Skip to main content
sharethis

ชุมชนชาวซูรินามในเนเธอร์แลนด์แสดงความยินดีและแปลกใจที่ศาลซูรินามตัดสินเอาผิดประธานาธิบดี เดซี บูเตอร์เซ ที่เคยฆ่าคนเห็นต่างไป 15 รายเมื่อปี 2525 หลังรัฐประหารเมื่อปี 2523 เขาต้องเดินทางกลับประเทศกระทันหันขณะเยือนประเทศอื่นๆ และมีผู้คนเรียกร้องให้เขาลาออกหลังมีการตัดสินออกมา ด้านบูเตอร์เซ'อ้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น "เกมการเมือง"

เดซี บูเตอร์เซ (ที่มา:วิกิพีเดีย)

4 ธ.ค. 2562 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 พ.ย.) สื่อเดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า ศาลซูรินาม ประเทศชายฝั่งในทวีปอเมริกาใต้ ตัดสินให้ประธานาธิบดี เดซี บูเตอร์เซ มีความผิดโทษฐานฆาตกรรมจากการสั่งสังหารศัตรูทางการเมืองของตัวเอง 15 รายเมื่อปี 2525 หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ปี ทำให้บูเตอร์เซ ซึ่งเป็นคนที่มีอำนาจมาเป็นเวลานานในยุคสมัยหลังอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ถูกตัดสินให้ต้องจำคุก 20 ปี

พรรคการเมืองฝ่ายค้านเรียกร้องให้บูเตอร์เซ ลาออกจากตำแหน่ง โดยในช่วงที่มีการแถลงผลคำตัดสินจากศาลในวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น บูเตอร์เซกำลังเดินทางเยือนประเทศจีน เขามีกำหนดการต้องเดินทางไปเยือนคิวบา แต่ก็ยกเลิกและเดินทางกลับประเทศหลังจากมีคำตัดสินออกมา

กลุ่มชุมชุนชาวซูรินามที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์แสดงความประหลาดใจและความโล่งอกเมื่อได้รับรู้ข่าวเรื่องคำตัดสินของศาล ในกรณีที่มักจะเรียกกันว่า "การฆาตกรรมเดือนธันวาคม" ทั้งนี้ยังมีผู้คนเรียกร้องให้บูเตอร์เซลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน

นักสังคมวิทยา เฟรด คาร์ตาราม กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า "ถ้าหากเขา (บูเตอร์เซ) ยังมีความเคารพต่อประชาชนและทำเพื่อประชาธิปไตยอยู่บ้าง ... เขาก็ควรจะลงจากตำแหน่ง" คาร์ตารามกล่าวอีกว่าบูเตอร์เซเป็นเสมือน "สัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญซูรินาม"

เหตุการณ์รัฐประหารของบูเตอร์เซนั้นเกิดขึ้นในปี 2523 บูเตอร์เซกับพรรคพวกใช้ความรุนแรงจากกำลังทหารโค่นล้มรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยที่นำโดย เฮงค์ อาร์รอน หลังจากนั้นบูเตอร์เซก็ตั้งตัวเองเป็นประธานสภาทหารแห่งชาติซึ่งปกครองซูรินามภายใต้รัฐบาลทหารยาวนานถึงปี 2534 หลังจากนั้นเขาได้กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีผ่านการเลือกตั้งอีกในปี 2553 และ 2558

ในช่วงเวลาที่ซูรินามตกอยู่ภายใต้การปกครองของบูเตอร์เซนั้น มีการลิดรอนเสรีภาพสื่อ สั่งห้ามการชุมนุม ประกาศเคอร์ฟิว รวมถึงวิสามัญฆาตกรรมฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง 15 ราย ในเดือน ธ.ค. 2525 ศาลระบุในคำตัดสินว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นบูเตอร์เซเป็นผู้คอยดูแลปฏิบัติการที่ทหารภายใต้บังคับบัญชาของเขาลักพาตัวนักวิจารณ์ทางการเมือง 16 ราย รวมถึงทนายความ นักข่าว และอาจารย์มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงก่อเหตุสังหารบุคคลเหล่านี้รวม 15 รายที่ฐานที่มั่นอาณานิคมในกรุงปารามารีโบ เมืองหลวงของซูรินาม มีคนหนึ่งที่รอดชีวิตคือผู้นำสหภาพแรงงานที่ต่อมากลายเป็นพยานที่ให้หลักฐานเอาผิดกับบูเตอร์เซ

รอย โฮ เทน เซิง สมาชิกกลุ่มสมาคมมิตรภาพดัทช์ซูรินามกล่าวว่า การตัดสินในเรื่องนี้มาช้ามากแต่เขาก็รู้สึกดีที่คำตัดสินนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรม

บูเตอร์เซปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอดและมีโอกาสที่จะอุทธรณ์คำตัดสินนี้ นอกจากบูเตอร์เซแล้ว ยังมีอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร 6 นาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารในครั้งนั้นถูกตัดสินให้มีความผิดเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา

ทูตประจำซูรินามจากประเทศตะวันตกหลายประเทศได้แก่เนเธอร์แลนด์ที่เป็นอดีตเจ้าอาณานิคม สหรัฐฯ อังกฤษ สเปน เยอรมนี และฝรั่งเศส ต่างออกแถลงการณ์ ระบุว่าคำตัดสินในครั้งนี้ถือเป็นคำตัดสินที่ "สำคัญ" ในการ "ดำเนินการและส่งเสริมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม" ขณะที่รัฐบาลซูรินามแถลงว่าพวกเขา "รับรู้สถานการณ์ที่ดำเนินอยู่และเรียกร้องให้ชุมชนอยู่ในความสงบ"

หลังจากที่บูเตอร์เซ ยกเลิกการเดินทางไปเยือนคิวบาและกลับประเทศตัวเองแล้ว เขาก็ไม่ได้พูดถึงคดีนี้ในระดับลงรายละเอียด เพียงบอกกับสื่อแค่ว่ามันเป็น "เกมการเมือง" อย่างไรก็ดี ผู้สนับสนุนของเขาจำนวนราว 1,500 คนได้เดินไปต้อนรับผู้นำวัย 74 ปีกลับประเทศ

เรียบเรียงจาก

Suriname president guilty of murder over 1982 executions, The Guardian, Nov. 30, 2019

Dutch Suriname community welcome Boutese conviction, Dutch News, Dec. 2, 2019

Wikipedia, Desi Bouterse

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net