เมื่อคนอยู่ไม่มีส่วนร่วม เหมืองหิน ‘ดงมะไฟ’ ก้าวต่อไปเพื่อสิทธิชุมชน

 

26 ปีการต่อสู้ของชาวชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดที่รวมตัวคัดค้านเหมืองแร่หิน บน ‘ภูผาฮวก’ ตำบลดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู จนปัจจุบันอยู่ระหว่างอุทธรณ์ขอต่ออายุประธานบัตร เวทีเสวนาชี้ ผลกระทบแหล่งอาหารหาย ระบบนิเวศถูกทำลาย ควรยกเลิกโครงการเดิมและเริ่มต้นใหม่จัดทำอีไอเอให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม


เหมืองแร่หินตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู

 

“ผมภูมิใจที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ สิ่งหนึ่งที่เราทำนั้นเพราะเราอยากให้พี่น้อง อยากให้ลูกหลานได้เห็นว่าเราไม่ได้ทรยศพื้นที่ของเรา เราไม่ได้ทรยศธรรมชาติ”

เอกชัย ศรีพุทธา หนึ่งในแกนนำชุมขนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดกล่าวอย่างหนักแน่น

เอกชัยเป็น 1 ใน 12 คนผู้ถูกดำเนินคดีเมื่อปี 2544 จากเหตุการณ์ที่ชาวชุมชนกว่า 400 คนรวมตัวคัดค้านการก่อสร้างเหมือง และทำให้บริษัทฟ้องพวกเขาข้อหาวางเพลิงเผาที่พักคนงานเหมืองและโรงเก็บอุปกรณ์ คดีสู้กันจนถึงปี 2554 ศาลฎีกาตัดสินจำคุกเขาและเพื่อนอีกคน 1 ปีไม่รอลงอาญา ขณะที่เหลืออีก 10 คนศาลยกฟ้อง

เหมืองดังกล่าวคือเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ตั้งอยู่บน ‘ภูผาฮวก’ กินพื้นที่กว่า 175 ไร่ และโรงโม่หินอีก 50 ไร่ ทั้งหมดอยู่ในตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ป่าแถบนั้นถูกเรียกว่า ‘ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ ผาจันได’ มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารสำหรับชุมชน เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยสำคัญหลายสายที่ชาวชุมชนใช้ประโยชน์ในการทำนา เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ตลอดปีโดยเฉพาะฤดูแล้ง

ชาวชุมชนรวมตัวคัดค้านการมาของเหมืองนี้ตั้งแต่ปี 2536 การประท้วงและการต่อสู้ในชั้นศาลของทั้งสองฝ่ายยืดเยื้อยาวนานกินเวลาถึงปัจจุบันร่วม 26 ปี บนหยาดเหงื่อ คราบน้ำตา และรอยเลือดของหลายคน

ปี 2538 บุญรอด ด้วงโคตะ และสนั่น สุขวรรณ ถูกลอบยิงเสียชีวิต ยังจับคนร้ายไม่ได้ ต่อมาปี 2542 กำนันทองม้วน คำแจ่ม และสม หอมพรมมา ถูกยิงเสียชีวิต ยังจับคนร้ายไม่ได้เช่นกัน โดยทั้ง 4 คนเป็นแกนนำคัดค้านการสร้างเหมือง

ปี 2561 ศาลปกครองอุดรธานีมีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้บริษัทเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเพิกถอนใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตร แต่บริษัทของเหมืองได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด ทางฝ่ายชาวชุมชนอยู่ระหว่างการยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ คุ้มครองชั่วคราว แต่ระหว่างนี้บริษัทก็ได้ดำเนินการระเบิดภูเขา ทำเหมืองและโรงโม่หิน พร้อมทั้งขนถ่ายลำเลียงแร่เข้าออกระหว่างพื้นที่เหมืองจนถึงขณะนี้

ปัจจุบันบริษัทกำลังเร่งดำเนินการอุทธรณ์ขอต่อใบอนุญาตขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองหินบนภูผาฮวกอีก 10 ปีหรือจนถึงปี 2573

 

งานเสวนา “20 ปีปัญหาประทานบัตรโรงโม่ผาฮวก-ผาจันได: ทางออกก่อนนำไปสู่การต่อประทานบัตรอีก 10 ปี” จากซ้ายไปขวา หทัยรัตน์ พหลทัพ, สุนี ไชยรส, จรูญ วิริยะสังวร, ลำ กองปาน, สุรชัย ตรงงาม, สมพร เพ็งค่ำ,ตัวแทนกรมศิลปากร, เดชา คำเบ้าเมือง

 

เหมืองมา อาหารหาย ระบบนิเวศถูกทำลาย

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชน (Community-led Impact Assessment Institute) ชี้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนหลังจากมีการทำเหมืองแร่หินดังกล่าว จากการศึกษาร่วมกับชุมชนจำแนกได้เป็น 5 ประเด็น

หนึ่ง ทำให้แหล่งอาหารชาวบ้านหายไปหลังมีการทำเหมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปักหมุดเหมืองซึ่งทับที่ทำกินชาวบ้าน

สอง การระเบิดในเหมืองเพื่อเอาแร่หิน ทำให้มีเศษหินกระเด็นออกมา เกิดความยากลำบากในการทำงานของชาวบ้าน โดยเฉพาะการทำนา ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่าตอนเริ่มมีการระเบิดใหม่ๆ เศษหินกระเด็นมาในที่นาของเขา ทำให้เขากลัวอันตรายจากเศษหิวที่ปลิวมา เขาจึงไม่กล้าไปเกี่ยวข้าวในนาแปลงนั้น และต้องทิ้งนาแปลงนั้นไปในที่สุด ต้องย้ายไปทำนาไกลออกไป ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

สาม การคมนาคม ทั้งถนนพัง และมีการจราจรติดขัด ชาวบ้านบางส่วนใช้เส้นทางเดียวกับที่รถของเหมือง บางครั้งต้องผ่านด่านของเหมือน ต้องเปลี่ยนเส้นทางอ้อมไปเส้นอื่นเพื่อไปที่ทำกิน ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

สี่ ผลกระทบสุขภาพ ฝุ่น เสียงดัง ผิดกับวิสัยของชาวบ้านที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ วิถีเกษตรนอนหัวค่ำตื่นเช้ามืด ทำให้นอนไม่ได้  

ห้า ระบบนิเวศ ภูเขาเชื่อมต่อผืนป่า แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นระบบนิเวศเดียวกัน การหายไปของภูเขาหนึ่งลูก น้ำใต้ดินอาจเปลี่ยนทิศทางไป ต้องมีการศึกษาอย่างเจาะลึกเรื่องนี้อีกครั้ง

เดชา คำเบ้าเมือง นักวิชาการอิสระชี้ว่า ป่าชุมชนนี้สามารถเก็บหน่อไม้ต่อปีได้ถึง 70,000 กิโลกรัม รวมทั้งเห็ด ไข่มดแดง หนู สมุนไพรต่างๆ เมื่อคำนวณเม็ดเงินพบว่าชาวบ้านสามารถสร้างมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติได้ปีละ 113 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของเหมืองบอกว่าจะได้เงินตลอดระยะเวลาโครงการ 25 ปีเป็นจำนวน 4,800 ล้านบาท แต่จ่ายค่าภาคหลวง (เงิน หรือทรัพย์สินที่ผู้ได้รับสัมปทานในทรัพยากรของชาติต้องจ่ายให้แก่รัฐ) เพียง 192 ล้านบาท 


สมควร เรียงโหน่ง


เอกชัย ศรีพุทธา

เหมืองที่ไม่ฟังเสียงของคนอยู่

สมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดเล่าอย่างอัดอั้นว่า สิ่งที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับเลยคือการทำประชาพิจารณ์ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างเหมือง พวกเขาไม่เคยมีส่วนร่วมในการออกความเห็นทั้งที่พวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่มาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีการทำหลักฐานปลอมที่ใช้อ้างว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการทำเหมืองเพื่อยื่นขอประธานบัตรรอบใหม่ แต่ปรากฏว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่องดังกล่าว ต่อมาชาวบ้านฟ้องศาลในประเด็นนี้ แต่ศาลยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าบริษัทเหมืองทำไปโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือหลักฐานปลอม

สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีการเขียนชัดเจนเรื่องเคารพเรื่องสิทธิชุมชน ก่อนการตัดสินใจดำเนินการอะไรต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ทำประชาพิจารณ์ ให้ทุกคนแสดงความเห็น ขณะเดียวกันกรมป่าไม้แม้มีระเบียบชัดเจนว่าการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าต้องไม่มีราษฎรคัดค้าน แต่ชาวชุมชนก็คัดค้านมาโดยตลอด ขณะที่เหมืองก็ยังสามารถทำได้ตลอด  และนอกจากนี้ทุกโครงการที่จะเกิดขึ้น อบต. จะต้องเห็นชอบ โดยฟังความเห็นประชาชนให้ครบถ้วน จึงจะมีมติได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการยกเลิกโครงการเดิมและเริ่มต้นใหม่โดยจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านอย่างแท้จริง

สุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมซึ่งเข้ามาช่วยคดีชาวชุมชนตั้งแต่ปี 2555 กล่าวว่า ในทางคดีตอนนี้ทางฝ่ายชาวบ้านต้องการสามอย่างคือ หนึ่ง ขอเพิกถอนใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าของเหมือง สองขอเพิกถอนประทานบัตรการทำเหมือง และสามการทำเหมืองหินกระทบสิ่งแวดล้อมมาก ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA-Environmental Impact Assessment Report) และศึกษาว่ามีมาตรการป้องกันแก้ไขได้หรือไม่ 

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชนเสนอว่า การทำอีไอเอใหม่นั้นสามารถทำได้และมีกฎหมายรับรองคือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในมาตรา 11 ระบุว่า บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการ ประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากนโยบายสาธารณะ บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คําชี้แจง และเหตุผล จากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือการดําเนินโครงการหรือ กิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดง ความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว

 

อบต. รับมีการหมกเม็ดในการพิจารณา

ลำ กองปาน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหมู่ที่ 10 ตำบล ดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา กล่าวว่า ถ้าพูดตรงๆ อบต. ไม่เคยแก้ปัญหา ที่ผ่านมามีการอนุมัติเห็นชอบต่อสัมปทานให้ผู้ประกอบการ แต่ในการประชุมสามัญที่ผ่านมาคำถามเรื่องการต่อสัมปทานไม่มีการบรรจุเข้าวาระที่ประชุม เนื่องจากประธานสภาหมกเม็ดในการพิจารณา แม้ตนจะเคยโต้แย้งตลอด แต่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบ  เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของ อบต. ก่อนการพิจารณาเห็นชอบเรื่องใดอันดับแรกต้องมีประชาคมเห็นชอบ ตนได้ถามและอภิปรายในสภาเรื่องการมีประชาคม แต่ไม่มีคำตอบ 

ลำยังชี้ว่า ในการต่อประธานบัตรบริษัทได้ใช้เอกสารปลอมมาต่อซึ่งไม่ถูกต้อง และยังไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ท้องถิ่น ซึ่งต้องมีเสียงของประชาคมก่อนจะมีการอนุมัติเห็นชอบต่อโครงการ

“จะพยายามแก้ไขปัญหาและขอยืนยันจะต่อสู้กับพี่น้องประชาชนต่อไป” ลำกล่าว

ด้านจรูญ วิริยะสังวร นายอำเภอสุวรรณคูหา กล่าวว่าตนรู้ว่าชาวชุมชนที่นี่รักสิ่งแวดล้อม รักธรรมชาติ ทุกปัญหาต้องแก้ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ขณะนี้ทางอำเภอได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวน 29 คน เพื่อขอให้ อบต. พิจารณาหลักฐานประชาคม เอกสารการชำระภาษี รายงานการศึกษาผลกระทบ เอกสารกองทุนผู้ได้รับผลกะระทบ และเอกสารศึกษาหน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดยืนยันว่าเอกสารทุกอย่างต้องสมบูรณ์ที่สุด และต้องมีเอกสารประชาคม ตอนนี้ยังไม่ดำเนินการอนุมัติตามระเบียบราชการ และยังไม่ต่อใบอนุญาตใดๆ 

 

*ส่วนหนึ่งลำดับความจาก เวทีเสวนา “20 ปีปัญหาประทานบัตรโรงโม่ผาฮวก-ผาจันได: ทางออกก่อนนำไปสู่การต่อประทานบัตรอีก 10 ปี”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท