Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

คำว่า “อยู่ไม่เป็น” ของพรรคอนาคตใหม่ที่ใช้โต้ตอบฝ่ายตรงกันข้าม กลายเป็นคำพูดที่ถูกใจคนจำนวนไม่น้อย ที่จะเอาไปใช้ในการต่อสู้กับการเมืองไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในอนาคต

ใจความสำคัญของคำว่า “อยู่ไม่เป็น” ที่อธิบายจากแกนนำพรรคอนาคตใหม่ก็คือ การที่ชาวพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหลายๆอย่างของผู้ปกครองประเทศ คือ คสช. เครือข่าย และคนที่สนับสนุนรัฐบาลพยายามนำพาและควบคุมประเทศไทย ตั้งแต่รัฐประหารเมือเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ให้ไปผิดไปจากครรลองของประชาธิปไตยหรือทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปไม่ได้ จึงดิ้นรนหรือต่อต้าน คือ ไม่ขอ “อยู่เป็น” ที่เป็นการยอมรับหรือจำนนกับสภาพอันไม่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่ทางพรรคอนาคตใหม่เห็นว่าต้องละทิ้งเสียที และพรรคเองมีทางเลือกอื่นๆที่ต้องการจะทำให้ประเทศไทยอีกมาก

กระนั้นก็ตาม ก็มีการโต้ตอบและวิจารณ์กันว่า “อยู่ไม่เป็น” หรือ “อยู่ไม่เป็นสุข” กันแน่? และ “อยู่เย็นเป็นสุข” น่าดีกว่า “อยู่ไม่เป็น” และสู้ “อยู่เป็น” ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นับว่าวลี “อยู่ไม่เป็น” ก็มีคุณค่าต่อการใส่ใจมิใช่น้อย แต่ก็น่าคิดต่อว่าจะใช้คำ “อยู่” “ไม่” “เป็น” กันอย่างไร จึงจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ก้าวหน้าได้จริงๆ!!

บทความนี้ ต้องการพินิจพิเคราะห์และเสนอว่า การ “อยู่ไม่เป็น” ควรจะมองกันอย่างไรให้เป็นชุดความคิดที่มีพลังมากขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สังคมที่ก้าวหน้าอันพึงประสงค์

 

วิภาษวิธีของการ “อยู่ไม่เป็น” กับ ปัญหาการด้อยพัฒนาของประเทศไทย

การ “อยู่ไม่เป็น” ถ้าเอาคำสามคำ คือ “อยู่/ไม่/เป็น” มาคิดต่อ อย่างเช่นในทางวิภาษวิธี (Dialectic) แบบตะวันตก ที่พัฒนามาจากวิธีหรือกระบวนการถกเถียงและการได้มาซึ่งปัญญาของปราชญ์ชาวตะวันตก อาทิ กระบวนการถาม ตอบอธิบาย และการหาข้อสรุป ในแบบของ Socrates, Plato และ Aristotle และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภายหลังตามแบบที่พัฒนาอย่างลึกซึ้งและเป็นระบบมากขึ้นของ Friedrich Hegel ในทางการเชื่อมโยงของจิตและระบบการคิดเข้ากับพัฒนาการในทางประวัติศาสตร์สังคม อันมีมุมมองของการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อความก้าวหน้า ณ ที่ใดๆว่า จะผ่านสภาวะสามขั้นตอน (Triad of Dialectic) คือ: 1) “การมีอยู่” (Being) 2) “การไม่เอาหรือปฏิเสธการมีอยู่นั้น” (Nonbeing/Nothing) และ 3) “การกลายเป็นอย่างใหม่หรืออย่างอื่น” (Becoming) ซึ่งประการแรกเป็นบทเสนอหรือบทดั้งเดิม (Thesis) ประการที่สองเป็นบทแย้ง (Anti-Thesis) ประการที่สามเป็นบทสรุปหรือสังเคราะห์ (Synthesis) ซึ่งบทสรุปจะเป็นข้อความที่กินความ (Aufhebung - รับบางส่วนและปฏิเสธบางส่วน) และอยู่เหนือบทเดิมและบทแย้งทั้งสอง อันแสดงถึงการมีอยู่ของความเป็นเอกภาพหรือเข้ากันได้ของสิ่งตรงกันข้าม (Unity of the Opposing Sides) ที่เกิดขึ้นในบทสังเคราะห์ ไม่ว่ามากหรือย้อยก็ตาม แต่บทสังเคราะห์ก็จะกลายเป็นบทเสนอใหม่ที่จะถูกบทแย้งอื่นมาท้าทายต่อๆไป  และจะเป็นเช่นนี้ไปอย่างต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุด ราวกับพัฒนาการจากขอบนอกไปสู่ใจกลางแบบก้นหอยที่ประณีตและสูงส่งยิ่งขึ้นๆ (ดูเพิ่ม หมายเหตุที่ 1 ท้ายบทความ)

สภาวะทั้งสามขั้นตอนโดยทั่วไป จึงเป็นเสมือนเกลียวคลื่นของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางจิต และระบบความคิด ที่สามารถประยุกต์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สังคมให้เป็นจริง เพื่อเข้าสู่สภาวะที่ก้าวหน้ากว่าสังคมเก่า โดยสาระสำคัญของบทสรุปที่ได้ก็คือ สิ่งที่รวบยอดได้จากเนื้อหาที่เข้ากันได้ของสิ่งที่ขัดแย้งกัน และปฏิเสธเนื้อหาที่ผิดหรือเข้ากันไม่ได้ไปเสีย (Negation) จึงเกิดสภาวะการลบล้างกันและกัน (Negation of Negation) ของบทเดิมและบทใหม่ที่ตั้งอยู่บนเหตุผลหรือความเป็นจริงที่แสดงให้เห็นได้ ไม่ว่าจะปฏิเสธทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตาม เพื่อไปสู่บทสรุปใหม่หรือสิ่งที่เหนือกว่าและถูกต้องกว่าและก้าวหน้ากว่าต่อไปๆ กล่าวในภาษาปัจจุบัน กระบวนการวิภาษวิธี ก็คือกระบวนการทางปัญญาและการประยุกต์สู่กระทำที่เป็นทางเลือกใหม่อย่างเป็นพลวัต ที่จะให้บรมสุขแก่ประชาชนในรัฐทั้งมวล มากกว่าสองทางเลือกแรกที่ขัดแย้งกันนั้น

ตามกระบวนการวิภาษวิธีข้างต้น เมื่อพินิจกับประเทศไทย การ “อยู่เป็น” คืออยู่แบบเดิมของคสช. เครือข่าย และผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล หรืออยู่แบบที่ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการประเทศ ก็คือบทเสนอ/บทที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (หลักใหญ่ใจความสำคัญสะท้อนจากนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล และนโยบาย และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล) การ “อยู่ไม่เป็น (ไม่ขออยู่แบบเดิม)” ของพรรคอนาคตใหม่และพันธมิตร ก็คือบทแย้ง (หลักใหญ่ใจความสำคัญสะท้อนจากนโยบายพรรค) ฉะนั้นอะไรคือบทสรุปหรือบทสังเคราะห์ ซึ่งก็คือประเทศไทยใหม่ในสาระอันพึงประสงค์ในที่สุด?

ในสภาวะที่เป็นจริง ในรอบ 5-6 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยกำลังพบกับปัญหาของการถูกบังคับให้กลับไปอยู่กับความเป็นการเมืองการปกครองแบบเดิมๆของสังคมเก่า ที่ประเทศไทยมี “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่โดยอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่บ่งบอกอยู่ในท่อนแรกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” นั้น แท้จริงแล้ว ไร้น้ำหนัก แต่ท่อนหลังคือ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดำรงอยู่อย่างสำคัญกว่าโดยปริยายตลอดมา ดังที่เห็นได้จากสาระของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ กฎหมายอื่นๆ และในทางพฤตินัย และนี่ก็เกือบ 90 ปี แล้ว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย นับจาก พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การสำคัญยิ่งเสมอกันของทั้งสองพลังอำนาจ คือ ราชธรรมแห่งสถาบันกษัตริย์และธรรมาธิปไตยแห่งประชาชนก็ยังไปไม่ถึงสภาวะร่วมเช่นนั้น

นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะได้มาโดยการชนะการทำประชามติ แต่ก็เป็นประชามติที่ไม่เปิดกว้างอย่างเป็นอิสระในการรณรงค์และการตัดสินใจของประชาชน และแม้ต่อมา รัฐบาลปัจจุบันจะได้อำนาจมาโดยผ่านการเลือกตั้ง แต่ระบบการลงคะแนนเสียงที่ลดความสำคัญของพรรคไปเน้นความสำคัญต่อเขตพื้นที่และตัวบุคคลเป็นหลัก และการคิดคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่กำกวม รวมทั้งการให้วุฒิสมาชิกที่ผู้ที่เป็น “ว่าที่นายก” แต่งตั้งด้วยตนเอง ลงคะแนนเลือกนายกที่แต่งตั้งตนมา ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นั้นแล้วเหล่านี้ แต่คสช.และรัฐบาลหลังคสช.ก็ใช้อ้างถึงว่ากระทำไปอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ถือเกณฑ์เสียงส่วนใหญ่เป็นอนุมัติ จากหลักประชาธิปไตยในทางสากล หากจะเทียบว่าเป็นเสมือนทองคำ และการเล่นแร่แปรธาตุทำลายหลักประชาธิปไตยในทางสากล ว่าเป็นเสมือนทองเหลืองแล้วไซร้ กรณีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และรัฐบาลหลังคสช. อำนาจอธิปไตยของประชาชนที่รองรับทั้งสองกรณีดังกล่าว ก็เป็นเสมือนเพียงทองเหลือง (ต้องขัดเงาจึงดูดีขึ้น) เท่านั้น หาใช่ทองคำแท้ (ที่สุกสกาวโดยตัวมันเอง) แต่อย่างใดไม่

ขณะเดียวกัน ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยก็กำลังถูกเปิดเผยให้พบกับความจริงที่เป็นปัญหาว่า การกลับไปอยู่ในสภาวะดังกล่าว กำลังทำให้สังคมไทยอ่อนแอในทางวิธีการและความสำเร็จผลของการพัฒนามากกว่า เช่น เรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลาง แม้ว่าจะขั้นสูง แต่ก็แทบไม่มีความหมายเลย เพราะเป็นรายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ เมื่อความเป็นจริงพบว่ามีความเหลื่อมล้ำของรายได้ ที่ดิน และสินทรัพย์ในหมู่ประชากรสูงมาก ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังต่ำกว่าความเป็นจริง การปกครองยังรวมศูนย์อยู่มาก มิได้กระจายอำนาจจัดการตนเองไปยังท้องถิ่นได้สำเร็จ กระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาคดีความยังมีปัญหามาตรฐาน ความแตกต่างของการพัฒนาระหว่างส่วนที่เจริญ (เมือง) และส่วนที่ล้าหลัง (ชนบท) ยังมีอยู่สูงมาตลอดกว่า 200 ปี ของกรุงรัตนโกสินทร์ การลงทุนจากประเทศที่เจริญกว่าในอุตสาหกรรมที่สำคัญๆทางเศรษฐกิจ ไม่ได้นำไปสู่การถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยีการผลิตอย่างหมดเปลือก หรืออย่างน้อยถึงแก่นที่จะทำให้เราสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีต่อไปได้เอง การเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้และไม่ทั่วถึงและเป็นธรรมระหว่างพื้นที่ มีการรวมตัวเป็นองค์การเพื่อช่วยเหลือตัวเองน้อย อย่างจำกัด และมีอำนาจการต่อรองต่ำ ในสังคมมีอัตราการฆ่ากันสูง หนี้สินครัวเรือนสูงมากๆ คนเกษียณอายุที่มิใช่ข้าราชการมีรายได้ไม่พอกิน คนไทยสุขภาพไม่ดีและเจ็บป่วยแน่นโรงพยาบาล คนไทยในเมืองอยู่กันในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ งบประมาณของรัฐถูกใช้ไปในทางทหารและความมั่นคงในระดับที่สูงเกินจำเป็น รวมทั้งคุณภาพชีวิตประชาขนไทยก็ยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆที่ก้าวหน้ากว่ามากมายหลายรายการ ฯลฯ  สภาพเช่นนี้จึงสมควรเรียกประเทศไทยว่าด้อยพัฒนาต่อไป มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ขั้นสูงที่เป็นภาพลวงตาให้ประเทศเราดูดีขึ้น

แต่การที่ประเทศไทยจะเอามาตรการ และกลไกประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าประชาธิปไตยแนวอนุรักษ์ (หมายถึงประชาธิปไตยภายใต้การควบคุมและกำกับของเผด็จการ) มาใช้ เพื่อทำให้เกิดพลังอำนาจทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่และใช้มันแก้ปัญหาความด้อยพัฒนาเดิมๆ ดังตัวอย่างข้างต้นให้หมดไป จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แม้ว่าในทางที่เป็นจริง การใช้เวลาจัดการสร้างสรรค์ประเทศ ดูเหมือนจะมิได้เป็นไปได้รวดเร็วราวการปฏิวัติอย่างที่พึงคาดหวังก็ตาม

 

วิภาษวิธีกับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

เราจะเปลี่ยนแปลงรัฐเดิมไปสู่การเป็นรัฐใหม่ หรืออริยรัฐ (Enlightened-Civilized State) ที่บรรลุธรรมในขั้นก้าวหน้ากว่ารัฐป่าเถื่อนหรือแบบเก่าได้อย่างไร? ข้าพเจ้าเห็นว่า เราจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกันอย่างน้อยต่อไปนี้

ทำไมตัวแทนผู้มีอำนาจและประชาชนทั่วไป (ที่มีสิทธิออกเสียง) ในสังคมไทยจำนวนมาก ร่วมครึ่งประเทศในขณะนี้ จึงโต้ตอบว่าต้องการ “อยู่เป็น” แบบเดิมๆ? คำตอบที่ทราบกันอยู่แล้วก็คือ เพราะปัจจัยภายใน โดยเฉพาะอำนาจนำในสังคมที่ยึดกุมโดยส่วนต่างๆของรัฐ ไม่ร่วมมือด้วย การอยู่แบบเดิมๆได้รับการชักนำจากฝ่ายที่กุมอำนาจนำที่เป็นเผด็จการและพันธมิตรคือกลุ่มประชาธิปไตย (แนว) อนุรักษ์นิยม เพราะพวกเขาเห็นว่า พวกเขาคือเสาหลักของบ้านเมืองมาโดยตลอด และสภาพแบบสังคมใหม่ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของและมาจากประชาชนมากขึ้นๆ จะทำให้สถานภาพ อำนาจ และผลประโยชน์ของเขาเหล่านั้น ไม่มั่นคง หดหายไป และรวมถึงวิถีชีวิตแบบเดิมๆที่เคยชินจะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ผู้ครองอำนาจอยู่ในหน่วยสำคัญๆของสังคมและชนชั้นกลางเก่าจำนวนมาก จึงไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงตามที่คนหัวก้าวหน้าและคนชั้นกลาง (นายทุน นักธุรกิจ และผู้มีการศึกษา) ใหม่ เรียกร้อง อุดมการณ์ที่ยึดถือของผู้ปกครองและที่ให้ประชาชนรับเอาไปใช้ด้วย จึงถูกเอามายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้บ้านเมืองต้องอยู่แบบเดิมๆ หรือเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด หรือเปลี่ยนแปลงได้ตามกำกับของอำนาจเดิม และก็ดูจะเป็นจริงที่สังคมใหม่ที่ (จะ) เกิดขึ้นจากการปฏิเสธของเดิมๆ จึงทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมได้ไม่หมด ตามวิถีวิวัฒนาการที่ต้องการเวลาในการเปลี่ยนแปลง แต่ก็จะหมดไปได้มาก หากทำตามวิถีปฏิวัติที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และด้วยการบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมเสรีประชาธิปไตยยอมรับแบบแรกมากกว่า แต่กระนั้น นักสร้างสรรค์สังคมจำนวนไม่น้อย ก็คงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลามาก ไม่ต่างอะไรกับความล่าช้า ซึ่งก็คือความไม่ยุติธรรม จึงไม่ขออดทนเสียเวลากับการอยู่แบบเดิมๆ จึงต้องใช้ปัญญาและพลังประชาชนที่ต้องการแสวงหาความก้าวหน้า เข้าต่อกรกับผู้คนที่บอกว่าเขาอยู่เป็น

ในสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ขบวนการ สถาบัน พื้นที่ ชุมชน หรือองค์การ ล้วนสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงมันได้เชิงวิภาษวิธี อันสะท้อนความขัดแย้งในสังคมแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่ส่วนเก่าอันไม่เหมาะสมถูกทำให้หมดไปเหลือแต่ส่วนที่ยังใช้การได้ และที่สามารถประนีประนอมอยู่ร่วมกับข้อโต้แย้งที่ก้าวหน้ากว่าได้ ก่อนกลายเป็นทางสายกลางของสิ่งใหม่กว่าหรือใหม่สุด (จากสองสิ่งที่ขัดกันนั้น) แต่ก็มิได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมทั้งปวงจะเป็นไปตามวิถีวิภาษเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงแบบใช้อำนาจเบ็ดเสร็จฝ่ายเดียว โดยฝ่ายรัฐบาลที่ครองอำนาจก็เป็นไปได้ โดยทำแต่สิ่งที่ตนต้องการ ปฏิเสธสิ่งแตกต่างของปรปักษ์ ไม่ยอมลบล้างของเก่า (Negation) ทั้งหมดหรือโดยหลักใหญ่ใจความ  แต่การกระทำเฉพาะตามบทของตนไม่เอาบทของคนอื่นเลย ก็จะตั้งอยู่ได้ชั่วคราว เพราะอำนาจบังคับที่อาจเป็นอำนาจเดี่ยวหรือการเป็นพันธมิตรกันของชนชั้นผู้ปกครอง มิใช่วิภาษวิธีของการประยุกต์กระบวนการทางภูมิปัญญาสู่การเปลี่ยนสังคมในทางปฏิบัติแบบสันติธรรมของคู่หรือกลุ่มทั้งหลายในความขัดแย้ง อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ  

หากเอาตัวอย่างของเกม “Civilization” มาพิจารณา เราจะเห็นได้ว่า การจัดองคาพยพและองค์ประกอบต่างๆในรัฐหรือเมืองใดที่เกิดขึ้นได้ ก็เพราะพื้นที่นั้นว่างเปล่าหรือว่างจากอำนาจขัดขวางจากการเอาชนะปรปักษ์ ย่อมสุดแท้แต่ผู้มีอำนาจจะเสกสรรปั้นแต่งต่อไป ไม่ต่างจากสมัยที่คนยุโรปส่วนใหญ่อพยพไปอยู่อเมริกาเมื่อ 200-300 กว่าปีที่แล้ว ดังที่มีเหตุการณ์สำคัญของการสร้างรัฐใหม่ คืออังกฤษถือว่า 13 อาณานิคมในอเมริกาอยู่ภายใต้การปกครองของตน จึงไม่ยอมทำตามคำขอของชาวอาณานิคมอเมริกันที่ขอให้รัฐบาลอังกฤษยกเลิกการเก็บภาษีใบชาจากรัฐอาณานิคม ที่ไม่มีผู้แทนราษฎรในรัฐสภาอังกฤษเพื่อเป็นปากเสียงแทนตนและต้องการแยกตนเป็นอิสระ แต่รัฐบาลอังกฤษที่มีอำนาจนำก็ไม่สามารถปกครองชาวอเมริกันไปได้ตลอด คือไม่เดินสายกลางที่เป็นข้อสรุปร่วมที่จะอยู่ร่วมกันต่อไปได้ จนทั้งสองฝ่ายต้องรบกันและอังกฤษแพ้สงครามการปฏิวัติ ต้องปล่อยให้อเมริกาเป็นเอกราชในที่สุด แม้คนอเมริกันต่อมา ยังต้องทะเลาะหรือรบกับคนอินเดียนแดงที่เหลืออยู่ แต่ก็มีอยู่ไม่มาก ทำให้ชนะขาด มีอำนาจเด็ดขาดฝ่ายเดียว

การสร้างประเทศสหรัฐอเมริกาจนสำเร็จ ปรากฏต่อมาว่า ทำไปได้โดยการปรองดองคือความร่วมมือกันเป็นหลักและความขัดแย้งเป็นรองระหว่างมลรัฐทั้งหลาย โดยปัจจัยภายนอกที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างรัฐใหม่คือการปกครองจากรัฐบาลอังกฤษถูกปฏิวัติ (ทำสงครามกันจนฝ่ายอาณานิคมชนะ) ไปก่อนหน้าแล้ว ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียและประเทศในเครือจักรภพสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ มีวิถีการจัดตั้งประเทศอีกแบบหนึ่งที่กษัตริย์อังกฤษยังคงเป็นประมุข อันแสดงถึงการยังคงร่วมมือกันได้ระหว่างประเทศเดิมและประเทศใหม่ แต่กษัตริย์อังกฤษก็มีบทบาทและอิทธิพลเบาบางอย่างยิ่ง คล้อยตามระบบการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าจากการตกลงกันของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่นที่ใช้ในอังกฤษประเทศแม่และประเทศไทยตามอย่าง ส่วนในประเทศจีนเอง ความก้าวหน้าแบบทุนนิยมคอมมิวนิสต์ (มิใช่สังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีนที่รัฐบาลจีนมักอ้างเช่นนั้น) ที่ทำให้จีนมีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุวิสัยและร่ำรวยมากขึ้นในทุกวันนี้ และทำท่าไม่ง้อใครที่เคยช่วยเหลือตนมาก่อน ก็เกิดขึ้นจากการกดดันของประเทศทุนนิยมภายนอกรัฐจีน ที่นำโดยอเมริกาเพื่อล้มลัทธิคอมมิวนิสม์ แล้วก็ตามด้วยความร่วมมือในการลงทุนอย่างมหาศาลจากบริษัทของอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ที่เป็นเจ้าของพลังการผลิตทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา  มิใช่จากพลังการผลิตภายในประเทศจีนเองที่อ่อนแอเป็นหลักแต่อย่างใด

ประเทศไทยในปัจจุบัน ตามสภาพที่เป็นจริง เราไม่สามารถมีพื้นที่อาศัย ที่จะเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ได้ตามต้องการในทุกเรื่องและทุกพื้นที่ (เว้นแต่พื้นที่ในความหมายถึงจุดสนใจร่วมเป็นตัวตั้ง) แต่อาจจัดการให้มีการกระทำหรือไม่กระทำที่เป็นพิเศษในบางพื้นที่ได้ ดังเช่น มีนิคมอุตสาหกรรมในบางจังหวัดในปัจจุบัน หรือการปกครองตนเองของสามจังหวัดภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่อาจมีในอนาคต แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งสังคมหรือบางส่วนไปสู่สิ่งใหม่ ก็ควรเป็นสังคมสันติธรรมแห่งการสังเคราะห์ ในส่วนที่ความคิดคู่ตรงกันข้ามบ่ายแพ้หรือใช้การไม่ได้ และความคิดใหม่ที่ถูกต้องกว่า ได้รับการสนับสนุนโดยคนส่วนใหญ่หรือคนที่มีคุณภาพที่จะอธิบายให้คนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์คล้อย ตามผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนและเลือกตั้งรัฐบาล การเกิดสภาวะสังคมใหม่ แม้จะมากหรือน้อยส่วนในรัฐโดยรวม อย่างสันติวิธีได้จึงนับเป็นเรื่องอันพึงปรารถนายิ่ง

 

ข้อวิจารณ์ต่อวิภาษวิธีและข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงวิภาษวิธีในการเปลี่ยนแปลงสังคม

การเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งใหม่ ย่อมได้มาจากการขัดแย้งกันของคู่ตรงข้าม และฝ่ายชนะก็ทิ้งของเดิมที่พ่ายแพ้ไปนั้น ถือว่าถูกเพียงส่วนหนึ่ง ระบบความคิดเช่นนี้ ยังมีในความเชื่อของนักสร้างสรรค์และปฏิวัติสังคมจำนวนมาก แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า เป็นข้อจำกัดของวิภาษวิธี (โดยเฉพาะแบบของ Friedrich Hegel) เอง ที่นักสร้างสรรค์และปฏิวัติสังคมดังกล่าว ยึดถือตาม Karl Marx และ Friedrich Engels ตามด้วย V.I. Lenin และ ในสมัยต่อมา เหมา เจ๋อ ตุง และเช กูวารา เป็นต้น ในการประยุกต์หลักวิภาษวิธีของ Hegel คือการที่ให้น้ำหนักกันว่าการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าในสังคมหรือสิ่งใดๆจะเกิดขึ้นได้ ก็โดยปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆภายในสังคมหรือสิ่งนั้นๆได้ขัดแย้งกัน และปัจจัยภายในสังคมนั้นเอง เป็นพลังหลักของการเปลี่ยนแปลง แต่แนวทางของ Hegel เป็นเชิงวิวัฒนากรหรือปฏิรูป และสนใจความเป็นเอกภาพของด้านตรงข้ามที่ขัดแย้งกัน ในขณะที่ Marx และ Engels เอาไปแปลงเป็นแนวทางปฏิวัติ เน้นการลบล้างกันและกันเป็นใหญ่ และลดทอนน้ำหนักในความเป็นเอกภาพของด้านตรงข้ามไป (เสียฉิบ!) 

ฉะนั้นนักปฏิวัติจึงมักทำให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ ด้วยการอ้างบริบทความขัดแย้ง และทำการปฏิวัติสังคมอย่างรุนแรง รวดเร็วที่สุด หรือฉับพลันได้ยิ่งดี และต้องทำให้สภาพการปฏิวัติหากสำเร็จ ดำรงอยู่ต่อไปได้ตลอดกาล (เช่น โดยการปฏิวัติถาวร) เพื่อกดทับและยกเลิกความขัดแย้งทางชนชั้นให้ราบคาบ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงแบบลบล้าง (เช่น ชนชั้นกรรมาชีพล้มล้างชนชั้นนายทุน) ที่ทำไว้จะพังทลาย (เสียของ - ในแบบหนึ่ง)  ผู้คนในสังคมที่อยู่ภายใต้คำอธิบายของการปฏิวัติความขัดแย้ง โดยเฉพาะในมุมมองเชิงชนชั้น จึงอยู่ตรงข้ามกัน ภายใต้มุมมองเช่นนี้ จึงเพ่งมองกันอย่างเป็นศัตรูกัน รังเกียจกัน อยู่ร่วมกันไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐและการจัดการรัฐในทางการเมือง จึงไม่เป็นสันติวิธี แต่พยายามเข่นฆ่าหรือหาทางเอาเข้าคุก โดยสามารถเกิดจากผู้มีอำนาจเดิม กระทำต่อฝ่ายที่ท้าทาย หรือฝ่ายที่ท้าทายเมื่อได้อำนาจรัฐมา กระทำต่อฝ่ายอำนาจเดิมที่สูญเสียอำนาจไป เพื่อเอาชนะกันแบบเถื่อนๆ ส่วนปัจจัยภายนอก ก็ถูกมองว่าเป็นเพียงส่วนประกอบหรือเสริมการหน้าที่ของปัจจัยภายในเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ประเด็นชวนคิดต่อก็คือ ในทางทฤษฎีนั้น เอกภาพของฝ่ายตรงกันข้ามเกิดขึ้นได้ หากจะเชื่อมั่นในบทสังเคราะห์ แต่ในทางปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นจริง พลังอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์กันนั้น จะร่วมมือกัน ตามหลักเอกภาพของสิ่งตรงกันข้าม หากไม่ได้ลบล้างกันจนหมดสิ้น แต่เหลือส่วนที่ร่วมกันได้แบบที่อยู่ในบทสังเคราะห์ที่กล่าวถึงนั้น เพื่อแก้ปัญหาส่วนรวมและนำพาสังคมไปสู่ความก้าวหน้าใหม่ๆกว่าเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่?

มันก็คงจะยาก ในสังคมเถื่อนที่ด้อยภูมิปัญญาและด้อยพัฒนาเก่าก่อน แต่มันจะเป็นไปได้ในสังคมที่มีวิถีสู่อริยรัฐพัฒนา แต่ต้องมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกันและมีสภาพแวดล้อมมากดดันต่อการดำรงอยู่ของทั้งคู่ นั่นคือ หากคู่ปรปักษ์จะร่วมมือกันได้เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้า ทั้งสองฝ่ายหรือมากกว่านั้นคือพันธมิตรของแต่ละฝ่าย ก็ต้องมีเป้าหมายร่วมที่ประนีประนอมกันได้ และลดอัตตาของตนลงไป ไม่มองว่าฝ่ายตนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของประเทศเป็นหลักหรือฝ่ายเดียว มาแต่อดีตและจะเป็นต่อไปตลอดกาล หรือฝ่ายท้าทายที่เข้ามาใหม่ก็ไม่ควรมองว่า พวกเก่าขัดขวางความก้าวหน้าหรือการทำสิ่งใหม่ๆไปเสียทั้งหมด และประเทศจะไปได้เพราะการนำของตนๆเท่านั้น การผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในการเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง มิใช่โดยการรัฐประหาร เพื่อให้ประชาชนร่วมตัดสินใจเลือกบทเดิมหรือบทแย้ง หรือกระทั่งบทสังเคราะห์จากฝ่ายที่สามที่อาจเกิดเป็นข้อเสนอใหม่ขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในทางที่เป็นจริงจะบังเกิด จึงเป็นวิถีทางที่ถูกต้องแล้ว

สำหรับเป้าหมายร่วมที่ประนีประนอมกันได้ อย่างน้อยในหลักใหญ่ใจความเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนารัฐ ในทางปฏิบัติ ในช่องทางหนึ่งของประเทศไทยเรา ที่น่าจะเป็นไปได้นั้น มิใช่กลยุทธ์แห่งชาติ (ที่ไปเรียกกันว่ายุทธศาสตร์ชาติ) ที่รัฐบาลทองเหลือง (แห่งอำนาจอธิปไตย) ปัจจุบัน กำลังเอามาดำเนินการ แต่คือสาระที่บัญญัติเป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (หรือที่เรียกกันว่าแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐทำนองนี้) ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นเจตจำนงหรือความต้องการเชิงนโยบายในทางการเมืองของมหาชนภายในรัฐร่วมกัน ซึ่งต้องเอามาทบทวนกันใหม่จากรัฐธรรมนูญสามทศวรรษ คือ พ.ศ. 2540, 50 และ 60 สำหรับกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะทำกันใหม่ (จะต้องไม่จัดทำกันเนิ่นนานและจะใช้ในปี 2570!) ส่วนรายละเอียดและการพลิกแพลงในระดับที่ต่ำกว่า คือในทางกลยุทธ์แห่งชาติ แผนและโครงการของหน่วยงานรัฐที่ไม่ขัดต่อ (แนว) นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ประชาชนภาคส่วนต่างๆ และรัฐบาลที่รังสรรค์กันไป

หากร่วมมือกันได้จริง ในระหว่างทางของความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์สังคมร่วมกันไปนั้น (ก็พึงยอมรับว่า) ฝ่ายหรือส่วนใดๆที่อ่อนแอและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ไม่ได้ดี ก็จะกลายเป็นผู้ตาม หรือไม่มีความจำเป็นแก่การใช้ประโยชน์ (หมดความหมาย) และอาจสูญสลายไปในที่สุด อันเป็นกฎของธรรมชาติที่ไม่เข้าใครออกใคร

วิภาษวิธีของ Hegel แม้จะมีคุณค่าไม่น้อยต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางประวัติศาสตร์ ดังที่กล่าวมานั้น แต่ Hegel เองก็ได้ให้น้ำหนักความขัดแย้งมากเกินไปว่าเป็นวิถีการหลักของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้า วิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบเน้นความขัดแย้งนี้ จึงถูกนำไปใช้โดยนักปฏิวัติ อย่างมิได้เห็นคุณค่าหลักของความร่วมมือกันในสังคม ว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาเก่าๆและสรรค์สร้างสิ่งใหม่ได้ด้วยเช่นกัน ดังที่ในความเป็นจริง เราจะพบเห็นมากมายว่า ด้านตรงข้ามของความขัดแย้ง คือ ความร่วมมือนั้น ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ประเสริฐ บทแย้งมิได้ขัดหรือล้มล้างบทเสนอหรือบทเดิมเสมอไป แต่เป็นการแย้งที่เติมเต็มความสมบูรณ์ให้แก่สิ่งเดิมและเติมเต็มกันและกันของคู่ตรงข้าม จนนำไปสู่การบูรณาการที่มีคุณค่ามหาศาลต่อสังคมโดยรวม ก็มีให้เห็นมากมาย เช่น ระบบรัฐรวมแต่มีการกระจายอำนาจของส่วนกลางของประเทศแนวสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐ ความร่วมมือระหว่างทุนและแรงงานดังที่เป็นอยู่มานานในประเทศยุโรปเหนือและกลางหลายประเทศ การทำงานของสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกร่วมมือกันควบคู่กับการแข่งขันกันของการรวมตัวของประเทศสมาชิกสหประชาชาติแต่ในระดับภูมิภาค ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า “วิภาษวิธีของความขัดแย้งเพื่อความก้าวหน้าของสังคม” แบบนักปฏิวัติแนวลัทธิมาร์กซ์ สมควรปรับเปลี่ยนใหม่ให้เป็น “วิภาษวิธีของความขัดแย้งและความร่วมมือเพื่อความก้าวหน้าของสังคม” เสียแทน เพราะจะได้สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมแก่ประชาชนส่วนใหญ่มากที่สุด

นอกจากนี้ การที่วิภาษวิธีดังกล่าว มาพร้อมกับการไม่ให้น้ำหนัก หรือมองข้ามว่าพลังหรือปัจจัยภายนอกที่ควรเข้ามาเสริมส่งและที่จะถูกจัดการอย่างสรรค์สร้างอยู่เสมอๆหรืออย่างถูกจังหวะ เพื่อให้ปัจจัยภายในได้รับการกระตุ้น ไปจนถึงมีความพร้อมต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปได้หรือไม่ได้และอย่างไร ก็เป็นจุดอ่อนของวิธีการนี้ ในขณะที่ในโลกตะวันออก วิภาษวิธีแบบพุทธศาสนา ซึ่งเกิดก่อนวิภาษวิธีของตะวันตก (ดูเพิ่ม หมายเหตุที่ 2 - ท้ายบทความ) เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งมีความเป็นไตรลักษณ์คือ การ “เกิดขึ้น/กลายเป็น” (Becoming) “ตั้งอยู่/เป็นอยู่” (Being) และ “ดับไป/ไม่มีอยู่” (Nonbeing/Nothing) อันเป็นกฎธรรมชาติ ที่เกิดกับทุกสรรพสิ่ง อันเป็นไปตามปัจจัยเหตุและผลต่างๆที่มาปฏิสัมพันธ์กัน ความคิดหรือการกระทำที่ล้าสมัยหรือไม่เป็นประโยชน์ก็ย่อมไม่เป็นที่นิยมของประชาชนที่จะเอาอำนาจอธิปไตยไปรองรับ การเดินสายกลางท่ามกลางคู่ความคิดหรือแบบแผนการกระทำสุดโต่งที่ตรงกันข้าม จึงต้องเป็นทิศทางและวิถีทางที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวมยิ่งกว่าสิ่งที่ขัดแย้งกันนั้นด้วย คือทางเลือกที่สามที่จะเป็นทางออก เทียบเท่าบทสรุปหรือบทสังเคราะห์แบบตะวันตกนั่นเอง

นอกจากนี้ “ปรโตโฆษะ” ในทางพุทธศาสนา คือปัจจัยภายนอกสามารถเข้ามาเสริมปัจจัยภายใน “โยนิโสมนสิการ” ให้การเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์เกิดขึ้นได้ในที่สุด และหลายๆครั้ง มันมาก่อนความพร้อมหรือการทำหน้าที่ของปัจจัยภายในเสียอีก ในทางกลับกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน หากปัจจัยภายนอกเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอริยะ ก็ต้องปัดทิ้งปัจจัยภายนอกออกไปเสีย  แต่ทั้งหลักคิดในตะวันออกและตะวันตกก็เห็นสอดคล้องกันว่าปัจจัยภายในต้องดูแลตนเองต่อไปในที่สุด

 

บทส่งท้าย

การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย (รวมระบบการเมือง) เพื่อแก้ปัญหาของความด้อยพัฒนาไปสู่สังคมที่ก้าวหน้าจึงจำเป็นต้องจัดการความขัดแย้งและความร่วมมือ ทั้งด้วยปัจจัยภายนอกและภายใน ให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีพลัง และเป็นภารกิจของทุกพรรคการเมือง องค์การทั้งหลาย และขบวนการประชาชนส่วนต่างๆ ที่ย่อมมีบทเสนอที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันไป และท่ามกลางความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของการมีอำนาจนำ อาจทำให้ท่วงทำนองของการนำเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ก้าวหน้าของนักสร้างสรรค์สังคม อาจถูกเหล่าผู้ที่มีอำนาจนำ เพ่งพินิจและตีความว่าเป็นการปฏิวัติหรือการปฏิรูป หรือการผสมผสานทั้งสองอย่าง ก็อาจเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ระหว่างทางของการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นักสร้างสรรค์สังคมและรัฐให้เจริญก้าวหน้าก็ควรได้รับการปฏิบัติจากกลไกของรัฐอย่างยุติธรรมเสมอหน้ากัน

การปะทะกันของกลุ่มอำนาจเดิมและกลุ่มอำนาจใหม่ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ เป็นเรื่องปกติวิสัยของสังคมโลก ส่วนในประเทศไทยปัจจุบัน พอจะกล่าวในทางการเมืองได้ว่า ตัวแทนของกลุ่มอำนาจเดิม ก็คือ พรรคร่วมรัฐบาล โดยมีพรรคหลักๆ คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มอำนาจใหม่ก็คือ พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยมีพรรคหลักๆ คือ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น พรรคการเมืองเหล่านี้ ก็มีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง การสะท้อนให้เห็นถึงตัวความคิดที่เป็นบทเสนอที่มีอยู่เดิมและบทแย้งที่เข้ามาท้าทายนั้น จึงมีความหลากหลายในความซับซ้อนต่างๆอยู่ไม่น้อย และในบางสภาวะก็จะเห็นความเป็นเอกภาพที่ชัดเจนในบางเรื่อง แต่ก็จะไม่เห็นอย่างเป็นเอกภาพในบางเรื่อง เช่น ค่อนข้างเป็นเอกภาพในด้านประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นเอกภาพในด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งในเรื่องใดเรื่องหนี่งที่ พรรคนี้เป็นแกนหลัก แต่อีกเรื่องหนึ่งความเป็นแกนหลักอยู่ที่พรรคอื่น เป็นต้น ฉะนั้น การขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า นอกจากจะต้องจำแนกแยกแยะในเชิงแสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง ในประเด็นหลัก-ประเด็นรอง และบทบาทของแต่ละพรรคที่รับผิดชอบ แต่ขณะเดียวกันก็แข่งขันกันเองไม่ว่าจะอยู่กลุ่มเก่าหรือกลุ่มใหม่อยู่ในท่าทีแล้ว พรรคและและกลุ่มประชาชนพันธมิตร ก็ยังสมควรต้องสร้างและตกลงกันถึงภาพเป้าหมายเชิงนโยบายพื้นฐานที่พึงประสงค์ในอนาคตร่วมกันให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญ การขับเคลื่อนเพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยใหม่จึงจะมีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

วลีที่ว่า “โลกล้อมประเทศไทย” อันเป็นวาทกรรมกว้างๆ ที่ใช้แก้เคล็ดผู้ปกครองอนุรักษ์นิยม ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ที่แสดงถึงการดึงปัจจัยภายนอกมาร่วมแก้ปัญหาประเทศไทยนั้น มีปฏิบัติการอย่างจำกัดกรอบและระยะเวลา ในการร่วมกันจัดการกับเนื้อแท้ของปัญหาเรื้อรังของประชาธิปไตยไทยที่ดำรงอยู่อย่างเป็นภาพลวงตาต่อชาวโลก ยังไม่เหนียวแน่น และได้ผลอย่างมีน้ำหนักในระยะยาว ดังที่พบว่า ประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยในยุโรปและสหรัฐอเมริกา กดดันรัฐบาลไทยปัจจุบันอยู่บ้าง บางครั้งบางคราว แต่แผ่วเบา และประเทศทุนนิยมคอมมิวนิสต์เผด็จการประชาธิปไตยรวมศูนย์แบบจีนเป็นผู้นำ ก็ยิ่งไม่สนใจจะเพิ่มพลังประชาธิปไตยเสรีให้กับประเทศใดๆเลย (รวมทั้งฮ่องกง)

ท่ามกลางโลกไร้พรมแดน สังคมดิจิตัล การทำหน้าที่ของกลไกรัฐ (อาทิ หน่วยงานราชการ และองค์การอิสระ) ที่เป็นกลาง รวมทั้งกฎหมายหรือกติกาตามหลักนิติรัฐและนิติธรรมที่ได้มาตรฐานสากล และพึงถูกใช้อย่างเป็นกลางเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้การแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคมไทยพันสภาวะด้อยพัฒนามากขึ้นได้นั้น ความขัดแย้งในสังคมไทย ก็ไม่ควรเป็นกระแสเดี่ยว เพราะใช้ได้อย่างจำกัด ในการที่จะทำให้สังคมเกิดความก้าวหน้าและสู่อริยรัฐอย่างแท้จริง เราจึงควรอาศัยความร่วมมือระหว่างฝ่ายและปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศให้เกื้อกูลต่อกันได้จริงอย่างมีแผนการ โดยพิจารณาอย่างละเอียดให้เห็น ถึงการจัดการความขัดแย้งและความร่วมมือที่เป็นไปได้ (หรือจะมองว่าเป็นการจัดการความร่วมมือท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ก็ตาม) ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ  และสังคม แบบข้ามกลุ่ม องค์การ สถาบัน พรรค ขบวนการ พื้นที่ รวมทั้งชนชั้น ทั้งภายในและนอกเวทีรัฐสภา เป็นต้น และในทางปฏิบัติของการจัดการปัจจัยจากภายนอกต่อการเมืองไทยนั้น เราก็ควรปรับไปเป็นวลีอย่างใหม่ให้เป็นจริงมากขึ้นว่า “โลกสังคมประชาธิปไตย สามัคคีร่วมกัน เข้าร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตยไทย”!!

 

หมายเหตุ

  1. อนึ่ง ในวิถีของการเปลี่ยนแปลสังคมแบบทางวิภาษวิธี ก่อนที่ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสังคมจะชี้ชัดออกมาในทางที่เป็นจริง หลายครั้งครา เมื่อมีบทเสนอเดิมแล้ว หากพลังอำนาจในสังคมกระจัดกระจาย ไม่สามารถมีบทแย้งหลักที่เยี่ยมยอดและกระจ่างชัดทั่วไป ก็อาจเกิดบทแย้ง มิใช่บทเดียว แต่หลายๆบท สอดคล้องกันบ้าง ขัดแย้งกันและกันบ้าง และต่างก็มีเหตุผลว่าของตนถูกต้องกว่า  สามารถเอาชนะบทเสนอเดิมได้สมบูรณ์กว่า ก็เป็นไปได้ (ดังตัวอย่างข้อเสนอนโยบายของพรรคการเมืองและประชาชนกลุ่มต่างๆ) ฉะนั้น สภาวะทั้งสามในอีกแง่มุมหนึ่งของวิภาษวิธี ที่ประกอบสร้างการเกิดขึ้นของบททั้งสาม (บทเดิม-บทแย้ง-บทสรุป) คือ สามกระบวนการของความกระจ่างแจ้งใน “ความเป็นนามธรรม” (Abstract) “การให้ความหมาย” (Definition) และ “การแสดงความเป็นรูปธรรม”  (Concrete) จึงควรนำมาใช้ตรวจจับการให้เหตุผล และ (การทำนาย) ความเป็นจริงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของทางเลือกต่างๆด้วยเสมอ
  2. Hegel อาจประยุกต์หลักคิดแบบพุทธให้เป็นข้อเสนอของตนอย่างแยบคายแต่ไม่โฉ่งฉ่าง เพราะในสมัยของ Hegel นั้น Arthur Schopenhauer นักปรัชญาคู่แข่งอีกคน ก็เผยแพร่และประยุกต์คำสอนแบบพุทธอย่างคมเข้มแต่กระทำอย่างโจ่งแจ้ง

 

บทความรำลึก กาลครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2538 สมัยสมัครเป็นอาจารย์คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผ่านการคัดเลือกโดยมติตคณะกรรมการคัดเลือกแล้ว แต่ต่อมา ก่อนการประกาศผลอย่างเป็นทางการประมาณหนึ่งสัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ไปแจ้งปฏิเสธการเข้าเป็นอาจารย์กับประธานสอบ (คณบดีคณะสังคมวิทยา) โดยในการสอบสัมภาษณ์ประกอบการบรรยายเพื่อวัดความรู้ในครั้งนั้น มีกรรมการสอบท่านหนึ่งขอให้ข้าพเจ้าอธิบายเรื่องวิภาษวิธี (Dialectic) ข้อเขียนในครั้งนี้ โดยอ้างอิงความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ได้เติมเต็มการอธิบายในคราวนั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net