Skip to main content
sharethis

กองบรรณาธิการสื่อนิวยอร์กไทม์นำเสนอปรากฏการณ์ที่ผู้นำหลายแห่งในโลกใช้วิธีการโทษสื่ออ้างว่าเป็นข่าวปลอม หรือที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ “เฟคนิวส์” เป็นกระแสตามหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นคนเปิดประเด็น การโจมตีสื่อเช่นนั้นมักทำไปเพื่อปกป้องตัวเอง ยึดกุมความเป็นผู้ถือครองความจริง และลิดรอนเสรีภาพสื่อ แทนที่จะให้สื่อทำงานตรวจสอบกันเองได้เต็มที่

ในสมัยปี 2560 หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์ เขาเขียนข้อความทางทวิตเตอร์กล่าวหาว่าสื่ออย่าง CNN เป็น "ข่าวปลอม" หรือ "Fake News" หลังจากนั้นเป็นต้นมา ราวกับเป็นกระแสไวรัลอะไรสักอย่างในหมู่ชนชั้นนำ เหล่าผู้นำหลายแห่งโลกต่างพากันอ้างใช้คำว่า "ข่าวปลอม" โจมตีสื่อต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศอำนาจนิยมที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐฯ เช่นเวเนซุเอลาหรือจีน

สำหรับกรณีจีนนั้น เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ที่รัฐบาลจีนแถลงโต้ตอบสื่อนิวยอร์กไทม์หลังมีการรายงานข่าวเปิดโปงเอกสารลับของทางการจีนที่แสดงให้เห็นว่ามีค่ายกักกันชาวมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเจียงจริง รัฐบาลจีนที่ปฏิเสธการมีอยู่ของค่ายกักกันดังกล่าวมาตลอด อ้างว่านิวยอร์กไทม์ "กุข่าวปลอมขึ้นมาเองเพื่อหลอกล่อสายตา เป็นเล่ห์กลที่ทำกันเป็นนิสัยของสื่อนิวยอร์กไทม์จากอเมริกา และหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็กำลังประสบปัญหาวิกฤตความน่าเชื่อถือจากการหลอกลวงของตัวเอง"

การโจมตีสื่อด้วยข้ออ้างเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักประวัติศาสตร์เปิดเผยว่าการป้ายสีด้วย "ข่าวปลอม" มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยของจอมเผด็จการนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่มักจะโจมตีสื่อว่าเป็น "ลูเกนเพรสเซ" ที่เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า "สื่อโกหก" เพื่อเป็นการทำลายชื่อเสียงของสื่ออิสระ และดูเหมือนว่าในตอนนี้มีการใช้วิธีการเดียวกันจากผู้นำอำนาจนิยมจอมกดขี่ที่ทำการคุกคามชนกลุ่มน้อยอย่างรัฐบาลจีน แบบเดียวกับที่ผู้นำนาซีใช้ปราบปรามชาวยิว

สำหรับกรณีการกล่าวหาสื่อว่าเป็น "ข่าวปลอม" ของทรัมป์นั้น นิวยอร์กไทม์วิเคราะห์ว่าตัวทรัมป์เองไม่ได้มีเป้าประสงค์ในทางยุทธศาสตร์ พวกเขามองว่าทรัมป์เป็นคนที่ทำอะไรโดยมองผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลักโดยที่หลายครั้งก็หุนหันพลันแล่นไม่คิดหน้าคิดหลัง เช่นกรณีการสั่งถอนทัพจากซีเรียนั้นเขาไม่ได้คำนึงถึงเรื่องผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสมดุลทางอำนาจในตะวันออกกลางเลย

แต่นิวยอร์กไทม์ก็วิเคราะห์ว่าทรัมป์เองก็เป็นจอมชักใยที่ชอบเล่นกับสื่อ เขาคอยประคบประหงมสื่อมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเป็นคนดังเมื่อทศวรรษ ค.ศ. 1970 แต่พอรัฐบาลภายใต้การนำของเขาถูกเปิดโปงเรื่องความล้มเหลวในการบริหารหลายเรื่อง การไม่ทำตามสัญญา และการเล่นพรรคเล่นพวกกับครอบครัวตัวเอง ก็ทำให้ทรัมป์ต้องพยายามหาวิธีอธิบายกับผู้ติดตามทวิตเตอร์ของตัวเอง จนถึงขั้นมีคนนับสถิติว่า จนถึงทุกวันนี้ ทรัมป์ทวีตคำว่า "ข่าวปลอม" หรือ "fake news" แล้วมากกว่า 600 ครั้ง

มีตารางสถิติระบุในรายงานข่าวด้วยว่า ในช่วงระยะเวลาที่มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นกับทรัมป์ เช่นตอนที่มีการสืบสวนพบว่ามีหน่วยข่าวกรองรัสเซียที่ดำเนินปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 นั้น เขาก็ทวีตคำว่า "ข่าวปลอม" เพิ่มขึ้นมาก และที่ทำลายสถิติตัวเองคือในช่วงที่สื่อติดตามเรื่องการไต่สวนเพื่อพิจารณาถอดถอนตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ก็ทวีตคำว่า "ข่าวปลอม" เพิ่มมากขึ้นเกิน 40 ครั้งในเดือนเดียว

การกล่าวหาสื่อว่าเป็น "ข่าวปลอม" ยังทำให้ผู้นำประเทศอื่นๆ ติดนิสัยเอาไปใช้กันด้วย รวมถึงบางครั้งก็เอาไปใช้ในทางลิดรอนเสรีภาพสื่อ เช่นกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐบางระดับสูงในประเทศบุรุนดีสั่งแบนสื่อบีบีซีโดยกล่าวหาว่าเป็น "ข่าวปลอม" ในพม่าที่มีกรณีการข่มเหงรังแกชนกลุ่มน้อยเช่นชาวโรฮิงญาก็มีเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าสื่อนิวยอร์กไทม์เป็น "ข่าวปลอม" รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัสเซียถึงขั้นใช้คำว่า "FAKE" ที่แปลว่า "ปลอม" สีแดงตัวใหญ่ๆ แปะไว้บนเว็บไซต์เพื่อสื่อถึงรายงานข่าวที่รัฐบาลไม่ชอบ

ปัญหา ความย้อนแย้ง และคำถามถึงไทย เมื่อเสรีภาพสื่อจะเป็นประเด็นระดับโลก

ทั้งนี้ยังมีบางประเทศที่อ้างเรื่อง "ข่าวปลอม" เพื่อผ่านร่างหรือบังคับใช้กฎหมายในทำนองลิดรอนสื่อไม่ว่าจะเป็นจอร์แดน แคเมอรูน หรือชาด กรณีของชาดนี้มีการสั่งแบนไม่ให้เข้าถึงโซเชียลมีเดียทั่วประเทศมาเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้วโดยอ้างว่าเพราะมี "ข่าวปลอม"

นิวยอร์กไทม์ระบุว่า จริงอยู่ที่สื่อควรเปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ เปิดโปง หรือวิเคราะห์อคติต่างๆ ที่ออกมากับข่าวสาร แต่การอ้างโทษสื่อของกลุ่มผู้มีอำนาจนั้นต่างกัน เพราะมันอาจจะกลายเป็นการอ้างเพื่อทำลายสื่ออิสระ กระทบกับประชาธิปไตยทั่วโลก ทำให้ผู้คนไม่รู้ว่าควรจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร ท้ายที่สุดจะกลายเป็นว่าประชาชนและรัฐบาลถือครองชุดความจริงที่ต่างกัน และชุดความจริงที่มีอำนาจมากกว่าจะกลายเป็นความจริงที่มีบทบาทนำ

ในสหรัฐฯ มีตัวอย่างที่ดีคือกรณีของ ส.ว. มิตช์ แมคคอนเนล จากรัฐเคนทักกี ที่ไม่เล่นเกมโจมตีสื่อไปกับทรัมป์ โดยบอกว่า "ในมุมมองของผมแล้วข่าวเกือบทั้งหมดไม่ได้เป็นข่าวปลอม" แมคคอนเนลยังพูดในทำนองที่มองว่าสนับสนุนเสรีภาพสื่อและให้คุณค่ากับการทำงานของสื่ออย่างการเปิดโปงเรื่องค่ายกักกันซินเจียง

บทเรียนหนึ่งที่นักการเมืองควรคำนึงถึงจากรายงานของนิวยอร์กไทม์คือ แทนที่จะโทษสื่อ พวกเขาควรช่วยปรับปรุงความแม่นยำของสื่อโดยการวางบทบาทความรับผิดชอบให้กับบริษัทไอทีเจ้าของโซเชียลมีเดียทั้งหลายที่เปรียบเสมือนเป็นผู้ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลของโลกปัจจุบัน สื่อเองก็ควรจะมีความรับผิดชอบในการแก้ไขข้อผิดพลาด ต่อสู้เพื่อขจัดอคติจากเนื้อหาข่าวและมุ่งแสวงหาความจริง

เรียบเรียงจาก

Who Will Tell the Truth About the Free Press?, The New York Times, Nov. 30, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net