สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24-30 พ.ย. 2562

ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงานระบุกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเหลือเพียง 200 ล้านบาท

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ระบุว่าแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม จะออกมาพูดตัวเลขว่าคนตกงานไม่ได้มาก และเตรียมพร้อมงานรองรับต่างๆ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เนื่องจากยังมีข่าวการเลิกจ้างอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นลดคน เลิกจ้างแบบสมัครใจ หรือการให้ออก หลายบริษัทจ่ายค่าชดเชย แต่หลายบริษัทก็ไม่มี จนต้องไปถึงกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งเป็นกองทุนที่อยู่ในความดูแลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดูแล ซึ่งมีตั้งแต่ปี 2541 ทำหน้าที่ในการจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และบริษัทไม่มีเงินค่าชดเชยให้ ซึ่งเป็นกองทุนที่บรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างมาตลอด

นายมนัส กล่าวว่าปัญหาคือขณะนี้กองทุนเงินเหลืออยู่เพียง 200 ล้านบาท เนื่องจากทราบมาว่าทางกระทรวงแรงงานไม่ได้มีการเสนอของบประมาณเพิ่มเติม ทั้งๆที่สามารถยื่นของบประมาณได้ และในงบประมาณปี 2563 ก็ยังสามารถเสนอขอได้อยู่ แต่กลับไม่ดำเนินการ ที่สำคัญจากกรณีที่ตนได้เข้าไปประสานเรื่องคนงานถูกเลิกจ้างมาก่อนหน้านี้ ทำให้เพิ่งทราบเมื่อเร็วๆนี้ว่า กองทุนเงินสงเคราะห์ฯ มีการปรับระเบียบการจ่ายเงินใหม่อีก โดยลดเงินที่ลูกจ้างจะต้องได้รับ แสดงว่ากองทุนกำลังมีปัญหา ขณะที่ตัวเลขคนงานถูกเลิกจ้างมีมากขึ้นด้วยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นคำถาม ซึ่งจนขณะนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังไม่ให้พวกเราเข้าพบ หากสัปดาห์หน้ายังไม่ให้เข้าพบเพื่อสอบถามปัญหาการเลิกจ้าง มาตรการการช่วยเหลือ พวกเราคงต้องไปขอพบถึงที่กระทรวงแรงงาน

“สำหรับระเบียบการจ่ายเงินของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ประกาศเดิมจะจ่ายให้ 30, 60 และ 90 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ซึ่งก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป แต่ล่าสุดเปลี่ยนเป็นจ่ายให้ในอัตรา 30, 50 และ60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน เห็นว่าตัวเลขลดลง ตรงนี้แสดงว่าเงินเหลือน้อยแล้วหรือไม่ ซึ่งทางกลุ่มฯเสนอว่า กระทรวงแรงงานควรต้องตั้งงบประมาณขอไปทางรัฐบาลอีก 1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับคนตกงาน ซึ่งในปีหน้าน่าจะมีอีกแน่นอน” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวอีกว่าในวันที่ 2 ธ.ค. 2562 นี้จะมีการประชุมอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณสำนักงานประกันสังคม ตนจะสอบถามทางผู้เกี่ยวข้องว่าตัวเลขคนตกงานจำนวนเท่าไหร่ เพราะจริงๆแล้วจากข้อมูลคนขึ้นทะเบียนว่างงานที่ผ่านมา มีเพียง 1.7 แสนคน ซึ่งถือว่าน้อย ในขณะที่งบกองทุนว่างงานมีถึง 2 แสนล้านบาท แสดงว่าตรงนี้ยังสามารถเพิ่มอัตราการจ่ายเงินว่างงานให้คนตกงานได้อีก ซึ่งทางกลุ่มเสนอขอให้จ่าย 75% ของค่าจ้างในทุกกรณี

ที่มา: PPTV, 29/11/2562 

ก.แรงงาน เตรียมประกาศ 'ช่างแอร์-ช่างเชื่อม' ต้องมี License

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ประกาศให้สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพแรกที่ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถ ที่ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถเท่านั้น เป็นการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อต้องการลดความเสียหายจากการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือขาดความชำนาญในการทำงานอย่างแท้จริง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงอาจเกิดความเสียหายต่อสาธารณะดังนั้น กพร.ในฐานะหน่วยงานหลักในการสร้างมาตรฐานฝีมือให้แก่กำลังแรงงานของประเทศ

จึงนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณาสาขาอาชีพอื่นเพิ่มเติม ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนและสาธารณะในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้รับบริการมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น ซึ่งสาขาช่างเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก และสาขาช่างเชื่อม อยู่ระหว่างการพิจารณาประกาศให้เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หากมีการประกาศเพิ่มใน 2 สาขาดังกล่าว ผู้ประกอบอาชีพช่างเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก และสาขาช่างเชื่อม จึงต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถ

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ก่อนเข้าสู่กระบวนการประเมินความรู้ความสามารถนั้น ในขั้นตอนแรก ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติก่อน จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบอาชีพ หรือสถานประกอบกิจการ ที่มีพนักงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว เข้ารับการทดสอบหรือจัดส่งพนักงานเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ปัจจุบันมีหน่วยงานของกพร.ให้บริการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดและในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ กพร. ยังอนุญาตให้สถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน ที่มีความพร้อมทั้งสถานที่และบุคลากร เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้บริการแก่แรงงานทั่วประเทศที่สนใจเข้ารับการทดสอบด้วย ปัจจุบันมีจำนวน 576 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 265 แห่ง และภาคเอกชนอีก 311 แห่ง

“หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (License) เป็นเครื่องการันตีว่า เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ด้านคือ 1.เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือ 2.มีประสบการณ์ และ 3.มีศักยภาพในการประกอบอาชีพเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบอาชีพ ลูกจ้าง นายจ้าง และสาธารณะ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดี กพร. กล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 29/11/2562 

รองประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ คาดการณ์ 10 อาชีพเสี่ยงตกงาน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ได้ออกมาระบุ 10 อาชีพเสี่ยงตกงาน ซึ่งเป็นข้อมูลเพียงส่วนเดียวที่มองเห็นภาพได้ชัดเจนในขณะนี้ และเชื่อว่ายังมีอีกหลายกลุ่มอาชีพที่น่าเป็นห่วง นับจากนี้เป็นต้นไป ขอให้คนอยู่ในอาชีพนั้นๆ เตรียมรับมือและปรับตัว โดยมีดังนี้

1.กลุ่มธุรกิจสื่อที่เป็นเอกสาร เพราะมีคนจำนวนมากไม่ใช้เอกสารแล้ว 2.กลุ่มสื่อสารมวลชนทุกแขนง วิทยุ นิตยสาร โทรทัศน์ เนื่องจากประชาชนมีช่องทางใหม่ในการติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะสื่อที่ไม่ปรับตัว 3.กลุ่มโปรดักส์ที่ตกยุค เช่น CD, VCD หรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ล้อไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ 4.อาชีพที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน จะมีพนักงานจำนวนมากตกงาน เพราะธุรกรรมทางการเงินสามารถทำจากโทรศัพท์มือถือได้ด้วยตัวเอง 5.อาชีพขายประกันภัย

6.อาชีพขายตรง เพราะขณะนี้สามารถปรับตัวหันหน้าไปสู่การขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ และมีคลิปแนะนำสินค้าได้เอง 7.ธุรกิจกลุ่มยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป จากที่เคยใช้ชิ้นส่วนจำนวนมากจะหายไป ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะตกงานมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการหันหน้าเข้าสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยรถยนต์ 1 คัน จะใช้ชิ้นส่วนประกอบเพียงไม่กี่รายการเท่านั้น 8.งานเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะหายไป เพราะจะผ่านกลไกดิจิตอลแทน 9.อาชีพอาจารย์ที่เคยสอนในบางสาขาจะตกงาน เพราะเด็กไม่เรียนในบางสาขาแล้ว และ 10.อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จะหายไปจำนวนหนึ่ง เพราะเด็กเกิดใหม่มีน้อยลง เนื่องจากมีคนโสดมากขึ้น

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 29/11/2562 

EIC ระบุไทยมีความต้องการพนักงานด้านไอทีเพิ่มปีละประมาณ 24,000 คน ซึ่งในองค์กรขนาดเล็กมีความต้องการ 15,000 คน/ปี และองค์กรใหญ่ต้องการ 9,300 คน/ปี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งทำการสำรวจสถานประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมธุรกิจการค้าและธุรกิจทางการบริการ การผลิต การก่อสร้าง การขนส่งทางบกและคลังสินค้า โรงพยาบาลเอกชน และกิจกรรมด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ทั้งนี้ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลปี 2560 (เผยแพร่ปี 2561 กลุ่มตัวอย่าง 39,818 จากทั้งหมด 2,529,676 สถานประกอบการ) และข้อมูลของปี 2555 (เผยแพร่ปี 2556 กลุ่มตัวอย่าง 41,401 จากทั้งหมด 2,227,852 สถานประกอบการ) อีไอซีพบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ยังไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ในปี 2560 สัดส่วนสถานประกอบการไทยที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ อยู่ที่เพียง 28.3% ของสถานประกอบการทั้งหมด โดยเมื่อพิจารณาแยกตามขนาดสถานประกอบการ พบว่า สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 11 คนขึ้นไป (มีจำนวนคิดเป็นเพียง 4.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด) จำนวนเกิน 3 ใน 4 มีการใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเกิน 200 คนขึ้นไปมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นสัดส่วนสูงถึง 99.7%

อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการขนาดเล็กที่สุดคือมีลูกจ้างไม่เกิน 10 คน ซึ่งถือเป็นสถานประกอบการส่วนใหญ่ของไทย (มีจำนวนคิดเป็น 95.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด) มีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์อยู่ที่เพียง 25.7% ส่งผลทำให้สัดส่วนในภาพรวมอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดี สัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ในสถานประกอบการเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ในทุกขนาดสถานประกอบการและทุกอุตสาหกรรมที่มีการสำรวจ

ธุรกิจไทยยังใช้อินเทอร์เน็ตกันไม่มาก และส่วนใหญ่ยังไม่ใช้เพื่อการค้าขาย ในปี 2560 สัดส่วนของสถานประกอบการที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 29.6% ของสถานประกอบการทั้งหมด ทั้งนี้ในทำนองเดียวกันกับสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ ธุรกิจขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่เกิน 10 คนจะเป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตต่ำโดยมีสัดส่วนสถานประกอบการที่ใช้เพียง 27.2% ขณะที่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นจะมีสัดส่วนสูงกว่า 70% ขึ้นไป

โดยธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุด (มีลูกจ้างมากกว่า 200 คน) จะมีการใช้อินเทอร์เน็ตในเกือบทุกสถานประกอบการ (99.2%) สำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ของธุรกิจไทยจะใช้เพื่อค้นหาข้อมูล (74.6% ของสถานประกอบการที่ใช้อินเทอร์เน็ต) และรับส่งอีเมล (70.8%) ส่วนการใช้เพื่อการค้าขายนั้นยังถือเป็นส่วนน้อย โดยมีเพียง 27.3% เท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการซื้อ/ขายสินค้าและบริการ

สำหรับธุรกิจไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินมีสัดส่วนอยู่ที่ 15.4% ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 9.4% ในปี 2555 ซึ่งเป็นเหตุผลในการใช้อินเทอร์เน็ตของสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด สอดคล้องกับทิศทางของบริการทางการเงินด้านออนไลน์ที่มีการพัฒนามากขึ้นและมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง

ไทยยังตามหลังต่างประเทศอยู่ค่อนข้างมากในด้านดิจิทัล การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในสัดส่วนน้อยของไทยอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของไทยตามหลังหลายประเทศในโลก โดยจากข้อมูลอันดับความสามารถในการแข่งขัน (World Competitiveness Ranking) ล่าสุดในปี 2562 ของสถาบัน IMD ในด้านการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 63 ประเทศที่ทำการสำรวจ

นอกจากนี้ ข้อมูลสัดส่วนจำนวนธุรกิจที่รับคำสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต ของ UNCTAD เมื่อปี 2561 ยังพบอีกว่าไทยอยู่ในอันดับ 42 จาก 46 ประเทศที่ทำการสำรวจ โดยไทยมีสัดส่วนจำนวนของธุรกิจขนาดเล็กที่รับคำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ตที่เพียงประมาณ 10% ห่างไกลจากประเทศอันดับหนึ่ง คือ สิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนสูงถึงราว 60%

แม้ว่าธุรกิจไทยยังไม่ไฮเทค แต่ก็ยังต้องการบุคลากรด้านไอทีอีกมาก ในปี 2560 ธุรกิจไทยมีการจ้างงานบุคลากรด้านไอทีรวมประมาณ 4.4 แสนคนเพิ่มขึ้นจากในปี 2555 ประมาณ 1.8 หมื่นตำแหน่ง สวนทางกับจำนวนการจ้างงานในภาพรวมของไทยที่ลดลงในช่วงเดียวกัน นอกจากนี้ จากผลสำรวจยังพบอีกว่าสถานประกอบการไทยยังมีความต้องการบุคลากรด้านไอทีเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะตำแหน่ง ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง ที่ยังมีความต้องการอีก 1.5 พันตำแหน่งจากการจ้างงานที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ 2.4 พันตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนความต้องการที่เพิ่มขึ้นถึง 64%

รองลงมาคือตำแหน่ง นักออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ (ต้องการ 4.1 พันตำแหน่ง) และโปรแกรมเมอร์ (ต้องการ 6.2 พันตำแหน่ง) คิดเป็น 32% และ 24% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับจำนวนการจ้างงานของแต่ละตำแหน่งในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในส่วนของความต้องการบุคลากรในธุรกิจขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่เกิน 10 คนมีราว 1.5 หมื่นตำแหน่ง คิดเป็น 9.8% ของจำนวนการจ้างงานปัจจุบัน มากกว่าธุรกิจที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 11 คนขึ้นไปซึ่งมีความต้องการบุคลากรไอทีรวมกันที่ 9.3 พันตำแหน่ง คิดเป็น 3.2% ของจำนวนการจ้างงานปัจจุบัน รวมแล้ว 2.4 หมื่นคน/ปี

ความแตกต่างดังกล่าวสะท้อนถึงความต้องการในการปรับตัวด้านเทคโนโลยีของธุรกิจขนาดเล็กของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าระดับการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะยังไม่สูงมากนักก็ตาม อย่างไรก็ดี การตอบสนองความต้องการในด้านแรงงานไอทีของธุรกิจขนาดเล็กยังมีความท้าทายที่ทั้งฝั่งผู้ประกอบการและภาครัฐต้องร่วมมือกันหาทางออก ได้แก่ การผลิตแรงงานด้านไอทีตั้งแต่ระดับสถานศึกษาให้มีคุณภาพและปริมาณที่ตรงกับความต้องการ การยกระดับธุรกิจขนาดเล็กให้มีทัศนคติที่เปิดรับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และการจับคู่ (matching) ให้สอดคล้องระหว่างทักษะแรงงานและความต้องการของธุรกิจ

ที่มา: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC), 29/11/2562 

กสร. เผยผลสอบนายจ้าง เครนถล่ม พบผิดกฎหมายความปลอดภัย

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุเครนก่อสร้างย่านป้อมปราบศัตรูพ่ายถล่มจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บว่า จากการสอบข้อเท็จจริงบริษัท ปิยะวัฒน์คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมา พบว่า ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 14 คือไม่ได้จัดทำและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่จะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และมาตรา 16 ไม่ได้จัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งความผิดดังกล่าวจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ถึงปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฐานความผิดนั้น ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพยานหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายจ้างตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นทั้งร่างกายและทรัพย์สิน และป้องกันประสบอันตรายจากการทำงานได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัยเข้าไปตรวจสอบสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะในสถานที่ก่อสร้างที่มีการใช้เครนหรือนั่งร้าน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้มีการปกิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด

ที่มา: ไบรท์นิวส์, 28/11/2562 

เลขาธิการ สปส. สั่งการประกันสังคมสมุทรปราการ เคลียร์ปัญหาช่วยผู้ประกันตนร้องระบบส่งต่อการรักษา

จากการเสนอข่าวสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2562 กรณี นางดาวเรือง สอนพล ผู้ประกันตนในจังหวัดสมุทรปราการร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความสะดวกในระบบส่งต่อการรักษา ด้านเลขาธิการ สปส. ห่วงใยผู้ประกันตน สั่งประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการตรวจสอบข้อเท็จจริง เร่งเคลียร์ปัญหาช่วยผู้ประกันตน แนะนำสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาแล้ว

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนได้มีความห่วงใยผู้ประกันตน และได้สั่งการให้นางอัจฉราพร พูลสมบัติภิญโญ ประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการเร่งตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงโดยด่วน และประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนตามที่เป็นข่าวทันทีทราบว่า ผู้ประกันตนป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันและเส้นเลือดหัวใจตีบ ได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิคือ โรงพยาบาลรวมชัยประชารักษ์ และช่วงเวลาใกล้เคียงกันไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ โดยจ่ายเงินเอง ซึ่งแพทย์ได้แนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด ผู้ประกันตนจึงขอให้โรงพยาบาลตามสิทธิฯ ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ แต่เนื่องจากโรงพยาบาลรวมชัยประชารักษ์ เป็นคู่สัญญากับโรงพยาบาลราชวิถี จึงทำหนังสือส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี ผู้ประกันตนไปรอนาน จึงได้ปฏิเสธการรักษาและกลับไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เอง และได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนดังกล่าว

สำนักงานประกันสังคมได้เร่งประสานงานกับโรงพยาบาลรวมชัยประชารักษ์ เพื่อช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ให้ทั้งหมดพร้อมตรวจสอบมาตรฐานการรักษา โดยเชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาล เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงร่วมกับแพทย์ที่ปรึกษาของสำนักงานประกันสังคม เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในระบบส่งต่อ และปัญหาอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการให้บริการผู้ประกันตนอีก

นางอัจฉราพร พูลสมบัติญิญโญ ประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับคำสั่งมอบหมายจากท่านเลขาธิการ สปส.พร้อมผู้ตรวจราชการฯ นางพิสมัย นิธิไพบูลย์ ได้ลงพื้นที่ประสานงานโรงพยาบาลตามสิทธิฯ และได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเต็มที่ พร้อมแนะนำให้ผู้ประกันตนสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ผู้ประกันตนได้เลือกสถานพยาบาลเดิม คือ โรงพยาบาลรวมชัยประชารักษ์ พร้อมชี้แจงและดำเนินการในเรื่องสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพด้วย ซึ่งทางครอบครัวผู้ประกันตนได้แสดงความขอบคุณท่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม รวมถึงสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่มีความห่วงใยและให้การดูแลเป็นอย่างดีอีกด้วย

ที่มา: บ้านเมือง, 27/11/2562 

สภาพัฒน์ฯ เผยอัตราค่าจ้างเฉลี่ย พบว่ายังไม่ถึงเดือนละ 15,000 บาท

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยว่า ไตรมาส 3/2562 ผู้มีงานทำลดลง 2.1% จากปีก่อนมี 38.7 ล้านคน มาอยู่ที่ 38 ล้านคน แบ่งเป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 2.3% จาก 25.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 24.9 ล้านคน ภาคเกษตรจ้างงานลดลง 1.8% จาก 12.8 ล้านคน มาอยู่ที่ 12.6 ล้านคน สะท้อนได้จากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.04%

สาเหตุเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาภัยธรรมชาติการว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 8.4% เห็นได้จากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 13.5% อยู่ที่ 172,412 คน ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 3% ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงสุด 2.15%

โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการผลิต สาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 5.2 4.1 และ 2.2 ตามลำดับ ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และ 1.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก

สภาพัฒน์มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานในไตรมาส 4/2562 มากนัก เพราะภาพรวมชั่วโมงการทำงานไตรมาส 3 เฉลี่ยยังทรงตัวอยู่ที่ 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากรวมการทำงานล่วงเวลา (โอที) ที่มากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง 7.9% แม้อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับตัวของสถานประกอบการมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาลง และบางส่วนมีการปรับลดการจ้างแรงงานที่มีผลิตภาพและชั่วโมงการทำงานต่ำกว่า ทำให้โดยเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานยังคงทรงตัวในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ

ส่วนค่าจ้างแรงงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยค่าจ้างแรงงานโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 14,334 บาท/เดือน ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเท่ากับ 12,847 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 และ 2.5 ตามลำดับ เมื่อหักเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.6 ค่าจ้างที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ด้านผลิตภาพแรงงาน (มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อผู้มีงานทำ) พบว่า มีมูลค่า 69,329 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่มากกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายที่เกิดระหว่างปี 2524-2544 มีแนวโน้มไปประกอบอาชีพในรูปแบบใหม่ปีละประมาณ 300,000-600,000 คน โดยพบว่า 4 อาชีพยอดนิยม ได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การค้าและโฆษณาออนไลน์ การทำเว็บ/โปรแกรมมิ่ง และงานเขียน/ แปลภาษา เพราะมีความเป็นอิสระ

จากจำนวนตัวเลขอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขาะตัวเลขจากกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยค่อนข้างน่ากังวลดูได้จากข้อมูลในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 มีผู้ประกอบการมาแจ้งจำหน่ายทะเบียนโรงงานหรือมาแจ้งเลิกกิจการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,480 โรงงาน และการเลิกจ้างงานที่มีกว่า 37,263 คน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมมากกว่า 56,957 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบเท่ากับจำนวนการลงทุนและพนักงานที่ได้รับผลจากการเลิกจ้างและครอบครัว

ที่มา: TNN, 27/11/2562 

เปิดตัวสื่อรณรงค์ขจัดรุนแรงต่อสตรี-ต้านค้ามนุษย์

น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดตัว “สื่อเพื่อรณรงค์ขจัดความรุนแรงต่อสตรีและการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอาเซียน” ว่า เป็นความร่วมมือโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกับผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรี ในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ในการจัดทำสื่อรณรงค์การขจัดความรุนแรงต่อสตรีและการต่อต้านการค้ามนุษย์ระดับอาเซียน ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะสตรีมาทำงานจำนวนมาก จึงได้นำเสนอที่ประชุม ACWC เมื่อปี 2561 ในการจัดทำสื่อรณรงค์ฯจนจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันจัดทำในเดือน มี.ค.2561 ซึ่งจะเปิดตัวพร้อมกันทั้งในไทยและประชาคมอาเซียนอีกครั้งวันที่ 18 ธ.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันผู้ย้ายถิ่นสากล

ด้าน ดร.รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีใน ACWC ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำสื่อรณรงค์ฯ กล่าวว่า ได้มีการศึกษาวิจัยการทำสื่อที่เน้นตัวตนเข้าถึงหัวใจแรงงานสตรี ซึ่งจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแรงงานสตรีต่างด้าวใน จ.สมุทรสาคร ส่วนใหญ่ติดต่อสื่อสารและชอบฟังเพลงแนว Electronic Dance Music (EDM) ดังนั้นจึงได้จัดทำสื่อเป็นสปอตโฆษณาแนว EDM และจะเผยแพร่ทางยูทูบ ติ๊กต๊อก และเฟซบุ๊ก ขณะนี้จัดทำใน 4 ภาษาคือ ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา และมีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ และขอชวนร่วมเผยแพร่โดยติดต่อทางเพจเฟซบุ๊ก ACWC Thailand เพื่อให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างได้รับรู้ช่องทางการขอความช่วยเหลือด้านสิทธิต่างๆและการแจ้งเบาะแสเพื่อยุติความรุนแรงและต่อต้านการค้ามนุษย์ผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. 1300

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 26/11/2562 

สภาพัฒน์ฯ ชี้เศรษฐกิจชะลอตัว ตกงานเพิ่ม หนี้เสียพุ่ง หนี้ครัวเรือนแตะ 13.08 ล้านล้าน

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2562 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยว่าไตรมาส 3/2562 ผู้มีงานทำลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 38.7 ล้านคน มาอยู่ที่ 38 ล้านคน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 2.3% จาก 25.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 24.9 ล้านคน ภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลง 1.8% จาก 12.8 ล้านคน มาอยู่ที่ 12.6 ล้านคน สะท้อนได้จากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.04%

เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาภัยธรรมชาติ การว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานก่อนเพิ่มขึ้น 8.4% เห็นได้จากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 13.5% อยู่ที่ 172,412 คน ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 3% ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงสุด 2.15%

“สภาพัฒน์ฯ มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานในไตรมาส 4/2562 มากนัก เพราะภาพรวมชั่วโมงการทำงานไตรมาส 3 เฉลี่ยยังทรงตัวอยู่ที่ 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อัตราการว่างงานเฉพาะเดือนต.ค.ที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำกว่า 0.9% คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน แต่สภาพัฒน์ฯ ยังคงติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด การทำงานล่วงเวลา (โอที) ที่มากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง 7.9%”

ส่วนภาวะหนี้สินครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 2/2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าขยายตัว 6.3% ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์เป็นหลัก แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ส่งผลให้ระดับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ยังคงเท่ากับไตรมาสก่อนที่ 78.7%

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่มากกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายที่เกิดระหว่างปี 2524-2544 ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มไปประกอบอาชีพในรูปแบบใหม่มากขึ้นปีละประมาณ 300,000-600,000 คน ใน 4 อาชีพยอดนิยม ได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การค้าและโฆษณาออนไลน์ การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง และงานเขียน/แปลภาษา เพระมีความเป็นอิสระ เป็นผู้จัดการตนเองและมีการทำงานที่ยืดหยุ่นสูง แต่พบว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีความตระหนักถึงเรื่องราวการวางแผนด้านการเงินเพื่อรองรับวัยเกษียณในอนาคตเท่าที่ควร

นายทศพร กล่าวว่า ในส่วนของภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3/2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.2% คิดเป็นสัดส่วน 2.81% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.74%

ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนเป็นตัวเลขที่ไม่อยากให้มีมากเกินไปอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับจีดีพียังเป็นสัดส่วนไม่มาก แต่คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ) ก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ไปร่วมกันศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีลักษณะพิเศษที่ประมาณ 18-19% ของหนี้สินครัวเรือนเป็นการกู้ยืมหนี้ส่วนบุคคลเพื่อนำไปลงทุนธุรกิจ

“ครม.เศรษฐกิจสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าเนื้อในของหนี้ครัวเรือนว่าประมาณ 20% นั้นหรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือนเป็นการกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อนำไปประกอบธุรกิจ ซึ่งเท่ากับก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ จึงต้องไปจำแนกให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่มาตรการดูแลแก้ไขให้ถูกต้อง และหาก 20% นั้นนำไปประกอบธุรกิจก็ไม่น่าเป็นห่วง คาดเดือนธ.ค.จะมีความชัดเจนนำกลับมารายงาน ครม.เศรษฐกิจอีกครั้ง”

ที่มา: ข่าวสด, 25/11/2562 

เครือข่ายแรงงาน เดินหน้าคัดค้านการนำเงินประกันสังคมไปให้กู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ ชี้เป็นเรื่องขัดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้

25 พ.ย. 2562 ตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม และนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม หลังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้ในการกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ โดยให้เหตุผลว่าการที่จะนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้จ่ายต่างๆ อื่นใดต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคมและกฎหมายที่บัญญัติไว้เท่านั้น

มานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้สั่งการให้นำเงินกองทุนเอาไปใช่ เพียงแค่ให้ดูว่าตามกฎหมายทำได้หรือไม่ได้ แต่เครือข่ายก็ยังวลเนื่องจากตั้งข้อสังเกตว่าหนังสือฉบับดังกล่าวค่อนข้างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้องอื่นๆ โดยต้องการให้ทางคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) ติดตามเงินที่รัฐบาลค้างชำระกองทุนประกันสังคม รวมถึงแก้ไข พ.ร.บ. ประกันสังคมฯ ให้ผู้ที่ได้รับเงินบำนาญ สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนได้โดยสมัครใจ และในมาตรา 40 ให้เพิ่มทางเลือกรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยได้

ขณะที่นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ปฎิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ เเต่ระบุว่าพร้อมทำตามที่เครือข่ายแรงงานเสนอ ส่วนการจะนำเงินกองทุนมาปล่อยกู้ได้หรือไม่นั้น นายสุทธิ ระบุว่าหากขัดกับกฎหมายก็ไม่สามารถทำได้

ที่มา: PPTV, 25/11/2562 

ก.อุตฯ แจงสถานการณ์ปิดกิจการโรงงาน ยันโรงงานเปิดใหม่มากกว่าปิด

กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีกระแสข่าวเรื่องการปิดกิจการโรงงานและการเลิกจ้างงานในปัจจุบัน ว่า จากข้อมูล กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2562 ถึงแม้ว่ามีการยื่นขอปิดกิจการโรงงาน จำนวน 1,391 โรงงาน แต่เมื่อเทียบกับการยื่นขอประกอบกิจการโรงงานใหม่ซึ่งมีถึง 2,889 โรงงาน พบว่าโรงงานเปิดใหม่ยังมากกว่าปิดกิจการสูงถึงร้อยละ 107 ในส่วนของแรงงานถึงแม้ว่ามีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการจำนวน 35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่สูงถึง 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีกจำนวน 84,704 คน

ปัจจุบันพบว่ายังมีโรงงานหลายแห่งต้องการรับแรงงานเพิ่มเติมอีกจำนวนมากในส่วนการลงทุนใหม่ จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการโรงงานเดิม พบว่าในปี 2562 มีเงินลงทุนเพิ่มเติมในกิจการโรงงานถึง 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 36.6 ภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสภาพถดถอยแต่อย่างใด

โรงงานที่ประกอบและขยายปี 2562 เทียบกับปี 2561 จำนวนโรงงานที่ประกอบและขยายปี 2562 มีเงินลงทุนมากกว่าร้อยละ 36.32 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบและขยายปี 2562 มากที่สุด 3 ลำดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่นๆ) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 474 โรงงาน กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 410 โรงงาน และกลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้ง การซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ จำนวน 323 โรงงาน

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบและขยายปี 2562 ใช้เงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่นๆ) คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เงินลงทุน 84,166.95 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เงินลงทุน 48,541.96 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตเคมี เงินลงทุน 39,034.39 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบและขยายปี 2562 มีการจ้างงานมากที่สุด 3 อันดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่นๆ) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 31,711 คน กลุ่มผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวน 19,583 และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 14,868 คน

โรงงานที่ปิดกิจการปี 2562 เทียบกับปี 2561 จำนวนโรงงานที่ปิดกิจการปี 2562 จำนวนโรงงานน้อยกว่าน้อยกว่าปี 2561 ร้อยละ 22.07 จำนวนคนงานน้อยกว่าร้อยละ 0.96

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการปี 2562 จำนวนมากที่สุด 3 ลำดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่นๆ) คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช จำนวน 144 โรงงาน กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ จำนวน 133 โรงงาน และกลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ จำนวน 124 โรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการ ปี 2562 มีการเลิกจ้างงาน 3 อันดับ (ไม่รวมกลุ่มฯ การผลิตอื่นๆ) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายยกเว้นรองเท้า จำนวน 5,848 คน กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์จำนวน 4,311 คน และกลุ่มสิ่งทอ จำนวน 3,243 คน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/11/2562 

รมว.แรงงาน สั่งประกันสังคมเร่งช่วยเหลือลูกจ้างประสบเหตุเครนถล่มย่านคลองถมเซ็นเตอร์

จากเหตุการณ์เครนก่อสร้างถล่มย่านคลองถมเซ็นเตอร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแสดงความห่วงใยสั่งกำชับให้ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เร่งให้การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ตนได้สั่งการให้นางรัศมี สุจโต ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลโดยด่วน และดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บเป็นการด่วน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บเป็นลูกจ้างของ บริษัท ปิยะทรัพย์ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ซึ่งขณะนี้ลูกจ้างทั้ง 3 ราย กระจายเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลจำนวน 3 แห่ง ตนจึงให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบเร่งกระจายกันออกตรวจเยี่ยม พบว่าสถานพยาบาลให้การรักษาเป็นอย่างดี ดังนี้

โดยนายเกียรติศักดิ์ เสนาหาร เข้ารับการรักษาที่ รพ.กลาง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้มอบหมาย นางรัศมี สุจโต อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่1 เข้าเยี่ยมอาการบาดเจ็บ พบว่าการบาดเจ็บที่สะโพกขวาผ่าตัดแล้ว รอดูอาการบาดเจ็บเพิ่มเติมว่ากระทบเส้นเลือดกล้ามเนื้อจุดใดบ้าง และในส่วนที่เหล็กทะลุกระดูกตาซ้ายกระดูกแตกทำให้มีรูรั่วลมเข้าที่สมองต้องรอแพทย์เฉพาะทางตรวจรายละเอียดอีกครั้ง

ส่วนนายสมพร กนิษฐสุนทร เข้ารับการรักษาที่รพ.บางนา1 เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้มอบหมาย นางนงค์ลักษณ์ กอวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 8 เข้าเยี่ยมและรายงานว่าผู้ประกันตนได้รับบาดเจ็บที่แขนขวาและปาก แพทย์ศัลยกรรมประสาทส่ง ทำ MRI ผลปรากฎเส้นประสาทแขนและคอได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแพทย์จัดทำแผนส่งกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพต่อไป

ด้านนายมนัสพงศ์ ดีมี เข้ารับการรักษาที่ รพ.วิชัยเวช อ้อมน้อย เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้มอบหมาย นายมนัส ทานะมัย ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร รายงานว่าจากการเข้าเยี่ยม พบว่าผู้ประกันตนได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังร้าว เบื้องต้นโรงพยาบาลแจ้งว่ายังไม่ต้องผ่าตัดให้ใส่เสื้อพยุงหลัง และหัดเดินซึ่งอาการดีขึ้นตามลำดับ คุณมนัสพงษ์ผู้ประกันตนฝากขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมที่มีความห่วงใยและให้การดูแลตนเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำว่าการประสบอันตรายดังกล่าวเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคมจะต้องดูแลลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน คือค่ารักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาตามกฎกระทรวง ค่าทดแทนการหยุดพักรักษาตัวอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้เชิญนายจ้างเข้าแจ้งการประสบอันตรายของลูกจ้างทั้ง 3 ราย เพื่อวินิจฉัยสั่งจ่ายเงินทดแทนโดยเร็ว ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง /จังหวัด /สาขา /ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/11/2562 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท