Skip to main content
sharethis

ที่ อ.หาดใหญ่และมาเลเซีย มีการจัดพิธีรำลึกครบรอบ 30 ปี สนธิสัญญาหาดใหญ่ ระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย พรรคคอมมิวนิสมาลายา และมีรัฐบาลไทยเป็นสักขีพยาน สงบศึกการต่อสู้ในภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมราว 850 อดีตคอมมิวนิสต์และทหารไทยเดินทางเข้าร่วมงาน ในขณะที่งานในมาเลเซียถูกตำรวจตามสอบสวน

ภาพบรรยากาศในงาน

2 ธ.ค. 2562 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และในประเทศมาเลเซียมีการจัดงานรำลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี พิธีลงนามข้อตกลงสันติภาพหาดใหญ่ (Persetujuan Damai Haddyai) ข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลมาเลเซียกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (พคม.) ที่มีตัวแทนรัฐไทยเป็นสักขีพยาน

ที่ฝั่งไทย พิธีรำลึกจัดที่โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อ.หาดใหญ่ สถานที่ลงนามในอดีต สื่อปาตานี โน้ต รายงานโดยสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่เดินทางไปร่วมงาน ระบุว่ามีผู้เข้าร่วมราว 850 คน นอกจากนั้น ไพศาล พืชมงคล เลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ได้ส่งสารมาแสดงความยินดีด้วย

พิธีลงนาม ‘สนธิสัญญาสันติภาพหาดใหญ่' (Persetujuan Damai Haddyai) ในครั้งนั้นมีผู้แทนร่วมลงนามที่ประกอบด้วยจีนเป็ง หรือเฉินผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ปลัดกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียคือ Dato Wan Sidek  พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้แทนรัฐบาลไทยเป็นสักขีพยาน การลงนามถือเป็นการยุติการต่อสู้ที่ยาวนานถึง 41 ปีของพรรคลง หลังจากนั้นสมาชิกคอมมิวนิสต์มาลายาจำนวน 1,110 คน ได้วางอาวุธและเข้ารายงานตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

งานวันนี้มีนายทหารไทยที่เคยมีบทบาทในอดีตเข้าร่วมด้วย เช่น พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการกองข่าวกองทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พล.อ.กิตติ รัตนฉายา นายทหารที่เคยมีบทบาทด้านการไกล่เกลี่ย ส่วนชวลิตไม่สามารถมาร่วมงานได้เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ

ผู้เข้าร่วมงานยังได้ฉลองครบรอบ 5 ปี ของการจัดตั้ง "ชมรมสันติภาพ ประเทศไทย” (泰國和平聯合會 /Gabungan Persatuan Perdamaian Thailand) ด้วย ชมรมทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสื่อสารสร้างความใกล้ชิดและช่วยเหลือกันระหว่างอดีตสมาชิกของกองทัพประชาชนของ พคม. และครอบครัว  นอกจากนั้นยังเป็นการรำลึกถึงวันที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาคือ จีนเป็ง ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2556 ที่กรุงเทพฯ ในวัย 89 ปี 

ปัจจุบัน อดีตสมาชิก พคม. มีลูกหลานจำนวนเกือบ 2,000 คน อาศัยในไทยและถือสัญชาติไทย หลายคนประกอบอาชีพทำสวนยาง ค้าขาย ทำธุรกิจ สอนภาษาจีน เป็นมัคคุเทศก์ คนรุ่นใหม่บางคนเป็นแพทย์ วิศวกร พื้นที่สู้รบในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ปาตานี โน้ตส์ สอบถามผู้เข้าร่วมงานถึงเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่เดิมระหว่างไทยและกลุ่มขบวนการที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาระบุว่าอยากเห็นความรุนแรงยุติ ให้มีการปรองดองและเกิดความสงบสุขเพื่อจะได้พัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

เมื่อ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา สื่อมาเลเซียกีนีของมาเลเซีย รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียกำลังสืบสวนการจัดพิธีรำลึกสนธิสัญญาหาดใหญ่ที่จัดในเมืองกาจัง เมืองทางตะวันออกของรัฐสลังงอ สารวัตรตำรวจประจำอำเภอระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในพื้นที่ปิด เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนทุกแง่มุมเกี่ยวกับการจัดการ

มาเลเซียกีนีรายงานว่า งานที่ฝั่งมาเลเซียมีผู้เข้าร่วมราว 300 คน ส่วนมากเป็นคนสูงอายุ Tan Yi Yu อดีตสมาชิก พคม. ระบุว่า การต่อสู้ของ CPM ในอดีตเป็นการต่อสู้เพื่อต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมและจักรวรรดินิยมเพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net