Skip to main content
sharethis

รู้จักจิตอาสา 904 หน่วยงานในพระองค์มีกองทัพหนุนเป็นหลัก และเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการกระจายทุกอำเภอ สมาชิกทั่วประเทศเกิน 4 ล้านคนเน้นงานพัฒนา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์และอบรมข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงพระคุณของสถาบันกษัตริย์ไทย รวมกำลังเพื่อรบกับ “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่”

 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยากเห็นสามสิ่งที่พระองค์รักอยู่ด้วยกันในคราวเดียวผ่านผ้าพันคอเหลือง หมวกฟ้า นั่นคือ ประชาชน พ่อของพระองค์ แม่ของพระองค์ นี่คือความหมายที่ประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ร่วมกัน เมื่อทราบความหมายแล้วเราจะทำทุกอย่าง สนับสนุนงานของสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกอย่าง เพราะเรารู้แล้วว่าที่ผ่านมานั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ทำเพื่อเราตลอดมา”

คำบอกเล่าของวิทยากรในการอบรมจิตอาสา 904 หลักสูตรหลักประจำที่เผยแพร่คลิปวิดีโอในยูทูบเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2562

หมวกฟ้า ผ้าพันคอเหลือง คือสัญลักษณ์และเครื่องแต่งกายของ ‘จิตอาสา 904’ รหัส 904 เป็นรหัสที่หมายถึงรัชกาลที่ 10 และกิจกรรมจิตอาสาส่วนใหญ่ที่ปรากฏให้เห็นตามสื่อเป็นเรื่องการพัฒนาชุมชน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จัดอบรมข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ฯลฯ

จิตอาสา 904 คือโครงการในพระราชดำริของรัชกาลที่ 10 ริเริ่มเมื่อปี 2560 เว็บไซต์สำนักพระราชวังระบุว่า พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ ของรัชกาลที่ 9 โครงการนี้มีชื่อเต็มๆ ว่าจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.มีโครงสร้างแยกเฉพาะสังกัดสำนักพระราชวัง และพระองค์ทรงดูแลหลักสูตรเอง กระทั่งพระราชทานเงินส่วนพระองค์สำหรับกิจกรรมบางส่วน 

พระองค์ยังพระราชทานคำขวัญสำหรับเหล่าจิตอาสาพร้อมภาพวาดฝีพระหัตถ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ว่า 

“เราทำความดีด้วยหัวใจ”

อีก 5 เดือนต่อมาในเดือนพฤศจิกายน วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารโพสต์เฟสบุ๊คว่าพระองค์ทรงเปลี่ยนคำขวัญใหม่

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “จิตอาสา” ใหม่ ว่า
“จิตอาสาพระราชทาน”
และมีคำขวัญว่า 

“เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

: พันเอก วันชนะ สวัสดี ผู้ช่วยโฆษกกลาโหม และ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรจิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ เผย

เบื้องต้นยังไม่มีรายงานข่าวใดยืนยันคำบอกเล่าของวาสนา และหากเรื่องนี้เป็นจริงก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า บริษัทแกรมมี่ฯ ซึ่งแต่งเพลง “จิตอาสา” ขับร้องโดย 10 ศิลปินดังจะต้องแต่งเพลงเวอร์ชั่นใหม่ตามคำขวัญที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ 

เนื้อเพลง จิตอาสา 
“พร้อมเสียสละ จิตอาสาเราภาคภูมิใจ พร้อมที่จะให้ โดยไม่หวังสิ่งใด ตอบแทน ทำด้วยสองมือและจิตใจยิ่งใหญ่สุดแสน น้ำใจไม่เคยขาดแคลน เราจิตอาสา... มุ่งมั่น ทำด้วยจิตที่คิดจะให้ ด้วยแรงกาย บวกแรงใจและจิตศรัทธา เหงื่อที่ริน เหงื่อที่ไหล คุ้มกับสิ่งที่ได้กลับมา เป็นพลังนำพาสู่ความสุขใจ… มุ่งมั่น ทำด้วยจิต ที่คิดทำดี ปรารถนา ให้โลกนี้น่าอยู่สดใส ช่วยกันทำ เพื่อส่วนรวม เท่าที่มีเท่าที่ทำไหว นำสายธารน้ำใจไหลไปทั่วแดน...”

รู้จักหลักสูตร จิตอาสาฯ

“ปัจจุบันโครงการจิตอาสาพระราชทานมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นมากถึง 4 ล้านกว่าคน และได้ดำเนินกิจกรรมตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่องและขยายครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จึงต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อให้การดำเนินการของโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการฝึกอบรม จิตอาสา 904 “หลักสูตรหลักประจำ” “เป็นเบ้า เป็นแม่พิมพ์” ขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนจิตอาสาที่สำเร็จหลักสูตรออกไปแล้วนั้นได้เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้กับจิตอาสาที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย พร้อมกันนี้พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนกว่า 10 ล้านบาทเพื่อให้การจัดฝึกอบรมครั้งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ฯ ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว

4 ล้านคนคือขั้นต่ำของประชาชนที่เข้าร่วมเป็น “จิตอาสา” กระจายตัวทั่วประเทศ เตรียมพร้อมสำหรับออกมาทำงาน 3 ด้านหลัก คือ  จิตอาสาพัฒนา (ชุมชน), จิตอาสาภัยพิบัติ, จิตอาสาเฉพาะกิจ (เช่น งานราชพิธีต่างๆ)

โดยระบบที่วางไว้ จิตอาสาเหล่านี้สามารถสมัครร่วมโครงการได้เองในทุกจังหวัด มีการเปิดรับทุกเดือน (ระหว่างวันที่ 1 – 10 ที่สำนักงานเขต-ที่ทำการอำเภอทั่วประเทศ) โดยผู้สมัครจะได้ร่วมพิธีรับผ้าพันคอ  หมวก และได้บัตรประจำตัวจิตอาสาสีฟ้าซึ่งจะมีหมายเลขประจำตัวด้วย 

บรรดาประชาชนจิตอาสา ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ จะได้รับการอบรมจาก “วิทยากร” “กระบวนกรณ์” ที่ได้รับการอบรมอย่างเข้มข้นยิ่งกว่าในหลักสูตรหลักประจำ เป็นเบ้าเป็นแม่พิมพ์ หลักสูตรนี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 จนถึงปัจจุบันมีการอบรมไปแล้วรวม 4 รุ่น โดยรุ่นที่ 4 จะเข้าฝึกในช่วง 5 พ.ย.-24 ธ.ค.2562 จำนวน 541 คน แบ่งเป็นชาย 400 คน หญิง 141 คน มาจากหน่วยงานราชการในพระองค์ ทหาร ตำรวจ หน่วยราชการพลเรือน 17 หน่วยงาน รวมทั้งประชาชนจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ดี จากการสืบค้นในอินเทอร์เน็ต เรายังพบ “หลักสูตรพื้นฐาน” ใช้เวลาอบรม 15 วันด้วย โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะเป็นกลุ่มเล็กๆ เช่น กลุ่มปลัดอำเภอจากหลายจังหวัด กลุ่มผู้อำนวยการกรมกองจากกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เป็นต้น 

ในเว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ระบุว่า หลักสูตรจิตอาสาพระราชทาน มี 3 ระดับ คือ 

1. หลักสูตรจิตอาสาเร่งรัด ใช้เวลา 7 วัน
2. หลักสูตรหลักประจำ ใช้เวลา 6 สัปดาห์
3. หลักสูตรหลักประจำพิเศษ ใช้เวลา 3 เดือน 

วัตถุประสงค์ของหลักสูตรตามที่วิทยาลัยการทัพบกระบุไว้ก็คือ 

1. เตรียมจิตอาสาต้นแบบ เป็นรากแก้วที่จะเป็นเบ้า เป็นแม่พิมพ์ ที่จะนำความรู้ ความเข้าใจ คำว่าจิตอาสาไปขยายผล
2. เป็นจิตอาสาต้นแบบที่มีองค์ความรู้ มีวินัย บุคลิกภาพที่ดี ที่จะเป็นแกนให้กับประชาชนจิตอาสาทำกิจกรรมต่างๆ
3. เตรียมความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์วิกฤติต่างๆ เช่น อุทกภัย วาตภัยฯ 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ขอยกตัวอย่าง “หลักสูตรหลักประจำ” รุ่นล่าสุด

เมื่อเร็วๆ นี้มีหนังสือจากหน่วยงานในพระองค์ 904 ลงวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา แจ้งหน่วยงานต่างๆ ว่า หน่วยราชการในพระองค์ฯ จะจัดอบรมหลักสูตรจิตอาสา " หลักสูตรหลักประจำ" รุ่นที่ 4 ประจำปี 2562 ใช้เวลา 6 สัปดาห์ ตั้งแต่ 5 พ.ย.2562-24 ธ.ค.2562 ที่ โรงเรียนจิตอาสา ซึ่งตั้งอยู่ที่กองพันฝึกส่วนหลัง กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เขตพระราชทานในพระองค์ "วิภาวดี" โดยจะพิจารณาคัดสรรข้าราชการ ประชาชน ผู้มีความเสียสละ มีอุดมการณ์ มีทัศนคติที่ดี เข้าอบรมจำนวน 400 คน 

นับเป็นการ “เข้าค่าย” ยาวนาน 1 เดือนครึ่ง กิจวัตรเริ่มตั้งแต่ตี 5 ถึง 5 ทุ่ม โดยเงื่อนไขการอบรมระบุว่า จะลากลับบ้านได้ต่อเมื่อ พ่อแม่-ภรรยา/สามี-ลูก เสียชีวิต หรือลาป่วยเท่านั้น หน่วยงานราชการต่างๆ จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่ของตนเข้าร่วม ซึ่งนอกจากต้องได้รับการอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้ว ยังมีการกรอกประวัติส่วนตัวและตอบคำถามตามแบบฟอร์ม 4 ข้อ จากนั้นต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์อีกครั้งที่โรงเรียนจิตอาสาฯ จึงสามารถเข้าร่วมอบรมได้

  • ท่านเคยบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไร 
  • ทำไมสมัครร่วมการฝึกจิตอาสาในครั้งนี้
  • ตั้งความหวังอย่างไรเมื่อจบหลักสูตรการฝึก
  • เมืองไทยในอนาคตในความเห็นของท่านควรจะเป็นอย่างไร

หลักสูตรฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มวิชาได้แก่ 

กลุ่มวิชา

รายละเอียดกลุ่มวิชา

จำนวนชั่วโมง

สัดส่วน % ในการประเมิน

วิชาทหารทั่วไป

สอนเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพ ระเบียบ วินัยตามลักษณะทหาร การต่อสู้ป้องกันตัว

27

6

วิชาอุดมการณ์และสถาบันพระมหากษัตริย์

สอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พระราชกรณียกิจ ของพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย

83

18

วิชาความรู้จิตอาสา

สอนเกี่ยวกับการบรรเทาสาธารณภัย ภัยจากยาเสพติดสื่อโซเชียล

130

26

วิชาบังคับ

สอนเกี่ยวกับศาสตร์พระราชา โครงการพระราชดำริ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

92

20

วิชาชีพเลือก

(เลือกได้ 2 วิชา) 

สอนวิชาช่างต่างๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา ไม้ ปูน สี เชื่อม การทำอาหารไทย ถนอมอาหาร แปรรูปอาหาร

24

5

การศึกษาดูงาน

จะพาไปดูงานนอกสถานที่ อาทิ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ดูงานบ้าน อ่างตะแบก (ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง) จ.ฉะเชิงเทรา โครงการชั่งหัวมันฯ จ.เพชรบุรี เป็นต้น

106

25

6 กลุ่มวิชา

426

100

ที่มา:https://www.md.go.th/central/secretary/hrd/admin/images/upload/news/733-001.pdf

 

 

หากกล่าวเฉพาะการอบรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสตร์พระราชา 2 กลุ่มวิชานี้ กินเวลา 175 ชั่วโมง คิดเป็น 41% ของหลักสูตรทั้งหมด และมีความสำคัญในการประเมินผลเพราะคิดเป็น 38% ของการประเมินผลทั้งหมด 

หัวใจหลักการอบรม พระคุณของพระมหากษัตริย์ไทย

คลิปนี้คือฝีมือการบรรยายเรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรหลักประจำ เป็นเบ้าเป็นแม่พิมพ์ รุ่นที่ 2 ซึ่งบรรยายขยายผลจิตอาสาให้กับข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 793 คน ณ ห้องประชุมสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สปท.) 

การบรรยายกินเวลากว่า 2 ชั่วโมง เริ่มต้นโดยการหมอบกราบพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ฉายผ่าน โปรเจ็คเตอร์ 

เนื้อหาการอบรมส่วนหนึ่งจะกล่าวถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย ที่ผนวกรวมกับความเป็นชาติไทย และศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ตั้งแต่สมัยก่อตั้งประเทศสยามจนถึงปัจจุบัน 

เริ่มต้นที่สมัยสุโขทัย ช่วงที่เด่นที่สุดคือพ่อขุนรามคำแหง

“พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์มีพระปรีชาญาณ ในด้านการศึก พระองค์ทำสงครามยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อเจ้าขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พระอัจฉริยภาพด้านภาษา พระองค์ประดิษฐ์อักษรไทย หรือลายสือไทย มรดกอันทรงคุณค่าที่ตกทอดมาถึงพวกเราทุกวันนี้ โดยทรงโปรดเกล้าให้มีการสลักบันทึกเรื่องราวต่างๆบนหลักศิลาจารึก ดังปรากฏในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 18 ความว่า เมื่อช่วงพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว….”

สมัยอยุธยา กล่าวถึงกษัตริย์หลายพระองค์โดยเฉพาะพระนเรศวรมหาราช ที่สำคัญคือ ช่วงนี้มีความพิเศษที่กระตุ้นอารมณ์ผู้ชมได้มากที่สุด เนื่องจากใช้ฉากต่างๆ จากหนัง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี” ของท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เข้าประกอบการบรรยาย

“กรุงศรีอยุธยาต้องเผชิญกับปัญหาการรุกรานแย่งชิงดินแดนเป็นระยะ จนกระทั่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญคือการเสียงกรุงครั้งที่หนึ่ง... การเสียกรุงครั้งนั้นทำให้เราต้องสูญสิ้นอิสรภาพ พม่าเขายึดทรัพย์สินและกวาดต้อนคนไปเป็นทาส เป็นเชลย รวมถึงเราต้องส่งบรรณาการตามที่พม่ากำหนด แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้เรารู้จักกับพระมหากษัตริย์อีกพระองค์ ซึ่งต่อไปภายภาคหน้าพระองค์จะเป็นองค์กษัตริย์มหาวีรบุรุษ ผู้มีพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

“15 ปีที่สยามต้องสูญอิสรภาพ วันที่เป็นจุดเปลี่ยนชะตาสยามก็มาถึง คือวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตัดสินพระทัยหลั่งน้ำทักษิโณทกลงสู่ปฐพีเมืองแครง ในปี พ.ศ.2127 หลังจากการประกาศอิสรภาพ หงสาวดียังต้องการให้กรุงศรีกลับมาเป็นเมืองขึ้นอีกครั้ง แม้กระนั้นหงสาจะยกทัพกลับมาอีกกี่ครั้ง ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปทุกรอบ ด้วยพระปรีชาสามารถด้านการสงคราม ทรงวางแผนยุทธศาสตร์การรบอย่างรอบคอบ และที่สำคัญพระองค์ทรงนำทัพออกรบด้วยพระองค์เอง”

ในสมัยกรุงธนบุรี ได้กล่าวถึงวีรกรรมของพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนจะตัดข้ามไปยังสมัยรัตนโกสินทร์ 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการไล่เรียงพระมหากรุณาธิคุณตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมาครบทุกรัชกาล โดยดึงพระปรีชาสามารถที่โดดเด่นในสมัยของพระองค์ 

รัชกาลที่ 1 - การทำสงคราม 9 ทัพ

รัชกาลที่ 2 - พระปรีชาด้านการประพันธ์ 

รัชกาลที่ 3 - พระปรีชาด้านการค้าขายโดยเฉพาะกับจีน

รัชกาลที่ 4 - ทรงมีพระราชดำริขยายวัง ปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ทำสัญญาต่างๆ กับต่างประเทศเพื่อดำรงความเป็นไทยให้มีเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้

รัชกาลที่ 5 - มีการปฏิรูปประเทศ หน่วยงานราชการ สร้างระบบเขตปกครองใหม่ สาธารณูปโภค คมนาคม ความมั่นคง การสาธารณสุข และที่สำคัญคือ ทรงเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไป

รัชกาลที่ 6 - ทรงสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน จัดตั้งกองเสือป่า 

รัชกาลที่ 7 - ทรงสานต่องานที่ค้างอยู่รัชกาลที่ 6 การให้สัตยาบันสนธิสัญญาต่างๆ ยังทำสัญญาใหม่กับเยอรมัน กับสนธิสัญญาอินโดจีนกับฝรั่งเศส กำหนดเขตปลอดทหาร และการพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทย สร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง และกล่าวถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยว่า

“ในความเป็นจริงนั้น เค้าลางของการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงประกาศเลิกทาส และในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงสานต่อความเป็นประชาธิปไตยโดยพระองค์ได้ตั้งเมืองดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองรูปแบบการปกครอง ซึ่งประกอบด้วยพระธรรมนูญการปกครอง พรรคการเมือง การเลือกตั้ง ประธานการเมือง ศาลาว่าการ นายกเทศมนตรี เป็นต้น”

รัชกาลที่ 8 - ทรงเป็นที่รักของชาวไทยโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีน เสด็จเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนครั้งแรก ณ สำเพ็ง เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่าชาวไทยกับชาวไทยเชื้อสายจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมา การเสด็จครั้งนั้นถือว่าเป็นการประสานรอยร้าวให้หมดไป ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยเสด็จไปนมัสการพระพุทธรูปในวัดสำคัญหลายแห่ง 

รัชกาลที่ 9 – พระองค์ทรงงานหนัก เดินทางทั่วประเทศและมีโครงการพระราชดำริพระราชดำริมากมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภูมิภาคต่างๆ  

ในตอนท้ายผู้บรรยายกล่าวถึงจุดประสงค์ของรัชกาลที่ 10 ในการก่อตั้ง จิตอาสา 904 ว่า

“พระองค์ทรงกำลังรวบรวมกำลังจิตอาสาเพื่อไปทำการรบกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เราคนไทยทุกคนจึงเปรียบได้กับทหารของพระเจ้าแผ่นดินเช่นกัน”

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่นี้คืออะไรไม่ได้ถูกระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่แน่นอนว่าย่อมหมายถึงอะไรก็ตามที่เป็นภัยต่อชาติและสถานบันพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2562-2565) ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2562 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น จะพบว่า มีนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหมด 16 นโยบาย 

“นโยบายที่ 1: เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ในสายตาหน่วยงานความมั่นคง มีการวิเคราะห์ปัญหาของเรื่องนี้ว่า 

“ยังคงปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลทั้งจากภายในประเทศ และจากต่างประเทศที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันฯ ทั้งที่มีลักษณะการเชื่อมโยงสถาบันฯ นำมาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง ตลอดจนมีการกล่าวอ้างความเท็จเพื่อบิดเบือนและสร้างความเข้าใจที่ผิดอันเป็นการบ่อนทำลายต่อสถาบันฯ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ประกอบกับความผูกพันเชื่อมโยงของประชาชนบางส่วน โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ที่มีต่อสถาบันฯ มีน้อยลง เนื่องจากขาดความเข้าใจและความตระหนักรู้อย่างถูกต้องแท้จริงถึงความสำคัญของสถาบันฯ ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและจุดยึดเหนี่ยวของสังคมไทย”

เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ - สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้รับการธำรงรักษาด้วยการปกป้อง เชิดชูเทิดทูน อย่างสมพระเกียรติ 

ตัวชี้วัด
- ระดับประสิทธิภาพในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์
- ระดับความเข้าใจของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

กลยุทธ์
- เสริมสร้างประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์
- ส่งเสริมทุกภาคส่วนในสังคมรวมถึงชุมชนไทยในต่างประเทศให้ตระหนักรู้และเข้าใจถึง บทบาทและคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาติ รวมถึงสร้างความเข้าใจถึงหลักการ เหตุผล และความจำเป็นในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์
- นำศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงขยายผลตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- เสริมสร้างประสิทธิภาพในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์

เสียงสะท้อนจากการเข้าอบรม 

การสัมภาษณ์ถึงความนึกคิดและความรู้สึกของผู้เข้าอบรมโครงการจิตอาสาฯ (โดยเฉพาะในหลักสูตรเข้มข้น) เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับสื่อไทย การปฏิเสธเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า หรือแม้แต่การอภิปรายโครงการนี้อย่างตรงไปตรงมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ก็ยังเป็นไปได้ยาก แต่สำหรับสื่อต่างประเทศ ดูเหมือนพวกเขาจะเข้าถึงข้อมูลในส่วนนี้ง่ายกว่า 

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานคำให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ผ่านการอบรมว่า จะต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 สำหรับการออกกำลังกายกลุ่ม จากนั้นฝึกการทำความเคารถสไตล์ทหารก่อนจะเริ่มชั้นเรียนกว่าด้วยกษัตริย์ไทยและการบริการสาธารณะ เมื่อสิ้นสุดการอบรมจะได้รับการประกาศให้เป็น “ข้าราชการส่วนพระองค์” และทำงานเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยจะมีการการติดตามผลงานทางแอพลิเคชั่น 

สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและเป็นหนึ่งในผู้บรรยายในการอบรม กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมจะได้อยู่ด้วยกัน นอนด้วยกัน คนแก่อยู่กับคนหนุ่มสาว ดังนั้น คนหนุ่มสาวจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ จากคนแก่ และคนแก่ก็สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับคนหนุ่มสาวได้ด้วย 

ผู้จบหลักสูตรอบรมอีกคนหนึ่งระบุว่า ในการอบรมการบริการสาธารณะ บทเรียนหลักที่เน้นคือการมองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นหนทางแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จสำหรับประเทศไทยในห้วงการแบ่งแยกทางการเมือง

ปัญวีย์ หญิงสาวที่ทำงานด้านการข่าวเป็นผู้หนึ่งที่สมัครใจเข้าร่วมอบรม และได้เป็นผู้นำจิตอาสาในการทำความสะอาดวัดอรุณ กล่าวว่า “พวกเราถูกอบรมเพื่อจะกระจายข้อมูลเพื่อให้คนอื่นๆ ตระหนักรู้มากขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะได้รักประเทศอย่างที่พวกเรารัก”  

ณัฐพร ผู้เข้าร่วมอีกคนหนึ่งระบุว่า ผู้อบรมจะตั้งไลน์กลุ่มแบ่งเป็นกลุ่มละ 30 คนสื่อสารความก้าวหน้าถึงการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว “กลุ่มของเราถูกตั้งเป้าให้เข้าถึงคน 8,900 รายได้ช่วงสองสามเดือน” 

ขณะที่ชายอายุ 40 กว่าปีคนหนึ่งที่มาจากต่างจังหวัดซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับอัลจาซีราว่า แม้จะมองจากมุมของรอยัลลิสต์ก็ยังพบว่าโปรแกรมการอบรมนี้พยายามชักจูงมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อมีความคาดหวังให้แพร่กระจายข้อมูลต่างๆ ไปยังเด็กๆ ในโรงเรียน และต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่ามันได้ผล “อย่างน้อยต้องมีรูปภาพที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ฟังของเราน้ำตาคลอด้วยความซาบซึ้งใจ” 

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ก็รายงานเกี่ยวกับโครงการนี้ โดยสัมภาษณ์ทิพย์พิมล จิตอาสาวัย 50 ปีที่เข้าร่วมโครงการ ทิพย์พิมลกล่าวขณะเก็บขยะในพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ว่า “มันเป็นสิ่งดีต่อสังคมและเป็นการเคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์”

“ฉันเขาร่วมโปรแกรมนี้เพราะต้องการทำความดีเพื่อในหลวง” พัชรภรณ์ แม่บ้านวัย 61 ปีกล่าว 

ด้าน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวว่า ในหลวงทรงต้องการให้อาสาสมัครเกิดขึ้นคล้ายๆ กับ “กองเสือป่า” ของรัชกาลที่ 6 พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า โครงการจิตอาสานี้ดูจะเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสำหรับในหลวงองค์ใหม่ ขณะที่ David Streckfuss นักวิชาการที่เคยศึกษาเรื่องคดี 112 ในประเทศไทยกล่าวว่า โครงการนี้อาจเป็นความพยายามของพระองค์ในการสร้างฐานอำนาจที่แยกออกมาจากกองทัพ เพื่อพยายามนำพาประเทศไทยไปสู่ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นประชาธิปไตย (a democratic constitutional monarchy) 

หน่วยงานในพระองค์ กระจายทุกอำเภอ-เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ

จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. สังกัดในสำนักพระราชวัง มีหน่วยราชการในพระองค์ 904 เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีกองทัพบกเป็นแกนกลางในการประสานงาน

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ระบุว่ากองทัพบกในฐานะหน่วยงานของรัฐในด้านการรักษาความมั่นคงของชาติ ได้ให้การสนับสนุนศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จตามพระบรมราโชบาย อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม มอบนโยบายให้กองทัพภาคที่ 1-4 ให้เป็นแกนกลางในการประสานงานกับส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.904)  มีส่วนงานหลัก 3 หน่วย ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการจิตอาสา โรงเรียนจิตอาสา และกองกำลังจิตอาสา 

ศูนย์อำนวยการจิตอาสากระจายไปในระดับภาค (แบ่งตามกองทัพภาค) และยังมีระดับจังหวัดทุกจังหวัด ระดับอำเภอทุกอำเภอ และผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าประชาชนจิตอาสาในระดับพื้นที่

แม่ทัพภาค                   เป็น    ผอ. ศูนย์อำนวยการจิตอาสาภาค
ผู้ว่าราชการจังหวัด          เป็น    ผอ. ศูนย์อำนวยการจิตอาสาจังหวัด

รองผู้ว่าราชการจังหวัด      เป็น    รอง ผอ. ศูนย์อำนวยการจิตอาสาจังหวัด
รอง ผอ.รมน. จังหวัด       เป็น    รอง ผอ. ศูนย์อำนวยการจิตอาสาจังหวัด

นายอำเภอ/ ผอ.เขต        เป็น    ผอ. ศูนย์อำนวยการจิตอาสาอำเภอ
ปลัดอำเภอ                   เป็น    รอง ผอ. ศูนย์อำนวยการจิตอาสาอำเภอ

เนื่องจากงานนี้มีความเกี่ยวข้องกับ ‘ท้องที่’ ทั่วทั้งประเทศ กระทรวงมหาดไทยจึงรับเป็นแม่งานในการประสานงานและขับเคลื่อนโครงการนี้ร่วมกับศูนย์อำนวยการฯ ที่เป็นส่วนงานในพระองค์ 

18 ก.พ.2562 กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งที่ 354/2562 จัดตั้งศูนย์อำนวยการและขับเคลื่อนงานจิตอาสา กระทรวงมหาดไทย (ศอข.จอส.มท.) มีปลัดกระทรวงเป็นผู้อำนวยการ

16 ก.ย. 2562 กรมการปกครองมีคำสั่งให้มีส่วน ‘กิจการอาสา’ เพื่อรับผิดชอบเป็นศูนย์ประสานงานราชการโครงการจิตอาสาตามแนวพระราชดำริ นั่นหมายความว่า จิตอาสา 904 ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการแล้ว

ที่ปรึกษาหัวเรือใหญ่ของโครงการนี้เคยเป็นเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ 

14 ต.ค. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ (ต่อมาวันที่ 21 ต.ค. 2562 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ พ้นจากตำแหน่งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร ถอดฐานันดรศักดิ์และยศทหาร เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา)  

14 ต.ค.2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอำพน กิตติอำพนองค์มนตรีเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ รวมทั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ รวม 10 คณะ โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นทหารหรือตำรวจ เช่น คณะกรรมการอำนายการ, คณะกรรมการฝ่ายดำเนินงาน, คณะกรรมการจิตอาสาพัฒนาพระราชทานชุมชนเข้มแข็ง ประชามีสุข, คณะกรรมการจิตอาสางานประดิษฐ์และเผยแพร่งานศิลปาชีพ, คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการ, คณะกรรมการฝ่ายแพทย์และสาธารณธสุข, คณะกรรมการฝ่ายทะเบียนและข้อมูล, คณะกรรมการฝ่ายส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน 

18 ต.ค. 2562 ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาฯ มีหนังสือขอให้กระทรวงมหาดไทยประสานจังหวัด/อำเภอ จัดตั้งชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติและฝึกอบรม โดยกำหนดให้แต่ละ อปท. หาสมาชิกให้ได้อย่างต่ำ50 คนและจัดทำทะเบียนสมาชิกดังกล่าวส่งส่วนกลาง 

15 พ.ย. 2562 ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาฯ มีหนังสือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาในโอกาสวันสำคัญของชาติไทย เพื่อให้ส่วนราชการ ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาค 1-4 และจังหวัดใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสา โดยแนบวันสำคัญของชาติมาด้วย ซึ่งวันทั้งหมดเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ของไทย ดังนี้

จิตสำนึกแห่งชาติ 

ดูเหมือนการปลูกฝังเรื่องการเทิดทูนสถาบันกษัตริย์จะเข้มข้นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน และจิตอาสา 904 ก็สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งกับพลเรือนและทหาร ดังที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้แก่กองทัพบกเมื่อเดือนตุลาคม 25562 เราสามารถดูความสำคัญจากลำดับของนโยบาย รวมถึงการกำหนดวันสำคัญของราชวงศ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่คุ้นเคย

1.ให้ตระหนักว่า ภารกิจการพิทักษ์ ปกป้อง และเทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันอันสูงสุด ที่เป็นศูนย์รวมของจิตใจปวงชนชาวไทย เป็นภารกิจอันสำคัญยิ่ง

2.ให้นำความรู้จากการฝึกการดูงานกองทัพประเทศที่เจริญแล้ว มาพัฒนาปรับปรุงกิจการ ทบ. ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

3.ให้สนับสนุนส่วนราชการพลเรือน ในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ และในการทำงานร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ ขอให้ดำเนินการอย่างประสานสอดคล้อง มีแผนหลัก แผนรอง และแผนเผชิญเหตุ

4.ให้มีการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านโครงสร้างกำลัง และด้านการฝึกที่สามารถรองรับได้ทั้งภัยคุกคามแบบดั้งเดิม และภัยคุกคามรูปแบบใหม่

5.ให้หน่วยทหารดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ในเดือนตุลาคมจำนวน 3 วาระสำคัญ ได้แก่
- 13 ตุลาคม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสววรคต ร.9
 -18ตุลาคม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ร.4
- 23ตุลาคม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต ร.5

กองเสือป่า สมัย ร.6 ?

ตัวอย่างคลิปการบรรยายของวิทยากรที่อธิบายถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันที่ได้ยกไปข้างต้น มีการเชี่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างโครงการจิตอาสาฯ กับกองเสือป่าของรัชกาลที่ 6 โดยมีการกล่าวตอนหนึ่งว่า

“พระองค์ (รัชกาลที่ 6) ทรงสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือโรงเรียนวชิรวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงจัดตั้งกองเสือป่า เป็นกองกำลังกึ่งทหารที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกอบรมข้าราชการ พ่อค้า และพลเรือน ให้ได้รับการฝึกหัดวิชาการทหาร โครงการจิตอาสา 904 ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน”

หนังสือการเมืองในการการทหารสมัยรัชกาลที่ 6 เขียนโดย เทพ บุญตานนท์ มีบทหนึ่งที่อธิบายถึง “กองเสือป่า” ไว้โดยรายละเอียด ดูเหมือนกองเสือป่าในยุคนั้นมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงและส่วนที่แตกต่างอย่างยิ่งกับปัจจุบัน   

“ผลกระทบจากการขาดพระราชอำนาจทางการทหารมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้พระบรมราโชบายทางการทหารในพระองค์เมื่อทรงครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นไปในลักษณะเสริมสร้างภาพลักษณ์และพระราชอำนาจทางการทหารแก่พระองค์ โดยวิธีการหนึ่งคือ การสถาปนาองค์กรที่มีลักษณะเป็นกองทัพส่วนพระองค์ขึ้นมา เพื่อให้องค์กรดังกล่าวในการแสดงภาพลักษณ์และบทบาททางการทหารในพระองค์ให้ปรากฏต่อสาธารณชน นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือในการคานพระราชอำนาจทางการทหารกับบรรดาพระเชษฐาและพระอนุชาในพระองค์” 

กองเสือป่าตั้งขึ้นในปี 2454 ไม่ขึ้นกับกระทรวงกลาโหมแต่ขึ้นตรงกับรัชกาลที่ 6  

“พระราชประสงค์ในการฝึกพลเรือนทั้งที่เป็นข้าราชการและไม่ใช่ข้าราชการให้มีความรู้ทางการทหารเพื่อป้องกันประเทศในยามคับขันและสนับสนุนกิจการในกองทัพ สร้างระเบียบวินัยในหมู่ผู้รับการฝึก และปลุกจิตสำนึกให้คนมีความรู้สึกรักพระเจ้าแผ่นดิน ชาติ และศาสนาจนสามารถสละชีวิตถวายพระเจ้าแผ่นดินได้” 

หนังสือสรุปว่า แรกเริ่มนั้นเน้นไปที่ข้าราชการพลเรือน และให้เป็นไปโดยสมัครใจ การสมัครเข้าเป็นเสือป่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางขยายไปถึงโรงเรียนต่างๆ เนื่องจากได้รับการละเว้นให้ไม่ได้ต้องเกณฑ์ทหาร ได้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์เพราะต้องมีการถือนำพิพัฒน์สัตยาด้วย หนังสือไม่ได้ระบุว่าเสือป่าต้องทำการฝึกนานเพียงไหน มีเพียงข้อมูลว่า ข้าราชการจะฝึกหลังเลิกงาน นอกจากนี้แต่ละปีเสือป่ายังต้องฝึกซ้อมรบด้วยอาวุธจริงและฝึกเดินทางไกล กองเสือป่านอกจากจะได้รับงบประมาณจากพระคลังข้างที่จำนวนมากกว่ากระทรวงหลายกระทรวง พระองค์ยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการนี้ด้วย การซ้อมรบใช้เวลามากกว่า 1 เดือนและเคยมีครั้งหนึ่งที่มีคนเข้าร่วมมากถึง 3,500 คน กระทั่งในช่วงหลังเริ่มมีความขัดแย้งกับกองทัพเนื่องจากทหารเห็นว่าพระองค์ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่กองเสือป่ามากกว่ากองทัพ เบียดบังทรัพยากรกองทัพ กระทั่งมีเสือป่าที่คอยจับผิดทหารนอกแถวและกดข่มทหารอยู่ตลอดเวลา หนังสือยังระบุว่า กองเสือป่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกบฏ รศ.130 ขึ้นแม้จะจบด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏ

ลูกเสือชาวบ้าน สมัยปราบคอมมิวนิสต์?

เพจศาสนวิทยา dr.SinchaiChaojaroenrat เป็นเพจหนึ่งที่มีผู้ติดตามจำนวนมากด้วยการตั้งคำถาม เสียดสี กระทั่งปล่อยข้อมูลต่างๆ โดยอ้างว่าได้รับมาจากประชาชนทางกล่องข้อความ ไม่ว่าจะเชื่อเพจดังกล่าวหรือไม่ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นั่นไม่สำคัญเท่ากับการตั้งคำถามบางประการเพื่อให้ผู้คนได้ขบคิด ทบทวน และถกเถียงกัน คำถามหนึ่งเกี่ยวกับโครงการจิตอาสา 904 ก็คือ มันเหมือนหรือแตกต่างจาก “ลูกเสือชาวบ้าน” อย่างไร 

 


ภาพผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้าน กับ ผ้าพันคอโครงการจิตอาสาฯ
จากเพจศาสนวิทยาฯ

บทความ ลูกเสือชาวบ้าน: บางสิ่งบางอย่างจาก 6 ตุลาคม 2519 โดยกวีรัตน์ คุณาภัทร นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์ ฉบับพิเศษ ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 ระบุว่า 

ลูกเสือชาวบ้าน (ลส.ชบ.) เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งภายใต้ระบบราชการ มีอุดมการณ์และเป้าหมายชัดเจนในการก่อตั้งในบริบทเข้มข้นของสงครามเย็น รุ่นแรกเกิดขึ้นเมื่อ 9 ส.ค.2514 ที่อ.ด่านซ้าย จ.เลย โดยกองกำกับการตำรวจชายแดนเป็นผู้ริเริ่ม และหน่วยงานนี้ก็มีนโยบายขึ้นตรงกับ กอ.รมน. ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อเดิมว่ากองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) มีสมาชิกรุ่นแรก 123 คน มีการจัดทำหลักสูตรทดลองและฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือสำรองขั้นพีทีซีและวูดแบดจ์เป็นเค้าโครง ผลิต ลส.ชบ.ที่ได้รับการอบรมมาได้ถึง 30 รุ่น ในเขตจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด 

ลส.ชบ.มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่ราษฎรและลดช่องว่างกับข้าราชการ รวมถึงสร้างความเคารพและจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม 

ต่อมาปี 2515 ในหลวงพระราชินีได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดสนับสนุนกิจการ ลส.ชบ. โดยให้ความร่วมมือกับกองกำกับการ ตชด.เพื่อดำเนินการ และพระราชทานผ้าพัคอ วอกเกิล และหนังสือแก่ ลส.ชบ.ที่สำเร็จการอบรมทุกราย 

สำหรับการอบรมการฝึกอบรมให้เวลา 5 วัน 4 คืน ทุกคนฝึกมือเปล่า ไม่ติดอาวุธ แต่งกายตามสบาย แต่มีสัญลักษณ์ ผ้าพันคอ รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว พื้นสีเลือดหมู มีรูปแผนที่ประเทศไทยสีเหลือง พร้อมคำว่า "ไทย" สีน้ำเงินพาดทับกลาง สถานที่ฝึกอบรมจะเป็น โรงเรียน ศาลาวัด หรืออื่นๆ ที่สะดวก 

การฝึกอบรมเน้นหนักการปฏิบัติจริง การบรรยายใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที โดยใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นหลัก มีการร้องเพลงตามแบบลูกเสือ การสอนปากเปล่า และไม่กล่าวถึงเรื่องการเมือง ลัทธิ กับการทหาร การข่าวใดๆ ทั้งสิ้น ให้ย้ำแต่เรื่อง ชาติ ศาสตร์ และพระมหากษัตริย์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎหมาย อุดมคติของลูกเสือ ความสามัคคีเป็นสิ่งสำคัญ 

กลุ่มเป้าหมายเน้นชาวบ้านธรรมดาตามหมู่บ้านแนวชายแดน อายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดเพศ รวมถึงผู้มีอิทธิพลหรือบุคคลสำคัญในท้องถิ่นด้วย การฝึกแต่ละรุ่นจะประมาณ 200-500 คน หมู่บ้านที่ห่างไกลมีการแทรกซึมจากฝ่ายตรงข้ามจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการโฆษณาชวนเชื่อ การดำเนินการเป็นไปตามพระบรมราโชบายของในหลวง คือ ไม่มีการใช้งบประมาณแผ่นดิน เน้นการช่วยเหลือกันเอง

ปี 2518 กระทรวงมหาดไทยออกหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดสนับสนุนกิจการ ลส.ชบ. อย่างจริงจัง ทำให้ลส.ชบ.ขยายตัวมาก นอกจากนี้ยังเน้นว่า ลูกเสือชาวบ้านแต่ละคนต้อง "หาสมาชิกใหม่" 1 คนต้องหาให้ได้ 3 คนที่ไม่ซ้ำกับลส.ชบ.คนอื่น 

สถิติที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เดือนกรกฎาคม 2519 คือ มีลส.ชบ.ทั่วประเทศถึง 1 ล้านคน ขณะที่ในกทม.นั้นเคยมีการรวมพล ลส.ชบ.เพื่อรับธงและสัญลักษณ์ ปรากฏว่ามีจำนวนถึง 20,000 คน แรงจูงใจอีกประการที่สำคัญ คือ การให้สวัสดิการแก่ ลส.ชบ. คือ การรักษาพยาบาลฟรีหรือลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล การให้สิทธิส่งบุตรหลานเล่าเรียนอาชีวศึกษา มัธยมศึกษาตอนปลายโดยเสียค่าเล่าเรียนน้อยที่สุด 

ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ลส.ชบ.ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มข้นและเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มขวาจัดในกทม. เช่น นวพล กระทิงแดง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net