Skip to main content
sharethis

ในอังกฤษมีการนัดหยุดงานประท้วงจากกลุ่มคนทำงานภาคการศึกษาและการวิจัยที่มีสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่และไม่มั่นคง มีร้อยละ 70 มีสัญญาจ้างแบบชั่วคราวแทนที่จะได้จ้างแบบถาวร มีอาจารย์ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง กระทบทั้งสภาพชีวิตและส่งผลเสียต่องานวิจัยเพราะไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง มีภาระงานล้นเกินจนไม่มีเวลาพัฒนาศักยภาพตนเอง

ภาพบรรยากาศในแคมปัสมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร (ที่มา:วิกิพีเดีย)

2 ธ.ค. 2562 ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว มีพนักงานมหาวิทยาลัยในอังกฤษ 60 แห่งนัดหยุดงานประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจเรื่องบำนาญ ค่าแรงและสภาพการจ้างงาน รวมถึงการประท้วงในเรื่องที่มหาวิทยาลัยเริ่มเปลี่ยนสภาพการจ้างงานจากการจ้างงานประจำกลายเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวหรือเหมาช่วง

เมื่อไม่นานนี้มีการสำรวจจากสหภาพมหาวิทยาลัยและอุดมศึกษา (UCU) ระบุว่าร้อยละ 70 ของคนที่ทำงานเป็นนักวิจัย 49,000 ราย ในระดับบัณฑิตศึกษาของอังกฤษอยู่ภายใต้ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงที่มีการกำหนดเวลาจ้างไว้แน่นอน ขณะที่อาจารย์ผู้ทำการสอนจำนวน 37,000 ราย ก็อยู่ภายใต้การจ้างงานระบบเดียวกันและส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างแบบรายชั่วโมง

ซาราห์ ดาร์ลีย์ หนึ่งในนักวิจัยที่ถูกจ้างแบบเหมาช่วงระบุว่ามันเป็นเรื่องน่าปลื้มใจที่มีกลุ่มคนทำงานด้วยสัญญาการจ้างแบบถาวรสนับสนุนการประท้วงของพวกเขาและอยากให้พวกเขาได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาบางส่วนที่รู้สึกทึ่งในเรื่องสภาพการจ้างที่ไม่มั่นคง

ดาร์ลีย์ระบุว่า ถึงแม้เธอจะรักในงานของตัวเองและภูมิใจที่มีคณะทำงานและนักศึกษาที่มีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับการเรียนรู้และวิจัย แต่สภาพการจ้างที่ไม่มั่นคงทำให้เธอรู้สึกว่ายากที่จะทำงานต่อไปได้

ดาร์ลีย์เล่าถึงสภาพการจ้างงานว่า หลังจากที่เธอเรียนจบเมื่อปลายปี 2559 เธอได้รับการจ้างงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในสัญญาจ้างที่ต่างกัน 4 สัญญา โดยมีตั้งแต่สัญญาที่จ้างเธอ 12 เดือน ไปจนถึง 18 เดือน ทำให้เธอและนักวิจัยหรืออาจารย์คนอื่นๆ ในสภาพการจ้างเดียวกันต้องพยายามให้ได้รับการต่อสัญญาจ้างใหม่ไปเรื่อยๆ แม้จะต้องทำงานบทบาทเดิม

การทำสัญญาจ้างแบบชั่วคราวนี้นอกจากปัญหาความไม่มั่นคงทางการงานแล้ว ดาร์ลีย์ยังชี้ให้เห็นว่ามันส่งผลกระทบต่อโครงการวิจัยอีกด้วย สัญญาจ้างทำให้เธอต้องยุติบทบาทก่อนที่โครงการวิจัยจะจบลง ทั้งนี้ยังก่อปัญหาเรื่องการทำให้งานกองสุมอยู่ที่ตัวเธอทำให้เธอต้องทำงานแม้แต่ในช่วงเย็นหรือช่วงวันหยุด การที่งานกองสุมขนาดนี้ทำให้เธอไม่มีเวลาพัฒนาหน้าที่การงานตัวเองเช่นการเขียนขอทุนหรือพัฒนางานวิจัยอิสระจากความสนใจของตัวเอง

รายงานจากสถาบันนโยบายอุดมศึกษาอังกฤษระบุว่ามีคนทำงานอุดมศึกษาที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตในเกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งมีสาเหตุมาจากการแบกรับภาระงานล้นเกิน ปัญหาการบริหารจัดการ รวมถึงปัญหาการจ้างงานชั่วคราวระยะสั้นที่ไม่มั่นคง โดยที่ดาร์ลีย์ก็ระบุว่าตัวเธอเองก็รู้สึกสุขภาพจิตย่ำแย่จากสภาพการจ้างงานแบบนี้เช่นกัน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือคนที่มีภาระเลี้ยงดูลูกหรือภาระอื่นๆ การที่ต้องอยู่บนความไม่แน่นอนทำให้ผู้คนวางแผนในระยะยาวได้ยาก และแม้กระทั่งหาวันหยุดให้ตัวเองได้ยากด้วย

ดาร์ลีย์ระบุว่าการตัดสินใจนัดหยุดงานก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้ง่าย เพราะมันอาจจะหมายถึงการทำให้การทำงานเป็นทีมหยุดชะงัก และการสูญเสียรายได้โดยเฉพาะในช่วงใกล้ฤดูเทศกาลซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่างๆ และคนที่เสี่ยงมากเป็นพิเศษคือคนที่มีสภาพการจ้างไม่แน่นอนอยู่แล้วพวกเขากลัวที่จะถูกมองว่าเป็น "ตัวสร้างปัญหา" แต่ถึงที่สุดแล้วการนัดหยุดงานประท้วงนี้ก็จำเป็นต่ออนาคตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดาร์ลีย์ระบุว่า "พวกเราต้องเรียกร้องสภาพการจ้างที่เป็นธรรมและทำให้เกิดสภาพทำงานที่มั่นคงสำหรับคณะทำงานทุกคนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน การวิจัย และความเป็นอยู่ที่ดีของคณะทำงานเอง"

เรียบเรียงจาก

I'm striking because insecure academic contracts are ruining my mental health, The Guardian, Nov. 29, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net