Skip to main content
sharethis

ล้างสมองเป็นแบบไหน? 'วิโรจน์' ชี้กิจกรรม 'อนาคตใหม่' สอนให้คิด - ตั้งคำถาม ชี้ กอ.รมน.ใช้ 150 ล้าน ตั้งกลุ่มเป้าหมายในเด็ก 1-5 อาจส่งผลเสีย

ภาพซ้าย ที่มา เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เล่มที่ 18 (1) โดย สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี (ดู  http://bbstore.bb.go.th/cms/1570697764_7531.pdf)

4 ธ.ค.2562 ทีมสื่อพรรคอนาคตใหม่ รายงานว่า ที่รัฐสภา (เกียกกาย) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณี กระแสวิจารณ์กิจกรรมพรรคอนาคตใหม่ว่าล้างสมองเด็กเยาวชน โดยระบุว่า ก่อนอื่นต้องขอนิยามคำว่าล้างสมอง นั่นคือ การป้อนชุดความคิดให้เด็กเชื่อ ส่วนเด็กที่สงสัย มีคำถาม ก็ใช้การข่มขู่ ทำร้าย หรือกฎหมู่บางอย่างเพื่อบังคับให้เชื่อ หรือลงโทษจนได้รับความกลัวจนเชื่อในที่สุด การกระทำดังกล่าวนี่ต่างหากที่เรียกว่าล้างสมอง ขณะที่กิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ เราให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ กล้าตั้งคำถาม กล้าสงสัย ไม่มองปัญหารอบตัวเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาพยายามปลูกฝังเรื่องนี้ ให้ประชาชนไม่มองปัญหาความเดือดร้อน ไม่มองความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติ ไม่อย่างนั้น ก็คงไม่อาจผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาได้ คงไม่อาจพัฒนาประเทศได้ ซึ่งวันนี้ เราคุยกันเรื่องให้เด็กมีการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ให้เด็กมีการคิดชั้นสูง ( High Order Thinking)  เอาสิ่งที่คิดมาปฏิบัติเกิดการผลิตนวัตกรรมได้ นี่คือสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่พยายามผลักดัน เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้คิด ถามว่าเป็นการล้างสมองตรงไหน

"องค์กรที่มีการตั้งคำถามกับกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ ควรเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งเราเปิดกว้าง ยินดีต้อนรับอย่างเป็นมิตร อย่าไปจินตนาการเชิงลบ แล้วมาใส่ร้าย และที่สำคัญ ถ้าเราพูดถึงเรื่องการล้างสมอง สังคมควรตั้งคำถามกับงบประมาณ 150 กว่าล้าน กับโครงการชื่อเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง ของ กอ.รมน.โดยมีกลุ่มเป้าหมายในเด็ก 1-5 ปี ซึ่งหากไปถามนักการศึกษา นักจิตวิทยาเด็ก จะได้คำตอบว่า เด็กช่วงอายุขนาดนี้ เป็นเวลาที่เขาต้องพัฒนาสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ซึ่งเป็นสมองส่วนคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ ควบคุมอารมณ์ ช่วงวัยนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของเขาซึ่งนักการศึกษา สังคมต้องฝึกให้เด็กคิด ไม่ใช่มาบรรจุชุดความคิด นี่ต่างหากที่สังคมต้องตั้งคำถามว่า โครงการเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องของ กอ.รมน. มีรายละเอียดอย่างไร ทุกขั้นตอนได้ปรึกษาหารือหรือเห็นชอบจากนักจิตวิทยาเด็ก หรือนักการศึกษาปฐมวัยหรือไม่ เพราะหากไม่ถูกหลักวิชาการ ไม่ถูกหลักนักจิตวิทยาเด็กแล้ว ผมเกรงว่าจะเกิดผลเสียกับเด็กและเยาวชน" วิโรจน์ กล่าว

สำหรับการกำหนดเป้าหมายและตัวชีวัดดังกล่าว ปรากฏอยู่ใน เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เล่มที่ 18 (1) โดย สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี (ดู  http://bbstore.bb.go.th/cms/1570697764_7531.pdf) หน้าที่ 34 ส่วนของ แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนชี้แจง เป้าหมาย - แนวทางการดำเนินงานและตัวชี้วัด กระทรวง - หน่วยงาน - โครงการ - กิจกรรม ระบุถึง โครงการที่ 5 : โครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการ แก้ไขปัญหา กิจกรรม งานส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา ซึ่งตั้ง งบประมาณไว้ที่ 151.2459 ล้านบาท และมี ตัวชี้วัดกิจกรรม ว่า "กลุ่มเป้าหมาย เด็ก/เยาวชน ได้รับการเปลี่ยนแนวคิด อายุ 1-5 ปี เพิ่มขึ้น"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net