วงเสวนาดูประท้วงไทย-เทศ ปากท้อง การเมืองคือชนวนปะทุบานปลาย

วงเสวนาวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยต่างๆ ในการชุมนุมหลายประเทศ  พัฒนาการประชาธิปไตยอินโดนีเซีย ลำบาก ยาวนานแต่สร้างสำนึกห้ามทหารกลับสู่การเมือง เรื่องราวจากการลงพื้นที่ชุมนุมฮ่องกง ข้อความทางการเมืองที่ต่างกันของเจเนอเรชั่น-ชนชั้น ละตินอเมริการะอุ ม็อบทั่วภูมิภาคเพราะความเหลื่อมล้ำปากท้อง-กองทัพยุ่งการเมือง มรดกรัฐประหาร พลังประชาชนของไทย กระแสการปฏิรูปการเมืองที่ถูกชนชั้นนำ-ทหารตัดตอน

ซ้ายไปขวา: ณัฏฐา มหัทธนา จาตุรนต์ ฉายแสง เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ อรอนงค์ ทิพย์พิมล ปรัชญา สุรกำจรโรจน์

10 ธ.ค. 2562 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ "ฮ่องกง อินโด ชิลี ไทย: การเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง" จัดโดยพรรคโดมปฏิวัติและคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

วงเสวนามีวิทยากรรับเชิญมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องราวของการเคลื่อนไหวของประชาชนในประเทศต่างๆ ได้แก่ ปรัชญา สุรกำจรโรจน์ (จาโคบอย) ศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship ผศ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ นักวิชาการอิสระ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดำเนินรายการโดยณัฏฐา มหัทธนา วิทยากรอิสระและนักกิจกรรม

พัฒนาการประชาธิปไตยอินโดนีเซีย ลำบาก ยาวนานแต่สร้างสำนึกห้ามทหารกลับสู่การเมือง

อรอนงค์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซียศึกษากล่าวว่า อินโดนีเซียมีความน่าสนใจในฐานะที่มีประชากรถึง 270 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน มีพื้นที่กว้างใหญ่ เป็นประเทศที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลกแต่ไม่ได้ใช้กฎหมายอิสลาม ในอดีต กระบวนการสร้างประชาธิปไตยและปฏิรูปกองทัพหลังโค่นล้มเผด็จการซูฮาร์โตนั้นใช้เวลายาวนานและไม่ได้ราบรื่น แต่ความพยายามนั้นส่งผลให้ความพยายามนำกองทัพกลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้งทำได้ยาก เพราะประชาชนและนักศึกษามองว่าจะเป็นการทรยศต่ออุดมการณ์การปฏิรูปของประเทศ

บันทึกการถ่ายทอสดงานเสวนา

อรอนงค์ระบุว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีประชาชน นักศึกษาออกมาประท้วงในหลายเมือง สื่อไทยรายงานว่าออกมาค้านกฎหมายห้ามมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด ผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องถึง 7 ข้อ สืบเนื่องมาจากการสั่งสมความไม่พอใจรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่ไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น มีการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิ เสรีภาพประชาชนเยอะ จึงมีการเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม

อีกประเด็นคือมีข่าวว่าจะออกกฎหมายลดอำนาจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ได้แข็งขัน ผู้นำองค์กรคนล่าสุดที่ผ่านการคัดเลือกจากสภาเป็นตำรวจ ทำให้คนรับไม่ได้เพราะเป็นการนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาทำหน้าที่ อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม

ข้อเรียกร้องอีกเรื่องคือให้หยุดการใช้กำลังของภาครัฐต่อกลุ่มเรียกร้องเอกราชในปาปัว การเรียกร้องเอกราชของปาปัวมีมาตั้งแต่ช่วงที่อินโดนีเซียผนวกรวมปาปัว ซึ่งเดิมเป็นดินแดนที่ดัทช์ไม่ได้ให้เอกราชพร้อมอินโดนีเซียแล้ว แต่ประธานาธิบดีซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียได้ผนวกปาปัวเข้ามา ทำให้คนในท้องถิ่นไม่พอใจ และยังมีประชามติเรื่องการผนวกรวมปาปัวที่ชาวปาปัวสงสัยในเรื่องการมีส่วนร่วมในสมัยรัฐบาลเผด็จการซูฮาร์โตอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาผลกระทบกับไฟป่า เพราะไฟป่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุธรรมชาติอย่างเดียว แต่ยังมีบริษัทเอกชนหรือองค์กรอื่นทำให้เกิดขึ้น และได้รับผลกระทบทั้งในและนอกประเทศ

อรอนงค์เล่าว่า นักศึกษามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาตั้งแต่อดีต นักศึกษาเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการศึกษาในสมัยอาณานิคม และเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมสภาพในประเทศถึงเป็นแบบนี้ รวมถึงนักศึกษาที่ไปศึกษาที่เนเธอร์แลนด์มา พวกเขากลายเป็นหัวหอกสำคัญในการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของประเทศ มีคนที่ไปทำงานนอกสายงานที่เรียนจบ เช่น เป็นนักหนังสือพิมพ์ เขียนโจมตีเจ้าอาณานิคม ท้าทายคำสั่งที่จำกัด ควบคุมต่างๆ นอกจากนั้น นักศึกษายังเชื่อว่าพวกเขามีภาระหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติ เป็นพลังบริสุทธิ์ ความเชื่อชุดนี้ฝังอยู่ในตัวประชาชนด้วย เวลามีวิกฤตอะไรคนก็ถามหานักศึกษา

องค์กรนักศึกษาอินโดนีเซียมีความเข้มแข็งมาก การจัดการชุมนุมมีการนัดหมายด้วยเทคโนโลยีมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ข้อความ sms ถึงโซเชียลมีเดียเพื่อติดต่อกัน อย่างไรก็ดี แม้อินโดนีเซียยังตอบโต้การชุมนุมอย่างรุนแรงอยู่เหมือนในสมัยซูฮาร์โต แต่ในปัจจุบันก็ลดลง นอกจากนั้น การจัดกิจกรรมในปัจจุบันก็ไม่ได้รวมศูนย์ที่จาการ์ตา และการชุมนุมต่างๆ ไม่มีแกนนำชัดเจน ทำให้ภาครัฐไม่สามารถจัดการการชุมนุมและผู้นำได้อย่างเด็ดขาด

เรื่องราวจากการลงพื้นที่ชุมนุมฮ่องกง ข้อความทางการเมืองที่ต่างกันของเจเนอเรชั่น-ชนชั้น

ปรัชญา ศิลปินที่ได้มีโอกาสเดินทางไปดูการชุมนุมที่ฮ่องกงเล่าว่า ตอนที่เห็นข่าวการชุมนุมเมื่อเดือน มิ.ย. คิดว่าการชุมนุมนี้คงพาฮ่องกงไปไกลกว่าการต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน จึงอยากไปดูการชุมนุมกับตาว่าจะไปถึงไหน และอยากเห็นว่าการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำเช่นนี้มีระบบการจัดการอย่างไร เมื่อไปถึงในเดือน มิ.ย. ก็เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้สเปรย์พริกไทยและแก๊สน้ำตาแล้ว แต่ในการชุมนุมใหญ่วันที่ 12 มิ.ย. ที่มีการชุมนุมใหญ่ ทางการฮ่องกงยังไม่มีการใช้ความรุนแรง เป็นการชุมนุมที่คนเยอะที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในชีวิต โรงแรมที่พักนั้นอยู่ใกล้กับตัวสภา แต่สายธารคนที่เดินผ่านโรงแรมไปยังสภาเป็นเวลา 4 ชั่วโมงคนก็ยังไม่หมด

ปรัชญาเล่าว่า ในระดับภาพใหญ่ การชุมนุมไม่มีแกนนำ แต่ระดับย่อยก็มีแกนนำย่อยๆ คือคนที่มีไมโครโฟน มีลำโพง ตอนที่ตำรวจสลายการชุมนุมนั้นไม่มีการแบ่งแยกผู้ชุมนุมชาย-หญิง มีเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้าจับกุมผู้ชุมนุมผู้หญิง ก็มีการใช้คำด่าทอในความหมายถึงอวัยวะเพศหญิง พอศิลปินทราบเรื่อง ก็นำมาสกรีนเป็นลายเสื้อ ผู้ชุมนุมก็นำไปใช้ ส่วนการสื่อสารของผู้ชุมนุมนั้นก็ใช้แอปพลิเคชันออนไลน์ เวลาเดินในที่ชุมนุมก็จะมีคนแจกนามบัตรเพื่อเข้าไปในห้องแชทขนาดใหญ่ เวลานัดหมายกันก็นัดสถานที่ ใครถูกใจก็ไปตรงนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงคือคนนัดกันมาประท้วงในพักเที่ยงแต่ละวัน เป็นแฟลชม็อบ ช่วงวันหยุดก็จะนัดชุมนุมใหญ่

ในตอนที่กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนถูกถอนจากการพิจารณานั้น การชุมนุมก็ยังไม่หยุดเพราะว่าผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน ให้ปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง สะท้อนว่ากฎหมายผู้ร้ายข้ามแดนเป็นเพียงชนวน แต่การไม่เลิกการชุมนุมก็ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน เพราะถือว่าได้กระทำตามข้อเรียกร้องไปแล้ว ในส่วนชนชั้นนั้น ดูเหมือนชนชั้นกลางและล่างจะสนับสนุนผู้ชุมนุมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนนักธุรกิจ คนรวยๆ ไม่ค่อยแคร์เรื่องนี้ อาจจะสนับสนุนจีนด้วยซ้ำเพราะทำให้เขาทำมาหากินง่าย แต่จะมีนักธุรกิจที่ดั้งเดิมเป็นมาเฟีย พอมีม็อบก็ส่งคนออกไปตีกัน ทำให้เห็นว่าตอนหลังมีผู้ชุมนุมฮ่องกงทำร้ายคนที่มาด่าม็อบซี้ซั้ว เพราะว่ามีที่มาทางอารมณ์ ความรู้สึก

ปรัชญาเล่าว่า จากที่สังเกตมาพบว่าจุดยืนของคนฮ่องกงต่อปักกิ่งนั้นมีหลายแบบ มีโปสเตอร์ว่าฮ่องกงไม่ใช่จีน แล้วก็มีคนมาตำคำว่า “ยัง” ใส่ไป (ยังไม่ใช่จีน) จากนั้นก็มีคนเอาปากกามาขีดฆ่าคำว่า “ยัง” แล้วใส่คำว่า never (ไม่มีวัน) ลงไปแทน (ไม่มีวันเป็นของจีน) อีกกลุ่มก็เป็นคนแก่ คือจะโบกธงยูเนี่ยนแจ๊คของสหราชอาณาจักรเลย ซึ่งคิดว่าพวกเขาคงรู้สึกว่าชีวิตดีกว่าเมื่ออยู่ภายใต้การปกครองอังกฤษมากกว่าภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน

ปรัชญาพูดถึงบทบาทของศิลปินในการเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ศิลปินช่วยสร้างสีสัน งานศิลปะมีประเด็นทางอารมณ์ ทำให้สารที่ต้องการจะสื่อนั้นบริโภคได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าจะสื่อสารประเด็นหนึ่ง พูดเฉยๆ คนไม่ฟัง แต่พอเป็นเพลงประเทศกูมี สารก็ไปต่อได้ แต่แค่นั้นยังไม่พอ เราต้องการแอคชั่นบางอย่างที่ทำให้เปลี่ยนแปลง ในเวลาที่มาถึง ฮ่องกงที่มาถึงตอนนี้ได้เพราะกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่กระตุกให้เกิดการชุมนุม

สำหรับคนไทย ในเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น อยากให้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ในอนาคตอาจมีปัจจัยบางอย่างปะทุขึ้นมา สิ่งที่ต้องคิดเมื่อเทียบกับฮ่องกงคือการจัดการ ทำอย่างไรจะไปได้ด้วยดีทั้งในแบบที่รุนแรงและไม่รุนแรง ไม่ได้บอกว่าต้องรุนแรง แต่บอกว่าความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างคาดไม่ถึง

ละตินอเมริการะอุ ม็อบทั่วภูมิภาคเพราะความเหลื่อมล้ำปากท้อง-กองทัพยุ่งการเมือง มรดกรัฐประหาร

เชาวฤทธิ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านละตินอเมริกากล่าวว่ากระแสการประท้วงในละตินอเมริกาเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภูมิภาคที่สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และบทบาทของกองทัพในการเมืองก็มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยยกตัวอย่างการประท้วงในชิลี โคลัมเบีย และโบลิเวีย

กรณีชิลีที่กำลังมีการประท้วงอยู่ เชาวฤทธิ์ เล่าว่าเริ่มต้นจากการขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง ซึ่งเป็นจุดปะทุที่สะสมจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูง สวัสดิการต่างๆ ถูกตัด โอกาสการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยลดลงเพราะค่าเล่าเรียนแพง กระทบกระเทือนคนรากหญ้าและคนชั้นกลางซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ นอกจากนั้น ประชาชนยังกดดันให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับ 1990 ที่อนุญาตให้ทหารมาเป็น ส.ว. ได้ตลอดชีพเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของสภา ประธานาธิบดีจึงสัญญาให้มีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปีหน้า

เชาวฤทธิ์ เล่าประวัติศาสตร์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 1990 เป็นมรดกก่อนลงจากตำแหน่งของนายพลอะกุสโต ปิโนเชต์ เผด็จการที่ปกครองประเทศช่วงปี 1988-1989 หลังรับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ โค่นล้มรัฐบาลสังคมนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง และสังหารประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อาเยนเด ภายใต้รัฐบาลปิโนเชต์ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในวงกว้าง มีการบังคับสูญหาย นำประชาชนไปซ้อมทรมาน ทิ้งลงทะเล เมื่อสูญเสียการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ปิโนเชต์แพ้ประชามติที่จะทำให้เขาสืบทอดอำนาจต่อไป จึงตัดสินใจลงจากอำนาจ

กรณีโบลิเวียนั้น นักวิชาการด้านละตินอเมริกาเล่าว่า เกิดจากความไม่พอใจที่ประธานาธิบดีอีโว โมราเลส ที่อยู่ในตำแหน่งมานานและยังอยากอยู่ต่อ ถูกหาว่าโกงเลือกตั้ง นอกจากนั้น ทหารยังออกมาประกาศเลิกสนับสนุนโมราเลส ทำให้เกิดความวุ่นวาย ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำในโบลิเวียลดลงในช่วงที่โมราเลสอยู่ในตำแหน่ง

รัฐประหารหรือไม่ แล้วไง ดูสาเหตุ-คำถามเชิงโครงสร้างในการเมืองโบลิเวียสีเทา

กรณีโคลัมเบีย ประชาชนออกมาประท้วงประธานาธิบดีอีวาน ดูเก้ ปัญหามาจากความเหลื่อมล้ำที่โคลัมเบียนั้นมีสูงเป็นอันดับ 2 ในทวีปรองจากเฮติ มีอัตราการว่างงานสูง และเรื่องการศึกษา มหาวิทยาลัยมีน้อยและมีราคาแพง แกนนำครั้งนี้คือเยาวชน นักศึกษา  ประธานาธิบดีคนนี้ไม่สนับสนุนนโยบายสันติภาพ รัฐบาลก่อนมีนโยบายเจรจากับกบฏฝ่ายซ้าย จนมีการลงนามในสนธิสัญญาวางอาวุธในปี 2016 ประธานาธิบดีได้รางวัลโนเบลสันติภาพ แต่ชุดนี้จะยกเลิกเพราะมองว่าการเจรจานั้นอ่อนข้อให้กบฏมากเกินไป ประชาชนจึงออกมาเรียกร้องว่าพอแล้วกับความรุนแรง

พลังประชาชนของไทย กระแสการปฏิรูปการเมืองที่ถูกชนชั้นนำ-ทหารตัดตอน

จาตุรนต์กล่าวถึงประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในไทยว่า ในสมัย 14 ต.ค. 2516 ข้อเรียกร้องคือเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนหน้านั้นก็มีความเคลื่อนไหวของประชาชนอยู่แล้ว แต่เห็นว่าพลังประชาชนนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองจนเผด็จการยอมแพ้ แต่หลังจากนั้นไม่มีการทำให้เกิดการจัดตั้งอย่างเข้มแข็ง พัฒนาระบบพรรคการเมืองและรัฐสภา ต่อมามีการเคลื่อนไหว เรียกร้องอีกหลายเรื่องเป็นการต่างหาก ทำให้ไปกระทบชนชั้นนำ องค์การนักศึกษาที่ถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่มอื่นๆ ทำให้ชนชั้นนำวางตัวนักศึกษาเป็นศัตรูเมื่อพระถนอมกลับเข้ามา จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

จาตุรนต์กล่าวว่า รัฐประหาร รสช. ในปี 2534 มีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต ข่าวลือเรื่องปลงประชนม์ ที่ต่อมาพิสูจน์แล้วว่าไม่มี หลังจากนั้นคนไทยไม่ยอม เพราะรู้สึกว่าเป็นระบบที่ไม่ปรับตัว ประชาชนไม่ค่อยมีส่วนร่วม พอมีรัฐบาลเลือกตั้ง เริ่มเห็นแววว่าตอบสนองประชาชนมากกว่าก็เกิดการยึดอำนาจ คนก็ไม่ยอม พอคนไม่ยอมก็เกิดพฤษภาฯ ทมิฬ ตอนนั้นมีพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชนไปปราศรัยที่สนามหลวง ในปี 2535 ประชาชนที่ออกมานั้นเรียกร้องให้มีนายกฯ จากการเลือกตั้ง ให้แก้รัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรต้องเหนือกว่าวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง การชุมนุมมีทั้งนักศึกษา นักธุรกิจ คนชั้นกลาง ธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วน และยังมีชนชั้นนำและคนจากกองทัพส่วนหนึ่ง ด้วยเทคโนโลยี เลยเป็นม็อบมือถือที่ติดต่อ ส่งข่าวกันได้ง่าย ตอนนั้นคนไม่คิดว่าการชุมนุมทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เพราะห่างการชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2519 พอ พล.อ.สุจินดาออก ก็เป็นอานันต์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ แทน

จาตุรนต์เล่าว่า เหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 กลายเป็นกระแสต่อเนื่องไปถึงการปฏิรูปการเมืองปี 2540 ประชาชนอยากได้รัฐบาลเข้มแข็ง พรรคการเมืองแข่งเรื่องนโยบาย ประชาชนเลือกตั้งโดยดูนโยบาย  นายกฯ มีอำนาจต่อรอง แต่บังเอิญตอนนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เมื่อเกิดวิกฤตแล้วไม่มีรัฐประหารก็เพราะมีการปฏิรูปการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจเองก็กลายเป็นปัจจัยเร่งให้การปฏิรูปการเมืองเดินหน้า ให้มีระบบการเมืองที่ตอบสนองประชาชน

อดีตรัฐมนตรีเล่าต่อไปว่า พัฒนาการทางการเมืองเช่นนั้นทำให้ชนชั้นนำที่มีอยู่เดิมรับไม่ได้ ทำให้ล้มการปฏิรูปการเมืองที่ต่อเนื่องจากปี 2535 ลงไปในปี 2549 หลังจากนั้นจนถึงปี 2557 สิ่งที่ชนชั้นนำไทยได้ทำและประสบความสำเร็จมากๆ เรื่องหนึ่งคือการสร้างความเชื่อที่ว่า รัฐบาลทหารเท่านั้นที่บริหารประเทศได้ การเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อให้นำไปสู่การรัฐประหารนั้น มีการทำผิดกฎหมายโดยไม่ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยมากในการชุมนุมเหล่านั้น สภาพการรักษากฎหมายไม่ได้นั้นมาจากการสมคบกันระหว่างผู้ใช้กฎหมายในส่วนต่างๆ รวมทั้งกองทัพ ผู้ชุมนุมยึดสนามบินได้ ยึดทำเนียบได้ ไม่เป็นอะไรสักที ถูกจับก็ไปประกันตัวแล้วไปชุมนุมต่อ เมื่อเกิดมากเข้าก็ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลพลเรือนไม่สามารถปกครองประเทศ ดูแลความสงบได้ จึงต้องรัฐประหารและปกครองโดยทหาร

ความคิดเช่นนี้ยังถูกใช้ต่อมาและครองอำนาจเรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งและการเป็นรัฐบาลที่ผ่านมา มาจนถึงทุกวันนี้ มีทั้งการใช้ประชามติ การเลือกตั้ง องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ในการคงไว้ซึ่งอำนาจของตัวเอง และยังใช้กฎหมายต่างๆ จำกัดสิทธิ เสรีภาพประชาชน ผสมกับแนวคิดว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วบ้านเมืองจะวุ่นวาย ทั้งๆ ที่การแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

จาตุรนต์กล่าวว่ายังมีความหวังในหมู่คนรุ่นใหม่ เพราะปรากฏการณ์การตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา พวกเขาเป็นคนที่จะแบกรับอนาคตประเทศในวันข้างหน้า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มากและเร็ว ทำให้เขารู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว และเมืองไทยกำลังหยุดอยู่กับที่หรือไม่ พวกเขากำลังคิดและมีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท