สุรพศ ทวีศักดิ์: ประวัติศาสตร์พุทธไทยฉบับย่อ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากย่อประวัติศาสตร์พุทธไทยแบบหยาบๆ (ไม่ละเอียด) อาจแบ่งได้เป็น 3 ยุคคือ พุทธแบบไตรภูมิ, พุทธชาตินิยมเข้มข้น และพุทธชาตินิยมสับสน

พุทธแบบไตรภูมิ

พุทธแบบไตรภูมิมีอิทธิพลต่อระเบียบทางสังคมและการเมืองมาแต่สุโขทัย, อยุธยา, ต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้เน้นความเป็นป๊อปปูลาร์ของ “พระพุทธเจ้า” ในฐานะมนุษย์ที่เป็นผู้นำทางปัญญา การสร้างพระพุทธปฏิมาใหญ่โตอลังการจำนวนมากยุคสุโขทัย อยุธยา ไม่ใช่การแสดงภาพลักษณ์ของพุทธะในฐานะมนุษย์ แต่เป็นพุทธะในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีส่วนผสมของพุทธ พราหมณ์ ผี 

ศีลธรรมพุทธแบบไตรภูมิก็ไม่ได้เน้น “ศีลธรรมส่วนบุคคล” แต่เน้น “ศีลธรรมทางสังคม” บนฐานความเชื่อในจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิที่สอดรับกับระเบียบสังคมศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส เพราะความเชื่อที่ว่าบุญ บาป หรือกรรมดี กรรมชั่วส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ คือรากฐานของสำนึกยอมรับระบบชนชั้นว่า คนเราเกิดมาในชนชั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน ก็เพราะบุญกรรมนำแต่ง แต่บุญกรรมไม่ได้ลิขิตชีวิตแต่ละคนเท่านั้น หากลิขิตระบบชนชั้นด้วย เพราะบุญกรรมลิขิตไว้ด้วยว่าชนชั้นปกครอง (กษัตริย์, ขุนนาง, พระ) ที่ควบคุมกฎหรือระเบียบทางชนชั้นคือผู้มีบุญญาธิการมากกว่า มีสถานะทางศีลธรรมและอำนาจสูงกว่า ไพร่ ทาสที่อยู่ใต้ปกครอง 

ภายใต้สำนึกทางศีลธรรมแบบไตรภูมิ สำหรับความทุกข์ยากของไพร่ ทาสก็คือการชดใช้กรรมเก่า แต่นี่ไม่ใช่ชีวิตที่สิ้นหวัง เพราะถ้าคุณทำบุญกุศล ทาน ศีล ย่อมไม่สูญเปล่าแน่นอน คุณจะได้รับผลตอบแทนไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า แต่การเลื่อนสถานะทางชนชั้นย่อมไม่ใช่ผลตอบแทนในชาตินี้ ชาติหน้าทุกคนมีโอกาสที่จะเกิดในชนชั้นที่สูงขึ้นหรือต่ำลงได้เสมอ 

ส่วนชนชั้นเจ้าขุนมูลนายนั้น นอกจากอำนาจวาสนาในชาตินี้จะถูกลิขิตมาจากกรรมดีในชาติก่อน ความเป็นผู้มีบุญญาธิการมากกว่ายังให้ความชอบธรรมกับการผูกขาดอำนาจคุมกฎหรือระเบียบชนชั้นทางสังคมอีกด้วย ขณะเดียวกันสถานะที่เหนือกว่าก็เอื้อให้สามารถสร้างบุญบารมีได้มากกว่า ด้วยการสร้างวัดวาอาราม ศาสนสถานใหญ่โต และทำบุญทำทานอื่นๆ ได้มากกว่าไพร่ ทาส เพื่อรักษาอำนาจในชาตินี้และต่อยอดด้วยการเกิดมามีสถานะอำนาจที่สูงขึ้นในชาติต่อๆ ไป

พูดรวมๆ คือพุทธแบบไตรภูมิคือพุทธแบบผลิตศีลธรรมทางสังคมตอบสนองระบบชนชั้นศักดินา ไพร่ ทาส หรือเป็นพุทธผสมพราหมณ์ ผี ทำหน้าที่จรรโลงโครงสร้างสังคมศักดินา ไพร่ ทาสมายาวนาน

พุทธชาตินิยมเข้มข้น

เป็นพุทธที่ถูกสถาปนาขึ้นผ่านกระบวนการปฏิรูปพุทธศาสนายุค ร.4 ถึง ร.6 ในบริบทการเผชิญหน้ากับลัทธิล่าอาณานิคมและคริสต์ศาสนา พุทธชาตินิยมเข้มข้นถูกผลิตขึ้นผ่านการปะทะกับคริสต์ศาสนาสองด้านหลักๆ คือ ผ่าน “วิวาทะ” ระหว่างชนชั้นนำสยามกับบรรดาบาทหลวง มิชชันนารี ในประเด็นว่าระหว่างคำสอนพุทธกับคริสต์ใครมีเหตุผลหรืองมงายมากกว่า 

บาทหลวงหยิบยกจักรวาลวิทยา ความเชื่อเรื่องกรรมแบบไตรภูมิ พิธีกรรมต่างๆ ของพุทธมาวิเคราะห์ วิจารณ์ว่างมงาย น่าขบขัน ขณะที่ ร.4, เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็ยกความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลก เรื่องเยซูรักษาคนพิการง่อยเปลี้ยด้วยปาฏิหาริย์มาวิจารณ์ให้เห็นความงมงายและน่าขบขัน 

ในพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ของ ร.5 พูดถึงความเชื่อเรื่องพระเจ้าของพราหมณ์ฮินดู คริสต์ และอิสลามทำนองว่ามีความสัมพันธ์ในเชิง “วงศาวิทยา” (genealogy) หรือเป็น “สาแหรกเดียวกัน” ทำให้พุทธที่มีพัฒนาการทางประวัติเป็นสาแหรกพราหมณ์มาตลอด ถูกแยกออกมาเป็นเอกเทศต่างหากในฐานะเป็น “ศาสนาแห่งเหตุผล” เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์และความทันสมัยมากกว่าสาแหรกศาสนาที่นับถือพระเจ้าสร้างโลก

ภายใต้ “ศาสนาเปรียบเทียบ” ผ่านวิวาทะดังกล่าว ภาพลักษณ์ของพุทธะจำเป็นต้องหมดจดจากมิติความเป็นพราหมณ์และผี จึงต้องโยนทิ้งคติไตรภูมิ (คือชนชั้นนำพยายามโยนทิ้ง แต่โยนทิ้งได้จริงหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง) และเมื่อนำพุทธะมาเปเรียบเทียบกับเยซูและมูฮัมหมัดแล้ว ย่อมถือว่าพุทธะมีภาพลักษณ์ของผู้นำทางปัญญาและเหตุผลเด่นชัดมากกว่า เพราะพุทธะคือผู้ค้นพบสัจธรรมด้วยสติปัญญาของตนเอง 

ดังนั้น ภาพลักษณ์ของพุทธะที่สร้างขึ้น(หรือถูกเน้น)ใหม่ตั้งแต่สมัย ร.4 เป็นต้นมา จึงเป็นภาพลักษณ์ของพุทธะในฐานะ “มนุษย์” ที่เป็นผู้นำทางปัญญา ภาพลักษณ์ดังกล่าวนี้สอดรับกับภาพลักษณ์ “กษัตริย์สมัยใหม่” ที่ทรงมีอัจฉริยภาพในการตีความคำสอนพุทธให้ทันสมัย มีความรู้วิทยาศาสตร์ เท่าทันโลกตะวันตก มีความสามารถปกปักรักษาชาติบ้านเมือง รักษาสืบทอดพุทธศาสนาและความเป็นทย

ขณะที่อีกด้านหนึ่งชนชั้นนำสยามก็ปะทะกับ “ชาตินิยมคริสต์เตียน” อันเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิรูปศาสนาคริสต์ เพราะการแปลไบเบิลเป็นภาษาท้องถิ่นอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดสำนึกชาตินิยมแบบคริสเตียนในสังคมตะวันตกและแพร่สู่โลกภายนอกผ่านลัทธิล่าอาณานิคม การต่อต้านเห็นได้ชัดจากทัศนะชนชั้นนำสยาม เช่น ร.4 เน้นว่ากษัตริย์สยามทุกพระองค์ถือว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำคัญสูงสุด เรื่องมาชวนให้กษัตริย์เข้ารีตคริสต์นี่อย่าเลย เพราะต่างรู้ๆ กันว่าประเทศคริสต์กษัตริย์ก็ถือคริสต์ ที่นี่ประเทศที่คนส่วนใหญ่ถือพุทธกษัตริย์ก็ต้องเป็นพุทธ 

เทศนาเสือป่าของ ร.6 ก็ย้ำชัดยิ่งขึ้นว่า ชนทุกชาติมีศาสนาเป็นหลักของชาติตัวเอง ชาติฝรั่งก็มีศาสนาคริสตังเป็นศาสนาของชาติเขา ของเราก็มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ชาตินิยมคริสเตียน(ยุคเก่า) อย่างอังกฤษเขามีคำขวัญ “God, King and Country” ชาตินิยมพุทธไทยก็ต้องมี “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นอุดมการณ์สูงสุด (จุ๊จุ๊ ใครบอกว่า “ความเป็นไทยไม่เอาอย่างตะวันตก?”)

เป็นอันว่าพุทธชาตินิยมเข้มข้น ในแง่หนึ่งก็ถูกสร้างขึ้นจากอิทธิพลของชาตินิยมแบบคริสต์เตียนที่เข้ามาในบริบทยุคอาณานิคม พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของพุทธที่เน้นคัมภีร์ ความมีเหตุผล สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ แต่เป็นพุทธชาตินิยมเข้มข้นและเน้นความมีเหตุผลที่ถูกสร้างโดยกลุ่มชนชั้นนำ มากกว่าที่จะเป็นพุทธในความรับรู้ของราษฎรส่วนใหญ่ที่ยังไม่รู้หนังสือ และแทบจะไม่เคยรับรู้เรื่องราวของ “วิวาทะ” ระหว่างชนชั้นนำสยามกับชนนั้นนำคริสต์ศาสนาเลย เมื่อมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นและขยายไปทั่วทุกภูมิภาค พุทธชาตินิยมเข้มข้นจึงเป็นที่รับรู้และกลายเป็น “ความทรงจำร่วม” ของชาวสยามไทย

พึงตราไว้ว่าพุทธชาตินิยมเข้มข้นไม่ใช่ผลิตกรรมของคณะสงฆ์ แต่เป็นผลิตกรรมของชนชั้นนำที่มี “กษัตริย์พุทธมามกะ” ซึ่งเป็นผู้ปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร คณะสงฆ์มีสถานะเป็นเพียง “พระราชาคณะ” ทำหน้าที่ให้ความร่วมมือในการผลิตสร้างและผลิตซ้ำพุทธชาตินิยมเข้มข้นเท่านั้น ดังนั้น แก่นแกนความเป็นพุทธชาตินิยมหรือพุทธแบบไทย ไม่ใช่อยู่ที่คณะสงฆ์หรือพระสงฆ์ แต่อยู่ที่อำนาจการตีความ การผลิตสร้าง การจัดระบบปกครองศาสนจักรของชนชั้นนำสยามที่มีกษัตริย์พุทธมามกะเป็นศูนย์กลาง ในแง่นี้ “ความเป็นศาสนา” ของสถานะและอำนาจของกษัตริย์พุทธมามกะ จึงเข้มข้นหรือศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าความเป็นศาสนาของสถานะพระสงฆ์

ความเป็นศาสนาของ “สถานะพระสงฆ์” อิงกับอำนาจสองแบบ คืออำนาจความชอบธรรมตามธรรมวินัย สถานะพระสงฆ์ที่อิงธรรมวินัยใช้ในการชวนเชื่อถือศรัทธา แต่ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านตรวจสอบ วิจารณ์ ด่า จับสึกได้หากพระทำผิดธรรมวินัย แต่อีกสถานะของพระสงฆ์นั้นถูกสถาปนาขึ้นโดยอำนาจรัฐ คือ “สถานะพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ฐานันดรและมีอำนาจตามกฎหมายปกครองสงฆ์” นี่เป็นสถานะความเป็นศาสนาที่รัฐสร้างขึ้นและมีความศักดิ์ศิทธิ์กว่าสถานะของพระสงฆ์ตามธรรมวินัย เพราะสถานะที่รัฐสร้างขึ้นนี้ทำให้การตรวจสอบธรรมวินัยโดยชาวบ้านทำได้ยาก เนื่องจากพระสงฆ์มีอำนาจตามกฎหมายผูกขาดการตีความธรรมวินัย ทว่าพระสงฆ์โดยทั่วไปและชาวพุทธขาดอิสรภาพในการจัดองค์กรปกครองตนเอง เพราะการตั้งประมุขสงฆ์และคณะผู้บริหารระดับสูงเป็น “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” เท่านั้น

พุทธชาตินิยมสับสน

โปรดนึกภาพพระสงฆ์ชั้นนำ ผู้นำศาสนาคริสต์ ผู้นำศาสนาอิสลามนั่งฟัง speech ของพระสันตะปาปาฟรานซิสในโอกาสเยือนไทยที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ ใน speech สาระสำคัญเป็น “ภาษาสากล” ที่ยืนยันคุณค่าหรือศีลธรรมสากล เช่น พูดแสดงความยินดีที่ไทยเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ยืนยันการเคารพสิทธิมนุษยชน ขันติธรรมระหว่างศาสนา เสรีภาพทางศาสนา ความร่วมมือของทุกศาสนาในเรื่องสันติภาพโลก ความห่วงใยปัญหาคนยากจน คนชายขอบ สิทธิเด็ก ปัญหาโสเภณี การลักลอบค้ามนุษย์ในไทย ฯลฯ

ผมเดาไม่ออกว่า พระสงฆ์ชั้นนำและผู้นำศาสนาอิสลามที่นั่งฟังอยู่ จะเกิด “คำถาม” ขึ้นในใจหรือไม่ว่า เหตุใดไม่เคยมีผู้นำศาสนาพุทธ, อิสลามในไทยสร้าง speech ด้วยภาษาศีลธรรมสากลอย่างพระสันตะปาปาฟรานซิสเลย 

แต่ก็เข้าใจได้ว่าการเกิด speech ทำนองนี้โดยผู้นำคริสต์ศาสนา (ซึ่งมีหลายระดับ โปรดนึกถึงมาร์ติน ลูเธอ คิง จูเนียร์ และคนอื่นๆ) เป็นพัฒนาการทางปัญญาที่เป็นผลของการที่คริสต์ศาสนาผ่านการถูกท้าทาย หักล้าง และปะทะสังสรรค์กับความคิดโลกวิสัย (secularism) ขบวนการเปลี่ยนแปลงให้เป็นโลกวิสัย (secularization) ในทางสังคม การเมือง และอื่นๆ ขณะที่ศาสนาในไทยไม่ได้ผ่านประสบการณ์เช่นนี้เลย

หลัง 2475 จนปัจจุบันจึงเป็นช่วงเวลาของ “พุทธชาตินิยมสับสน” เพราะไม่รู้ ไม่ชัดเจนว่าจะปรับตัวอย่างไรดีระหว่างการสืบทอดพุทธชาตินิยมเข้มข้นที่ตกทอดจากยุคเก่าให้คงอยู่ อาจประสบผลสำเร็จในการ “ผลิตซ้ำ” อย่างสูงในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมาจนตลอดสมัย ร.9 แต่ก็เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นจากจุดยืนเสรีประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสังคมโลกวิสัย 

ทำให้สับสนว่า พุทธไทยเป็นศาสนาการเมืองหรือไม่การเมือง พุทธไทยจะอยู่ตรงไหนดี จะอยู่ในหรืออยู่นอกการเมือง จะอยู่เหนือหรืออยู่ใต้การเมือง จะปกครองโดยธรรมหรือโดยประชาธิปไตย พระสงฆ์จะถูกฆราวาสปกครองหรือปกครองกันเอง ฯลฯ

ภายในสังคมพุทธด้วยกันเองก็ไม่เป็นเอกภาพ นอกจากมีพุทธแบบสวนโมกข์ สันติอโศก ธรรมกาย พระสายป่า แล้วยังมีภิกษุณี และสำนักแบบอื่นๆ ที่อาจจะสมาทานอุดมการณ์พุทธชาตินิยม หรือเปลี่ยนแปลงเป็นแบบอื่นๆ ได้เสมอ เมื่อสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองเปลี่ยนไป 

ขณะเดียวกันก็อยู่ในภาวะสับสนหวาดระแวงระหว่างพุทธไทยกับมุสลิมไทย ช่วงเวลาหนึ่งเคยระแวงคริสต์ในเรื่อง “การขยายจำนวนศาสนิก” ผ่านการกลืนทางวัฒนธรรม พิธีกรรม พื้นที่การต่อสู้กับคริสต์จึงเป็นประเด็นเรื่อง “จำนวนศาสนิก” แต่ปัจจุบันประเด็นนี้ก็ถูกลืมไปแล้ว พื้นที่การต่อสู้ระหว่างพุทธกับมุสลิมคือ “พื้นที่ทางการเมือง” ที่แสดงออกผ่านวิวาทะเรื่องรัฐผ่านกฎหมายสงฆ์หรือกฎหมายอิสลามมากกว่า ให้งบฯแก่ฝ่ายใดมากกว่า ทำไมจะสร้างพุทธมณฑลในพื้นที่ปัตตานีไม่ได้? ทำไมจะสร้างมัสยิดทุกจังหวัดไม่ได้? เมื่อบังคับเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียนของรัฐได้ก็ต้องบังคับเรียนอิสลามได้ด้วย? เมื่อมีตำแหน่ง สว.ในโควต้ามุสลิม เหตุใดไม่มีโควต้าพุทธ? ฝ่ายมุสลิมก็ว่า สว.ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวพุทธอยู่แล้วนี่ รวมทั้งปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ที่ถูกโยงมาสู่ประเด็นทางศาสนา เป็นต้น

ท่ามกลางสภาวะสับสนดังกล่าว (เป็นต้น) ปัญหาหลายเรื่องปรากฏให้เห็นเด่นชัด แต่หลายๆ เรื่องถูก “ซุกใต้พรม” ภายใต้วาทกรรม “เป็นเรื่องละเอียดอ่อน” ที่นำมาพูดถกเถียงหาทางออกด้วยเหตุด้วยผลไม่ได้ จึงไม่แน่ใจว่า speech ด้วย “ภาษาศีลธรรมสากล” ของพระสันตะปาปาฟรานซิสจะช่วยกระตุ้น “ความตื่นรู้” ในสังคมศาสนาบ้านเรา ให้ตระหนักถึงการปรับความคิดและบทบาททางศาสนาสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่ได้มากน้อยเพียงใด

และอีกนานเท่าใดที่บรรดาผู้นำศาสนาในประเทศนี้จะร่วมกัน “คิด” หาทางออกจากความสับสน ความหวาดระแวงระหว่างกัน เลิกวัฒนธรรม “ช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง” ระหว่างกัน และปรับเปลียนเป็นองค์กรเอกชนทุกศาสนา เลิกใช้รัฐเป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองระหว่างศาสนาตลอดไป ชาติหน้าบ่ายๆ สำนึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่! 
 

ที่มาภาพ: http://protectdhamma.blogspot.com/2016/02/blog-post_15.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท