Skip to main content
sharethis

ไม่ตรงตามที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียง หรือตามที่กลุ่มแรงงานเรียกร้อง บอร์ดค่าจ้างขึ้นค่าแรง 10 ระดับ ต่ำสุด 3 จังหวัดชายแดนใต้ 313 บาท สูงสุด ภูเก็ต ชลบุรี 336 บาท เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ทันประกาศมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.63

6 ธ.ค.2562 สุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (หรือ บอร์ดค่าจ้าง)ชุดที่ 20 ครั้งที่ 6/2562 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาและมีมติการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นซึ่งแบ่งเป็น 10 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1) ค่าจ้าง 336 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรีและภูเก็ต ระดับที่ 2) ค่าจ้าง 335 บาท มี 1 จังหวัด คือ ระยอง ระดับที่ 3) ค่าจ้าง 331 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ระดับที่ 4) ค่าจ้าง 330 บาท คือ ฉะเชิงเทรา ระดับที่ 5) ค่าจ้าง 325 บาท มี 14 จังหวัด คือ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี ระดับที่ 6) ค่าจ้าง 324 บาท มี 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี ระดับที่ 7) ค่าจ้าง 323 บาท มี 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม ระดับที่ 8) ค่าจ้าง 320 บาท มี 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์ ระดับที่ 9) ค่าจ้าง 315 บาท มี 22 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ ระดับที่ 10) ค่าจ้าง 313 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

สุทธิ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้น 6 บาท ใน 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่เหลือ 68 จังหวัดจะปรับขึ้น 5 บาท ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยแบ่งเป็น 10 ระดับสูงสุดอยู่ที่ 336 บาท คือ ชลบุรี และภูเก็ต ต่ำสุดอยู่ที่ 313 บาท ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขณะที่อัตราค่าจ้างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ที่ 331 บาท ส่วนที่เหลือจะลดหลั่นกันไปตามลำดับ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่จะถึงนี้

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ได้พิจารณาอย่างกว้างขวางและรอบคอบ เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ภาวะเงินเฟ้อ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนมาตรการลดผลกระทบนั้น มีกระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาดูแลในเรื่องการควบคุมราคาสินค้า เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน ได้ดูแลในเรื่องผลกระทบด้วยการประกันการว่างงาน และการเพิ่มทักษะฝีมือให้แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้น เป็นต้น

(ที่มา เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน)

ไม่ตามที่เคยหาเสียงและกลุ่มแรงงานเรียกร้อง

อย่างไรก็ตามนโยบายพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตอนหาเสียงนั้น อ้างไว้ที่ 400-425 บาท ซึ่งประเด็นนี้ เมื่อ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มคนงานจากสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย (สพท.)และ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) เข้ายื่นหนังสือเรียกร้อง ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 425 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามนโยบายที่หาเสียงด้วย

ส่วน 14 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นเรื่อง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ ที่ผ่านมา คสรท. และสรส. ได้เคยมีข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 360 บาท 421 บาทและ 700 บาท ต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึง 2560 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการสำรวจค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆ วันนี้ยังคงเป็นจุดยืนเดิมโดยขอประกาศว่า รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงาน และครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ รัฐบาลต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างประจำปี รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง รัฐบาลต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการที่เป็นอิสระ และมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net