มิสยูนิเวิร์สพม่าประกาศตัวเป็นหญิงรักหญิง นับคนแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขัน

ตัวแทนผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2562 จากพม่า "ซเวซินเต็ต" เปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็นหญิงรักหญิง ทำให้เธอเป็นผู้เข้าประกวดคนแรกในประวัติศาสตร์มิสยูนิเวิร์สที่ประกาศตัวในเรื่องที่เป็นเลสเบียน  หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในปีที่แล้วเคยมีมิสยูนิเวิร์สจากสเปนที่เป็นหญิงข้ามเพศพูดวิจารณ์นโยบายต่อต้านคนข้ามเพศของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตามการเปิดตัวของผู้ประกวดชาวพม่ายังถือเป็นการส่งสารทางการเมืองในเชิงสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศที่ยังไม่เปิดกว้างในเรื่องนี้อีกด้วย

ซเวซินเต็ต ผู้ประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2019 จากพม่า (ที่มา: Facebook/MissUniverse)

นอกจากผลประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2019 จัดที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกาซึ่งผู้ชนะคือโซซิบินิ ทุนซี จากแอฟริกาใต้ และฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น จากประเทศไทยเข้ารอบ 5 คนสุดท้ายแล้ว อีกข่าวหนึ่งที่ถูกจับตาก็คือ ซเวซินเต็ต (Swe Zin Htet) ผู้เข้าประกวดจากประเทศพม่า เป็นคนแรกที่เปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็นเลสเบียน ทำให้เธอกลายเป็นคนแรกจากตลอด 67 ปีที่ผ่านมาของการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่เปิดตัวในเรื่องนี้ เธอระบุถึงเรื่องนี้ในเว็บบล็อกด้านความงามของเธอ หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการร่วมประกวดในรอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา

พิงค์นิวส์รายงานว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ในประเทศพม่ายังคงเผชิญกับความรุนแรงและการถูกข่มเหงลงโทษ โดยในพม่าไม่มีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศคุ้มครองพวกเขา นอกจากนี้ยังคงมีกฎหมายห้ามความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันที่อาจจะทำให้ถูกลงโทษสูงสุดถึงระดับจำคุกตลอดชีวิตได้

ซเวซินเต็ต ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สจากพม่า อายุ 21 ปี ผู้ที่เลือกประเด็นการรณรงค์ในการประกวดเป็นเรื่องการป้องกันไม่ให้มีการทารุณกรรมเด็ก เธอกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า ในฐานะที่เธอเป็นคนที่มีพื้นที่ๆ จะพูด การที่เธอประกาศตัวว่าเป็นเลสเบียนนั้นจะทำให้เกิดอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสำหรับชุมชนชาว LGBTQ+ ในพม่าได้ "สิ่งที่ยากก็คือในพม่านั้น ชาว LGBTQ ยังไม่ได้รับการยอมรับ พวกเขาโดนดูถูกเหยียดหยามจากคนอื่น และยังถูกกีดกันเลือกปฏิบัติด้วย" ซเวซินเต็ตกล่าว

ซเวซินเต็ตบอกว่าถึงแม้คนจะรู้มาสักพักหนึ่งแล้วว่าเธอมีคู่รักเป็นนักร้องหญิงชื่อดังชาวพม่าชื่อแกแก ซึ่งคบกันมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เธอก็บอกว่าการเปิดเผยตัวกับครอบครัวว่าเธอเป็นเลสเบียนนั้นถือเป็นเรื่องยาก เพราะในทีแรกครอบครัวโกรธเธอและไม่ยอมรับที่เธอเป็นเลสเบียน แต่ต่อมาพอครอบครัวของเธอมีความรู้เรื่องชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น พวกเขาก็เริ่มยอมรับเธอ

พอลลา ชูการ์ต ประธานผู้จัดงานมิสยูนิเวิร์สกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าพวกเขาเป็นรู็สึกเกียรติที่ได้ให้พื้นที่แก่ผู้หญิงที่เข้มแข็งและเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอย่างผู้เข้าประกวดจากพม่า ผู้ที่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเฉพาะตัวให้โลกรับรู้ ชูการ์ตกล่าวอีกว่า "มิสยูนิเวิร์สจะเป็นคอยผลักดันผู้หญิงที่ภาคภูมิใจในการได้เป็นตัวของตัวเอง"

ก่อนหน้านี้ในปีที่แล้วก็เคยมีผู้เข้าประกวดจากสเปนที่เป็นหญิงข้ามเพศชื่อ แองเจลา ปอนซ์ และเป็นผู้ที่ออกปากวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากการที่รัฐบาลทรัมป์เคยมีประวัติต่อต้านคนข้ามเพศ ในปีที่แล้วปอนซ์ให้สัมภาษณ์ว่าการที่เธอได้เข้าร่วมประกวดนั้นถือเป็น "มากกว่าข้อความที่จะส่งถึงเขา (ทรัมป์)" และเชื่อว่ามันจะเป็นชัยชนะของสิทธิมนุษยชนเพราะหญิงข้ามเพศถูกข่มเหงลงโทษและถูกลบเลือนมาเป็นเวลานานแล้ว

เรียบเรียงจาก

This woman is the first openly gay contestant in Miss Universe history, Pink News, 08-12-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท