Skip to main content
sharethis

ปลัดกระทรวงแรงงานคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนแรกปี 2563 น่าจะมีจำนวนคนตกงานราว 5 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เรื่อง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนกรณีว่างงานว่าจากการหารือทางสภาองค์การลูกจ้างฯ มีข้อเสนอ 2 เรื่องหลัก คือ 1. ขอให้มีการปรับสิทธิประโยชน์ จ่ายเงินกรณีว่างงานร้อยละ 75 ของอัตราเงินเดือน ระยะเวลา 180 วัน ในทุกกรณี ทั้งเลิกจ้าง ลาออกและการให้ออก เป็นต้น ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยเลขาธิการ สปส.ให้เวลา 1 เดือน ในการดำเนินการและรายงานมายังตน ว่าสามารถทำได้ในกรอบที่เรียกร้องหรือไม่ หรือจะต้องมีการปรับตัวเลขอย่างไร และ 2. ข้อเสนอในการเพิ่มงบประมาณกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็น 1,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนช่วยเหลือลูกจ้างกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินชดเชย ทางกองทุนจะจ่ายให้แทนเพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น

ปัจจุบันกองทุนมีเงิน 221 ล้านบาท ซึ่งสภาองค์การลูกจ้างฯกังวลว่าจะไม่เพียงพอ แต่จากข้อมูล 5 ปี ที่ผ่านมา ในส่วนของรายรับและจ่ายออกยังมีความสมดุล หากยังจ่ายในอัตรานี้ ตนก็ยืนยันว่ายังมีความมั่นคงอยู่ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่เราจะนำข้อเสนอนี้เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)

ผู้สื่อข่าวถามว่า เงินในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 221 กว่าล้านถือว่าวิกฤตหรือไม่ นายสุทธิ กล่าวว่า ขอยืนยันว่ายังมั่นคง เพราะเรามีการเตรียมพร้อมมาตรการต่างๆ ในการรองรับคนตกงานด้วย ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินกองทุสงเคราะห์เท่านั้น แต่ยังเตรียมตำแหน่งงานกว่า 8.7 หมื่นตำแหน่ง ทั้งนี้จากตัวเลขการเลิกจ้างปี 2562 ล่าสุดอยู่ที่ 3.5-4 แสนราย คิดร้อยละ 1 เท่ากับสถานการณ์เมื่อปี 2561 อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 น่าจะมีจำนวนคนตกงานราว 5 หมื่นคน ถือเป็น 2 เท่าของคนที่ถูกเลิกจ้างในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างตามประเภทกิจการด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากมีออเดอร์เพิ่มก็จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ที่มา: ข่าวสด, 6/12/2562

เคาะแล้วอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 ปรับขึ้น 5-6 บาท 'ชลบุรี-ภูเก็ต' สูงสุด 336 บาท/วัน

6 ธ.ค. 2562 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ครั้งที่ 6/2562 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาและมีมติการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นซึ่งแบ่งเป็น 10 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1) ค่าจ้าง 336 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรีและภูเก็ต ปรับเพิ่มขึ้น 6 บาท/วัน
ระดับที่ 2) ค่าจ้าง 335 บาท มี 1 จังหวัด คือ ระยอง ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/วัน
ระดับที่ 3) ค่าจ้าง 331 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ปรับเพิ่มขึ้น 6 บาท/วัน
ระดับที่ 4) ค่าจ้าง 330 บาท คือ ฉะเชิงเทรา ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/วัน
ระดับที่ 5) ค่าจ้าง 325 บาท มี 14 จังหวัด คือ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี ปรับเพิ่มขึ้น 5บาท/วัน
ระดับที่ 6) ค่าจ้าง 324 บาท มี 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี ปรับเพิ่มขึ้น 6 บาท
ระดับที่ 7) ค่าจ้าง 323 บาท มี 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/วัน
ระดับที่ 8) ค่าจ้าง 320 บาท มี 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุงพิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์ ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/วัน
ระดับที่ 9) ค่าจ้าง 315 บาท มี 22 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท
ระดับที่ 10) ค่าจ้าง 313 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท

“คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้น 6 บาท ใน 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่เหลือ 68 จังหวัดจะปรับขึ้น 5 บาท ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยแบ่งเป็น 10 ระดับ สูงสุดอยู่ที่ 336 บาท คือ ชลบุรี และภูเก็ต ต่ำสุดอยู่ที่ 313 บาท ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขณะที่อัตราค่าจ้างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ที่ 331 บาท ส่วนที่เหลือจะลดหลั่นกันไปตามลำดับ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่จะถึงนี้”

“การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ได้พิจารณาอย่างกว้างขวางและรอบคอบ เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ภาวะเงินเฟ้อ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนมาตรการลดผลกระทบนั้น มีกระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาดูแลในเรื่องการควบคุมราคาสินค้า เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน ได้ดูแลในเรื่องผลกระทบด้วยการประกันการว่างงาน และการเพิ่มทักษะฝีมือให้แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้น”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/12/2562 

รัฐบาลผุด MOU แก้ปัญหาทุจริตจ้างงานคนพิการทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ แก้ไขปัญหาการทุจริตจ้างงานคนพิการมาตรา 33 และ มาตรา 35 ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และสำนักงงาน ป.ป.ท. ใช้เป็นแบบแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาทุจริตการจ้างงานคนพิการ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการ

ก่อนหน้าที่จะมีการทำบันทึกฉบับนี้ คนพิการและครอบครัวคนพิการ ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เดินเท้าต้านโกงพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ ระยะทาง 600 กิโลเมตร จาก จ.กาฬสินธุ์ ถึงกรุงเทพมาหนคร หลังเคยออกมาร้องเรียนว่าถูกสถานประกอบการ และผู้นำคนพิการ ทุจริตหักหัวคิวจ้างงานคนพิการ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ผู้กระทำผิดจึงยังไม่ได้รับโทษตามกฎหมาย

รวมทั้งกรณีล่าสุด ที่ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สำนักงานป.ป.ท. ตรวจสอบพบว่า มีขบวนการรับทำบัตรคนพิการให้กับคนไม่พิการ ในราคาเพียง 3,000 บาท ที่ จ.อุบลราชธานี จนนำไปสู่การเพิกถอนบัตรคนพิการ 123 คน หลังพบว่าไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการ ปัญหานี้ หน่วยงานภาครัฐเร่งปิดช่องโหว่การทุจริตทั้งระบบ เพื่อคุ้มครองสิทธิคนพิการ

ที่มา: ThaiPBS, 5/12/2562 

อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ยันจ้างงานไม่ลดลง แต่ไม่ทดแทนแรงงานที่ลาออก หันจ้างวิศวกร-นักเทคนิคระดับสูงเพิ่ม 10%

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวยืนยันว่า ประเด็นสงครามการค้าที่เกิดขึ้น รวมถึงภาคส่งออกของไทยที่ติดลบ ทางสมาคมฯ ได้มอนิเตอร์เหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบบ้าง แต่ในช่วงหลังปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาพรวมทั้งปีของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีรายได้เพิ่ม ขณะที่การจ้างงานยังทรงตัว แต่จะไม่มีการจ้างทดแทนโดยหันไปเน้นจ้างแรงงานวิชาชีพขั้นสูง เช่น วิศกรรม นักเทคนิคเพิ่มมากขึ้น

“ยืนยันว่า ภาคอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีแผนเลย์ออฟ แต่จะไม่จ้างงานเพิ่ม โดยเฉพาะในส่วนพนักงาน Front line คือ ไม่มีการปลด แต่จะไม่ทดแทนคนที่ลาออกไป เป็นการลดลงโดยธรรมชาติเพราะมีการนำเอาระบบออโตเมชั่นเข้ามาในกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้ใช้แรงงานน้อยลง ซึ่งภาคอิเล็กทรอนิกส์มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการรีสกิล อัพสกิลแรงงานปัจจุบันให้มีทักษะเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันแรงงานภาคอิเล็กทรอนิกส์เป็นกลุ่มแรงงานที่มีทักษะด้านการผลิตที่ดีมากกลุ่มหนึ่ง"

อย่างไรก็ตาม การลดลงของแรงงานในระดับ Front line มีอัตราผันผวนโดยอยู่ที่ประมาณ 9.8-10% แต่ก็มีการจ้างงานเพิ่มในกลุ่มวิชาชีพชั้นสูงอย่าง วิศวกร นักเทคนิคเพิ่มขึ้นมา 10% เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายสัมพันธ์ กล่าวยอมรับว่าช่วงสงครามการค้า และภาพรวมการส่งออกประเทศที่ไม่ดีนัก มีผลต่อคำสั่งซื้อชะลอตัวลง มีความไม่แน่นอน แต่ระยะหลังภาพรวมปรับตัวดีขึ้น พนักงานกลับมามีโอทีเหมือนเดิม ขณะเดียวกัน ได้เตรียมแผนรับความเสี่ยงมุ่งเน้นการใช้วัสดุคงคลัง และปรับลดสต็อกลง รวมถึงมาตรการรับมือความเสี่ยงอื่นๆ

“ผู้ประกอบการด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในสมาคมฯ มากกว่า 30 บริษัท ได้มอนิเตอร์สถานการณ์ต่อเนื่อง และเตรียมมาตรการรับมือ ขณะที่ปัจจุบันระบบออโตเมชั่น โรบ็อทเข้ามาเป็นสัดส่วนหลักในสายการผลิตแล้วราว 70-80% จากปกติต้องใช้พนักงาน 20 คน ก็จะเหลือพนักงานเพียงแค่ 1 ถึง 2 คนเท่านั้น”

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการภาคอิเล็กทรอนิกส์ ยังเดินหน้าเร่งการอัพสกิล รีสกิล ให้กับพนักงานที่ยังอยู่เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มแรงงานระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพขั้นสูง วิศวกร ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในภาคอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง

“ภาคอิเล็กทรอนิกส์ไทย เริ่มนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว และมีมาอย่างต่อเนื่อง การลดคนในอุตสาหกรรมนี้เกิดมาตลอด เป็นลักษณะค่อยๆ ลด ไม่ใช่ลดในช่วงที่เศรษฐกิจวิกฤติ แต่มันปรับลดมาเรื่อยๆ แต่ยืนยันว่า อิเล็กทรอนิกส์ คือปัจจัยสำคัญสำหรับโลกยุคนี้ เพราะผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าต่างๆ ต้องใช้อิเล็กทรอนิกส์ทั้งนั้น เพียงแต่ปีนี้อาจมีข่าวลบเยอะ โดยเฉพาะเทรดวอร์ ซึ่งก็ยอมรับว่ามีส่วนกระทบ เกิดการชะลอการผลิต/บริโภค มีความไม่แน่นอน ซึ่งก็ต้องพัฒนาคนในภาคอุตสาหกรรมนี้ให้มีสกิลที่ดีขึ้น ให้เขามีทักษะติดตัว"

อย่างไรก็ตาม ไทยยังถือเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ทั้งซีเกท และดับบลิวดี ต่างย้ายฐานมาอยู่ไทย โดยเฉพาะดับบลิวดี ปิดโรงงานทุกประเทศมาอยู่ไทยทั้งหมด ซึ่งไทยจะมีสินค้าพอเพียงต่อความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันดับบลิวดียึดฐานการผลิตในไทย 100% แล้ว และยังคงเดินกำลังการผลิตเหมือนเดิม

“อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่บนสายพานแห่งการแข่งขัน การปรับเปลี่ยน ลด เพิ่ม มีตลอดเวลา ต้องบริหารให้อยู่ได้ ท่ามกลางราคาสินค้าถูกลงทุกวัน ไม่เห็นตัวเลขการเติบโตการจ้างงาน และยอดส่งออก แม้แนวโน้มการจ้างงานในภาคอิเล็กททรอนิกส์จะลดลง แต่ก็มีจ้างงานเพื่อทดแทนคนเก่าแต่มุ่งเน้นช่างเทคนิคสมัยใหม่ และที่สำคัญผมยืนยันว่าแรงงานภาคอิเล็กทรอนิกส์มีความอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้น 3%”

นายสัมพันธ์ กล่าวว่า ภาคอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน ยังมีแผนพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพระดับเวิลด์คลาสสู่อุตสาหกรรม รับมือการเปลี่ยนงานจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก คนเหล่านี้จะไม่ตกงานเพราะในอุตสาหกรรมต่างๆ มีอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อคนที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีเหล่านี้จะไหลสู่อุตสาหกรรมอื่น

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าภาพรวมของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะยังคงเติบโต เพราะถือเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมเนื่องด้วยสิ่งต่างๆ ล้วนต้องมีอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเกี่ยวข้อง และเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีรุ่นใหม่

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/12/2562 

ชมรมครูอำนาจเจริญจัดประชุมเตรียมความพร้อม รวบรวมปัญหาหนี้สินครูเพื่อนำเสนอที่ประชุมใหญ่ ครู 20 จังหวัดภาคอีสานเสนอผ่านกระทรวงศึกษาธิการถึงรัฐบาล

นายพลชัย โสภากันท์ ประธานชมรมครูภาคอีสาน บอกว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่ยาวนาน ตั้งแต่สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการครูเปิดให้ครูได้กู้ยืมเงิน ช.พ.ค.(หรือเงินกระดูก) ตั้งแต่โครงการที่ 1 ถึงโครงการที่ 7 จนถึงปัจจุบันทำให้ครูมีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก ได้ส่งผลให้คุณภาพและประสิทธิภาพในด้านการศึกษา ครูขาดขวัญกำลังใจ ที่สำคัญผู้นำครูทั้งประเทศ โดยเฉพราะชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด

"เราได้พยายามเรียกร้องและเสนอเรียกร้องไปยังรัฐบาลผ่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการให้เห็นความเดือดร้อนจากหนี้สินของครู ให้ลงมาดูแลแก้ปัญหาหนี้สินของครู เช่น การลดดอกเบี้ยลดลงตนเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งในวันที่ 5 ธ.ค. ที่จะถึงชมรมครูประชาบาล 20 ภาคอีสานและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจะจัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครูที่จังหวักมุกดาหาร" นายพลชัย ระบุ

นายพลชัย ยังได้กล่าวอีกว่า ขณะนี้การร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจะส่งให้สภาผู้แทนราษฏรพิจารณาในเร็วๆนี้ ทำให้ผู้นำครูตลอดองค์กรวิชาชีพครูทั้งประเทศโดยเฉพราะอย่างยิ่งครู 20 จังหวัดภาคอีสาน เราไม่เห็นด้วยในหลักการหลายมาตรา ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบประกอบวิชาชีพครูที่จะตัดออก เราต้องการให้คงไว้ในการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ และอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของตำแหน่งที่จะเปลี่ยนตำแหน่งจากตำแหน่ผู้อำนวยการมาเป็นครูใหญ่ มันไม่ได้ส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาคือเรื่องให้ขวัญกำลังใจให้สวัสดิการครูและให้มีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องจึงจะส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษา

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 3/12/2562 

ประกันสังคมเตือนผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกิน จำนวนกว่า 1 แสนราย ติดต่อขอรับคืนได้ภายใน 1 ปี

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ระบุว่าสำนักเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคม ได้ส่งหนังสือแจ้งผู้ประกันตนเพื่อแจ้งให้ทราบจำนวนเงินสมทบที่ชำระไว้เกินมาขอรับเงินคืน โดยใช้วิธีประมวลผลระบบกรณีคืนเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนที่ทำงานกับนายจ้างหลายราย และส่งเงินสมทบเกิน โดยในแต่ละปีมีจำนวนกว่า 1 แสนราย และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม จะส่งหนังสือแจ้งเป็นปีละ 1 ครั้ง งวดเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2562 และเดือน พ.ค. 2563 ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ได้รับหนังสือแจ้งคืนเงินส่วนที่เกินจำนวนจากสำนักงานประกันสังคม สามารถยื่นคำขอรับเงินคืนได้พร้อมกรอกข้อความ แนบรายละเอียด เงินสมทบส่วนที่เกินจำนวน และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งคืนทางไปรษณีย์ถึงสำนักงานประกันสังคมหรือส่งคืนที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ และให้วงเล็บมุมซองว่า "ขอคืนเงินสมทบ" โดยต้องด้ยื่นคำขอรับเงินสมทบส่วนที่เกินคืนภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่นำส่งเงินสมทบหรือวันที่ได้รับแจ้ง

ที่มา: TNN24, 3/12/2562 https://www.tnnthailand.com/content/23059

เผย 3 อุตสาหกรรม 'ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ รับเหมาค่าแรง' ใช้มาตรา 75 ปิดงานชั่วคราว มากที่สุด

รายงานพิเศษจากสื่อ 'กรุงเทพธุรกิจ' ระบุว่า ยานยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ รับเหมาค่าแรง คือ 3 อุตสาหกรรมที่ใช้ มาตรา 75 ลดพนักงาน ปิดโรงงาน ชั่วคราว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่การสั่งซื้อลดลง เผยปี 2562 ยอดรวม 260 แห่ง กระทบลูกจ้าง 150,385 คน เป็นเวลา 3,863 วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 127 แห่ง กระทบลูกจ้าง 73,466 คน เป็นเวลา 2,076 วัน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากสถานประกอบการลดชั่วโมงการทำงานหรืองดการทำงานล่วงเวลา (โอที)

แม้ว่าการใช้มาตรา 75 พรบ.คุ้มครองแรงงาน จะเป็นเรื่องปกติที่โรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำได้ หากอยู่ในช่วงฤดูกาลที่การสั่งซื้อลดลง นายจ้างมีเหตุอันสำคัญที่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ตามกฎหมายสามารถให้นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งมีทั้งปิดชั่วคราวทั้งหมด หรือหยุดบางส่วน โดยจะต้องแจ้งลูกจ้างกับพนักงานตรวจแรงงานก่อนหยุด 3 วันตามกฎหมาย

หากดูจากสถิติสถานประกอบกิจการที่มีการใช้มาตรา 75 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่าปี 2561 มี ทั้งหมด 127 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 73,466 คน จำนวน 2,076 วัน แบ่งเป็น หยุดกิจการบางส่วน 1,610 วัน และ หยุดกิจการทั้งหมด 466 วัน ภูมิภาคที่ใช้มาตรา 75 มากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ หากดูแยกตามไตรมาส พบว่า ไตรมาส 1 จำนวน 42 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และอาหารแช่แข็ง

ไตรมาส 2 จำนวน 19 แห่ง ได้แก่ ผลิตสิ่งทอ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และรับเหมาค่าแรง ไตรมาส 3 จำนวน 28 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และเครื่องกีฬา,ชุดกีฬา ไตรมาส 4 จำนวน 38 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เหมาค่าแรง และสิ่งทอ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เนื่องจาก ยอดสั่งซื้อลดลง ขาดวัตถุดิบ ลดการผลิต ซ่อมบำรุง ขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และภาวะเศรษฐกิจ

ในปี 2562 ใช้มาตรา 75จำนวน 260 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 150,385 คน จำนวน 3,863 วัน แบ่งเป็น หยุดกิจการบางส่วน 2,238 วัน และ หยุดกิจการทั้งหมด 1,630 วัน ภูมิภาคที่ใช้ มากที่สุด คือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ แบ่งเป็น ไตรมาส 1 จำนวน 70 แห่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เหมาค่าแรง เครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาส 2 จำนวน 47 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ผลิตเหล็ก,เครื่องจักร แปรรูปสัตว์น้ำ อาหารทะเลแช่แข็งส่งออก

ไตรมาส 3 จำนวน 50 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รับเหมาค่าแรง เครื่องใช้ไฟฟ้า บริการจัดหางาน และอาหารทะเลแช่เยือกแข็งเพื่อส่งออก ไตรมาส 4 จำนวน 93 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ รับเหมาค่าแรง ขายปลีก ขายส่ง ทอผ้า แปรรูปไม้ บริการขนส่ง โดยส่วนใหญ่เนื่องจาก ยอดสั่งซื้อลดลง ขาดวัตถุดิบ ขาดสภาพล่องทางการเงิน ปิดปรับปรุง และเพลิงไหม้

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่าในไตรมาส 4 จะเห็นว่าธุรกิจที่ใช้มาตรา 75 ได้แก่ ธุรกิจยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รับเหมาค่าแรงและขายปลีก-ขายส่ง รวมถึงทอผ้า แปรูปไม้ และบริการขนส่ง อาจเนื่องจากเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ในส่วนของรับเหมาค่าแรง เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในทุกกิจการ จึงติดอันดับเพราะมีแรงงานรวมอยู่ในธุรกิจอื่นๆ

อย่างไรก็ตามการใช้มาตรา 75 เมื่อเทียบปี 2561 – 2562 ยังสะท้อนไม่ได้ว่าจะมีการเลิกจ้าง เนื่องจากบางโรงงาน เกิดจากภาวะของคำสั่งซื้อลดลง เมื่อออเดอร์ลดลง การผลิตก็ลด จึงจำเป็นต้องชะลอการผลิต จากการที่ให้จังหวัดเฝ้าติดตามพบว่า ส่วนหนึ่งเลิกกิจการ เนื่องจากปัจจัยภายนอก ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ ค่าเงินบาทแข็ง และเทคโนโลยีดิสรับ

“สัดส่วนการกลับมาเปิดปกติมากกว่าปิดกิจการ เพราะบางกิจการเป็นฤดูกาลผลิต เหมือนช่วงที่รถยนต์เกิดวิกฤตเมื่อ สองปีที่ผ่านมา ตอนนั้นก็ใช้วิธีชะลอการผลิต ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เลิกจ้าง แต่ใช้มาตรา 75 ในบางโรงงาน หลังจากนั้นก็ฟื้นคืนมา คนงานก็ได้ทำงานเต็มกำลังการผลิต”อธิบดีกสร.กล่าว

สำหรับข้อมูลการเลิกจ้าง ซึ่งมีลูกจ้างร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ในปี 2561 พบว่า ยื่นคำร้อง 607 แห่ง ลูกจ้าง 5,619 คน ในส่วนนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิเป็นเงิน 184,590,917 บาท ในปี 2562 มีสถานประกอบการ 1,049 แห่ง มีลูกจ้างเกี่ยวข้องทั้งหมด 9,181 คน มีการดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ 429,484,184 บาท

ด้านผู้ประกันตนจากประกันสังคมมาตรา 33 ปี 2561 จำนวน 11,599,338 คน ขณะที่ปี 2562 ตัวเลขถึงเดือน ตุลาคม 11,622,267 คน สะท้อนว่ามีการเลิกจ้างก็จริง แต่ก็ได้งานต่อ มีคนออกคนเข้า ขณะที่จำนวนแรงงานถูกเลิกจ้าง ยื่นว่างงานสำนักงานประกันสังคม จากกรมจัดหางาน พบว่า ผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน ปี 2561 (ตุลาคม 2560 – กันยายน 2561) จำนวน 838,607 คน ปี 2562 (ตุลาคม 2561 – กันยายน 2562) จำนวน 928,810 คน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนตุลาคม 2562 ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 37.44 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.65 หมื่นคน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ สถานการณ์แรงงานกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบว่า ผู้มีงานทำ37.6 ล้านคน ผู้ว่างงาน3.84 แสนคน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าสถานการณ์กำลังแรงงาน มีการว่างงาน 0.9% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ถือว่าอัตราการว่างงานปกติ เพราะอยู่ในระดับนี้มาตลอดทั้งปี หากดูตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรมประกอบ จะเห็นว่ามีการยื่นขอปิดกิจการโรงงานจำนวน 1,391 โรงงาน แต่ขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่กว่า 2,889 โรงงาน โรงงานเปิดใหม่มากกว่าปิดกิจการสูงถึง 107% เป็นดัชนีชี้ว่าธุรกิจยังไปได้

“ปัจจุบัน มีตำแหน่งงานว่างในระบบราว 79,000 อัตรา ทั้งปริญญาตรี ปวช. ปวส. ทั้งในส่วนของงานผลิต บริการ พนักงานทั่วไป คลังสินค้า สเมียน บัญชี สามารถดูได้จากเว็บไซต์ หรือบริการจัดหางานผ่านตู้งาน (Job Box) ปัจจุบันมีกว่า 500 ตู้ ติดตั้งให้บริการทั่วประเทศ เช่น สำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ เรือนจำ ห้างบิ๊กซี และแหล่งชุมชน เป็นต้น” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปัจจุบันดูท่าจะมีแนวโน้มใช้มาตรา 75 มากที่สุด เเนื่องจากอยู่ในช่วงปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไปสู่รถยนต์ระบบไฟฟ้า นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ อธิบายว่า มีข่าวร้ายมากมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ข่าวปิดโรงงาน ปลดพนักงาน ข่าวหยุดงานจ่าย 75% แต่จากที่คุยกับคนรู้จักในอุตสาหกรรมเดียวกัน 99% เป็นเหมือนกันคือ ยอดตก 5-20% ลดโอที แต่เรื่องปลดคน ลดคน มีเพียงบางส่วน บางบริษัทที่โชคดีก็มียอดการผลิตอยู่ มียอดขายให้กับโมเดลใหม่ แต่ส่วนใหญ่ คือคล้ายกันหมด

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องปรับ คือ ทัศนคติของพนักงาน ให้รู้ถึงภาวะวิกฤตของอุตสาหกรรม ณ วันนี้ โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง น่าจะรวมถึงปีหน้าด้วย ต้องเข้าใจสถานการณ์ของบริษัท ส่วนอนาคต จะมีเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้ไม่ว่าจะเทคโนโลยี เอไอ เครื่องจักรใหม่ๆ ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลง

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม มีการยื่นขอเปิดกิจการมากกว่าการยื่นขอปิดกิจการ ในเรื่องของแรงงานแม้จะถูกเลิกจ้างราว 3.5 หมื่นคน แต่มีการจ้างแรงงานใหม่ 8.4 หมื่นคน และยังไม่รวมถึงการจ้างจากการขยายกิจการราว 8 หมื่นกว่าคน

ในส่วนของกำลังแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 4 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบรถยนต์ราว 1 แสนคน กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ราว 5 แสนคน กลุ่มดีลเลอร์และซ่อมบำรุงราว 2 แสนคน กพร.มีแผนพัฒนากำลังแรงงานในส่วนของยานยนต์ 2 ส่วน คือ ภาครัฐ พัฒนาราว 3 หมื่นคนต่อปี ในแง่ของการให้ผู้ประกอบการพัฒนาลูกจ้างของตนเอง และนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ร้อยละร้อย ราว 7 แสนคนต่อปี

โดยได้จัดตั้ง สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ในปี 2558 เพื่อพัฒนากำลังแรงงานด้านยานยนต์ไทย ให้มีมาตรฐานระดับสากล ทั้งซอฟต์สกีล และ ฮาร์ดสกีล ฝึกอบรมมีทั้งฝึกพนักงาน ช่างเทคนิค หัวหน้างาน ผู้จัดการ โดยนโยบายเราจะมุ่งไปที่ฮาร์ดสกีลมากกว่า 80% ในด้านเทคโนโลยี และ 20% เป็นเรื่องของการบริการ การเป็นหัวหน้างานที่จะตอบสนองฮาร์ดสกีลมากขึ้น และร่วมกับอาชีวะในเรื่องของการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในภูมิภาคต่างๆ ทั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค ซึ่งมีอยู่เกือบ 30 แห่ง และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน อีก 50 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยทำงานใกล้ชิดกับสถานศึกษา รวมถึงมีการจัดแข่งขันฝีมือแรงงาน และทำงานร่วมกับภาคเอกชน เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)กล่าวว่าแม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้แม้จะมีบางช่วงที่ชะลอตัวลงแต่ก็ไม่ได้กระทบกับภาวะการจ้างงานและภาวะตลาดแรงงานในประเทศมากนัก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากอัตราการว่างงานจากแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำอยู่ 37.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานอยู่ประมาณ 4 แสนคน หรือ 1.04% เพิ่มขึ้นจาก 0.98%ในไตรมาสก่อนหน้าและ 0.94% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นระดับการว่างงานที่ปกติของประเทศ

สำหรับภาวะการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้มีงานทำลดลง 2.1% แบ่งเป็นการจ้างงานในภาคเกษตรลดลง 1.8% และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“สิ่งที่ต้องจับตา คือ จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งสะท้อนว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีสถานประกอบการที่ลดชั่วโมงการทำงานหรืองดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ของแรงงานโดยในไตรมาสที่3 จำนวนผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง 7.9% เป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2559” นายทศพร กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/12/2562 

กพร.ฝึกทักษะแรงงานตรงตลาด แก้ขาดแคลน-อยู่รอดได้ยุคดิจิทัล

กระแสแรงงานถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ยังเป็นข่าวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแรงงานใหม่ที่จบออกมามีทักษะไม่ตรงกับความต้องการ มีการกล่าวถึงตลอดเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะพื้นที่ในเขต EEC ขาดแคลนแรงงานและมีแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการ อีกส่วนหนึ่งมีผลมาจากการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต พนักงานจึงต้องปรับตัว เรียนรู้ให้สามารถทำงานกับปัญญาประดิษฐ์ให้ได้จึงต้องเข้าสู่กระบวนการพัฒนาทักษะ

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ประการแรกคือ การเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่นําเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์อัจฉริยะ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประการที่สอง ไทยต้องไปสู่อุตสาหกรรมออโตเมชั่นและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 60% ลงทุนในอีอีซี ในอุตสาหกรรมที่เป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การลงทุนใหม่เน้นเทคโนโลยีชั้นสูง ทําให้แนวโน้มการจ้างงานลดน้อยลง ประการที่สาม เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้นการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีจะต้องควบคู่ไปกับเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานผ่านโจทย์ที่ยากนี้ไปได้

กรมพัฒนาฝีมือแรงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับแรงงาน เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งได้ดำเนินการฝึกทักษะให้กับแรงงานทั้งแรงงานในระบบ และแรงงานใหม่มาโดยตลอด ด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่ส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงาน

เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการพัฒนาทักษะพนักงานของตนเอง ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ปี 2545 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ปี 2557 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องจึดฝึกอบรม พัฒนาทักษะให้กับพนักงานของตนเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด หากไม่ดำเนินการจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงาน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ร้อยละ 100 เป็นมาตรการจูงใจและช่วยเหลือสถานประกอบกิจการเมื่อมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เกิดขึ้น

ในปี 2563 ได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดำเนินการยกระดับทักษะแรงงาน เป้าหมายจำนวน 6,400 คน ในพื้นที่จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยบูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยฝึกอื่นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้าจังหวัด องค์กรวิชาชีพ สมาคมอาชีพ วิเคราะห์แนวโน้มความต้องการกำลังแรงงานในสถานประกอบกิจการกลุ่มอุตสาหกรรมและภาคบริการ ประกอบด้วย แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled) แรงงานกึ่งฝีมือ (Semi-skilled) แรงงานฝีมือ (Skilled) แรงงานเชี่ยวชาญ (Expert) รวมทั้งแผนพัฒนาด้านแรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาทักษะกำลังแรงงานให้ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง

ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการประทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ที่ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการประทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ทั้งจังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาทักษะให้กับกำลังแรงงานในพื้นที่ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือในประเด็นดังกล่าว

ธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงานเพื่อป้อนตลาดแรงงานในพื้นที่ EEC นั้น การฝึกเพื่อรับอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แบ่งเป้าหมายให้ฝึกในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เนื่องจากกำลังแรงงานในพื้นที่ 3 จังหวัดไม่เพียงพอ ต้องมีการเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีความประสงค์เข้ามาทำงานในพื้น EEC ด้วย เช่น การฝึกช่างเชื่อมในพื้นที่ภาคใต้ การฝึกขับรถขนส่งขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรองรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ร่วมกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ(TIFFA) ฝึกอบรมให้กับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาที่ว่างงาน ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ฝึกจบมีสถานประกอบกิจการรับเข้าทำงานทันที

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy-MARA) ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สถาบัน MARA จะเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ วางเป้าหมายที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จำนวน 2,000 คน ใน 42 หลักสูตร

อาทิ ช่างควบคุมหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม เทคนิคการสร้างต้นแบบด้วยเครื่องแสกนเนอร์ 3 มิติ การใช้เครื่อง CMM เพื่อตรวจสอบชิ้นส่วนยานยนต์ ช่างควบคุมเครื่องกัด CNC 5 แกน โปรแกรม Hyper Mill NX การใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบการผลิต (เครื่องกลึง) เทคโนโลยีงานเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ Robot Welding การออกแบบและเชื่อมต่อ HMI กับ PLC (Mitsubishi) การประยุกต์ใช้หน้าจอสัมผัสทางอุตสาหกรรม การเขียนโปรแกรมควบคุมระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

“การพัฒนากำลังแรงงานให้มีทักษะตรงกับความต้องการ มีคุณภาพได้มาตรฐาน การดำเนินงานเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ การทำงานจึงต้องบูรณาการและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงตัวของแรงงานเองด้วย ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม มีทักษะที่หลากหลายหรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ต้องปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยี่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้ วันนี้จึงจะอยู่รอด”อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/12/2562 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net