Skip to main content
sharethis

กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ ยื่นหนังสือ คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล กับ ส.ส.อนาคตใหม่ รับปากจะนำข้อมูลไปอภิปรายในสภา พร้อมเชิญกรรมาธิการด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติฯ ลงพื้นที่ในครั้งต่อไป

7 ธ.ค.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (7 ธ.ค.62) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลวัดบ้านตาจวน ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 100 คน ได้ยื่นหนังสือกับ คำพอง เทพาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในกรณีคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ตลอดจนข้อเสนอและทางเลือกต่อกรณี โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล ของบริษัท เอเคเอ็น แอสโซซิเอท จำกัดขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ของบริษัท กัญจน์สยามไบโอ เอนเนอร์จี จำกัด 40 เมกะวัตต์  ให้บริษัทไปดำเนินการจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ซึ่งมีวัตถุดิบอ้อย เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้ชาวไร่อ้อย ทั้งนี้ สส.อนาคตใหม่เตรียมอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรและจะเชิญกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่จริงอีกครั้ง

ทองแดง พิมูลชาติ อายุ 40 ปี คณะกรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด ขอบคุณ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ พร้อมถึงกล่าวถึงกรณีที่จะมีแผนผลักดันการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ในขอบเขตพื้นที่ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง และตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มีขนาดพื้นที่รวมประมาณ 836 ไร่ ว่า พื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้มีการซื้อขายที่ดิน โดยมีเพียงแต่การดำเนินการมัดจำบางรายแค่นั้น ที่ผ่านมาทางบริษัทที่ปรึกษากลับดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง โดยมีการกำหนดขอบเขตของโครงการ ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน พวกตนจึงมองว่าเป็นกระบวนการไม่รับฟังความคิดเห็น ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และไม่มีความเป็นธรรมต่อพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรซึ่งครอบคลุม บ้าน วัด โรงเรียน ประมาณ 41 หมู่บ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนปลูกข้าวหอมมะลิ ทำเกษตรอินทรีย์ ไร่นาสวนผสม และพึ่งพาทรัพยากร ถือได้ว่าเป็นฐานเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ต่อครอบครัว ชุมชน และจังหวัด

การจะมีแผนผลักดันโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่อำเภอไพรบึง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษนั้น ทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษได้ศึกษาอย่างรอบด้านแล้วพบว่าพื้นที่ตั้งโรงงานไม่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างนั้นไม่มีความเหมาะสม ด้วยเงื่อนไขที่อยู่ใกล้ชุมชน วัด โรงเรียน ประมาณ 41 หมู่บ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอ ในรัศมี 5 กิโลเมตร และยังไม่มีความสอดคล้องกับพื้นที่การปลูกข้าวหอมมะลิ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมสาน ที่อยู่ในดินแดนภูเขาไฟ เป็นต้น

ญาณิศา งอน สวรรค์ อายุ 43 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดได้นำเสนอประเด็นคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ตลอดจนพาลงดูพื้นที่จริงว่าพื้นที่บ้านเราไม่มีความเหมาะสมเพราะพื้นที่เราปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก และเราคาดหวังว่า สส.พรรคอนาคตใหม่ จะนำเสนอประเด็นนี้ในการประชุมสภา  เนื่องจากพื้นที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตรนั้นไม่มีวัตถุดิบหลักของโครงการที่ทางโรงงานจะใช้ดำเนินการผลิตน้ำตาล คือ อ้อย ประมาณ 20,000 ตันอ้อย/วัน หรือประมาณ 2,400,000 ตัน/ฤดู  เพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และทำเกษตรผสมผสาน การจะตั้งโรงงานจึงมีความขัดแย้งกับพื้นที่โดยสิ้นเชิง เป็นที่น่าสังเกตว่าจากข้อมูลจากแผนพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ 5 ปี (2561-2565) ฉบับทบทวน ปี 2563 ระบุว่าการใช้ประโยชน์จากที่ดินในการปลูกอ้อยมีประมาณ 17,919 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.33 ของการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ในส่วนของตัวเลขของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายปี 2559/2560 แสดงพื้นที่ปลูกอ้อยส่งโรงงานในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ 27,896 ไร่ หรือปริมาณอ้อยส่งเข้าหีบประมาณ 247,998 ตัน เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณไร่ละ 9 ตัน ส่วนพื้นที่จะมีแผนผลักดันโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน จากตัวเลขการปลูกอ้อยในพื้นที่อำเภอไพรบึง 0 ไร่ อำเภอขุนหาญ 182 ไร่ อำเภอขุขันธ์ 661 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยมีคู่สัญญากับโรงงานอยู่แล้ว ฉะนั้นตัวเลขสะท้อนให้เห็นชัดแล้วว่าปริมาณอ้อยมีอยู่อย่างจำกัดด้วยเงื่อนไขหลายเรื่องทั้งการลงทุน พื้นที่ไม่เหมาะสม แต่ทำไมถึงมีความพยายามผลักดันโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลให้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่อำเภอไพรบึงและอำเภอขุนหาญ ที่ขัดแย้งกับบริบทพื้นที่อย่างสิ้นเชิงเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ดำเนินวิถีชีวิตในการปลูกข้าวหอมมะลิ

คำพอง กล่าวว่า วันนี้ได้รับฟังข้อมูลจากพี่น้องซึ่งทางตนจะนำข้อมูลนี้ไปอภิปรายในสภา และจะเชิญกรรมาธิการด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ด้วยในครั้งต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net