourStart ที่เรียกร้องให้บริษัทฯ เคารพสิทธิแรงงานภายหลังจากที่บริษัทไม่ยอมรับผู้นำและสมาชิกสหภาพฯจำนวนหนึ่งกลับเข้าทำงานหลังจากจบข้อพิพาทในเดือนมกราคม 2561 และมีการใช้วิธีต่างๆ กดดันให้ผู้นำและสมาชิกจากสหภาพฯ ลาออกจากบริษัทด้วยการให้เข้าร่วมกิจกรรม “ปรับทัศนคติ”[10] ซึ่งรวมถึงการให้ทำกิจกรรมในค่ายทหาร ซึ่งเวบไซต์ของ IndustriALL ก็เคยลงบทความพูดถึงการละเมิดสิทธิและการทำลายสหภาพแรงงานในบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริก คอนซูเมอร์ฯ หลายครั้ง[11]

นอกจากนี้ ในข้อร้องเรียนยังพูดถึงกรณีการละเมิดสิทธิในบริษัทวายเทค ซึ่งเวบไซต์ของอินดัสทรีออลล์เคยได้ลงข่าวถึงการละเมิดสิทธิแรงงานด้วยการเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพฯ กว่า 30 คน รวมทั้งการฟ้องเลิกจ้างและไม่ให้ผู้นำสหภาพฯ เข้าทำงาน การใช้คดีหมิ่นประมาทฟ้องเพื่อเลิกจ้างผู้นำสหภาพฯ และกรณีการฟ้องหมิ่นประมาทกับนักวิชาการที่เขียนบทความถึงการทำลายสหภาพฯ ในบริษัท[12] และกรณีของบริษัท ซันโค โกเซ เทคโนโลยี ซึ่งบริษัทฯ และนิคมอุตสาหกรรมซึ่งบริษัทฯตั้งอยู่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทั้งผู้นำและสมาชิกสหภาพฯ

ในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายเกิดข้อพิพาทจากการเจรจาต่อรองร่วม และบริษัทได้ใช้วิธีต่างๆ เพื่อกดดันสหภาพฯ ให้ยอมรับข้อเรียกร้องของบริษัทซึ่งรวมทั้งการออกประกาศห้ามใช้ห้องน้ำ และการยื่นข้อเรียกร้องให้ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัทเพียงฝ่ายเดียว[13]

https://www.itfglobal.org/sites/default/files/inline-images/France.jpeg

Confédération Générale du Travail หรือ CGT องค์กรสหภาพแรงงานระดับชาติของฝรั่งเศส ให้กำลังใจผู้นำจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟ ซึ่งถูกดำเนินคดีและถูกสั่งปรับร่วม 24 ล้านบาท หลังจากทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถไฟ

ภาพจาก : https://www.itfglobal.org/en/news/global-action-victimised-thai-rail-workers

ไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือความไม่จริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงาน

ภายหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯประกาศตัดสิทธิ GSP (ในกรณีที่การคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศไทยไม่มีความคืบหน้าภายในเดือนเมษายน พ.ศ.2563) ก็ได้มีการขับเคลื่อนจากขบวนการแรงงานในประเทศให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน และยกระดับการคุ้มครองแรงงานในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลหลายครั้ง

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และได้มีการขับเคลื่อนหลายครั้ง เช่น ในวันที่ 30 ตุลาคม รองประธาน คสรท.ชาลี ลอยสูง ได้พาผู้นำจาก สหภาพฯ มิตซูบิชิ  อิเล็คทริกฯ  ซึ่งถูกบริษัทฯปิดงานมากว่าปี และล่าสุดบริษัทฯได้ยื่นข้อเรียกร้องขอลดเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ เหลือเพียงแค่ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด เข้ามาที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอให้มีกระทรวงฯ เข้าช่วยเหลือการละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานโดยด่วน

นอกจากนี้ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 คสรท.ได้ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายไฟฟ้าประปาและยาเพื่อชาติและประชาชน ในการไปยื่นข้อร้องเรียนกับ ผู้แทนจากสำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)ประจำประเทศไทย และพบกับ รมว.แรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือการละเมิดสิทธิในกรณีต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในข้อร้องเรียนเพื่อตัดสิทธิ GSP ซึ่งรวมถึง กรณีของสหภาพมิตซูบิชิ อิเล็กทริกฯ และสหภาพรถไฟฯ

คสรท.พาแกนนำสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็กทริกฯ ซึ่งถูกละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติมาร่วมสองปี
เข้าพบผู้แทนจากกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562

ภาพจาก : https://www.facebook.com/141752729894819/photos/pcb.563282317741856/563281967741891/?type=3&theater

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความเข้าใจและแนวทางในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลไทย เพราะจากบทสัมภาษณ์จากตัวแทนรัฐบาลในหลายๆกรณี  ไมได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิต่อแรงงานและสหภาพฯ ในประเทศไทยซึ่งเกิดขึ้นอย่างยาวนานต่อเนื่อง ในทางกลับกัน กลับมีความพยายามจะเบี่ยงประเด็นว่าเป็นเรื่องของแรงงานข้ามชาติไม่ใช่แรงงานไทย

เห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.กระทรวงแรงงาน[14] ที่กล่าวว่า “ไม่สามารถให้สิทธิแก่แรงงานข้ามชาติได้มากกว่าแรงงานไทย” หรือการมองว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องแก้ไขและยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศ แต่สามารถเอาผลประโยชน์อื่นๆ ไป “แลก” เพื่อให้ได้ดังคำสัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี[15]

หรือการมองว่า การถูกตัดสิทธิ GSP เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เพราะหมายถึงประเทศไทยได้พัฒนาเศรษฐกิจมาถึงระดับที่ไม่ต้องการสิทธิพิเศษทางการค้า ดังคำสัมภาษณ์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์[16] ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่จริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ GSP ในที่สุด ถ้ารัฐบาลและผู้แทนการค้าของสหรัฐฯมองไม่เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา (หลังจากมีการยื่นข้อร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2558 และเปิดโอกาสให้ตัวแทนรัฐบาลไทยอธิบายถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาทุกปี) และทำให้โอกาสในการแก้ปัญหาต้องหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย


คสรท.และ สรส.เข้าพบผู้แทนจาก ILO และเข้าหารือกับผู้แทน รมว.กระทรวงแรงงาน
ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล

ภาพจาก : https://www.facebook.com/1406814556055751/photos/pcb.3137579299645926/3137579069645949/?type=3&theater

 

อ้างอิง

[1] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2562 ITUC จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 ของ ITUC Global Rights Index 2019 หรือ “กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน” ซึ่งเป็นความรุนแรงอันดับสองรองจากความรุนแรงระดับ 5+ “ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงานเนื่องจากความง่อนแง่นของระบบนิติธรรมในประเทศ”
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2562, https://prachatai.com/journal/2019/06/83057

[2]ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2558 IndustriALL ได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อ คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคม (Committee on Freedom of Association-CFA) ของ ILO ถึงประเด็นที่รัฐบาลไทยล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศทั้งในตัวบทและการบังคับใช้ รวมทั้งยกตัวอย่างกรณี 18 กรณีที่มีการละเมิดสิทธิ์และทำลายสหภาพแรงงานในประเทศ

IndustriALL Union files ILO complaint against Thailand, https://www.reuters.com/article/us-thailand-labour/industriall-union-files-ilo-complaint-against-thailand-idUSKCN0S02XX20151006

[3] ITF ได้ยื่นข้อร้องเรียนถึง CFA เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์แรงงาน เสรีภาพการสมาคม และ การเจรจาต่อรองในประเทศไทย ในปี 2556 ถึงกรณีที่เกิด กับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟ และ ปี 2559 ถึงกรณีของ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย
ILO Normlex- Freedom of Association Cases- Thailand, https://www.ilo.org/dyn/normlex/en/f?p=1000:20060::FIND:NO:::

[4] เมื่อวันที่  24 กรกฎาคม 2562 ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) มีการจัดงานเสวนา “ดรรชนีชี้วัดการละเมิดสิทธิแรงงานประจำปี 2019 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก – การละเมิดสิทธิแรงงานในตัวบทและการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยรวมถึงกรณี สหภาพฯ รถไฟฯ และการบินไทย” ซึ่ง ชารัน เบอร์โรว์, เลขาธิการ ITUC, ได้กล่าวว่า “ค่าจ้างและการคุ้มครองสิทธิแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังถูกกดต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในเอเชียแปซิฟิกซึ่งเป็นภูมิภาคที่เปรียบเสมือน’หัวใจและวิญญาณ’ของเศรษฐกิจโลก” ขณะที่ แกรม บัคเลย์ , ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สำนักงานประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, กล่าวว่า “ในขณะที่เศรษฐกิจมีตัวเลขการเติบโตสูง แต่การคุ้มครองสิทธิแรงงานกับยังคงต้องประสบกับการเอารัดเอาเปรียบจำกัดสิทธิการจัดตั้งสหภาพฯ และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติซึ่งทำงานในสภาพที่ย่ำแย่  นำมาสู่ความท้าทายทางเศรษฐกิจ  สังคม และการละเมิดสิทธิแรงงาน” และ “การที่กฎหมายแรงงานไทยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลทำให้เกิดความยากลำบากกับสหภาพแรงงานในประเทศไทยในการเข้าถึงสมาชิกและทำให้ประเทศไทยมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานน้อย”

องค์แรงงานไทย-สากล ร้องรัฐไทยแก้ กม.และบังคับใช้ตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ, https://prachatai.com/journal/2019/08/83689

[5] ม.ร.ว.จัตุมงคล พยายามบอกว่าการตัดสิทธิ์ GSP เป็นเรื่องที่อเมริกากดดันให้ไทยให้สิทธิแรงงานข้ามชาติมากกว่าแรงงานไทย และ 9ตอบกลับว่า “สหรัฐฯยังไม่รับเรื่องการให้สิทธิแก่แรงงานต่างด้าว” ทั้งที่สหภาพแรงงานในอเมริกาโดยส่วนใหญ่สนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิก และ ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์แรงงานทราบดีว่า ขบวนการแรงงานสร้างขึ้นมาจากผู้นำแรงงานในยุคแรกที่เป็นแรงงานข้ามชาติ

'จัตุมงคล' ค้านตั้งสหภาพแรงงานให้ต่างด้าว ย้ำกฎหมายไทยไม่ต้องสากล, http://www.voicetv.co.th/read/uLouqInfs0

[7]  การเปิดรับฟังความคิดเห็นของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา กรณีสหภาพแรงงานสหรัฐ ยื่นคำร้องขอให้ระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของประเทศไทย;16 ม.ค.2559, http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/14/63730-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A3.html

[8] ILO Normlex- Freedom of Association Cases- Thailand, The International Confederation of Free Trade Unions (ICFTU), the Public Services International (PSI), the Postal, Telegraph and Telephone International (PTTI), the International Transport Workers' Federation (ITF) and the International Federation of Commercial, Clerical, Professional and Technical Employees (FIET) and the International Federation of Building and Woodworkers (IFBWW), https://www.ilo.org/dyn/normlex/en/f?p=1000:50001:0::NO:50001:P50001_COMPLAINT_FILE_ID:2896491

[9] ILO Normlex- Freedom of Association Cases- Thailand, https://www.ilo.org/dyn/normlex/en/f?p=1000:50002:0::NO:50002:P50002_COMPLAINT_TEXT_ID:3302068

[13] บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ : สิทธิอันพึงมี 'ทำไมต้องให้อั้นฉี่?' 'ล็อคส้วม' ความรุนแรงต่อแรงงานหญิง, https://prachatai.com/journal/2015/11/62657

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net