ยุโรปกำลังนำการเกณฑ์ทหารกลับมาจริงหรือ ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 พลันที่พรรคอนาคตใหม่นำโดย พลโท พงศกร รอดชมพู รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมาธิการ ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ของสภาผู้แทนราษฏร มีความพยายามเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขรายละเอียดการเกณฑ์ทหาร เพื่อเปลี่ยนระบบการได้มาซึ่งกำลังพลของประเทศจากการเกณฑ์กำลังพลไปสู่กองทัพในรูปแบบสมัครใจ เสียงตอบโต้มากมายก็ตามมาจากกองเชียร์ฝ่ายรัฐบาล ทั้งบุคคลในโซเชียลมีเดีย สื่อหนังสือพิมพ์ และบุคคลในรัฐบาลออกมาแถลงตอบโต้เอง ด้วยเหตุผลว่า อาจไม่มีกำลังเพียงพอ จะทำให้ไม่มีความพร้อมรบ แล้วใครจะดูแลเวลาเกิดสาธารณะภัย

 การตอบโต้ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่รุนแรงถึงขนาดกล่าวว่า การรณรงค์ของพรรคอนาคตใหม่เป็นการปลุกระดมเยาวชน การสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม นำเรื่องความมั่นคงไปใช้ทางการเมือง โฆษกกระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวานิชย์ ถึงกับต้องออกมากำชับว่า “กองทัพยังมีความกังวลอยู่บ้าง ต่อการนำเรื่องความมั่นคงไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองผ่านกิจกรรมต่างๆด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและครบถ้วน”

 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือหนึ่งในเหตุผลที่โฆษกกระทรวงกลาโหมนำมาอ้างเพื่อคัดค้านการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร คือ “หลายประเทศที่เคยยกเลิกการเกณฑ์ทหาร กำลังเตรียมผลักดันให้กลับมามีการเกณฑ์ทหารเช่นเดิม โดยเฉพาะประเทศในยุโรป” เพื่อสื่อสารว่าแม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วยังคิดว่าการเกณฑ์มีความจำเป็นเลย แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริง เหตุผลนี้ดูจะขัดแย้งอย่างรุนแรงกับถ้อยคำเรื่องการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนต่อสังคมของกระทรวงกลาโหม เพราะในความเป็นจริงประเทศในยุโรปได้นำการเกณฑ์ทหารกลับมาจริงหรือไม่ ? และด้วยเหตุผลอะไร ?

ปัจจุบันมีประเทศในทวีปยุโรปที่ได้เคยทำการยกเลิกการเกณฑ์ไปแล้วและนำกลับมาใช้อีกครั้ง คือ ลิธัวเนีย และสวีเดน

โดยลิธัวเนีย แม้จะเป็นประเทศสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือหรือนาโต ได้นำการเกณฑ์ทหารกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2015 ภายหลังเผชิญภัยคุกคามจากนโยบายขยายอิทธิพลของรัสเซีย ด้วยการทำสงครามผนวกจอร์เจียในปี 2008 และไครเมียในปี 2014 ทำให้ประเทศที่มีประชากรเพียง 2.7 ล้านคน และตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรบอลติคซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากรัสเซียโดยตรง

ในขณะที่สวีเดนเป็นประเทศนอกสนธิสัญญานาโต ซึ่งหมายความว่า สวีเดนจะไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎบัตรข้อที่ 5 ข้องสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือ ที่ว่า “หากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตี ให้ถือว่าเป็นการโจมตีทุกประเทศสมาชิกนาโต” ทำให้สวีเดนตกอยู่ในความเสี่ยงของการต้องรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซียอย่างโดดเดี่ยว ด้วยประชากรเพียงแค่ 11 ล้านคน ซึ่งมีขนาดพอพอกันกับประชากรในกรุงเทพมหานครฯ เพียงจังหวัดเดียว จึงเป็นการสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่สวีเดนนำการเกณฑ์ทหารกลับมาใช้ใหม่ในปี 2017

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ด้วยระเบียบอำนาจระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปหลังยุคสงครามเย็น ทำให้หลายประเทศตัดสินใจยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ด้วยนโยบายขยายอิทธิพลของรัสเซียทำให้ประเทศเล็กๆทางยุโรปตะวันออกเผชิญกับภัยความมั่นคงเร่งเด่นจึงต้องนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง โดยนอกจากลิธัวเนียและสวีเดนแล้วก็ไม่มีประเทศใดมีความคิดในการนำการเกณฑ์ทหารกลับมาใช้อีก แม้แต่ประเทศรัสเซียเองก็กำลังจะมีการยกเลิกตามคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีปูติน

นอกจากนั้นยังมีอีก 2 ประเทศในยุโรปซึ่งกำลังมีบทสนทนาภายในประเทศ คือ เยอรมันและฝรั่งเศส ว่าควรนำการเกณฑ์พลเรือนกลับมาใช้ในประเทศหรือไม่ โดยการเกณฑ์พลเรือนนี้ไม่บังคับว่าผู้ที่เกณฑ์จะต้องทำหน้าที่ภายในกองทัพ แต่สามารถเลือกกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ตามองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือองค์กรรัฐที่เป็นพลเรือนอื่นๆได้ โดยความพยายามทั้งหมดเป็นไปเพื่อปลูกฝังความเป็นพลเมืองให้กับเยาวชนของประเทศ

ข้อเสนอของประธานาธิบดี Emmanuel Macron ในประเทศฝรั่งเศส โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความคุ้นชิ้นระหว่างเยาวชนในสังคม ต้องพบกับการโจมตีอย่างรุนแรงจากหลายภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะองค์การนิสิตนักศึกษา ทำให้ข้อเสนอของ Macron เหลือเพียงการเกณฑ์พลเรือนในวัย 15-16 ปี เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อมาอยู่กินร่วมกันและทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ 2 สัปดาห์แรกของกิจกรรมอุทิศให้กับการเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาล การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้เยาวชนมีความคุ้นชินต่อการตอบสนองในฐานะพลเรือนต่อเหตุก่อการร้ายหรืออุบัติเหตุต่างๆ รวมทั้งเป็นการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันและถกเถียงกันในเรื่องปัญหาทางสังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ส่วน 2 สัปดาห์หลังเป็นการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์

ในประเทศเยอรมัน ข้อเสนอการนำระบบเกณฑ์พลเรือนเป็นเวลา 1 ปี มาจาก Annegret Kramp-Karrenbauer ผู้นำพรรค Christian Democratic Union คนใหม่ พร้อมทั้งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทรวงกลาโหมและทายาททางการเมืองของ Angela Merkel โดยเยอรมันเป็นหนึ่งในประเทศตะวันตกซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาผู้ลี้ภัยและความขัดแย้งด้านวัฒนธรรมในสังคมมากที่สุด Kramp-Karrenbauer อ้างถึงแรงสนับสนุนของประชาชนซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรค CDU ที่ต้องการนำระบบการเกณฑ์พลเรือนกลับมาเพื่อสร้างความกลมเกลียวในสังคมเป็นหลัก มิใช่การขาดแคลนกำลังพลของกองทัพเยอรมันอันเนื่องมาจากระบบสมัครใจ เพราะตำแหน่งที่ขาดแคลนในกองทัพเยอรมัน คือ วิชาชีพซึ่งแม้แต่ในสังคมโดยทั่วไปก็ขาดแคลน เช่น แพทย์ บุคลากรด้านสารสนเทศ

 โดยข้อเสนอนี้ของพรรค CDU แทบไม่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะ นอกจากพรรค CDU แล้ว ก็มีเพียงพรรค Alternative for Germany เท่านั้นที่สนับสนุน ซึ่งรวมกันแล้วมีเพียงเสียงในสภาเพียงแค่ 337 จาก 709 ที่นั่งเท่านั้น แต่ว่ากฏหมายฉบับนี้ต้องใช้เสียงในสภาล่างของเยอรมันถึง 2 ใน 3 เพื่อทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเมื่อเสนออกมาก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในสังคมโดยเฉพาะจากพรรคร่วมรัฐบาล Social Democratic

ผมเห็นด้วยกับคำพูดของโฆษกกระทรวงกลาโหมเป็นอย่างมากว่า ในเรื่องความมั่นคงนั้นไม่ควรมีการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและสร้างความเข้าใจผิด ดังนั้นคำถามที่ต้องถามกลับไปยังโฆษกกระทรวงกลาโหมก็คือ ยุโรปไหนที่กำลังจะนำการเกณฑ์ทหารกลับมา
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท