Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงเวลานี้ น่าจะเป็นที่จับตามองคุณ เอ๋ ปารีณา เรื่องสิทธิแหนือพื้นดิน เกรงว่าถ้าผู้เขียนออกความเห็นหนักเกินไปกลัวว่าจะเป็นการโหนกระแสเสียมากกว่าด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอยกเพียงบางประเด็นที่ควรค่าแห่งการพิจารณา  อาทิ ภาษี และ สิทธิเหนือพื้นดินบางประการ เพื่อให้ท่านผู้อ่านบางท่านฉุกคิด หรือจะเป็นการจุดกระแสขึ้นใหม่ว่าด้วยฟาร์มเป็ด ฟาร์มไก่ (เน้นทำไม?) ฟาร์มสุกร ฟาร์มโค (วัว) อื่นๆ นอกจากการขอใบอนุญาตที่จะต้องมีก่อนเปิดดำเนินกิจการนั้น ผู้ประกอบการต้องพึงระวังประเด็นทางภาษีอากรและที่ดิน ดังต่อได้นี้

ตาม ป.29/2535 ข้อ 1.การขายสัตว์ไม่มีชีวิต เนื้อ ส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ในราชอาณาจักรในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้า ข้อ 2 การขายสัตว์ในราชอาณาจักรในกรณีดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) การขายสัตว์ไม่มีชีวิต .. จะเห็นได้ชัดว่าการขายซากสัตว์ และ/หรือผลพลอยได้ในประเทศไทยย่อมไม่ได้รับยกเว้นVat แต่ถ้าเป็นการขายสัตว์ที่มีชีวิตในประเทศ จะได้รับยกเว้น Vat อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่นั้น ผู้ประกอบการต้องไม่ลืมว่า รายได้จากการทำปศุสัตว์อย่าลืมนำไปเสียเงินได้ด้วยนะครับ ตามประมวลรัษฏากร และรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (9) ความว่า “บุคคลมีหน้าที่ต่อไปนี้ .. เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ทว่าใบ ภบท.5 นั้น ถือเป็นภาษีบำรุงท้องที่ (หรือภาษีดอกหญ้า) หาใช่เอกสารสิทธิเหนือที่ดินดุจกรรมสิทธิ์ (โฉนด)ไม่ เพราะอย่างน้อยใบ ภบท.5 ก็มิได้ออกโดยกรมที่ดิน 

แม้ว่า พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือน 2475 จะถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2562 แต่ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2562 บัญญัติว่า “กฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับใดที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับที่กล่าวถึงหรืออ้างถึงภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ให้มีความหมายเป็นการกล่าวถึงหรืออ้างถึงภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

กฎหมายใดที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งได้บัญญัติให้ทรัพย์สินของบุคคลใดได้รับยกเว้นภาษีอากรตามกฎหมายโดยมิได้ระบุถึงภาษีอากรประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะหรือได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ให้มีความหมายเป็นการยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ เท่ากับผลบังคับของกฎหมายฉบับเก่าให้มีผลโดยไม่ให้มีสภาพบังคับทับซ้อนระหว่างกฎหมายเก่า (ที่ถูกยกเลิก) และกฎหมายฉบับใหม่ ประกอบกับ คำปรารภที่อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ได้ยืนยัน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ว่า “กรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งเวียนตั้งแต่ปี 2551 ว่าที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สาธารณะประโยชน์ ที่ดินของรัฐ ไม่สามารถแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่ได้ และเอกสารดังกล่าวไม่สามารถนำมารับรองสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินได้ด้วย ซึ่งเป็นการแอบอ้างว่าที่ดินแปลงนี้ได้มาถูกต้อง ทั้งที่ไม่สามารถนำมาแอบอ้างได้เลย”

ประกอบกับ มาตรา 9 วรรคสอง ที่ว่า “ … การเสียภาษีของผู้เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นเหตุให้เกิดสิทธิตามกฎหมายอื่น” แปลความได้ว่า การเสียภาษีดอกหญ้า ต้องไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆขึ้น และที่ชัดเจนคือ มาตรา 7 แห่งกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษีจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้” หาใช่กรมที่ดินไม่

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 10 ที่ว่า “ในกรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองหรือการจดทะเบียนการเช่าในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใด ให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขาแจ้งการโอนหรือการจดทะเบียนการเช่าดังกล่าวต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่” โดยสรุป ภาษีดอกหญ้าเป็นภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องเสียให้กับหน่วยงานรัฐ คือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หาใช่ สำนักงานที่ดินไม่ และการเสียภาษีย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ เช่น กรรมสิทธิ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ใบ ภบท.5 ไม่ใช่โฉนดที่ดิน ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการรองรับโดย คำพิพากษาฎีกาที่ 15551/2553 และ 7740/2555 ที่ยืนยันว่า กรณีทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า (ภบท.5) เจ้าของที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครอง จึงใช้ยันได้แค่คู่สัญญา (ตามสัญญาซื้อขาย แต่ไม่สามารถใช้ยันกับรัฐว่าตนเป็นเจ้าของที่ ตาม ภบท. 5)

กลายเป็นว่า ผู้ถือ ภบท.5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ (เจ้าของที่ดิน) เหมือนดังที่อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ได้ยืนยันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

ด้วยเหตุนี้ กรณีคุณ เอ๋จะอ้างว่าตัวเองมีสิทธิครอบครองเหนือพื้นที่ป่าสงวนต่อรัฐย่อมทำได้แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการพิจารณาเรื่องสิทธิเหนือพื้นดินจะเป็นเช่นไร แต่เมื่อมีรายได้เกิดขึ้น ผู้มีเงินได้ก็จำต้องเสียภาษี

สรุปว่าบทความนี้จะสื่อถึงภาษีหรือว่าด้วยสิทธิเหนือพื้นดิน – อะไรมากกว่ากัน? ผู้เขียนก็ยงคงสงสัยครับ แต่บทความนี้ผู้เขียนต้องการจะเตือนสติผู้ที่ทำการซื้อใบ ภบท. 5.น่าจะถือเป็นการซื้อใบเสร็จรับเงิน เท่านั้นหาใช่การโอนกรรมสิทธิ์ไม่ #เตือนแล้วนะครับ

ท้ายนี้ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งนะครับว่าความเห็นในบทความฉบับนี้ เป็นความเห็นของผู้เขียนโดยเฉพาะ หาได้ผูกพันธ์กับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดไม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net