Skip to main content
sharethis

พนักงานบริษัทเก็บกวาดที่อยู่อาศัยที่เคยมีคนเสียชีวิตในญี่ปุ่นสร้าง 'ไดโอรามา' หรือ 'แบบจำลองขนาดเล็ก' ของห้องที่มีผู้เสียชีวิต สื่อมองว่าผลงานนี้สะท้อนภาพปัญหาของคนที่เสียชีวิตโดยอยู่เพียงลำพัง


ที่มาภาพ: JAPAN TIMES/ALEX MARTIN

ภายในห้องทะมึนทึมขนาด 6 เสื่อทาทามิ มีผ้าห่มเปราะสีขุ่นๆ ที่เป็นสิ่งย้ำเตือนว่าเจ้าของห้องนี้เสียชีวิตไปแล้ว บนโต๊ะกลมแบบนั่งกับพื้นในห้องนี้มีถ้วยโซจูและสาเกที่ดื่มหมดแล้ววางอยู่ นอกจากนี้ยังมีข้าวกล่องร้านสะดวกซื้อขึ้นรา รวมถึงตั๋วชมการแข่งม้า สิ่งเหล่านี้สื่อเป็นนัยยะได้ว่าเจ้าของห้องกำลังนึกถึงอะไรอยู๋ในขณะที่เขาเสียชีวิตอย่างเดียวดาย

ห้องอีกห้องหนึ่งมีกองเลือดกระจายอยู่ภายใต้ห่วงเชือกที่ถูกตัดผูกมัดอยู่กับบันไดที่นำไปสู่ห้องใต้เพดาน บนทำแพงมีเทปปิดไว้เป็นตัวอักษรคาตาคานะที่ออกเสียงแล้วจะแปลว่า "ขอโทษ" ผู้ที่เสียชีวิตหมดลมหายใจอยู่ที่โต๊ะในห้องนั้น ขณะที่ห้องน้ำมีสีแดงนองอยู่เต็มอ่างอาบน้ำล้นออกมาบนพื้นโดยบอกไม่ได้ว่าเป็นของเหลวอะไร

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ฉากเรื่องสยองขวัญหรือฉากฆาตกรรมปริศนา แต่เป็นไดโอรามา หรือคือแบบจำลองขนาดเล็กที่ทำขึ้นจากสภาพห้องของคนที่ตายอย่างโดดเดี่ยวซึ่งเกิดขึ้นจริง

ผู้ที่ทำไดโอรามาเหล่านี้คือ มิยุ โคจิมา อายุ 27 ปี ลูกจ้างของบริษัท ToDo-Company ซึ่งเป็นบริษัทเฉพาะทางที่เน้นจัดการเก็บกวาดที่พักที่มีคนเสียชีวิตอยู่โดยเฉพาะ โคจิมาบอกว่า "ห้องแต่ละห้องก็มีเรื่องราวของตัวเองและสะท้อนสิ่งที่ฉันได้พบเห็นจากสายงานที่ฉันทำ"

ในญี่ปุ่นมีคำเรียกการเสียชีวิตโดยลำพังว่า "โคโดคุชิ" โดยที่ผู้เสียชีวิตเป็นคนที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวจนกระทั่งพบว่าพวกเขาเสียชีวิตในที่พักของตัวเองซึ่งบางครั้งก็ไม่มีใครรู้ว่าเขาเสียชีวิตหลังจากผ่านมาหลายวันหรือแม้กระทั่งหลายสัปดาห์แล้ว จากสถิติของทางการญี่ปุ่นในปี 2560 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ในที่พักคนเดียว 4,777 ราย มีจำนวน 1 ใน 3 ที่พบศพหลายวันหลังจากการเสียชีวิต มีเกือบร้อยละ 10 ที่พบศพหลังเสียชีวิตมาแล้วมากกว่า 1 เดือน ทั้งนี้ยังมีการประเมินว่าที่พักอาศัยแบบอยู่คนเดียวในญีปุ่นกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายสิบล้านแห่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและอาจจะคิดเป็นร้อยละ 40 ของที่พักอาศัยทั้งหมดภายในปี 2583

โคจิมาเริ่มทำไดโอรามาเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีที่ผ่านมาในงานแสดงโชว์อุตสาหกรรมงานศพที่บริษัทของเธอเข้าร่วม โดยแทนที่จะใช้ภาพถ่ายของห้องที่มีคนเสียชีวิตช่วง "ก่อนเก็บกวาด" ซึ่งจะดูโหดเกินไปโคจิมาเสนอให้มีการจัดแสดงเป็นแบบไดโอรามาซึ่งก็คือแบบจำลองขนาดเล็กแทน ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่ดูโหดเกินไปแล้วยังทำให้ผู้คนรับรู้ด้านที่อ่อนไหวของความโหดร้ายที่เกิดขึ้นได้

มีผู้เข้าร่วมงานพบเห็นไดโอรามาฝีมือของโคจิมาแล้วถ่ายภาพไว้ นำไปแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งทำให้สื่อมาทำข่าวและสัมภาษณ์โคจิมาทำให้คนได้เห็นเรื่องผลกระทบของสังคมสูงวัยที่มีประชากรลดลงเรื่อยๆ และมีคนเป็นโสดมากขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องที่คนมักจะอาศัยในบ้านแบบพักได้คนเดียว ซึ่งโคจิมาเคยเผยแพร่หนังสือประสบการณ์เก็บกวาดของตัวเธอเองในหนังสือที่ชื่อว่า "ห้องที่เวลาหยุดเดิน" (Toki ga tomatta heya)

แน่นอนว่างานของโคจิมาไม่ใช่เรื่องง่ายและดูไม่ได้เป็นงานที่มีเกียรติ์ศักดิ์ศรีอะไรในสายตาสังคมแต่มันก็เป็นสิ่งที่เรียกร้องจากภายในให้เธอต้องทำงานนี้ โคจิมาเปิดเผยถึงประวัติตัวเอง ทำให้รู้ว่าเธอเคยเกือบเผชิญกับเหตุการณ์คนเสียชีวิตตัวคนเดียวในแบบที่ใกล้ตัวมาก เพราะมันเคยเกือบจะเกิดขึ้นกับพ่อของเธอเอง พ่อของโคจิมาแยกกันอยู่กับแม่ด้วยสาเหตุเพราะพ่อติดสุรา จนกระทั่งวันหนึ่งแม่ของเธอต้องการจะให้พ่อเซ็นใบหย่าแต่ก็พบว่าพ่อนอนหมดสติอยู่ที่พื้นเพราะอาการหลอดเลือดสมองอุดตัน ทำให้เธอคิดว่าถ้าหากแม่ของเธอไม่ไปพบพ่อในวันนั้น พ่อของเธอก็คงจะกลายเป็นหนึ่งใน "โคโดคุชิ"

โคจิมาเข้าทำงานกับ To-Do มาตั้งแต่อายุ 22 ปี เธอเล่าถึงงานของเธอว่าบางครั้งก็ต้องเผชิญกับการเก็บกวาดในที่ๆ ส่งกลิ่นโชยมาแต่ไกลตั้งแต่เดินขึ้นบันไดไป ซึ่งน่าจะมาจากเพราะเจ้าของห้องเสียชีวิตมาหลายเดือนแล้วบวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวในช่วงฤดูร้อน ผู้ที่เสียชีวิตรายนี้ปัสสาวะใส่ขวดไว้แม้ว่าจะมีห้องน้ำในที่พักรวมถึงนำเหรียญมาวางไว้อย่างเป็นระเบียบราวกับกำลังนับวันแทนการใช้ปฏิทิน

หลังจากที่มีการเก็บกวาดแล้วก็จะมีการนิมนต์พระมาทำพิธีชำระให้กับพื้นที่นั้นๆ โคจิมาเล่าว่าพอคนออกจากห้องไปหมดแล้วและเธออยู่คนเดียว เธอได้สวดภาวนาสั้นๆ ขอให้คนที่เสียชีวิตที่นี่ได้ไปสวรรค์ "ในตอนนั้นเอง มีความรู้สึกเหมือนอะไรบางอย่างคล้ายๆ แปรงสัมผัสที่ท้ายทอยของฉัน และทำให้ฉันรู้สึกว่ามันเป็นสัญญาณว่าคำสวดของฉันเป็นที่รับรู้แล้ว"

โคจิมาบอกว่าการที่เธอจัดทำไดโอรามาอย่างเต็มไปด้วยรายละเอียดนั้นเพราะต้องการเก็บลักษณะตัวตนที่เธอสังเกตเห็นในขณะที่เก็บกวาดห้องเหล่านั้น เธอบอกว่าเธอจัดทำรายละเอียดต่างๆ ขึ้นมาเองตั้งแต่ส่วนประกอบย่อยๆ ทำให้เธอใช้เวลา 3 เดือน สร้างแบบจำลองห้องขนาดจิ๋วไว้ได้สามห้อง เธอบอกว่าเธอมีแผนการจะสร้างสื่อในแบบอื่นที่จะแสดงให้เห็นถึงการเฉลิมฉลองชีวิตของของคนที่เสียชีวิตเหล่านี้ เช่นว่า ใช้ภาพโปรเจกเตอร์ 2 มิติรูปคนเคลื่อนไหวในห้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ผู้คนเหล่านี้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่พวกเขาก็เคยมีชีวิตอยู่แบบคนทั่วไป


เรียบเรียงจาก
One diorama at a time, miniaturist reconstructs aftermaths of ‘lonely deaths’, Japan Times, 25-11-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net