วงถกเผด็จการ 'เชโกสโลวาเกีย-ไทย' เทียบใช้ ‘ความกลัว’ ปกครองและสร้างภาวะ ‘อยู่เป็น’

เสวนางานเปิดตัวหนังสือแปลแต่งโดยผู้นำการปฏิวัติสู้เผด็จการ 'เชโกสโลวาเกีย’ ด้วยบทละคร ‘ส.ศิวรักษ์’ ชี้ถ้าไม่พูดความจริงก็ไม่มีทางเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย ‘วริตตา’ เล่าเผด็จการ ‘เชโกสโลวาเกีย’ ปกครองด้วยการสร้างความกลัวให้คนกดดันและ ปชช.จำต้อง ‘อยู่เป็น’ พิชญ์ เสริมความกลัวที่นำไปสู่ความชินชาสามัญ นำไปสู่ความสิ้นหวัง นำไปสู่การสมยอมพร้อมตาม ขณะที่ ‘โบว์-ณัฏฐา’ เทียบนักกิจกรรมไทยเจอทั้ง ตำรวจ เซ็นเซอร์ ห้ามชุมนุม ดำเนินคดี


จากซ้ายไปขวา อันนา หล่อวัฒนตระกูล, ณัฏฐา มหัทธนา, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, วริตตา ศรีรัตนา, ชยางกูร ธรรมอัน (ภาพจาก สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

จะมีประธานาธิบดีสักกี่คนในโลกนี้ที่เคยมีอาชีพเป็นนักกวี นักเขียนบทละคร เขาคือ วาตซลัฟ ฮาเวล อดีตประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเชโกสโลวัก (ดำรงตำแหน่งระหว่างพ.ศ. 2532 – 2535) และอดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเช็ก (ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2536 – 2546) ผู้ที่นำการปฏิวัติด้วยบทละคร

ในช่วงที่เช็กยังอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ ปี 2511 ฮาเวลเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ “ฤดูใบไม้ผลิแห่งปราก” (Prague Spring) ขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่มุ่งจะปฏิรูประบอบคอมมิวนิสต์ให้เป็นเสรีนิยมและเปิดกว้างทางความคิดกว่าเดิม แต่ทำอยู่ได้เพียง 6 เดือน รัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็เชิญโซเวียตรัสเซียและกองกำลังฝ่ายกติกาวอร์ซอมาปราบปราบขบวนการปฏิรูปดังกล่าว

ล่วงเลยผ่านไปจนปี 2532 นักศึกษาในกรุงปรากรวมตัวกันชุมนุมถูกปราบปรามโดยกำลังตำรวจ มีผู้เสียชีวิต 9 รายและถูกจับกว่า 2000 ราย นำไปสู่เหตุการณ์การประท้วงต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์อีกหลายครั้ง จำนวนผู้ชุมนุมในกรุงปราก(เมืองหลวงของเช็ก)เพิ่มจากสองแสนคนเป็นห้าแสนคนเพียงชั่วข้ามคืน ฮาเวลเป็นหนึ่งในผู้นำและเขาได้จัดแสดงละครจากบทละครที่เขาเขียนเสียดสีรัฐบาลตามโรงละครต่างๆ

วันที่ 24 พ.ย. ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวาเกียประกาศลาออกทั้งหมด และในวันที่ 27 พ.ย. ประชาชนชาวเชโกสโลวักทั้งหมดร่วมกันประท้วงหยุดงานเป็นเวลาสองชั่วโมง เหตุการณ์การปฏิวัติกำมะหยี่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของระบอบการปกครองแบบพรรคเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวาเกีย ซึ่งอยู่ในอำนาจมานานถึง 41 ปี ในเดือนกรกฎาคม 2533 ฮาเวลชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี

หนังสือที่เขาเขียนเรื่อง ‘จดหมายเปิดผนึกถึง ดร. ฮุสาก จากวาตซลัฟ ฮาเวล’ ตีแผ่สังคมยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ประชาชน “อยู่เป็น” ปรับตัวและยอมรับระบบดังกล่าว มีตำรวจลับคอยลงโทษคนคิดต่างเป็นเพื่อตัวอย่างให้คนอื่นในสังคมได้เห็น ฮาเวลชี้ให้เห็นว่าวิธีที่จะโค่นล้มระบอบอันไม่ปกติดังกล่าวคือการที่ทุกคนจะต้องตระหนักถึง “ความรับผิดชอบของมนุษยบุคคล” ในแต่ละคน ผนวกกับการที่ “ต้องมีชีวิตอยู่ในความจริง” ปฏิเสธคำหลอกลวงของระบบ แล้วความไม่ปกติจะอยู่ไม่ได้และล่มสลายไปในที่สุด

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย เปิดตัวหนังสือแปล ‘จดหมายเปิดผนึกถึง ดร. ฮุสาก จากวาตซลัฟ ฮาเวล’ ในวาระครบรอบ 25 ปีที่ วาตซลัฟ ฮาเวลมาเยือนจุฬาฯ พร้อมจัดเสวนา “อยู่ในความจริงท่ามกลางความลวง : ชีวิตและแนวคิดของวาตซลัฟ ฮาเวล” ปาถกฐาเปิดโดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ ร่วมเสวนาโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ณัฏฐา มหัทธนา, ชยางกูร ธรรมอัน และ วริตตา ศรีรัตนา ดำเนินรายการโดย อันนา หล่อวัฒนตระกูล

 


สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ภาพจาก สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ถ้าไม่พูดความจริงก็ไม่มีทางเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พูดถึงความทรงจำที่มีต่อฮาเวลว่า ตนได้มีโอกาสพบกับฮาเวลในปี ค.ศ.1999 ขณะนั้นฮาเวลเป็นประธานาธิบดี และได้เชิญคนจากทั่วโลกไปพูดเกี่ยวกับเช็กในศตวรรษใหม่ ซึ่งตนได้รับเชิญไปงานนั้นด้วย 

“ฮาเวลเป็นตัวจริงคนหนึ่ง มีวิสัยทัศน์กว้างไกลลึกซึ้ง ประเทศเชคเคยรวมกับสโลวาเกีย เคยอยู่ใต้การปกครองสหภาพโซเวียต เคยอยู่ใต้เผด็จการร้ายแรงที่สุด ฮาเวลาต่อสู้จนได้เป็นประชาไตยเต็มรูปแบบ ขณะที่ไทยเราถูกเผด็จการยึดตั้งแต่ 2510 นับจากนั้นไทยยังไม่ฟื้น เรายังไม่พ้นจากการปกครองของทหาร ถ้าไม่พูดความจริง ก็ไม่มีทางเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเท่านั้นแต่ต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก”

“มนุษย์ต้องมีเสรีภาพการแสดงออก ถ้าไม่มี ก็ไม่อาจเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ฮาเวลเป็นตัวอย่างของคนที่เข้าใจว่าเสรีภาพของมนุษย์สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เสรีภาพที่กล้าท้าทายผด็จการ ยืนหยันเพื่อคนเล็กคนน้อย”

 

การปกครองที่สร้างความกลัวให้คนกดดันและจำต้อง ‘อยู่เป็น’

วริตตา ศรีรัตนา ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ครอบครัวฮาเวลโดนล่าแม่มดตั้งแต่นาซี มาจนถึงระบอบคอมมิวนิสต์ของโซเวียต ในช่วงปี 1974-1975 ฮาเวลทำงานในโรงบ่มเบียร์ ช่วงนั้นรัฐบาลมีนโบายให้ชนชั้นกลางหรือปัญญาชนทำงานอาสาสมัคร ฮาเวลอยากเรียนคณะอักษรศาสตร์ แต่รัฐไม่ให้เพราะเห็นว่าอาจเป็นอันตราย จึงส่งไปเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่เรียนได้สองปีก็ดร็อป

ก่อนหน้าปี 1968 มีความพยามจะปฏิรูประบอบให้เป็นสังคมนิยมที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์ เปิดกว้างให้คนพูดคุยกันอย่างเสรีขึ้น ซึ่งทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ขณะนั้นไม่ยอม และส่งกองกำลังสัญญาวอร์ซอมาปราบ

“ทุกครั้งที่มีคนพยายามจะปฏิรูป ก็จะมีคนพยายามที่จะกดทับคนที่ปฏิรูป ทั้งที่คนที่ปฏิรูปเขารักระบอบอย่างสุดใจ ไม่ได้อยากจะล้มล้างระบอบด้วยซ้ำ” วริตตากล่าว

วริตตาเล่าว่า หลังจากนั้น กุสตาฟ ฮุสากก็ขึ้นมาปกครอง กลายเป็นระบอบที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “ลัทธิสตาลินที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์” สิ่งที่ฮุสากชอบคือการ 1.) Secret police หรือตำรวจลับ 2.) การเซ็นเซอร์ 3.) Oblivion หรือการถูกลืม ยกตัวอย่างคือจดหมายที่ฮาเวลเขียนถึง ดร.ฮุสาก และส่งไปหา ดร.ฮุสากจริงๆ ในครั้งแรกนั้นจดหมายถูกตีกลับโดยไม่ได้ถูกเปิดอ่านด้วยซ้ำ 4.) Pretense หรือการแกล้งทำ เช่น คำพูดของรัฐบาลที่บอกว่าตอนนี้เศรษฐกิจดี 5.) Euphemism หรือการเกลื่อนคำ คือการใช้คำที่ทำให้ความหมายดูเบาลง เช่น น้ำท่วมเปลี่ยนเป็นน้ำรอระบาย

“ในการปกครองเช่นนี้ไม่ได้ใช้ความกลัวตรงไปตรงมา แต่ใช้วิธีการกดดัน ให้คนอยู่เป็น อยู่โดยทำทีเป็นภักดีต่อระบอบ ทำทีว่ามีความสุข”

วริตตาชี้ว่า ฮาเวลรู้ว่าถ้าเขาไม่ทำอะไรเลยเขาจะถูกผลักออกไปในดินแดนของการถูกลืม จะไม่มีใครรับรู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ เขาจึงต้องเขียนจดหมายถึง ดร.ฮุสาก ขณะที่นักเขียนร่วมสมัยกับเขาอีกสองคนคือมิลาน คุนเดอรา (ผู้เขียน ‘ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต’) เลือกที่จะหนีออกนอกประเทศ และโบฮุมิล ฮราบัล (ผู้เขียน ‘ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน’) ก็ออกตัวว่าสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์เพื่อให้ผลงานตัวเองได้ตีพิมพ์

 

นักกิจกรรมไทยเจอทั้ง ตำรวจ เซ็นเซอร์ ห้ามชุมนุม ดำเนินคดี

ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมทางการเมือง เล่าว่า ในไทยมีครบทั้ง 5 ข้อแบบในยุคฮุสาก แต่ไม่มีตำรวจลับ เพราะมาแบบเปิดเผย ส่งตำรวจไปเยี่ยมนักกิจกรรมที่บ้านตลอดเวลา แบ่งเป็นใส่เครื่องแบบ คนในบ้านจะตกใจ ชาวบ้านจะนินทา อีกแบบคือนอกเครื่องแบบ ไปบ่อยๆ ไปบ้านญาติ ปู่ ย่า ตา ยาย บ้านที่มีความอ่อนไหว ไปแล้วจะส่งผลสะเทือน เกิดปัญหาครอบครัว ส่วนแกนนำ ตำรวจจะไม่มาให้เห็น มีขับรถตาม ขับวน ถ่ายรูปบ้าน ตรงนี้เป็นปกติไปแล้ว หรือการเซ็นเซอร์สื่อ สื่อทีวีถูกปิด 50 กว่าครั้ง วอยซ์ทีวีถูกปิด 21 ครั้ง ถึงที่สุดกระทบธุรกิจ วอยซ์ออกจากธุรกิจดิจิตอลไปแล้ว การเซ็นเซอร์ทำให้เกิดวัฒนธรรมเซ็นเซอร์เป็นปกติ

“แต่ที่หนักสุดคือการทำให้การชุมนุมกลายเป็นเหมือนอาชญากรรม ถูกหาว่าสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง หนักแผ่นดิน ซ้ายจัดดัดจริต ทั้งที่เป็นบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เผด็จการปัจจุบันไม่ได้เอาปืนจ่อหัวนักกิจกรรม แต่ตั้งข้อหาดำเนินคดีแทน ซึ่งได้ผลกว่า เพราะสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคม ห้าปีที่ผ่านมามีคนโดนเรียกนับหมื่นคน” ณัฏฐากล่าว

ณัฏฐายังชี้ว่า จะเห็นว่าแม้จะมีเรื่องหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แต่ทุกประเทศก็ยังคงต้องการรักษาสัมพันธภาพกับบางประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง แม้รัฐบาลประเทศต่างๆ บอกว่าเคารพสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้ายทุกประเทศก็ยังสัมพันธ์กับจีน หรือการเลือกตั้งของไทย แม้จะมีกติกาไม่เปนธรรมยังไง รัฐบาลต่างประเทศก็แสร้งว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว เรามีคนที่พร้อมยืนหยัดเพื่อความถูกต้องเป็นจริงอย่างฮาเวลมีอยู่หรือไม่ในตอนนี้

“นักกิจกรรมที่ฮ่องกงที่เรารู้จักบอกไม่หวังจากรัฐบาล เขาหวังจากประชาชน เพราะรัฐบาลต้องฟังเสียงจากประชาชนของเขา เมื่อไหร่ประชาชนมีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากพอที่จะลุกขึ้นบอกรัฐบาลของ เราไม่แคร์ว่าเราจะจนลงรึเปล่า แต่เราต้องทำเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง” ณัฏฐากล่าว

 

‘การทำให้เป็นปกติ’ กับรัฐผู้กุมอำนาจแต่ไม่อาจกุมความจริง

ชยางกูร ธรรมอัน ผู้แปลหนังสือ ‘จดหมายเปิดผนึกถึง ดร. ฮุสาก จากวาตซลัฟ ฮาเวล’ ตั้งข้อสังเกตว่า ใน The power of the powerless ตนตีความว่า ผู้ที่โดนกดขี่ย่อมมีพลังที่จะเยียวยาความไร้อำนาจของตัวเองได้ หมายความว่า วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือการอยู่ในความจริง ความจริงที่ว่าคือผู้ที่แสวงหาเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ย่อมไม่มีวันที่จะถูกกำราบปราบปรามได้

ชยางกูรกล่าวต่อว่า ตัวอย่างในหนังสือจดหมายถึง ดร.ฮุสาก ร้านขายผักต้องติดป้ายว่าเขาสนับสนุนคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องติด หรือจริงๆ แล้วเขาสนับสนุนจริงหรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้ ประเด็นก็คือรัฐบาลอาจเป็นผู้กุมอำนาจได้ แต่ไม่อาจเป็นผู้กุมความจริงได้ เราต่างหากที่กุมความจริง เรารู้สึกตะขิดตะขวงใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเราก็ควรทำอะไรสักอย่างอย่างที่เราคิด

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวเสริมว่า ในหนังสือฮาเวลเล่าว่า ร้านขายผักผลไม้ในยุคเผด็จการ สินค้าทุกอย่างถูกส่งมาจากโรงงานกลาง พร้อมกับป้ายเขียนว่า ‘ชนชั้นกรรมาชีพจงเจริญ’ ทุกร้านเอาป้ายนี้ตั้งพร้อมกับสินค้า คำถามคือ คนขายที่เอาป้ายไปตั้งเขาเชื่อจริงหรือเปล่า หรือเพราะถ้าไม่ทำจะเกิดปัญหา เหมือนกับการที่คุณรู้ได้ไงว่าเขาใส่เสื้อสีนี้เพราะเขาอยากใส่จริงๆ ปัญหาคือมันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ (Normalize)

“คำอธิบายสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือความกลัว ที่ไม่ใช่การกลัวลนลานว่าจะมีใครมาเดินตรวจ แต่คุณต้องเอาสิ่งนี้ไปตั้งหน้าร้าน เพื่ออธิบายว่าผมรู้ว่าผมต้องทำอะไร ผมได้ทำตามที่คุณคาดหวังแล้ว ดังนั้นพึงวางใจในตัวผม และโปรดอย่าสงสัยผมเลย จงมองผมผ่านไป เพราะผมผ่านเช็คพอยท์ของคุณแล้ว”

“นี่คือคำอธิบายของคำว่า Normalization ซึ่งอาจไม่ทำโดยตรงโดยรัฐ ไม่มี Big Brother แต่เป็นคนรอบๆ ตัวคุณ คุณไม่รู้ว่าคนอื่นคิดกับคุณยังไง นั่นคือปัญหาของความกลัว เขาทำอะไรคุณก็ต้องทำตาม และนั่นสำหรับฮาเวลคือสังคมของความหลอกลวง เสแสร้งจนสุดท้ายเสแสร้งว่าตนไม่ได้เสแสร้งอะไร คุณหลอกคนอื่นว่าเศรษฐกิจดีจนคุณหลอกตัวเองไปด้วยจนคุณเชื่อจริงๆ และไม่รับฟังข้อมูลอื่นอีกแล้ว”

“คุณจะต้องสามารถมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหลอกลวงให้ได้ เมื่อคุณเอาตัวเองเข้าไปร่วมในมวลชนเมื่อไหร่ ขอให้คุณตระหนักว่าคุณกำลังอยู่กับความหลอกลวง คุณจะเริ่มเข้าใจว่าความจริงคืออะไร เพราะพฤติกรรมเหล่านี้คือความหลอกลวงของระบบ ‘ชิมช้อปใช้’ คุณก็เข้าไปลงทะเบียนเถอะ แต่คุณก็รู้ว่ามันหลอกคุณ เพราะถ้ามันดีจริงคุณไม่ต้องไปลงทะเบียนหรอก” พิชญ์กล่าว

 

ประชาธิปไตยคือระบอบที่ทำให้เราเห็นสิ่งที่ ‘ทำให้เป็นปกติ’ ได้ง่าย

พิชญ์ชี้ว่า ตอนนี้มีข้อถกเถียงในสังคมเราหลังพรรคอนาคตใหม่โดนคดีหลายครั้งและอาจมีการยุบพรรค นั่นคือจะมีการลงถนนไหม มันอาจจะเกิดบรรยากาศความกลัวแบบที่ฮาเวลเขียนไว้ คือความกลัวที่นำไปสู่ความชินชาสามัญ นำไปสู่ความสิ้นหวัง นำไปสู่การสมยอมพร้อมตาม การแสดงละครอันเป็นกิจวัตรซ้ำซาก และการเล่นละครอย่างสิ้นหวังนี้ถูกทางการใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับมวลชน และการมีส่วนร่วมเทียมทั้งหมดนี้ประกอบเป็นมโนทัศน์เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้นิยมสังคมร่วมสมัยว่า ‘เป็นปกติ’

“นั่นหมายความว่าความเป็นปกติเกิดจากการที่คุณยอมมัน ไม่ว่าคุณจะแฮชแท็กในทวิตกี่ครั้ง ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่เพื่อนคุณก็ยังถูก ‘เรียกไปคุย’ ท้ายสุดคุณก็จะยอมแสดงละครว่าคุณเป็นเยาวชนใสๆ ทำจิตอาสา นับแต้มให้ครบจะได้เรียนจบ” พิชญ์กล่าว

ชยางกูรเสริมว่า การอยู่เป็นจะเป็นปัญหาเมื่อเราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจได้ แล้วเราต้องทำตัว ‘อยู่เป็น’ ไปกับคนอื่นๆ ในไทยการทำให้เป็นปกติถูกแทรกอยู่ในทุกอณู เช่น การนำรถถังออกมาในวันเด็ก การออกอากาศรายการเดินหน้าประเทศไทยทุกวัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งปกติที่จะเกิด สิ่งที่จะทำให้เราเดินหน้าด้วยดีต่อไปได้ก็คือประชาธิปไตย นั่นเพราะมันเป็นระบอบที่ทำให้เราเห็นสิ่งที่ ‘ทำให้เป็นปกติ’ ได้ง่าย ทำให้เราได้แสดงออกในสิ่งที่เรารู้สึกตะขิดตะขวงใจและอยากแก้ได้ง่ายที่สุดภายใต้ระบอบนี้ เรื่องการกดขี่ในยุคนี้ไม่ได้จำกัดแค่โดยรัฐ แต่ไปไกลกว่านั้น เช่น เราอยากออกไปชุมนุมบางอย่างแต่พื้นที่เราอยู่ตรงไหน พื้นที่เราถูกจำกัดลดลงเรื่อยๆ การจำกัดไม่ได้มีแค่ภารรัฐเท่านั้นที่กระทำ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท