Skip to main content
sharethis

อ่าน บ.ก.บห. The Momentum และ นักวิชาการนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ คุยเรื่อง ‘เฟคนิวส์’ ไปให้ไกลกว่าแค่ข่าวลวง คือเจตนาตั้งต้นในการสื่อสาร เมื่อผู้รับสารฟังสิ่งที่อยากได้ยินมากกว่าสิ่งที่ถูก พร้อมวิพากษ์ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ เมื่อรัฐมีอำนาจชี้ผิดถูก แนะการอยู่กับเฟคนิวส์นอกจากเท่าทันสื่อคือมองข้ามอคติในใจและการทำหน้าที่สื่อจากสถาบันสื่อและรัฐ


ภาพจากเพจ The Youngster  จากซ้ายไปขวา พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ผู้ดำเนินรายการ, พรรษาสิริ กุหลาบ, อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา 

 

“คำว่า ‘เฟคนิวส์’ ที่ทำให้ทั่วโลกสั่นสะเทือนนั้นมาจากโดนัลด์ ทรัมป์ หลังการเลือกตั้งปี 2016 ทรัมป์ด่าซีเอ็นเอ็น นิวยอร์กไทม์ วอชิงตันโพสต์ว่าพวกผลิตเฟคนิวส์ ซึ่งเฟคนิวส์ได้กลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่เมื่อเราไม่เห็นด้วยกับใครก็ไปหาว่าคนอื่นมันปลอม”

นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘เฟคนิวส์’ ที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก ตามที่ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหาร The Momentum เล่าไว้ในงานเสวนา ‘โลกยุคใหม่เชื่ออะไรได้บ้าง? ในเมื่อที่ไหนๆ ก็มีแต่ Fake news’ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมาที่ TCDC Commons

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ ‘ความจริง’ เป็นของหายาก การตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงนั้นง่ายนิดเดียวหากไม่เช็คข้อมูลจากหลายแหล่ง และ ‘เฟคนิวส์’ ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แต่ในอินเทอร์เน็ต มันอยู่รอบตัวเราทั้งแต่สื่อเก่ายันสื่อใหม่ แต่การจะแหวกม่านข่าวลวง ข่าวปลอมไปนั้น อาจจำเป็นต้องมีเครื่องมือบางอย่าง เฟสบุ๊คแฟนเพจ ‘The Youngster’ จัดงานเสวนานี้ขึ้น ซึ่งผู้ร่วมเสวนานอกจากอรพิณแล้ว ยังมีพรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยเสริมความรู้ทางวิชาการด้วย

 

ไปให้ไกลกว่าเฟคนิวส์ คือเจตนาตั้งต้นในการสื่อสาร

อรพิณ อธิบายถึงคำว่า เฟคนิวส์น่าจะเป็นของที่เราคุ้นเคยตั้งแต่เกิด เฟคนิวส์ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเทคโนโลยี ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินเฟคนิวส์คือข่าวผิดหรือข่าวปลอม แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วมีกระบวนการที่ชวนวิเคราะห์อยู่ภายเฟคนิวส์เหล่านั้น ข่าวที่ผิดแบบตื้นๆ เช่น ตัวเลขผิดอาจไม่ใช่ปัญหาที่เราพูดถึง แต่ข่าวผิดในที่นี้หมายรวมถึงความตั้งใจของผู้ส่งสารที่อยากให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจผิด

เฟคนิวส์มีนิยามหลากหลาย มีคนพยายามจำแนกประเภทมากมาย แต่คำที่น่าสนใจคือคำว่า Misinformation และ Disinformation  ซึ่งต่างกันตรงที่ Disinformation นั้นผู้ส่งสารมีเจตนตั้งต้นที่อยากให้คนเข้าใจผิด ขณะที่ Misinformation ผุ้ส่งสารอาจไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความเข้าใจผิด แต่สุดท้ายส่งผลในทางที่ผิด

พรรษาสิริ กล่าวเสริมว่า การใช้คำว่าเฟคนิวส์อาจไปลดระดับความซับซ้อนของปรากฎกรณ์นี้ เพราะคนอาจเข้าใจว่าคือข้อมูลผิดพลาด แต่จริงๆ ควรตั้งต้นก่อนว่าใครบอกว่าสิ่งนี้คือเฟคนิวส์ ภาครัฐหรือประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม สำหรับปรากฎการณ์เรื่องเฟคนิวส์ตอนนี้ ในทางการเคลื่อนไหว ทั้งนักข่าวและนักวิชาการพยายามจะให้ใช้คำว่า  Misinformation กับ Disinformation แทนการเหมารวมว่าเป็นเฟคนิวส์

บางสำนักวิชาการยังเพิ่มประเภทอีก เช่น Mal-information หรือการสื่อสารข้อมูลที่ทำให้เกิดคามเกลียดชัง ซึ่งอาจเป็นความจริงก็ได้ ทำให้เกิดความปั่นป่วน สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน ติดกับมายาคติ เช่น การบูลลี่ หรืออีกประเภทคือ Propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อ จากภาครัฐหรือกลุ่มทุนที่ต้องการทำให้สาธารณะเชื่อในบางเรื่อง ซึ่งบางสำนักก็ถือว่าเป็นเฟคนิวส์ และรวมไปถึงข่าวลือ ที่ไม่รู้จะพิสูจน์อย่างไร

ทั้งหมดนี้จึงทำให้เฟคนิวส์นั้นนิยามยาก เพราะปรากฏการณ์เกิดขึ้นเรื่อยๆ และมันอาจไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่ เราเกิดมาเราก็เจอกับข่าวลือต่างๆอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องมคุยกันคือเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมถึงพฤติกรรมการใช้สื่อของพวกเราที่ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไปได้เร็วและไกลมากขึ้น

 

เมื่อผู้รับสารฟังสิ่งที่อยากได้ยินมากกว่าสิ่งที่ถูก

อรพิณเห็นว่า ปัจจุบันผู้รับสารไม่ได้ต้องการรับข่าวสารถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยินดีรับข่าวสารที่ตัวเองอยากได้ยิน ซึ่งเธอพบบ่อยในประเด็นการเมือง

อรพิณยกตัวอย่างข่าวเกี่ยวกับการฟอร์มทีมเลือกตั้งผู้ว่า กทม. มีสื่อพูดว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จับมือกับกรณ์ จาติกวณิช เพื่อลงสมัครผู้ว่าทีมเดียวกัน แต่ชัชชาติรีบโพสต์ทันทีว่าไม่เป็นจริงเลย ซึ่งสำหรับอรพิณเห็นว่าเมื่อต้นทางออกมาพูดแก้ข่าวเองแล้ว ข่าวนั้นควรจะถูกลบ แต่มันก็ยังอยู่ 

“มีคอนเทนต์จำนวนมากที่มีคนแย้งว่าไม่จริงแต่ต้นสังกัดยังเก็บไว้ หรือมีวิธีการอื่นเช่น ไม่ลบข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด แต่ลงข่าวแก้อีกหนึ่งชิ้น ซึ่งการทำแบบนี้ข่าวที่สร้างความเข้าจะผิดก็ยังอยู่ไปเรื่อยๆ หรืออีกกรณี ส่วนใหญ่ที่เจอ ข้อมูลที่น่ากลัวเป็นข้อมูลถูก แต่มันถูกอธิบายในบริบทที่ทำให้คนอาจถูกชักจูงความคิดไปอีกทางหนึ่ง”

“คนจำนวนมากไม่ต้องการฟังสิ่งถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เห็นจากเวลาขัดแย้งทางการเมือง เราอยู่ในแวดวงแบบไหนเราก็จะได้ยินเฉพาะเสียงแบบนั้น” อรพิณกล่าว

พรรษาสิริชี้ว่า ข่าวลืออาจถูกสร้างจากคนทั่วไป แต่จุดที่แพร่กระจายคือสื่อมวลชนหรือ Influencer (ในที่นี่หมายถึงบุคคลผู้มีคนติดตามจำนวนมากในโลกออนไลน์) สื่อช่วยขยายข้อมูลเพราะมีฐานคนติดตามในทุกช่องทาง ทั้งทางสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ออนไลน์ และการเป็นองค์กรสื่อเมื่อเผยแพร่อะไรไป คนสามารถอนุมานได้ว่าจะต้องจริงแน่ ทำให้คนเชื่อโดยไม่ตรวจสอบ หรือสื่อบางเจ้าเน้นย้ำข้อมูลที่ไม่รอบด้าน ซึ่งโดยหลักการวารสารศาสตร์มันควรรอบด้าน หรือข้อมูลเก่าผิดไม่ลบก็ผิดหลักการเช่นกัน

พรรษาสิริกล่าวเพิ่มว่า คำว่ารอบด้านนั้นในงานชิ้นหนึ่งอาจทำไม่ได้ แต่การรอบด้านหมายถึงต้องติดตามประเด็นนี้ต่อเนื่อง เพราะสังคมมีพลวัต มีข้อเท็จจริงใหม่ๆ มาเสมอ 

พรรษาสิริเสริมว่าองค์กรสื่อต่างประเทศก็เป็นเช่นเดียวกัน ในสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมือง สื่อก็อดไม่ได้ที่จะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจด้วยความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ หรือเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ทั้งนี้ในเวทีที่ถกเกี่ยวกับปัญหาเรื่องข้อมูลลวงเช่นนี้ องค์กรสื่อเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกลากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกับปัญหาเหล่านี้

 

ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ เมื่อรัฐมีอำนาจชี้ผิดถูก

ต่อความเห็นกรณีที่รัฐบาลก่อตั้งศูนย์เฟคนิวส์เซ็นเตอร์เพื่อตรวจสอบเรื่องข่าวปลอม อรพิณกล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือหากรัฐมีอำนาจในการชี้ถูกชี้ผิดแก่ข้อมูลข่าวสาร เราต้องไม่ลืมว่ารัฐเป็นกลุ่มผลประโยชน์เช่นกัน ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรเป็นหน้าที่รัฐ แต่รัฐเป็นผู้เล่นหนึ่งที่ควรทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลกรณีที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ แต่ไม่ควรกระโจนเข้าไปบอกว่าใครถูกใครผิด 

พรรษาสิริเห็นด้วยกับอรพิณ และชี้ประเด็นว่า เวลาถามว่ารัฐควรมีบทบาทแบบใด อาจต้องตั้งคำถามสองประเด็นคือ ประเด็นแรก เราคงไม่อยากให้กลุ่มผลประโยชน์ใดมามีอำนาจเหนือในการกำหนดว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด เพราะบางเรื่องอาจยังพิสูจน์ข้อเท็จจริงไม่ได้ในขณะนั้น การมีเพียงคนกลุ่มเดียวมาฟันธงว่าผิด ค่อนข้างจะเป็นปัญหาต่อการทำความเข้าใจข่าวสารในสังคม 

ประเด็นที่สอง ความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองและรัฐเป็นอย่างไร พลเมืองมีความเชื่อใจรัฐหรือไม่ หน้าที่ขององค์กรต่างๆ ในการสร้างความกระจ่างกับประชาชนอาจไม่ใช่การบอกว่าข้อมูลข่าวสารนี้ถูกหรือผิด แต่คือการบอกว่าข้อมูลนี้ถ้ากระจายต่อไปอาจส่งผลเสียอย่างไร

พรรษสิริเปรียบเทียบกับรัฐในตะวันตก ซึ่งมีค่านิยม บรรทัดฐาน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐในอีกแบบหนึ่ง คือยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพของสื่อ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ถ้ารัฐมีฐานการตัดสินใจจากหลักดังกล่าวแต่ต้นประชาชนก็มีความไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อใจรัฐในระดับหนึ่งให้รัฐช่วยจัดการข้อมูล หรือหากรัฐไม่ทำตาม ประชาชนก็สามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ได้

ขณะที่ในไทย ไม่ใช่แค่ศูนย์เฟคนิวส์ แต่มีทั้งความพยายามของกองทัพ ตำรวจ ผ่านกฎหมายหลายฉบับที่จะคอยเฝ้าระวัง กำกับดูแลข้อมูลเหล่านี้ หรือการที่เราเองก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบางส่วนได้ มันจึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส

“เราต้องตั้งคำถามว่าเราเชื่อใจรัฐมากน้อยแค่ไหนที่จะให้เขามาบอกว่านี่ถูกนี่ผิด ถ้าเราไม่เชื่อรัฐ มันควรมีการตรวจสอบขึ้น นั่นคือเราไม่ควรให้บทบาทนี้กับรัฐอย่างเดียว แต่ต้องมีองค์กรอื่นด้วย จะเป็นการกำกับดูแลที่ผสานกันระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน หรือให้จัดการดูแลกันเอง ก็เป็นเรื่องที่ต้องถกไปเรื่อยๆ” พรรษาสิริ กล่าว

 

เมื่อข่าวลือใช้โค่นล้มผู้มีอำนาจ

พรรษาสิริเสนอว่า ถ้าดูแค่ว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องดูด้วยว่าข้อมูลเท็จนี้ถูกนำไปใช้ทำอะไร ข่าวลือบางยุคที่ปรากฎในสังคมที่กดทับการเข้าถึง ข่าวลือก็สามารถเป็นข่าวจริงได้ เพียงแต่เป็นข้อมูลที่รัฐไม่รับรอง 

ยกตัวอย่าง ประเทศกาบอง ซึ่งเป็นประเทศที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของคนในการแสดงออกรวมถึงการรับข้อมูลข่าวสาร ทำให้คนที่อพยพไปประเทศอื่นนั้นเป็นคนของเล่าข่าวสารในประเทศกาบองให้คนในประเทศฟังแทน และมีคนสนใจข่าวจากคนที่อพยพไปเหล่านี้มาก จนกระทั่งประธานาธิบดีของประเทศในตอนนั้นเสียชีวิต แต่รัฐบาลยังคงปิดข่าวไม่ให้ประชาชนรับรู้ คนที่อพยพไปจึงเป็นคนปล่อยข่าว นักข่าวก็ร่วมมือในการปล่อยข่าวว่าประธานาธิบดีตาย จนสุดท้ายรัฐบาลจึงต้องออกมาบอกความจริง

“ในสังคมที่ข้อเท็จจริงไม่อาจเปิดเผยก็อาจต้องใช้วิธีนี้ ดังนั้นเราอาจต้องดูบริบทในสังคมนั้นเทียบไปด้วย” พรรษาสิริสรุป

 

อยู่อย่างไรท่ามกลางเฟคนิวส์

อรพิณกล่าวว่า ต้องพยายามหาข้อเท็จจริงตามหน้าที่เท่าที่เราทำได้ แต่ไม่คิดว่าจะมีพลังพอเปลี่ยนข่าวลือได้สำเร็จ ข้อมูลข่าวสารคือทะเลเวิ้งว้าง ที่เราทำแค่เม็ดทรายเล็กจิ๋ว ถ้าเป็นสมัยก่อนตนคงตอบว่าคือการ counter information (การนำเสนอข้อมูลอีกด้านเพื่อโต้กลับ) ถ้าเจอข้อมูลอันตรายเราต้องพยายามทำให้คนฉุกคิด แต่เราก็หนีไม่พ้นว่ากลุ่มคนที่เราสื่อสารได้ก็มักเป็นกลุ่มคนที่ฉุกคิดได้ตั้งแต่ต้น

พรรษาสิริชี้ว่า เราอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้งสูง ดังนั้นทุกคนจะเลือกเชื่อสิ่งที่เราจะเชื่อ แน่นอนว่าการเท่าทันสื่อ การตั้งคำถามกับข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราจะมองข้ามอคติหรือความเชื่อในใจเราได้หรือไม่

พรรษาสิริเห็นว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทั้งหลายเองก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยในการเตือนว่าข้อมูลนี้แปลกจากปกติ เช่น บริษัทแอพลิเคชั่นสนทนาบริษัทหนึ่งก็จะมีการแจ้งเตือนข้อมูลที่ถูกส่งมา เช่น ข้อมูลนี้ถูกส่งมา 500,000 ครั้งแล้ว ให้เราฉุกคิดว่าการที่ข้อมูลนี้ถูกส่งมากขนาดนี้มีความผิดปกติหรือไม่ มีใครจัดการข้อมูลเหล่านั้นเบื้องหลังหรือไม่

การรู้เท่าทันสื่อ มิติหนึ่งอยู่ที่ตัวเรา แต่อีกมิติหนึ่งคือการเรียกร้องให้สถาบันสื่อรวมถึงสถาบันของรัฐให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะเขาได้รับอำนาจจากประชาชนไปให้ทำหน้าที่นั้น  

“ความคาดหวังว่าบทบาทสื่อในสังคมประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร มันไม่ได้ลอยมาแต่มันมีรากของมันจากการต่อสู้ของประชาชนเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ถ้าเราตั้งมั่นว่าเราอยากให้สังคมเราเป็นประชาธิปไตย คนมีความเท่าเทียม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และจะขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราก็มีสิทธิที่จะคาดหวังการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน”

“ถ้าคุณหวงแหนเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แล้วองค์กรสื่อไหนที่คุณรู้สึกว่าเขาทำตรงนั้นได้ คุณต้องสนับสนุนเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขณะเดียวกันถ้าสื่อไหนที่ไปบดบังแสงสว่าง ทำให้เราพร่ามัว สื่อนั้นก็ควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากเรารึเปล่า” พรรษาสิริกล่าว

 

บทบาทสื่อปัจจุบัน

พรรษาสิริกล่าวว่า ถ้าจะให้วิพากษ์สื่อในภาพใหญ่คงยาก เพราะสื่อมีความหลากหลาย เราไม่ควรเหมารวมว่าสื่อทั้งหมดเป็นอย่างไร ถ้าแบ่งกว้างๆ เป็นสื่อกระแสหลัก การทำหน้าที่นำเสนอข้อเท็จริงอย่างรอบด้านและให้เรารู้สึกตัดสินใจได้ ค่อนข้างไม่เต็มร้อย ยังไม่ชัดเจน แต่มีปัจจัยทั้งเรื่องที่ช่วงนี้สื่อกำลังอยู่ในช่วงขาลง และสื่อเองก็โดนแทรกแซง ส่วนตัวจึงไม่อยากบอกว่าสื่อไม่ดี แต่เพราะมีปัจจัยอื่นอยู่

อรพิณกล่าวเสริมว่า หน้าที่ของสื่อคือการหาข้อเท็จจริงมาให้คนอ่าน แต่ทั้งหมดนั้นคือเรื่องเล่าจากข้อเท็จจริงเสมอ ผ่านการคิด ผ่านการใส่ความเห็นมาโดยตลอด สมมตินักข่าวไปเจอรัฐมนตรีพูดมา 10 ประเด็น นักข่าวต้องเลือกมาเพียง 1 ประเด็นเพื่อขึ้นพาดหัว ขั้นตอนการเลือกประเด็นตรงนี้คือการใส่ความคิดเห็นลงไปในข่าวอยู่แล้ว และขั้นตอนนี้เป็นธรรมชาติของการทำงานข่าว

“ดังนั้นการเท่าทันสื่อคือเราต้องแยกให้ออกมามันผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว ทั้งการคัดแยกประเด็น การพยายามหาข้อมูลให้รอบด้านครบถ้วน เปิดพื้นที่ในการวิเคราะห์ พาให้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเรื่องนั้นๆ ทั้งหมดนี้คือ Gate Keeper ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักข่าว ความต่างระหว่างสื่ออาชีพกับคนทั่วไปที่ใช้สื่อคือการมีความรับผิดชอบจากถูกคาดหวังเฉพาะเจาะจง ไม่ได้หมายความว่าคนทั่วไปจะไม่มีความรับผิดชอบนี้ แต่เพราะเราไม่จำเป็นต้องคาดหวังจากคนทุกคนขนาดนั้น แต่ตอนนี้พลังของการสื่อสารนั้นเพจข่าวก็อาจมีอิมแพคไม่ต่างจาก Influencer หนึ่งคน แต่คนอ่านเห็นว่าข่าวนี้มาจาก Influencer หรือข่าวนี้มาจากองค์กรที่ถูกคาดหวังแบบสื่อมวลชน” อรพิณกล่าว

 

เฟคนิวส์ในบริบทสังคมไทยที่มีความขัดแย้ง

ต่อเรื่องปรากฏการณ์เฟคนิวส์ในสังคมไทย อรพิณเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่เราทำกันไม่ค่อยได้คือ เราทำความเข้าใจคนอื่นที่เชื่อไม่เหมือนเราไม่ค่อยได้ ลูกเถียงกับพ่อแม่เรื่องเลือกตั้ง พ่อแม่รู้สึกลูกถูกหลอกจะไปเลือกใครไม่รู้ ลูกก็รู้สึกว่าคุยกับพ่อแม่ไม่ได้ และพยายามยัดข้อเท็จจริงให้ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้โดยลำพังไม่ค่อยนำไปสู่อะไร

“ปรากฎการณ์เฟคนิวส์คือปรากฎการณ์ทางการเมือง การรับมือกับมันไม่ใช่การรับมือแบบตรงๆ แต่ต้องตั้งต้นว่า ทำอย่างไรให้พ่อแม่เลิกคิดว่าเราเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์ ขณะเดียวกันเราก็ต้องเลิกขึ้นว่าพ่อแม่เป็นเหยื่อของเฟคนิวส์เช่นกัน เราจะทำอย่างไรที่จะเข้าใจได้ว่าเขาหวาดกลัวอะไรในความเชื่อของเรา ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องฝ่าหมอกควันนี้ไป”

พรรษาสิริเห็นด้วยว่า สังคมไทยไม่คุ้นกับความต่าง ความหลากหลาย พอเจออะไรต่างจากเรา ยิ่งเป็นเรื่องที่เรากลัว เราจะยิ่งไม่อยากฟัง นี่เป็นด่านแรกที่ควรทำความเข้าใจ เราจะสร้างวัฒนธรรมที่มีการรับฟังหรือทนกันได้ในระดับหนึ่งได้อย่างไร

“เราอาจต้องหานวัตกรรมการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ที่ทำให้เราทนฟังคนที่คิดไม่เหมือนเราได้ และคนที่ไม่เหมือนเราก็ทนฟังเราได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการรักษาความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิดที่มีความเชื่อต่างกัน ซึ่งตอนนี้เราก็ยังคิดไม่ออก” พรรษาสิริกล่าว

 

เฟคนิวส์ที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

อรพิณตั้งข้อสังเกตว่า กรณีอย่างเฟคนิวส์กับเรื่องสุขภาพ เช่น กินน้ำมะนาวรักษาโรคมะเร็ง เราจะมองว่าทำไมถึงมีคนเชื่อ แต่จริงๆ แล้วคนทำเขาอาจจะไม่ได้เชื่อแบบนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันไม่มีทางเลือกอื่น เช่น โรคที่เผชิญรุมเร้ามาก ใครพูดอะไรก็พร้อมลอง ซึ่งโยงไปถึงปัญหาโครงสร้างระบบสาธารณสุขที่เราอาจมีกำแพงกับการเข้าถึงการรักษา ไม่กล้าคุยกับหมอ หรือการไปหาหมอมีต้นทุนชีวิตทั้งการใช้เงินและเวลา ดังนั้นเมื่อข้อมูลจากองค์กรหลักไม่สามารถทำหน้าที่ ข้อมูลทางเลือกเหล่านี้จึงทำแทน 

“วิธีรับมือกับเฟคนิวส์อย่าไปทำที่ปลายทาง แต่เริ่มต้นก่อนว่าทำไมข้อมูลนี้ถึงทำงานได้ดี ทำไมคนถึงเชื่อ จากปมตรงนั้นเราจะแก้ปัญหาอย่างไร แทนที่จะไปซัดว่า อย่าไปเชื่อ อย่าโง่ เธอต้องเข้าใจแบบนี้” อรพิณกล่าว

พรรษาสิริเสริมว่า ท้ายสุดเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงโครงสร้างอื่นที่ครอบคลุมสังคม ดังนั้นหน้าที่เราถ้าอยากให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้น คงคุยกันแค่เรื่องเฟคนิวส์ไม่ได้ แต่ต้องโยงไปด้วยว่าสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเหล่านี้เขาทำหน้าที่อย่างไรในการสื่อสารกับเรา แต่ละคนอาจต้องทำงานเป็นส่วนๆ แล้วนำข้อมูลข่าวสารในโครงสร้างที่เราเกี่ยวพันมาเชื่อมโยงกัน เราจะได้ข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนที่มีคุณภาพ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net