กลุ่มรักษ์น้ำงาว ลำปาง-เกษตรกรเหนือจี้กรมชลฯ หยุดอ่างเก็บน้ำน้ำงาว ชี้ขาดการมีส่วนร่วม-ทำลายวิถีชุมชนกะเหรี่ยง

ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มรักษ์น้ำงาว จ.ลำปาง จี้กรมชลประทานหยุดโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาวทับที่ชุมชน ย้ำ กระบวนการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบขาดการมีส่วนร่วม ละเมิดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค.53

29 พ.ย.2562 วันนี้ ชาวกะเหรี่ยงบ้านขวัญคีรี ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง ในนามกลุ่มรักษ์น้ำงาว เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดลำปาง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กว่า 100 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทานผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านเวทีปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการว่าจ้างบริษัทมาศึกษาผลกระทบไม่ชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในพื้นที่ โดยมี ก่อพงษ์ โกมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นผู้รับหนังสือแทน

 

ก่อพงษ์ โกมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ซ้าย),  ศรีทอง สมพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 บ้านขวัญคีรี ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง (ขวา)

ศรีทอง สมพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 บ้านขวัญคีรี ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง เห็นว่ากระบวนการที่ผ่านมาไม่รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ และกล่าวว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านที่ดินและด้านวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง พร้อมฝากถึงรัฐบาลให้แก้ปัญหาให้ประชาชน

“คือมันมีผลกระทบเช่น ที่นา ที่ไร่ ที่สวน และที่โรงเรียน อาจจะกระทบถึงหมู่บ้านด้วย กระเหรี่ยงอยู่อาศัยแบบเครือญาติและอยู่กับป่า เพราะถ้าเขาสร้างป่าจะสูญหายไปหมดเลย ป่านับไม่ถ้วนกี่ร้อยกี่พันปีมันจะสูญหายไปหมดเลย ไม่ว่าจะพืชผักที่ชาวบ้านหากินประทังชีวิต ชาวบ้านก็จะไม่สามารถหาได้แล้วครับ อยากบอกให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ เพราะโครงการนี้ลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็ไม่ได้มีสิทธิในกระบวนการใดๆ ที่ผ่านมา และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ยกเลิกเลยครับ” ศรีทอง กล่าว

“ฝายน้ำล้น” หรือ “ฝายมีชีวิต” ฝายจากภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงบ้านขวัญคีรี

จาก “เอกสารสรุปลักษณะโครงการอ่างเก็บน้ำแม่งาว อำเภองาว จังหวัดลำปาง” ระบุวัตถุประสงค์ของโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวไว้สามประการ ได้แก่ เพื่อบรรเทาปัยหาการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรกรรมในฤดูแล้ง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค และเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มะลิวัลย์ นุแฮ ชาวบ้านขวัญคีรี เห็นว่า ชุมชนมีภูมิปัญญาในการจัดการน้ำอยู่แล้ว โดยการสร้าง “ฝายน้ำล้น” หรือ “ฝายมีชีวิต” ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ สามารถชะลอและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในแต่ละปีได้ จึงไม่เห็นความจำเป็นในการต้องสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เนื่องจากจะสร้างผลกระทบให้ชุมชนมากกว่าจะเป็นประโยชน์

“ฝายภูมิปัญญาของชาวบ้านข้อดีของมันคือ ถ้าน้ำท่วมมันจะไม่เก็บน้ำเยอะ เราใช้ไม้ทำ ถ้ามันผ่านฝายมันก็จะไหลไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าเราสร้างเขื่อนแบบโครงการรัฐ มันจะมีข้อเสียหลายๆ อย่าง หนึ่งคือ น้ำไม่สามารถระบายทัน สองคือ พอระบายไม่ทันมันก็จะกักเก็บแล้วเพิ่มขึ้นแล้วยิ่งกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ก็เลยคิดว่ามันก็มีข้อเสียเยอะกว่าฝายที่ชาวบ้านทำ” มะลิวัลย์อธิบาย

สมชาติ รักษ์สองพลู จากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

ด้าน สมชาติ รักษ์สองพลู จากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ให้ข้อมูลว่า ชุมชนบ้านขวัญคีรีเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำชั้น 1 ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และบางส่วนอยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โดยชุมชนได้ต่อสู้เพื่อให้อุทยานฯ กันพื้นที่ออกจากการเตรียมประกาศ แต่อุทยานฯ อ้างว่าเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ไม่สามารถกันออกให้ได้ ภายหลังปรากฏว่าได้มอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำ ตนจึงมองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำและสองมาตรฐานในแนวทางด้านการอนุรักษ์

นอกจากนั้น สมชาติยังย้ำว่า การดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวทางในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง และชุมชนกะเหรี่ยงมีสิทธิ์ที่จะไม่ยอมรับโครงการพัฒนาหรือการดำเนินการใดๆ ที่จะกระทบต่อวิถีของชุมชนพื้นถิ่นดั้งเดิม

“โครงการใดๆ ที่จะนำมาสู่คนกะเหรี่ยงต้องใช้มติ ครม. นี้ในการแก้ปัญหา และหลักการในการแก้ไขปัญหาในมติ ครม. นี้มีการพูดไว้ชัดเจน ถ้ารัฐใช้มติ ครม. นี้มาแก้ไขปัญหามันจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้น ในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงมันไม่ได้พูดแค่เรื่องดินและน้ำอย่างเดียว แต่มันพูดถึงเรื่องของป่า เรื่องของอาหาร เรื่องของจิตวิญญาณที่อยู่ในผืนป่าที่บรรพบุรุษดูแลมา 200-300 กว่าปี ป่าที่เขียวชอุ่มตรงนั้นมันก็จะถูกน้ำท่วม จิตวิญญาณที่อยู่ในต้นไม้ สัตว์ป่า อาหารจะถูกน้ำท่วม จะอยู่ได้อย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด ฉะนั้นในการสร้างเขื่อนตรงนั้นมันไม่ได้ท่วมแค่ที่นา ที่ดิน แต่มันท่วมถึงอาหาร ท่วมถึงต้นไม้ สิ่งที่เราเคารพนับถือต่างๆ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก” สมชาติย้ำ

ทั้งนี้ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาวมีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2537 มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณในปี 2561 เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระบุงบประมาณค่าลงทุนของโครงการไว้ 914.02 ล้านบาท ยังไม่มีการระบุค่าชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยหลังจากนี้กลุ่มรักษ์น้ำงาวจะขับเคลื่อนร่วมกับพีมูฟต่อไป และจะเข้าเจรจาแก้ไขปัญหากับรัฐบาลในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล

 

แถลงการณ์กลุ่มรักษ์น้ำงาว ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)

เรื่อง ขอคัดค้านโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาวฯ ในพื้นที่บ้านขวัญคีรี อำเภองาว จังหวัดลำปาง

 

ตามที่อธิบดีกรมชลประทานได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าครัวเรือนเจ้าของบ้านที่อยู่ในหมู่ 11 บ้านขวัญคีรี ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง เรื่อง ขอเชิญเข้าร่วมการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 โดยอ้างว่า กรมชลประธานได้ว่าจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด มาดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาวฯ ตามสัญญาเลขที่ จ.52/2562 (สพด.) ลงวันที่ 24 กันยายน 2562 ระยะเวลาปฏิบัติงาน 360 วัน โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ครบกำหนดอายุสัญญาวันที่ 24 กันยายน 2563 นั้น กลุ่มรักษ์น้ำงาว ซึ่งเป็นชุมชนปกาเกอะญอ เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดลำปาง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ขอแสดงความเห็นและข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. เราเห็นว่า บริษัท ปัญญา คอนซัลแทนต์ จำกัด ซึ่งกรมชลประธานได้ว่าจ้างให้มาศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนี้ ไม่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากไม่ใช่สถาบันทางสังคมที่ประชาชนให้การยอมรับ และมีแนวโน้มว่าการทำรายงานของบริษัทดังกล่าวเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กรมชลประทานในการดำเนินโครงการฯ มากกว่ารับฟังความต้องการและความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง

2. เราเห็นว่า การที่กรมชลประทานว่าจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด มาดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาวฯ นี้ น่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 58 ที่ว่า

“การดำเนินการใด ๆ ของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสีย สำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการ หรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง”

3.เราเห็นว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาว ซึ่งเราชุมชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ไม่มีความต้องการแต่อย่างใด น่าจะเป็นโครงการฯ ที่ไม่มีความโปร่งใสและประโยชน์ที่ได้น่าจะไม่น่าจะคุ้มค่ากับการสูญเสีย ทั้งนี้เพราะโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาว นอกจากจะทำลายวิถีชีวิตและที่ทำกินของชุมชนปกาเกอะญอในพื้นที่แล้ว ยังจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ดังรายละเอียดที่แจ้งในโครงการฯ​ได้แก่ พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 จำนวน 481 ไร่ พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จำนวน 500 ไร่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งและป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้ายในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (ป่า C) เป็นพื้นที่ทั้งหมดของขอบเขตอ่างเก็บน้ำ 677 ไร่ และพื้นที่การเกษตรจากการแปลภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2557 จำนวนประมาณ 110 ไร่ อีกทั้งการจัดการน้ำด้วยการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน โดยรัฐไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝนและการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้ ดังปรากกฎความล้มเหลวของกรมชลประทานในโครงการต่าง ๆ

4. พวกเราในนามกลุ่มรักษ์น้ำงาว ซึ่งเป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอในพื้นที่บ้านขวัญคีรีที่ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่รัฐต้องดำเนินการคุ้มครองใน 5 ด้าน ได้แก่ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมชาติพันธุ์ การศึกษา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สวัสดิการ และสถานะบุคคล  หากมีการดำเนินการโครงการดังกล่าวในพื้นที่ นอกจากจะเป็นการทำลายวิถีชีวิตชุมชนแล้ว ยังเป็นการไม่เคารพและไม่ปฏิบัติตาม มติ ครม.3 สิงหาคม 2553 อีกด้วย

5. พวกเราชุมชนปกาเกอะญอ ซึ่งมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในการดำรงอยู่อย่างสอดคล้องและสมดุลกับการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการน้ำ ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำฝายน้ำล้นหรือฝายมีชีวิตกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ที่ชุมชนได้ร่วมกันจัดการและปรับปรุงฝายให้มีประสิทธิภาพในการใช้น้ำบริโภคอุปโภคในหน้าแล้งและหน้าฝนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ชุมชน จึงไม่จำเป็นให้มีการก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ทำลายชุมชนในพื้นที่แต่อย่างใด และหากชุมชนใด มีความต้องการเขื่อน ก็ควรไปนำโครงการนี้ไปสร้างในชุมชนนั้น เราขอประกาศว่า เราไม่ต้องการ “อ่างเก็บน้ำน้ำงาว” ในพื้นที่โดยเด็ดขาด

6. ในนามกลุ่มรักษ์น้ำงาว เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดลำปาง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ซึ่งได้ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในการยื่นข้อเรียกร้องขอคัดค้านการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาวฯ ให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหา ดังปรากฏคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ลงวันที่ 12 กันยายน 2562 ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการแก้ปัญหาของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างพีมูฟกับรัฐบาล เราจึงขอให้กรมชลประทาน ยุติการดำเนินการโครงการนี้เอาไว้ก่อน ทั้งนี้ เราขอเสนอในการแก้ปัญหานี้ โดยให้มีสถาบันทางวิชาการที่มีความเป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือทางสังคม มาศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบให้รอบด้าน รวมทั้งความคุ้มทุนของโครงการดังกล่าวและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์  

ท้ายที่สุด กลุ่มรักษ์น้ำงาว ในนามเครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดลำปาง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)  เราจึงขอให้ท่านได้ยกเลิกการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาว ฯ ในวันนี้ โดยทันที ทั้งนี้ เราจะได้ประสานงานกับเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ เพื่อคัดค้านและให้โครงการนี้ยกเลิกไปให้ถึงที่สุด

 

ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในพลังประชาชน

กลุ่มรักษ์น้ำงาว ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)

แถลง ณ ที่ว่าการอำเภองาว จังหวัดลำปาง / 29 พฤศจิกายน 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท