Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 1: กำเนิดพระพุทธรูป
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 2: พระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 3: การเมืองและความเป็นไทยในพระปฏิมา
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 4: พระพุทธรูปกับสถาบันพระมหากษัตริย์
 

ตอนที่ 5 ประเด็นหลักของบทความนี้จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธรูป 2 ประการคือ  (1) ความหมายของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานไว้เป็นองค์ประธานในพระอุโบสถหรือวิหารของวัดนั้น มีความหมายสำคัญต่อวัดอย่างไร พระพุทธรูปทำหน้าที่อะไรบ้าง (2) มีข้อถกเถียงที่น่าสนใจเกี่ยวกับความหมายอันแท้จริงของพระพุทธรูปว่า พระพุทธรูปที่ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถหรือในวิหารนั้นแท้จริงแล้ว เป็นสัญลักษณ์สื่อสารถึงอะไรกันแน่ ระหว่างการเป็นตัวแทนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ) กับการเป็นเครื่องมือสื่อสาร “พุทธภาวะ” อันเป็นสากล ข้อแรกจะทำให้เห็นวิธีการเปลี่ยนแปลงวัตถสสารที่เป็นธรรมดาสามัญให้กายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือที่นักมานุษยวิทยาเรียกว่า พระพุทธเจ้าผู้มีชีวิต ขณะที่ข้อสองจะทำให้เห็นแนวการตีความพระพุทธรูปที่เสมอชัย พูลสุวรรณ มองว่ามีมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง หมายความได้ว่าสังคมไทยนั้นเคยรับอิทธิพลของแนวคิดแบบมหายานเกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามาก่อนจะถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางนี้เอง


สุดท้ายจะใช้แนวคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ มาอธิบายแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย คือการเรียกขานพระพุทธรูปที่เคารพบูชาว่าหลวงพ่อ การเรียกพระพุทธรูปว่าหลวงพ่อนั้นมีนัยสำคัญอย่างไร

 


เครดิตภาพ: 
https://library.kku.ac.th/ulib//dublin.linkout.php?url=https%3A%2F%2Flibrary.kku.ac.th%3A443%2Fulib%2F%2F_fulltext%2Fcover%2F39487%2F20160916100415_1616.jpg


การทำให้รูปปฏิมาให้กลายเป็นพระพุทธเจ้าที่มีชีวิต

เมื่อเราไปยังเขตพุทธาวาสของวัดที่ประกอบด้วยโบสถ์วิหารหรือลานพระเจดีย์ เพื่อทัศนศึกษา ท่องเที่ยวหรือไปไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตก็ตาม จุดมุ่งหมายหลักของพุทธศาสนิกชนทั่วไปมักจะอยู่ที่พระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่ผู้คนนับถือว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดแห่งนั้น ตามโบราณพุทธสถานของไทย เช่น ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือจังหวัดสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมหรือถูกกำหนดให้เป็นจุดเช็กอินนอกจากพระสถูปเจดีย์หรือพระปรางค์ ก็จะเป็นพระวิหารหรือพระอุโบสถอันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด

เมื่อเราพูดถึงพระพุทธรูปในฐานะพระประธาน มีความหมาย 2 ประการในระดับกว้างและระดับที่แคบลงไป ตัวอย่างเช่น วัดพระปฐมเจดีย์นั้นถือว่าเป็นวัดที่มีพระสถูปเจดีย์เป็นประธานของวัดหรือเป็นศูนย์กลางของวัด เมื่อเราไปเที่ยวชมวัดพระปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปอันเป็นจุดหมายที่ชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ตั้งใจไปนมัสการย่อมเป็นพระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน (ปางประทานพร) ประดิษฐานอยู่ด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนืออันเป็นที่ตั้งของตลาดปฐมมงคลราวกับกำลังประทานพรแก่ชาวนครปฐม พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับชาวบ้านทั่วไป ชาวนครปฐมมักจะไปไหว้ขอพร เมื่อสำเร็จก็จะนำไข่ต้มไปถวายเป็นการแก้บนอย่างไรก็ตามเมื่อเราเดินเวียนรอบองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางด้านตรงกันข้ามคือด้านทิศใต้ เราจะพบพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยทวารวดีองค์หนึ่ง ปางปรลัมพปาทาสนะหรือภัทราสนะ นั่งห้อยพระบาท พระชานุแยกห่างจากกัน พระพุทธรูปองค์นี้รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “หลวงพ่อศิลาขาว” ประดิษฐานเหนือบันไดทางขึ้นสู่วิหารที่จะพาไปยังวิหารปัญจวัคคีย์ที่แสดงความเป็นมาของพุทธศาสนาในอาณาจักรทวารวดีและประวัติการสร้างพระปฐมเจดีย์ หลวงพ่อศิลาขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ดูเคร่งขรึมดุจจักรพรรดิ ตามคติของการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ พระพุทธรูปทั้งสององค์คือพระร่วงโรจนฤทธิ์และพระศิลาขาวนี้ถือว่าเป็นพระประธานของวัดพระปฐมเจดีย์ก็ได้ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญทั้งคู่ ทีนี้ถ้าเราเดินอ้อมบริเวณองค์พระไปยังด้านทิศตะวันตกก็จะพบวิหารซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์เป็นประธานอยู่ภายในนั้น ส่วนในวิหารปัญจวัคคีย์ เราจะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานไว้เป็นองค์ประธาน ด้านในจะเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ด้านหน้าเป็นปางโปรดปัญจวัคคีย์

ถ้าเราเดินย้อนกลับไปทางทิศตะวันออกและเดินลงบันไดไปอีกชั้นหนึ่งเราเห็นพระอุโบสถของวัดพระปฐมเจดีย์ที่เป็นอาคารที่มีลักษณะเรียบง่าย (ต่างจากอุโบสถวัดอื่นๆ) ประตูทางเข้าเปิดกว้างเหมาะสมสำหรับการเดินเข้าไปนมัสการพระ วันธรรมดาจะเป็นมุมที่สงบเงียบเหมาะแก่การนั่งสวดมนต์อธิษฐานหรือบำเพ็ญสมาธิ ภายในพระอุโบสถนี้มีพระพุทธรูปปางปรลัมพปาทาสนะหรือภัทราสนะ ศิลปะทวารวดีเป็นประธาน ซึ่งจะแตกต่างจากวัดโดยส่วนใหญ่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือไม่ก็ปางสมาธิเป็นพระประธานในพระอุโบสถ การประดิษฐานพระพุทธรูปปางนี้เป็นประธานในอุโบสถแสดงถึงความปรารถนาที่จะสื่อสารความเก่าแก่ของอารามแห่งนี้ด้วย  วัดต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม เช่น วัดศีรษะทอง วัดไร่ขิง จะมีพระพุทธรูปปางนี้ประดิษฐาน ณ จุดสำคัญของวัดเช่นกัน เข้าใจว่าวัดต้องการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของพุทธศาสนาในดินแดนนี้ผ่านพระพุทธรูปสมัยทวารวดี

การประดิษฐานพระประธานไว้ในพระอุโบสถเป็นเรื่องปกติทั่วไปของวัดต่างๆ โบสถ์หรืออุโบสถเป็นสถานที่ทำสังฆกรรม เช่น พิธีอุปสมบท พิธีรับผ้ากฐิน สวดพระปาติโมกข์ หรือพิธีอื่นๆ ที่พระวินัยกำหนดให้พระสงฆ์ต้องทำในพื้นที่เฉพาะซึ่งเรียกตามบาลีว่า “สีมา” โดยทั่วไปแล้ว เราเข้าใจกันว่า พระประธานในอุโบสถหรือพระวิหารก็ล้วนมีความหมายสำคัญในแง่เป็นพระปฏิมาแทนองค์ศาสดาของพุทธศาสนา เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกอยู่เสมอว่าพระสงฆ์และชาวพุทธล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า เมื่อมีพระพุทธรูปในฐานะพระประธานในสถานที่นั้นๆ ก็เปรียบเสมือนว่าในสถานที่แห่งนั้น มีพระพุทธเจ้าทรงดำรงอยู่ท่ามกลางพวกเขา (พระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไป) พิธีกรรมหรือกิจกรรมใดๆ ทางศาสนา เช่น การบำเพ็ญบุญตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ไม่เพียงกระทำต่อเบื้องหน้าพระสงฆ์เท่านั้น หากแต่กระทำต่อเบื้องหน้าพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานอีกด้วย โดยอาศัยกรอบคิดเกี่ยวกับพระพุทธรูปเช่นนี้ คนทั่วไปจึงถือว่าพระพุทธรูปที่ตั้งไว้เป็นประธานตามพุทธศาสนสถานมีฐานะเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา แต่รูปแบบพิธีกรรมที่ชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และฆราวาสปฏิบัติต่อพระพุทธปฏิมานั้นคล้ายดังว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่มีชีวิต โดยเฉพาะเมื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การสวดมนต์ทำวัตรเช้า - เย็น ที่ต้องกระทำต่อหน้าพระพุทธรูปในโบสถ์หรือวิหารให้ความรู้สึกราวกับว่าย้อนกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า การไหว้พระพุทธรูปในฐานะประธานสงฆ์ภายในวัดจึงเป็นการเชื่อมประสานมิติเวลาในอดีตกับเวลาปัจจุบันเข้าด้วยกันในพื้นที่ที่มีความสำคัญมีพระพุทธเจ้าสถิตเป็นองค์ประธานในพื้นที่แห่งนั้น

การคิดถึงพระพุทธรูปในฐานะพระพุทธเจ้าที่มีชีวิตนั้นเป็นคติที่อาจมองเห็นได้ผ่านประเพณีสร้างพระพุทธรูปของชาวล้านนา ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ กล่าวถึงประเพณีนี้ไว้โดยละเอียดทั้งในแง่วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องประกอบขึ้นเป็นองค์พระและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระพุทธรูป เช่น การบรรจุหัวใจพระเจ้า การอบรมพระเจ้า (พิธีพุทธาภิเษก) เป็นต้น ตามคติของชาวล้านนา เมื่อมีการสร้างวัดก็ต้องมีการสร้างพระพุทธรูปไว้สักการบูชาไปพร้อมกัน มีบางวัดที่สร้างพระพุทธรูปไว้ก่อนสร้างวัด เช่น กรณีวัดศรีสุพรรณอาราม ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อสร้างวัดครั้งแรก ในพ.ศ. 2052 ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานในที่หนึ่ง หลังจากนั้นจึงสร้างวัดขึ้นภายหลัง พระพุทธรูปที่สร้างเสร็จแล้วจะประดิษฐานอยู่ในวัดเท่านั้น ไม่มีธรรมเนียมในการสร้างพระไว้บูชาในบ้านฆราวาส วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระประธานถือเป็นอาคารสำคัญของแต่ละวัด ชาวล้านนาเชื่อถือกันว่าเป็นกุฏิของพระพุทธเจ้า พระพุทธรูปต้องผ่านพิธีพุทธาภิเษก หรือพิธีอบรมพระเจ้า พิธีเบิกพระเนตรและบรรจุหัวใจพระเจ้าโดยสมบูรณ์ ชาวล้านนาเคารพศรัทธาในพระพุทธรูปเสมือนดังพระพุทธเจ้าขณะดำรงพระชนม์ชีพ ในบางครั้งถึงกับทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินแก่พระพุทธรูปเพื่อหวังผลบุญในภพหน้า เช่น ในปี พ.ศ.2042 ภายหลังจากนางบุญยวงน้องเจ้าเมืองกุมกามสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งด้วยทองสำริดเพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดกานโถมในเวียงกุมกาม นางได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติของนางแด่พระพุทธรูป พินัยกรรมซึ่งจารึกบนศิลามีข้อความอุทิศบ้าน สวนหมาก ข้าคน ข้าวของต่างๆ เพื่อบุญพระเจ้าวัดกานโถม[1]

ข้อที่น่าสนใจประการหนึ่งในคติการสร้างพระพุทธรูปของชาวล้านนาที่ ม.ล.สุรสวัสดิ์ กล่าวไว้คือการทำพิธีก่อพระพุทธรูปอิฐ ซึ่งมีพิธีกรรมทางศาสนาเกี่ยวข้องทุกขั้นตอนการก่ออิฐ  เช่น เมื่อจะเริ่มก่ออิฐจะต้องนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์ เมื่อถึงฤกษ์ก็ให้พระสงฆ์ 4 รูป (สมมติชื่อเป็นพระพุทธรักขิต 1 รูป พระธรรมรักขิต 1 รูป และพระสังฆรักขิต อีก 2 รูป) เป็นผู้วางอิฐมงคลตรงที่จะก่อพระชานุซ้าย พระชานุขวา โคนขาขวา และโคนขาซ้าย “เมื่อวางอิฐมงคลแล้ว ให้พระสงฆ์สมมติชื่อของช่างที่จะก่อว่า “ธรรมปัญญา” ให้นุ่งเสื้อผ้าสีขาว และให้สมมติช่างอีกคนว่า “ไชยมังคละ” เมื่อช่างทั้งสองพร้อมแล้วให้ขึ้นไปบนแท่นแก้วและลงมือก่อ โดยมีพุทธศาสนิกชนร่วมกันเป็นลูกมือ เมื่อก่อขึ้นไปถึงบริเวณอกให้ทำช่องไว้ที่ด้านหลังเพื่อเป็นที่บรรจุหัวใจ แล้วจึงก่อขึ้นไปจนสำเร็จ”[2] วัตถุที่เรียกว่าหัวใจของพระเจ้าที่จะบรรจุไว้ในช่องอกของพระพุทธรูปนั้นนอกจากจะทำรูปคล้ายหัวใจหัวใจของมนุษย์แล้วยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ของเครื่องในมนุษย์ เช่น ปอด ตับ ซี่โครง เป็นต้น ซึ่งทำด้วยเงินทำเป็นพวงบรรจุลงใน “กลวงท้องพระเจ้า” [3] เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องมีพิธีอบรมพระเจ้าหรือพุทธาภิเษก พิธีกรรมจะเริ่มต้นตั้งแต่ตอนย่ำค่ำไปถึงใกล้รุ่ง ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือพิธีเบิกเนตรหรือที่ทางล้านนาเรียกว่า พิธีไขตาพระเจ้า ตามการศึกษาของนักวิชาการชาวตะวันตก ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาเถรวาท พระประธานในวิหารต้องทำพิธีพุทธาภิเษกอย่างเป็นทางการ พิธีพุทธาภิเษกจำเป็นเพราะเป็นการเปลี่ยนรูปประติมากรรมมาสู่พระปฏิมาหรือพระพุทธรูปที่มีจิตวิญญาณ และกลายเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาไปพร้อมกันด้วย จากมุมมองด้านมานุษยวิทยา พิธีพุทธาภิเษก หรือการอบรมพระเจ้า คือการเปลี่ยนสภาพพระพุทธรูปไปสู่ความเป็นพระพุทธเจ้าที่มีชีวิตผ่านทางการจำลองแบบของพระพุทธองค์นั่นเอง[4]

การประกอบสร้างองค์พระก็ดี การประกอบพิธีกรรมเพื่อทำให้พระพุทธรูปเกิดความศักดิ์สิทธิ์หรืออย่างที่นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาเรียกว่า “การเปลี่ยนสภาพพระพุทธรูปส่วนความเป็นพระพุทธเจ้า” ก็ดีล้วนบ่งชี้คติการนับถือพระพุทธรูปของชาวพุทธไทยเป็นอย่างดีว่า เมื่อพระพุทธรูปผ่านการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในจารีตของภูมิปัญญาคนโบราณแล้ว สถานภาพของวัตถุที่ก่อร่างขึ้นเป็นพระพุทธรูปได้แปรเปลี่ยนคุณลักษณะเป็น “พระศักดิ์สิทธิ์” ที่สามารถประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถของวัดในฐานะองค์ประธานของสงฆ์หรือประดิษฐานไว้ในพระวิหารเพื่อเป็นที่พึ่งพิงขอพรของประชาชนคนทั่วไป มีข้อน่าสังเกตว่าเมื่อบริบทของยุคสมัยเปลี่ยนไป ด้วยคติความเชื่อที่พัฒนาขึ้นในภายหลังผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายและการปรับเข้าหาท้องถิ่นของพุทธศาสนา พระพุทธรูปไม่ได้มีสถานะเป็นองค์ประธานของเรื่องเล่าเหมือนที่เคยตั้งใจให้เป็นในสมัยแรกสร้างพระพุทธรูป เมื่อเรานำพระพุทธรูปไปประดิษฐานในอาคารศาลาการเปรียญ โบสถ์หรือวิหาร เรื่องความศักดิ์สิทธิ์และการเป็นประธานของวัดกลายเป็นลักษณะโดดเด่นขึ้นมาแทนภาวะองค์ประธานของเรื่องเล่าในพุทธประวัติ พระพุทธรูปกลายเป็นมีค่าในตัวเองคือเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์

ยังมีข้อพิจารณาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่ตั้งไว้เป็นประธานในพระอุโบสถหรือวิหารของวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีพระอารามหลวงชั้นเอกหรือพระอารามหลวงที่ได้รับการอุปถัมภ์เป็นพิเศษจากพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น หรือวัดในเมืองใหญ่ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้มีอันจะกิน พระพุทธรูปที่เป็นองค์ประธานในพระอุโบสถหรือพระวิหารจะถูกออกแบบให้มีความหมายพิเศษ ความรู้ทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรมที่สั่งสมต่อกันมาในจารีตไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางนั้นจะมีความละเอียดซับซ้อนเป็นพิเศษ ความซับซ้อนดังกล่าวย่อมปรากฏผ่านการสร้างวัดวาอารามซึ่งมีแผนผังซับซ้อนกว่าวัดชาวบ้านทั่วไป ด้วยวัฒนธรรมความรู้ที่บ่มเพาะกันมายาวนาน พระพุทธปฏิมาที่ประดิษฐานในพระอุโบสถหรือพระวิหารจะไม่เป็นเหมือนการตั้งพระพุทธรูปบนโต๊ะหมู่แบบเรียบง่ายที่เห็นในวัฒนธรรมญี่ปุ่น คือเน้นความเรียบง่าย โปร่งโล่ง และสงบ ในกรณีวัดไทย จะเน้นความอลังการเป็นพิเศษ พระพุทธรูปจะถูกจัดตั้งไว้บนฐานสูงเป็นชั้นๆ ลดลั่นตามลำดับ อาจทำเป็นฐานบัวประดับด้วยวัตถุที่มีค่า หรืออย่างน้อยก็ทำให้ฐานที่ตั้งพระพุทธรูปเป็นฐานบัวที่ประดับลายด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง พระพุทธรูปจะประดิษฐานไว้บนรัตนบัลลังก์ที่เมื่อเราเข้าไปกราบไหว้สักการะแล้วจะรู้สึกถึงความห่างไกลระหว่างตัวเรากับองค์พระพุทธรูปองค์นั้นได้ทันที พระพุทธรูปที่ว่านั้นถูกจัดวางไว้สูงส่งเป็นดุจพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเราทั้งในแง่เวลาและสถานที่ซึ่งเราแตะไม่ถึงสัมผัสไม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้น พระพุทธรูปบางองค์ไม่เพียงแต่เป็นพระพุทธรูปที่ห่มองค์ทรงจีวรอย่างนักบวชเท่านั้น หากแต่เป็นประดับองค์ดุจพระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าจักรพรรดิราชประดับพระเศียรด้วยมงกุฎและฉลองพระองค์ที่มีลายวิจิตร ตัวอย่างเช่น พระพุทธนฤมิตรในหอพระสุราลัยพิมาน พระบรมราชมหาราชวัง หรือพระศรีรัตนศาสดาราม (พระแก้วมรกต) เป็นต้น

การทำแท่นบัลลังก์พระพุทธรูปสูงขึ้นไปจนรู้สึกไม่อาจเอื้อมถึงดังที่ปรากฏในพระอุโบสถวัดพระแก้วมรกตหรือวัดอื่นๆ ที่ทำแท่นบัลลังก์ในลักษณะเดียวกันอาจเนื่องมาจากความจำเป็นที่จะทำให้องค์พระอยู่ในระดับเดียวกันกับภาพจิตรกรรมบนฝาผนังด้านหน้าและด้านหลังขององค์ประธาน เป็นความจำเป็นทางด้านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมไทยที่ออกแบบไว้เช่นนั้น เนื่องจากว่าพื้นที่ในพระอุโบสถหรือวิหารไม่เพียงแต่สำหรับจัดวางพระพุทธรูปเพื่อเป็นองค์ประธานภายในอาคารสถานที่แห่งนั้นเท่านั้น หากยังต้องทำให้ภายในพระอุโบสถหรือพระวิหารนั้นมีเรื่องเล่าในเชิงศาสนธรรมหรือสื่อสารคุณค่าบางอย่างเกี่ยวกับพระพุทธรูปหรือคติความเชื่อทางพุทธศาสนาที่มีศูนย์กลางอยู่ที่องค์พระพุทธรูปนั้นด้วย กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบคิดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระพุทธรูปตามขนบประเพณีไทยมีส่วนอย่างมากที่ทำให้มีการสร้างสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมที่แสดงการเชิดชูพระพุทธรูปไว้สูงเด่นเหนือบัลลังก์อลังการดังที่ปรากฏในพระอุโบสถและพระวิหารของวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

 

องค์จำลองมานุษยพุทธะหรือสื่อสารพุทธภาวะอันสากล ?

พระพุทธรูปที่จัดวางในพระอุโบสถหรือพระวิหารย่อมไม่ใช่วัตถุแห่งรูปเคารพที่เปล่าเปลือย หากถูกแต้มแต่งให้มีคุณค่าเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างโดยอาศัยองค์ประกอบด้านจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งด้านหน้าด้านหลังและด้านข้างของพระประธานในพระอุโบสถหรือพระวิหารเป็นเครื่องบอกเล่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องเล่าที่จะกำหนดมโนทัศน์ของผู้คนที่เข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศภายในพระอุโบสถหรือพระวิหารนั้นๆ ให้เห็นสถานภาพและประวัติความเป็นมาขององค์ประธานคือพระพุทธปฏิมาซึ่งตั้งตระหง่านบนแท่นสูง รายล้อมด้วยเครื่องประดับบูชาอลังการตามธรรมเนียมของไทย การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้านรอบองค์พระปฏิมามีแบบแผนที่ปฏิบัติต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ ผนังด้านหน้าองค์พระปฏิมาจะเขียนภาพพระพุทธประวัติตอนมารผจญหรือมารวิชัย อันเป็นเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็กน้อย ส่วนภาพจิตรกรรมบนผนังด้านหลังองค์พระจะวาดภาพจักรวาลแบบไตรภูมิ บนฝาหนังด้านซ้ายขวาขององค์พระจะวาดภาพอดีตชาติของพระศากยมุนีพุทธเจ้า (เรื่องราวในชาดก) และ/หรืออดีตพุทธ (พระเจ้า 5 พระองค์ หรือมากกว่านั้น) ตามคติของพุทธศาสนาที่ยึดถือกันมาแต่โบราณ ภาพจิตรกรรมทั้ง 4 ด้าน มีจุดร่วมกันคือบอกเล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้า เรื่องการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ การเอาชนะมารและเสนามาร การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและกลายเป็นพระพุทธเจ้าผู้อยู่เหนือโลกหรือภพภูมิทั้ง 3 คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ[5] หรือไม่บางทีก็อาจเป็นการสื่อสารถึงการตัดสินพระทัยหันหลังให้แก่วิถีชีวิตทางโลก (จักรวาทิน) และเลือกเส้นทางแห่งพุทธะก็เป็นได้สุดแท้แต่จะตีความเรื่องราวที่ประกอบสร้างขึ้นรอบผนังของพระอุโบสถหรือวิหารอย่างไร ทั้งนี้ควรจะกล่าวได้ว่า องค์ประกอบทางด้านจิตรกรรมเหล่านี้ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อสร้างความหมายให้แก่องค์พระประธานในพระอุโบสถ สื่อสารให้ผู้พบเห็นได้เข้าใจว่า พระปฏิมานี้มีความหมายสำคัญอย่างไร เรียกแบบภาษาของชาวพุทธทั่วไปคือ ภาพประกอบทั้งหมดภายในพระอุโบสถหรือพระวิหารนั้นวาดขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ เป็นวิธีการโน้มน้าวให้ชาวพุทธมีศรัทธาต่อพุทธศาสนาโดยเฉพาะเมื่อกุลบุตรผู้ศรัทธาตัดสินใจเข้ารับการอุปสมบทที่จัดขึ้นในพระอุโบสถ โดยกรอบพิจารณาดังกล่าวนี้ พระพุทธรูปนั้นเป็นเพียงสื่อแทนหรือสัญญะที่บ่งชี้ไปถึงสิ่งที่มีความหมายยิ่งกว่าตัวพระพุทธรูปเอง ตามคติความคิดที่ยึดถือกันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธก็คือองค์พระศากยมุนีพุทธเจ้า

เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ พระพุทธรูป ภาพจิตรกรรมตอนมารผจญ ภาพจักรวาลแบบไตรภูมิ และชาดกหรือเรื่องราวของพระเจ้า 10 ชาติ (ทศชาติชาดก/มหานิบาตชาดก) หรืออาจเป็นภาพของอดีตพุทธเจ้าถูกบรรจงจัดไว้ในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของพุทธศาสนาคือ การประกอบพิธีอุปสมบท (รวมทั้งพิธีกรรมประจำวัน เช่น การสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น การปฏิบัติสมาธิภาวนา) เราจะได้พบว่ามีความหมายต่อเนื่องกัน 2 ระดับ กล่าวคือ ระดับที่ 1 องค์ประกอบด้านจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถสร้างความหมายให้องค์พระประธาน ระดับที่ 2 ทั้งองค์พระประธาน แท่นบัลลังก์ และจิตรกรรมฝาผนังประกอบกันขึ้นสร้างความหมายแก่ปัจเจกบุคคลหรือชุมชนที่มีส่วนร่วมในพื้นที่พระอุโบสถ โดยเฉพาะในกรณีการอุปสมบท ซึ่งสัมพันธ์กับความหมายของการสร้างพระอุโบสถโดยตรง ความหมายที่ว่านี้คือการที่ผู้รับการอุปสมบทในพระอุโบสถ (ต่อหน้าองค์พระปฏิมา) จะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและกิจกรรมทางศาสนาที่กำลังเกี่ยวข้องอยู่กับคุณค่าสำคัญที่บอกเล่าผ่านเรื่องราวต่างๆ ภายในองค์ประกอบของพระอุโบสถ กล่าวคือมองเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างตนเอง การบวช และพระพุทธเจ้า รวมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์อันประกอบกันขึ้นเป็นพุทธศาสนา


พระพุทธรูปแนวสัจนิยม เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4
เครดิตภาพ
https://www.silpa-mag.com/history/article_11064

 

อย่างไรก็ตาม การสร้างความหมายในระดับที่ 1 คือการสร้างความหมายให้องค์พระประธานนั้น ดูเหมือนจะมีข้อถกเถียงที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เรื่องราวที่บอกเล่าโดยอาศัยองค์ประกอบด้านจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถดังที่กล่าวมานั้น แท้ที่จริงแล้วต้องการสื่อสารอะไร ดังที่กล่าวแล้ว โดยทั่วไป คนมักจะเข้าใจว่าภาพจิตรกรรมที่สร้างขึ้นรอบองค์พระประธานก็เพื่อสื่อสารเรื่องราวของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งมีพระพุทธปฏิมาประดิษฐานบนบัลลังก์เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ แต่เสมอชัย พูลสุวรรณ แย้งว่านั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกับความต้องการของโบราณาจารย์ของไทยในอดีต ความเข้าใจที่ว่าพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แทนพระศากยมุนีนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในวัฒนธรรมไทยและเป็นการทำความเข้าที่ครอบคลุมความหมายของพระพุทธเจ้าและพระพุทธรูปได้เพียงระดับแคบเท่านั้น[6] เสมอชัยเขียนไว้ว่า

“การรับรู้ความหมายของ “พระพุทธเจ้า” ตามที่เข้าใจกันเป็นสามัญในปัจจุบัน น่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามของนักวิชาการพุทธศาสนาตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งได้พยายามแยกเอาพระพุทธเจ้าในสถานะของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ออกจากอุดมคติของพระพุทธเจ้าตามปรัชญาในพุทธศาสนาเถรวาท. นักวิชาการในกลุ่มนี้ซึ่งคงได้รับอิทธิพลอยู่บ้างจากวิธีคิดเชิงเหตุผลกับวัตถุนิยมแบบตะวันตก ที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการพุทธศาสนาของไทย ทั้งที่ยังทรงผนวชอยู่และเมื่อทรงลาผนวชมาครองราชสมบัติแล้ว) และสานุศิษย์ในคณะธรรมยุตของพระองค์. ความพยายามของกลุ่มที่เห็นเป็นรูปธรรมก็อย่างเช่น การแก้ไขขนาดและลักษณะของพระพุทธรูปเพื่อให้คล้ายกับคนจริงมากขึ้น. . .,  ตลอดจนถึงมีการเรียบเรียงคัมภีร์พุทธประวัติขึ้นใหม่ โดยใช้พระพุทธเจ้าศากยมุนีเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ตัดเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพุทธภาวะ และเรื่องราวเกี่ยวข้องกับอดีตพุทธเจ้า ซึ่งมีความหมายทางสัญลักษณ์แฝงอยู่อย่างลึกซึ้งออกไปเกือบทั้งหมด. สำหรับงานจิตรกรรมพุทธศาสนาก็นิยมเขียนภาพตามแนวคิดแบบใหม่ เช่น ภาพปริศนาธรรมภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารและวัดบรมนิวาส เป็นต้น; ถึงแม้ยังคงมีความนิยมเขียนภาพเรื่องพุทธประวัติอยู่บ้าง แต่ก็มีจุดเน้นของเรื่องที่ต่างออกไปจากเดิม ยกตัวอย่างเช่นภาพภายในพระอุโบสถวัดกันมาตุยาราม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องพระพุทธประวัติโดยแสดงให้เห็นถึงพุทธจริยาวัตรต่างๆ ของพระพุทธเจ้า ในการเผยแพร่พุทธศาสนาอย่างละเอียด เต็มพื้นที่ผนังทั้งสี่ด้าน แต่ก็ได้ “ข้าม” ที่จะไม่แสดงภาพมารผจญซึ่งเป็นหัวใจของการแสดงเรื่องพุทธประวัติตามจารีตดั้งเดิมไปอย่างจงใจ.”[7]

พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ได้ให้ข้อมูลที่สอดรับกับข้อวิจารณ์ของเสมอชัยข้างต้น กล่าวคือ นอกจากพระพุทธรูปจะถูกลดขนาดให้เล็กลงเพื่อให้สมจริงกับลักษณะของมนุษย์ทั่วไปโดยการสืบสวนลักษณะและขนาดพระวรกายของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎกแล้ว พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างนั้นยังคงมีลักษณะสำคัญบางประการที่แสดงถึงความเป็นพระพุทธรูปไว้ เช่น พระรัศมี หรือการทำนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ให้ยาวเสมอกัน แม้ไม่อาจกล่าวได้อย่างเต็มที่นักว่าพระพุทธรูปที่ทรงสร้างนั้นจะมีลักษณะที่เป็นมนุษย์อย่างแท้จริง แต่พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องความสมจริงทั้งในแง่ความเป็นมนุษย์และในแง่ความสมจริงในเชิงประจักษ์ยิ่งกว่าพระพุทธรูปในสมัยใดๆ 

“การแสดงออกเรื่องความสมจริงอย่างมนุษย์นั้นได้สะท้อนผ่านความพยายามที่จะสร้างพระพุทธรูปให้มีรูปแบบใกล้เคียงกับมนุษย์หรือบุคคลธรรมดามากขึ้นโดยจะเห็นได้ว่าพระพุทธรูปที่ทรงสร้างในระยะแรกคือพระสัมพุทธพรรณีนั้น ยังคงมีรูปแบบพระพักตร์ที่สงบนิ่งคล้ายหุ่น โดยพระเนตรเรียวเล็กในอาการเหลือบมองต่ำ พระขนงโก่งโค้ง พระนาสิกโด่งแหลม พระโอษฐ์ที่บางเรียวเล็กในอาการเหลือบมองต่ำและยังคงมีปลายพระกรรณที่ยาว. . .ซึ่งเป็นรูปแบบอันเป็นที่นิยมสืบมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาเมื่อมีการสร้างพระพุทธปริตรจะพบว่ารูปแบบดังกล่าวได้เริ่มคลี่คลายไปโดยจะสังเกตได้ว่าพระพักตร์ของพระพุทธปริตรนั้นยังมีลักษณะบางประการสืบเนื่องมาจากพระพุทธสัมพรรณี เช่น การทำพระเนตรเหลือบต่ำ เรียวเล็ก และแนวพระขนงที่โก่งโค้ง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือลักษณะพระนาสิกและพระโอษฐ์ที่มีความสมจริงของรายละเอียดยิ่งขึ้น รวมทั้งพระกรรณจะหดสั้นลงกว่าพระพุทธสัมพรรณีแต่ก็ยังคงมีปลายพระกรรณที่ค่อนข้างยาวอยู่. . .

ความสมจริงในการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ในการสร้างพระพุทธรูปของรัชกาลที่ 4 ได้พัฒนามากขึ้นอีก โดยจะสังเกตได้ว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่ทรงสร้างนั้นยิ่งแลดูคล้ายบุคคลที่มีความเคร่งขรึมจริงจังมากขึ้น ตัวอย่างเช่น พระไชยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 4. . .มีพระเนตรเปิดมองตรง ไม่เรียวเล็ก ทำให้แลเห็นส่วนของดวงพระเนตรดำและขาวได้อย่างชัดเจน ดวงพระเนตรยังรับกับแนวพระขนงที่เป็นแนวค่อนข้างตรงหรือโค้งเพียงเล็กน้อยอย่างคิ้วมนุษย์ ไม่ได้เป็นวงโค้งอย่างมากอย่างที่นิยมในอดีต พระนาสิกโด่งอย่างประติมากรรมบุคคลแบบตะวันตก. . .

ลักษณะดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงความคลี่คลายและเปลี่ยนแปลงไปจากพระพักตร์ของพระพุทธสัมพรรณีที่สร้างเป็นองค์แรกมาสู่ความสมจริงอย่างมนุษย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้พระพุทธรูปเหล่านี้จะมีพุทธลักษณะอื่นที่แสดงถึงความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ เช่น พระอุณาโลม พระรัศมี และขมวดพระเกศา เป็นต้น แต่การแสดงออกทางศิลปกรรมย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 มีรูปแบบที่สะท้อนถึงความสมจริงอย่างมนุษย์มากขึ้นกว่าพระพุทธรูปในสมัยใดที่เคยมีมา รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่แตกต่างจากพระพุทธรูปที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างเห็นได้ชัด”[8]

ถ้าพิจารณาจากข้อวิจารณ์ของเสมอชัย แนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดลักษณะมนุษยนิยมขึ้นในการสร้างประติมากรรมพระพุทธรูปเท่านั้น แนวคิดที่ว่านี้ยังสร้างมโนภาพที่ผิดพลาดเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่เป็นองค์ประธานในพระอุโบสถของวัดต่างๆ ในอดีตด้วย กล่าวคือ แนวคิดของรัชกาลที่ 4 ก่อให้เกิดความเข้าใจว่าพระพุทธรูปที่จัดวางไว้ในอุโบสถและวิหารสำคัญๆ เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศากยมุนีพุทธเจ้า แทนที่จะเข้าใจว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นพุทธะหรือพุทธภาวะที่ปรากฏผ่านพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เสมอชัยชี้ว่าองค์ประกอบทางจิตรกรรมในพระอุโบสถที่รายล้อมพระพุทธรูปนั้นมีนัยสำคัญกว่าการเป็นสัญลักษณ์แทนพระสมณโคดมพุทธหรือพระศากยมุนีพุทธเจ้า ภาพจิตรกรรมที่ช่างวาดลงบนผนังพระอุโบสถดูแบบเผินๆ คล้ายเป็นเรื่องราวที่แสดงประวัติความเป็นมาและสถานภาพอันสูงส่งของพระศากยมุนีพุทธเจ้าเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว จิตรกรรมเหล่านั้นกำลังแสดงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ดังนั้น ตามคติโบราณ พระพุทธเจ้าที่ถูกบ่งชี้ถึงโดยองค์พระปฏิมาที่รายล้อมด้วยภาพประกอบบนจิตรกรรมฝาผนัง อย่างน้อยในกลุ่มที่เสมอชัยได้ศึกษาไว้นั้น ไม่ได้มีแต่พระศากยมุนีเท่านั้น โดยอาศัยองค์ประกอบทางจิตรกรรมบนฝาผนังในพระอุโบสถหรือวิหารทั้ง 4 ด้านประกอบกัน ปราชญ์โบราณต้องการเชื้อเชิญให้ผู้คนได้เข้าใจ “ความเป็นพุทธะ” ที่สากล ไม่ใช่พระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์

“เรื่องราวในพุทธประวัติที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เกี่ยวข้องกับกรณียกิจซึ่งเป็นพระพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จะทรงปฏิบัติเหมือนๆ กัน จึงมีนัยเปรียบเทียบถึงพุทธภาวะซึ่งเป็นคุณลักษณะสากลของพระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยว่าย่อมมีความยิ่งใหญ่กว่าอานุภาพของจักรวาทินและเทพทุกชั้นภูมิ การที่จิตรกรไทยได้แสดงสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประกอบของภาพจักรวาลด้านหลังพระประธานภายในพระอุโบสถบางแห่ง จึงอาจเกี่ยวเนื่องกับการตีความเรื่องสถานะอันสูงส่งของพระพุทธเจ้า ซ้อนทับลงกับแนวคิดในเรื่องทางเลือกของมหาบุรุษ ระหว่างการเป็นพระพุทธเจ้ากับพระเจ้าจักรพรรดิ โดยที่แนวคิดทั้งสองนี้มิได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด”[9]

การตีความนี้ค่อนข้างแปลกและแตกต่างจากนักวิชาการคนอื่นๆ ขณะเขียนเรื่องนี้ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ชี้ให้เห็นว่ามีความเข้าใจทำนองนี้ในกลุ่มนักวิชาการหรือมีข้อมูลด้านเอกสารใดๆ สนับสนุนการตีความดังกล่าว ถ้าหากการตีความภาพจิตรกรรมรายล้อมพระพุทธรูปของเสมอชัยเป็นจริง แนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธรูปของชาวพุทธไทยโดยเฉพาะในสมัยโบราณนั้นจะคล้ายกับแนวคิดของฝ่ายมหายานที่ให้ความสำคัญต่อพุทธภาวะอันสากลที่ปรากฏในพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มากกว่าพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ และย่อมหมายความว่าการสร้างศาสนวัตถุ เช่น พระพุทธปฏิมา ของชาวพุทธไม่ได้มีเจตนาแห่งการยึดติดในรูปเคารพใดๆ เลย ไม่ยึดติดแม้กระทั่งในองค์พระพุทธเจ้าที่มีชีวิตอยู่ในอินเดียเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ชาวพุทธไทยแต่โบราณใช้พระพุทธปฏิมาไม่ใช่เพื่อแสดงสัญลักษณ์แห่งศรัทธาและความเคารพสูงสุดต่อพระศากยมุนีพุทธเจ้า แต่ใช้เพื่อสื่อให้ผู้คนได้สัมผัสรับรู้ถึง “พุทธภาวะอันสากล” อันอยู่เหนือพระมานุษีพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าที่ทรงเป็นมนุษย์) ทุกพระองค์อีกด้วย

ความจริงในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระพุทธรูปนั้นสอดรับกับการตีความของเสมอชัยหรือไม่ เท่าที่พอจะสืบสาวข้อมูลได้ในขณะเขียนเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับตำนานพระพุทธรูปองค์สำคัญ เช่น พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ ตำนานการบูรณปฏิสังขรณ์พระมงคลบพิตร ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช เป็นต้น สะท้อนคติที่มองว่าพระพุทธรูปแต่ละองค์ที่สร้างขึ้นมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองดังเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประสงค์จะให้รื้อเอาแต่แผ่นทองลงมาสร้างเป็นพระมงคลบพิตรขึ้นใหม่แต่องค์เล็กกว่าเดิมนั้น ทรงมีพระราชปุจฉาไปยังพระราชาคณะ ทรงแสดงถึงความกังวลพระทัยว่าจะเป็นการถูกต้องตามหลักทางศาสนาหรือไม่ ความในพระราชปุจฉาและคำวิสัชนาที่กราบทูลโดยพระราชาคณะประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช และกรมหมื่นนุชิตชิโนรส (ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส) แสดงถึงการให้ความเคารพอย่างสูงต่อพระพุทธรูปในฐานะรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง เช่น หากพระพุทธรูปเสียหายต้องทำให้เป็นดังเดิม การจะทำลายพระองค์นั้นแล้วนำเอาทองมาหล่อใหม่นั้นแม้ในบาลีอรรถกถาไม่ได้ระบุให้ชัดว่าไม่ควร แต่ก็ไม่ต้องด้วยประเพณีโบราณ หากจะเอาเครื่องบูชาพระพุทธรูปองค์หนึ่งไปทำเป็นเครื่องบูชาพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งถือเป็นการไม่ถูกต้องไม่ควรทำ[10]

ในจารึกพระราชกุศล วัดพระเชตุพนที่กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการนำพระพุทธรูปเก่าแก่จากหัวเมืองต่างๆ มาซ่อมแซมเพื่อประดิษฐานไว้ในอุโบสถและวิหารวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามกล่าวถึงเพียงการบูรณะพระพุทธรูปองค์ต่างๆ พร้อมทั้งพระราชพิธีถวายพระพุทธรูปเหล่านั้นแก่คณะสงฆ์ จารึกดังกล่าวนี้ไม่ได้กล่าวถึงความเข้าใจพระพุทธรูปในฐานะพุทธภาวะสากลแต่ประการใด หากแสดงออกถึงวิธีที่ปฏิบัติต่อพระพุทธรูปเหมือนพระพุทธเจ้าที่ยังทรงมีชีวิตมากกว่า  เช่น “แล้วหลั่งน้ำอุทิโสทกลงเหนือพระหัตถ์พระพุทธปฏิมากรถวายพระอารามตามพระบาฬีแก่พระสงฆ มีองค์พระพุทธปฏิมากรเป็นประธาน. . . แล้วถวายแก่พระพุทธปฏิมากรแพรยกไตรหนึ่ง บาตรเหล็กเครื่องอัฏฐบริขารพร้อมย่ามกำมะหยี่เครื่องย่ามพร้อม...พระสงฆพันหนึ่งก็ได้เหมือนกันทุกองค์”[11] คติที่ปรากฏผ่านการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปที่กล่าวถึงเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปและการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปของชาวล้านนาก็ดี การปฏิบัติต่อพระพุทธรูปของพระมหากษัตริย์และพระราชาคณะตามเอกสารต่างๆ ก็ดี หรือข้อมูลจากข้อสังเกตในสถานที่จริง เช่น ที่วัดพระปฐมเจดีย์ หรือวัดไร่ขิง เป็นต้นก็ดี การเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์สำคัญด้วยคำว่า “หลวงพ่อ” ก็ดี ล้วนสะท้อนคติการให้ความหมายด้านความศักดิ์สิทธิ์แก่พระพุทธรูปองค์นั้นๆ ทั้งสิ้น ภาวะความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวนี้มาจากการสร้างรูปพระพุทธปฏิมาให้ “เลียนแบบ” พุทธลักษณะของพระพุทธเจ้าและผ่านพิธีพุทธาภิเษก โดยเชื่อว่าในพิธีพุทธาภิเษกนั้น พระสงฆ์สามารถสร้างพลังให้เกิดขึ้นในองค์พระพุทธรูปได้ด้วยการเจริญพุทธมนต์

มีข้อน่าสังเกตว่าพระพุทธรูปเมื่อถูกรับรู้ในมิติแห่งความศักดิ์สิทธิ์หรือในสถานะคล้ายพระพุทธเจ้าผู้ยังมีชีวิต อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่กราบไหว้สักการะจะมีความแตกต่างจากการตระหนักรับรู้พระพุทธรูปในฐานะองค์ประธานของเรื่องเล่า ที่พระพุทธรูปเป็นเพียงสัญญะที่ชี้ไปยังสิ่งอื่นที่อยู่นอกตัวพระพุทธปฏิมา ความหมายที่ถูกสร้างขึ้นโดยเรื่องเล่าไม่ว่าจะผ่านภาพจิตรกรรม หรือมุทราของพระพุทธรูปก็ตาม ไม่ว่าจะหมายถึงพุทธภาวะที่เป็นสากลหรือเป็นพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์ ความหมายทำนองนี้ยากจะแตะสัมผัสได้โดยคนทั่วไปเพราะต้องอาศัยการสะสมความรู้และการฝึกฝนภูมิปัญญาตามจารีตศาสนา ส่วนพระพุทธรูปในฐานะพระศักดิ์สิทธิ์หรือ “หลวงพ่อ” มีนัยแห่งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ความสามารถติดต่อสื่อสารและการอ้อนวอนขอพรเพื่อการมีชีวิตที่ดีของผู้เคารพนับถือ การท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากอย่างหนึ่งในหมู่ชาวพุทธไทยในกรุงเทพฯ คือ “ไหว้พระ 9 วัด” ก็ด้วยคติการนับถือพระพุทธรูปในฐานะหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์มากกว่าในฐานะ “สัญลักษณ์” ทางวัตถุที่แสดงตัวแทนพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งปรินิพพานไปแล้ว หรือพุทธภาวะสากลที่ยากจะมองเห็นได้แม้อาจตีความให้หมายถึง “พุทธะ” ภายในปัจเจกบุคคลแต่ละคนก็ตาม

สิ่งที่กล่าวมานั้น อาจทำความเข้าใจได้โดยอาศัยคำอธิบายเรื่องการวางเป้าหมายทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวไว้ (แม้เรื่องนี้จะไม่เกี่ยวกันโดยตรงก็ตาม) ได้แก่ คำอธิบายที่ว่า ศาสนาต่างๆ วางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเป้าหมายสูงสุดทางศาสนาไว้ต่างกัน 2 อย่างคือ (1) เป้าหมายทางศาสนาที่อยู่เหนือโลก (Transcendental) (2) เป้าหมายทางศาสนาที่อยู่ในโลกหรือใกล้ชิดกับโลก(Immanent) ถ้าพระเจ้าอยู่เหนือโลกมนุษย์ก็ไม่มีทางติดต่อกับพระองค์ได้ตามเจตจำนงของตน ได้แต่ปฏิบัติตามคำสอนและพิธีกรรมไปอย่างเคร่งครัดเท่านั้น ไม่ควรเอาตัวไปเทียบเทียมกับพระองค์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าพระเจ้าอยู่ใกล้ตัวหรือในตัวเขาเอง มนุษย์ย่อมสามารถเข้าหาพระองค์ด้วยตนเองได้ สามารถบอกคำและวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ จนถึงที่สุดก็สามารถรู้จักพระองค์ที่แท้จริงได้ หรือถ้ามองพระนิพพานว่าอยู่พ้นออกไปจากปกติวิสัยของมนุษย์ทั่วไป บทบาทของมนุษย์ในแต่ละชาติภพก็คือการสั่งสมบุญบารมีเพื่อก้าวไปอย่างช้าๆ จนกว่าจะบรรลุอริยผล แต่ถ้าเห็นพุทธะอยู่ในใจของตนเอง มนุษย์ย่อมสามารถเรียนรู้สภาวะพุทธะนั้น และตรัสรู้เป็นพุทธะได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ต้องใช้ปัญญาให้ถูกต้องเท่านั้น

นิธิตั้งข้อสังเกตว่า แม้การวางเป้าหมายทางศาสนาดังกล่าวจะแตกต่างกันเป็นตรงกันข้าม ทุกศาสนาก็มีนิกายหรือกิ่งของคำสอนที่คลุมทั้งสองด้านเสมอ นิกายสุหนี่ของอิสลามวางพระเจ้าไว้ที่เหนือหรือพ้นจากโลก อันเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าถึงพระองค์ได้เอง แต่อิสลามก็มีนิกายซูฟีซึ่งวางพระเจ้าไว้ในจิตใจของมนุษย์ การเข้าถึงพระองค์คือการทำสมาธิเพื่อมองลึกลงไปในจิตใจของตนเอง คริสต์ศาสนามีนิกายคาทอลิกซึ่งวางพระเจ้าไว้เหนือโลกและมีนิกายโปรเตสแตนต์ที่วางพระเจ้าไว้ทั่วไปหมดในที่ทุกแห่ง และใครๆ ก็สามารถรับพระเจ้ามาสู่จิตใจของตนได้ ในพุทธศาสนาอาจกล่าวอย่างกว้างๆ ได้ว่า ขณะที่เถรวาทแบบไทย - ลังกา วางพระนิพพานหรือพุทธะไว้ไกลจากโลก มหายานมองเห็นพุทธะอยู่ทั่วไปและอาจบรรลุพุทธภูมิได้ในใจของตนเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าวิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว ทุกศาสนาก็มักให้ความสัมพันธ์ของสาวกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดไว้ทั้งสองด้านพร้อมกันไม่ในรูปใดก็รูปหนึ่ง อย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการทั้งสิ้น

ในพุทธศาสนาแบบไทยนับแต่โบราณมานั้น ศาสนิกชนอาจรู้สึกสัมพันธ์กับ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ทั้งหลายได้ในสองด้านพร้อมกัน ทางด้านพุทธนั้น เป้าหมายสูงสุดของศาสนาอยู่พ้นโลกหรือเหนือโลก สัญลักษณ์ของแนวคิดเช่นนี้ที่เห็นได้ชัดคือประติมานวิทยาของพุทธศิลป์ไทย พุทธปฏิมาของไทยนั้นเป็นภาพของความสงบ, ความหลุดพ้นและอยู่เหนือโลก คนจะรู้สึกปลอดภัยและสงบที่จะเข้าใกล้ แต่พระพุทธรูปไม่ใช่ภาพที่โน้มลงมาหาโลก (เปรียบเทียบกับปฏิมากวนอิมที่แสดงลักษณะ “เหนือโลก” ไปพร้อมกับการโน้มลงมาช่วยโลกหรืออยู่ “ในโลก” เช่น ท่าอุ้มเด็ก) แต่ในอีกด้านหนึ่งคือด้านผี “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ในระบบความเชื่อของไทยซึ่งอยู่ “ในโลก” นี้ ใกล้ชิดกับคนทั่วไป อาจวิงวอนร้องขอหรือบนบานศาลกล่าวอย่างไรก็ได้ เครื่องรางของขลังหรือแม้แต่พระเครื่องก็เป็น “ผี” ในความหมายนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าชื่อที่ใช้เรียกพระเครื่องนั้นเป็นชื่อที่ส่อไปในทาง “โลกย์ๆ” ทั้งสิ้น เช่น พระร่วงรางปืน, ขุนแผน, กำแพงเขย่ง, นางพญา ฯลฯ แม้ว่าภาพพิมพ์ที่ปรากฏจะมีลักษณะทางประติมานวิทยาเดียวกับพระพุทธรูปทั่วไปก็ตาม[12]

อาศัยคำอธิบายของนิธิ เราได้เห็นคติเกี่ยวกับพระพุทธรูปในสังคมไทย 2 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 พระพุทธรูปมีสถานะสูงส่งในฐานะที่เป็นรูปเคารพแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้อยู่เหนือโลก พระพุทธรูปในแง่นี้ถูกกราบไหว้ในฐานะสัญญะที่บ่งชี้ไปถึงพระพุทธเจ้าพระองค์จริงหรือแม้กระทั่งพุทธภาวะที่เป็นสากลดังที่เสมอชัยตีความเอาไว้ พระพุทธรูปในมุมนี้จะดูแห้งแล้ง ห่างไกล ไม่น่าเข้าหานัก ผู้ที่ยึดถือคตินี้ส่วนมากก็จะเป็นนักวิชาการหรือพระที่เป็นปัญญาชนอย่างพุทธทาสภิกขุ เป็นต้น ลักษณะที่ 2 พระพุทธรูปในฐานะหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ (หรือพระเครื่อง) ซึ่งคติดังกล่าวนี้เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพุทธศาสนากับวัฒนธรรม “ผี” ความเชื่อในวิญญาณหรือพลังศักดิ์สิทธิ์ที่มีฤทธิ์บันดาลได้ พระพุทธรูปที่ประกอบขึ้นจากวัตถุสสารต่างๆ และพิธีกรรมทางพุทธศาสนาทำให้สิ่งที่เคยเป็นวัตถุมีความหมายศักดิ์สิทธิ์คล้ายดังเป็นพระพุทธเจ้าที่มีชีวิตดำรงอยู่ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนั่นเอง

 

 

 

อ้างอิง

[1] ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์, พระพุทธรูปล้านนากับคติพระพุทธศาสนามหายานแบบตันตระ นิกายวัชรยาน, หน้า 33 - 34.

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 40.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 41 - 42.

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 44. (ข้อสรุปดังกล่าวนี้ ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ อ้างถึงแนวคิดของโดนัลด์ สแวเรอร์ (Swearer, 1995 และ 2003) ที่ได้ศึกษาพิธีกรรมในภาคเหนือของไทย ผู้สนใจโปรดดูใน Donald K. Swearer, The Buddhist World of Southeast Asia, (Albany: State University of New York), 1995. และ Donald K. Swearer, “Presencing the Buddha in Northern Thailand: Perspectives from Ritual and Narative,” An International Conference on the theme Buddhist Legacies in Southeast Asia: Mentalities, Interpretations and Practices. Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre, Bangkok, December 18 - 20, 2003.

[5] เสมอชัย พูลสุวรรณ, สัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 – 24, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539), หน้า 109 - 116.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 109.

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, วัด - วัง ในพระราชประสงค์พระจอมเกล้าฯ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2560), หน้า 124 - 126.

[9] เสมอชัย พูลสุวรรณ, สัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 – 24, หน้า 120.

[10] สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร, ปูชนียสถาน โบราณวัตถุไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2518), หน้า 140 - 144.

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 148 – 158.

[12] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิม,” ศิลปวัฒนธรรม 15, 10 (สิงหาคม 2537): 79 - 106. (โดยเฉพาะหน้า 97 - 106)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net